บทความให้กำลังใจ(เมื่อตัวกูชูคอ)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,968
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)

    ทั้งหมดนี้กล่าวอย่างสรุปก็คือ ใจวิบัติเพราะลืมตัว จึงปล่อยให้ความโลภ ความโกรธ ความกลัวทำร้ายจิตใจ พอลืมตัวแล้วก็สามารถทำอะไรได้ทั้งนั้นรวมทั้งทำร้ายตนเอง บางคนเกิดอารมณ์ชั่ววูบจนลืมตัว กระโดดลงจากตึกบ้าง ลงจากสะพานบ้าง วิ่งไปให้รถชนบ้าง บางทีก็ไปซื้อปืนมายิงตัวเองบ้าง ทำร้ายคนอื่นบ้าง


    ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่ควรทำในตอนนี้ก็คือตั้งสติให้ดี อย่ากลัวหรือตื่นตระหนกกับภัยพิบัติจนลืมตัว หรือมองข้ามอันตรายที่ยิ่งกว่านั้นคือใจวิบัติ อันตรายชนิดนี้ไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย อยู่ที่ใจเรานี่แหละ ใจที่ควรจะสร้างสุขให้เรา แต่กลับกลายเป็นศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของเรา อย่าลืมว่าไม่มีอะไรที่จะทำร้ายเราได้มากกว่าจิตใจของเรา พระพุทธเจ้าตรัสไว้ “จิตที่ฝึกฝนผิดทางย่อมทำความเสียหายให้ยิ่งกว่าศัตรูต่อศัตรูหรือคนจองเวรต่อคนจองเวรจะพึงทำให้กันเสียอีก”

    ศัตรูทำร้ายศัตรูด้วยกัน หรือคนจองเวรกัน ก็ยังไม่ก่อความเสียหายเท่ากับใจที่ตั้งไว้ผิด ใจที่คลาดเคลื่อนจากธรรมหรือที่อาตมาเรียกว่าใจวิบัตินี้แหละ สามารถทำร้ายหรือสร้างความฉิบหายได้ยิ่งกว่าที่ศัตรูทำร้ายกัน แม้แต่โจรก็ทำร้ายเราได้ไม่เท่ากับใจของเราเองด้วยซ้ำ อย่างมากที่โจรแย่งชิงไปได้ก็คือทรัพย์สินเงินทองหรือเพชรนิลจินดาไป แต่เขาไม่สามารถแย่งชิงหรือขโมยความสุขไปจากใจเราได้ ในทำนองเดียวกันศัตรูด่าว่าเราไม่สามารถทำให้เราทุกข์ได้หรอก ไม่ว่าเขาจะพูดเสียงดังหรือสรรหาคำรุนแรงมาด่าเราเพียงใดก็ตาม ถ้าหากว่าใจเราไม่เปิดใจรับคำด่านั้น เราก็ไม่ทุกข์ แต่เพราะเราวางใจไม่ถูก คำพูดเพียงเล็กน้อยๆ ก็สามารถจะทำให้เราคลุ้มคลั่งเป็นบ้าหรือกลุ้มอกกลุ้มใจจนทำร้ายตัวเองได้

    มีหลายคนที่ฆ่าตัวตายเป็นเพราะเขาได้ยินคำพูดที่ไม่ถูกใจเพียงไม่กี่ประโยค ซึ่งอาจจะไม่ใช่คำพูดที่รุนแรงเช่น คำพูดว่า “แม่ไม่มีเงินซื้อโทรศัพท์มือถือให้นะ” หรือ “ถ้าแกสอบตก พ่อจะตัดหางปล่อยวัดแล้ว” คำพูดแค่นี้สามารถทำให้คนบางคนทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้ ถามว่ามันเป็นคำพูดที่รุนแรงหรือเปล่า มันไม่รุนแรงเลย แต่เป็นเพราะผู้ฟังวางใจไว้ผิด พอฟังแล้วใจก็เลยวิบัติ พอใจวิบัติแล้วก็สามารถทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น รวมทั้งทำร้ายตัวเอง

    แต่ถ้าวางใจไว้ดี ใจไม่วิบัติ แม้เจอภัยพิบัติจมอยู่ในกองอิฐ ก็ยังเป็นปกติได้ ตอนเกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น มีหลานกับยายสองคนถูกฝังอยู่ใต้ซากปรักหักพังนานถึง ๙ วัน ไม่มีใครคิดว่าจะรอด แต่เจ้าหน้าที่กู้ภัยไปพบและช่วยไว้ได้ คนที่ถูกช่วยออกมาจากซากปรักหักพังก่อนคือ หลานอายุ ๑๖ ปี พอหลานรู้ว่ามีคนมาช่วยก็ร้องห่มร้องไห้ด้วยความดีใจ แต่พอออกจากซากตึกได้ก็หมดแรงจนต้องนอนเปลขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ตรงกันข้ามกับยายอายุ ๘๐ ปีเดินออกมาสบายๆ ไม่มีอาการฟูมฟาย ไม่ต้องให้ใครพยุงหรือนอนเปล พูดถึงสภาพร่างกายแล้ว สองคนนี้แตกต่างกันมาก หลานแข็งแรงกว่ายายมาก แต่ทำไมหลานหมดสภาพทันทีที่ออกมาจากซากตึก ตรงข้ามกับยายที่เดินออกมาอย่างปกติ เป็นเพราะอะไร คำตอบอยู่ที่ใจนั่นเอง ใจของยายนั้นสงบตั้งแต่อยู่ในซากตึกแล้ว อาจเป็นเพราะมีความหวังว่าจะมีคนช่วยออกมาได้ หรือไม่ก็เพราะใจพร้อมจะตายตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเวลายายเจอเจ้าหน้าที่กู้ภัยก็เลยไม่ได้ดีอกดีใจอะไรมาก และเมื่อใจสงบ ไม่วิตกกังวลร่างกายก็เลยเข้มแข็ง ไม่ทรุดหรือหมดสภาพ ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยมีอาหารกิน นี้ก็เช่นเดียวกับกรณีเหมืองถล่มที่ชิลีเมื่อปีที่แล้ว มีคนงาน ๓๓ คนถูกขังอยู่ใต้ดินลึกถึง ๖๐๐ เมตร นานถึง ๗๐ วัน ไม่มีใครรู้ว่าจะรอดหรือเปล่า ที่จริงโอกาสตายมีสูงมาก เพราะการช่วยเหลือทำได้ยากมาก แต่ว่าทุกคนก็รอดมาได้ ไม่ใช่เพราะเจ้าหน้าที่กู้ภัยเก่งอย่างเดียว แต่เป็นเพราะคนที่ถูกขังใต้ดินนั้นเขาดูแลจิตใจของตนเองดี ส่วนหนึ่งเพราะต่างช่วยกันดูแลจิตใจของกันและกัน ทำให้ไม่ตื่นตระหนก เสียขวัญ หรือท้อแท้ เห็นได้ชัดว่าแม้เจอภัยพิบัติแต่ถ้าใจไม่วิบัติ ใจเป็นปกติ สามารถพบกับความสุขหรืออย่างน้อยก็ไม่ทุกข์ทรมานแม้จะอยู่ใกล้ชิดความตายอย่างยิ่งก็ตาม

    การรักษาใจจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเราหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาใจ รู้จักประคับประคองใจไม่ให้วิบัติ เราจะไม่กลัวภัยพิบัติ และไม่กังวลด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่นิ่งเฉย ไม่ทำอะไรเลย ในสภาพอย่างนี้เราต้องไม่ประมาท ควรเตรียมการป้องกันเต็มที่ แต่ก็ไม่ควรทำด้วยความตื่นตระหนก ขณะเดียวกันก็รู้ว่าอันตรายเหล่านี้ไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะควบคุมได้ แม้แต่พยากรณ์ก็ยังทำได้ยาก โดยเฉพาะ แผ่นดินไหว ไม่มีทางพยากรณ์ได้เลย ดังนั้นจึงพร้อมเผชิญกับมันตลอดเวลา มิใช่แต่ภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติเท่านั้น แม้ภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ เช่น ไฟไหม้ ก็ยังสามารถรักษาใจให้ปกติไม่อกสั่นขวัญแขวน หรือถึงจะไม่มีภัยพิบัติใดๆ เกิดขึ้นเลย แต่เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่ต้องเกิดขึ้นกับทุกคนเช่น ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความพลัดพรากสูญเสีย แม้กระทั่งความตาย เมื่อเกิดขึ้นเราก็ยังสามารถรักษาใจได้ให้ปกติได้

    เราควรดูแลรักษาใจอย่างไรเพื่อไม่ให้ใจวิบัติ ขอกล่าวอย่างย่อ ๆ ดังนี้

    ๑.มีสติรู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้ความตื่นตระหนก ความกลัว ความโกรธ หรือความโลภ ครอบงำใจ เวลาได้ยินข่าวคราวหรือเสียงร่ำลือเกี่ยวกับภัยพิบัติ รวมทั้งคำพยากรณ์ต่าง ๆให้ตั้งสติให้ดี อย่าเพิ่งตื่นตระหนก หรือทำตัวเป็นกระต่ายตื่นตูม สืบสาวหาความจริงก่อนว่า ความจริงเป็นอย่างไร หาไม่เราจะตกเป็นเหยื่อของข่าวลือ หรือทำให้ข่าวลือแพร่กระจาย พร้อมกันนั้นก็หมั่นเจริญสติอยู่เป็นประจำ ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเพื่อจะได้มีสติ รักษาใจไม่ให้หวั่นไหวไปตามสิ่งที่มากระทบ

    ๒.อยู่กับปัจจุบัน อย่ามัวห่วงกังวลกับอนาคตหรือสิ่งที่ยังมาไม่ถึง การเตรียมตัวป้องกันเหตุร้ายเป็นสิ่งที่ดี แสดงถึงการตั้งอยู่ในความไม่ประมาท แต่หากหมกมุ่นกับภัยพิบัติที่ยังไม่เกิด จนไม่รู้จักปล่อยวางเลย เราจะเป็นทุกข์โดยใช่เหตุ หรือกลายเป็นคนตีตนไปก่อนไข้ เมื่อเตรียมการเต็มที่แล้ว ก็ควรหันมาใส่ใจกับการอยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด รวมทั้งมีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย อย่ากังวลกับอนาคตภัยจนกินไม่ได้นอนไม่หลับหรือเคร่งเครียด เพราะการกระทำเช่นนั้น นอกจากเป็นการนำความทุกข์มาทับถมตนหรือซ้ำเติมตนเองแล้ว ยังเป็นการละทิ้งความสุขที่มีอยู่โดยชอบธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ไม่สรรเสริญ

    ๓.พร้อมยอมรับความจริงทุกอย่างที่เกิดขึ้น อะไรก็ตามเมื่อเกิดขึ้นแล้ว แม้เป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ ป่วยการที่เราจะตีโพยตีพาย โวยวาย หรือปฏิเสธผลักไส เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เราเป็นทุกข์เพิ่มขึ้น สิ่งที่ควรทำคือยอมรับความจริง แล้วใคร่ครวญว่าควรจะทำอะไรต่อไป เช่น จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร เราจะทำใจพร้อมยอมรับเหตุร้ายที่เกิดขึ้นได้ก็ด้วยการหมั่นฝึกใจให้พร้อมยอมรับสิ่งที่ไม่ถูกใจในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ เช่น รถติด ฝนตก เงินหาย ถูกตำหนิ ฯลฯ หากทำใจยอมรับสิ่งเหล่านี้ด้วยใจที่เป็นกลางได้ ก็จะช่วยให้เราสามารถเผชิญกับภัยพิบัติได้ด้วยใจสงบไม่ตื่นตระหนกหรือเสียขวัญ

    ๔.เจริญมรณสติอยู่เสมอ นั่นคือตระหนักถึงความจริงว่า ความตายเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นกับทุกคน และสามารถเกิดขึ้นกับเราได้ตลอดเวลา ความตายจึงอยู่ใกล้ตัวเรายิ่งกว่าภัยพิบัติใด ๆ ทั้งสิ้น และถึงแม้ไม่มีภัยพิบัติเกิดขึ้นเลย เราก็หนีความตายไม่พ้น แต่ความตายจะเกิดขึ้นเมื่อใดไม่รู้ อาจเกิดขึ้นกับเราวันนี้คืนนี้ก็ได้ ดังนั้นจึงควรถามตัวเองว่า หากวันนี้ต้องตาย เราพร้อมหรือไม่ที่จะจากโลกนี้ไป เราทำความดีสร้างบุญกุศลมาพอหรือยัง กิจธุระที่สำคัญทำเสร็จสิ้นหรือยัง และพร้อมปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ รวมทั้ง ทรัพย์สมบัติ ลูกหลาน พ่อแม่ คนรัก ตลอดจนร่างกายนี้หรือยัง หากไม่พร้อมก็ควรเร่งทำ อย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ขณะเดียวกันก็ปฏิบัติกับทุกคนด้วยความใส่ใจโดยตระหนักว่าเขาอาจอยู่กับเราวันนี้เป็นวันสุดท้ายก็ได้ อย่าละเลยโอกาสที่จะทำดีกับทุกคนที่เราเกี่ยวข้องด้วย

    ๕.มีน้ำใจต่อผู้อื่นเสมอ ยิ่งนึกถึงตัวเองมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นทุกข์ง่ายมากเท่านั้น ตรงกันข้ามการนึกถึงผู้อื่นที่ทุกข์มากกว่าเรา จะช่วยให้เราทุกข์น้อยลง เห็นความทุกข์ของเราเป็นเรื่องเล็กกว่าเดิม สามารถทนกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้

    ตอนที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเมืองไทยเมื่อเร็ว ๆนี้ ผู้สื่อข่าวผู้หนึ่งซึ่งไปทำข่าวที่ปทุมธานีเล่าว่า ได้พบคุณลุงคนหนึ่ง กำลังลุยน้ำอยู่จึงรับขึ้นรถ คุณลุงเล่าว่าก่อนหน้านี้ได้ต่อเรือและรถหลายทอดมายังตัวเมืองปทุมธานี เพื่อหาซื้ออาหาร เพราะที่บ้านซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๒๐ กิโลเมตรนั้นน้ำท่วมสูงมากจนหาซื้ออะไรไม่ได้ กว่าจะมาถึงตัวเมืองก็ใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๔ ชั่วโมง ปรากฏว่าฟ้ามืดแล้ว ไม่สามารถหารถหรือเรือกลับบ้านได้ จึงต้องนอนค้างที่ตัวเมือง และกลับวันรุ่งขึ้น โชคดีที่เจอรถผู้สื่อข่าวกลางทาง คุณลุงเล่าว่าที่บ้านนั้นมีคนอาศัยอยู่หลายคน ต่างขาดแคลนอาหารกันทั้งนั้น เมื่อรถของผู้สื่อข่าวเดินทางไปถึงจุดที่รถกระบะไม่สามารถลุยต่อไปได้ ก็ให้คุณลุงลุยต่อหรือหาเรือกลับบ้านเอาเอง ก่อนจากกันผู้สื่อข่าวซึ่งนำถุงยังชีพไป แจกจ่ายระหว่างทำข่าวด้วย ได้มอบถุงยังชีพให้คุณลุงหลายถุงเพราะทราบว่ามีคนอยู่ด้วยกันหลายคน แต่คุณลุงกลับขอรับไปเพียงถุงเดียว ด้วยเหตุผลว่า "ยังมีคนอื่นที่เขาต้องการอีกมาก" คุณลุงรู้ดีว่าถุงยังชีพเพียงถุงเดียวคงพอใช้ได้แค่วันสองวันเท่านั้น แต่คุณลุงเห็นว่าปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัวนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อนึกถึงความทุกข์ของผู้อื่นที่หนักหนากว่า

    ใจของเรานั้นหากปล่อยให้วิบัติ สามารถทำอันตรายแก่เราได้ยิ่งกว่าที่โจรผู้ร้ายจะทำได้ ในทางตรงข้ามหากดูแลรักษาใจให้ดี ใจก็จะกลายเป็นมิตรที่ประเสริฐที่สุดของเราได้ ไม่ว่าจะเจออันตรายร้ายแรงเพียงใด ก็ไม่หวั่นไหว หาสุขพบได้ท่ามกลางเหตุร้ายที่เกิดขึ้น หรือสามารถเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดีได้

    ไม่มีใครหรืออะไรสามารถให้สิ่งประเสริฐแก่เราได้มากเท่ากับใจที่วางไว้ถูก ดังพระพุทธองค์ตรัสว่า “มารดาก็ทำให้ไม่ได้ บิดาก็ทำให้ไม่ได้ ญาติพี่น้องก็ทำให้ไม่ได้ แต่จิตที่ฝึกฝนไว้ชอบย่อมทำสิ่งนั้นให้ได้ และทำให้ได้อย่างประเสริฐด้วย” ถ้าเราตั้งจิตไว้ถูก มีธรรมรักษาใจ ก็จะได้พบสิ่งที่ประเสริฐสูงสุดที่แม้แต่พ่อแม่ก็ไม่สามารถให้ได้

    ดังนั้นหากกลัวภัยพิบัติ ก็ต้องเร่งฝึกฝนจิตใจเพื่อป้องกันไม่ให้ใจวิบัติ หมั่นใส่ใจดูแลเพื่อให้ใจกลายเป็นสมบัติอันประเสริฐสุดของเรา ถ้าหากวางใจได้อย่างนี้ ภัยพิบัติจะกลับกลายเป็นคุณต่อเรา มิใช่เป็นโทษสถานเดียวอย่างที่ใครต่อใครกำลังหวาดกลัวอยู่ในเวลานี้
    :- https://visalo.org/article/NaturePaipibut.htm

     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,968
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    คำนิยมปฏิบัติการแห่งความรัก
    ปาฐกถาธรรมแนะนำท่านติช นัท ฮันห์
    โดย พระไพศาล วิสาโล

    ขอกราบคารวะท่านติช นัท ฮันห์ ตลอดจนพระเถรานุเถระ ภิกษุ ภิกษุณี และเจริญพรญาติโยมสาธุชนทุกท่าน

    เมื่อกลางปี พ.ศ.๒๕๑๗ ได้มีบทความชิ้นหนึ่งปรากฏอยู่ในวารสารชื่อ “ปาจารยสาร” บทความนั้นชื่อ “ปฏิบัติการแห่งความรัก” ซึ่งมาจากบทความขนาดยาวชื่อ Love in action บทความนั้นเขียนโดยพระเวียดนามรูปหนึ่งชื่อติช นัท ฮันห์ นั่นคือ บทความชิ้นแรกของท่านติช นัท ฮันห์ ที่ปรากฏสู่บรรณพิภพและสังคมไทย และเป็นครั้งแรกที่คนไทยได้ทราบถึงขบวนการชาวพุทธในเวียดนามที่พยายามสร้างสันติภาพท่ามกลางสงครามเวียดนามที่กำลังลุกลามขยายตัว บทความชิ้นนั้นได้ถางทางไปสู่บทความอื่นๆ ของท่านติช นัท ฮันห์ ในภาคภาษาไทย ซึ่งทำให้เราได้เห็นถึงความเสียสละอย่างยิ่งของท่าน ตลอดจนคณะสงฆ์ และลูกศิษย์ลูกหาของท่าน เพราะเป็นเวลานานที่สงครามเวียดนามได้สร้างบรรยากาศแห่งความเกลียดกลัวทำลายล้าง และการเข่นฆ่าประหัตประหารกัน โดยมีสองฝ่ายที่ต่างจ้องทำลายกัน

    ในครั้งนั้นท่านติช นัท ฮันห์ ได้เป็นผู้นำชาวพุทธที่เรียกร้องให้ชาวเวียดนามและชาวโลกหันมาเห็นภัยสงครามและร่วมกันสร้างสรรค์สันติภาพ สิ่งที่ท่านติช นัท ฮันห์ และขบวนการของท่านกระทำนั้นไม่ใช่เพียงแค่พูดและเทศนาสั่งสอน แต่ยังได้อุทิศตัวทั้งกายและใจ จนหลายท่านต้องเสียสละชีวิตเพราะถูกประหัตประหารด้วยความเข้าใจผิด หลายท่านไม่สามารถที่จะเปล่งเสียงร้องเพื่อสันติภาพมากไปกว่าการทำสิ่งซึ่งคนธรรมดาไม่ทำกันคือ การอุทิศตัวเป็นร่างในกองเพลิง เพื่อให้โลกตื่นตัวในสันติภาพ

    ในช่วงเวลาเกือบ ๒๐ ปีที่สงครามเวียดนามได้ลุกลาม ท่านติช นัท ฮันห์ ได้ทำให้ผู้ใฝ่สันติภาพทั่วโลกได้รับรู้ถึงความโหดร้ายของสงคราม และตระหนักว่ายังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่อุทิศตัวเพื่อสันติภาพโดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และถูกทำร้ายถูกประหัตประหาร อย่างไรก็ตามท่านติช นัท ฮันห์ และสานุศิษย์ของท่านหาได้แสดงความเกลียดชังหรืออาฆาตพยาบาทต่อผู้ประหัตประหารไม่ แต่พยายามสร้างความเข้าใจด้วยเมตตาและกรุณา และพยายามทำให้เกิดความรักต่อกันและกัน

    เมื่อท่านติช นัท ฮันห์ ได้ไปเยือนประเทศอเมริกาเพื่อเรียกร้องสันติภาพ นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้โลกได้ประจักษ์ถึงอานุภาพแห่งความรัก ซึ่งท่านได้ทำเป็นแบบอย่าง สิ่งที่ท่านและขบวนการของท่านได้ทำตลอด ๑๐ กว่าปี ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับขบวนการสันติภาพในประเทศตะวันตกมาก เพราะท่านได้ชี้ให้เห็นว่าการทำงานเพื่อสันติภาพต้องควบคู่กับการสร้างสันติภาวะในใจ คือ รักษาใจไม่ให้โกรธเกลียดแม้กระทั่งกับผู้ที่เข่นฆ่าเพื่อนร่วมขบวนการของเรา

    สิ่งที่ท่านทำได้เป็นแรงบันดาลใจและความประทับใจแม้กับเพื่อนศาสนิกชาวคริสต์ในอเมริกา บาทหลวงแดเนียล เบอริแกน ได้กล่าวว่า ท่านติช นัท ฮันห์ เหมือนนักบุญเปาโล ซึ่งเป็นหนึ่งในอัครสาวกของพระเยซูเจ้า เพราะว่าท่านดำเนินชีวิตด้วยความรัก แม้จะต้องประสบกับสิ่งที่ทำให้ทุกข์ทรมานทางใจและกายเพียงใดก็ตาม มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เป็นอีกผู้หนึ่งที่ประทับใจในสิ่งที่ท่านทำ จนเสนอชื่อให้ท่านได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ - ๑๙๗๐

    เมื่อสงครามเวียดนามสงบ ท่านได้เป็นกำลังสำคัญที่นำเอาความสมานฉันท์กลับคืนมา ท่านได้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างชาวเวียดนามและชาวอเมริกัน ทหารผ่านศึกชาวอเมริกันหลายคนซึ่งเกลียดชังชาวเวียดนาม แต่เมื่อได้มาสัมผัสกับความเมตตากรุณาของท่าน ก็ได้ฝากตัวเป็นศิษย์แทบเท้าท่าน ท่านยังได้เยียวยาผู้ที่ผ่านศึกสงคราม ไม่ว่าจะเป็นผู้ฆ่าหรือผู้ถูกทำร้าย ทำให้ชาวอเมริกันและชาวเวียดนามได้กลับมาเป็นมิตร มิใช่เพียงเป็นมิตรระหว่างกัน แต่เป็นมิตรกับตัวเอง คือเกิดสันติภาวะในตัวเอง

    และเมื่อโลกลุกเป็นไฟจากการก่อการร้ายหลัง ๑๑ กันยายน ท่านเป็นบุคคลแรกๆ ที่ได้เตือนสติชาวอเมริกันและรัฐบาลอเมริกันให้ตระหนักว่า ความรุนแรงไม่ใช่คำตอบ คำตอบอยู่ที่การพินิจตัวเองอย่างลึกซึ้งเพื่อตระหนักว่าความโกรธเกลียดจากฝ่ายตรงข้ามก็เป็นความรับผิดชอบของเราด้วย ในยุคที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง อาฆาตพยาบาท ชีวิตและสันติภาวะของท่านติช นัท ฮันห์ ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับมโนธรรมสำนึกของผู้คน เพื่อระลึกว่า แม้จะต่างศาสนาต่างประสบการณ์ แม้จะต่างเพศต่างผิวพรรณ แต่สุดท้ายแล้วเราทุกคนเป็นพี่น้องกัน

    ท่านได้บอกกับเราว่า ศัตรูของเรามาในชื่อของความเกลียดชัง ศัตรูของเรามาในชื่อของอุดมการณ์ ศัตรูของเรามาในชื่อของความทะยานอยาก ศัตรูของเรามิใช่มนุษย์ เพราะถ้าเราฆ่ามนุษย์แล้วเราจะอยู่กับใคร

    สังคมไทยวันนี้โชคดีที่ท่านติช นัท ฮันห์ ได้มาเยี่ยมเยือนและเตือนสติให้แก่สังคมไทย เพื่อให้เราตระหนักถึงความรักความเมตตาที่มีอยู่แล้วในใจเรา และเพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการดึงเอาความรักออกมาจากใจเราเพื่อสร้างโลกที่งดงาม และค้นพบความสุขที่แท้จริงในใจเรา

    เพราะฉะนั้นวันนี้ขอให้ทุกท่านได้สดับรับฟังธรรมะด้วยใจสงบ ให้เสียงธรรมของท่านติช นัท ฮันห์ ซึมซาบลงไปในใจเรา เพื่อดึงเอาความสงบสงัด และนำความรักความเมตตาออกมาสู่วิถีชีวิตที่ดีงาม วิถีชีวิตที่เปี่ยมด้วยความรักความเข้าใจ ปราศจากการแบ่งแยก ไม่ว่าจะแบ่งแยกมนุษย์หรือแบ่งแยกผู้คนออกจากกันก็ตาม

    ในโอกาสนี้ขออาราธนาพระคุณเจ้าติช นัท ฮันห์ ได้กรุณาแสดงปาฐกถาเพื่อประโยชน์แก่สาธุชนและมนุษย์นิกรทั้งหลาย
    :- https://visalo.org/article/person18NhatHanh3.htm
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,968
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    อย่าด่วนสรุป
    พระไพศาล วิสาโล
    มีพ่อคนหนึ่งมีความทุกข์มากที่ลูกชายไม่ดีเหมือนลูกคนอื่น แกทุกข์จนถึงขนาดซึมเศร้าไปเลย ต้องไปหาจิตแพทย์ ซึมเศร้าเพราะว่าลูกไม่ใช่คนสมบูรณ์ แกอยากได้ลูกที่สมบูรณ์ หมอก็แนะนำดี หมอบอกว่าลูกที่สมบูรณ์นั้นไม่มีหรอก เช่นเดียวกับพ่อที่สมบูรณ์ก็ไม่มี อย่างคุณก็ไม่ใช่พ่อที่สมบูรณ์ แต่คุณก็ดีพอที่จะเลี้ยงลูกได้ ลูกของคุณก็ไม่ใช่ลูกที่สมบูรณ์ แต่เขาก็ดีพอที่จะเป็นลูกของคุณได้ พอหมอพูดอย่างนี้ พ่อคนนี้ก็ได้คิดเลยว่าเออใช่นะ เป็นเพราะเราชอบเปรียบเทียบกับคนอื่นว่าลูกเขาดีกว่าลูกเรา เราจึงไม่พอใจลูก เพราะคิดว่าลูกไม่ใช่เด็กที่สมบูรณ์เหมือนคนอื่นเขา ที่จริงเขาลืมมองตัวเองว่าอยากจะได้ลูกที่สมบูรณ์ แต่ตัวเองเป็นพ่อที่สมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้เพราะไม่มีใครที่สมบูรณ์พร้อม ถ้ามองแบบนี้ ความพอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้ ก็จะเกิดขึ้น

