เรื่องเด่น พระอรหันต์ มี 4 ประเภท จึงแสดงฤทธิ์ได้แตกต่างกัน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย นโมพุทธายะ๕, 14 มิถุนายน 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,801
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    9CJrRw9DkERyRaqZvgra-JJZkhJHM0j9l7a4i0IWyjWT6cevPNqOeh-h5QtG-l0766dcf6sx&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,801
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    พระมหากัปปินเถระ เอตทัคคมหาสาวกผู้โอวาทภิกษุ

    การที่ท่านพระมหากัปปินเถระ ท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดาให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้โอวาทภิกษุนั้นก็เนื่องด้วยเหตุ ๒ ประการคือ โดยอัตถุปปัตติเหตุ คือเหตุเกิดเรื่อง ด้วยพระมหาสาวกองค์นั้น ได้แสดงความสามารถออกมาให้ปรากฏในเรื่องการทำให้พระสมณะ ๑,๐๐๐ รูปดำรงอยู่ ในพระอรหัต ด้วยโอวาทเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และอีกเหตุหนึ่งก็คือเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้

    บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

    แม้พระเถระรูปนี้ ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้ว ในพระพุทธเจ้าพระ องค์ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้มากในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตระ ท่านได้บังเกิดในหังสวดีนคร บรรลุนิติภาวะแล้ว เป็นผู้พิพากษาอยู่ในพระนคร เมื่อกำลังฟังพระธรรมเทศนา ในสำนักของพระศาสดา ได้มองเห็นภิกษุรูปหนึ่ง ที่พระศาสดาทรงสถาปนา ไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าพวกภิกษุผู้กล่าวสอนภิกษุแล้ว เราได้ฟังแล้วเกิดปีติโสมนัส นิมนต์ พระตถาคตพร้อมด้วยศิษย์ ให้เสวยและฉันแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น

    ครั้งนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสว่า จงดูมหาอำมาตย์ผู้แกล้วกล้าในการตัดสิน หมอบอยู่แทบเท้าของเรา มีใจสูงด้วยปิติ มีวรรณะ นัยน์ตาและหน้าผ่องใส มีบริวารเป็นอันมาก ทำราชการ มียศใหญ่ มหาอำมาตย์นี้เขาปรารถนาตำแหน่งภิกษุ ผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ เพราะด้วยการบริจาคบิณฑบาตนี้ และด้วยการตั้งเจตน์จำนงไว้ เขาจักไม่เข้าถึงทุคติเลยตลอดแสนกัป จักเสวยความเป็นผู้มีโชคดีในหมู่ทวยเทพ และจักเสวยความเป็น ใหญ่ในหมู่มนุษย์

    ในแสนกัปแต่กัปนี้ พระศาสดามีพระนามชื่อว่าโคดม ทรงสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก มหาอำมาตย์นี้ จักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น จักเป็นสาวกของพระศาสดามีนามชื่อว่ากัปปินะ จักบรรลุถึงนิพพาน

    บุรพกรรมในสมัยว่างจากพระพุทธเจ้า

    เขาได้กระทำกุศลกรรมไว้ในมนุษยโลกนั้น จนตลอดชีวิตแล้วท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ได้มาบังเกิดในเรือนของท่านหัวหน้าช่างหูก ในหมู่บ้านช่างหูกแห่งหนึ่ง ในที่อันไม่ไกลจากกรุงสาวัตถีนัก

    พระปัจเจกพุทธเจ้าทูลขอหัตถกรรมทำเสนาสนะ

    ในคราวนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าประมาณ ๑,๐๐๐ องค์ อยู่ที่ภูเขาหิมวันต์ ๘ เดือน เวลาจะเข้าพรรษาก็มาอยู่ในชนบท ๔ เดือน พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ครั้งแรกก็ลงมาในที่อันไม่ไกลจากกรุงพาราณสีแล้ว ส่งพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์ ไปพบพระราชายังพระราชวังด้วยคำว่า พวกท่านจงขอหัตถกรรมเพื่อก่อสร้างเสนาสนะ ดังนี้ ก็ในคราวนั้นได้มีพระราชพิธีวัปปมงคล (พืชมงคล) พระราชา นั้นได้ทรงทราบว่านัยว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมา จึงเสด็จออกมาถาม ถึงเหตุที่ท่านพากันมาแล้ว ตรัสว่า ท่านผู้เจริญ วันนี้ไม่มีโอกาส พรุ่งนี้เป็น พระราชพิธีวัปปมงคลของโยม วันที่ ๓ โยมจักทำกิจให้ดังนี้แล้ว ไม่นิมนต์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย เสด็จเข้าไปแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายพากันหลีกไปด้วยกล่าวว่า พวกเราจักเข้าไปยังหมู่บ้านอื่น ดังนี้

    พวกบ้านช่างหูกทำบุญ

    ในสมัยนั้น ภริยาของหัวหน้าช่างหูก เดินทางไปยังกรุงพาราณสี ด้วยหน้าที่การงานบางอย่าง ได้พบพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นเข้า จึงเอ่ย ถามว่า

    พระคุณเจ้ามาในกาลอันมิใช่เวลาเพื่อต้องการอะไรเจ้าคะ

    พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นได้เล่าเรื่องแต่ต้นให้ฟังแล้ว หญิงผู้สมบูรณ์ด้วยศรัทธาถึง พร้อมด้วยปัญญา พอได้ฟังเรื่องนั้นแล้ว จึงกราบเรียนนิมนต์ว่า

    ท่านเจ้าขา พรุ่งนี้นิมนต์รับภิกษาของพวกดิฉันนะเจ้าคะ

    พระปัจเจกพุทธเจ้า กล่าวว่า โยมน้องหญิง พวกอาตมภาพมีด้วยกันมากองค์

    หญิงนั้นถามว่า มีกี่องค์พระคุณเจ้า

    พระปัจเจกพุทธเจ้าตอบว่า มีประมาณ ๑,๐๐๐ องค์น้องหญิง

    หญิงคนนั้น กราบเรียนว่า ท่านเจ้าขา ในหมู่บ้านของพวกดิฉันนี้ ก็มีคนอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ คนเช่นกัน คนคนหนึ่งจะถวายภิกษุแก่ภิกษุองค์หนึ่ง ขอนิมนต์ท่านจงรับภิกษาเถิด ดิฉันคนเดียว จักให้ช่างก่อสร้างที่อยู่สำหรับพระคุณเจ้าทั้งหลาย

    พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายรับนิมนต์แล้ว

    หญิงคนนั้น เข้าไปยังหมู่บ้านโฆษณาป่าวร้องว่า แม่พ่อทั้งหลายเอย ฉันได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าประมาณ ๑,๐๐๐ องค์ได้นิมนต์ท่านไว้แล้ว พวกท่านจงช่วยกันตระเตรียมที่สำหรับพระคุณเจ้าทั้งหลายด้วย และจงช่วยกันตระเตรียมข้าวยาคูและภัตรเป็นต้นด้วย

    ดังนี้แล้ว ให้คนช่วยกันก่อสร้างมณฑปในท่ามกลางหมู่บ้าน ให้ปูลาดอาสนะทั้งหลายไว้ พอถึงวันรุ่งขึ้น จึงนิมนต์ให้พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั่งแล้ว อังคาสด้วยขาทนียะโภชนียะอันประณีต ในเวลาเสร็จภัตรกิจ ได้พาผู้หญิงทั้งหมดในหมู่บ้านนั้นมา ได้ไหว้พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายพร้อมกับผู้หญิงเหล่านั้น นิมนต์ให้ท่านรับปฏิญญา เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดไตรมาสแล้ว จึงได้ป่าวร้องในหมู่บ้านอีกว่า

    แม่และพ่อทั้งหลาย บุรุษคนหนึ่งๆ จากตระกูลหนึ่งๆ (คัดเอาผู้ชายบ้านละคน) ให้ถือมีดและขวานเป็นต้น เข้าป่าไปนำทัพพสัมภาระมาแล้ว จงสร้างที่อยู่ ถวายสำหรับพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายเถิด

    พวกชาวบ้านได้ฟังคำของนางนั้น แล้ว แต่ละคนก็สร้างบรรณศาลาคนละหลัง ทำงานก่อสร้างทั้งคืนทั้งวัน จน บรรณศาลา ๑,๐๐๐ หลังเสร็จเรียบร้อยแล้ว กราบเรียนพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ซึ่งเข้าไปอยู่ในบรรณศาลาของตนของตนว่า เราจักบำรุงท่านโดยความเคารพ เราจักบำรุงท่านโดยความเคารพแล้ว จึงได้พากันบำรุง

    พอถึงเวลาออกพรรษาแล้ว ภริยาหัวหน้าช่างหูกคนนั้น จึงกล่าวว่า พวกท่านจงตระเตรียม ผ้าจีวรสาฎก ถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้อยู่จำพรรษาแล้ว ในบรรณศาลาของตนของตนเถิด แล้วช่วยตระเตรียมเสร็จแล้ว จึงได้ช่วยกันถวายผ้าจีวร มีค่า ๑,๐๐๐ แด่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ละ ๑ ผืน ออกพรรษาแล้วพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ทำอนุโมทนาแล้วก็หลีกไป

    แม้พวกชาวบ้านที่ทำบุญกรรม นี้แล้ว จุติจากอัตภาพนั้น ได้ไปบังเกิดในดาวดึงสเทวโลก ได้เป็นผู้ชื่อว่า คณเทวดา.เทวดาเหล่านั้น ได้เสวยทิพยสมบัติในดาวดึงสเทวโลกนั้นแล้ว

    บุรพกรรมในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

    ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ได้พากันมาบังเกิดในบ้านเรือนของพวกคหบดี หัวหน้าช่างหูกในกาลก่อน ได้มาเกิดเป็นลูกชายของหัวหน้าคหบดี แม้ภริยาของหัวหน้าช่างหูกในกาลก่อน ก็ได้มาเกิดเป็นลูกสาวของหัวหน้าคหบดีคนหนึ่ง พวกภริยาของช่างหูกที่เหลือในกาลก่อน ได้มาเกิดเป็นพวกลูกสาวของคหบดีที่เหลือทั้งหลาย หญิงเหล่านั้นทั้งหมดเมื่อเจริญวัยแล้ว เมื่อจะแต่งงานมีเหย้าเรือน ต่างก็แต่งงานกับคู่ของตนในกาลก่อน

    คหบดีถวายมหาทาน

    ภายหลังวันหนึ่ง เมื่อมีการป่าวประกาศให้ ไปฟังธรรมที่พระวิหาร พวกคหบดีเหล่านั้นทั้งหมดได้ทราบว่า พระศาสดาจักทรงแสดงธรรม จึงได้ไปยังพระวิหารพร้อมกับภริยาเพื่อฟังธรรม ในขณะที่คนเหล่านั้นเข้าไปยังท่ามกลางพระวิหาร ฝนก็ตกลงมา พวกคนที่รู้จักมักคุ้นกับพระหรือมีญาติที่เป็นสามเณรเป็นต้น ต่างก็เข้าไปยังที่พักของพระและสามเณรที่คุ้นเคยเป็นญาติกันเหล่านั้น เพื่อหลบฝน แต่คหบดีเหล่านั้น ไม่อาจจะเข้าไปในที่แห่งใดแห่งหนึ่งได้ เพราะไม่มีพระภิกษุสามเณรที่รู้จักหรือเป็นญาติเช่นนั้นเลย จึงได้ยืนอยู่กลางฝนนั้น

    หัวหน้าคหบดีเหล่านั้นกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย จงดูอาการอันน่าอับอายของพวกเรา ธรรมดา กุลบุตรทั้งหลาย ละอายด้วยเหตุเช่นนี้ ก็สมควรแล้ว

    พวกคหบดีจึงถามว่า พวกเราจะทำอย่างไรดีนาย

    หัวหน้าจึงพูดว่า พวกเราถึงซึ่งการอันน่าอายนี้ เพราะไม่มีที่อยู่สำหรับผู้คุ้นเคยกัน พวกเราทั้งหมดจักรวบรวมทรัพย์สร้างบริเวณ

