เรื่องเด่น อารมณ์ฌานโลกุตตระ : พระราชพรหมยาน

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 6 กรกฎาคม 2009.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    ลพ-222.jpg

    วันนี้ก็จะพูดถึง ฌานโลกุตตระ

    โลกุตตระ หมายความว่า ความเป็นพระอริยเจ้า
    สำหรับพระอริยเจ้า 2 ขั้น คือ พระโสดาบันกับพระสกิทาคา ทั้ง 2 ท่านนี่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า
    เป็นผู้มีปัญญาเล็กน้อย แล้วก็มีสมาธิเล็กน้อย แต่เป็นผู้มั่นอยู่ในศีล เป็นผู้ทรงอธิศีล

    คำว่า อธิ นี่แปลว่า ยิ่ง หรือว่า ใหญ่ หรือว่าทับทรงอธิศีล ก็หมายความว่า ทรงศีลอย่างยิ่ง ที่ยอมตัวตายดีกว่าศีลขาด หรือ สำหรับพระโสดาบัน มีอะไรบ้าง
    ถ้าว่ากันตาม สังโยชน์ ก็คือ

    1. สักกายทิฏฐิ
    2. วิจิกิจฉา
    3. สีลัพพตปรามาส


    พระสกิทาคามี ก็มีเท่ากัน
    สำหรับปัญญาในด้านสักกายทิฏฐิ เห็นไม่ลึก ยังเห็นตื้น ๆ นั่นก็คือว่ามีความรู้สึกอยู่อย่างเดียวว่า การเกิดเป็นทุกข์ การทรงชีวิตอยู่นี่มันเป็นทุกข์ และในที่สุดชีวิตของเราก็จะต้องตาย ท่านที่เป็นพระโสดาบัน ท่านไม่ลืมความตาย แต่ไม่ใช่ว่านึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออกอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสถามพระอานนท์ว่าอานันทะ ดูก่อนอานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง
    พระอานนท์ก็ตอบว่า วันละประมาณ 7 ครั้ง พระพุทธเจ้าข้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า
    ยังห่างมากอานนท์ ตถาคตนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก ในขณะนั้นพระอานนท์เป็นพระโสดาบัน เป็นอันว่า อารมณ์ของพระโสดาบันนี่ มีความคิดในด้านปัญญาแค่ว่าชีวิตนี่มันต้องตาย ยังไม่สามารถตัดขันธ์ 5 ได้เต็มที่ ท่านจึงกล่าวว่า มีปัญญาเล็กน้อย และก็มีสมาธิไม่สูง ก็ได้แค่ปฐมฌาน

    และข้อที่ 2 วิจิกิจฉา วิจิกิจฉาตัวนี้ พระโสดาบันไม่สงสัยในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอันว่า มีความเคารพในพระพุทธเจ้าจริง มีความเคารพในพระธรรมจริง มีความเคารพในพระอริยสงฆ์จริง มีความมั่นคงในพระรัตนตรัยทั้ง 3 ประการ

    และข้อที่ 3 สีลัพพตปรามาส พระโสดาบันกับพระสกิทาคามี สามารถทรงศีล 5 ให้บริสุทธิ์สมบูรณ์แบบ หมายความว่าไม่มีเจตนาเพื่อจะละเมิดศีล 5 แค่ศีล 5 เท่านั้นนะ ตามแบบสังโยชน์ท่านกล่าวไว้ว่า พระโสดาบันกับพระสกิทาคามีนี่ก็เป็นแค่ตัดสังโยชน์เบา ๆ ได้ 3 และใช้ปัญญาเบา ๆ คือ มีความรู้สึกว่าร่างกายมันจะต้องตาย

    ถ้าร่างกายของเราจะต้องตาย อบายภูมิมันมี สวรรค์มันมี พรหมมันมี ท่านก็คิดว่า ถ้าเราจะตายชาตินี้ เราก็ไม่ขอไปอบายภูมิ ถ้าจะไม่ไปอบายภูมิสิ่งที่เราจะเกาะนั่น ก็คือ คุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม และคุณพระอริยสงฆ์ ก็มั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และก็ทรงศีล 5 บริสุทธิ์ เพราะว่า ถ้ามั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีศีล 5 บริสุทธิ์ อันนี้ไม่ใช่ไปอบายภูมิ นี่ว่ากันตามลักษณะของสังโยชน์