    พ่อแม่ไม่ควรเปรียบเทียบลูกของตนกับลูกของคนอื่น ในทำนองเดียวกันลูกก็ไม่ควรเปรียบเทียบพ่อแม่ของตัวเองกับพ่อแม่ของคนอื่น บางทีก็เปรียบเทียบตัวเองกับพี่น้อง ก็ทุกข์ขึ้นมาทันที ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะคิดว่าพ่อแม่รักเราน้อยกว่าพี่น้อง คนที่เป็นลูกทุกข์เพราะเหตุนี้เยอะ พ่อแม่เป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่พอคิดเปรียบเทียบแบบนี้แล้วก็จะทุกข์ได้ง่ายมาก คนสวยแต่กลับทุกข์ เพราะเปรียบเทียบตัวเองกับดาราหรือนางแบบ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่ อย่างนี้ก็เรียกว่าทุกข์เพราะความคิด เพราะมองไม่เป็น

    ถ้าเราเปรียบเทียบกับคนอื่นให้น้อยลง พยายามอยู่กับปัจจุบันให้มากขึ้น เวลาใจเผลอคิดถึงเรื่องอดีต เรื่องอนาคต เกิดความเครียด หรือเกิดความกังวลขึ้นมา ก็รู้ทัน พาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบันได้ ความทุกข์ก็จะไม่ครอบงำจิตใจได้ง่าย ๆ อยู่กับปัจจุบันก็คือ ใส่ใจกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ขณะนี้ รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ตอนนี้ เวลาฟังธรรมะ ใจก็อยู่กับการฟังธรรมะ หรือกำลังทำงานอยู่ ใจก็อยู่กับงาน แต่ถ้าใจนึกถึงงานอื่นที่คาอยู่ ก็จะเกิดความกังวลหนักอกหนักใจขึ้นมาทันที แต่ถ้ารู้ทัน สติก็จะพาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน พอใจอยู่กับปัจจุบัน ความทุกข์ ความกังวล ความเครียดก็จะลดลงไปได้มาก

    พวกเราเป็นอย่างนี้หรือไม่ เวลาทำงานก็นึกถึงลูกที่บ้าน แต่เวลาอยู่กับลูกที่บ้านก็กลับนึกถึงงาน เวลานอนก็นึกถึงงานจนนอนไม่หลับ แต่เวลาทำงานกลับง่วงนอน ถ้าทำงานแต่ใจคิดถึงลูก เกิดอะไรขึ้น เกิดความกังวล ไม่มีสมาธิกับงาน ไม่อยากทำงาน กลายเป็นทุกข์กับงาน ครั้นเวลาอยู่กับลูก แทนที่จะมีความสุขกับลูก เปล่า กลับคิดถึงงาน ก็ทำให้กังวล หนักใจ บางทีระบายความเครียดใส่ลูกโดยไม่รู้ตัวก็มี ลูกพูดผิดหูนิดหน่อย ลูกไม่ฟังนิดหน่อย ก็ตวาดใส่ลูก ที่จริงไม่ได้โกรธลูกหรอก แต่ว่าเครียดเพราะนึกถึงงานที่ยังกองสุมอยู่

    มันจะง่ายขึ้นถ้าเราพาใจมาอยู่กับปัจจุบัน เวลาทำงานใจก็อยู่กับงาน อย่าเพิ่งนึกถึงลูก เพราะนึกไปก็ไม่มีประโยชน์ เราทำอะไรไม่ได้ มีแต่จะทำให้กังวลเปล่า ๆ พออยู่กับลูกใจก็อยู่กับลูกด้วย ไม่ใช่อยู่แต่ตัวเท่านั้น วางงานไว้ก่อน เวลานอนก็นอน ตื่นขึ้นมาจะได้มีเรี่ยวมีแรง มีกำลังวังชา มีความสดชื่น ทำงานได้โดยที่ไม่ต้องง่วงเหงาหาวนอน ชีวิตมันจะง่ายขึ้นและมีความโปร่งเบามากขึ้น เพียงแต่เราเอาใจอยู่กับปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็รู้ทันความคิดที่ปรุงแต่งไปในทางลบด้วย เห็นอะไรอยู่ตรงหน้าก็อย่าเพิ่งด่วนสรุป ถึงแม้ว่าสิ่งที่เราเห็นจะชวนให้คิดคล้อยไปอย่างนั้นก็ตาม

    หมอคนหนึ่งขยันทำงานมาก เขาเล่าว่ามีเด็กอายุประมาณ ๕-๖ ขวบป่วยหนัก พ่อจึงพามารักษาตัวที่โรงพยาบาล เขาก็เอาใจใส่ดูแลอย่างดี หมอบอกกับพ่อของเด็กว่าทุกเช้าเวลาหมอมาตรวจให้อยู่พบหมอด้วย จะได้ซักถามอาการของลูกจากพ่อได้ อีกทั้งจะได้แนะนำพ่อว่าควรดูแลลูกอย่างไร ผ่านไปหลายวันเช้าวันหนึ่งหมอมาตรวจเด็ก แต่ไม่เห็นพ่อเลยก็ไม่พอใจ วันรุ่งขึ้นก็เหมือนเดิม ไม่เห็นพ่อ หมอไม่พอใจมากที่พ่อไม่มีความรับผิดชอบ ทั้ง ๆ ที่ลูกป่วยหนัก ทำไมไม่อยู่ดูแลลูก ตอนเย็นหมอเจอพ่อของเด็ก จึงต่อว่าพ่อว่าทำไมคุณไม่มีความรับผิดชอบ ทำไมไม่อยู่ดูแลลูก หมออุตส่าห์ย้ำแล้วว่าเวลาหมอมาตรวจให้อยู่ด้วย พ่อก็ยกมือไหว้ขอโทษหมอ และบอกว่า “ข้าวที่ผมเอามาจากหมู่บ้านหมดแล้ว ผมไม่มีข้าวกิน ก็เลยต้องไปขอข้าวจากวัดที่อยู่ใกล้ ๆ โรงพยาบาล กว่าจะได้กินก็ต้องรอพระฉันเสร็จก่อน พอกินเสร็จก็ต้องล้างถ้วยล้างชามให้วัดด้วย ก็เลยมาไม่ทันหมอ”

    หมอได้ยินเช่นนั้นก็รู้สึกผิดขึ้นมาทันทีที่ไปว่าเขา ที่จริงเขาน่าสงสาร เพราะยากจน ไม่มีเงินแม้กระทั่งจะซื้อข้าวกิน สาเหตุที่หมอไปต่อว่าเขาเพราะด่วนสรุป ยังไม่ทันถามเขาก็ต่อว่าเขาไปแล้วว่าไม่มีความรับผิดชอบ ไม่เอาใจใส่ลูก หลายคนก็เป็นแบบนี้ใช่ไหม ต่อว่าเขาทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ความจริง แต่ด่วนสรุปแล้วว่าเขาแย่อย่างนั้น แย่อย่างนี้ ถ้าเราลองคิดเผื่อสักหน่อยว่าเขาอาจจะมีเหตุผลบางอย่างที่ทำเช่นนั้น เราก็คงไม่ด่วนตำหนิใครไปก่อน

    ธรรมชาติของคนเรานั้นพอเห็นอะไรแล้วจะไม่เห็นแต่สิ่งที่อยู่ข้างหน้าอย่างเดียว แต่ยังคิดถึงเบื้องหลังด้วย หรือชอบคาดการณ์ไปล่วงหน้าด้วย มีคนหนึ่งเล่าว่าเขาอยู่บ้านจัดสรร ต่อมามีเพื่อนบ้านย้ายมาอยู่ติดกัน ผ่านมาได้แค่ ๒ วันก็ปรากฏว่าเกิดพายุพัดกระหน่ำ ทำให้ไฟดับทั้งหมู่บ้าน สักพักเพื่อนบ้านก็มากดกริ่งที่หน้าบ้าน ถามเขาว่ามีไฟฉายไหม ได้ยินเช่นนั้นเขาก็นึกในใจว่า คุณเพิ่งมาอยู่ได้ไม่กี่วันก็มารบกวนฉันแล้ว ทำไมไม่เตรียมไฟฉายติดบ้านเอาไว้บ้าง จึงตอบอย่างห้วน ๆ ว่า “ไม่มี” เพื่อนบ้านคนนั้นก็เลยหยิบไฟฉายจากกระเป๋ายื่นมาให้ แล้วพูดว่า “งั้นเอาอันนี้ไปใช้ก่อนดีไหมครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์” เห็นเช่นนี้เขาก็รู้สึกผิดขึ้นมาทันที เพราะหลงตำหนิเพื่อนบ้าน แท้จริงแล้วเพื่อนบ้านคนนี้มีน้ำใจ ห่วงใยว่าเขาจะไม่มีไฟฉายใช้ จึงอุตส่าห์ฝ่าฝนเอาไฟฉายมาให้ใช้

    เดี๋ยวนี้คนในเมืองคิดแบบนี้กันมาก เวลาใครมาถามแบบนี้ก็คิดว่าเขาจะมาขอ แต่ที่จริงแล้วเขาอาจมีน้ำใจช่วยเหลือก็ได้ เพราะฉะนั้นอย่าด่วนสรุป และถึงแม้ว่าเราจะมีความคิดหรือสรุปล่วงหน้าแล้วก็ให้รู้จักทักท้วงความคิดเหล่านั้นบ้าง อย่าเชื่อความคิดของตัวเองไปเสียหมด ให้ตระหนักว่ามันเป็นแค่ความคิด ไม่ใช่ความจริง ความจริงอาจจะไม่เป็นอย่างที่เราคิดก็ได้ ถ้าเราเผื่อใจ หรือทักท้วงความคิดของตัวเองบ้าง ก็จะช่วยให้เราไม่เผลอทำอะไรผิดพลาด จนเกิดความเสียหายขึ้นมา นอกจากจะช่วยไม่ให้เราสร้างความทุกข์หรือความขัดแย้งให้กับคนอื่นแล้ว ก็ยังป้องกันไม่ให้เราเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจในภายหลัง

    หลวงพ่อคำเขียนเล่าว่าเมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อน ตอนนั้นท่านยังไม่ได้มาประจำที่สุคะโต ท่านเป็นเจ้าอาวาสที่วัดภูเขาทอง วันหนึ่งมีคนพาพระใหม่มาอยู่กับท่าน คนที่พามาบอกว่าพระรูปนี้เป็นน้องชายเขา ท่านก็แนะนำให้ปฏิบัติธรรม เดินจงกรม สร้างจังหวะ พระรูปนั้นทำได้แค่ ๒-๓ วันก็มาขอสึก บอกหลวงพ่อว่า “ผมไม่ได้มาบวชเพื่อเดินจงกรม แต่มาเพราะพี่ชายบังคับให้มา ผมบวชแล้ว ตอนนี้อยากสึก” หลวงพ่อไม่ยอมสึกให้ บอกว่าให้เดินจงกรมต่อ ผ่านไปได้แค่ ๒-๓ ชั่วโมง ก็มาหาหลวงพ่อใหม่ จะมาขอสึกอีก หลวงพ่อไม่ยอมและให้ปฏิบัติต่อ ผ่านไปพักใหญ่พระรูปนั้นก็มาอีก ยืนยันเหมือนเดิมว่าจะขอสึก คราวนี้หลวงพ่อจึงถามว่า “อะไรพาให้คุณมาหาผม” พระรูปนั้นตอบว่า “ความคิดครับ” หลวงพ่อจึงย้อนถามไปว่า “มันคิดแล้วต้องทำตามความคิดทุกอย่างหรือ ถ้าคุณทำตามความคิดทุกอย่าง ไม่แย่หรือ” แล้วท่านก็แนะนำให้พระรูปนั้นดูความคิดและคอยทักท้วงมันบ้าง พอได้ยินเช่นนั้นพระรูปนั้นก็เดินจากไปด้วยความไม่พอใจ

    วันรุ่งขึ้น พระรูปนั้นพอเห็นหลวงพ่อก็รีบเข้ามาหา แต่แทนที่จะมาขอสึกเหมือนเดิม กลับเข้ามากราบหลวงพ่อ อย่างนอบน้อม และบอกว่า ถ้าหลวงพ่อไม่ทัดทานเขาเมื่อวาน เขาต้องฆ่าคนแน่ เพราะตั้งใจว่าถ้าสึกแล้ว จะไปฆ่าคน ๒ คนให้หายแค้น เขาวางแผนเอาไว้แล้วว่าจะเอาปืนและรถจากไหน แต่เมื่อหลวงพ่อแนะให้เขาดูความคิด เขาก็เลยได้สติ และตัดสินใจไม่สึก ปรากฏว่าพระรูปนั้นบวชต่อนานถึง ๒๐ ปี

    นี่เป็นอุทธาหรณ์สอนใจว่าคนเราถ้าทำตามความคิดทุกอย่างแล้ว อาจจะลงเหวหรือไปอบายได้ เพราะความคิดนั้นที่ดีก็มี ที่ไม่ดีก็มี หากไม่รู้จักไตร่ตรองด้วยสติ ก็อาจถูกความคิดชั่วครอบงำ พาไปสู่หายนะได้ สิ่งที่หลวงพ่อคำเขียนพูดนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก “ถ้าคุณทำตามความคิดทุกอย่าง ไม่แย่หรือ” เมื่อมีความคิดขึ้นมาก็อย่าเพิ่งหลงเชื่อเสียทุกเรื่อง ให้ใคร่ครวญ ตรวจสอบ ทักท้วง หรือไม่ก็คิดเผื่อไปอีกทางหนึ่งบ้าง ขณะที่คิดไปในทางลบก็ลองคิดทางบวกเผื่อบ้าง เพราะความจริงอาจไม่เป็นอย่างที่เรานึก เช่น เวลามีเสียงเหมือนคนเดินรอบกุฏิก็อย่าเพิ่งปักใจเชื่อว่าเป็นเสียงคนเดิน อย่าเพิ่งสรุปว่าเป็นพวกมิจฉาชีพกำลังคิดร้ายกับเรา ให้ลองคิดเผื่อบ้างว่า อาจจะเป็นเสียงสัตว์ก็ได้ เวลาทักเพื่อนแล้วเขาไม่ตอบ ก็อย่าเพิ่งสรุปว่าเขาไม่ชอบเรา ลองคิดเผื่อว่าอาจมีเหตุบางอย่างที่ทำให้เขาไม่ได้ยินเรา หรือไม่เห็นเรา ให้คิดเผื่อไปอีกทางหนึ่งบ้างว่าเขาอาจจะมีเรื่องกังวลใจอยู่ ถ้าเราคิดแบบนี้ ความเข้าใจผิดก็จะลดน้อยลง และเราเองก็จะมีเรื่องทุกข์น้อยลงด้วย
    :- https://visalo.org/article/komol5701.htm
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,968
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    สุขเพราะให้
    พระไพศาล วิสาโล
    คนเราเมื่อคิดถึงคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการคิดถึงพ่อ คิดถึงแม่ คิดถึงป้า หรือคิดถึงเพื่อน คิดถึงคนที่ทุกข์ยาก หรือคิดถึงคนที่ไม่รู้จักเลย มันทำให้ความทุกข์ของเรากลายเป็นเรื่องเล็ก มีบาทหลวงท่านหนึ่งเป็นเพื่อนกับอาตมาเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งท่านไปเยี่ยมลูกศิษย์ที่เป็นนักศึกษาชั้นปีหนึ่งอายุ แค่ ๑๗ ปี เป็นโรคพุ่มพวงคือมีอาการแพ้ภูมิต้านทานของตัวเอง ภูมิต้านทานทำลายอวัยวะต่างๆ อาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล และปวดมาก ผ่าตัดก็ผ่าไม่ได้เพราะมีปัญหาเรื่องเลือด อวัยวะภายในก็พองโต พอเห็นหน้าคุณพ่อบาทหลวงท่านนี้เธอก็ตัดพ้อขึ้นมาว่า “ทำไมพระเจ้าทำให้หนูเป็นอย่างนี้” บาทหลวงท่านนี้ตอบว่า “พ่อก็ตอบไม่ได้ แต่มีอย่างหนึ่งที่อยากให้คุณทำคือ ให้สวดมนต์ถึงพระเจ้า รวมทั้งสวดมนต์ให้กับคนป่วยที่อยู่ในห้องเดียวกับคุณด้วย” วันต่อมาบาทหลวงก็เอาลูกประคำมาให้เธอ และมาเยี่ยมทุกวันๆ สีหน้าของเธอดีขึ้นเรื่อยๆ หน้าตาแช่มชื่น มีรอยยิ้ม เลิกบ่น เลิกตัดพ้อ ไปเยี่ยมได้ ๔ - ๕ วัน ท่านก็มีธุระที่ต่างจังหวัด ไปเป็นเดือนเลย พอกลับมากรุงเทพ ฯ ก็รีบไปเยี่ยมลูกศิษย์ทันที แต่ปรากฏว่าเธอเสียชีวิตแล้ว

    ที่น่าแปลกใจก็คือว่าคนไข้ที่อยู่ในหอผู้ป่วยเดียวกัน ต่างอยากรู้ประวัติของเธอว่า เธอเป็นใครเพราะพวกเขารู้สึกชื่นชมและประทับใจผู้หญิงคนนี้มาก พวกเขาเล่าว่า แม้ป่วยหนักเธอก็ยังอุตส่าห์เดินมาเยี่ยมผู้ป่วยตามเตียงต่างๆ คอยช่วยเหลือ ให้กำลังใจ หาน้ำให้ บางทีก็ช่วยประคองไปห้องน้ำ เป็นต้น คนไข้หลายคนอาการเบากว่าเธอด้วยซ้ำ แต่เธอก็มีน้ำใจมาคุยให้กำลังใจ พวกเขาประทับใจเธอมาก ตอนที่เธอเสียชีวิตก็จากไปอย่างสงบไม่ได้ทุรนทุรายอะไรเลย ผิดกับวันแรกที่บาทหลวงท่านนี้เห็นเธอ ตอนนั้นเธอทุกข์มาก ตัดพ้อต่อว่าพระเจ้า และตัดพ้อต่อว่าชะตากรรม แต่พอเธอทำตามคำแนะนำของท่าน คือให้สวดมนต์ถึงพระเจ้าและสวดมนต์ให้แก่เพื่อนผู้ป่วย ความทุกข์ของเธอกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย

    คนเราเมื่อเรามีน้ำใจต่อผู้อื่นแล้ว ไม่ใช่เขาเท่านั้นที่มีความสุข เราก็พลอยได้รับความสุขด้วย ความสุขที่เราให้แก่เขา ย้อนกลับมาสู่จิตใจของเรา เพราะฉะนั้นการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น หากมองอย่างเห็นแก่ตัว มันเป็นการเกื้อกูลตัวเราเองด้วย พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงนิทานเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของนักกายกรรม สองคน คืออาจารย์กับศิษย์ ลูกศิษย์ต้องปีนขึ้นไปอยู่บนปลายไม้แล้วเลี้ยงตัวบนนั้นโดยถือถาดน้ำมันด้วย ส่วนปลายอีกข้างก็ตั้งอยู่บนศีรษะของอาจารย์ คล้ายกายกรรมปักกิ่ง ทั้งสองคนเลี้ยงชีพด้วยวิธีนี้ มีวันหนึ่งอาจารย์บอกลูกศิษย์ว่า “เมื่อเธอขึ้นไปอยู่บนปลายไม้แล้ว ก็ขอให้ดูแลซึ่งกันและกัน เธอดูแลฉัน ฉันดูแลเธอ ถ้าทำอย่างนี้เราก็จะแสดงกายกรรมได้สำเร็จ ได้ลาภด้วย และลงจากปลายไม้ได้อย่างปลอดภัยด้วย” แต่ลูกศิษย์กลับบอกว่า “ทำอย่างนั้นไม่ได้ดอก อาจารย์จงดูแลตัวเอง ผมก็ดูแลตัวผม เมื่อเราต่างดูแลตนอง ก็จะแสดงกายกรรมได้สำเร็จ ได้ลาภด้วย และลงจากปลายไม้ได้อย่างปลอดภัยด้วย” หลังจากเล่าเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าสรุปเรื่องนี้ให้เป็นข้อคิดที่สำคัญว่า “เมื่อดูแลตนก็คือดูแลผู้อื่น เมื่อดูแลผู้อื่นก็คือดูแลตน”

    มีทีมถ่ายทำภาพยนต์เข้าไปสารคดีในหมู่บ้านแห่งหนึ่งประมาณ ๒ - ๓ วันจนคุ้นเคยกับชาวบ้าน วันหนึ่งมีคุณป้าถือปลามาพวงหนึ่งเดินผ่านมาแล้วถามว่า “รู้ไหมว่าทำอย่างไรถึงจะกินปลาพวงนี้ได้นานๆ ” คนในกองถ่ายทำก็ระดมสมองกันใหญ่ว่าทำอย่างไร บ้างก็เสนอว่า เอาไปตากแดด บ้างก็เสนอว่าเอาไปหมัก ทำส้ม หรือใส่ตู้เย็นก็มี คุณป้าบอกว่าผิดหมดเลย คำตอบคือ “ต้องเอาไปแบ่งเพื่อนบ้านให้ทั่วถึง”

    ในความรู้สึกของคนเมือง การแบ่งให้เพื่อนบ้านทำให้เรากินได้น้อยลง แทนที่จะกินได้ ๒ วัน ก็อาจจะกินได้แค่มื้อเดียว แต่สำหรับคุณป้า เมื่อเราแบ่งให้คนอื่น เราก็จะมีกินได้นาน เพราะเมื่อเพื่อนบ้านหาปลามาได้ เขาก็มาแบ่งให้เราด้วย นี่คือวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่กันมานาน เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน เขาอาจจนไม่มีเงินมีทอง แต่เขามีน้ำใจ มีความเอื้อเฟื้อ น้ำใจและความเอื้อเฟื้อนี่แหละที่ทำให้ชาวบ้านอยู่รอดได้

    หลวงพ่อปัญญานันทะเล่าว่า ตอนท่านเป็นเด็กเมื่อเกือบร้อยปีที่แล้ว มีอย่างหนึ่งที่ท่านเบื่อมาก ท่านเบื่อที่ต้องเอาอาหารจากบ้านท่านไปแบ่งให้เพื่อนบ้าน เพราะพ่อแม่เป็นคนมีน้ำใจ เวลาได้อะไรมา เช่น ได้เนื้อชิ้นใหญ่หรือได้ปลามาหลายตัว ก็จะแบ่งเป็นกองเล็กๆ เพื่อแจกชาวบ้าน ถ้าได้ทุเรียนมา ก็จะทำน้ำกะทิหม้อใหญ่แล้วตักแบ่งให้เพื่อนบ้าน ตอนนี้ก็ต้องเป็นหน้าที่ของเด็กชายปั่น คือหลวงพ่อปัญญาตอนเด็กๆ ต้องเอาอาหารหรือขนมเหล่านี้ไปแจกให้เพื่อนบ้านทุกบ้าน ทำไมถึงเบื่อ เบื่อเพราะว่าตอนเด็กอยากจะเล่น อยากจะสนุก แต่พ่อแม่เรียกให้เอาของไปแจกเพื่อนบ้านอยู่เรื่อย ท่านมาระลึกได้เมื่อโตขึ้นว่านี่คือสิ่งที่ทำให้หมู่บ้านอยู่กันได้อย่างมีความสุข ไม่มีเรื่องไม่มีราว ไม่มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน เพราะว่าเราจะทะเลาะกับคนที่มีน้ำใจแบ่งปันอาหารให้กับเราได้อย่างไร

    หลวงพ่อท่านเจ้าคุณโพธิรังสีที่เชียงใหม่ก็เล่าคล้ายกัน ว่าตอนท่านยังเด็ก ชาวบ้านแต่ละบ้านเขาทำอาหารเพียงอย่างเดียว กินอย่างเดียวจะไม่เบื่อหรือ จะเบื่อได้อย่างไร ในเมื่อบ้านอื่นเขาก็ทำคนละอย่างเสร็จแล้วก็เอามาแบ่งกัน ทำอย่างเดียวแต่มีกินหลายอย่าง ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลจึงทำให้ชาวบ้านอยู่กันได้อย่างมีความสุข ในทำนองเดียวกันความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลคือสิ่งที่จะทำให้พวกเรามีชีวิตได้อย่างเป็นสุข ถึงแม้ว่าจะประสบอุปสรรคมากมายเพียงใด แต่ถ้ามีน้ำใจสักอย่างแล้ว พวกเราจะอยู่ได้สบาย

    เราคงทราบว่าประเทศธิเบตอยู่บนหลังคาโลก คืออยู่บนพื้นที่ที่สูงที่สุดในโลกประมาณสี่พันห้าพันเมตร พวกเราถ้าขึ้นไปอยู่บนนั้น จะปวดหัวในเวลาเพียงแค่ครึ่งวัน หัวใจจะเต้นแรง กินไม่ได้นอนไม่หลับ เดินแค่จากนี้ไปประตูก็เหนื่อยแล้วต้องพัก แค่ลงจากรถไปฉี่ข้างทางก็เหนื่อยแล้วเพราะอากาศเบาบางมาก บนนั้นต้นไม้ขึ้นไม่ได้ มีแต่หญ้าเล็กๆ แต่มีชาวบ้านอยู่กันเป็นแสนเป็นล้าน เขาอยู่กันได้ ทั้งๆ ที่กันดารและอากาศก็หนาวมาก เขาอยู่กันได้อย่างไร มีเหตุผลอยู่ ๒ ประการ ประการแรกคือน้ำจากหิมะ หิมะเมื่อเจอความร้อนมันก็ละลาย พอละลายแล้วหญ้าต้นเล็กๆ ก็ขึ้นได้ พอมีหญ้าก็มีวัวที่เรียกว่าจามรี จามรีกินหญ้าก็กลายเป็นปศุสัตว์ เนื้อเป็นอาหาร นมทำเป็นเนย หนังให้ความอบอุ่น ส่วนขี้ก็เป็นเชื้อเพลิง

    ประการที่สอง นอกจากน้ำคือน้ำใจ น้ำใจและความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ทำให้เขาอยู่กันได้ ไม่ว่าจะอยู่ในถิ่นที่กันดารแค่ไหน อย่างเช่น บนเขาสูงหรือในแดนหิมะอย่างชาวเอสกิโม หรือในทะเลทรายอย่างพวกบุชแมน เขาอยู่กันได้อย่างมีความสุข คือ สุขด้วยน้ำใจ สุขด้วยความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน เพราะฉะนั้นน้ำใจในคณะธรรมยาตราเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่อยากจะเชิญชวนให้พวกเราหล่อเลี้ยงให้คงอยู่ และมันจะดีกับเราด้วย