    พวกคหบดีจึงพูดว่า ดีละนาย

    หัวหน้าคหบดีจึงได้ให้ทรัพย์พันหนึ่ง คนที่เหลือได้ให้ทรัพย์คนละห้าร้อย พวกผู้หญิงได้ให้ทรัพย์คนละสองร้อยห้าสิบ คหบดีเหล่านั้นนำทรัพย์นั้นมาแล้ว มอบให้ช่างสร้างปราสาท เรียงรายไป ๑,๐๐๐ หลัง ได้ชื่อว่าเป็นบริเวณกว้างขวางเพื่อเป็นที่ประทับสำหรับพระศาสดา เพราะค่าที่การก่อสร้างนั้นใหญ่ไป เมื่อทรัพย์ที่บริจาคไปนั้นไม่เพียงพอ จึงได้ช่วยกันออกให้อีกครึ่งหนึ่งของจำนวนทรัพย์ที่ได้บริจาคให้แล้วในครั้งก่อน เมื่อบริเวณสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว ก็ทำการฉลองพระวิหาร ได้ถวายมหาทานแต่ ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ตลอด ๗ วันแล้ว จัดแจงผ้าจีวรสำหรับ ภิกษุ ๒,๐๐๐ องค์

    ภรรยาของกุฎุมพีถวายดอกอังกาบ

    ส่วนภริยาของหัวหน้าคหบดี คิดว่า เราจักไม่ทำให้เสมอกับพวกเขา แต่จะทำให้ยิ่งไปกว่าพวกเขาคือ จักบูชาพระศาสดา ดังนี้แล้ว จึงถือเอาผอบบรรจุดอกอโนชา (ดอกอังกาบ) พร้อมกับผ้าสาฎก มีมูลค่า ๑,๐๐๐ ซึ่งมีสีดุจดอกอโนชาแล้ว เอาดอกอโนชาบูชาพระศาสดา วางผ้าสาฎกนั้นไว้ใกล้บาทมูลของพระศาสดา ได้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ขอให้สรีระของข้าพระองค์จงมีสีคล้ายดอกอโนชา ในที่ที่ ข้าพระองค์เกิดแล้วเกิดแล้วเถิด และจงมีชื่อว่า อโนชา ดังนี้เถิด พระศาสดา ได้ทรงกระทำอนุโมทนาด้วยพระดำรัสว่า จงสำเร็จดังปรารถนาเถิด คนเหล่านั้นแม้ทั้งหมดดำรงอยู่จนตลอดอายุแล้ว จุติจากอัตภาพนั้นได้ไปบังเกิด ในเทวโลก ท่องเที่ยวไปในเทวโลก และมนุษยโลก ตลอดพุทธันดรหนึ่ง

    กำเนิดเป็นพระเจ้ามหากัปปินะในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

    ในพุทธบาทกาลนี้ เทวดาเหล่านั้น จุติจากเทวโลกแล้ว ผู้เป็นหัวหน้าคหบดี ได้บังเกิดในราชตระกูลในกุกกุฏวดีนคร บรรลุนิติภาวะแล้ว ได้เป็นพระเจ้ามหากัปปินะ คนที่เหลือได้ไปบังเกิดในตระกูลอำมาตย์ทั้งหมด ภริยาของหัวหน้าคหบดีได้บังเกิดในราชตระกูล ในมัททรัฐสาคลนคร พระ นางได้มีพระสรีระงามมีสีดุจดอกอโนชาทีเดียว ด้วยเหตุนั้นพระชนกพระชนนี จึงได้ทรงขนานพระนามของพระนางว่า อโนชา นั่นแล พระนางทรงเจริญวัย แล้ว ก็อภิเษกเป็นพระมเหษีของพระเจ้ามหากัปปินะ ได้มีพระนามปรากฏว่า อโนชาเทวี

    พวกผู้หญิงที่เหลือ ก็ได้ไปบังเกิดในตระกูลพวกอำมาตย์ เมื่อเจริญวัย แล้ว ได้แต่งงานกับบุตรอำมาตย์เหล่านั้นแล คนเหล่านั้นทั้งหมด ก็ได้เสวยสมบัติเช่นกับสมบัติของพระราชา ในกาลใด พระเจ้าแผ่นดินทรงประดับด้วยเครื่องทรงอลังการพร้อมสรรพ เสด็จขึ้นหลังพญาช้างเที่ยวไป แม้ในกาลนั้น คนเหล่านั้นก็เที่ยวไปอย่างนั้นเหมือนกัน เมื่อพระราชาพระองค์นั้น เสด็จเที่ยวไปด้วยม้าหรือด้วยรถ ถึงพวกอำมาตย์เหล่านั้นก็เที่ยวไปอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะกำลังแห่งบุญเป็นอันมากที่ได้ทำไว้ร่วมกันอย่างนั้น พวกอำมาตย์เหล่านั้นจึงได้เสวยสมบัติอย่างเดียวกันกับพระราชาแล

    ก็พระราชามีม้า ๕ ตัวคือม้าชื่อว่า วาละ วาลวาหนะ ปุปผะ ปุปผวาหนะ และม้าชื่อว่า สุปัตตะ ในบรรดาม้า ๕ ตัวเหล่านั้น พระราชาย่อมทรงม้าชื่อว่าสุปัตตะด้วยพระองค์เอง ส่วนม้าอีก ๔ ตัวนอกนี้ได้พระราชทานแก่พวกคนขี่ม้าทั้งหลาย เพื่อใช้นำข่าวสารมา พระราชาให้พวกคนเหล่านั้นบริโภคแต่เช้าตรู่แล้ว ทรงส่งพวกเขาไปด้วยพระราชดำรัสว่า พวกท่านจงเที่ยวไปในระยะทาง ๒ โยชน์ หรือ ๓ โยชน์ แล้วสืบเสาะฟังว่า พระพุทธเจ้า พระธรรมหรือ ว่าพระสงฆ์ อุบัติขึ้นแล้ว จงนำข่าวมาบอกแก่เรา คนเหล่านั้นออกจากประตูทั้ง ๔ ทิศแล้ว เที่ยวไปได้ ๒ - ๓ โยชน์ ไม่ได้รับข่าวสาร อะไรๆ เลย จึงกลับมา

    พระราชาได้ข่าวพระรัตนตรัยจากพ่อค้า

    วันต่อมา พระราชาเสด็จขึ้นม้าสุปัตตะ ทรงมีอำมาตย์พันคนเป็นบริวาร กำลังเสด็จไปยังพระราชอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นพวกพ่อค้าประมาณ ๕๐๐ คน ผู้ซึ่งมีร่างกายอิดโรยเหนื่อยอ่อนกำลังเข้าไปยังพระนคร จึงทรงดำริว่า พวกพ่อค้าเหล่านี้ อิดโรเหนื่อยอ่อนเพราะเดินทางไกล เราจักได้ฟังข่าวสารอันเจริญอย่างหนึ่งจากสำนักของพวกพ่อค้าเหล่านี้เป็นแน่ จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้อำมาตย์ไปเรียกพวกพ่อค้าเหล่านั้นมาแล้ว ตรัส ถามว่า พวกเธอมาจากเมืองไหน

    พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมุติเทพ นครหนึ่งนามว่าสาวัตถีมีอยู่ไกลจากที่นี้ไปอีก ๒๐๐ โยชน์ พวกข้าพระองค์มาจากพระนครนั้น พระเจ้าข้า

    พระราชาตรัสถามว่า มีข่าวสาร อะไรเกิดขึ้นในประเทศถิ่นที่อยู่ของพวกเธอบ้างเล่า

    พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพข่าวสารอะไรอย่างอื่นไม่มี นอกจากข่าวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นเท่านั้น พระเจ้าข้า

    ในขณะนั้นนั่นเอง ด้วยมหาปีติที่บังเกิดจากข่าวที่ทรงได้ยินว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระราชาไม่ทรงอาจจะกำหนดอะไรๆ ได้ทรงนิ่งเงียบไปครู่หนึ่ง แล้วตรัสถามอีกว่า พูดอะไรนะพ่อคุณ

    พวกพ่อค้าก็กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วพระเจ้าข้า พระราชาทรงนิ่งเงียบไปครู่หนึ่ง แม้ ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ ก็เหมือนครั้งแรกนั่นแล แล้วตรัสถามเป็นครั้งที่ ๔ ว่า พูดอะไรนะพ่อคุณ

    เมื่อพวกพ่อค้ากราบทูลว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระเจ้าข้า

    จึงตรัสว่า พ่อค้า เพราะการที่ได้ฟังข่าวสารอันเป็นสุข เราจะ ให้ทรัพย์ ๑ แสนแก่พวกเธอ แล้วตรัสถามว่า ข่าวสารอะไรแม้ที่นอกเหนือ ไปกว่านี้ยังมีอีกไหมพ่อคุณ

    พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ มีพระธรรมอุบัติขึ้นแล้วพระเจ้าข้า พระราชาทรงสดับถ้อยคำแม้นั้นแล้ว ทรงนิ่งเงียบไปครู่หนึ่งตลอด ๓ วาระเหมือนนัยก่อนนั่นแล ในวาระที่ ๔ เมื่อพวกพ่อค้ากราบทูลว่า พระธรรมอุบัติขึ้นแล้ว ตรัสว่า แม้ในวาระนี้ เราก็จะให้ ทรัพย์ ๑ แสนแก่พวกเธอ แล้วตรัสถามว่า ข่าวสารอะไรแม้ที่นอกเหนือไปกว่านี้ ก็ยังมีอีกไหมพ่อคุณ

    พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ มีพระสงฆ์อุบัติขึ้นแล้ว พระราชาทรงสดับถ้อยคำแม้นั้นแล้ว ทรงนิ่งเงียบไปครู่ หนึ่งตลอด ๓ วาระเหมือนอย่างครั้งก่อนนั้นแล ในวาระที่ ๔ เมื่อพวกพ่อค้ากราบทูลว่า พระสงฆ์อุบัติขึ้นแล้ว

    ตรัสว่า แม้ในครั้งนี้เราจะให้ทรัพย์ ๑ แสน แก่พวกเธอ แล้วทรงทอดพระเนตรดูอำมาตย์พันคน ตรัสถามว่า พ่อคุณ พวกเราจักทำอย่างไร พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์จักทำอย่างไร พระราชาตรัสว่า พ่อคุณเราได้สดับว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระธรรมทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระสงฆ์ทรงอุบัติขึ้นแล้ว เราจักไม่หวนกลับไปอีก เราจักไปบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้าไปในสำนักของพระองค์ พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ แม้พวกข้าพระองค์ ก็จักบวชกับพระองค์

    พระราชาออกผนวชพร้อมกับอำมาตย์

    พระราชาทรงให้พวกอาลักษณ์จารึกพระอักษรลงในพระสุพรรณบัฏ พระราชทานแก่พวกพ่อค้าแล้วตรัสว่า พวกเธอจงมอบพระสุพรรณบัฏนี้แด่พระราชเทวีพระนามว่าอโนชา พระราชเทวีนั้นจักพระราชทานทรัพย์จำนวน ๓ แสนแก่พวกเธอ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้นพวกเธอพึงกราบทูลกะพระราชเทวีนั้นว่า ทราบว่าพระราชาทรงมอบราชสมบัติแด่พระองค์ ขอพระองค์จงเสวยสมบัติตามความสบายเถิด ก็ถ้าว่าพระนางตรัสถามว่า พระราชาของพวกท่านเสด็จไปที่ไหนเสีย พวกท่านพึงกราบทูลว่า พระราชาตรัสว่า เราจักบวชอุทิศพระศาสดา แล้วก็เสด็จไปแล้ว แม้พวกอำมาตย์ก็ส่งข่าวสารไปยังภรรยาของตนเช่นนั้นเหมือนกัน พระราชาทรงส่งพวกพ่อค้าไปแล้ว ก็เสด็จขึ้นม้า มีอำมาตย์พันคนติดตามแวดล้อม เสด็จออกไปในขณะนั้นเอง