    แต่ว่าในอารมณ์ของการปฏิบัติ นั่นตามหนังสือนะ อารมณ์ของการปฏิบัติก็มีความรู้สึกตามนั้นจริง แค่ว่าพอจิตของเราจะก้าวออกจากโลกียฌาน เข้าสู่โลกุตตระ เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า ตอนนี้จิตจะต้องเข้าสู่ โคตรภูญาณ ก่อน

    คำว่า โคตรภูญาณ ก็หมายถึงว่า มีอารมณ์อยู่ในระหว่างท่ามกลางโลกียะกับโลกุตตระ ตอนนี้ก็เห็นจะไม่ต้องอธิบายมาก เพราะมันจะเผือ
    เครื่องสังเกตง่าย ๆ สำหรับโคตรภูญาณ ใจของเรามีความรู้สึกว่า เราจะต้องตาย ตายเมื่อไหร่ก็เชิญ ในเมื่อเรามีที่พึ่ง คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ เรามีศีล 5 บริสุทธิ์ เราก็ไม่หนักใจในด้านที่มันจะต้องตาย เพราะ ตายอย่างน้อยเราก็ไปสวรรค์ แต่ว่าถ้าจะถึงสวรรค์อย่างเดียวแล้วกลัวลงอบายภูมิ นี่เราไม่ต้องการ

    ฉะนั้น อารมณ์ของท่านที่ปฏิบัติเพื่อที่จะเข้าถึงพระโสดาบัน พอจิตเข้าถึงโคตรภูญาณ ตอนนี้จะมีความรู้สึกอย่างหนึ่ง นั่นคือ จิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ใครจะมาพูดถึงพรหมก็ดี พูดถึงสวรรค์ก็ดี และความเป็นใหญ่ในเมืองมนุษย์ มีความใหญ่โต มีความร่ำรวยก็ดี จิตไม่พอใจ ไม่ใช่โกรธแต่ก็ไม่เต็มใจ จิตตั้งใจอย่างเดียว คือ ต้องการพระนิพพาน นี่พูดในแนวของสุขวิปัสสโก

    ถ้าพูดในแนวของวิชชาสาม วิชชาสามมี ทิพจักขุญาณเป็นเบื้องต้น พอจิตเข้าถึงโคตรภูญาณ ตอนนี้กำลังของวิชชาสามจะเห็นพระนิพพานแจ่มใสชัดเจนมาก ถ้าจิตยังไม่เข้าถึงโคตรภูญาณ มองพระนิพพานเท่าไหร่ก็ไม่เห็น จะเห็นได้ก็แค่พรหม นี่เป็นเครื่องวัด

    สำหรับท่านที่ได้อภิญญา ถ้ากำลังจิตยังไม่เข้าถึงโคตรภูญาณ ไปถึงพระนิพพานก็ไม่ได้ ถ้ากำลังจิตนั้นเข้าถึงโคตรภูญาณ ไปถึงพระนิพพานก็ไม่ได้ ถ้ากำลังจิตนั้นเข้าถึงโคตรภูญาณขึ้นไป สามารถ ไปถึงพระนิพพานได้ นี่เป็นเครื่องวัด ต่างกันนะ

    ที่พูดเมื่อกี้นี้ เป็นแนวของสุขวิปัสสโกว่า ถ้าจิตเข้าถึงโคตรภูญาณ จิตจะมีความรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าจิตเข้าถึงพระโสดาบันปัตติผล จิตรักพระนิพพานด้วย อารมณ์ธรรมดาก็มีขึ้นมาอีกจุดหนึ่ง ถูกด่า ถูกว่า ถูกนินทา มันสะเทือนน้อย สะเทือนเหมือนกัน ยังมีความโกรธเหมือนกัน แต่มันโกรธช้าหรือไม่มันโกรธเบากว่าปกติ อันนี้ท่านเรียกว่า พระโสดาบัน หรือ พระสกิทาคามี

    ขอเล่าแบบหยาบ ๆ นะ เพราะเวลามันจำกัด และถ้าเราจะหมุนกันไปอีกทีหนึ่ง พระโสดาบัน แต่ถ้าถึงพระโสดาบันแล้วประพฤติตัวอย่างไร อย่าลืมนะว่าพระโสดาบันมีความรักในระหว่างเพศ ยังมีการแต่งงาน