    คนที่เห็นแก่ตัวคือคนที่ทำร้ายตัวเอง เพราะคนที่เห็นแก่ตัวจะเต็มไปด้วยความโกรธ เต็มไปด้วยความโลภ และจะมีความผิดหวังได้ง่าย เพราะจิตคับแคบ ถูกอะไรกระทบก็จะทุกข์เพราะคิดถึงแต่ตัวเอง แค่เป็นสิว ผิวแห้ง ผมแตกปลายก็จะตายให้ได้เพราะว่าไม่สวย คิดถึงแต่ตัวเอง แต่ถ้าคิดถึงคนอื่น เห็นคนอื่นลำบากกว่านี้เขาก็ยังอยู่ได้ มีชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งพิการ เกิดมามีแต่หัวกับตัว ไม่มีแขนไม่มีขา เขียนหนังสือเรื่อง “ไม่ครบห้า” คือมีแต่หัว ไม่มีแขนสองขาสอง เขาพูดตอนหนึ่งว่า “ผมเกิดมาพิการ แต่ผมมีความสุข และสนุกทุกวัน”

    คนที่ทุกข์เพราะเป็นสิวผิวแห้ง ผมแตกปลาย ให้ลองนึกถึงคนพิการเหล่านี้ เราจะรู้สึกเลยว่าความทุกข์ของเราเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือไม่ก็นึกถึงเด็กยากจน เด็กที่ไม่มีอะไรจะกิน เราจะรู้สึกเลยว่า แม้เราจะไม่มีโทรศัพท์มือถือ หรือโทรศัพท์มือถือเป็นรุ่นเก่า ก็ไม่ได้เสียหายอะไรเลย กลับดีเสียอีก ไม่เปลืองเงิน อยากย้ำว่า การนึกถึงคนอื่นทำให้เราทุกข์น้อยลง แต่ถ้าเราคิดถึงแต่ตัวเอง เราจะทุกข์มาก

    เมื่อร้อยปีที่แล้ว มีผู้หญิงญี่ปุ่นคนหนึ่ง ชื่ออิวาซากิ พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่เล็ก อยู่กับลุงด้วยความทุกข์ยากลำบาก อาหารก็ไม่ค่อยจะมีกิน หนังสือเรียนไม่ต้องพูดถึง ลุงก็เลยขายให้สำนักเกอิชา เกอิชาก็เหมือนกับโสเภณี แต่เป็นโสเภณีชั้นสูง คือต้องมีความสามารถทางด้านการร่ายรำ เขียนบทกวีเพื่อบำรุงบำเรอคนรวย แต่ก็อยู่อย่างลำบาก เป็นเกอิชาก็ถูกกดขี่ รู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่สมหวัง ต่อมาน้องก็ตาย ไม่นานหลังจากนั้น เธอก็สูญเสียแฟนซึ่งเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของเธอ เธอมีความทุกข์มาก รู้สึกว่าชีวิตนี้ลำเค็ญเหลือเกิน ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปแล้ว วันหนึ่งจึงเดินเข้าไปในป่า ขณะที่หิมะตกหนัก หวังจะให้หิมะตกทับถมร่างจะได้ตาย แต่ปรากฏว่ามีชาวบ้านคนหนึ่งช่วยเอาไว้ได้ พอคุณลุงคนได้ฟังเรื่องราวของผู้หญิงคนนี้ แกก็บอกว่าคนที่คิดถึงแต่ตัวเองย่อมอยากตายทั้งนั้น แล้วคุณลุงก็แนะว่าให้เธอกลับเข้าไปในเมือง แล้วช่วยทำดีกับใครก็ได้วันละคน ถ้าเธอทำแล้วยังอยากตายอยู่ให้มาบอกฉัน ฉันจะช่วยให้เธอตายสมใจ

    อิวาซากิได้คิดขึ้นมาก็เลยทำความดี เริ่มต้นด้วยการซื้อหนังสือให้เด็กยากจนคนหนึ่ง ต่อมาก็เล่านิทานให้เด็กฟังวันละคนสองคน หลังจากนั้นก็เริ่มแต่งนิทานเอง นับแต่นั้นเธอก็เลิกคิดที่จะฆ่าตัวตาย คงเพราะเหตุผลสองประการ ประการแรก เมื่อเห็นเด็กยากจนก็เลยได้คิดว่ามีคนที่ลำบากกว่าเธออีกมาก ประการที่สองพอเธอไปช่วยเขา เธอก็มีความสุข พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ให้ความสุขย่อมได้รับความสุข” เมื่อเราให้ความสุขแก่ผู้อื่น ความสุขนั้นก็จะย้อนกลับมาสู่เรา

    ถ้าพวกเราฉลาด เราต้องมีน้ำใจช่วยเหลือกัน ไม่ใช่ช่วยเฉพาะคนที่รู้จักมานานแล้วเท่านั้น แม้แต่เพื่อนที่เพิ่งรู้จักเราก็ควรมีน้ำใจต่อเขา มาธรรมยาตราครั้งนี้อาตมาอยากให้พวกเราเห็นความจริงข้อนี้ ถ้าเราลองสังเกตใจของเรา เวลาเราช่วยเหลือคนอื่น เรารู้สึกอย่างไร เราเห็นเขายิ้มแย้ม เรารู้สึกอย่างไร นั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้เราตระหนักว่าความสุขที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากการเอาเข้าตัวมากๆ แต่เกิดจากการให้ อันนี้คือสิ่งที่ควรจะได้เรียนรู้เพื่อช่วยให้เราสามารถพบกับความสุขได้อย่างแท้จริง
    :- https://visalo.org/article/komol5503.htm

     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,968
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ขุมทรัพย์ใกล้ตัว
    พระไพศาล วิสาโล
    มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่ให้ข้อคิดดีมาก ลุงหมานเป็นชาวบ้านที่พัทลุง แกยากจนแต่เป็นคนมีน้ำใจ ชอบทำบุญทำกุศล ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น แต่ว่าอยู่อย่างยากจน ระยะหลังแกฝันติดต่อกันหลายวันว่าที่อำเภอแก้งคร้อจังหวัดชัยภูมิ มีโรงเจแห่งหนึ่ง ใกล้ ๆ กันมีต้นไทรสูงใหญ่ ถ้าขุดลงไปสักประมาณ ๑-๒ เมตรก็จะเจอขุมทรัพย์ มีสมบัติมากมายที่สามารถจะเลี้ยงชีวิตแกไปได้อย่างสบายจนตาย แกฝันอย่างนี้หลายครั้งหลายคราว ทีแรกก็ไม่ได้นึกอะไร แต่พอฝันอย่างนี้ถี่ ๆ เข้า แกก็เลยคิดว่าเทวดาคงจะดลใจแก ตัวแกเองก็ไม่ได้โลภอะไร แต่ว่าพอฝันอย่างนี้บ่อยเข้าก็เอะใจ วันหนึ่งแกก็เลยเก็บเสื้อผ้าออกเดินทาง

    บ้านแกนั้นอยู่ไกลจากตัวอำเภอในพัทลุง กว่าจะออกมาถึงตัวอำเภอได้ก็ลำบากพอควรเพราะว่าเส้นทางคมนาคมไม่ดี พอถึงตัวอำเภอแล้วก็เข้าตัวจังหวัด จากตัวจังหวัดก็เข้ากรุงเทพฯ จากกรุงเทพฯ ก็มาที่ชัยภูมิ แล้วก็ต่อมาที่อำเภอแก้งคร้อ แกไม่ค่อยมีเงินก็ใช้วิธีโบกรถบ้าง บางทีก็เดิน ก็ใช้เวลาเดินทางหลายวันทีเดียวกว่าจะมาถึงแก้งคร้อ พอมาถึงแก้งคร้อแกสอบถามชาวบ้าน ก็พบว่ามีโรงเจอยู่ไม่ไกล พอไปถึงนั่นก็เห็นต้นไทร ทุกอย่างเหมือนกับที่เห็นในฝันทั้งหมด ยกเว้นคือมีตำรวจยืนอยู่ใกล้ ๆ ต้นไทร

    ตำรวจนั้นยืนอยู่ตรงนั้นนานเป็นวัน ๆ ลุงหมานก็ไม่กล้าเข้าไปขุดหาสมบัติ แกรออยู่ตรงนั้นประมาณสามวัน แต่ตำรวจก็ยังผลัดเวรกันมาเฝ้าเหมือนเดิม ลุงหมานคิดว่าไม่น่าจะได้เรื่องได้ราวจึงไปหาตำรวจแล้วเล่าเรื่องความฝันให้ฟัง เพราะคิดว่าคงไม่มีขุมทรัพย์อย่างที่แกคิด ตำรวจได้ฟังลุงแกเล่าแล้วก็หัวเราะ ก่อนที่จะบอกไปว่า “ลุงอย่าเชื่อเรื่องไร้สาระแบบนี้เลย ผมเองก็ฝันเหมือนกัน ฝันมาหลายวันแล้วด้วย ฝันว่าเห็นผู้ชายคนหนึ่งเป็นตาลุงแก่ ๆ ชื่อลุงหมาน อยู่ที่พัทลุง ในฝันบอกว่าใต้พื้นบ้านของลุงหมานมีขุมทรัพย์อยู่มากมายเลย ลุงลองคิดดูสิว่าถ้าผมเชื่อตามความฝันแล้วก็ต้องเดินทางไปถึงพัทลุง รอนแรมไปถึงบ้านของลุงหมานเลยเหรอ จะเอาอะไรกับความฝัน ไร้สาระ” พอลุงหมานได้ฟังแบบนี้แกก็เอะใจขึ้นมาทันที แกตัดสินใจว่าจะไม่ขุดขุมทรัพย์ใต้ต้นไทรแล้ว กลับบ้านดีกว่า พอถึงบ้านแกก็ขุดดินใต้ถุนบ้านทันทีตามที่ตำรวจคนนั้นเล่าความฝันให้ฟัง ปรากฏว่าพบขุมทรัพย์จำนวนมาก

    จริง ๆ แล้วขุมทรัพย์อยู่ใต้ที่นอนของแกนั่นแหละ แต่แกนึกว่ามันอยู่ใต้ต้นไทรที่แก้งคร้อ แต่การที่แกไปที่นั่นแม้ว่าจะลำบากแค่ไหนก็มีประโยชน์ ถึงแม้จะไม่เจอขุมทรัพย์ก็ตาม มีประโยชน์อย่างไร มีประโยชน์ตรงที่ทำให้แกรู้ว่าแท้จริงแล้วขุมทรัพย์มันอยู่ใต้ถุนบ้านของแกนี้เอง

    พวกเราเองก็เหมือนกัน เราอุตส่าห์เดินทางจากที่ไกล ๆ เพื่อแสวงหาความสุข เพื่อแสวงหาความสงบ เมื่อมาถึงก็จะพบว่าที่จริงแล้วความสุข ความสงบ ไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย อยู่ที่ใจเรานั่นแหละ อยู่ติดตัวเราตลอดเวลา แต่บางทีคนเรากว่าจะพบความจริงข้อนี้ได้ก็ต้องเดินทางไกล ผ่านความยากลำบาก กว่าจะพบว่าที่แท้แล้วของดีมันอยู่กับเราตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย บางคนเกิดที่เมืองไทยแท้ ๆ แต่กลับไปเรียนเมืองนอก ไปเรียนถึงอเมริกา อังกฤษ ถึงได้รู้ว่าความจริงแล้วสิ่งประเสริฐนั้นอยู่ที่บ้านเรานั่นเอง นั่นคือพระพุทธศาสนา ไปรู้จักพระพุทธศาสนาที่อเมริกา ที่อังกฤษ พระพุทธศาสนาสอนว่าความสุขที่แท้นั้นอยู่ที่ใจ แต่กว่าจะรู้ความจริงข้อนี้ก็ต้องเดินทางไปถึงอเมริกา ในทำนองเดียวกันชาวอเมริกัน ชาวอังกฤษหลายคน มาค้นพบตัวเองก็หลังจากที่เดินทางข้ามทวีปมาเมืองไทย มาพบท่านอาจารย์พุทธทาส มาพบหลวงพ่อชา มาพบหลวงพ่อเทียน แล้วก็พบว่าที่แท้ความสุขและขุมทรัพย์มันมีอยู่กับเราตลอดเวลา ก็คือที่ใจของเรา ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน

    คนเราบางทีกว่าจะรู้จักของดีในตัวเองก็ต้องใช้เวลา ต้องมีคนมาบอกถึงจะรู้ แต่กว่าจะรู้ก็ต้องเดินทางไกลจนได้มาพบกับกัลยาณมิตร พวกเรานั้นโชคดีตรงที่ไม่ต้องเดินทางข้ามประเทศ ข้ามทวีป เราแค่เดินทางข้ามจังหวัด หลายคนอาจจะรู้สึกว่ามาที่นี่เสียเวลา ใช้เวลานานเหลือเกิน ในสมัยก่อนนั้นกว่าจะมาถึงวัดป่าสุคะโตต้องเดินทางลำบากกว่านี้มาก ใช้เวลาถึงสองชั่วโมงจากแก้งคร้อมาถึงนี่ ถ้าฝนตกก็อาจใช้เวลานานกว่านั้น เพราะทางขาด แต่เมื่อเดินทางมาถึงแล้วก็จะพบว่าท้จริงแล้วความสุขหรือขุมทรัพย์อันประเสริฐอยู่กับเราตลอดเวลา ไม่ต้องเดินทางมาก็ได้ อยู่ที่บ้านก็รู้ได้ แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้ความจริงข้อนี้ เพราะมักมีสิ่งต่าง ๆ ดึงดูดใจเราออกนอกตัว ที่บ้านเราอาจจะมีทั้งพ่อ แม่ ลูกที่คอยดึงความสนใจออกไปนอกตัว และที่ยิ่งกว่านั้นก็คือโทรทัศน์ เครื่องเล่นดีวีดี โทรศัพท์มือถือ คาราโอเกะ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ดึงความสนใจของเราไปนอกตัว ทำให้เกิดความหลงว่านี่แหละคือความสุข
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,968
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    เวลาอยู่บ้านจะมีใครบ้างที่มีเวลาให้กับตัวเอง หันมาดูใจของตัวเอง มาดูลมหายใจ หรือดูอิริยาบถ รับรู้การเคลื่อนไหวของกาย เราไม่ค่อยมีเวลาให้กับตัวเอง บางคนเวลานอนยังไม่ค่อยพอ เพราะว่าถูกสิ่งภายนอกดึงความสนใจออกไป เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ และสิ่งบันเทิงเริงรมย์ สิ่งเหล่านี้เฝ้าบอกเราว่าอยากมีความสุขก็ต้องมีนั่นมีนี่ ลองเปิดโทรทัศน์ดูจะเห็นแต่โฆษณาที่บอกว่าถ้าเรามีอย่างนั้นอย่างนี้เราถึงจะมีความสุขได้ แต่ละแห่งแต่ละก็ให้คำมั่นสัญญากับเราว่าถ้าเรามีสิ่งนี้ ถ้าเราเสพสิ่งนี้เราจะมีความสุข อย่างเช่นบริษัทประกันภัยก็บอกว่าถ้าเรามีประกันภัยแล้วชีวิตเราจะมั่นคงทั้งตนเองและครอบครัว แต่นั้นเป็นความจริงแค่เสี้ยวเดียว หรืออาจจะเป็นความลวงด้วยซ้ำ ทำให้เกิดความหลง เพราะว่าพอมีเข้าจริง ๆ ก็ไม่ได้มีความสุขอะไร บางทีเราต้องเดินทางไกลมาถึงที่นี่จึงจะพบว่าแท้จริงแล้วความสุขอยู่ที่ใจของเรานั่นเอง ต้องเดินทางมาถึงที่นี่จึงจะค้นพบตัวเอง แต่ถึงแม้จะเสียเวลาอย่างไรก็ถือว่าคุ้ม เพราะอย่างที่บอกไว้แล้วว่าบางคนต้องใช้เวลาหลายปีถึงจะค้นพบตัวเอง

    การค้นพบตัวเองนั้นไม่ใช่การค้นพบรูปร่างหน้าตา แต่เป็นการค้นพบจิตใจ บางคนส่องกระจกวันละไม่รู้กี่ครั้ง มีผลวิจัยออกมาว่าคนเรานั้นส่องกระจกดูหน้าดูตาตัวเองวันละ ๓๐ กว่าครั้ง หรือทุกครึ่งชั่วโมงในขณะที่ตื่นอยู่ก็ว่าได้ แต่แม้ว่าจะส่องกระจกถี่ขนาดนั้นก็ยังไม่รู้จักตัวเอง เวลาทุกข์ก็มักคิดว่าคนอื่นทำให้เราทุกข์ แต่ไม่ได้เห็นเลยว่าที่แท้มันเป็นเพราะความคิดของเรา เป็นเพราะใจที่วางไว้ไม่ถูก คนเราทุกข์เพราะความคิดแท้ ๆ ทุกข์เพราะใจแท้ ๆ แต่กลับไม่รู้ อย่าว่าแต่ไม่รู้สาเหตุแห่งทุกข์เลย บางทีกำลังทุกข์อยู่ก็ยังไม่รู้จักตัวความทุกข์เลย ไม่ต้องพูดถึงสาเหตุแห่งทุกข์ อันนี้เรียกว่านกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ หนอนไม่เห็นอาจม

    อยู่กับความทุกข์แท้ ๆ ยังไม่รู้จักความทุกข์เลย ก็เพราะว่าพอมีความทุกข์เข้ามาแล้วใจก็จะมัวส่งออกนอก เวลาเราโกรธเราก็ไม่ได้รู้เท่าทันความโกรธ เพราะใจมันพุ่งออกไปข้างนอกเสียแล้ว คือคิดแต่จะเล่นงานหรือทำร้ายคนที่ทำให้เราโกรธหรือโมโห เวลาเกิดความอยาก ความอยากมันเผาลนจิตใจ เราเห็นความอยากหรือเปล่า ก็ไม่เห็น เพราะใจมัวเพ่งอยู่กับโทรศัพท์ รถยนต์ บ้าน หรือแก้วแหวนเงินทองที่เราอยากจะได้ อยากจะครอง ใจมันพุ่งออกนอกหมด ไม่กลับมาเห็นตัวเอง ก็เลยคิดว่าที่เราไม่มีความสุขนั้นเป็นเพราะเรายังไม่ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มา เราจึงวิ่งไล่ล่าตามหา แต่ได้มาเท่าไรก็ไม่มีความสุขเสียที

    บางคนนั้นอยู่ที่ไหนก็ไม่มีความสุข กระสับกระส่าย ต้องย้ายไปที่โน่นที่นี่ บางคนเปลี่ยนงานอยู่บ่อย ๆ คิดว่าได้งานที่นี่แล้วจะมีความสุข ก็ไม่มี แต่จะมีข้อตำหนิรอบตัว เช่น เจ้านายไม่ดี ที่ทำงานคับแคบ งานก็ไม่ถูกใจ พอย้ายไปทำงานที่อื่น แผนกอื่น ตำแหน่งอื่น ก็ไม่ถูกใจอีก ไม่มีความสุข แล้วก็โทษสารพัดว่างานไม่ดี เพื่อนร่วมงานไม่ได้เรื่อง เจ้านายมีปัญหา ไม่เป็นธรรม ก็ย้ายต่อ เปลี่ยนที่เปลี่ยนงานไม่หยุด แต่ไม่เคยพบกับความพอใจสักที อันนี้เพราะเขาลืมมองว่าที่แท้แล้วใจของตนเองต่างหากที่เป็นปัญหา พระพุทธเจ้าอุปมาเหมือนสุนัขขี้เรื้อน เวลาอยู่ใต้ต้นไม้ก็คัน อยู่กลางแจ้งก็คัน ยืน เดิน นั่ง นอน ที่ไหน ก็ไม่สบาย อยู่ที่ไหนก็ไม่มีความสุข มันก็โทษว่าใต้ต้นไม้ไม่ดี กลางแจ้งไม่ดี อยู่ที่ไหนก็โทษที่นั่นว่าไม่ดี แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นเพราะตัวมันเองต่างหากที่ขี้เรื้อนผิวเป็นแผล เพราะฉะนั้นเวลาเรามีความทุกข์ ต้องกลับมาดูตัวเอง ไม่ใช่ไปโทษสถานที่

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เมื่อมือไม่มีแผล บุคคลจะจับต้องยาพิษก็ได้ ยาพิษนั้นไม่สามารถทำอันตรายได้” แต่ถ้ามือมีแผลเมื่อใดพอไปถูกยาพิษก็เป็นอันตราย มือก็หมายถึงใจเรา ถ้าใจเราไม่มีแผล เจออะไรก็ไม่มีทุกข์ ใครเขาจะว่าเรา เราก็ไม่ทุกข์ ได้เงินเดือนน้อย เจองานหนักก็ไม่ทุกข์ แต่ถ้าใจเราเป็นแผลเหมือนกับมือ อย่าว่าแต่ยาพิษเลย แม้แต่ใบหญ้าซึ่งนิ่มมาก ถ้ามาทิ่มถูกแผลเราก็เจ็บ หลายคนเป็นอย่างนั้นเพราะในใจมีแผล คำพูดซึ่งเป็นแค่ลมปาก พอมันมากระทบหูเข้าใจก็เป็นทุกข์เป็นบ้าเป็นหลัง แล้วก็โทษคนโน้นคนนี้ ซึ่งก็มีส่วนอยู่แต่เป็นปัจจัยภายนอก ส่วนปัจจัยภายในก็คือใจของเรา ใจนั้นเป็นที่มาแห่งความทุกข์ที่รุมเร้าผู้คนจำนวนมาก ที่มันเป็นเช่นนั้นได้เพราะว่าเขาไม่รักษาแผลที่ใจ ไปทำอะไรต่ออะไรข้างนอกจนวุ่นวายไปหมด แต่เมื่อใดก็ตามที่เรากลับมารักษาแผลที่ใจ เอาธรรมะมาเป็นเครื่องรักษาใจ เช่นเวลาโกรธก็ใช้เมตตาระงับและบรรเทาความโกรธ เวลาอิจฉาใครก็มีมุทิตาจิตให้กับเขา มุทิตาจิตนั้นช่วยระงับดับความอิจฉาริษยาได้ เช่นเดียวกับเมตตาที่สามารถระงับดับความพยาบาทได้ แต่จะมีธรรมะเหล่านี้ได้ก็ต้องมีสติเป็นตัวตั้งต้นก่อน สติเป็นตัวตั้งต้นที่ดีมาก ถ้ามีสติแล้วเจออะไรมาก็รับมือได้
    :- https://visalo.org/article/komol5601.htm

     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,968
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    หมาบันดาลใจ
    พระไพศาล วิสาโล
    มีคลิปวีดีโอเรื่องหนึ่งซึ่งเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ค คือ มีคนเอาปิ้งไก่ยื่นให้หมาตัวหนึ่ง พอมันคาบปิ้งไก่ได้ก็รีบวิ่งหายไปเลย ทีแรกนึกว่ามันคงกลัวหมาตัวอื่นแย่งเพราะมันเป็นหมาตัวเมีย หมาตัวผู้ที่แข็งแรงก็อาจจะแย่งชิงเอาปิ้งไก่จากมันไปได้ คนให้ปิ้งไก่สงสัยจึงตามไปดูว่ามันวิ่งไปไหน ปรากฎว่ามันไปไกลเลย เข้าซอกนั้นออกซอกนี้ สุดท้ายก็พบว่ามันเอาไปให้ลูก ลูกยังเล็กอยู่ พอลูกเห็นแม่ก็วิ่งมาหาแม่ แม่ก็คายปิ้งไก่ให้ลูกกิน ตัวมันเองไม่ได้แตะปิ้งไก่สักนิด มันให้ลูกหมดเลย อันนี้เป็นความรักและความเสียสละ แม้แต่หมาก็มีความรัก และความรักนำไปสู่ความเสียสละ ตัวเองยอมอดได้เพื่อลูก

    มีแม่หมาตัวหนึ่ง เป็นหมาขี้เรื้อน วันหนึ่งไปคาบเนื้อแห้งที่คนตากไว้ ปรากฏว่าเจ้าของเป็นคนที่ใจคอดุร้ายมาก ยิงนกตกปลาเป็นว่าเล่นแถมยังกินหมาด้วย พอเห็นหมาขี้เรื้อนตัวนี้คาบเนื้อแห้งไป ชายคนนี้เอาปืนยิง หมาฟุบคาที่ ด้วยความแค้นมากผู้ชายคนนี้กะว่าจะแล่เนื้อหมาขี้เรื้อนตัวนี้ บอกว่ากินหมาธรรมดามาเยอะแล้วยังไม่เคยกินเนื้อหมาขี้เรื้อน แค้นขนาดนี้เลยนะ เขาไม่ได้ทำเพราะความโลภหรือความอยาก แต่ทำด้วยความแค้น

    ระหว่างที่ชายคนนี้ไปเอาเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อมาแล่เนื้อหมาขี้เรื้อน ก็ให้เด็กเฝ้าหมาเอาไว้ เด็กเฝ้าดูสักพักก็ปีนต้นตะขบเล่น เก็บลูกตะขบกิน พอลงมาปรากฏว่าหมาหายไปแล้ว หมายังไม่ตาย ก็เลยตามรอยเลือดไป ตามไปไกลก็พบว่าหมาคลานกลับไปที่รัง แล้วก็มีลูกหมาตัวเล็ก ๆ ๕ ตัวคลานเข้ามารุมล้อม เด็กเห็นกับตาว่า ขนาดแม่หมากำลังจะตายก็ยังอุตส่าห์กระเสือกกระสนกลับไปให้นมลูก มันคงรู้ว่าถ้าตัวเองตายไปลูกไม่ได้กินนม ลูกคงแย่ จึงพยายามกลับไปหาลูก ให้ลูกได้กินนมเป็นครั้งสุดท้าย ส่วนลูกหมาก็ไม่รู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น ไม่รู้ว่าแม่กำลังจะตาย ลูกหมาทั้ง ๕ ตัวก็เข้าไปกินนมแม่

    สักพักชายคนที่ยิงหมาก็ตามมาถึง พอเห็นภาพนี้ก็อึ้งเลย เพราะว่าสิ่งที่เขาเห็นไม่ใช่หมาขี้เรื้อนที่ขโมยเนื้อแห้งของเขา แต่มันคือแม่ที่มีน้ำใจประเสริฐมาก ตัวจะตายแล้วก็ยังนึกถึงลูก พยายามกระเสือกกระสนมาให้นมลูกเป็นครั้งสุดท้าย
    ตั้งแต่นั้นมาชายคนนี้เปลี่ยนนิสัยไปเลย เขาเลิกยิงนกตกปลา อย่าว่าแต่เลิกกินหมาเลย สัตว์ชนิดอื่นก็เลิกกินเหมือนกัน เพราะว่าสะเทือนใจในสิ่งที่ตัวเองทำลงไป เขาได้คิดว่าสัตว์ที่ตัวเองยิงเล่นนั้น อาจมีลูกน้อยที่คอยหาแม่อยู่ อีกอย่างเขาคงซาบซึ้งในน้ำใจของสัตว์เหล่านี้ ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ไร้หัวจิตหัวใจที่ใครจะฆ่าเล่นได้