    แม้พระศาสดา ในเวลาเช้ามืดวันนั้น ทรงตรวจดูสัตวโลก ได้ทอดพระเนตรเห็นพระเจ้ามหากัปปินะพร้อมด้วยบริวาร ทรงพระดำริว่า พระเจ้ามหากัปปินะพระองค์นี้ ได้ทรงทราบข่าวจากสำนักของพวกพ่อค้าว่า พระ รัตนตรัยอุบัติขึ้นแล้ว จึงทรงเอาทรัพย์ ๓ แสน บูชาถ้อยคำของพวกพ่อค้าเหล่านั้นแล้ว ทรงละพระราชสมบัติ ทรงมีอำมาตย์พันคนแวดล้อมแล้ว ทรงมีพระประสงค์จะบวชอุทิศเรา พรุ่งนี้จักเสด็จออก พระราชาพระองค์นั้นพร้อมทั้งบริวารจักได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ เราจักกระทำการต้อนรับ

    ดังนี้ ในวันรุ่งขึ้น เมื่อจะเสด็จไปต้อนรับพระราชาผู้แม้จะครอบครองบ้านเมืองเล็ก แต่ก็ทรงกระทำคล้ายกับว่าเสด็จไปต้อนรับพระเจ้าจักรพรรดิฉะนั้น พระองค์เอง ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จไปต้อนรับสิ้นระยะทาง ๑๒๐ โยชน์ ทรงประทับนั่งเปล่งพระพุทธรัศมีมีวรรณะ ๖ ประการ ณ ควงไม้นิโครธ ใกล้ กับฝั่งแม่น้ำจันทภาคา

    แม้พระราชาเสด็จมาถึงแม่น้ำสายหนึ่ง ก็ตรัสถามว่า แม่น้ำสายนี้ ชื่ออะไร

    พวกอำมาตย์ก็กราบทูลว่า แม่น้ำสายนี้ชื่อว่าปรัจฉา พระเจ้าข้า

    พระราชาตรัสถามว่า พ่อคุณ แม่น้ำสายนี้มีขนาดประมาณเท่าไร พวกอำมาตย์กราบทูลว่า แม่น้ำสายนี้ลึก ๑ คาวุต กว้าง ๒ คาวุต พระเจ้าข้า

    พระราชาตรัสถามว่า ก็ในที่นี้มีเรือหรือแพบ้างไหม

    พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ไม่มีพระเจ้าข้า

    พระราชาตรัสว่า เมื่อเรามัวห่วงถึงพาหนะมีเรือเป็นต้น ชาติ คือความเกิด ย่อมนำเข้าไปหาชราความแก่ และชราความแก่ย่อมนำเข้าไปหา มรณะความตาย เราเป็นผู้ไม่มีความสงสัย ออกเดินทางมาแล้ว ก็เพื่ออุทิศพระรัตนตรัย ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัยนั้น ขอน้ำนี้ จงอย่าได้เป็นเหมือนน้ำแก่เราเลย แล้วทรงระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ระลึกถึงพระพุทธ คุณว่า อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระ ภาคเจ้าผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

    ดังนี้ เมื่อพระราชาพร้อมด้วยบริวาร กับ ม้า ๑,๐๐๐ ตัว เสด็จไปบนหลังน้ำ ม้าสินธพทั้งหลายวิ่งไปบนหลังน้ำคล้าย กับว่าวิ่งไปบนหลังแผ่นหินดาดฉะนั้น ม้าทุกตัวเปียกแค่ปลายกีบเท่านั้น

    พระราชาพระองค์นั้น ทรงข้ามแม่น้ำนั้นแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปข้างหน้า ทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำอีกสายหนึ่ง ตรัสถามว่า แม่น้ำสายนี้ชื่อ อะไร

    พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ชื่อว่านีลวาหา พระเจ้าข้า

    พระราชาตรัสถาม ว่า แม่น้ำสายนี้มีขนาดประมาณเท่าไร

    พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ทั้งส่วนลึกทั้ง ส่วนกว้างมีขนาดประมาณครึ่งโยชน์พระเจ้าข้า

    พระราชาทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำนั้นแล้ว ก็ทรงอนุสรณ์ระลึกถึงพระธรรมคุณว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ดังนี้แล้วก็เสด็จไปได้

    พอเสด็จพระราช ดำเนินล่วงพ้นแม่น้ำนั้นไปแล้ว พระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำอื่นอีก ตรัสถามว่า แม่น้ำสายนี้ ชื่ออะไร

    พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ชื่อว่า จันทภาคา พระเจ้าข้า พระราชาตรัสถามว่า แม่น้ำสายนี้มีขนาดประมาณเท่าไร พวก อำมาตย์กราบทูลว่า ทั้งส่วนลึกทั้งส่วนกว้างมีขนาดโยชน์หนึ่งพอดีพระเจ้าข้า

    พระราชาได้ทอด พระเนตรเห็นแม่น้ำนั้นแล้ว ก็ทรงอนุสรณ์ระลึกถึงพระสังฆคุณว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติดีแล้ว ดังนี้ แล้วเสด็จไปได้ พอเสด็จพระราชดำเนินล่วงพ้นแม่น้ำแม้นั้นไปได้

    พระราชาและอำมาตย์ได้บรรลุคุณวิเศษ

    พระราชา ได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรัศมีพรรณะ ๖ ประการ แผ่ซ่านออกจากพระสรีระของพระศาสดา สว่างไสวรอดออกจากกิ่งค่าคบและใบของต้นนิโครธ แล้ว ทรงพระดำริว่า แสงสว่างนี้ มิใช่แสงสว่างของพระจันทร์ มิใช่แสงสว่างของพระอาทิตย์ มิใช่แสงสว่างของเทวดา มาร พรหม ครุฑ และนาค อย่างใดอย่างหนึ่งเลย เราเดินทางมาเพื่ออุทิศพระศาสดา เห็นทีจักได้พบเห็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเป็นแน่

    ในบัดดลนั้นเองพระราชาองค์นั้น ก็เสด็จลงจากหลังม้า น้อมพระสรีระเข้าไปเฝ้าพระศาสดาตามแนวแสงแห่งพระ รัศมี ได้เสด็จเข้าไปภายในพระพุทธรัศมี พระราชาองค์นั้น ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ก็ประทับนั่ง ณ สถานที่ อันสมควรข้างหน้าพร้อมกับอำมาตย์พันคน พระศาสดา ตรัสอนุปุพพีกถา แก่คนเหล่านั้น พอจบพระธรรมเทศนา พระราชาพร้อมกับบริวารก็ดำรงอยู่ ในโสดาปัตติผล

    ลำดับนั้น ชนทั้งหมดลุกขึ้นแล้ว ทูลขอบวช พระศาสดาทรงพิจารณาว่า บาตรและจีวรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์ จักมาบังเกิดแก่กุลบุตรเหล่านี้หรือไม่หนอ ก็ทรงทราบว่า กุลบุตรเหล่านี้ได้เคยถวายจีวรพันผืนแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าพันองค์ ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ได้ถวายจีวร สองหมื่นผืน แด่ภิกษุสองหมื่นองค์ การมาแห่งบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ จึงไม่เป็นเหตุอัศจรรย์แก่กุลบุตรเหล่านี้เลย

    ดังนี้แล้ว ทรงเหยียดพระหัตถ์ขวาตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเกิด จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด ในขณะนั้นเอง ภิกษุเหล่านั้นก็ได้ทรงบริขาร ๘ เป็นคล้ายดังพระเถระที่มีพรรษาตั้ง ๖๐ พรรษาฉะนั้น ภิกษุเหล่านั้นเหาะขึ้นสู่เวหาส แล้ว ก็กลับลงมาถวายบังคมพระศาสดาแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรด้านหนึ่ง

    พระนางอโนชาเทวีเสด็จออกผนวช

    ฝ่ายพวกพ่อค้าเหล่านั้น เดินทางไปยังกรุงราชคฤห์แล้ว กราบทูล ข่าวสารที่พระราชาส่งไปถวายแต่พระเทวีให้ทรงทราบ เมื่อพระราชเทวี ตรัสว่า จงเข้ามา จึงเข้าไปยืน ณ ที่สมควรด้านหนึ่ง ทีนั้นพระราชเทวีจึง ตรัสถามพวกพ่อค้าเหล่านั้นว่า พ่อคุณ เพราะเหตุไรจึงเดินมาทางนี่

    พวกพ่อค้าจึงกราบทูลว่า พระราชาทรงส่งพวกข้าพระพุทธเจ้ามาเฝ้าพระองค์ นัยว่า พระองค์จะพระราชทานทรัพย์ ๓ แสน แก่พวกข้าพระองค์

    พระราชเทวี ตรัสว่า พนาย ! พวกท่านพูดมากไปแล้ว พวกท่านทำประโยชน์อะไรในสำนักของพระราชา พระราชาทรงเลื่อมใสในเรื่องอะไร จึงรับสั่งให้พระราชทานทรัพย์ถึงเพียงนี้ แก่พวกท่าน

    พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระราชเทวี พวกข้าพระองค์มิได้กระทำเรื่องอะไรอย่างอื่นเลย เพียงแต่แจ้งข่าวสารอย่าง หนึ่งให้ทรงทราบเท่านั้น

    พระราชเทวีตรัสถามว่า พ่อคุณ อาจพอที่จะบอกข่าวสารนั้นแม้แก่เราบ้างได้หรือ

    พวกพ่อค้ากราบทูลว่า อาจ พระเจ้าข้า แต่พวกข้าพระบาทไม่อาจกราบทูลข่าวนี้ ด้วยทั้งปากที่ไม่สะอาด พระเจ้าข้า แล้วบ้วนปากด้วยสุวรรณภิงคาร กราบทูลว่า ข้าแต่พระราชเทวี พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก

    แม้พระราชเทวี พระองค์นั้น พอได้สดับคำนั้น แล้ว เป็นผู้มีพระเสรีระอันปีติถูกต้องแล้วไม่อาจจะกำหนดอะไรๆ ได้ถึง ๓ ครั้ง ในครั้งที่ ๔ ได้ทรงสดับว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว จึงตรัสว่า พ่อคุณในเพราะบทนี้ พระราชาทรงพระราชทานทรัพย์ให้พ่อเท่าไร

    พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ๑ แสนพระเจ้าข้า

    พระราชเทวีตรัสว่า พ่อคุณ พระราชา พระราชทานทรัพย์ ๑ แสนแก่พวกท่าน เพราะได้สดับข่าวสารถึงขนาดนี้ นับว่าทรงกระทำไม่สมควรเลย เราจะให้ทรัพย์ ๓ แสน ในเพราะบรรณาการอันยากแค้นของเรา แก่พวกท่าน พวกท่านได้กราบทูลเรื่องอะไรอย่างอื่น อีกหรือไม่

    พวกพ่อค้าเหล่านั้น กราบทูลถึงข่าวสาร ๒ อย่างแม้นอกนี้ให้ ทรงทราบว่า เรื่องนี้ และเรื่องนี้ พระราชเทวี ไม่อาจกำหนดอะไรๆ ได้ตลอด ๓ วาระ เหมือนกับนัยที่กล่าวแล้วในตอนแรกนั่นแล ทุกๆ ครั้งที่ ๔ ได้พระราชทานทรัพย์ครั้งละ ๓ แสน รวมความว่า พวกพ่อค้าเหล่านั้น ได้รับทรัพย์ทั้งหมดไปถึง ๑๒ แสน

    ลำดับนั้น พระราชเทวีจึงตรัสถามพวกพ่อค้าเหล่านั้นว่า พ่อคุณ พระราชาเสด็จไปที่ไหนเล่า

    พวกพ่อค้าจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระเทวี พระราชา ตรัสว่า เราจักบวชอุทิศพระศาสดาแล้วก็เสด็จไป

    พระราชเทวี ตรัสถามว่า ข่าวสารอะไรที่พระราชาพระองค์นั้น ได้มอบแก่เรามีไหม

    พวกพ่อค้ากราบ ทูลว่า นัยว่าทรงสละมอบความเป็นใหญ่ทั้งหมดแด่พระองค์ นัยว่าพระองค์จึงเสวยสมบัติตามความสุขสำราญเกิด

    พระราชเทวี ตรัสถามว่า พวก อำมาตย์ไปไหนเสียเล่าพ่อคุณ

    พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระราชเทวี แม้พวกอำมาตย์เหล่านั้นก็พูดว่า พวกเราจักบวชกับพระราชาแล้วไปแล้ว