    คัวอย่าง นางวิสาขา ท่านเป็นพระโสดาบัน ตั้งแต่อายุ 7 ปี ในที่สุดอายุ 16 ปี ท่านก็แต่งงาน พระโสดาบันก็ยังอยากรวย การแต่งงานของพระโสดาบัน ก็ยังอยู่ในขอบเขต ไม่ละเมิดศีล 5 คือ มีมีกาเม และก็สำหรับความอยากรวยของพระโสดาบันก็รวยด้วย สัมมาอาชีวะ ไม่คดไม่โกงใคร พระโสดาบันยังมีความโกรธอยู่ ไม่ใช่ว่าจะหมดความโกรธ แต่มันเบาไปหน่อยหนึ่ง แต่ว่าโกรธก็จริงแหล่ แต่ไม่ฆ่าใครตาย ขึ้นชื่อว่าพระโสดาบันยังมีความหลงก็เพราะว่า ยังมีความรัก ยังมีความอยากรวย ยังมีความโกรธ แต่ทุกอย่างอยู่ในขอบเขตของศีล จะเห็นว่าประเดี๋ยว เอ๊ะ เห็นเขาเป็นพระโสดาบันทำไมแต่งงาน

    และมาอีกท่านที่น่าคิดมาก คือ ลูกท่านมหาเศรษฐีท่านหนึ่ง แค่เห็นพรานกุกกุฏมิตรมาขายเนื้อ อาศัยที่อดีตเคยเป็นสามีภรรยากันมาในกาลก่อน เห็นก็เกิดความรัก ผลที่สุดก็หนีพ่อแม่ไป ติดตามพรานออกไปอยู่ในป่าเป็นสามีภรรยากัน คนนี้ท่านเป็นพระโสดาบัน ตั้งแต่อายุ 7 ปีเหมือนกัน แต่ตอนนี้เขาไปถามพระพุทธเจ้าว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าบอกว่าความรักมันเกิด ด้วยเหตุ 2 ประการคือ

    1. บุพเพสันนิวาส ถ้าบุพเพสันนิวาสนี้ เห็นเข้าแล้วมันทนไม่ไหว จะต้องแต่งงานกันแน่

    2. ความรักจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อันนี้เบาหน่อย ถ้าเป็นพระโสดาบันก็ไม่ต้องโดตามเขา ข้อแรกต้องโดแน่ ถ้าเขาไม่ตกลง ถ้าผู้ใหญ่ไม่เห็นชอบ เป็นอันว่าพระโสดาบันที่ประพฤติตัวจริง ๆ คือ
    (1) ยังมีการครองเรือนแต่งงานกัน มีลูกมีเต้าเหมือนกัน
    (2) พระโสดาบันก็ยังอยากรวย ทุก ๆ อย่างอยู่ในขอบเขตของศีล
    (3) พระโสดาบันก็ยังมีความโกรธ แต่โกรธช้า กำลังเบา
    พระโสดาบันยังมีความหลง ถ้าพูดให้ย่อลงมาอีกนิดเพื่อความเข้าใจง่าย ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้วอารมณ์อย่างนี้ เมื่อถึงพระโสดาบันแล้ว อารมณ์อย่างนี้ เมื่อถึงพระโสดาบันแล้วอารมณ์อย่างนี้จะทรงตัว คือ

    1.ไม่เคยประมาทในชีวิต มีความรู้สึกว่าชีวิตนี้มันจะต้องตาย แต่ก็ไม่ได้คิดทุกลมหายใจเข้าออก ไม่ลืมคิดว่าถ้าจะตายเราไม่ยอมไปอบายภูมิ จุดที่เราจะไปมีจุดเดียว คือ พระนิพพาน

    2. พระโสดาบันเคารพในพระพุทธเจ้าจริง เคารพในพระธรรมจริง เคารพในพระสงฆ์จริง

    3.พระโสดาบันมีศีลบริสุทธิ์

    4.พระโสดาบันมีจิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์

    จำไว้นะเท่านี้นะ และจำไว้ว่าพระโสดาบันยังครองเรือน สำหรับกำลังของ พระสกิทาคามี ก็มีอารมณ์เบาไปกว่าพระโสดาบันลงไปอีกนิดหนึ่ง คือว่า เรื่องของความรัก ก็ยังมีความรักอยู่ รู้สึกว่า มันเนือยลงไปมาก มันเบาไปมาก ความโกรธหรือความอยากรวยก็บรรเทาลงไปเยอะ ถ้าพูดถึงความหลง ก็เบาลงไปด้วย มีสภาพเหมือนกันกับพระโสดาบัน แต่มันเบากว่า