    อันนี้เรียกว่าเขาได้ธรรมจากหมา หมาเป็นผู้สอนธรรมให้ ที่จริงสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายสามารถสอนธรรมให้เราได้ เช่น สอนให้เห็นถึงความรักของแม่ ผู้ชายที่ยิงหมาขี้เรื้อนคนนี้ คิดว่าคงจะรักแม่มากขึ้นด้วย เพราะได้เห็นน้ำใจและความเสียสละของสัตว์เพศแม่ ขนาดเดรัจฉานยังรักลูกขนาดนี้ คนจะรักลูกขนาดไหน
    ธรรมะนั้นไม่ใช่ว่าจะรับรู้ได้จากการอ่านพระไตรปิฎก หรือฟังเทศนาของพระ ของครูบาอาจารย์ ของพระอริยเจ้าเท่านั้น แม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉานก็สามารถสอนธรรมให้เราได้ ไม่ใช่แค่เรื่องความรัก ความเมตตา ความเสียสละ สัตว์ยังสอนอย่างอื่นได้อีกเยอะ พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงผีเสื้อว่า ผีเสื้อนั้นอยู่ได้ด้วยน้ำหวานจากดอกไม้ แต่เวลาผีเสื้อดูดน้ำหวานจากดอกไม้ มันไม่เคยทำให้ดอกไม้บอบช้ำ ดอกไม้ก็ยังเหมือนเดิม

    ผีเสื้อพึ่งพาดอกไม้ฉันใด พระก็ต้องอาศัยญาติโยมฉันนั้น ในเมื่อพระต้องพึ่งพาญาติโยม ก็ไม่ควรทำให้ญาติโยมเดือดร้อน ควรเรียนรู้จากผีเสื้อที่ทะนุถนอมดอกไม้ ในทำนองเดียวกันคนเราต้องพึ่งพาธรรมชาติ จึงไม่ควรทำให้ธรรมชาติเดือดร้อน ไม่ควรทำลายธรรมชาติ สมัยนี้คนเราไม่ค่อยตระหนักว่าเราต้องพึ่งพาธรรมชาติ เราเห็นธรรมชาติเป็นแค่วัตถุหรือสินค้าที่จะมาสนองปรนเปรอความอยากหรือทำกำไรให้กับมนุษย์ ก็เลยทำลายธรรมชาติกันมากขึ้น

    เมื่อเราอยู่ที่นี่ มีธรรมชาติอยู่รอบตัว ก็ควรเรียนรู้จากธรรมชาติ หมั่นเปิดใจ รับรู้ รับฟัง ใคร่ครวญ ก็จะเห็นธรรมะที่ธรรมชาติแสดงให้เห็นอยู่ทุกเมื่อ
    :- https://visalo.org/article/komol6005.html
     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,968
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    บ่มเพาะความรู้ กล่อมเกลาความรู้สึก
    พระไพศาล วิสาโล
    อะไรทำให้ผู้คนยังติดในกามสุขทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันเป็นโทษ ก็เพราะใจเขายังไม่เคยได้เสพหรือได้สัมผัสกับความสุขที่มันประณีต คนเรานั้นต้องการความสุขหล่อเลี้ยงใจ ถ้าขาดความสุข โหยหาความสุข อะไรอยู่ข้างหน้าก็คว้าทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความสุขที่หยาบหรือประณีต อะไรอยู่ใกล้ก็ขอเสพก่อน

    พระพุทธเจ้าทรงอุปมาว่า เหมือนกับคนที่เดินมากลางแดด อากาศร้อนคอแห้งหิวกระหายมาก ถ้าหากเจอน้ำเต็มแก้ว มีสีสดใส แม้จะมีคนบอกว่าน้ำนี้มีพิษกินแล้วทำให้ตายได้ คนที่หิวกระหายไม่ได้กินน้ำมา 2-3 วันแล้ว เขาจะฟังหรือไม่ เขาจะปฏิเสธน้ำแก้วนี้หรือไม่ ถึงอย่างไรเขาก็จะยังกินน้ำแก้วนั้นอยู่ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันอันตราย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเขากระหายน้ำมาก ยังไงก็ขอดับกระหายก่อน ส่วนจะเป็นอันตรายอย่างไรค่อยว่ากันทีหลัง แต่ตอนนี้ฉันหิวมาก ความรู้สึกหิวมันมีพลัง มันไม่ยอมทำตามความรู้ ความรู้บอกว่าอย่ากินๆ แต่ความรู้สึกบอกว่าไม่ไหว หิวน้ำเหลือเกิน ถึงอย่างไรก็ต้องกินแล้ว พระพุทธเจ้าทรงอุปมาเรื่องนี้เพื่อชี้ว่า คนเราเข้าหากามก็เพราะโหยหาความสุข แม้จะรู้ว่ากามนี้มีโทษ แต่ถ้าใจยังโหยหาความสุข ก็ต้องเข้าหากามอยู่นั่นเอง ทำนองเดียวกันแม้พระจะสอนว่า บุหรี่หรือเหล้ามีโทษ แต่ตราบใดที่เขายังไม่พบหรือไม่สามารถจะหาความสุขอย่างอื่นได้ เขาก็ต้องพึ่งความสุขจากอบายมุขเหล่านี้


    ย้อนกลับไปที่คนเดินกลางแดดที่กำลังหิวน้ำ ถ้าเกิดมีน้ำอยู่ 2 แก้ว แก้วหนึ่งน้ำสีสวยรสอร่อยแต่เจือยาพิษ อีกแก้วหนึ่งเป็นน้ำฝนน้ำบริสุทธิ์ ไม่มีสี ไม่มีรส แต่ว่าไม่อันตราย ถ้ามีน้ำอยู่ ๒ แก้ววางใกล้ ๆ กัน ก็เป็นไปได้ว่าคนที่หิวกระหายจะเลือกกินน้ำแก้วที่ 2 แต่ถ้าไม่มีแก้วที่ 2 ให้เห็นเลย ก็ยากที่จะปฏิเสธน้ำแก้วเดียวที่มีอยู่แม้จะอันตรายก็ตาม ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า คนเราไม่อาจละกามสุขได้ จนกว่าได้สัมผัสหรือเข้าถึงความสุขที่ประณีตกว่า เป็นความสุขที่ไม่ต้องพึ่งกามหรือเป็นความสุขที่เว้นจากกาม เรียกว่า เนกขัมมสุข

    นี้ก็หมายความว่าเพียงแค่ความรู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยความรู้สึกด้วย คือการได้เสพได้สัมผัสกับความสุขที่ประณีตแล้วรู้สึกได้ชัดเลยว่า มันประเสริฐกว่ากามสุขเยอะเลย อันนี้พระองค์พูดจากประสบการณ์ของตัวเอง เพราะพระองค์เคยตรัสว่า เมื่อครั้งที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์หรือยังไม่ทันตรัสรู้ แม้พระองค์จะเห็นประโยชน์ของความสงบ เห็นประโยชน์ของเนกขัมมะ คือความปลอดจากกาม แต่ว่าใจยังไม่น้อมตาม ไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่นในเนกขัมมะ นั่นเป็นเพราะว่ายังไม่เห็นโทษของกามสุข อีกทั้งยังไม่ได้สัมผัสกับอานิสงส์ของเนกขัมมะ คือยังเข้าไม่ถึงเนกขัมมสุขนั่นเอง

    ที่ตรัสเช่นนี้หมายความว่า การเห็นประโยชน์ของเนกขัมมะนั้นตราบใดยังเป็นแค่ความรู้ เป็นแค่ความคิด แต่ถ้าใจยังไม่สัมผัสกับความสุขจากภาวะที่ปลอดกาม ก็เป็นไปได้ยากที่ใจจะโน้มหาเนกขัมมะอย่างแท้จริง เพราะความรู้สึกยังไม่ไปด้วย ที่พระองค์ตรัสว่า ใจยังไม่แล่นไป ใจยังไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่น ก็แสดงว่าความรู้สึกยังไม่ได้ไปในทางเดียวกับความรู้ เพราะยังไม่เจ็บปวด ยังไม่เจอความเจ็บแสบของกามสุข แล้วก็ยังไม่ได้สัมผัสกับรสชาติของเนกขัมมสุข ต่อเมื่อพระองค์ได้สัมผัสกับรสชาติของเนกขัมมสุข แล้วก็ได้เห็นโทษของกามสุขจริงๆ เห็นโทษในที่นี้หมายถึงเจอความเจ็บปวดหรือเป็นทุกข์ด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่คิดเอา เมื่อนั้นแหละใจก็เลื่อมใส ตั้งมั่นในเนกขัมมะ นั่นก็คือความรู้กับความรู้สึกไปในทางเดียวกันแล้ว

    ในการปฏิบัติธรรม ในการดำเนินชีวิตพรหมจรรย์ หรือว่าในการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐในทางพระพุทธศาสนา ความรู้อย่างเดียวยังไม่พอ คือรู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี รู้ว่าสติสัมปชัญญะนี้ดี รู้ว่าสมาธิภาวนานี้ดี รู้ว่ากามเป็นโทษ แต่ถ้าใจยังไม่สัมผัสกับความสุขที่ประณีตจริงๆ รวมทั้งไม่ได้เจอโทษของกามสุข ยังไม่สัมผัสกับความทุกข์จากกามสุขจริงๆ ก็ยากที่จะประคองชีวิตพรหมจรรย์ไปได้อย่างต่อเนื่อง ใจก็ยังหวนหารสชาติเอร็ดอร่อยของกามสุขอยู่นั่นเอง หรือว่าอาจจะรู้แต่ไม่กระตือรือร้นที่จะทำอะไรเพื่อที่จะฝึกหัดขัดเกลาตัวเอง

    ประสบการณ์ที่เราเห็นกันประจำคือ คนจะเข้าวัดก็ต่อเมื่อมีความทุกข์ ถ้าไม่มีความทุกข์ มีความสุขสบายดีก็ยากจะมาปฏิบัติธรรม ทั้งๆ ที่รู้นะ อ่านหนังสือมาก็รู้ว่าปฏิบัติธรรมนี้ดี เจริญสมาธิภาวนานี้ดี แต่ไม่สนใจ ใจยังไม่โน้มตาม ใจยังไม่ใฝ่ไปทางนั้น เพราะยังไม่เจอความเจ็บแสบ ไม่เจอความทุกข์ด้วยตัวเอง ต่อเมื่อเจอความทุกข์ เช่น อกหัก ล้มละลาย หรือมีความเครียดอย่างแรง ประสบความล้มเหลวในธุรกิจการงาน เครียดมาก จนไม่สบาย ทีนี้แหละถึงจะซมซานเข้าหาธรรมะ อย่างนี้เรียกว่าความรู้สึกผลักดันให้ต้องเลือกทางนี้ เพราะเห็นแล้วว่าวิธีอื่นไม่ได้ผล ไปเที่ยวก็แล้ว กินเหล้าก็แล้ว ยังไม่หายทุกข์ แถมยังได้ความทุกข์หรือรู้สึกถึงความทุกข์จากการใช้วิธีการเหล่านั้น ก็เลยต้องมาเข้าวัดปฏิบัติธรรม อันนี้เรียกว่ามาด้วยความรู้สึกล้วนๆ อาจจะมีความรู้ด้วย แต่ความรู้ไม่มีพลังพอเท่ากับความรู้สึก

    คนเราส่วนใหญ่อยู่ด้วยความรู้สึกนะ เวลาจะทำอะไร แม้จะทำความดี ก็อาศัยความรู้สึกเป็นตัวผลักดัน คือเจอทุกข์เต็มที่ หรืออาจจะเคยสัมผัส ได้เสพความสุขจากความสงบ ก็เลยมีแรงจูงใจหรือแรงดึงให้เข้าหาความสงบใจ แต่ส่วนใหญ่อาศัยแรงผลักไม่ใช่แรงดึง แรงผลักก็คือความเจ็บปวด ความทุกข์ ความล้มเหลว ความเจ็บปวด เหล่านี้คือแรงผลัก ส่วนที่เข้าหาธรรมด้วยแรงดึงนั้นมีน้อย แรงดึงหรือแรงจูงใจได้แก่ความสุข หรือการเห็นประโยชน์ของมัน แบบนี้มีน้อย แต่ถ้าเราสามารถปลีกเวลามาปฏิบัติธรรมแล้วได้สัมผัสกับความสงบ จิตได้ซึมซับรับเอาความสงบเย็นอันเป็นความสุขที่ประณีตกว่ากาม ก็จะทำให้ใจโน้มเข้าหาหรือรู้สึกแนบแน่นกับพรหมจรรย์มากขึ้น พรหมจรรย์ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการทิ้งครอบครัวมาเป็นพระอย่างเดียว เป็นฆราวาสถือศีล 5 ปฏิบัติธรรมก็เป็นพรหมจรรย์ได้ เพราะพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนามีความหมายกว้าง ไม่ได้หมายถึงเมถุนวิรัติหรือการไม่ข้องแวะกับเพศรสอย่างเดียว ศีล 5 ก็ถือเป็นพรหมจรรย์ได้ ความพอใจในคู่ครองของตนที่เรียกว่าสทารสันโดษก็เป็นพรหมจรรย์ได้ การช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์เอาใจใส่ส่วนรวมก็ถือว่าเป็นพรหมจรรย์ได้ เพราะพรหมจรรย์แปลว่าชีวิตอันประเสริฐหรือการปฏิบัติที่ประเสริฐ

    หากเราปรารถนาชีวิตที่ดีงาม ก็ต้องเข้าใจถึงอิทธิพลของความรู้สึก ความรู้สึกนี้รวมไปถึงเวทนาและอารมณ์ด้วยนะ ความรู้สึกสุข ทุกข์ และความชอบ ความไม่ชอบ ความอยาก ความไม่อยาก ทั้งหมดนี้มีความสำคัญ ถึงแม้คนเราจะมีความรู้แค่ไหน แต่ก็มักจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความรู้สึกซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี ถ้าเป็นความรู้สึกที่ไม่ได้รับการอบรม ไม่เคยสัมผัสกับสิ่งที่ประณีต ความสงบ ก็อดไม่ได้ที่จะต้องไปข้องแวะกับความสุขหยาบๆ ที่เรียกว่ากามสุข

    กามสุขนั้นมีหลายแบบ ประณีตก็มี หยาบก็มี กามสุขแบบหยาบ ๆ ก็เช่น เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด หรือการเที่ยวผู้หญิง เที่ยวกลางคืน นี้เรียกว่ากามสุขแบบหยาบๆ แบบประณีตก็เช่น การมีความสุขจากการฟังเพลงที่แต่งอย่างประณีต หรือชื่นชมธรรมชาติที่งดงาม นี้เป็นกามสุขที่ประณีต แต่ว่าก็ยังจัดว่ามีโทษอยู่ เช่น ไม่จิรังยั่งยืน ยังเจือด้วยทุกข์ แต่ถ้าเรารู้จักและเห็นโทษของมัน ไม่ว่าเห็นในระดับความคิด จากการอ่านการฟัง หรือได้สัมผัสด้วยตัวเอง แต่ถ้าเราได้สัมผัสกับความสุขที่ประณีตจากการทำความดี จากการได้สัมผัสกับความสงบในจิตใจ จากการได้เจริญสมาธิภาวนา ก็จะช่วยกล่อมเกลาความรู้สึกของเราให้ประณีต ทำให้การหวนหาอาลัยหรือเสียดายกามสุขลดลง ถ้าไม่มีสิ่งนี้จิตใจของเราก็ยังไม่ปลอดภัย ยังอดไม่ได้ที่จะข้องแวะกามสุข ซึ่งทำให้การดำเนินชีวิตพรหมจรรย์ของเราสะดุด แม้แต่การพอใจในคู่ครองของตน ไม่ข้องแวะหญิงหรือชายอื่น ที่เรียกว่าสทารสันโดษก็ยังทำไม่ได้ เพราะอดไม่ได้ที่จะนึกถึงความสุขแปลกๆ ใหม่ๆ กับคนอื่น หรืออะไรที่ผิดทำนองคลองธรรม

    ถ้าเราตระหนักเรื่องนี้ก็ต้องพยายามอบรมความรู้สึกของเราให้เจริญงอกงามด้วย ที่จริงการปฏิบัติเจริญสมาธิภาวนาก็เพื่อสิ่งนี้แหละ เพราะการเจริญสมาธิภาวนานั้นใช้ความรู้น้อย ไม่ค่อยใช้ความคิดเท่าไหร่ อันที่จริงต้องวางความคิดไปเลยด้วยซ้ำ การเจริญสมาธิภาวนาคือการอบรมจิตใจหรืออารมณ์ความรู้สึกโดยตรงเลย ทีแรกก็ให้สัมผัสกับความสงบจากสมถกรรมฐาน สมถกรรมฐานคือกรรมฐานที่ทำให้ใจสงบเย็นเป็นสุข หลังจากนั้นก็จะอบรมด้วยวิปัสนากรรมฐานจนกระทั่งจิตเกิดปัญญาขึ้นมา เป็นความรู้สึกที่ประสานกับความรู้อย่างชัดเจน คือความรู้ว่าขันธ์ 5 เป็นไตรลักษณ์ ความรู้ว่ารูปและนาม กายและใจไม่ใช่เรา

    สำหรับหลายคนความรู้อย่างนี้ยังเป็นแค่ความรู้ในหัวสมอง หรือไม่ก็เห็นแบบประพิมประพาย แต่ใจยังไม่น้อมตาม เพราะใจยังมีความหวงแหน ยังมีความหวังลึกๆ ว่า กายนี้สุข ใจนี้สุข ยังอยากเป็นเจ้าเข้าเจ้าของกายและใจ เพราะยังหลงว่ามีตัวตนอยู่ พอนึกว่าตัวตนไม่มี ใจมันเสียววาบเลยนะ มันยอมไม่ได้ว่าตัวตนไม่มี มันขัดขืน มันต่อสู้ มันต้องพยายามพิสูจน์ให้ได้ว่าตัวตนมี ถ้ากายและใจไม่ใช่ตัวตน มันก็ไปยึดอย่างอื่นมาเป็นตัวตน ไปยึดเอาทรัพย์สมบัติเป็นตัวตน หรือไปยึดเอานิพพานเป็นตัวตนก็ได้ ใจมันไม่ยอม เพราะมันจะรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง ความรู้ของคนเราไปไกลแล้ว คือรู้ว่าตัวตนไม่มี แต่ใจยังไม่ยอม ความรู้สึกมันยังไม่ยอม

    การปฏิบัติธรรมคือการกล่อมเกลาความรู้สึกจนยอมรับว่าตัวตนไม่มี และเห็นชัดว่าถ้ายึดถือตัวตนเมื่อไหร่จะทุกข์มากเลย ใจที่เจอความเจ็บแสบรุ่มร้อนจากความยึดติดในตัวตนจะปล่อยวางได้ง่าย และยิ่งเห็นว่าแม้แต่จิตก็เต็มไปด้วยทุกข์มาก ทุกข์ถาวรเลย หวังให้มันสุขไม่ได้เลย พอหวังให้มันสุขไม่ได้ จิตก็ยอมจำนน ยอมแพ้ ยอมรับความจริงได้ ทีนี้ความรู้สึกกับความรู้ก็จะไปด้วยกันได้ ความรู้กับความรู้สึกกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือกอดคอพาไปสู่ความหลุดพ้นได้ในที่สุด

    การปฏิบัติของเราจะต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกให้มาก กล่อมเกลาความรู้สึกรวมทั้งอารมณ์ให้สอดคล้องไปกับความรู้และเหตุผลที่เรามีอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ภาวนามยปัญญาหรือปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติจึงสำคัญ สุตมยปัญญาคือปัญญาที่เกิดจากการฟังการอ่านนั้นก็ดีอยู่ จินตามยปัญญาคือปัญญาเกิดจากการคิดก็ดีอยู่ แต่มันยังอยู่ในฝ่ายของความรู้ เราต้องอาศัยความรู้สึกที่ได้รับการกล่อมเกลาด้วยภาวนามยปัญญา ถึงจะทำให้เกิดปัญญาที่แท้จริงได้
    :- https://visalo.org/article/komol255401.htm

     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,968
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    นิ่งสงบสยบปัญหา
    พระไพศาล วิสาโล
    มีพุทธประวัติตอนหนึ่ง ทำให้เราเข้าใจสำนวนที่ว่า ‘พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง’

    ครั้งหนึ่งกลุ่มปริพาชกหรือนักบวชนอกศาสนาพุทธ มีความคิดอยากทำลายชื่อเสียงพระพุทธเจ้า จึงส่งนางจิญจมาณวิกา ไปที่วัดเชตวันตอนรุ่งเช้าบ่อยๆ จากนั้นก็ให้นางสรรหาผ้ามาพันท้อง แกล้งว่าท้องทีละนิด เมื่อเวลาผ่านไปท้องของนางก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนมีคนทักถามว่าเธอท้องกับใคร นางจิญจมาณวิกาจึงตอบไปว่าท้องกับพระพุทธเจ้า

    เรื่องนี้พระองค์ทรงทราบความจริงดี แต่พระองค์ทรงเงียบเฉย ไม่ชี้แจงอะไร กระทั่งท้องของนางจิญจมาณวิกาขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนครบ 9 เดือน นางจิญจมาณวิกา จึงทูลต่อพระพุทธเจ้าหน้าที่ธารกำนัลว่า ทำไมพระพุทธเจ้าทำเธอท้องแล้วไม่ทรงรับผิดชอบ พระพุทธเจ้าทรงได้ยินดังนั้นก็แย้มพระสรวล ก่อนตรัสสั้นๆ ว่า เรื่องนี้มีแค่เธอกับเราเท่านั้นแหละที่รู้ความจริง จากนั้นพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงอธิบายขยายความต่อ นั่นทำให้นางจิญจมาณวิกา โกรธมาก และพยายามโต้เถียงจนผ้าที่พันท้องของนางอยู่หลุดออกมา ความจริงจึงเปิดเผยในที่สุด

    จากนั้น กรณีเช่นนี้ก็ยังคงเกิดขึ้นอีก

    เมื่อครั้งที่กลุ่มปริพาชกได้สังหารนางสุนทรีแล้วเอาศพไปทิ้งไว้ใกล้กุฏิของพระพุทธเจ้า เมื่อมีคนมาพบศพนางสุนทรีเข้า ข่าวลือว่าพระพุทธเจ้าทรงอยู่เบื้องหลังการตายของนางก็แพร่สะพัดออกไป พระสงฆ์ทั้งหลายร้อนใจมากจึงได้ทูลให้พระพุทธเจ้าทรงหนีออกจากเมืองนั้นไปเสีย แต่พระองค์ตรัสตอบว่า ขอทุกท่านจงนิ่งสัก 7 วัน เดี๋ยวเรื่องนี้จักเงียบสงบไปเอง

    เจ็ดวันผ่านไปปรากฏว่าข่าวลือนั้นก็เงียบสงบไปจริงๆ

    ความจริงปรากฏว่า ฆาตกรที่ฆ่านางสุนทรีเกิดเมาแล้วทะเลาะกับเพื่อน เลยเปิดเผยว่าตนเองเป็นคนฆ่านางสุนทรี จากนั้นเขาถูกจับได้และโดนสำเร็จโทษถึงชีวิต

    ในบางสถานการณ์ การพูดหรือชี้แจงอาจจะไม่เป็นประโยชน์

    เพราะว่าคนส่วนใหญ่ยังอยู่ในอารมณ์ที่รุ่มร้อน พูดไปเขาก็ไม่ฟัง

    เมื่อคนเราถูกใส่ร้าย ส่วนใหญ่เรามักจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบทันที แต่การด่าหรือเถียงกลับนั้น มีแต่จะทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลง

    สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารอังกฤษที่ประจำการอยู่ที่พม่าต้องไปลาดตระเวนในป่าเพื่อต้านทานการบุกรุกของทหารญี่ปุ่น เย็นวันหนึ่ง ทหารลาดตระเวนมาแจ้งข่าวกับหัวหน้าว่า ข้างหน้ามีกองทัพทหารญี่ปุ่นโอบล้อมไว้ทุกด้าน บรรดาทหารอังกฤษก็คิดว่าถึงฝ่ายตนเองจะมีกำลังน้อยกว่า อย่างไรก็ต้องสู้ เพราะถ้าสู้แล้วอาจสามารถลดจำนวนทหารญี่ปุ่นได้เล็กน้อย ก็ยังดีเสียกว่าตายเปล่า

    แต่หัวหน้ากลับบอกว่าให้อยู่นิ่งๆ และยังให้ชงชาดื่มกันด้วย

    ถึงลูกน้องจะสงสัย แต่ทุกคนก็ปฏิบัติตามที่หัวหน้าสั่ง ชงชารอ ผลปรากฏว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทหารญี่ปุ่นก็เดินผ่านไป กลายเป็นว่าทุกคนที่นั่นก็รอดตาย

    บางครั้ง การอยู่นิ่งๆ สามารถช่วยชีวิตเราได้

    เวลาเรือเจอพายุคลื่นลม แล้วก็เรือเกิดรั่ว ถ้าคนในเรือตื่นตกใจ ทำโน่นทำนี่ เรือก็คว่ำง่าย ที่จริงแล้ว การอยู่เฉยๆ อาจเกิดผลดีเสียกว่า

    หรือยามเมื่อคนที่เรารักใกล้เสียชีวิต แทนที่จะให้ท่านจากไปอย่างสงบ กลับบอกให้หมอทำโน่นทำนี่ เจาะคอบ้าง ใส่ท่อบ้าง ซึ่งยิ่งทำให้ท่านทุกข์ทรมาน ลูกๆ หลายคนรู้สึกเสียใจภายหลังว่า ทำไมไม่ให้พ่อหรือแม่ของตนจากไปอย่างสงบ ทำไมต้องทำนู่นต้องทำนี่ด้วย เพราะว่าไม่รู้จักนิ่ง ไม่รู้จักปล่อยวาง

    เมื่อเจอเหตุการณ์ต่างๆ ขอให้ใช้สติ ใช้ปัญญา อย่าคิดแต่จะทำนู่นทำนี่อย่างเดียว

    การไม่ทำอะไรเลย บางทียังเป็นการดีเสียกว่า

    คนเราจึงต้องรู้จักใช้ศิลปะของการนิ่งสงบ เพื่อสยบความวุ่นวาย
    :- https://visalo.org/article/komol6201.html
     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,968
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    Eboat.jpg
    เรือเปล่า

    พระไพศาล วิสาโล
    จางจื๊อเป็นปราชญ์จีนโบราณซึ่งมักนำเสนอปรัชญาที่ลึกซึ้งโดยอาศัยเรื่องเล่าที่ง่าย ๆ เรื่องหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงคือเรื่อง “เรือเปล่า” จางจื๊อเริ่มต้นด้วยการเล่าว่า ชายคนหนึ่งกรรเชียงเรืออยู่ในแม่น้ำ ถ้าหากมีเรือเปล่าลำหนึ่งมาชนเข้า แม้เจ้าของเรือกรรเชียงจะเป็นคนเจ้าโทสะ เขาก็คงโกรธไม่ได้มาก แต่ถ้าเห็นคนอยู่ในเรือนั้น เขาคงต้องตะโกนบอกให้พายเรือหนีไปให้พ้น ถ้าอีกฝ่ายยังไม่ได้ยิน ก็ต้องตะโกนดังขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจถึงต้องร้องด่า ทั้งนี้ก็เพราะมีคนอยู่ในเรือลำนั้น แต่อากัปกิริยาดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าหากไม่มีคนอยู่ในเรือลำนั้น ดังนั้นจางจื๊อจึงแนะให้เราทำเรือของเราให้ว่างเปล่า หรือทำตนเป็น “เรือเปล่า” เพื่อจะได้ข้าม “แม่น้ำ”อย่างสะดวกสบาย ไม่มีใครมาขัดขวางหรือกระทบกระทั่งด้วย