    พระราชเทวีพระองค์นั้น จึงรับสั่งเรียกหาพวกภรรยาของอำมาตย์เหล่านั้นมาแล้ว ตรัสว่า แม่คุณ สามีของพวกเจ้าสั่งไว้ว่า พวกเราจักบวชกับพระราชา แล้วก็พากันไปแล้ว พวกเจ้าจักทำอะไร

    พวกภรรยาของอำมาตย์เหล่านั้นจึงทูลถามว่า ข้าแต่พระราชเทวี ข่าวสารอะไร ที่พวกสามีส่งฝากมาถึงพวกหม่อมฉัน

    พระราชเทวีตรัสว่า ได้ทราบว่า พวกอำมาตย์เหล่านั้นได้สละมอบสมบัติของตนแก่พวกเธอ ได้ทราบว่า พวกเธอจงบริโภคสมบัติตามสบายเถิด

    พวกภรรยาของอำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลถามว่า ข้าแต่พระราชเทวี พวกเราจักกระทำอย่างไรดีเล่า

    พระราชเทวีตรัสว่า เบื้องแรก พระราชาของพวกเรา พระองค์นั้นดำรงอยู่ในหนทาง เอาทรัพย์ ๓ แสนบูชาพระรัตนตรัยแล้ว ลงพระราชสมบัติที่คล้ายกับก้อนเขฬะ ออกไปได้ด้วยตั้งพระราชหฤทัยว่า เราจักบวช แม้เราได้สดับข่าวสารของพระรัตนตรัย ก็นำเอาทรัพย์ ๙ แสน บูชาพระรัตนตรัยนั้นแล้ว ก็ขึ้นชื่อว่าสมบัตินั้น มิใช่จะเป็นทุกข์แด่พระราชา อย่างเดียวเท่านั้น ย่อมเป็นทุกข์แม้แก่เราเหมือนกัน ใครจักคุกเข่าลงที่พื้นดิน แล้วอ้าปากรับก้อนเขฬะที่พระราชาถ่มแล้วเล่า เราไม่มีความต้องการสมบัติ เราจักบวชอุทิศพระศาสดา

    พวกภรรยาของพวกอำมาตย์เหล่านั้น กราบทูลว่า ข้าแต่พระราชเทวี ถึงพวกข้าพระองค์ ก็จักบวชพร้อมพระองค์

    พระราชเทวีตรัสว่า ถ้าพวกเจ้าอาจสามารถ ก็นับว่าเป็นการดี

    พวกภรรยาของพวกอำมาตย์เหล่านั้น กราบทูลว่า พวกข้าพระองค์ อาจสามารถ พระเจ้าข้า

    พระราชเทวีตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นพวกเจ้าจงมา

    แล้วรับสั่งให้ตระเตรียมรถ พันคันเสร็จแล้วก็เสด็จขึ้นรถ เสด็จออกไปพร้อมกับพวกภรรยาของอำมาตย์ เหล่านั้น ในระหว่างทางได้ทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำสายแรก ได้ตรัสถาม เหมือนอย่างที่พระราชาตรัสถามครั้งแรกเช่นกัน ได้ทรงสดับความเป็นไปทั้งหมดแล้ว จึงตรัสว่า พวกเธอจงแลดูหนทางที่พระราชาเสด็จไปแล้วซิ

    เมื่อพวกภรรยาของอำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลว่า พวกหม่อมฉันมองไม่เห็นรอยเท้าของม้าสินธพเลย แล้วตรัสว่า พระราชาทรงกระทำสัจกิริยาว่า เราเป็นผู้ออกไปเพื่ออุทิศพระรัตนตรัยแล้ว ทรงระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย จึงจักเสด็จไปแล้ว แม้เราออกมา ก็เพื่ออุทิศพระรัตนตรัย ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัย รถพันคันก็แล่นไปได้ แม่น้ำได้เป็นเช่นกับแผ่นหินดาด รถทุกคันเปียกเพียงแค่ขอบล้อเท่านั้นแล แม่น้ำอีก ๒ สายนอกนี้พระนางและ ทุกคนก็ได้ข้ามไปแล้ว ด้วยอุบายวิธีนี้นั่นแล

    พระนางอโนชาเทวี และบริวารได้บรรลุโสดาปัตติผล

    พระศาสดา ได้ทรงทราบว่าหญิงเหล่านั้นมาแล้ว ก็ทรงดำริว่า สตรีเหล่านี้เห็นสามีของตน เกิดฉันทราคะ ก็จะพึงทำอันตรายต่อมรรคผล ทั้งไม่อาจฟังธรรมได้ จึงทรงอธิษฐาน โดยวิธีการที่พวกเขาจะไม่เห็นกันและกันได้ แม้พระราชเทวีกำลังเสด็จมา ได้ทอดพระเนตรเห็นพระรัศมี ซึ่งแผ่ซ่านออกจากพระสรีระของพระศาสดาแล้ว ก็ได้ทรงจินตนาการเช่นเดียวกับพระเจ้ามหากัปปินะเหมือนกัน แล้วเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวาย บังคมประทับยืนอยู่ ณ สถานที่อันสมควรข้างหนึ่งแล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้ามหากัปปินะ เสด็จออกเพื่ออุทิศองค์ (บัดนี้) พระเจ้ามหากัปปินะพระองค์นั้น ประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ขอพระองค์จงแสดง พระราชาพระองค์นั้นให้ปรากฏแกพวกหม่อมฉันเถิดพระเจ้าข้า

    พระศาสดา ตรัสว่า เชิญพวกเธอนั่งก่อนเถอะ พวกเธอจักได้พบเห็นพระราชาพระองค์ นั้นในที่นี้แหละ

    หญิงเหล่านั้นแม้ทั้งหมดร่าเริงดีใจพูดกันว่า นัยว่าพวกเรา นั่งแล้วในที่นี้แหละ จักได้พบเห็นพวกสามีของพวกเราแน่ ดังนี้ จึงนั่งแล้ว

    พระศาสดาได้ตรัสแสดงอนุปุพพีกถา แก่หญิงทั้งหมด ในเวลาจบเทศนา พระนางอโนชาเทวี ได้บรรลุโสดาปัตติผลพร้อมกับหญิงเหล่านั้น

    พระมหากัปปินะเถระพร้อมด้วยพระบริวาร ได้สดับพระธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรง แสดงแก่หญิงเหล่านั้นแล้ว ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔

    ในขณะนั้น พระศาสดาได้ทรงแสดงให้หญิงเหล่านั้นเห็นภิกษุเหล่านั้นได้ เมื่อหญิงเหล่านั้นได้เห็นภิกษุเหล่านั้นแล้ว ก็ได้กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วเรียนว่า ท่านผู้เจริญ กิจแห่งบรรพชิตของ ท่านถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นแล้ว ถวายบังคมพระศาสดา ยืน ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง แล้วได้ทูลขอบรรพชา

    ในขณะที่หญิงเหล่านั้น กล่าวคำขอบรรพชาอย่างนี้พระศาสดา ได้ทรงดำริถึงการมาของนางอุบลวรรณเถรี ในบัดดลที่พระศาสดาทรงดำริ แล้วเท่านั้น นางอุบลวรรณเถรีนั้น ก็เหาะมาโดยทางอากาศ รับเอาหญิงเหล่านั้นทั้งหมดนำไปยังสำนักภิกษุณีโดยทางอากาศแล้ว จึงให้บรรพชา ไม่นานเท่าไรนักหญิงเหล่านั้นทั้งหมด ก็ได้บรรลุพระอรหัต พระศาสดาได้ทรงพาภิกษุพันรูปไปยังพระเชตวันวิหารโดยทางอากาศ

    พระเถระเปล่งอุทานปรารภความสุข

    ครั้งนั้น ท่านพระมหากัปปินะเถระ บรรลุพระอรหัตผลแล้ว รู้ว่ากิจตนถึงที่สุดแล้ว ก็เป็นผู้ขวนขวายน้อย ทำเวลาให้ล่วงไปด้วยสุขในผลสมาบัติ อยู่ป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่เรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า อโห สุขํ อโห สุขํ (โอ สุขจริง โอ สุขจริง) ภิกษุทั้งหลายเกิดพูดกันขึ้นว่า ท่านพระกัปปินเถระ ระลึกถึงสุขในราชสมบัติ จึงเปล่งอุทานเช่นนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงพากันไปกราบทูลพระตถาคต ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระมหากัปปินะ เที่ยวเปล่งอุทานว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’ ท่านเห็น จะกล่าวปรารภความสุขในราชสมบัติของตน

    พระศาสดารับสั่งให้เรียกพระมหากัปปินะนั้นมาแล้ว ตรัสถามท่านว่า “กัปปินะ ได้ยินว่า เธอเปล่งอุทานปรารภสุขในกาม สุขในราชสมบัติ จริงหรือ?”

    พระมหากัปปินะทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงทราบ การเปล่งหรือไม่เปล่งปรารภกามสุขและรัชสุขนั้นของข้าพระองค์”

    พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราย่อมเปล่งอุทาน ปรารภสุขในกาม สุขในราชสมบัติหามิได้ ก็แต่ว่า ความเอิบอิ่มใน ธรรม ย่อมเกิดขึ้นแก่บุตรของเรา บุตรของเรานั้นย่อมเปล่งอุทาน อย่างนั้น เพราะปรารภอมตมหานิพพาน” ดังนี้แล้วเมื่อจะทรงสืบอนุสนธิ แสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า:

    “บุคคลผู้เอิบอิ่มในธรรม มีใจผ่องใส ย่อมอยู่เป็นสุข

    บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมที่พระอริยเจ้าประกาศแล้วทุกเมื่อ”

    พระเถระดำริจะไม่ทำอุโบสถ

    ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระมหากัปปินะพักอยู่ ณ มัททกุจฉิมฤคทายวัน เขต พระนครราชคฤห์ คราวหนึ่ง ท่านไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้น อย่างนี้ว่า เราควรไปทำอุโบสถ หรือไม่ควรไป ควรไปทำสังฆกรรม หรือไม่ควรไป โดยที่แท้ เราเป็นผู้หมดจดแล้วด้วยความหมดจดอย่างยิ่ง

    ทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของท่านพระมหากัปปินะด้วยพระทัยของพระองค์ แล้วได้ทรงหายพระองค์ไปในคิชฌกูฏบรรพต มาปรากฏอยู่ตรงหน้าท่านพระมหากัปปินะ ณ มัททกุจฉิมฤคทายวัน แล้วพระองค์ประทับนั่งเหนือพุทธอาสนะที่เขาจัด ถวาย ฝ่ายท่านพระมหากัปปินะถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสคำนี้กะท่านพระมหากัปปินะผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า ดูกร กัปปินะ เธอไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เราควรไปทำ อุโบสถ หรือไม่ควรไป ควรไปทำสังฆกรรม หรือไม่ควรไป โดยที่แท้ เราเป็นผู้หมดจดแล้ว ด้วยความหมดจดอย่างยิ่ง ดังนี้มิใช่หรือ?