    ต่อมาก็จุดสำคัญอีกจุดหนึ่ง ก็คือ พระอนาคามี สำหรับพระอนาคามี มีจุดสังเกตที่ง่าย ๆ อยู่จุดหนึ่ง จุดที่เราจะสังเกตง่ายที่สุดคือว่า จิตใจของบุคคลใดถ้าก้าวเข้าไปสู่ในเขตของพระอนาคามี จิตของพวกนั้นมีความต้องการศีล 8 และมีการรักษาศีล 8 เป็นปกติ

    นี่เป็นก้าวแรกของพระอนาคามี และเราจะรู้ตัวได้เลยว่า จิตมันจะพอใจในศีล 8 เป็นปกติ ใครเขาจะมาแนะนำว่า ใครรักษาศีล 8 อดข้าวหนึ่งเวลา ทำให้สุขภาพไม่สมบูรณ์ พวกนี้ไม่ยอมรับฟัง มีความพอใจในศีล 8 และทรงศีล 8 ได้เป็นปกติ นี่ถือว่าก้าวเข้าเขตของพระอนาคามี

    สำหรับพระอนาคามี พระพุทธเจ้าตรัสว่า จะต้องทรงอธิจิต คือ หมายความว่า จะต้องทรงจิตถึงฌาน 4 การเดินมาจากพระโสดาบัน สกิทาคา จะเป็นพระอนาคามีนี่เป็นของไม่หนัก เพราะว่าจิตมันทรงตัวแล้ว เรื่องฌาน 4 เป็นของไม่ยาก สำหรับท่านที่ฝึกมโนมยิทธิ ได้แล้ว นั่นแหละฌาน 4 ที่ไปโน่นไปนี่ได้น่ะ ไปด้วยกำลังของฌาน 4 ซึ่งเป็นของไม่หนัก เมื่อจิตทรงถึงฌาน 4 แล้ว พระอนาคามีต้องตัดกิเลส อีก 2 ตัว ตัดกิเลสตัวสำคัญ คือ

    1. กามฉันทะ ความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย ความสัมผัสระหว่างเพศ และรวมความว่าการครองคู่อยู่ด้วยกันในฐานะสามี ภรรยา
    2. ความโกรธ ความพยาบาท ถ้าหากการก้าวเข้ามาจากพระโสดาบัน สกิทาคา ก็เป็นของไม่ยาก เพราะตอนเป็นพระสกิทาคามี ความโกรธมันเบาบางมาก ถ้าความโกรธเกิดขึ้น จิตมันให้อภัยเร็ว ที่ เรียกว่า อภัยทาน
    นี่เครื่องสังเกตของพระอนาคามี

    ถ้าจิตเข้าถึงพระสกิทาคามี ใครเขาทำอะไรให้ไม่ชอบใจ มันไม่ชอบใจเหมือนกัน แต่เกิดช้า โกรธช้า แล้วหายเร็ว ถ้าหายแล้วไม่ผูกพันในด้านของความโกรธ ให้อภัยแก่บุคคลผู้ผิด จิตมันเบาบางมาถึงขนาดนี้แล้ว การก้าวเข้าหาพระอนาคามีก็เป็นของไม่ยาก พระอนาคามีนี่ต้องใช้สมถะและวิปัสสนาควบถึง 2 จุด คือ

    1.ตอนตัดกามฉันทะ ต้องใช้อสุภกรรมฐานและกายคตานุสสติกรรมฐาน พิจารณาว่าร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี มันแสนจะสกปรกภายในร่างกายหาอะไรดีไม่ได้เลย ดูก็แล้วกันว่ามันมีอุจาระ ปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ดูตัวเราไม่ต้องดูชาวบ้าน ถ้าไม่เห็นตัวเราชัดก็น้อมจับวิปัสสนาญาณตัวสำคัญเข้ามาคือ สักกายทิฏฐิ

    สักกายทิฏฐิ ก็มามองดูร่างกายนี้ นอกจากมันจะสกปรกแล้ว จับร่างกายเป็นอาการ 32 เป็น กายคตานุสสติกรรมฐาน เห็นร่างกายสกปรกเป็นอสุภะกรรมฐาน

    ต่อนั้นไปก็จับวิปัสสนาญาณ คือ สักกายทิฏฐิ ได้ตัวร่างกายมันเต็มไปด้วยความสกปรกโสโครกแบบนี้ มันมีสภาพไม่เที่ยง มีอาการไม่ทรงตัว ความจริงนี่มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราจริง ๆ ถ้ามันเป็นของเราจริง เป็นเราจริง มันก็ไม่แก่ ไม่ป่วย ไม่ตาย