    มองอย่างพุทธ “เรือเปล่า” ก็คือจิตที่ว่างเปล่าจากตัวตน หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นก็คือจิตที่ว่างเปล่าจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนนั่นเอง ผู้ที่มีจิตว่างเปล่าตามนัยดังกล่าวย่อมอยู่ในโลกนี้ได้อย่างราบรื่นและผาสุก แม้จะไม่ถึงกับปลอดพ้นจากการถูกตะโกนด่าว่าดังเรือเปล่าของจางจื๊อ แต่คำตะโกนด่าว่านั้นย่อมไม่อาจทำให้ทุกข์ได้ เพราะไม่มี “ตัวตน”ออกไปรับคำด่า ใช่หรือไม่ว่า ถ้ามีตัวตนหรือยึดมั่นถือมั่นใน “ตัวกู”เมื่อไร ก็อดไม่ได้ที่จะเอาคำด่านั้นมาเป็น “ของกู” เกิดความสำคัญมั่นหมายว่า “ตัวกู”ถูกด่า หรือมี “ตัวกู”เป็นเป้าให้คำด่าว่านั้นเข้ามากระทบกระแทก

    ตัวตนหรือความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนนั้นเป็นที่มาแห่งความทุกข์ทั้งหลายของมนุษย์ ไม่ใช่แค่ทุกข์เพราะถูกต่อว่าเท่านั้น หากยังทุกข์เมื่อประสบกับความสูญเสียพลัดพราก เพราะไปสำคัญผิดว่าสิ่งที่สูญเสียไปหรือบุคคลที่พลัดพรากไปนั้นล้วนเป็น “ ของกู” แม้แต่เวลาเจ็บปวดทางกาย ก็ยังทุกข์ไปถึงใจเพราะไปสำคัญมั่นหมายว่า “กูเจ็บ” ท่านอาจารย์พุทธทาสเปรียบ เทียบให้เห็นง่าย ๆ ว่า เมื่อมีดบาดนิ้ว ถ้าไปสำคัญมั่นหมายว่า “มีดบาดฉัน”เมื่อไร จะเจ็บยิ่งกว่าเวลารู้สึกว่า “มีดบาดนิ้ว”เสียอีก

    ทั้ง ๆ ที่สมัยนี้เต็มไปด้วยความสะดวกสบายและความพรั่งพร้อมทางวัตถุมายมาย แต่
    เหตุใดผู้คนจึงทุกข์กันง่ายและทุกข์กันมากเหลือเกิน คำตอบก็คือเพราะไม่รู้เท่าทันความจริงข้อนี้ แถมยังเน้นตัวตนกันมากขึ้น จึงเกิดความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนอย่างสูง อะไรก็ตามที่ปรนเปรอ พะเน้าพะนอ หรือตอบสนองความต้องการของตัวตน เป็นต้องทำหรือหามาให้ได้ ดังนั้นจึงเกิดความต้องการไม่รู้จักหยุดหย่อน ผลคือเกิดความเร่าร้อน เครียด กระสับกระส่าย และเกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งกับผู้คนมากมาย ไม่เว้นแม้แต่คนใกล้ตัว ความขัดแย้งนี้บ่อยครั้งก็ลุกลามเป็นการประหัตประหารระหว่างกลุ่มชน เพราะการแบ่งเขาแบ่งเรา ใครก็ตามที่ไม่ใช่ “พวกกู”ก็ถือเป็นศัตรูไปหมด

    ตัวตนนั้นไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง แต่เกิดจากการปรุงแต่งขึ้นมาเองของจิต (ซึ่งตัวมันเองก็ไม่มีตัวตนอยู่เช่นกัน) เมื่อปรุงแต่งแล้วก็เข้าไปยึดมั่นถือมั่นซ้ำเข้าไปอีก (เหมือนคนที่คิดเอาเองว่าแฟนนอกใจแล้วก็ยึดมั่นกับความคิดความเชื่อนั้นจนไม่ยอมเปิดใจรับความจริง) แต่ไม่ว่าจะยึดมั่นตัวตนอย่างไร มันก็ไม่สามารถเป็นไปตามใจเราได้ อาการอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำก็คือ ความเป็น “ฉัน” นั้นแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เมื่อประสบความสำเร็จก็สำคัญว่า “ฉันเป็นคนเก่ง” แต่เมื่อล้มเหลวก็เปลี่ยนมารู้สึกว่า “ฉันเป็นคนไม่เก่ง” บางคนรู้สึกว่า “ตัวตนของฉันคือชายชาติทหาร” แต่พอโดนโรคร้ายเกาะกินติดต่อกันหลายปี ความรู้สึกว่า “ฉันเป็นผู้ป่วยใกล้ตาย”ก็เข้ามาแทนที่ อันที่จริงในวันหนึ่ง ๆความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นนั่นเป็นสามารถ
    เปลียนแปลงไปได้นับสิบ ๆ อย่าง เช่นเป็นพ่อแม่เมื่ออยู่กับลูก เป็นอาจารย์เมื่อพบหน้าศิษย์ และเป็นลูกน้องเมื่อไปหาเจ้านาย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือความเป็นฉันนั้นเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นเอง หาได้มีจริงไม่

    อะไรก็ตามที่ไม่มีอยู่จริง ย่อมชวนให้เราฉุกคิดสงสัยในความมีอยู่ของมัน ตัวตนก็เช่นกัน ความเกิดดับและแปรเปลี่ยนอยู่เสมอของ “ตัวกู” หรือความเป็นฉัน ทำให้ในส่วนลึกของจิตใจเราย่อมอดสงสัยไม่ได้ว่าตัวตนมีจริงหรือ ความไม่มั่นใจว่าตัวตนมีอยู่จริงนั้นคอยรบกวนจิตใจของเราเป็นครั้งคราว แต่คนเรานั้นยากที่จะยอมรับได้ว่าตัวตนไม่มีอยู่จริง กล่าวได้ว่าเป็นสัญชาต ญาณของคนเราที่ต้องการมีตัวตนให้เป็นที่ยึดมั่น ดังนั้นจึงพยายามกดความลังเลสงสัยนี้เอาไว้ลึกลงไปถึงจิตไร้สำนึก แต่ไม่มีอะไรที่เราสามารถกดเอาไว้ในจิตไร้สำนึกได้ตลอด ความลังเลสงสัยดังกล่าวก็เช่นกัน มันไม่ได้หายไปไหน แต่ผุดออกมาสู่จิตสำนึกโดยแสดงตัวในรูปลักษณ์อื่น เช่น ความรู้สึกพร่อง คับข้องใจ กระสับกระส่าย ไม่เป็นสุข หรือความรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างที่ขาดหายไปในชีวิต เกิดความรู้สึกว่าชีวิตนี้ว่างเปล่าพิกล อาการเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกทุกข์อยู่ลึก ๆ แต่หาไม่พบว่าคืออะไร

    เป็นเพราะเกิดอาการดังกล่าว คนจำนวนไม่น้อยจึงพยายามแสวงหาวัตถุมาครอบครองให้มากที่สุด ไม่ใช่เพื่อความสะดวกสบายหรือเพื่อปรนเปรอตัวตนเท่านั้น จุดหมายที่ลึกลงไปกว่านั้นก็คือเพื่อถือเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็น “ตัวกู ของกู” หรือเพื่อยืนยันความมีอยู่ของตัวตน อะไรที่เป็นวัตถุรูปธรรม จิตก็อยากเข้าไปยึดถือเป็นตัวตน ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ตัวตน และเพื่อความมั่นคงของจิตใจ

    พฤติกรรมอีกประเภทที่แสดงออกมาก็คือการเข้าไปผูกพันยึดติดกับสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเอง อาทิ ชุมชน แก๊ง ตลอดจนชาติ (หรือแม้แต่บริษัท) การไปผูกพันกับสิ่งเหล่านี้ก็เพื่อถือเอาเป็นตัวกูของกูและเพื่อสร้างความมั่นคงของตัวตนเช่นกัน ยิ่งยึดถือมากเท่าไรก็ยิ่งมั่นใจในความมีอยู่ของตัวตน ทำให้ชีวิตไม่รู้สึกว่างเปล่าอีกต่อไป

    อันที่จริงแม้กระทั่งการดิ้นรนอยากมีชื่อเสียงหรือ “อยากดัง” ซึ่งเป็นพฤติกรรมยอดนิยมของคนยุคปัจจุบัน ก็อธิบายได้ด้วยสาเหตุเดียวกัน การที่ผู้คนอยากให้ตนเองเป็นที่รู้จัก ลึกลงไปแล้วก็เพื่อยืนยันว่าตัวฉันมีอยู่จริง เพราะถ้าไม่มีคนรู้จัก ก็เท่ากับเป็น “ nobody” คือนอกจากชีวิตจะไม่มีความหมายแล้ว ยังหมายถึงการไม่มีตัวตนในสังคม ลึกไปกว่านั้นยังตอกย้ำความสงสัยในความไม่มีตัวตนให้หนักขึ้น

    แต่ไม่ว่าจะครอบครองทรัพย์สมบัติมากมายเพียงใด มีกลุ่มก้อนสังกัดยิ่งใหญ่หรือรักชาติแค่ไหน มีชื่อเสียงขจรขจายอย่างไร ก็ไม่สามารถขจัดความรู้สึกพร่อง คับข้องใจ กระสับกระส่ายในส่วนลึกไปได้ ความรู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่าก็ยังจะมารบกวนอยู่เรื่อย ๆ ทั้งนี้เพราะไม่ว่าจะทำอย่างไรเราก็ไม่สามารถมีตัวตนที่เที่ยงแท้ยั่งยืนอยู่ได้

    ทางออกจากทุกข์ที่แท้จริงนั้นไม่ได้อยู่ที่การแสวงหาตัวตนที่เที่ยงแท้ยั่งยืนหรือมั่นคงให้ได้ แต่อยู่ที่การยอมรับความจริงเสียแต่แรกว่าตัวตนนั้นหามีอยู่จริงไม่ รวมทั้งขจัดความกลัวที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง การยอมรับดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการคิดเอง แต่เกิดจากการประจักษ์ถึงมายาภาพของตัวตน เห็นถึงอาการของจิตที่ปรุงแต่งความเป็นตัวฉันขึ้นมา รวมทั้งตระหนักถึงโทษของการยึดมั่นถือมั่นในตัวตนว่าทำให้เป็นทุกข์เพียงใด

    การมีปัญญาเห็นความจริงดังกล่าวอย่างถึงที่สุดอาจเป็นกระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน แต่เราก็สามารถฝึกฝนตนเองได้ในชีวิตประจำวัน เริ่มจากการสังเกตถึงความเป็นตัวฉันที่ผันแปรตลอดเวลา และอาการ “ตัวกู”ที่ชอบแล่นออกมารับคำตำหนิหรือสิ่งไม่พึงปรารถนาที่มากระทบ มองให้เห็นถึงความทุกข์ที่เกิดขึ้นตามมา และเปลี่ยนมาใช้สติและปัญญาออกรับสิ่งกระทบดังกล่าว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่สนใจว่า “ตัวกู” จะได้รับการปรนเปรอหรือถูกกระทบ จำคำของซุนวูได้หรือไม่ที่ว่า “บุกต้องมิหวังคำยกย่อง ถอยต้องมิกลัวอับอาย” จะรุกหรือถอยก็เพราะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมหรือ “ความถูกต้อง”เป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เพราะเอาตัวตนหรือ “ความถูกใจ”เป็นใหญ่

    ด้วยวิธีนี้แหละ เราจึงจะค่อย ๆ กลายเป็น “เรือเปล่า” ที่ข้ามฝั่งได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย
    :- https://visalo.org/article/jitvivat254810.htm
     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,968
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    พิษจากผลแห่งความดี
    พระไพศาล วิสาโล
    สมัยหนึ่งพระองคุลิมาล ซึ่งเพิ่งบวชใหม่ ได้สนทนาธรรมกับพระนันทิยะ พระนันทิยะได้เล่าให้ฟังว่าพระพุทธองค์ได้สอนอะไรแก่ท่านบ้าง ตอนหนึ่งมีความว่า “เมื่อผู้ใดสรรเสริญเยินยอหรือบูชาเราด้วยลาภสักการะ จงนึกว่าลาภสักการะหรือชื่อเสียงนั้นเป็นผลแห่งความดี หรือเป็นเพราะผู้อื่นสำคัญว่าเราดี” แล้วท่านกล่าวต่อไปว่า “ผลแห่งความดีนั้นย่อมเป็นพิษแก่ผู้ที่ไม่พิจารณา แล้วหลงใหลยึดอยู่ในสิ่งนั้น จนกลายเป็นประมาทมัวเมา”

    เวลาทำความดีแล้วมีคนยกย่อง มีลาภสักการะเกิดขึ้น คนส่วนใหญ่มักเผลอคิดไปว่าเป็นเพราะเรา หรือเป็นเพราะกู แต่พุทธภาษิตดังกล่าวเตือนให้เราตระหนักว่า ลาภสักการะนั้นเกิดขึ้นไม่ใช่เป็นเพราะเรา แต่เป็นเพราะความดีที่เราทำต่างหาก ความดีที่ทำนั้นเรียกว่าธรรมะ ข้อนี้เป็นสิ่งที่เราต้องแยกให้ดี หาไม่จะเกิดความหลงตัวว่าเป็นเพราะเรา สุดท้ายก็ทำให้ลืมตน

    ความหลงตัวกับความลืมตนเป็นสิ่งคู่กัน เมื่อหลงตัวลืมตนแล้ว ในเวลาต่อมาผู้คนไม่ชมเรา ไม่เอาลาภสักการะมาให้ ก็จะเกิดความวิตกกังวลหรือความทุกข์ใจว่า เกิดอะไรขึ้น หลายคนมักจะพูดว่าทำไมฉันทำดีแล้วไม่ได้ดี คือนึกว่า ชื่อเสียง หรือรางวัลจะต้องเกิดขึ้นกับฉันเพราะฉันดีฉันเก่ง แต่ถ้าเราไม่ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพราะเรา เป็นของเรา แต่เป็นเพราะความดีที่ได้ทำ ก็จะมีความหลงตัวลืมตนน้อยลง พูดง่าย ๆ ก็คือยกสิ่งที่เกิดขึ้นให้เป็นผลของความดีไป ไม่ใช่เป็นเพราะเรา และหากคนอื่นจะนำสักการะมาให้เรา ยกย่องชื่นชมเรา เพราะเห็นว่าเราดี ก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา

    พุทธภาษิตอีกตอนที่สำคัญก็คือข้อความว่า “ผลแห่งความดีนั้นย่อมเป็นพิษแก่ผู้ที่ไม่พิจารณา แล้วหลงใหลติดอยู่ในสิ่งนั้น จนกลายเป็นประมาทมัวเมา” สักการะ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สมบัติเงินทองที่เกิดจากความเพียรของตน แม้จะมาจากน้ำพักน้ำแรงที่บริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่ได้มาโดยชอบธรรม ถ้าเราไปยึดติดมันเมื่อใด ก็เป็นอันตรายเมื่อนั้น ท่านใช้คำว่า “เป็นพิษ”

    สิ่งดี ๆ ที่ทุกคนปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นลาภสักการะ ชื่อเสียง ทรัพย์สมบัติ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือความสำเร็จทางโลก กลายเป็นพิษได้เสมอถ้าเรายึดติดมัน ที่ยึดติดก็เพราะไม่พิจารณาว่ามันมีโทษอย่างไรบ้าง ผู้คนมักจะมองว่าลาภสักการะ ชื่อเสียง ทรัพย์สมบัติ เงินทองเป็นของดี นั่นเป็นเพราะมองไม่เห็นโทษของมันว่าถ้ายึดติดมันเมื่อใด มันก็กลายเป็นของร้อนหรือเป็นยาพิษขึ้นมาทันที

    ดังนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าพูดถึงการปล่อยวาง ท่านไม่ได้สอนให้ปล่อยวางเฉพาะสิ่งที่ไม่ดีหรือเป็นลบ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความเกลียดแค้น ความเศร้า ความเสียใจ หรือคำตำหนิติเตียน แม้กระทั่งสิ่งที่ดีหรือเป็นบวก เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือสุข เราก็ต้องรู้จักวางเช่นกัน อย่ายึดติด

    ทำอย่างไรจึงจะไม่ยึดติด ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการมองหรือพิจารณาว่า ว่ามันไม่ใช่เป็นเพราะเราดีเราเก่ง แต่เป็นเพราะผลแห่งความเพียรที่ได้ทำ หรือเป็นเพราะธรรมะ อย่าไปเหมาว่ามันเป็นของเรา ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ เมื่อเสื่อมลาภ เสื่อมยศ หรือถูกต่อว่าด่าทอ ใจก็ไม่เป็นทุกข์

    มีคนหนึ่งพูดไว้น่าคิดว่า “คำชมเหมือนกับหมากฝรั่ง เคี้ยวได้ แต่อย่ากลืน ” ต้องคายทิ้งเพราะถ้ากลืนลงไปแล้วมันจะเป็นโทษกับเรา ไม่มีใครกลืนหมากฝรั่งฉันใด ก็ไม่ควรกลืนคำชมคำสรรเสริญฉันนั้น ไม่เช่นนั้นมันจะเป็นโทษต่อจิตใจ

    ของเลว หากยึดก็เป็นทุกข์ ของดี ถ้ายึด ทุกข์ก็ตามมาเช่นกัน เพราะล้วนไม่เที่ยง ไม่แน่นอน แปรเปลี่ยนได้เสมอ วันดีคืนดีก็เสื่อมไปหรือหายไป ถ้าวางใจถูก เมื่อใดที่สูญเสียมันไป ก็จะเสียอย่างเดียว เช่น หากเงินหาย ก็เสียแต่เงิน แต่ว่าใจไม่เสีย แต่หากติดยึดมันเมื่อใด ก็จะไม่เสียแค่เงินเท่านั้น แต่ใจยังเสียด้วย เมื่อใจเสียไปแล้ว ต่อไปสุขภาพก็จะเสียตามไปด้วย เพราะว่ากลุ้มใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ นั่งเจ่าจุก สุขภาพเสื่อมโทรม ต่อมาความสัมพันธ์กับคนอื่นก็เสียด้วย เพราะเมื่อเสียใจกลุ้มใจแล้วแล้วก็จะหงุดหงิด ไม่อยากพูดคุยกับใคร ใครมาพูดคุยด้วยก็รำคาญ เผลอไปด่าว่าเขา จนเสียความสัมพันธ์กันไป ใช่แต่เท่านั้น งานการก็เสียด้วย เพราะไม่มีสมาธิทำงาน ก่อผลเสียเป็นลูกโซ่ เสียทั้งใจ เสียทั้งสุขภาพ เสียทั้งความสัมพันธ์ และเสียงานเสียการ ล้มระเนนระนาด อย่างนี้เรียกว่าไม่ฉลาด

    คนไม่ฉลาดนั้น แทนที่จะเสียอย่างเดียวก็เสียหลายอย่าง เพราะความยึดติดในสิ่งเหล่านั้น แม้ดูเหมือนว่ามันจะเป็นสิ่งที่ดีน่าครอบครองก็ตาม ลาภสักการะ ชื่อเสียง ทรัพย์สมบัติ แม้ให้ความสุขแก่เรา แต่มันก็พร้อมจะกลายเป็นถ่านก้อนแดง ๆ ที่เผาลนใจให้เป็นทุกข์ได้ทันทีเมื่อมันแปรปรวนไป คนฉลาดจะไม่ยึดติดถือมั่นสิ่งเหล่านี้ ใครให้มาก็ไม่ยึดติดว่าเป็นเรา เป็นของเรา

    สมัยหนึ่งหลวงพ่อโต ได้รับนิมนต์ไปร่วมงานบุญย่านราษฎร์บูรณะ ท่านนั่งเรือสำปั้นไปกับลูกศิษย์ ตอนนั้นท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์แล้ว จึงนำพัดยศไปด้วย ช่วงนั้นเป็นช่วงน้ำลง เรือเกิดเกยตื้น ลูกศิษย์จึงลงไปเข็นเรือ แต่ไม่ขยับเลย หลวงพ่อจึงลงไปช่วยเข็นด้วย ชาวบ้านบนฝั่งเห็นหลวงพ่อโตเข็นเรือจำท่านได้ จึงตะโกนบอกกันว่า “สมเด็จเข็นเรือโว้ย ”

    ชาวบ้านเห็นเป็นเรื่องแปลก เพราะไม่เคยเห็นพระระดับสมเด็จเข็นเรือ ครั้นหลวงพ่อโตได้ยินชาวบ้านตะโกนเช่นนั้น จึงเงยหน้าพูดกับชาวบ้านว่า “ฉันไม่ใช่สมเด็จหรอกจ๊ะ ฉันชื่อขรัวโตจ๊ะ สมเด็จอยู่บนเรือ” ว่าแล้วท่านก็ชี้ไปที่พัดยศบนเรือ

    หลวงพ่อโตได้รับสมณศักดิ์เป็นสมเด็จก็จริง แต่ท่านไม่ได้สำคัญมั่นหมายว่าท่านคือสมเด็จ ท่านยังเห็นว่าท่านเป็นเพียงขรัวโต พอชาวบ้านพูดถึงสมเด็จ ท่านจึงชี้ไปที่พัดยศทันที พูดอีกอย่างหนึ่งท่านตระหนักอยู่เสมอว่า ตำแหน่งสมเด็จ เป็นแค่หัวโขนเท่านั้น ไม่ใช่ตัวท่าน

    นี้เป็นวิสัยของผู้ที่มีปัญญา ที่รู้ว่าลาภสักการะไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ดังนั้นแม้โลกจะผันผวนปรวนแปรไม่จีรังยั่งยืน ก็ยังอยู่ได้ด้วยใจที่สงบเย็นและเป็นสุข
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255711.html
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,968
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    จุดอ่อนของความหลง
    พระไพศาล วิสาโล
    ธรรมชาติพื้นฐานอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิตก็คือพยายามอยู่รอดให้ได้และเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อารมณ์อกุศลก็มีธรรมชาติคล้ายๆ กัน มันพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวมันเติบใหญ่และแพร่ขยายไปเรื่อยๆ มันจะสั่งให้เราทำทุกอย่างเพื่อเราจะได้จมอยู่ในอารมณ์นั้นนานๆ เวลาเราโกรธใคร บางครั้งเรากลัวว่าจะลืมโกรธเขา จึงต้องตอกย้ำ เช่น สักชื่อเขาไว้ที่แขนบ้าง เขียนชื่อติดกระจกในห้องนอนบ้าง เพื่อย้ำเตือนว่าไอ้นี่มันเลว จะต้องโกรธมันชั่วฟ้าดินสลาย

    ในทำนองเดียวกัน เวลาเราเศร้า ความเศร้าจะบงการให้เราอยู่ในอำนาจของมันไปเรื่อยๆ สังเกตไหมเวลาเศร้าเราอยากฟังเพลงอะไร อยากฟังเพลงสนุกหรือเปล่า ไม่อยากหรอก เราอยากฟังเพลงเศร้า เพื่ออะไร เพื่อเศร้าหนักขึ้นๆ ถามว่าอะไรสั่งให้เราฟังเพลงเหล่านั้น ความเศร้ามันสั่ง มันสั่งใจเราว่าให้เปิดแต่เพลงเศร้าๆ มันจะได้ครองจิตใจเราไปนานๆ นี้คืออุบายของมัน

    สุดท้ายมันก็จะบงการให้เราคอยปกปักรักษามันไม่ให้อ่อนแรง เวลาเราโกรธใครบางคน ถ้าหากมีเพื่อนแนะนำเราว่า ให้อภัยเขาไปเถอะ ความโกรธมันจะสั่งให้เราเล่นงานเพื่อนคนนั้นทันที เช่น ต่อว่าเขา หาว่าเขาเป็นพวกเดียวกับคนนั้น เขาไม่รักเราจริง ฯลฯ ความโกรธมันสั่งให้เราทำเช่นนั้น ก็เพราะมันรู้ว่าถ้าเราทำตามคำแนะนำของเขา คือให้อภัย ความโกรธก็จะจืดจางหรือเลือนหายไป

    มีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นห่วงแม่ซึ่งอายุ ๗๐ กว่า แม่เป็นคนที่นิสัยดี มีเมตตา แต่เวลาพูดถึงผู้ชายคนหนึ่งจะโกรธมาก พฤติกรรมจะเปลี่ยนไปเลย เหมือนกับเปลี่ยนเป็นคนละคน ไม่ใช่เหล้าเท่านั้น ความโกรธก็เปลี่ยนนิสัยคนได้ พอแม่นึกถึงหรือพูดถึงชายคนนั้นก็จะโกรธมาก เพราะอุตส่าห์ช่วยเหลือเขามากมาย แต่เขากลับเนรคุณ ส่วนลูกก็กลัวว่าสักวันหนึ่งแม่อาจจะเส้นเลือดในสมองแตก หรือกลัวว่าแม่จะไปอบายถ้าหากว่าตายไปโดยที่ยังมีความโกรธหรือความพยาบาทคาใจอยู่ ลูกจึงขอร้องแม่ว่าให้อภัยเขาไปเถิด เรื่องมันก็นานมาแล้ว ผ่านไปแล้วตั้ง ๓๐ ปี ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น

    พอลูกแนะนำแม่เช่นนั้น แม่กลับโกรธลูก ราวกับว่าลูกจะมาแย่งชิงของรักของหวงไปจากแม่ ถามว่าความโกรธนี้น่าหวงแหนที่ไหน ถ้าลูกพยายามเอาที่ดิน เงินทอง เอาเพชรเอาพลอยไปจากแม่ ก็น่าโกรธ แต่สิ่งที่ลูกพยายามทำคือช่วยให้แม่หายโกรธ ความโกรธมันไม่ชอบที่ลูกพูดแบบนี้ จึงสั่งให้แม่ด่าลูก ตกลงแม่กลายเป็นองครักษ์พิทักษ์ความโกรธไปเสียแล้ว ทำทุกอย่างเพื่อให้ความโกรธครองใจอยู่ต่อไป

    ความเศร้าก็เช่นกัน เวลาเศร้ามากๆ ถ้าเราเพียงแต่ออกไปเที่ยวบ้าง เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนบรรยากาศบ้าง ความเศร้าก็จะคลี่คลายลง นี่คือสิ่งที่ความเศร้ากลัว ดังนั้นมันจึงสั่งเราว่า อย่าทำ อย่าไปเที่ยว ให้นั่งเจ่าจุกต่อไป ให้นึกถึงแต่เรื่องที่เศร้าต่อไป ความเศร้ามันจะได้ครองใจเราไปนานๆ จะได้หลงต่อไป หากมีใครมาชวนให้เราไปเที่ยว เรากลับจะไม่พอใจเขาด้วย