    ท่านพระมหากัปปินะทูลรับว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ทั้งหลาย ถ้าพวกเธอไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่ นับถือ ไม่บูชา ซึ่งอุโบสถ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ซึ่งอุโบสถ ดูกรพราหมณ์ เธอจงไปทำอุโบสถ จะไม่ไปไม่ได้ จงไปทำสังฆกรรม จะไม่ไปไม่ได้

    ท่านพระมหากัปปินะรับสนองพระพุทธพจน์ว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ท่านพระมหากัปปินะเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วได้ทรงหายพระองค์ไปในที่ตรงหน้าท่านพระมหากัปปินะ ณ มัททกุจฉิ มฤคทายวัน มาปรากฏ ณ คิชฌกูฏบรรพต โดยรวดเร็ว เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขน ที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น

    ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

    ต่อมาวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพวกภิกษุทั้งพันรูป ผู้เป็นอันเตวาสิกของท่านมหากัปปินะนั้นว่า ภิกษุทั้งหลาย กัปปินะ อาจารย์ของเธอแสดงธรรมแก่ภิกษุ ทั้งหลายบ้างไหม? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า อาจารย์ของข้าพระองค์มิได้แสดงธรรมเลย ท่านเป็นผู้ขวนขวายน้อย ประกอบความเพียรอยู่ด้วยความสุขในทิฏฐธรรมอยู่ ไม่ยอมให้แม้เพียงแต่โอวาทแก่ ใคร ๆ ดังนี้

    พระศาสดา จึงทรงให้เรียกหาพระเถระมาแล้ว ตรัสถามว่า กัปปินะ ได้ยินว่า เธอ ไม่ยอมให้แม้เพียงโอวาทแก่พวกอันเตวาสิก จริงหรือ? พระเถระกราบทูล ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า จริง พระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ เธออย่าทำอย่างนั้น ตั้งแต่วันนี้ไป เธอจงแสดงธรรมแก่ พวกภิกษุผู้เข้าไปหาแล้ว พระเถระรับพระดำรัสพระศาสดา ด้วย เศียรเกล้าว่า ดีละ พระพุทธเจ้า จากนั้นท่านจึงทำให้พระสมณะ ๑,๐๐๐ รูปดำรงอยู่ ในพระอรหัต ด้วยโอวาทเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนั้น พระ ศาสดาเมื่อจะตั้งตำแหน่งพระเถระผู้สาวกของพระองค์ ตามลำดับ จึงทรง ตั้งเธอไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุผู้กล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย

    พระเถระร่วมโปรดนางเปรตผู้เป็นอดีตมารดาพระสารีบุตร

    วันหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระอนุรุทธะ และท่านพระกัปปินะ ได้อยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง ไม่ไกลแต่กรุงราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ในกรุงพาราณสี มีพราหมณ์คนหนึ่ง เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก เป็นดุจบ่อที่ดื่มกินของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจก ได้ให้สิ่งของมีข้าว น้ำ ผ้า และที่นอนเป็นต้น และเมื่อจะให้ ย่อมปฏิบัติตามความพอใจทุกอย่าง ตามลำดับของการให้มีน้ำล้างเท้า และ ผ้าเช็ดเท้าเป็นต้น ตามเวลาและตามความเหมาะสมแก่คนผู้มาถึง แล้ว ๆ ในเวลาก่อนอาหารได้อังคาสภิกษุทั้งหลายด้วยข้าวและ น้ำเป็นต้น โดยเคารพ

    วันหนึ่งเมื่อพราหมณ์นั้นจะไปธุระยังถิ่นอื่นจึงกล่าวกะภรรยาว่า นางผู้เจริญ เธอจงทำทานตามวิธีที่เราเคยทำ อย่าทำให้ทานนั้นเสื่อมเสีย จงหมั่นดำรงไว้โดยเคารพ ภรรยารับคำแล้ว พอสามีหลีกไปเท่านั้น ก็เลิกวิธีที่พราหมณ์นั้นเคยทำเพื่อภิกษุทั้งหลาย เป็นอันดับแรก แต่เมื่อคนเดินทางเข้าไปเพื่ออยู่อาศัย ก็แสดงศาลาที่เก่าที่ทอดทิ้ง ไว้หลังเรือนด้วยคำว่า พวกท่านจงอยู่ที่ศาลานี้ เมื่อคนเดินทาง มาในที่นั้นเพื่อต้องการข้าวและน้ำเป็นต้น ก็กล่าวว่า จงกินคูถ ดื่มมูตร ดื่มโลหิต กินมันสมองของมารดาท่าน แล้วจึงระบุชื่อ ของสิ่งที่ไม่สะอาด น่าเกลียด แล้วถ่มน้ำลาย

    สมัยต่อมา เมื่อนางสิ้นชีวิตแล้ว ด้วยผลกรรมที่ทำไว้ ก็ไปบังเกิดเป็นเปรต เสวยทุกข์อันเหมาะสมแก่วจีทุจริตของตน นางเปรตนั้นเมื่อหวนระลึกถึงความสัมพันธ์กันในชาติก่อน มีความประสงค์จะมายังสำนักของท่านพระสารีบุตร จึงมาถึงประตูวิหาร เทวดาผู้สิงอยู่ที่ประตูวิหารของท่านพระสารีบุตรนั้น จึงได้ห้ามนางเข้าวิหาร ด้วยความที่นางเปรตนั้นได้เคยเป็นมารดาของพระเถระ ในชาติที่ ๕ แต่ปัจจุบันชาตินี้ เพราะฉะนั้น นางจึงกล่าวว่า ดิฉันเป็นมารดาของ พระผู้เป็นเจ้าสารีบุตรเถระ ในชาติที่ ๕ แต่ปัจจุบันชาติ ขอท่านจงให้ดิฉันเข้าประตูเพื่อเยี่ยมพระเถระเถิด เทวดาได้ฟังดังนั้นจึงอนุญาตให้นางเข้าไป นางครั้นเข้าไปแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สุดที่จงกรม แล้วแสดงตนแก่พระเถระ พระเถระครั้นได้เห็นนางเปรตนั้น จึงถามด้วยใจอันความกรุณา

    ท่านเป็นผู้เปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียดซูบผอม มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ดูก่อนนางผู้ซูบผอม มีแต่ซี่โครง ท่านเป็นใครหรือ จึงมายืนอยู่ในที่นี้

    นางเปรตนั้นเมื่อพระเถระถาม จึงได้กล่าวว่า

    เมื่อก่อนดิฉันเป็นมารดาของท่าน ในชาติก่อน ๆ ดิฉันเข้าถึงเปตวิสัย เพียบพร้อมไปด้วยความหิว และความกระหาย เมื่อถูกความหิวครอบงำ ย่อมกินน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ ที่เขาถ่มทิ้ง และกินมันเหลวของซากศพ ที่เขาเผาที่เชิงตะกอน กินโลหิตของพวกหญิงที่คลอดบุตร และโลหิตของพวกบุรุษที่ถูกตัดมือ เท้า และศีรษะที่เป็นแผล กินเนื้อ เอ็น และข้อมือข้อเท้าเป็นต้นของชายหญิง กินหนองและเลือดของปศุสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ไม่มีที่เร้น ไม่มีที่อยู่อาศัยนอนบนเตียงของคนตายที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ลูกเอ๋ย ขอลูกจงให้ทานแล้วอุทิศส่วนบุญแก่เราบ้างไฉนหนอแม่จึงจะพ้นจากการกินหนองและเลือด

    ท่านพระสารีบุตรเถระ ได้สดับดังนั้นแล้ว ในวันที่สอง จึงเรียกพระเถระ ๓ รูป มีท่านพระมหาโมคคัลลานะเถระ ท่านพระอนุรุทธะและท่านพระกัปปินะมา ท่านพร้อมด้วยพระเถระเหล่านั้นเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ได้ไปถึงพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร พระราชาเห็นพระเถระแล้ว จึงถามถึงเหตุแห่งการมา ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงได้ทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา พระราชารับสั่งให้เรียก อำมาตย์แล้วทรงพระบัญชาว่า ท่านจงสร้างกุฎี ๔ หลังในที่นี้อันสมบูรณ์ด้วยร่มเงาและน้ำ อันวิจิตร ไม่ไกลแต่เมือง เมื่อกุฎีสำเร็จแล้ว จึงให้ตระเตรียมพลีกรรมทั้งหมด เข้าไปตั้งข้าวน้ำและผ้าเป็นต้น และเครื่องบริขารทุกอย่างที่สมควรแก่ภิกษุสงฆ์ที่มาจากทิศ ทั้ง ๔ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วมอบถวายสิ่งทั้งหมดนั้น แด่พระสารีบุตรเถระ

    ลำดับนั้น พระเถระได้ถวายสิ่งทั้งหมดนั้น แด่ภิกษุสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน อุทิศแก่นางเปรตนั้น นางเปรตนั้น ได้อนุโมทนาส่วนบุญนั้นแล้ว บังเกิดในเทวโลก เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง ในวันต่อมา ก็ได้เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ ไหว้แล้ว ยืนอยู่ พระเถระสอบถามนางเปรตนั้น นางเปรตนั้น ได้แจ้ง เหตุที่ตนเข้าถึงความเป็นเปรต และเข้าถึงความเป็นเทวดาแก่ท่านพระมหาโมคคัลลานะ

    ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเถระ ได้กราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกระทำเรื่องนั้น ให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุแล้ว ทรงแสดงธรรมแก่บริษัทผู้เข้าถึง พร้อมแล้ว เทศนานั้นได้มีประโยชน์แก่มหาชน ฉะนั้นแล

    พระพุทธองค์ทรงแสดงพระเถระเป็นตัวอย่าง

    พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้น ท่านพระมหากัปปินะ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกาย ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านมหากัปปินะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกาย ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ครั้นแล้วได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย เห็นความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายของภิกษุนั้นหรือหนอ?

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลาใดข้าพระองค์ทั้งหลาย เห็นท่านผู้มีอายุนั้นนั่งอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ หรือนั่งในที่ลับรูปเดียว ในเวลานั้น ข้าพระองค์ทั้ง หลายมิได้เห็นความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายของท่านผู้มีอายุนั้นเลย

    พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสมาธิใด ภิกษุนั้นได้สมาธินั้นตามความปรารถนาได้ โดยไม่ยากไม่ลำบาก

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความ หวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี เพราะได้เจริญ กระทำให้มากซึ่งสมาธิ เป็น ไฉน? เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอานาปานสติสมาธิ

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้ มากแล้วอย่างไร ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่ง จิตก็ดี ย่อมไม่มี? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้ บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า .............ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อ อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ความไหวหรือความเอนเอียง แห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี.

    พระผู้มีพระภาคสรรเสริญพระเถระ

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัปปินะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯ

    พระผู้มีพระภาค ได้ทอดพระเนตรเห็น ท่านพระมหากัปปินะผู้มาแต่ไกล แล้วจึงเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นภิกษุที่กำลังมานั่นหรือไม่ เป็นผู้ขาวโปร่ง จมูกโด่ง ฯ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็น พระเจ้าข้า ฯ

    พระผู้มีพระภาค. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั่นแลมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก แต่เธอไม่ได้สมาบัติที่เธอไม่เคยเข้าง่ายนัก เธอกระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตรทั้งหลาย ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ฯ

    พระผู้มีพระภาค ผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปซึ่งต่อมาได้นำมาแปลงเป็นบทสวดชื่อว่า พุทธมงคลคาถา ดังนี้

    พุทฺธมงฺคลคาถา
    (สรภัญญะ)
    ๏ ทิวา ต|ปติ อา|ทิจฺโจ
    ๏ พระอาทิตย์แผดแสงในกลางวัน
    รตฺ|ติมาภา|ติ จนฺทิมา
    พระจันทร์สว่างในกลางคืน
    สนฺ|นทฺโธ ขตฺ|ติโย ตปติ
    กษัตริย์ทรงเครื่องรบย่อมงามสง่า
    ฌายี ต|ปติ พฺราหฺ|มโณ
    พราหมณ์ผู้เพ่งฌานย่อมรุ่งเรือง
    อถ สพฺ|พมโห|รตฺตึ
    ส่วนพระพุทธเจ้าไพโรจน์ด้วยพระเดช
    พุทฺโธ ต|ปติ เต|ชสา ฯ
    ตลอดกลางวันและกลางคืน
    เอเต|น สจฺ|จวชฺเชน
    ด้วยการกล่าวความสัตย์นี้
    สุวตฺ|ถิ โห|ตุ สพฺ|พทา
    ขอความสวัสดีจงมีทุกเมื่อ
    พระพุทธองค์และพระอรหันต์ ๔ ทิศ ทรมาน พกพรหม

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พรหมองค์หนึ่ง ชื่อพกพรหม เกิดทิฏฐิคือความเห็นผิดว่า สมณะหรือพราหมณ์ ที่จะมาในพรหมโลกนี้ได้ไม่มีเลย