    แต่ว่ามันสกปรกก็ไม่พอ เลี้ยงดูมันเท่าไรมันก็ไม่เที่ยง กินเท่าไหร่มันก็ไม่อิ่ม ในที่สุดมันก็พัง เป็นอันว่าร่างกายสกปรกด้วย เสื่อมโทรมลงทุกวัน แล้วมันก็พังด้วย ร่างกายของเรามีสภาพน่าเกลียดอย่างนี้ ร่างกายของบุคคลอื่นก็มีสภาพน่าเกลียดเหมือนร่างกายเรา นี่ความปรารถนาในร่างกายซึ่งกันและกัน จะหามาเพื่อประโยชน์อะไร

    ตอนนี้ใจมันก็เบื่อ อารมณ์มันก็ตัด ตัดไปเลย คือ ไม่พอใจในกามารมณ์ใด ๆ ทั้งหมด อันนี้ต้องควบกันนะ

    2. พระอนาคามีไม่มีความโกรธ ตัวนี้มันก็เบามาจากพระสกิทาคามีแล้ว แต่ว่าเพื่อความไม่ประมาทก็ใช้อารมณ์ควบคือ อารมณ์จิตทรงพรหมวิหาร 4 เป็นปกติ จิตคิดให้อภัยแก่บุคคลผู้มีความผิด จิตอีกดวงหนึ่งก็มาคิดว่า ชีวิตนี้ของเราก็ดี ของบุคคลอื่นก็ดี มันไม่ทรงตัว ไม่ช้ามันก็ตาย ความโกรธเป็นไฟเผาผลาญความดีของจิต ถ้าเราคิดว่าจะโกรธ ประโยชน์ของความโกรธนี่มันไม่มีเลย มันมีแต่โทษ จะทำให้เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ

    การโกรธเขาทำอย่างไร เขาต้องแก้กัน เขาก็ต้องประหัตประหารกัน เพื่อให้คนอื่นมีความทุกข์ หรือว่าคนอื่นตาย แต่ว่าความจริงความทุกข์ของคนทั้งหลายมันมีอยู่แล้ว เราจะทำเพื่ออะไร

    อีกประการหนึ่ง ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี ที่เราไม่ชอบใจจะทำร้าย มันก็มีการสลายตัวเป็นปกติ เป็นอันว่าขึ้นชื่อว่า ความโกรธประเภทนี้ไม่มีความดี มันต้องไม่มีในกำลังจิตของเรา จิตใจของท่านผู้นั้นจะค่อย ๆ คลาย เพราะว่ามีความรู้สึกว่าร่างกายมันไม่ดี มีสภาพไม่เที่ยง เกิดขึ้นเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และปัญญามันก็เกิดมาก มีความรู้สึกว่า ร่างกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ร่างกายของเขาก็ไม่มีเหมือนกัน
    เพราะร่างกายมันเกิดขึ้นด้วยอำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และ อกุศลกรรม เมื่อสภาวะมันมีอย่างนี้ จะนั่งโกรธเพื่อประโยชน์อะไร โกรธทำให้ใจเร่าร้อน แต่ความเป็นมิตรกัน คือ รักกัน มันทำให้จิตเป็นสุข มีความสงสารซึ่งกันและกัน มีการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สร้างความเป็นมิตร ทำให้ใจเป็นสุข
    ประการที่สาม การไม่อิจฉาริษยาบุคคลอื่น เห็นคนอื่นเขาได้ดีพลอยยินดีด้วย และปฏิบัติตามเขาเพื่อความดีของเรา อันนี้ทำให้จิตเป็นสุข

    ประการที่สี่ ถ้าบุคคลเพลี่ยงพล้ำลงไปเราก็ไม่ซ้ำเติม ถ้าหากโอกาสจะพึงมี เราจะเข้าประคับประคองให้เขามีความสุข สร้างความเป็นมิตร นี่เพื่อปัจจัยของความสุข เราทำอย่างนี้ดีกว่า

    เมื่อจิตมันทรงอารมณ์จริง ๆ ความโกรธมันก็สลาย มีตัวเมตตาเข้ามาแทน ในเมื่อกำลังใจตัดความรักในระหว่างเพศได้ พระอนาคามีเป็นเครื่องสังเกตไม่ยาก ก้าวแรกที่จะเข้ามาถึง นั่นคือ ศีล 8