    ไม่ว่าความเศร้า ความโกรธหรืออารมณ์อกุศลใดๆ ก็ตาม ไม่ใช่สิ่งที่น่าหวงแหนเลย แต่เป็นเพราะเราหลง ลืมตัว เราก็เลยหวงแหนมัน อันนี้เป็นเพราะเราปล่อยให้ความหลงบงการจิตใจเรา มันมีอุบายร้อยแปดที่หากเราไม่รู้ทัน มันก็จะครองจิตใจเราได้นาน

    ธรรมชาติของมันอีกอย่างหนึ่งคือมันดื้อด้านมาก เวลาโกรธ เวลาเศร้า ยิ่งเราพยายามกดข่มมัน มันกลับยิ่งมีกำลัง ยิ่งมีอำนาจมากขึ้น

    ลองสังเกตดู ความโกรธ ความเศร้า หรือความอยาก ถ้าเราพยายามกดข่มมัน มันไม่ได้หายไปไหน ยังคงอยู่ และอยู่แบบยั่งยืน แถมมีกำลังมากขึ้นด้วย หลายคนไม่ชอบเวลามีความโกรธหรือความเศร้าเกิดขึ้น รวมทั้งไม่ชอบนิสัยบางอย่าง เช่น ความเห็นแก่ตัว ความเจ้าอารมณ์ แต่มักใช้วิธีกดข่มมัน แต่กดข่มอย่างไรก็ไม่สำเร็จ เพราะว่ามันดื้อด้าน

    ความคิดหรือความฟุ้งซ่านก็เช่นกัน เคยมีการทดลองให้อาสาสมัครนั่งอยู่ในห้องคนเดียว ผู้ทดลองบอกกับอาสาสมัครว่า เมื่ออยู่ในห้องนี้คุณจะคิดอะไรก็ได้ มีอย่างเดียวที่ห้ามคิดคือ หมีขาว ถ้าคุณนึกถึงหมีขาวเมื่อไหร่ให้กดกริ่งทันที ไม่ทันไรเสียงกริ่งก็ดังระงม เพราะอะไร ก็เพราะพอถูกสั่งว่าห้ามคิดถึงหมีขาว คนส่วนใหญ่กลับคิดถึงทันที ถ้าไม่ห้ามก็ไม่คิดถึง แต่พอห้ามก็คิดเลย จึงกดกริ่งกันใหญ่ ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ

    มีการทดลองอีกคราวหนึ่ง ให้อาสาสมัครลองนึกถึงสิ่งที่ไม่ชอบหรือสิ่งที่รบกวนจิตใจ มาสักเรื่องหนึ่ง จากนั้นแบ่งอาสมัครเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งก่อนนอนให้พยายามกดข่มความคิดนั้น หรือพยายามบังคับจิตไม่ให้คิดเรื่องนั้น อีกกลุ่มหนึ่งปล่อยตามสบาย เมื่อตื่นนอนขึ้นมาก็ให้อาสาสมัครแต่ละคนเขียนถึงความฝันของตัว เขาพบว่าคนที่ได้รับคำสั่งให้กดข่มความคิดหรือเรื่องที่ไม่ชอบนั้น จะฝันถึงเรื่องเหล่านั้นมากกว่าคนที่ไม่ได้รับคำสั่งให้กดข่มความคิดเหล่านั้น นั่นหมายความว่า เมื่อพยายามไม่คิดถึงมัน พยายามกดข่มมันเอาไว้ มันไม่ได้หายไปไหน แต่ไปโผล่ในความฝันทันที

    อารมณ์และความคิดเหล่านี้ฉลาดมากและดื้อด้านมาก แต่ก็มีจุดอ่อนคือมันกลัวการถูกรู้ถูกเห็น มันกลัวเรารู้ทัน ถ้าเรารู้ทันหรือเห็นมันเมื่อใด มันจะล่าถอยไป วูบไปทันที

    เคยมีคนถามหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ซึ่งเป็นพระลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของหลวงปู่มั่น ใครๆ ก็เชื่อว่าท่านเป็นพระอรหันต์ วันหนึ่งมีคนถามหลวงปู่ว่า ทำอย่างไรถึงจะตัดความโกรธให้ขาดได้ หลวงปู่ตอบว่า “ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทัน เมื่อรู้ทันมันก็ดับไปเอง”

    ถ้าเราเห็นว่าความหลงหรืออารมณ์อกุศลเป็นปัญหาที่ทำให้เราไม่พบความสุข ความสงบเย็น ก็ต้องหมั่นสร้างตัวรู้ หรือสติ ซึ่งช่วยให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่ลืมตัว ทำให้เรามีเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับอารมณ์เหล่านี้ มันเป็นภูมิคุ้มกันจิตที่วิเศษมาก ร่างกายเรามีภูมิคุ้มกันที่คอยสู้กับเชื้อโรค จิตใจเราก็มีภูมิคุ้มกัน ชื่อว่าสติ สตินี้เองที่จะเพิ่มกำลังให้แก่ตัวรู้จนมีอานุภาพ สามารถรับมือ และเล่นงานจุดอ่อนของอารมณ์เหล่านี้ได้

    พระไพศาล วิสาโล
    :- https://visalo.org/article/jitvivat256011.html
     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,968
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    กรรมที่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน
    พระไพศาล วิสาโล
    ทุกวันนี้มีความเชื่อที่แพร่หลายในหมู่คนจำนวนไม่น้อยว่า ความเจ็บป่วยนั้นเป็นผลจากกรรมไม่ดีในอดีต ใครก็ตามที่ล้มป่วยแสดงว่าเขากำลังรับกรรม แพทย์และพยาบาลจึงไม่ควรเยียวยารักษาผู้ป่วยมากนัก เพื่อให้เขาใช้กรรมให้หมดในชาตินี้

    น่าเป็นห่วงก็ตรงที่แพทย์และพยาบาลจำนวนไม่น้อยเชื่อเรื่องนี้อย่างจริงจัง บางคนเชื่อถึงขั้นว่าหากช่วยเหลือคนไข้ที่ป่วยหนักให้รอดพ้นจากความตาย หรือช่วยดูแลคนไข้ระยะสุดท้ายไม่ให้ทุกข์ทรมาน เจ้ากรรมนายเวรของคนนั้นจะไม่พอใจ และอาจมาแก้แค้นเอากับแพทย์และพยาบาล ทำให้เกิดความเดือดร้อนตามมา หลายคนจึงรู้สึกลังเลที่จะช่วยผู้ป่วยเหล่านั้น ที่เมินเฉยหรือทำไปอย่างแกน ๆ ก็คงมีไม่น้อย

    น่าสังเกตว่าคนที่มีความเชื่อดังกล่าวมักเป็นผู้ที่สนใจธรรมะ ชอบเข้าวัดทำบุญรักษาศีล หรือเป็นนักปฏิบัติธรรม คงเพราะเข้าใจว่าความเชื่อเช่นนี้เป็นคำสอนของพระพุทธองค์ ทั้ง ๆ ที่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

    ไม่ใช่แต่ความเจ็บป่วยเท่านั้น เมื่อเกิดเหตุร้ายต่าง ๆ ขึ้นมา ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยมักคิดว่านั่นเป็นผลจากกรรมเก่าในอดีตชาติสถานเดียว แต่ที่จริงนี้เป็นความคิดที่พระพุทธองค์ปฏิเสธ จัดว่าเป็นลัทธินอกพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ปุพเพกตเหตุวาท หรือลัทธิกรรมเก่า

    ในสมัยพุทธกาล มีคนกลุ่มหนึ่งประกาศความเชื่อว่า “บุคคลได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม เวทนาทั้งหมดนั้น เป็นเพราะกรรมที่กระทำไว้ในปางก่อน” พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงคนกลุ่มนี้ว่า “สมณพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า แล่นไปไกลเกินสิ่งที่รู้กันได้ด้วยตนเอง แล่นไปไกลเกินสิ่งที่ชาวโลกรู้กันทั่วว่าเป็นความจริง ฉะนั้น เรากล่าวว่าเป็นความผิดของสมณพราหมณ์เหล่านั้นเอง”

    วิสัยของชาวพุทธย่อมไม่ด่วนสรุปว่าความเจ็บป่วยหรือทุกขเวทนานั้นเป็นเพราะกรรมเก่า ทั้งนี้เพราะมีเหตุปัจจัยต่าง ๆ มากมายที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วย ดังพระองค์ได้แจกแจงว่า “เวทนาบางอย่างเกิดขึ้น มีดีเป็นสมุฏฐานก็มี...มีเสมหะเป็นสมุฏฐานก็มี...มีลมเป็นสมุฏฐานก็มี...มีการประชุมแห่งเหตุเป็นสมุฏฐานก็มี...เกิดจากความแปรปรวนแห่งอุตุก็มี...เกิดจากการบริหารตนไม่สม่ำเสมอก็มี...เกิดจากถูกทำร้ายก็มี...เกิดจากผลกรรมก็มี”

    จะเห็นได้ว่า “ผลกรรม”เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้ผู้คนเจ็บป่วยหรือประสบทุกข์ อีกทั้งมิได้หมายความว่าเป็นผลกรรมในอดีตชาติเท่านั้น อาจเป็นผลกรรมในปัจจุบันชาติก็ได้ พึงสังเกตว่า พระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสถึง “เจ้ากรรมนายเวร” เลย ทั้งนี้เพราะคำหรือแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นในยุคหลัง (อาจเป็นยุคปัจจุบันนี้เอง) และถูกตีความให้ผิดเพี้ยนจนไกลจากหลักการของพุทธศาสนา

    เรื่องราวของเจ้าหญิงโรหิณีในสมัยพุทธกาลเป็นตัวอย่างที่สวนทางกับความเชื่อดังกล่าว เจ้าหญิงแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ผู้นนี้มีโรคผิวหนังทั่วร่าง เมื่อพระอนุรุทธะ ซึ่งเป็นพระอรหันตสาวกและเป็นพี่ชายของเธอทราบความ ได้แนะนำให้เธอสร้างโรงฉัน ระหว่างที่กำลังก่อสร้างเธอมีศรัทธามากวาดพื้นให้สะอาดอยู่เสมอ ปรากฏว่าโรคผิวหนังของเธอก็หายไป เมื่อสร้างเสร็จ เธอก็นิมนต์พระสงฆ์โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมารับโภชนะอันประณีต

    เมื่อเสร็จภัตกิจ พระองค์ได้เรียกเจ้าหญิงโรหิณีมาเฝ้า และถามว่า โรคผิวหนังของเธอเกิดจากกรรมอะไร เธอตอบว่าไม่ทราบ พระองค์จึงตรัสว่า “โรคของเธอเกิดจากความโกรธ”

    พึงสังเกตว่า กรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นสาเหตุแห่งโรคผิวหนังของเจ้าหญิงโรหิณี มิใช่กรรมในอดีตชาติ แต่เป็นกรรมในปัจจุบันชาติ ความเจ้าอารมณ์ เป็นผู้มักโกรธของเธอ ส่งผลต่อสรีระของเธอ แต่เมื่อเธอได้บำเพ็ญบุญด้วยอัตถจริยา (กวาดพื้นโรงฉัน) จิตใจก็เกิดอิ่มเอิบปีติ แจ่มใสเบิกบาน โรคผิวหนังก็หายไป

    การเหมารวมว่าความเจ็บป่วยทั้งหลายเป็นผลจากกรรมในอดีตชาตินั้น แม้จะไม่ใช่ความคิดแบบพุทธ แต่จะไม่ก่อผลเสียมากนักหากว่าแพทย์และพยาบาลใส่ใจดูแลคนไข้อย่างเต็มที่ แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ แพทย์และพยาบาล รวมทั้งญาติพี่น้องที่มีความเชื่อดังกล่าว มักไม่เต็มใจที่จะดูแลคนไข้ ปล่อยให้เขาทุกข์ทรมานต่อไป ด้วยเหตุผลที่เป็นความหวังดี(อย่างผิด ๆ)ว่า เพื่อให้เขาใช้กรรมจนหมดในชาตินี้ ไม่ต้องรับกรรมอีกในชาติหน้า หรือด้วยเหตุผลที่เป็นความเห็นแก่ตัว คือเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้ากรรมนายเวรของผู้ป่วยกลับมารังควานตนเอง

    จินตนาการได้ไม่ยากว่าหากความเชื่อดังกล่าวแพร่หลายไปทุกสถานพยาบาล จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ป่วย และหากความเชื่อดังกล่าวลามไปสู่ผู้คนทั่วทั้งสังคม จะเกิดอะไรขึ้นกับคนที่ประสบอุบัติเหตุ คนที่กำลังจมน้ำ คนที่กำลังถูกกระทำชำเรา หากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์มองว่า ภัยที่กำลังเกิดกับคนเหล่านี้เป็นผลจากกรรมในอดีต ดังนั้นจึงควรปล่อยให้เขาใช้กรรมไป เราไม่ควรไปช่วยเหลือเขา เพราะจะกลายเป็นการแทรกแซงกรรม หรือทำให้เจ้ากรรมนายเวรของคนเหล่านั้นหันมาเล่นงานเราแทน

    เมืองไทยซึ่งใคร ๆ ชอบอ้างว่าเป็นเมืองพุทธ จะกลายเป็นนรกไปทันที หากผู้คนต่างนิ่งดูดาย ไร้น้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ซึ่งกำลังประสบทุกข์ภัยต่อหน้าต่อตา ด้วยเหตุผลเพียงเพราะไม่ต้องการแทรกแซงกรรมของเขา นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของความเข้าใจผิด ในเรื่องกรรม กฎแห่งกรรมที่พระพุทธเจ้านำมาสอนแก่ผู้คนนั้น จุดมุ่งหมายสำคัญก็เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนทำความดี มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน หากผลที่ออกมากลับเป็นตรงกันข้าม คือผู้คนต่างไร้น้ำใจต่อกัน คิดถึงตนเองมากกว่าผู้อื่น ย่อมเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า มีความเข้าใจผิดพลาดเกิดขึ้นแล้วในเรื่องกฎแห่งกรรม

    ที่จริงหากใคร่ครวญอีกนิดก็จะพบว่า การนิ่งดูดาย ไม่ช่วยเหลือผู้ที่กำลังประสบทุกข์ต่อหน้าต่อตานั้น เป็นการสร้างกรรมอีกอย่างหนึ่ง และไม่ใช่กรรมดีด้วย กรรมดังกล่าวนี้แหละจะส่งผลเป็นวิบากต่อผู้นั้นในวันข้างหน้า อาทิเช่น เมื่อตนประสบเหตุร้าย ก็จะไม่มีใครช่วยเหลือ

    ใช่แต่เท่านั้นลองคิดต่อไปอีกหน่อยว่า หากผู้ประสบเคราะห์ ไม่ว่าผู้ป่วยหนัก ผู้ประสบอุบัติเหตุ หรือผู้ถูกกำลังถูกกระทำชำเรา เป็นพ่อแม่หรือลูกหลานญาติพี่น้องเพื่อนพ้องของเรา เราจะนิ่งดูดายด้วยเหตุผลว่าปล่อยให้เขาใช้กรรมไปหรือไม่ หากคำตอบคือไม่ควรนิ่งดูดาย เราก็ควรทำอย่างเดียวกันกับผู้อื่นด้วยเช่นกัน จึงจะเรียกว่าเป็นชาวพุทธที่แท้

    หากพระโพธิสัตว์ในอดีตชาติมีความเชื่ออย่างที่หลายคนเชื่อในเวลานี้ว่า ควรปล่อยให้ผู้ทุกข์ยากทั้งหลายใช้กรรมไป ไม่ควรช่วยเหลือ ท่านก็คงไม่ได้บำเพ็ญบารมีจนได้เป็นพระโพธิสัตว์ หรือสะสมบารมีจนกลายเป็นพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ในอดีตเสียสละอย่างยิ่งเพื่อผู้อื่น ไม่เลือกว่ามนุษย์หรือสัตว์ จนถึงกับเคยอุทิศร่างกายเป็นอาหารให้แก่แม่เสือที่กำลังหิวโซเพื่อรักษาชีวิตของลูกเสือไม่ให้ถูกกิน (ไม่มีความคิดอยู่ในหัวของท่านตอนนั้นเลยว่า ลูกเสือทำกรรมไม่ดีในอดีต จึงควรถูกแม่เสือกินเพื่อชดใช้กรรม) หากชาวพุทธเห็นความสำคัญของการบำเพ็ญบารมีเพื่อบรรลุธรรมขั้นสูงจนหลุดพ้นจากความทุกข์ ก็ควรถือเอาพระโพธิสัตว์เป็นแบบอย่างควบคู่กับพระจริยาของพระพุทธองค์
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255708.html
     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,968
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ปล่อยวางชีวิตเก่า
    พระไพศาล วิสาโล
    คนเราย่อมมีความภาคภูมิใจในชีวิต หรือภาคภูมิใจในตัวเอง เมื่อเราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือหลายสิ่งได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าบังเอิญวันดีคืนดีเรากลับไม่สามารถทำสิ่งที่เราเก่งได้อีกต่อไป ชีวิตจะลงเอยอย่างไร

    จานีน เช็พเพิร์ด เป็นนักวิ่งและนักปั่นจักรยาน เธอเป็นตัวแทนทีมชาติออสเตรเลียในการแข่งขันจักรยาน กีฬาโอลิมปิค เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว มีอยู่วันหนึ่งขณะที่เธอกำลังซ้อมขี่จักรยานเพื่อไปแข่งโอลิมปิค ปรากฏว่ามีรถมาชนเธออย่างแรง ทำให้ร่างกายเธอยับเยิน กระดูกหัก อวัยวะภายในเสียหาย อาการเป็นตายเท่ากัน แต่เธอมีใจสู้ เธอบอกว่าเธอเลือกที่จะมีชีวิต ในภาวะเช่นนั้นมันอยู่ที่ใจว่าเลือกที่จะอยู่หรือจะตาย เธอเลือกที่จะอยู่ เธอสลบไป ๑๐ วัน ผ่าตัดสำเร็จ แม้ดีใจที่ไม่ตาย แต่ใจก็กังวลว่าจะเดิน วิ่ง และขี่จักรยานได้หรือเปล่า ลองขยับนิ้วเท้าดูก็ขยับได้ เธอดีใจมาก

    แต่พอเธอฟื้นตัวดีขึ้น หมอก็บอกว่าเธอไม่สามารถเดินได้ แม้ร่างกายส่วนล่างจะมีความรู้สึกอยู่ แต่ว่าเดินไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็น และต้องมีท่อปัสสาวะต่อออกมาข้างนอก เธอฝันสลายเลย เพราะว่าชีวิตของเธอทุ่มเทกับการเป็นนักกีฬามาก เธอภูมิใจในร่างกายของตัวเองว่ามีความแข็งแรง ร่างกายคือตัวฉัน เป็นทั้งหมดของฉัน ร่างกายแข็งแรง มีความสามารถด้านกีฬา มันทำให้เธอภาคภูมิใจ แต่พอเธอรู้ว่าร่างกายไม่สามารถวิ่งได้ แม้แต่เดินยังเดินไม่ได้ ความคิดที่ผุดขึ้นมาตอนนั้นก็คือ ชีวิตฉันไม่เหลืออะไรแล้ว ความเป็นนักกีฬาคือสิ่งที่ฉันภูมิใจ ถ้าทำไม่ได้แล้วชีวิตฉันจะเหลืออะไร พอเธอกลับไปบ้านก็เป็นโรคซึมเศร้า เพราะรู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่มีคุณค่า สิ่งที่ภาคภูมิใจสูญสลายไปหมดสิ้น ก็อยู่แบบซังกะตาย อยู่แบบหดหู่

    วันหนึ่งขณะที่เธอนั่งเล่นอยู่นอกบ้าน เห็นเครื่องบินบินผ่านมา ก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า ถ้าเดินไม่ได้ ฉันก็จะบิน จึงเกิดความตั้งใจว่าอยากขับเครื่องบิน เธอไปสมัครเป็นคนขับเครื่องบิน เขาก็ไม่รับเพราะว่าเธอพิการ แต่โชคดีที่เจอครูฝึกสอนนักบินที่เข้าใจความรู้สึกของเธอ เขาพาเธอขึ้นเครื่องบิน พาเธอบินไปยังจุดที่เธอเคยประสบอุบัติเหตุ และบอกเธอว่าตรงนี้คือจุดที่เกิดอุบัติเหตุ และจากจุดนี้ไปให้เธอขับเครื่องบินเอง ปรากฏว่าเธอสามารถบังคับเครื่องบินให้บินผ่านเขาลูกนั้นได้ แล้วบินต่อไปได้อีก เธอมีความสุขมาก และพบว่าเธอสามารถมีชีวิตใหม่ได้ แม้จะขี่จักรยานไม่ได้ก็ขับเครื่องบินแทนก็แล้วกัน

    จากนั้นเธอก็พัฒนาจนกระทั่งสามารถผ่านบททดสอบหลายอย่าง จากเดิมที่เขาไม่ให้เธอขับเครื่องบิน เธอก็ขับได้ จากเดิมที่กำหนดให้เธอขับเครื่องบินได้เฉพาะบางท้องที่ เธอก็สามารถขับเครื่องบินไปได้ทั่วประเทศ ต่อมาก็ฝึกเป็นนักบินอาชีพได้ ไม่ใช่ขับเครื่องบินได้เฉย ๆ ตอนหลังเธอทำมากกว่านั้น คือกลายเป็นครูสอนนักบิน เธอมีความสุขมาก ตอนนี้เธอกลายเป็นครูที่มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะแยะ

    เธอได้เรียนรู้ว่าร่างกายมีขีดจำกัด แต่จิตใจไม่มีขีดจำกัด แม้ว่าร่างกายจะเดินไม่ได้ วิ่งไม่ได้ แต่จิตใจของคนเราสามารถทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง ตอนแรกเธอผิดหวัง ใจไม่สู้ ท้อแท้ เพราะว่าร่างกายทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่ที่จริงจิตใจยังทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง และเมื่อจิตใจสู้ ร่างกายก็สามารถทำอย่างอื่นได้อีก เธอเคยคิดว่าเมื่อร่างกายพิการชีวิตเธอก็จบสิ้นแล้ว แต่ที่จริงแล้วเธอยังทำอะไรได้อีกตั้งเยอะแยะ เธอบอกว่าต้องรู้จักปล่อยวางของเดิม ปล่อยวางความเป็นนักกีฬาที่เธอเคยภูมิใจ อันนั้นคือตัวตนเดิมของเธอ เธอทุกข์เพราะว่ายังยึดติดในตัวตนเดิมซึ่งมันเป็นไปไม่ได้แล้ว เธอซึมเศร้าเพราะปล่อยวางตัวตนเดิมไม่ได้ แต่พอเธอปล่อยวางมัน แล้วสร้างตัวตนใหม่ ก็กลับมามีความสุขเหมือนเดิม กลับมามีพลังชีวิตเหมือนเดิม

    บ่อยครั้งคนเราเป็นทุกข์เพราะว่ายังยึดติดของเดิม อาจจะเป็นตัวตนเดิม ทรัพย์สมบัติเดิม บ้านหลังเดิม รถคันเดิม หรือแม้แต่คนรักเก่า แต่พอปล่อยวางได้ก็พบว่าชีวิตมีความสุข มีความหวังขึ้นมาใหม่ คนเก่งมักจะหลงใหลในความสามารถของตน ยึดว่าความสามารถเหล่านี้คือตัวกู แต่เมื่อไม่สามารถทำสิ่งที่เคยทำได้ อาจเป็นเพราะเจ็บป่วย พิการ จิตก็สลายเลย ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะยังยึดติดกับตัวตนเก่าอยู่ บางคนภูมิใจในความเป็นคนสวย เป็นคนหล่อ เป็นนักกีฬา หรือจิตรกรที่วาดรูปได้สวยงาม แต่พอทำไม่ได้แล้วก็ซึมเศร้าไปเลย แบบนี้มีเยอะ ท้อแท้ถึงขั้นฆ่าตัวตายก็มีมาก

    ที่จริงแล้วคนเรายังสามารถสร้างชีวิตใหม่ หรือที่ภาษาสมัยใหม่เรียกว่าตัวตนใหม่ได้ แต่ก็ต้องรู้จักวางของเก่าลงไปก่อน จึงจะสร้างใหม่ขึ้นมา อย่างที่เธอบอกว่าจิตใจของคนเรานั้นไม่มีขีดจำกัด อันนี้เป็นสำนวน ที่จริงแล้วมันมีขีดจำกัด แต่มันจำกัดไม่ได้ง่าย ๆ เหมือนร่างกาย แม้ร่างกายติดอยู่ในคุก แต่จิตใจสามารถไปเที่ยวที่ไหนก็ได้ ร่างกายพิการ ขยับเขยื้อนไม่ได้ นอนติดเตียง แต่ว่าจิตใจก็ยังจินตนาการไปที่ไหนก็ได้ แม้กระทั่งเขียนหนังสือก็ยังได้ แม้ว่าจะพูดไม่ได้ ขยับปากกาไม่ได้ เคยมีคนทำมาแล้ว ประโยคหนึ่งที่เธอบอกกับผู้คนก็คือ ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา อันนี้เป็นแง่คิดสำหรับคนป่วยด้วย บางคนเป็นมะเร็ง บางคนพิการ บางคนมีโรคร้าย ขอให้ตระหนักว่ามะเร็งไม่ใช่เรา ร่างกายที่ป่วยก็ไม่ใช่เรา

    อาตมาเคยบอกกับคนที่เป็นมะเร็งว่า คุณไม่ได้เป็นมะเร็ง คุณแค่มีมะเร็งอยู่ในตัว ถ้าคิดว่าฉันเป็นมะเร็ง แสดงว่ามะเร็งเป็นทั้งหมดของฉัน ทั้ง ๆ ที่มะเร็งอยู่ในบางส่วนของร่างกายเท่านั้น บางคนร่างกายทุพพลภาพ ก็ต้องตระหนักว่าร่างกายไม่ใช่เรา เราเป็นมากกว่านั้น การมองแบบนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนได้มาก

    เรื่องราวของจานีนชี้ให้เห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดของคนเราคือใจ ใจนั้นถ้าเป็นศัตรูกับเราก็ทำให้ชีวิตจมดิ่งไปเลย แต่ว่าชีวิตเราสามารถที่จะดีขึ้นได้เมื่อใจเป็นมิตร พอใจเป็นมิตรแล้ว แม้ว่าร่างกายจะเป็นอุปสรรคแค่ไหน ชีวิตจะลำบากลำบนเพียงใด ก็สามารถฟันฝ่าไปได้ และสามารถจะมีความสุขได้ในทุกสถานการณ์
    :- https://visalo.org/article/jitvivat256202.html
     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,968
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    กับดักความดี
    พระไพศาล วิสาโล
    การทำดีนั้นเป็นเรื่องดีก็จริง แต่หากวางใจไม่ถูก ก็อาจก่อปัญหาขึ้นได้ เช่น ทำบุญแล้วหวังได้โชคได้ลาภ ก็เท่ากับเพิ่มพูนกิเลสให้มากขึ้น ขณะเดียวกันยังทำให้เป็นทุกข์ได้ง่าย เพราะเฝ้าแต่รอว่าเมื่อไรจะถูกหวยหรือร่ำรวยเสียที เช่นเดียวกับคนที่เสียสละแล้วอยากให้คนอื่นเห็นความดีของตน หรือช่วยเหลือใครก็อยากให้เขาสำนึกในบุญคุณของตน หากสิ่งที่อยากเห็นนั้นไม่เกิดขึ้นหรือไม่ถึงระดับที่ต้องการ ก็อาจท้อใจหรือขุ่นเคืองใจได้ง่าย

    ปัญหาของการทำดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทำแล้วรู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่น ความรู้สึกว่าเหนือกว่านี้จัดว่าเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง เรียกว่า “มานะ” (ซึ่งไม่ได้แปลว่าความพยายาม) กิเลสชนิดนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วมักทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ดูถูกคนอื่น เกิดอาการหลงตัวลืมตน ใครวิจารณ์หรือตำหนิไม่ได้ ถูกแตะต้องเมื่อใดเป็นโกรธเมื่อนั้น นักปฏิบัติธรรมจำนวนไม่น้อย เมื่อถูกทักท้วงว่ากำลังหงุดหงิดหรือไม่มีสติ ก็จะรู้สึกโกรธหนักกว่าเดิม ทั้ง ๆ ที่อาการดังกล่าวเป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชน บางคนเมื่อรู้ว่าได้ทำความผิดพลาดขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย อย่างมากก็แค่ “หน้าแตก”เท่านั้น กลับพยายามกลบเกลื่อนหรือถึงกับโกหก ทั้งนี้ก็เพราะกลัวเสียภาพลักษณ์คนดีหรือนักปฏิบัติธรรม

    ความดีนั้นหากตั้งจิตไว้ไม่ถูกตั้งแต่แรก หรือไม่รู้ทันตนเองเมื่อได้ทำไปแล้ว ก็อาจเปิดช่องให้กิเลสครอบงำใจได้ นอกจากตัณหา (ความอยากได้นั่นได้นี่เป็นผลตอบแทนในทางปรนเปรอตัวตน) และมานะ (ความถือตัวถือตนว่าเหนือกว่าผู้อื่น) แล้ว ทิฏฐิก็เป็นกิเลสอีกชนิดหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น การยึดมั่นในความคิดว่าต้องดีเหมือนตนเท่านั้นจึงจะถูก ถ้าไม่ดีเหมือนตน หรือไม่ดีอย่างที่ตนคิด ก็แสดงว่าผิด และสิ่งที่มักจะตามมาก็คือ ความไม่พอใจ การดูถูก หรือถึงกับเกลียดชังคนที่ไม่ดีเหมือนตน ยิ่งคน ๆ นั้นเป็นคนใกล้ตัว รู้สึกรักหรือผูกพัน ก็ยิ่งเป็นทุกข์เพราะความผิดหวัง จนกลายเป็นความโกรธเคืองอย่างรุนแรง

    ชายผู้หนึ่งเป็นคนชอบทำบุญ ช่วยงานวัดไม่ขาด ส่วนลูกชายนั้นไม่สนใจเข้าวัดเลย ชอบสนุกตามประสาวัยรุ่น พ่อพยายามเคี่ยวเข็นอย่างไรก็ไม่เป็นผล จึงไม่พอใจลูก ในที่สุดก็มีปากเสียงกันจนลูกไม่คุยกับพ่อ พ่อยิ่งขุ่นเคืองใจหนักขึ้นเพราะไม่คิดว่าลูกจะปฏิบัติกับพ่ออย่างนั้น

    วันหนึ่งลูกขอยืมรถพ่อขับไปบ้านเพื่อน พ่อปฏิเสธเพราะค่ำแล้ว ลูกควรอยู่บ้าน แต่พอพ่อเผลอ ลูกก็แอบเอารถพ่อไปใช้ พ่อโกรธมากที่ลูกไม่เชื่อฟังพ่อ ไปตามลูกกลับมา เมื่อถึงบ้านก็ทะเลาะกันอย่างรุนแรง ด้วยอารมณ์โกรธชั่ววูบ พ่อเห็นปืนอยู่ใกล้ ๆ จึงคว้าปืนมายิงลูกตาย พอรู้ตัวว่าได้ทำอะไรลงไป ก็ทำใจไม่ได้ ยิงตัวตายไปพร้อมกับลูก

    พ่อนั้นเป็นคนธัมมะธัมโม อยากให้ลูกเป็นคนดี แต่พอลูกไม่ดีอย่างที่ตนคิด ก็ไม่พอใจลูก ทั้ง ๆ ที่ลูกไม่ได้เที่ยวสำมะเลเทเมาที่ไหน ความไม่พอใจกลายเป็นความโกรธเมื่อลูกมึนตึงกับตน เพราะคนดีย่อมไม่ทำเช่นนั้นกับพ่อบังเกิดเกล้า ยิ่งลูกขัดขืนคำสั่งของพ่อ แถมไม่ยอมรับผิด เถียงพ่อไม่หยุดหย่อน ใช้ถ้อยคำรุนแรง ขาดสัมมาคารวะ พ่อก็ยิ่งโกรธลูก จากความโกรธก็ลามเป็นความเกลียด จนในที่สุดก็ห้ามใจไม่อยู่ ยิงลูกตายคาที่

    ความดีนั้นหากยึดติดถือมั่นมาก สามารถนำไปสู่การทำชั่วได้ไม่ยาก เพราะเมื่อพบว่าคนอื่นไม่ดีเหมือนตน หรือไม่ดีตามความคิดของตน ย่อมเกิดความเกลียดและโกรธตามมา ถ้าไม่รู้ทัน ปล่อยให้มันครองใจ ก็สามารถทำร้ายเขาได้ง่ายมาก ไม่ด้วยการกระทำก็ด้วยคำพูด

    จะว่าไปแล้วความยึดติดถือมั่นนั้นไม่ว่ากับอะไรก็ตาม แม้กระทั่งกับสิ่งที่ดีงามหรือประเสริฐ ก็สามารถผลักดันให้เราทำสิ่งที่เลวร้ายได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะเมื่อเจอคนที่ไม่ได้ยึดถือสิ่งเดียวกับเรา เช่น ศาสนา ศีลธรรม อุดมการณ์ หรือประเพณีพิธีกรรม ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยจับอาวุธเข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์ในนามของศาสนาหรืออุดมการณ์ที่ถือว่าดีงาม

    เมื่อใดก็ตามที่เราเชื่อมั่นว่าเรากำลังยึดถือสิ่งที่ดีงาม เป็นไปได้ง่ายมากที่เราจะมองคนที่คิดหรือนับถือต่างจากเราว่าเป็นคนที่หลงผิด และเห็นเขาเป็นคนเลวในที่สุด ทันทีที่เห็นว่าเขาเป็นคนเลว ความเกลียดโกรธก็ตามมา จากนั้นการมุ่งร้ายก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก เริ่มจากการประณามหยามเหยียดเขาอย่างสาดเสียเทเสีย ต่อด้วยการทำร้ายเขาด้วยวิธีสกปรก โดยรู้สึกว่าตนมีความชอบธรรมที่จะกระทำเช่นนั้น (“คนเลว ๆ อย่างมัน สมควรแล้วที่จะต้องเจอแบบนี้”) กลายเป็นว่ายิ่งเห็นเขาเป็นคนเลวมากเท่าไร ก็ยิ่งประจานตัวเองด้วยการทำสิ่งเลวร้ายมากเท่านั้น ยิ่งคิดว่าตัวเองดีเลิศประเสริฐกว่าผู้อื่น ก็ยิ่งถลำเข้าสู่ความเสื่อมจนตกต่ำย่ำแย่กว่าเขา

    เมื่อต้นปีที่แล้ว นักการเมืองขวาจัดชื่อดังชาวดัตช์ผู้หนึ่ง (Geert Wilders) ให้สัมภาษณ์โจมตีศาสนาอิสลามว่าเป็นอุดมการณ์ “ฟาสซิสต์แบบเบ็ดเสร็จ” ว่าแล้วเขาก็เรียกร้องให้ “กำจัด” สัญลักษณ์ของศาสนานั้น รวมทั้งปิดมัสยิดและโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามให้หมด เขาไม่รู้ตัวเลยว่าในขณะที่กล่าวหาคนอื่นว่าเป็นฟาสซิสต์นั้น เขากำลังทำตัวเป็นฟาสซิสต์อย่างชัดเจน

    นักการเมืองผู้นั้นยึดติดถือมั่นในศาสนาคริสต์ จึงมองศาสนาอิสลามไปในทางลบ แต่ไม่ใช่ศาสนาคริสต์เท่านั้น แม้กระทั่งศาสนาพุทธ หากยึดติดถือมั่นมากเกินไป ก็สามารถมองศาสนาอื่นเป็นศัตรูได้ จนถึงกับทำร้ายคนที่นับถือศาสนาดังกล่าว ดังเกิดขึ้นแล้วหลายต่อหลายครั้ง ล่าสุดก็คือการก่อเหตุรุนแรงในพม่าเมื่อปลายปีนี้กับเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ชาวมุสลิมตายร่วม ๒๐๐ คน ผู้คนอพยพหนีภัยอีกนับแสน ๆ ทั้งนี้โดยมีสาเหตุจากการที่พระกลุ่มหนึ่งปลุกระดมอย่างต่อเนื่องมาหลายปีว่าพม่ากำลังจะ “สิ้นชาติ” และพุทธศาสนากำลังจะสูญสิ้นเพราะน้ำมือของชาวมุสลิม ซึ่งกำลังขยายอิทธิพลไปทุกวงการ ทำให้ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยเกิดความเกลียดชังชาวมุสลิม ยิ่งเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจด้วย การประหัตประหารก็เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

    พุทธศาสนานั้นปฏิเสธความรุนแรงในทุกกรณี แต่หากยึดติดถือมั่นในพุทธศาสนา เกิดการแบ่งเขาแบ่งเราจนเห็นคนที่นับถือศาสนาอื่นเป็นศัตรู ก็สามารถลงเอยด้วยการทำสิ่งที่ตรงข้ามกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังนั้นการฆ่าฟันผู้คนในนามของพุทธศาสนาจึงไม่สามารถทำให้พุทธศาสนามีความมั่นคงเพิ่มขึ้นเลย กลับทำให้พุทธศาสนาตกต่ำกว่าเดิมด้วยซ้ำ

    เหตุการณ์เหล่านี้เป็นข้อเตือนใจอย่างดีสำหรับชาวไทย ไม่ว่านับถือศาสนาใด หรืออุดมการณ์ใดก็ตาม ยิ่งมั่นใจในความดีงามของศาสนาและอุดมการณ์ของตนมากเท่าใด ก็ยิ่งต้องระวังใจของตน ไม่ด่วนตัดสินว่าคนที่นับถือศาสนาหรืออุดมการณ์ที่ต่างจากตนนั้นเป็นคนเลว พึงระลึกว่าคนที่ไม่คิดหรือปฏิบัติเหมือนตนนั้น อาจเป็นคนดีก็ได้ ความคิดที่ว่า จะเป็นใครก็ตาม ต้องคิดหรือปฏิบัติเหมือนตน หรือตรงกับความคิดของตนเท่านั้น จึงจะเรียกว่าเป็นคนดี ย่อมเป็นความหลงตนอย่างหนึ่ง การเอาตนเองเป็นศูนย์กลางอย่างนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะความยึดติดถือมั่นในความคิดของตน (ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่าทิฏฐุปาทาน)

    ความดีงามนั้น ไม่ว่ามาในรูปของศาสนา อุดมการณ์ประชาธิปไตย หรือชาติ ศาสน์ กษัตริย์ก็ตาม มีกับดักที่เราต้องรู้เท่าทันไม่เผลอพลัดตกลงไป กับดักนั้นคือความยึดติดถือมั่นจนเกิดความหลงตัวลืมตน หรือถูกกิเลสครอบงำใจโดยเฉพาะความโกรธเกลียด ซึ่งสามารถนำไปสู่ความชั่วและความทุกข์ได้ ด้วยเหตุนี้ท่านอาจารย์พุทธทาสจึงเตือนว่า “ระวังความดีกัดเจ้าของ”

    สำหรับชาวพุทธนั้น ย่อมถือว่าพุทธศาสนาหรือพระธรรมนั้นประเสริฐที่สุด แม้กระนั้นก็พระพุทธองค์ก็ตรัสเตือนไว้ว่า “ธรรมที่เราแสดงนั้น ก็เพื่อรื้อถอนตนออกจากทุกข์ ไม่ใช่เพื่อให้ยึดถือเอาไว้ เปรียบได้กับพ่วงแพ (เมื่อถึงฝั่ง ก็วางไว้ไม่แบกขึ้นไปด้วย) ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายผู้ได้ฟังธรรมอันเราแสดงแล้ว อันเปรียบด้วยพ่วงแพ ควรละธรรมทั้งหลายเสีย จะกล่าวทำไมถึงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม”

    ธรรมนั้นมีไว้เพื่อพาเราไกลจากความชั่วและความทุกข์ แต่หากยึดถือจนเป็นทุกข์หรือทำชั่วเสียเอง จะเรียกว่าปฏิบัติถูกได้อย่างไร ที่แท้ต้องเรียกว่าปฏิบัติผิดในสิ่งที่ถูก ต่างหาก
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255604.html
     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,968
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ใช้สมอง อย่าลืมหัวใจ
    พระไพศาล วิสาโล
    หมอรังสิต หร่มระฤก เป็นจิตแพทย์ เล่าว่า เคยเจอผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นรุ่นพี่ เป็นวิศวกร รู้จักกันมาตั้งแต่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ตอนหลังรุ่นพี่คนนี้มีอาการทางจิต คือมีความรู้สึกเหมือนมีคนคอยส่งคลื่นรังสีมารบกวนความคิดของเขา แถมยังอ่านความคิดของเขาได้ด้วย เขาจึงกลัวจนต้องลาออกจากงาน เก็บตัวที่บ้านเป็นปี หมอวินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคจิตเภท จึงให้ยาไป สามอาทิตย์ต่อมาอาการดังกล่าวก็หายหมด

    อย่างไรก็ตามถ้าจะหายขาด คนไข้ต้องกินยาต่อเนื่อง ๖ เดือนเป็นอย่างน้อย หมอจึงพยายามชักจูงผู้ป่วยให้ร่วมมือ ด้วยการกินยาครบ ๖ เดือน

    หมอโน้มน้าวเขาด้วยการชี้ให้เขาเห็นว่า หลังจากกินยาแล้ว คลื่นรบกวนก็หายไป คนไข้ยอมรับว่าใช่ หมอจึงบอกว่า เพราะฉะนั้น ผมอยากให้พี่กินยานี้ต่อไป แต่คนไข้ปฏิเสธ ให้เหตุผลว่า คลื่นหายไปเอง ไม่ได้เกี่ยวกับยา หมอชี้แจงอย่างไร เอาเหตุผลมาหว่านล้อม เขาก็ไม่เชื่อ บอกว่า คลื่นหายในช่วงเดียวกับที่กิน เป็นเพราะความบังเอิญต่างหาก ไม่ใช่เพราะยา

    หมอบอกว่า “มันไม่บังเอิญหรอก พิสูจน์ดูก็ได้ ผมจะลองหยุดยา ถ้าคลื่นรบกวนกลับมา ผมจะให้ยาใหม่ ถ้าพี่กินยาแล้ว คลื่นรบกวนมันหายไป ก็แสดงว่ายาช่วยให้คลื่นรบกวนหาย ฉะนั้นพี่ต้องกินยาให้ครบ ๖ เดือน”

    พูดขนาดนี้คนไข้ก็ไม่ยอม โต้หมอว่า “คนที่ส่งคลื่นรบกวนเขาอ่านใจผมได้ เขาอาจจะรู้ว่าเรากำลังทดลองอยู่ เลยแกล้งไม่ส่งคลื่นรบกวนตอนที่ผมกินยา”

    หมอเจอเหตุผลแบบนี้ ไม่รู้จะชักชวนอย่างไร หมอบอกว่าตอนนั้นเขาไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยเหตุผล เพราะคนไข้โต้แย้งได้หมด หมอจึงพูดกับคนไข้ว่า “ผมเถียงสู้พี่ไม่ได้แล้ว พี่บอกมาดีกว่าว่าผมจะต้องทำยังไงพี่จึงจะกินยาครบ ๖ เดือน”

    ผลสุดท้ายคนไข้ก็เลยบอกว่า “ถ้าหมออยากให้ผมกินยา ผมก็จะกิน เพราะหมอดูแลผมอย่างดีมาตลอด ผมเชื่อว่าหมอหวังดี ผมไม่อยากให้หมอเสียใจ”

    ในที่สุดคนไข้ยอมกินยา ไม่ใช่เพราะจำนนต่อเหตุผลของหมอ แต่เป็นเพราะเห็นใจหมอ ประทับใจในความปรารถนาดีของหมอ

    นี่เป็นตัวอย่างว่า บางทีเหตุผลก็มีข้อจำกัด หมอเอาเหตุผลมาพูดกับคนไข้อย่างไรคนไข้ก็ไม่ยอมท่าเดียว ทั้งเถียงทั้งหักล้างด้วยเหตุผลเหมือนกัน แต่คนไข้ยอมกินยา เพราะยอมแพ้ต่อความปรารถนาดีของหมอ ใจอ่อนเพราะเห็นหมอตั้งใจมาก

    บ่อยครั้งที่เราพบว่า เวลามีความขัดแย้งกัน แม้เราพยายามเอาเหตุผลมาชี้แจงอย่างไรอีกฝ่ายก็ไม่ยอม แต่สุดท้ายเขายอมเพราะเห็นว่าเราปรารถนาดีต่อเขา คนเราจะใช้แต่หัวอย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้ใจด้วย ถ้าใช้แต่หัว ก็อาจไปไม่รอด โดยเฉพาะเวลาเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นมา

    มูลนิธิแห่งหนึ่งจัดงานปฏิบัติธรรม มีคนมาร่วมงานหลายร้อยคน พอเสร็จงานก็มีการประชุมสรุปงาน ผู้ที่มาประชุมมีทั้งกรรมการมูลนิธิ เจ้าหน้าที่ จิตอาสา อาสาสมัครผู้หนึ่งลุกขึ้นตำหนิกรรมการมูลนิธิยืดยาว เพราะไม่พอใจที่ไม่นำเอาข้อเสนอแนะของเขาไปปฏิบัติ ทั้ง ๆ ที่เขาใช้เวลาครุ่นคิดกับมันมาก

    กรรมการมูลนิธิคนหนึ่ง ลุกขึ้นมาชี้แจงว่า ข้อเสนอเหล่านั้นทำไม่ได้เพราะเหตุผลหลายประการ รวมทั้งบอกเล่าข้อเท็จจริงหลายอย่างที่ชายผู้นั้นเข้าใจผิด ปรากฏว่าคำชี้แจงของเธอทำให้เขาขุ่นเคืองมากขึ้น จนเขาลุกขึ้นมาตอบโต้อย่างรุนแรง

    กรรมการมูลนิธิผู้นี้ลุกขึ้นชี้แจงเป็นครั้งที่สอง แต่มีรุ่นพี่ผู้หนึ่งสะกิด และลุกขึ้นพูดแทนว่า “ผมขอบคุณที่คุณมีความปรารถนาดีต่อมูลนิธิ ขณะเดียวกันก็เข้าใจความรู้สึกของคุณด้วย คุณรู้สึกเสียใจที่ความตั้งใจดีของคุณไม่ถูกนำไปปฏิบัติ แต่ก็อยากให้เข้าใจว่าเรามีข้อจำกัด ทำให้ไม่สามารถทำตามข้อเสนอของคุณได้ อันนี้เป็นความผิดพลาดของพวกเราเอง ผมต้องขออภัยกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย”

    พูดจบ ชายผู้นั้นก็มีอาการสงบลงทันที สิ่งที่ทำให้ชายผู้นั้นสงบลงไม่ใช่เพราะได้ฟังเหตุผลที่ดี เหตุผลไม่ได้ช่วยเท่าไร กรรมการมูลนิธิพยายามชี้แจงเหตุผล แต่ไม่ได้ช่วยทำให้ชายผู้นั้นรู้สึกดีขึ้น แต่ที่เขารู้สึกดีขึ้นได้ ก็เพราะรับรู้ว่ามีคนที่เข้าใจความรู้สึกของเขา

    เวลามีความขัดแย้งขึ้น เรามักจะใช้เหตุผลเพื่อชี้แจงและยืนยันความถูกต้องของตน ขณะเดียวกันก็เพื่อหักล้างเหตุผลของอีกฝ่าย แต่ว่าสิ่งที่เรามักจะมองข้ามคือการใช้ความรู้สึก เพื่อรับรู้ความทุกข์ของอีกฝ่าย ว่าเขามีความเสียใจ ขุ่นเคืองใจอย่างไรบ้าง การรับรู้ความรู้สึกของอีกฝ่ายเป็นเรื่องสำคัญ จะรู้แต่เพียงว่าเขาคิดอะไร พูดอะไร มีเหตุผลอะไรยังไม่พอ ต้องเข้าใจความรู้สึกของเขาด้วย และการจะเข้าใจความรู้สึกของเขาได้นั้น เราต้องใช้หัวใจ ใช้หัวหรือสมองไม่ได้

    หัวหรือสมองเพียงช่วยให้เข้าใจความคิด เข้าใจเหตุผลเท่านั้น แต่ไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่ายได้ เหมือนกับว่าเราจะรับรู้ภาพก็ต้องใช้ตา แต่ถ้าจะรับรู้เสียงก็ต้องใช้หู จะใช้ตารับรู้เสียงไม่ได้ ความรู้สึกก็ต้องอาศัยใจ แต่คนสมัยนี้ใช้หัวสมองมาก ใช้แต่ความคิด คิดอะไรก็เป็นเหตุเป็นผล แต่กลับลืมใช้ใจรับรู้ความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง ความขัดแย้งบ่อยครั้งลุกลามจนกลายเป็นการทะเลาะวิวาท เป็นเพราะว่าต่างไม่ยอม หรือไม่พยายามเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง พยายามจะใช้แต่เหตุผล

    จิตแพทย์อีกผู้หนึ่งคือหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ พูดไว้น่าสนใจว่า “ เวลาสามีภรรยาทะเลาะกัน อย่าใช้เหตุผลเป็นอันขาด ให้ใช้อารมณ์ วางเหตุผลลงให้ได้ ปล่อยให้อารมณ์ลอยขึ้นมา อารมณ์รักที่เคยมีต่อกันในอดีตจะเข้ามาแก้ปัญหาให้เอง”

    บ่อยครั้งเวลาสามีภรรยาทะเลาะกัน เหตุผลที่ใช้มักจะทำให้ความขัดแย้งลุกลามขึ้น จนกลายเป็นการทะเลาะเบาะแว้งกัน เพราะเหตุผลเหล่านี้ถูกเอามาใช้เพื่อยืนยันความถูกต้องของตนเอง และกล่าวโทษอีกฝ่าย พูดอีกอย่างคือใช้เหตุผลเพื่อชี้ว่าฉันถูก เธอผิด เหตุผลแบบนี้มีแต่จะกระทบอัตตาอีกฝ่าย ทำให้ขุ่นเคือง แต่ถ้าใช้อารมณ์ ซึ่งในที่นี้หมายถึง ความรัก ความเห็นใจ การทิ่มแทง กระทบกระทั่งกันก็จะลดน้อยลง ความรักจะทำให้เราเห็นใจ รับรู้ความทุกข์ของอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้จิตใจอ่อนโยน

    เพราะฉะนั้น คนเราจะใช้แต่หัวสมองอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้หัวใจด้วย โดยเฉพาะในเวลาที่สัมพันธ์กับผู้อื่น เราใช้เหตุผลในการทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ เราใช้เหตุผลในการทำความเข้าใจว่าเขาคิดอะไร แต่เหตุผลหรือหัวสมอง ไม่สามารถทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของเขาได้ ถ้าคนเราไม่เข้าใจความรู้สึกของกันแล้ว ก็จะไม่รู้ว่าคำพูดของเราทิ่มแทงเขามากน้อยแค่ไหน ยิ่งใช้เหตุผลยิ่งทิ่มแทงมากขึ้น

    สมัยนี้เราชอบพูดกันว่าให้ใช้เหตุผล แต่ว่าบางทีเหตุผลที่เอามาพูดกันนั้น ก็เป็นเหตุผลของกิเลส เป็นเหตุผลของอัตตา และบางครั้งก็มีข้อจำกัดในการแก้ปัญหา ถ้าเราใช้หัวใจบ้าง ใช้อารมณ์บ้าง แต่เป็นอารมณ์ฝ่ายกุศล เช่น ความรัก ความเมตตา ความเห็นใจ ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ เหมือนอย่างจิตแพทย์ที่สามารถโน้มน้าวให้คนไข้กินยาได้ ไม่ใช่เพราะใช้เหตุผล ที่จริงเหตุผลของหมอโน้มน้าวคนไข้ไม่ได้เลย แต่ว่าความเมตตา ความใส่ใจของหมอต่างหาก ที่ทำให้คนไข้ยอมกินยาตามความต้องการของหมอ
    :- https://visalo.org/article/jitvivat256107.html
     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,968
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    คำสอนสุดท้ายของหลวงพ่อคูณ
    พระไพศาล วิสาโล
    ในรอบปีที่ผ่านมา การมรณภาพของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ หรือ พระเทพวิทยาคม เป็นข่าวใหญ่ที่สุดข่าวหนึ่ง แม้จะมีพระมหาเถระและเกจิอาจารย์เป็นอันมากละสังขารไปในช่วงดังกล่าว ก็ไม่เป็นข่าวดังเท่ากับการสิ้นลมของหลวงพ่อคูณ และหากมีการพระราชทานเพลิงศพของท่านอย่างที่นิยมปฏิบัติกันโดยทั่วไป ก็เชื่อได้ว่าจะเป็นข่าวใหญ่ระดับชาติที่ผู้คนทั้งประเทศตั้งตารอคอยเช่นกัน

    อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่างานดังกล่าวมิอาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะหลวงพ่อคูณได้เขียนไว้ในพินัยกรรมของท่านอย่างชัดเจนว่า “ห้ามขอพระราชทานเพลิงศพ โกศ และพระราชพิธีอื่น ๆ เป็นกรณีพิเศษเป็นการเฉพาะ” ยิ่งกว่านั้นท่านยังกำชับว่า งานศพของท่านนั้น “ให้จัดงานแบบเรียบง่าย ละเว้นการพิธีสมโภชใด ๆ” ว่าจำเพาะพิธีกรรมทางศาสนา ท่านระบุว่า ให้มีการสวดอภิธรรมศพ เพียง ๗ วันเท่านั้น

    ใช่แต่เท่านั้นท่านยังได้สั่งเสียอย่างชัดเจนว่า “ศพของอาตมา ให้มอบแก่มหาวิทยาลัยขอนแก่นภายใน ๒๔ ชั่วโมง หลังจากมรณภาพลง” เพื่อเป็น “อาจารย์ใหญ่” ให้แก่นักศึกษาแพทย์ นี้เป็นการให้ครั้งสำคัญและครั้งสุดท้ายของหลวงพ่อคูณ ในยามที่ยังมีชีวิตท่านให้ทุกอย่างที่ท่านมีหรือได้มา ไม่ว่า เงินทอง วัตถุมงคล และคำสอน ด้วยเมตตาจิตอันใหญ่หลวง สมกับโวหารที่กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวท่านว่า “กูให้มึง” เป็นการสอนด้วยการกระทำตลอดทั้งชีวิตว่า “ยิ่งเอามันยิ่งอด ยิ่งสละให้หมดมันยิ่งได้” สุดท้ายเมื่อท่านสิ้นลม แม้เอาอะไรไปไม่ได้เลยสักอย่าง แต่ก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ให้ได้ นั่นคือ ร่างกายของท่าน