    พรหมนี้อุปบัติครั้งเมื่อยังไม่มีพระพุทธเจ้า บวชเป็นฤาษี กระทำกสิณบริกรรมและทำ สมาบัติให้เกิด ไม่เสื่อมฌาน ทำกาละแล้ว บังเกิดในพรหมโลกชั้นเวหัปผลาใน ภูมิจตุตถฌาน มีอายุอยู่ ๕๐๐ กัป เขาดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นเวหัปผลาใน ตลอดอายุขัย ช่วงเวลาที่เกิดภายหลัง เจริญตติยฌานให้ประณีต บังเกิดในพรหมโลกชั้นสุภกิณหะ มีอายุ ๖๔ กัป พกพรหมนั้นรู้กรรมที่ตนทำและสถานที่ที่ตนเกิดในปฐมกาลเกิดครั้งแรก แต่เมื่อกาลล่วงไป ๆ ลืมกรรมและสถานที่ทั้ง ๒ เสีย จึงเกิดสัสสตทิฏฐิ คิดว่าฐานะของพรหมนั้นเที่ยง

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของพรหมนั้นด้วยพระทัยแล้ว ทรงหายไปจากพระวิหารเชตวันไปปรากฏในพรหมโลกนั้น ทรงนั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น ทรงเข้าเตโชธาตุกสิณ

    ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้มีความคิดเช่นนี้ว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ท่านได้เห็นด้วยจักษุทิพย์ ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประทับนั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนพรหมนั้น เข้าเตโชธาตุกสิณอยู่ จึงได้หายตัวไปปรากฏในพรหมโลกในเบื้องทิศบูรพา นั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น แต่ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าเตโชธาตุกสิณ

    โดยทำนองเดียวกัน ท่านพระมหากัสสปะได้หายตัวไปปรากฏในพรหมโลกในเบื้องทิศใต้ นั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น แต่ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าเตโชธาตุกสิณ

    ท่านพระมหากัปปินะได้หายตัวไปปรากฏในพรหมโลกในเบื้องทิศตะวันตก นั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น แต่ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าเตโชธาตุกสิณ

    ท่านพระอนุรุทธะได้หายตัวไปปรากฏในพรหมโลกในเบื้องทิศเหนือ นั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น แต่ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าเตโชธาตุกสิณ

    ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวกะพรหมนั้นด้วย คาถาว่า

    ดูก่อนผู้มีอายุ แม้วันนี้ ท่านก็ยังมีความเห็นผิดอยู่เหมือนเมื่อก่อน

    ท่านยังจะเห็นอยู่หรือว่าบนพรหมโลกมีแสงสว่างพวยพุ่งออกได้เอง.

    พรหมกล่าวว่า

    พระคุณเจ้าผู้นิรทุกข์ ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นผิดเหมือนเมื่อก่อน

    ที่ว่าข้าพเจ้าเห็นแสงสว่างพวยพุ่งไปเองในพรหมโลก

    ไฉนในวันนี้ข้าพเจ้าจะพึงกล่าวว่า "เราเป็นผู้เที่ยงเป็นผู้ยั่งยืน" ดังนี้เล่า

    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำพรหมนั้นให้สลดใจแล้ว ได้หายไปในพรหมโลกนั้น ปรากฏในพระวิหารเชตวันเหมือนบุรุษมี กำลัง ฯ ล ฯ ฉะนั้น

    ลำดับนั้นแล พรหมนั้นได้เรียกพรหมปาริสัชชะ พรหมพวกรับใช้องค์หนึ่งมาสั่งว่า ท่านจงเข้าไปถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ สาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้องค์อื่น ๆ ที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เหมือนกับ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระกัสสปะ ท่านพระกัปปินะ และท่าน พระอนุรุทธะ ยังมีอยู่หรือ

    เมื่อพรหมปาริสัชชะนั้นไปถามพระมหาโมคคัลลานะตามที่ได้รับคำสั่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงได้กล่าวกะพรหมปาริสัชชะนั้นว่า

    พระสาวกของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพได้วิชชา ๓ บรรลุอิทธิญาณ ฉลาดในเจโตปริยาญาณยังมีอยู่เป็นอันมาก.

    ลำดับนั้นแล พรหมปาริสัชชะนั้นจึงได้กล่าวกะพกพรหมตามที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้บอก เมื่อ พกพรหม ได้ทราบเช่นนั้นนั้นมีใจยินดี ชื่นชมภาษิตของท่านพระมหาโมคคัลลานะนั้น ฉะนี้แล
     
  3. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,801
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    พระสารีบุตร พระอัครสาวกผู้เป็นเลิศในทางปัญญา

    พระสารีบุตร มีชื่อเดิมว่า อุปติสสะ เป็นบุตรพราหมณ์ผู้บริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์และบริวาร ชื่อวังคันตะ และนางสารี เกิดในตำบลบ้านชื่อนาลกะหรือนาลันทะ ไม่ห่างจากกรุงราชคฤห์

    อุปติสสมาณพเป็นเพื่อนสนิทกับโกลิตมาณพ หรือพระมหาโมคคัลลานะ ทั้งสองคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เป็นบุตรแห่งสกุลผู้มั่งคั่งเหมือนกัน เบื่อชีวิตการครองเรือนที่วุ่นวาย จึงพาบริวารไปขอบวชอยู่ในสำนักสัญชัยปริพาชก เรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมด จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยสอนหมู่ศิษย์ต่อไป ทั้งสองมาณพยังไม่พอใจในคำสอนของสัญชัยปริพาชก เพราะไม่ใช่แนวทางที่ตนต้องการ จึงตกลงกันที่จะแสวงหาอาจารย์ที่สามารถชี้แนะแนวทางที่ดีกว่านี้ หากใครได้โมกขธรรม ก็ขอให้บอกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง

    พบพระอัสสชิ

    ในวันหนึ่งอุปติสสมาณพได้เข้าไปในกรุงราชคฤห์ได้พบพระอัสสชิ ซึ่งเป็นหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ กำลังบิณฑบาต อุปติสสมาณพเห็นพระอัสสชิ มีอาการน่าเลื่อมใส มีความประทับใจ จึงเข้าไปถามพระอัสสชิว่า ผู้ใดเป็นศาสดาของท่าน พระอัสสชิตอบว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นโอรสศากยราช เป็นศาสดา อุปติสสมาณพจึงขอให้พระอัสสชิแสดงธรรม พระอัสสชิได้ออกตัวว่าพึ่งบวชได้ไม่นาน ไม่อาจแสดงธรรมโดยกว้างขวาง อุปติสสมาณพจึงขอให้พระอัสสชิแสดงธรรมสั้น ๆก็ได้ พระอัสสชิได้แสดงธรรมแก่อุปติสสมาณพ เรียกกันว่า "คาถาเยธัมมา" เพราะขึ้นต้นด้วยคำว่า "เย ธัมมา" ในสมัยโบราณ ถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา อุปติสสมาณพได้นำคำสอนของพระอัสสชิไปแจ้งให้โกลิตมาณพทราบ โกลิตมาณพก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นเดียวกัน

    ชักชวนอาจารย์สัญชัยไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

    มาณพทั้งสองได้ไปชักชวนสัญชัยปริพาชก ให้ไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าด้วยกัน แต่สัญชัยปริพาชกไม่ยอมไป มาณพทั้งสองก็รบเร้าว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ตรัสรู้เอง เป็นผู้รู้แจ้งจริง ต่อไปคนทั้งหลายจะหลั่งไหลไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า แล้วอาจารย์จะอยู่ได้อย่างไร สัญชัยปริพาชกจึงถามว่า ในโลกนี้คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก มาณพทั้งสองได้ตอบว่า "คนโง่มากกว่า" สัญชัยปริพาชกจึงกล่าวแก่มาณพทั้งสองว่า "ปล่อยให้คนฉลาดไปเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ให้คนโง่ซึ่งมีจำนวนมากกว่ามาเป็นลูกศิษย์ของเรา เราจะได้รับเครื่องสักการะจากคนจำนวนมาก คนฉลาดอย่างเธอทั้งสองจะไปเป็นศิษย์ของพระสมณโคดมก็ตามใจ"

    ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

    อุปติสสมาณพและโกลิตมาณพจึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่สวนเวฬุวนาราม ในกรุงราชคฤห์ ในขณะนั้นพระพุทธองค์กำลังประทับท่ามกลางพุทธบริษัทจำนวนมาก เมื่อเห็นมาณพทั้งสองกำลังเดินมา จึงตรัสบอกภิกษุสงฆ์ว่า "ภิกษุทั้งหลาย มาณพทั้งสองคนนั้นจะเป็นอัครสาวกของเราตถาคต"

    มาณพทั้งสองได้ทูลของอุปสมบทต่อพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ได้ทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุ พระมหาโมคคัลลานะอุปสมบทได้ 7 วัน ก็สำเร็จพระอรหันต์ ส่วนพระสารีบุตรอุปสมบทได้กึ่งเดือน จึงสำเร็จพระอรหันต์ พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายการที่พระสารีบุตรได้บรรลุพระอรหันต์ช้ากว่าพระมหาโมคคัลลานะว่าเป็นเพราะพระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญามาก ต้องใช้บริกรรมใหญ่ เปรียบด้วยการเสด็จไปของพระราชาต้องตระเตรียมราชพาหนะและราชบริวาร จึงจำเป็นต้องใช้เวลามากกว่าการไปของคนสามัญ

    ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครสาวก

    ในวันที่พระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนมาฆะ ในคืนวันนั้นพระพุทธเจ้าทรงประทานพระโอวาทปาติโมกข์แก่จาตุรงคสันนิบาต จากนั้นพระพุทธเจ้าทรงประกาศแต่งตั้งพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวาเลิศกว่าผู้อื่นในทางปัญญา พระมหาโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเลศกว่าผู้อื่นในทางมีฤทธิ์

    พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระสารีบุตรว่าเป็นเอตทัคคะในทางปัญญา เป็นผู้สามารถจะแสดงพระธรรมจักรและพระจตุราริยสัจให้กว้างขวางพิศดารเสมอพระองค์ เมื่อมีภิกษุมาทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อจะเที่ยวจาริกไป พระพุทธเจ้ามักจะตรัสให้ภิกษุที่มาทูลลา ไปลาพระสารีบุตรก่อน เพื่อให้พระสารีบุตรได้สั่งสอน เช่นครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองเทวทหะ ภิกษุเป็นจำนวนมากได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อทูลลาไปชนบท พระพุทธเจ้าก็ตรัสสั่งให้ไปลาพระสารีบุตร แล้วทรงยกย่องว่าพระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญา อนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิตทั้งหลาย เปรียบเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิด ย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล

    พระสารีบุตรได้รับการยกย่องมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า "พระธรรมเสนาบดี" พระสงฆ์ผู้ประกาศพระศาสนา ได้ชื่อว่าธรรมเสนา เป็นกองทัพธรรมที่ประกาศเผยแผ่ธรรม เมื่อไปถึงที่ไหน ก็ทำให้เกิดประโยชน์และความสุขที่นั่น พระพุทธเจ้าเป็นจอมธรรมเสนา เรียกว่า "พระธรรมราชา" โดยมีพระสารีบุตรเป็นพระธรรมเสนาบดี หรือแม่ทัพฝ่ายธรรม

    เป็นผู้มีความกตัญญู

    พระสารีบุตรยังได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้มีความกตัญญู แม้ว่าพระสารีบุตรจะได้รับการแต่งตั้งจากพระพุทธเจ้าเป็นอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เป็นเลิศในทางปัญญา ท่านก็นับถือพระอัสสชิเป็นอาจารย์ เพราะพระอัสสชิได้แสดงธรรมแก่ท่าน ทำให้ท่านมีดวงตาเห็นธรรม และได้มาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา เมื่อพระอัสสชิอยู่ในทิศใด เมื่อพระสารีบุตรจะนอน จะนมัสการไปทางทิศนั้นก่อน และหันศรีษะไปทางทิศนั้น ภิกษุที่ไม่รู้เรื่องเข้าใจผิดว่าท่าานนอบน้อมทิศตามลัทธิของพวกมิจฉาทิฏฐิ ความทราบถึงพระบรมศาสดา จึงตรัสว่าพระสารีบุตรไม่ได้นอบน้อมทิศ ท่านนมัสการพระอัสสชิผู้เป็นอาจารย์