    และก้าวที่สองที่เข้ามาถึง ก้าวนี้ต้องดูก่อน ไม่แน่ว่าใครจะถนัดขนาดไหน บางคนก็หันมาตัดโทสะก่อน บางคนก็หันไปตัดราคะก่อน ในด้านราคะให้สังเกตดูว่าความรู้สึกระหว่างเพศไม่มีเลยสำหรับพระอนาคามี และต่อมาเรื่องของความโกรธ จริง ๆ มันก็ไม่มีอีกนั่นแหละ แต่การแสดงว่าจะโกรธมันมีอยู่ อย่างคนผู้ใต้บังคับบัญชา คือ ที่เราปกครองคน ถ้าบุคคลประเภทนั้น ถ้าเขาทำความผิดนอกคำสั่ง เห็นว่าจะเสียถ้าเตือนดี ๆ ไม่รับฟัง ก็แสดงท่าเหมือนโกรธ ถ้าขืนทำอย่างนี้จะลงโทษให้สาหัส ถ้าขืนทำจริง ๆ ก็จะต้องลงโทษตามระเบียบวินัยตามกฎข้อบังคับที่วางไว้ อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นอารมณ์โกรธ

    อย่างที่พระพุทธเจ้าลงโทษพระ พระพุทธเจ้าอย่าลืมว่าท่านเป็นพระอรหันต์นะ แต่มีสิกขาบทลงโทษพระไว้ตั้ง 300 กว่าสิกขาบท นี่จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าโกรธพระหรือ ความจริงไม่ใช่ ถ้าทำอย่างนั้นมันเลว ท่านยับยั้งไม่ให้ทำความเลวต่อไป ก่อนจบ ก็ขอให้บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายพยายามสังเกตกำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัทว่า เวลานี้กำลังใจของท่านถึงไหน และถ้ามันยังไม่ถึง จุดไหนบ้างที่เราควรจะทำ

    และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับท่านที่ได้มโนมยิทธิ เวลาจะก้าวเข้าสู่พระนิพพาน พยายามตัดขันธ์ 5 ให้เด็ดขาด ไม่สนใจกับความรัก ไม่สนใจกับความโกรธ ไม่สนใจกับความโลภ ไม่สนใจกับวัตถุธาตุใด ๆ ทำอารมณ์ใจให้ผ่องใส แล้วพยายามขึ้นไปบนพระนิพพาน อารมณ์ตอนนั้นเป็นอารมณ์ของพระอรหันต์ แต่เราอาจจะไม่เป็นอรหันต์ แต่ว่าเป็นอรหันต์เฉพาะจุดในเวลานั้น

    แต่ก็ยังดี ถ้ามันเป็นทุก ๆ วัน ไม่ช้ามันจะชิน ถ้ามันชินมันก็เกาะติด ถ้าหากจะถามว่า อารมณ์ใจเมื่อเข้าถึงอนาคามี อารมณ์ยังกระสับกระส่ายอยู่ไหม ขอบอกว่ายังมีอยู่ การเจริญสมาธิจิต ตัวแทรกก็ยังมีอยู่ อารมณ์ที่แทรกเข้ามามันเป็นอารมณ์ของกุศลอย่างเดียว อกุศลไม่มี

    เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน เที่ยวนี้ก็พูดถึงอารมณ์ของการปฏิบัติแต่โดยย่อ ขอให้ทุกท่านจงจำไว้ จะได้เป็นกำลังใจหรือเป็นบันไดแห่งการปฏิบัติ หากท่านสงสัยก็ทบทวนดูใหม่ให้เข้าใจ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาพุทธบริษัททุกท่าน สวัสดี
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 20 ตุลาคม 2017
  2. oomsin2515

    oomsin2515 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    2,934
    ค่าพลัง:
    +3,393
    ขออนุโมทนาสาธุธรรม เป็นอย่างสูง ครับ
     
  3. ชนะ สิริไพโรจน์

    ชนะ สิริไพโรจน์ ทีมผูัดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    5,891
    กระทู้เรื่องเด่น:
    14
    ค่าพลัง:
    +35,260
    ขออนุโมทนาเป็นอย่างสูงครับ
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ................ SadhuKrubaajarn.jpg
     
  5. SP6580

    SP6580 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    518
    ค่าพลัง:
    +1,552
    ขออนุโมทนาบุญ ที่นำบทธรรมมาเผยแพร่ให้จดจำกันเรื่อยๆครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...