    เคยมีลูกศิษย์ทักท้วงท่านเรื่องนี้ ท่านยืนยันเจตนารมณ์ไม่เปลี่ยนแปลง โดยให้เหตุผลว่า “กูมานึกได้ว่าอยากจะสร้างบารมี… เรื่องบริจาคศพ ดีกว่าเอาไปเผาทิ้ง ให้เขาเอาไปเป็นทาน ได้เป็นครูเขา …พวกลูกหลาน เมื่อถึงเวลาที่กูหมดลมหายใจแล้ว พวกมึงก็อย่าได้หน่วงเหนี่ยวเลย ให้เขาไปเถอะ เพราะมันจะเสียเจตนาของกู ขอให้อนุโมทนากับกู”

    นอกจากเจตนาที่จะให้จน “หยดสุดท้าย” เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้คนแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งก็คือหลวงพ่อคูณไม่อยากให้ผู้คนเดือดร้อนเพราะท่าน ดังท่านได้กล่าวไว้หลายปีก่อนมรณภาพว่า “กูเองไม่อยากเป็นภาระกับคนอื่น ....กูไม่ต้องการให้ศิษยานุศิษย์เดือดร้อน หรือเกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อยามที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อไม่ต้องการให้เกิดเป็นปัญหาระหว่างลูกศิษย์ด้วยกัน”

    หลวงพ่อคูณคงเห็นอยู่เนือง ๆ ว่า งานศพพระมหาเถระชื่อดังนั้นมักจัดอย่างฟุมเฟือย ก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองอย่างมหาศาล โดยหาสาระประโยชน์ได้น้อย อีกทั้งสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คนไปทั่ว จนอาจถึงขั้น “คนตายขายคนเป็น” ใช่แต่เท่านั้นยังมักมีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างลูกศิษย์ลูกหาทั้งพระและฆราวาส เนื่องจากมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับการจัดพิธีศพ ยังไม่ต้องพูดถึงการทะเลาะเบาะแว้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นเพื่อตัดปัญหาเหล่านี้ ท่านจึงเขียนระบุไว้ในพินัยกรรมของท่านอย่างชัดเจนว่า นอกจากพิธีศพให้จัดอย่างเรียบง่าย มีพิธีรีตองแต่น้อยแล้ว ศพของท่านก็มอบให้แก่มหาวิทยาลัยทันทีเพื่อประโยชน์ในการศึกษาต่อไป (ผลดีประการหนึ่งที่ท่านอาจคิดไม่ถึงก็คือ มีผู้คนพากันไปบริจาคร่างกายมากมายเป็นประวัติการณ์คือ วันละกว่า ๑๐๐ คนที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บางวันสูงถึง ๒๐๐-๓๐๐ คน ทั้งในช่วงที่สวดอภิธรรมศพหลวงพ่อและหลังจากนั้น)

    ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ คือวันที่หลวงพ่อคูณมรณภาพ สิ่งที่ท่านปรารถนาได้ปรากฏเป็นจริง งานศพของท่านเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีการนำศพของท่านไปบำเพ็ญกุศลที่วัดบ้านไร่ตามที่ลูกศิษย์จำนวนหนึ่งขอร้อง สังขารของท่านถูกเคลื่อนไปยังมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมีการสวดพระอภิธรรมที่นั่นเป็นเวลา ๗ วัน ตามที่ท่านระบุไว้ เหตุการณ์ผ่านไปด้วยดี ไม่มีความวุ่นวายหรือความขัดแย้งเกิดขึ้นในหมู่ลูกศิษย์ลูกหา แม้บางคนมีความเห็นว่าไม่สมเกียรติท่าน แต่ก็สมธรรมอย่างยิ่ง กล่าวคือ สอดคล้องกับธรรมที่ท่านสั่งสอนและปฏิบัติมาตลอดชีวิต อีกทั้งสมกับธรรมที่พระพุทธองค์ทรงประกาศ

    อย่างไรก็ตามน่าคิดว่าหากพินัยกรรมของท่านระบุเพิ่มเติมว่า ท่านอยากให้ปฏิบัติกับร่างกายของท่านอย่างไรในช่วงที่ท่านป่วยหนักในระยะสุดท้าย และไม่รู้สึกตัวหรือไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ก็เป็นไปได้ว่าชั่วโมงท้าย ๆ ของท่านจะไม่กลายเป็นช่วงเวลาแห่งความโกลาหลวุ่นวาย ดังที่ได้เกิดขึ้นในช่วง ๓๐ ชั่วโมงสุดท้ายของท่าน

    จากปากคำของพยาบาลที่ดูแลหลวงพ่อที่วัดบ้านไร่ ประมาณ ๕.๔๕ น. ของวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พบว่าหลวงพ่อมีอาการหมดสติไม่รู้สึกตัว จึงรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ เมื่อแพทย์มาถึงก็พบว่า หลวงพ่อคูณหยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้นแล้ว จึงทำการปั๊มหัวใจเป็นเวลา ๑ ชั่วโมง เมื่อหัวใจกลับมาเต้นใหม่ ได้ใส่เครื่องช่วยหายใจ พร้อมทั้งเครื่องกระตุ้นหัวใจ แล้วรีบส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ประมาณ ๒๐.๐๐ น. แพทย์รายงานว่า หลวงพ่อมีสัญญาณชีพไม่คงที่ รวมทั้งมีเลือดออกในทางเดินอาหารจำนวนมาก นอกจากนั้นไตยังหยุดทำงาน เป็นผลให้ไม่มีปัสสาวะออกจากร่างกาย ทั้งนี้ เกิดจากปอดและหัวใจ หยุดทำงานเป็นเวลานาน วันรุ่งขึ้น แพทย์พบว่าระบบหายใจของหลวงพ่อล้มเหลวและหัวใจหยุดเต้นอีกครั้ง จึงทำการปั๊มหัวใจอีก แม้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ แต่อาการของหลวงพ่อก็ยังคงทรุดลงเป็นลำดับ
     
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,968
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    กระทั่งเวลา ๑๑.๔๕ น. แพทย์ได้ประกาศว่าหลวงพ่อคูณมรณภาพแล้ว ต่อมา น.พ.พินิศจัย นาคพันธุ์ หัวหน้าคณะแพทย์ได้แถลงข่าวโดยให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า หลวงพ่อมรณภาพ เนื่องจากหยุดหายใจ เพราะมีลมรั่วเข้าไปภายในปอด หรือที่เรียกว่าปอดแตก ทำให้หัวใจหยุดเต้น จนต้องปั๊มหัวใจเป็นเวลานานถึง ๑ ชั่วโมง ครั้นมาถึงโรงพยาบาลแล้ว ยังต้องปั๊มหัวใจเพิ่มถึง ๒ รอบ แต่ด้วยความที่หลวงพ่อหมดสติตั้งแต่อยู่ที่วัดบ้านไร่แล้ว เมื่อหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นเป็นเวลานาน ก็ส่งผลให้อวัยวะอื่น ๆ วิกฤตตามไปด้วย เข้าสู่ภาวะสมองตายตั้งแต่แรก ต่อมาแพทย์พยายามยื้อหัวใจ และปอด จนมาถึงไต แต่แล้วในที่สุด อวัยวะสำคัญก็ล้มเหลวลงทั้งหมด หลวงพ่อจึงถึงแก่มรณภาพ

    เห็นได้ชัดว่าแพทย์พยายามยื้อชีวิตของหลวงพ่อทุกวิถีทาง แต่ก็ไม่สำเร็จ แต่ถึงแม้สำเร็จ หลวงพ่อก็คงมีสภาพไม่ต่างจาก “ผัก” คือไม่รู้สึกตัว เนื่องจากสมองขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน แพทย์เองก็ยอมรับว่าหลวงพ่อเข้าสู่สภาวะสมองตาย (อาจจะตั้งแต่ที่วัดบ้านไร่แล้ว) เหล่านี้ย่อมไม่ใช่สภาวะที่หลวงพ่อปรารถนาเป็นแน่ เพราะท่านไม่ต้องการให้ตัวท่านเป็นภาระแก่ใครมาตั้งแต่แรกแล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงว่าท่านไม่มีความหวงแหนในชีวิต ชนิดที่จะต้องยื้อให้ยืนยาวที่สุดไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ ก็ตาม เพราะท่านเห็นว่าความตายเป็นธรรมดา ดังท่านเคยสอนลูกศิษย์ให้เจริญมรณสติด้วยการบริกรรมว่า “ตาย” เมื่อหายใจเข้า และ “แน่” เมื่อหายใจออก

    น่าคิดต่อไปด้วยว่าสังขารวัย ๙๑ ของหลวงพ่อซึ่งล้มป่วยมานานนับปี เข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง จะสามารถทนการปั๊มหัวใจถึง ๒-๓ ครั้งได้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตามสำหรับแพทย์แล้ว ย่อมไม่มีทางเลือกอื่น หากคนไข้หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ย่อมจำต้องพยายามช่วยชีวิตเอาไว้ก่อน เว้นแต่คนไข้ได้แสดงเจตนาล่วงหน้าว่าไม่ต้องการให้ทำเช่นนั้นเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิต หรือญาติ(และลูกศิษย์)ระบุไว้ชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ยื้อชีวิตคนไข้เพราะคนไข้ได้สั่งไว้ขณะที่ยังมีความรู้สึกตัวอยู่

    ในทัศนะของพุทธศาสนา ชีวิตที่ดีไม่ได้หมายถึงชีวิตที่ยืนยาว แต่หมายถึงชีวิตที่ตั้งมั่นในธรรม ประกอบคุณงามความดี ถึงพร้อมด้วยประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน หรืออยู่อย่างไม่ประมาท ในทำนองเดียวกันการตายดีก็ไม่ได้อยู่ที่ว่า ตายที่ไหน ด้วยสาเหตุใด อายุเท่าไร แต่หมายถึงการตายด้วยจิตที่สงบ ปล่อยวางทุกสิ่ง ไร้อารมณ์เศร้าหมอง นั่นหมายความว่าก่อนตายก็ควรมีคุณภาพจิตที่ดี สำหรับปุถุชนคนทั่วไป บรรยากาศแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่เอื้อให้เกิดคุณภาพจิตดังกล่าว แต่หากบรรยากาศรอบตัวคนไข้ในวาระสุดท้ายเต็มไปด้วยความโกลาหล และมีการยื้อชีวิตด้วยวิธีการต่าง ๆ มากมาย ที่ก่อให้เกิดทุกขเวทนา เช่น การปั๊มหัวใจ น่าสงสัยว่าบรรยากาศเช่นนี้จะเอื้อให้เกิดการตายดีได้เพียงใด

    หลวงพ่อคูณเป็นผู้ที่จัดเจนในการบำเพ็ญทางจิต การยื้อชีวิตของท่านด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่กล่าวมาย่อมไม่อาจรบกวนจิตหรือขัดขวางการตายดีของท่านได้ แต่คนทั่วไปยากจะทำเช่นนั้นได้ภายใต้บรรยากาศดังกล่าว ดังนั้นหากไม่ปรารถนาภาวะเช่นนั้น ควรตัดสินใจไว้แต่เนิ่น ๆ ว่า เมื่อเจ็บป่วยจนเข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิต อยากให้แพทย์ปฏิบัติกับร่างกายของตนมากน้อยเพียงใด จะยอมให้ปั๊มหัวใจ ใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือผ่าตัดใหญ่ ฯลฯ หรือไม่ หากไม่ประสงค์เช่นนั้น เพราะยอมรับความตาย ไม่ปรารถนาที่จะ “หอบสังขารหนีความตาย” ดังคำของท่านอาจารย์พุทธทาส หรือปรารถนาที่จะตายอย่างสงบ ก็ควรระบุเจตนารมณ์ดังกล่าวเอาไว้ล่วงหน้า ไม่เพียงแต่ทำพินัยกรรมที่จะมีผลหลังตายแล้วเท่านั้น

    หลวงพ่อคูณได้สอนธรรมแก่ศิษยานุศิษย์จนถึงวาระสุดท้ายของท่าน คำสั่งเสียเกี่ยวกับการปลงศพของท่าน เป็นแบบอย่างที่ดีทั้งแก่พระและโยม แม้แต่ช่วงท้ายของชีวิตท่านก็ยังให้แง่คิดหรือบทเรียนเพื่อการเตรียมตัวตายที่พึงประสงค์ หากพิจารณาไตร่ตรองและนำไปปฏิบัติก็ย่อมเกิดประโยชน์แก่เรามิใช่น้อย
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255811.html
     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,968
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    คำขอที่ยิ่งใหญ่
    พระไพศาล วิสาโล
    การอยู่ร่วมกันอย่างสันติเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความอยู่รอด ไม่ใช่แต่มนุษย์เท่านั้นที่ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหลายชนิดที่อยู่กันเป็นฝูงก็ “รู้” เช่นกัน สัตว์เหล่านี้รู้ดีว่ามันไม่อาจอยู่ได้ด้วยลำพังตนเอง แต่ต้องพึ่งพาอาศัยตัวอื่นด้วย ความสมัครสมานสามัคคีจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่ในการอยู่ร่วมกันนั้น การกระทบกระทั่งหรือความขัดแย้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ในกรณีเช่นนั้นมันจะทำอย่างไร?

    สัตว์หลายชนิดเลือกใช้วิธี “คืนดี” กัน เมื่อแพะทะเลาะกันเรื่องอาหาร ไม่นานมันจะกลับมาแสดงความเป็นมิตรต่อกัน เช่น เลียขนหรือเอาจมูกไซ้ลำตัวของปรปักษ์ที่เพิ่งปะทะกัน ปลาโลมาก็เช่นกัน หลังจากต่อสู้กันแล้ว มันจะเอาตัวมาสีกันเบา ๆ หรือไม่ก็เอาปากดุนหลังของอีกตัว แม้แต่หมาป่าไฮยีน่าซึ่งขึ้นชื่อว่าดุร้ายและเจ้าอารมณ์ ก็ยังหันหน้าเข้าหากันหลังจากทะเลาะกันอย่างดุเดือด มีการเลียตัวหรือถูสีข้างกัน ยิ่งญาติที่สนิทกับมนุษย์ด้วยแล้ว ไม่ว่าชิมแปนซี กอริลลา หรือโบโนโบ ล้วนเป็นนักคืนดีที่มีลูกเล่นพราวแพรว ไม่ใช่แค่หาเหาหรือเกาหลังให้เท่านั้น หากยังยอมให้ขึ้นคร่อม อย่างหลังนี้เป็นลักษณะเด่นของโบโนโบเลยทีเดียว


    น่าสังเกตว่าในการคืนดีกันนั้น สัตว์ตัวที่อ่อนแอหรือพ่ายแพ้ในการต่อสู้จะเป็นฝ่ายริเริ่มเข้าหาก่อน (ยกเว้นโบโนโบ ซึ่งตัวที่ชนะจะเป็นฝ่ายริเริ่มก่อน) มองจากสายตาของมนุษย์ นี้เป็นเรื่องของกฎป่าที่ถือว่าอำนาจเป็นใหญ่ ดังนั้นตัวที่อ่อนแอก็ต้องสยบยอมตัวที่แข็งแรง แต่มองในอีกแง่หนึ่ง จะสังเกตว่าสัตว์เหล่านี้ไม่เคยเถียงกันว่า ใครผิด ใครถูก แน่ละมันคงไม่มีปัญญาพอที่จะตั้งมาตรฐานถูก-ผิดอย่างมนุษย์ แต่อย่างน้อยมันก็รู้ว่าการเป็นศัตรูกันนั้นไม่มีผลดีทั้งต่อตัวมันเองและต่อทั้งฝูง มันอาจโง่ในหลายเรื่อง แต่มัน “ฉลาด”พอที่จะรู้ว่าเป็นมิตรกันนั้นดีกว่าเป็นศัตรูกัน จะโดยการเรียนรู้ด้วยตนเองหรือการส่งผ่านทางพันธุกรรมก็แล้วแต่ การคืนดีจึงเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของสัตว์เหล่านี้

    ในฐานะที่เป็นสัตว์ชั้นสูง มนุษย์ก็มีสัญชาตญาณคืนดีเช่นเดียวกัน ถึงแม้เราจะเลิกเลียตัวหรือหาเหาให้กันมานานแล้ว แต่เรามีวิธีหลากหลายมากในการคืนดีและผูกไมตรีกัน การให้ของขวัญเป็นตัวอย่างหนึ่ง แต่วิธีหนึ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับมนุษย์เราก็คือ การขอโทษ

    การขอโทษเป็นสิ่งสะท้อนถึงพัฒนาการของมนุษย์ จากการอาศัยพละกำลังเป็นเครื่องตัดสิน (might is right) มาเป็นการตัดสินโดยอาศัยความถูกต้องเป็นใหญ่ (right is might) กล่าวอีกนัยหนึ่งการขอโทษได้ช่วยให้การคืนดีพัฒนาไปอีกก้าวหนึ่ง แทนที่การริเริ่มคืนดีจะเป็นหน้าที่ของผู้อ่อนแอ ก็กลายเป็นภาระของผู้ที่ทำผิดพลาด แม้ว่าผู้นั้นจะมีอำนาจหรือพละกำลังเหนือกว่าก็ตาม

    การขอโทษมิใช่เครื่องหมายแสดงความอ่อนแอ มีแต่ในอาณาจักรสัตว์เท่านั้นที่ตัวอ่อนแอเป็นฝ่ายคืนดีก่อน แต่สำหรับมนุษย์ผู้มีวัฒนธรรมแล้วผู้ที่เอ่ยปากขอโทษก่อนต่างหากคือผู้ที่เข็มแข็งกว่า เข้มแข็งเพราะเขากล้ารับผิด เข้มแข็งเพราะเขากล้าขัดขืนคำบัญชาของอัตตาที่ต้องการประกาศศักดาเหนือผู้อื่น

    การขอโทษเป็นเครื่องแสดงถึงความมีอารยะของบุคคลผู้กระทำการดังกล่าว เพราะแสดงให้เห็นถึงความรู้ผิดรู้ชอบในมโนธรรมสำนึกของเขา เป็นมโนธรรมสำนึกที่บอกเขาว่าความถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าอำนาจ เยอรมนีเป็นประเทศที่ทรงอำนาจยิ่งกว่าโปแลนด์ แต่เมื่อนายวิลลี่ บรันดท์นายกรัฐมนตรีเยอรมันคุกเข่าต่อหน้าอนุสาวรีย์วีรชนโปแลนด์ที่กรุงวอซอเมื่อ ๓๕ ปีก่อน เพื่อแสดงการขอโทษแทนชาวเยอรมันที่ก่อกรรมทำเข็ญแก่ชาวโปแลนด์ในสงครามโลกครั้งที่สอง เขามิได้ทำให้เยอรมนีตกต่ำหรืออ่อนแอลงเลย ตรงกันข้ามเยอรมนีกลับมีเกียรติภูมิสูงส่งขึ้นในสายตาของชาวโลก เป็นเกียรติภูมิที่ไม่อาจสร้างขึ้นได้ด้วยแสนยานุภาพทางทหารหรือความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

    การขอโทษ แม้จะกล่าวด้วยถ้อยคำเพียงไม่กี่คำว่า “ผม(ฉัน)ขอโทษ” แต่ก็มีพลังพอที่จะสมานไมตรีที่ขาดสะบั้นให้กลับมั่นคงดังเดิมได้ในชั่วพริบตา คำขอโทษเปรียบเสมือนน้ำเย็นที่ดับเพลิงแห่งโทสะ เป็นดังมนต์วิเศษที่สยบความโกรธ และทำลายความพยาบาทในปลาสนาการไป

     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,968
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    เด็กคนหนึ่งเสียชีวิตระหว่างการผ่าตัด หนึ่งในคณะศัลยแพทย์เสียใจมากที่เกิดความผิดพลาดขึ้น เมื่อออกจากห้องผ่าตัด เขาเดินไปหาแม่เด็กและกล่าวคำขอโทษ ในเวลาต่อมาแม่ของเด็กได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากหมอ ปรากฏว่าศัลยแพทย์ถูกฟ้องทุกคนยกเว้นหมอผู้นั้นผู้เดียว ทนายความของคณะศัลยแพทย์เกิดความฉงนสงสัย แต่หมอผู้นั้นก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ ทนายความจึงถามแม่ของเด็กระหว่างการซักพยานว่าทำไมถึงไม่ฟ้องหมอผู้นั้นด้วย คำตอบของเธอก็คือ “เพราะเขาเป็นคนเดียวที่ใส่ใจ”


    มีคำไม่กี่คำที่สามารถเยียวยาจิตใจของผู้สูญเสียและเจ็บปวดได้ หนึ่งในนั้นคือคำขอโทษ แต่ทุกวันนี้คำขอโทษกลับเป็นคำที่ผู้คนเปล่งออกมาได้ยากที่สุด คนจำนวนไม่น้อยกลัวว่าการขอโทษเป็นการเปิดเผยจุดอ่อนของตน และเปิดช่องให้ผู้อื่นเล่นงานตนได้ หากหมอขอโทษก็แสดงว่ายอมรับผิด เท่ากับเปิดช่องให้ผู้เสียหายทำการฟ้องร้องได้ ดังนั้นจึงปิดปากเงียบ แต่ใช่หรือไม่ว่าการกระทำเช่นนั้นกลับทำให้ความขัดแย้งลุกลามมากขึ้น เพราะยั่วยุให้อีกฝ่ายทำการตอบโต้หรือกดดันด้วยวิธีที่รุนแรงขึ้น จนอาจลงเอยด้วยความเสียหายของทั้งสองฝ่าย

    ทุกวันนี้เราใช้ “หัว” กันมากเกินไป จึงนึกถึงแต่ผลได้กับผลเสีย เราใช้ “ใจ” กันน้อยลง จึงไม่รู้สึกถึงความทุกข์ของผู้ที่เจ็บปวดจากการกระทำของเรา ยิ่งไปกว่านั้นนับวันเราจะมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีกันน้อยลงทุกที การคิดคำนวณถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นทำให้เราปิดใจไม่รับรู้ความเจ็บปวดของเพื่อนมนุษย์ และเฉยชาต่อเสียงร้องของมโนธรรมสำนึกภายใน แต่เราจะรู้หรือไม่ว่าการกระทำเช่นนั้นยิ่งทำให้จิตใจของเราแข็งกระด้าง และลดทอนความเป็นมนุษย์ของเราให้เหลือน้อยลง

    การขอโทษอาจทำให้เรารู้สึกเสียหน้า แต่แท้จริงแล้วตัวที่เสียหน้านั้นคือกิเลสมารต่างหาก เมื่อเราขอโทษ สิ่งที่จะเสียไปคืออหังการของอัตตา แต่สิ่งที่เราจะได้มานั้นมีคุณค่ามหาศาล นอกจากมิตรภาพแล้ว เรายังฟื้นความเป็นมนุษย์และความรู้สึกผิดชอบชั่วดีให้กลับคืนมา

    อย่าโยนหน้าที่ให้ศาลเป็นผู้ตัดสินความถูก-ผิด ไม่ว่าจะทำอะไรไปก็ตาม ควรให้มโนธรรมสำนึกในใจของเราเป็นเครื่องตัดสิน เมื่อผิดควรยอมรับด้วยตนเองว่าทำผิด ไม่ใช่ให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน เพราะหากปล่อยให้เป็นหน้าที่ของศาลหรือใครก็ตาม ไม่ช้าไม่นานสำนึกในความผิดชอบชั่วดีของเราก็จะปลาสนาการไป ถึงตอนนั้นเราจะยังมีความเป็นมนุษย์อยู่อีกหรือ

    อันที่จริงการขอโทษไม่จำเป็นต้องหมายถึงการยอมรับผิดเสมอไป เมื่อดารายอดนิยมเกิดตั้งครรภ์ก่อนแต่ง แม้เธอจะไม่เห็นว่านั่นเป็นความผิด แต่ก็สมควรที่เธอจะเอ่ยปากขอโทษที่ทำให้แฟน ๆ เจ็บปวดหรือผิดหวังในตัวเธอ คำขอโทษไม่ได้เกิดจากสำนึกในความผิดพลาดเท่านั้น หากยังเกิดจากความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในความทุกข์ของเขา และพร้อมรับผิดชอบในความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเพราะเรา

    การขอโทษไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงแต่เปิดใจรับรู้ความทุกข์ของผู้อื่น เมื่อนั้นความเห็นอกเห็นใจก็จะตามมา จิตใจของเราจะอ่อนโยนและพร้อมที่จะช่วยปลดเปลื้องเขาให้พ้นจากทุกข์ ถึงตอนนั้นคำขอโทษจะออกมาเองโดยแทบไม่ต้องพยายาม ด้วยการขอโทษ เราไม่เพียงลดทอนความเจ็บปวดของเขาเท่านั้น แต่ยังช่วยปลดเปลื้องทั้งเราและเขาให้พ้นจากวังวนแห่งความขัดแย้งและการเป็นปฏิปักษ์กัน

    มนุษย์เรายากที่จะหลีกเลี่ยงการทำร้ายกันได้ จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม การรู้จักขอโทษช่วยให้เราคืนดีและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยไม่ถืออำนาจเป็นใหญ่ บ้านเมืองจะมีความสุขมากกว่านี้หากผู้มีอำนาจรู้จักขอโทษผู้ด้อยอำนาจ พ่อแม่รู้จักขอโทษลูก เจ้านายรู้จักขอโทษลูกน้อง เจ้าอาวาสรู้จักขอโทษลูกวัด หมอรู้จักขอโทษคนไข้ และนายกรัฐมนตรีรู้จักขอโทษประชาชนกัน

    การขอโทษเป็นวิธีสร้างสันติที่สิ้นเปลืองน้อยที่สุด เพราะอาศัยถ้อยคำเพียงไม่กี่คำ เป็นเพราะเราไม่รู้จักขอโทษกัน จะเพราะกลัวเสียหน้าหรือเพราะอหังการก็ตาม เราจึงสูญเสียกันอย่างมากมาย ยิ่งใช้ความรุนแรงต่อกันทั้งโดยวาจาและการกระทำด้วยแล้ว ความสูญเสียก็ยิ่งทวีคูณ

    ไม่มีการขออะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าการขอโทษ เพราะเป็นการขอที่ไม่ได้ออกมาจากจิตที่เห็นแก่ตัว แต่มาจากจิตที่มีมโนธรรมสำนึก รู้สึกรู้สากับความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ และอ่อนน้อมถ่อมตน ไร้อหังการ เป็นการขอที่ไม่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกสูญเสียเลยแม้แต่น้อย

    คำขอโทษเป็นประดิษฐกรรมอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ ไม่ใช่เพราะมันทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์เท่านั้น หากยังเพราะช่วยให้มนุษย์คืนดีและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยไม่ใช้ความฉลาดที่ได้มาเพื่อการทำลายล้างกันเท่านั้น

    :- https://visalo.org/article/jitvivat254812.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...