    ครั้งหนึ่งมีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อราธะ อยากจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา แต่ไม่มีภิกษุรูปใดรับอุปสมบทให้ เพราะเป็นผู้ชราเกินไป ราธะเมื่อไม่ได้บวชก็มีความเสียใจมาก มีร่างกายซูบซีด ผิวพรรณไม่ผ่องใส พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นราธะ จึงตรัสถามได้ความจริงแล้ว จึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า มีใครระลึกถึงอุปการะของราธะบ้าง พระสารีบุตรได้กราบทูลว่าท่านระลึกได้ ครั้งหนึ่งท่านเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ราธะได้ถวายข้าวแก่ท่านทัพพีหนึ่ง พระศาสดาทรงสรรเสริญว่า ท่านเป็นผู้กตัญญูดีนัก อุปการะเพียงเท่านี้ก็ยังจำได้ จึงตรัสให้ท่านรับบรรพชาอุปสมบทราธพราหมณ์

    โปรดมารดาก่อนจะนิพพาน

    พระสารีบุตรได้พิจารณาเห็นว่าอายุสังขารจวนสิ้นแล้ว ปรารถนาจะไปโปรดมารดาเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะนิพพานในห้องที่ท่านเกิด ปรากฏว่านางสารีพราหมณีผู้เป็นมารดา เป็นผู้ไม่ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มีความเสียใจที่พระสารีบุตรและน้อง ๆ พากันออกบวชในพระพุทธศาสนา พระสารีบุตรพยายามชักจูงมารดาให้มานับถือพระพุทธศาสนาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงดำริจะไปโปรดมารดาเป็นครั้งสุดท้าย

    พระสารีบุตรได้กราบทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อไปนิพพานที่บ้านเกิด แล้วออกเดินทางกับพระจุนทะผู้เป็นน้อง กับพระที่เป็นบริวาร 500 องค์ เดินทางไปถึงหมู่บ้านนาลันทะ ซึ่งเป็นบ้านเกิด นางสารีพราหมณ์ผู้เป็นมารดา ได้จัดให้พระสารีบุตรพักในห้องที่เกิด และจัดเสนาสนะสำหรับเป็นที่อยู่ของภิกษุ 500 องค์ ที่เป็นบริวาร ในคืนวันนั้น ท้าวจาตุมหาราชทั้ง 4 องค์ มีท้าวเวสสุวัน เป็นต้น ได้มาถวายนมัสการพระสารีบุตรซึ่งกำลังนอนอาพาธอยู่ เมื่อท้าวจาตุมหาราชกลับไปแล้ว ท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์ได้มาถวายนมัสการ เมื่อท้าวสักกเทวราชกลับไปแล้ว ท้าวสหัมบดีมหาพรหมก็ได้มาถวายนมัสการ มีรัศมีเปล่งปลั่งดังกองเพลิง ทำให้สว่างไสวไปทั้งห้อง เมื่อท้าวมหาพรหมกลับไปแล้ว นางสารีพราหมณีจึงได้ถามพระจุนทะเถระว่า ผู้ใดที่เข้ามาหาพี่ชายของท่าน พระจุนทะเถระจึงบอกมารดาว่า ท้าวจาตุมหาราช ท้าวสักกเทวราช และท้าวมหาพรหม ได้มาถวายนมัสการพระสารีบุตร

    นางสารีพราหมณีได้ฟังดังนั้นก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระสารีบุตรและพระพุทธเจ้า คิดว่าพระลูกชายของเรายังเป็นใหญ่กว่าท้าวจาตุมหาราช ท้าวสักกเทวราช และท้าวมหาพรหม พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นครูของพระลูกชายของเราจะต้องมีอิทธิศักดานุภาพยิ่งใหญ่ พระสารีบุตรได้รู้ว่า บัดนี้มารดาได้เกิดความปีติโสมนัสและศรัทธาในพระพุทธเจ้าแล้ว ถึงเวลาที่จะเทศนาทดแทนพระคุณของมารดาและโปรดมารดาให้เป็นสัมมาทิฏฐิ จึงได้เทศนาสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้า เมื่อจบเทศนาแล้ว นางสารีพราหมณีก็ได้พระโสดาปัตติผล

    ในเวลารุ่งเช้า พระสารีบุตรก็นิพพาน พระจุนทะเถระได้ทำฌาปนกิจสรีระพระสารีบุตร เก็บอัฐิธาตุนำไปถวายพระพุทธเจ้า ซึ่งประทับอยู่ พระเชตวัน เมืองสาวัตถี พระพุทธเจ้าได้โปรดให้ก่อพระเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของพระสารีบุตรไว้ ณ ที่นั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสยกย่องพระสารีบุตรว่าเป็นเลิศในความกตัญญูกตเวที และตรัสว่าลูกคนใดที่ทำให้พ่อแม่ตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิ ลูกคนนั้นได้ตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ด้วยความกตัญญูกตเวทีอย่างสูง
     
  4. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,801
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    %B9%80%E0%B8%82%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%B5.jpg

    พระเขมาภิกษุณี เอตทัคคมหาเถรีเลิศทางปัญญา

    คัดลอกจากสารานุกรม พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน

    พระเขมาภิกษุณีบังเกิดในราชสกุล ตระกูลกษัตริย์ พระบิดา พระนามว่า พระเจ้ามัททราช กรุงสาคละ แคว้นมัททะ มีพระนาม ว่า พระนางเขมา ทรงมีพรรณะดั่งทอง มีพระฉวีเสมือนทอง
    พระนางเจริญวัยเป็นราชกุมารีแล้ว ก็ไปเป็นพระเทวีของพระเจ้าพิมพิสาร ครั้งเมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันก็ยังเป็นผู้มัวเมาในพระรูปพระโฉม ทรงเกรงว่าพระศาสดาจะทรงแสดงโทษในรูป จึงไม่เสด็จไปเฝ้าพระศาสดา.
    พระราชาโปรดสั่งให้ผู้คนทั้งหลายเที่ยวประกาศพรรณนาพระเวฬุวัน ทำให้พระเทวีทรงเกิดความคิดที่จะไปชมพระวิหาร เมื่อพระเทวีทรงดำริว่า จำเราจักชมพระวิหาร ก็ทรงสอบถามพระราชา
    พระราชาตรัสว่า เธอไปพระวิหารไม่พบพระศาสดาก็อย่าได้กลับมา
    แล้วทรงให้สัญญาแก่พวกราชบุรุษว่า พวกท่านจงให้พระเทวีเฝ้าพระทศพล โดยพลการให้จงได้
    พระเทวี เสด็จไปวิหาร เวลาล่วงไปครึ่งวัน ไม่ทรงพบพระศาสดาเริ่มเสด็จกลับ
    ลำดับนั้น ราชบุรุษทั้งหลาย นำพระเทวีแม้ไม่ทรงปรารถนา เข้าไปเฝ้าพระศาสดาจนได้ พระศาสดาทรงเห็นพระเทวีนั้นกำลังเสด็จมา ทรงเนรมิตหญิงคล้ายนางเทพอัปสรด้วยฤทธิ์ ทำให้ถือพัดใบตาลถวายงานพัดอยู่ พระนางเขมาเทวีทรงเห็นหญิงนั้น ทรงดำริว่า
    หญิงนี้มีส่วนเปรียบด้วยนางเทพอัปสร ยืนอยู่ไม่ห่างพระผู้มีพระภาคเจ้า เราไม่พอที่แม้แต่จะเป็นหญิงรับใช้ของหญิงเหล่านั้นได้เลย เราต้องเสียหายด้วยอำนาจจิตชั่ว เพราะเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ทรงถือเอานิมิตประทับยืนมองดูหญิงนั้นคนเดียว เมื่อพระนางกำลังทอดพระเนตรดูอยู่ หญิงนั่นก็ล่วงปฐมวัย มัชฌิมวัย ถึงปัจฉิมวัยแล้ว ฟันหัก ผมหงอก หนังเหี่ยว ล้มกลิ้งลงพร้อมกับพัดใบตาล ด้วยพระกำลังอธิษฐานของพระศาสดา
    จากนั้น เพราะเหตุที่ทรงบำเพ็ญบารมีไว้ พระนางเขมาทอดพระเนตรเห็นเหตุนั้นแล้วทรงพระดำริว่า
    สรีระแม้อย่างนี้ ยังถึงความวิบัติเช่นนี้ สรีระของเราก็จักมีคติอย่างนี้เหมือนกัน ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทราบวาระจิตของพระนางแล้ว ก็ตรัสพระคาถาว่า
    ชนเหล่าใด กำหนัดอยู่ด้วยราคะ ย่อมตกไปสู่
    กระแสตัณหา เหมือนแมลงมุมตกไปยังใยที่ตัวเองทำ
    ไว้ฉะนั้น ชนเหล่านั้นตัดกระแสตัณหานั้นเสียได้แล้ว
    เป็นผู้หมดอาลัยละกามสุขได้ ย่อมงดเว้นกิจคฤหัสถ์
    [บวช] อยู่.
    ในอรรถกถาว่า จบคาถาพระนางเขมานั้น บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา
    ส่วนในอปทานว่า ฟังคาถานี้แล้ว ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ทรงขอให้พระเจ้าพิมพิสารทรงอนุญาตแล้ว ทรงผนวชได้ ๗ เดือนแล้วบรรลุพระอรหัต เป็นผู้ชำนาญในฤทธิ์ในทิพโสตธาตุและเจโตปริยญาณ รู้ชัดปุพเพนิวาสญาณชำระทิพจักษุให้บริสุทธิ์ มีอาสวะทั้งปวงหมดสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก ญาณอันบริสุทธิ์ของดิฉัน ในอรรถะธรรมะ นิรุติและปฏิภาณ เกิดขึ้นแล้วในพระพุทธศาสนา ดิฉันเป็นผู้ฉลาดในวิสุทธิทั้งหลาย คล่องแคล่วในกถาวัตถุ รู้จักนัยแห่งอภิธรรม ถึงความชำนาญในศาสนา
    ภายหลัง พระราชสวามีผู้ฉลาดตรัสถามปัญหาละเอียดในโตรณวัตถุ ดิฉันได้วิสัชนาโดยควรแก่กถา
    ครั้งนั้น พระราชาเสด็จเข้าเฝ้าพระสุคตเจ้าแล้ว ทูลสอบถามปัญหาเหล่านั้น (ในเขมาเถรีสูตร ในสังยุตตนิกาย)พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์เป็นอย่างเดียวกันกับที่ดิฉันวิสัชนาแล้ว พระพิชิตมารผู้อุดมกว่านรชน อยู่ด้วยผลสุข นิพพานสุข ก็ปรากฏว่าเป็นผู้มีปัญญามาก เพราะเมื่อพระขีณาสวเถรีรูปอื่น ๆเกิดปัญญาไพบูลย์ แต่ท่านก็บำเพ็ญบารมีมาแล้วในข้อนั้นจริงอย่างนั้น ทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น
    พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งท่ามกลางหมู่พระอริยะ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กำลังทรงสถาปนาภิกษุณีทั้งหลายไว้ในตำแหน่งตามลำดับ ก็ทรงสถาปนาพระเถรีนั้นไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเพราะเป็นผู้มีปัญญามากกว่า และเป็นอัครสาวกเบื้องขวา ดังความในพระสูตรว่า
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เขมาเป็นเลิศของภิกษุณีสาวิกาของเราผู้มีปัญญามาก.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม่ออกบวชก็ขอจงเป็นเช่นพระเขมาภิกษุณี และอุบลวรรณาภิกษุณีเถิด
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุณีผู้เป็นสาวิกาของเรา เขมาภิกษุณีและอุบลวรรณาภิกษุณี เป็นดุลเป็นประมาณเช่นนี้
    วันหนึ่ง พระเถรีนั้นนั่งพักกลางวันอยู่โคนไม้ต้นหนึ่ง มารผู้มีบาปแปลงกายเป็นชายหนุ่มเข้าไปหา เมื่อประเล้าประโลมด้วยกามทั้งหลาย ก็กล่าวคาถาว่า
    แม่นางเขมาเอย เจ้าก็สาวสคราญ เราก็หนุ่มแน่น
    มาสิ เรามาร่วมอภิรมย์กัน ด้วยดนตรีเครื่อง ๕ นะแม่นาง.
    นางเขมาเถรีนั้น ฟังคำนั้นแล้ว เมื่อประกาศความที่ตนหมด ความกำหนัด ในกามทั้งปวง ๑ ความที่ผู้นั้นเป็นมาร ๑ ความไม่เลื่อมใสที่มีกำลังของตนในเหล่าสัตว์ผู้ยึดมั่นในอัตตา ๑ และความที่ตนทำกิจเสร็จแล้ว ๑ จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
    เราอึดอัดเอือมระอาด้ายกายอ้นเปื่อยเน่า กระสับกระส่าย มีอันจะแตกพังไปนี้อยู่ เราถอนกามตัณหาได้แล้ว กามทั้งหลาย มีอุปมาด้วยหอกและหลาว มีขันธ์ทั้งหลายเป็นเขียงรองสับ บัดนี้ ความยินดีในกามที่ท่านพูดถึงไม่มีแก่เราแล้ว เรากำจัดความเพลิดเพลินในกามทั้งปวงแล้ว ทำลายกองแห่ง ความมืด [อวิชชา] เสียแล้ว
    ดูก่อนมารใจบาป ท่านจงรู้อย่างนี้ ตัวท่านถูกเรากำจัดแล้ว พวกคนเขลา ไม่รู้ตามความเป็นจริง พากันนอบน้อมดวงดาวทั้งหลาย บำเรอไฟอยู่ในป่าคือลัทธิ สำคัญว่าเป็นความบริสุทธิ์ ส่วนเราแลนอบน้อมเฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นอุดมบุรุษจึงพ้นแล้วจากทุกข์ทั้งปวง ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา.
    พระเขมาเถรีปรินิพพาน

    มีเรื่องที่น่าแปลกว่า ทำไมในประวัติของพระเขมาเถรีเอง ไม่มีการกล่าวถึงการนิพพานของท่านเลย และก็ไม่มีปรากฏในอรรถกถาส่วนอื่นๆ ด้วย มีแต่ความตอนหนึ่งมาจากขุททกนิกาย อปทาน อยู่ในประวัติของพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ขุ.อป ๓๓/๑๕๗)
    สมัยสุดท้าย พระเขมาเถรี เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน กรุงเวสาลี พระองค์เองก็ประทับอยู่ ณ สำนักภิกษุณีกรุงเวสาลี
    เมื่อพระเขมาเถรี ผู้เป็นบริวารของพระนางก็ได้มีความปริวิตกว่า พระมหาปชาบดีจะปรินิพพาน จึงได้เข้าไปหาพระมหาเถรี แล้วทูลว่า
    ข้าแต่พระแม่เจ้า ถ้าพระแม่เจ้าชอบใจ การนิพพานอันเกษมอย่างยิ่งไซร้ ถึงข้าพเจ้าทั้งหลายก็จักนิพพานกันหมด ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงพระอนุญาต พวกข้าพเจ้าได้ออกจากเรือนจากภพพร้อมด้วยพระแม่เจ้า ก็จักไปสู่นิพพานบุรี อันยอดเยี่ยมพร้อม ๆ กันกับพระแม่เจ้า ข้าพเจ้าทั้งหลายก็จักไปพร้อมกับพระแม่เจ้าเหมือนกัน พระมหาปชาบดีโคตมีได้ตรัสว่า
    เมื่อท่านทั้งหลายจะไปนิพพาน เราจักว่าอะไรเล่า
    หลังจากนั้น พระเขมาเถรีและภิกษุณีรวมได้ ๕๐๐ รูปได้ตามพระมหาปชาบดีโคตมีไปพระวิหาร ขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต แล้วอำลาพระเถระทั้งหลาย และเพื่อนสพรหมจารีทุกรูป ซึ่งเป็นที่เจริญใจของตน พึงมาปรินิพพานเสียใน ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน กรุงเวสาลี
    บุพกรรมของพระเขมาเถรี

    ดังได้สดับมา ในอดีตกาลครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ นางเขมานี้ก็บังเกิดนับเนื่องกับคนอื่น ในกรุงหังสวดี
    ต่อมา วันหนึ่งนางพบพระสุชาตเถรี อัครสาวิกาของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น กำลังเที่ยวบิณฑบาต จึงถวายขนมต้ม ๓ ก้อน ในวันนั้นนั่นแล ก็จัดในเรือนของตนแล้วถวายทาน แต่พระเถรีทำความปรารถนาว่า ดิฉันพึงมีปัญญามากเหมือนท่าน ในพุทธุปบาทกาลในอนาคต เป็นผู้ไม่ประมาทในกุศลกรรมทั้งหลายจนตลอดชีวิต ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์แสนกัป
    ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ก็ถือปฏิสนธิในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้ากิงกิ เป็นพระราชธิดาองค์หนึ่ง ระหว่างพระพี่น้องนาง ๗ พระองค์ คือ นางสมณี นางสมณคุตตา นางภิกขุนี(ภิกขุณี) นางภิกขุทาสิกา นางธัมมา(ธรรมา) นางสุธัมมา(สุธรรมา) และนางสังฆทาสี ครบ ๗
    พระราชธิดาเหล่านั้น ในบัดนี้ [ครั้งพุทธกาลชาติปัจจุบัน] คือพระเขมาเถรี พระอุบลวรรณาเถรี พระปฏาจาราเถรี พระนางกุณฑลเกสีเถรี (พระภัททากุณฑลเกสาเถรี) พระกิสาโคตมีเถรี พระธรรมทินนาเถรี และนางวิสาขา ครบ ๗
    ทรงประพฤติกุมารีพรหมจรรย์ ในพระราชนิเวศน์ถึง ๒๐,๐๐๐ ปี ร่วมกับพระพี่น้องนางเหล่านั้น สร้างบริเวณที่ประทับอยู่ของพระทศพล เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์พุทธันดรหนึ่ง ในพุทธุปบาทกาลนี้ ก็ถือปฏิสนธิในราชสกุล กรุงสาคละ แคว้นมัททะ พระประยูรญาติเฉลิมพระนามของพระนางว่า เขมา ดังความข้างต้น.
     
  5. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,801
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    พระคยากัสสปเถระ

    พระคยากัสสปเถระ เป็นหนึ่งในพระมหาเถระลำดับแรก ๆ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้รับการบรรพชาโดยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยได้รับการบวชเป็นกลุ่มที่ ๖ จากพระบรมศาสดา นับจาก

    ๑. กลุ่มพระปัญจวัคคีย์ ๕ องค์

    ๒. พระยสสเถระ ๑ องค์

    ๓. กลุ่มเพื่อนพระยสเถระ ๔ องค์

    ๔. กลุ่มเพื่อนพระยสเถระอีก ๕๐ องค์ และ

    ๕. กลุ่มภัททวัคคีย์ ๓๐ องค์

    ในพระบาลีปรากฏพระเถระที่มีนามว่า “กัสสปะ” อยู่หลายองค์ จึงต้องมีการกำหนดชื่อให้แตกต่างกัน คือ

    ๑. พระมหากัสสปะ ท่านเป็นพระมหาเถระที่ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ มีอาวุโสมาก จึงเรียกกันว่า มหากัสสปะ

    ๒. พระอุรุเวลกัสสปะ ท่านบวชเป็นฤษีตำบลอุรุเวลา จึงได้ชื่อว่า อุรุเวลกัสสปะ

    ๓. พระนทีกัสสปะ ท่านบวชเป็นฤษีอยู่ที่คุ้งมหาคงคานที จึงได้ชื่อว่า นทีกัสสปะ

    ๔. พระคยากัสสปะ ท่านบวชเป็นฤษีอยู่ที่คยาสีสประเทศ จึงได้ชื่อว่า คยากัสสปะ

    ๕. พระกุมารกัสสปะ เพราะท่านบวชตั้งแต่เวลาที่เป็นเด็ก จึงได้ชื่อว่า กุมารกัสสปะ

    พระเถระรูปนี้ ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพนั้น ๆ


    บุรพกรรมในสมัยพระปุสสพุทธเจ้า

    ในที่สุดกัปที่ ๙๒ สมัยนั้น พระโพธิสัตว์พระนามว่า ปุสสะ จุติมาบังเกิดเป็นพระโอรสของพระเจ้ามหินทรราชา (อรรถกถาบางแห่งกล่าวว่าชื่อ ชยเสนะ) กรุงกาสี พระราชมารดาทรงพระนามว่า สิริมา ตรัสรู้แล้วทรงแสดงธรรมแก่ สุรักขิตะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระองค์ และบุตรปุโรหิต ชื่อ ธรรมเสนะ ทั้งสองดำรงอยู่ในพระอรหัตผล พระศาสดาทรงสถาปนาพระสุรักขิตะถระไว้ในตำแหน่งพระอัครสาวกรูปที่ ๑ ทรงสถาปนาพระธรรมเสนะเถระไว้ในตำแหน่งอัครสาวกรูปที่ ๒

    ท่านคยากัสสปก็บังเกิดเป็นกนิษฐภาดา (น้องชาย) ต่างมารดา ของพระพุทธองค์ ท่านยังมีพี่ชาย ๒ องค์ (ซึ่งต่อมาก็คือ พระอุรุเวลกัสสป และพระนทีกัสสป) ฝ่ายพระเจ้ามหินทรราชา มีพระดำริว่า ลูกชายคนโตของเราออกบวชเป็นพระพุทธเจ้า ลูกคนเล็กเป็นอัครสาวก ลูกปุโรหิตเป็นทุติยสาวก พระองค์จึงทรงให้สร้างวิหาร ทรงดำรงอยู่ในรัตนะ ๓ และทรงปรารถนาจะอุปัฏฐากพระบรมศาสดา ผู้เป็นพระโอรส พร้อมหมู่พระภิกษุแต่ผู้เดียว ไม่ยอมให้ชนทั้งหลายได้มีโอกาสเช่นนั้นบ้าง จึงให้สร้างรั้วไม้ไผ่สองข้าง ปิดล้อมด้วยผ้า ตั้งแต่ซุ้มประตูพระวิหารจนถึงทวารพระราชวัง เบื้องบนรับสั่งให้ผูกพวงของหอมพวงมาลัยที่หอมฟุ้งเป็นเพดาน เสมือนประดับด้วยดาวทอง เบื้องล่างรับสั่งให้เกลี่ยทรายสีเหมือนเงินแล้ว โปรยดอกไม้ ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาตามทางนั้น แล้วนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมหมู่ภิกษุเสด็จไปสู่พระราชมณเฑียร เพื่อกระทำภัตกิจ แล้วเสด็จกลับมายังวิหาร โดยทางเดิม มหาชนอื่น แม้จะดูก็ยังไม่ได้ดู แล้วไฉนจะได้ถวายภักษาหารและการบูชาเล่า ทรงกระทำเช่นนี้มาตลอด ๗ ปี ๗ เดือน

    ชาวพระนครคิดว่าเมื่อพระศาสดาเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เป็นเวลานานถึงเพียงนี้แล้ว ถึงวันนี้ พวกเราแม้เพียงปรารถนาจะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ก็ยังไม่ได้เฝ้า จะป่วยกล่าวไปไย ถึงการที่จะได้ถวายภิกษา หรือกระทำการบูชา หรือฟังธรรมเล่า พระราชาทรงยึดถือว่า พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์เป็นของพระองค์เองผู้เดียว ที่ถูกแล้ว พระศาสดาเมื่อเสด็จอุบัติ ก็อุบัติเพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งหลาย มิใช่อุบัติเพื่อประโยชน์เฉพาะแก่พระราชาเท่านั้นไม่

    ชาวพระนครร่วมปรึกษากับพระโอรสทั้ง ๓ องค์ว่าพวกเราจะทำอุบายอย่างหนึ่ง โดยให้ชาวพระนครเหล่านั้นแต่งโจรชายแดนขึ้น แล้วส่งข่าวกราบทูลพพระเจ้ามหินทรราชาว่า หมู่บ้าน ๒ - ๓ แห่งที่อยู่ชายแดนเกิดโจรปล้น พระเจ้ามหินทรราชาจึงมีรับสั่งให้เรียกพระโอรสทั้ง ๓ เข้าเฝ้าแล้วรับสั่งให้พระโอรสทั้ง ๓ ออกไปโจร พระโอรสทั้ง ๓ ออกไปจัดการให้โจรสงบแล้วกลับมากราบทูลพระเจ้ามหินทรราชา

    พระราชาทรงพอพระทัย ตรัสว่าและสัญญาว่าจะพระราชทานพรข้อหนึ่งให้กับพระโอรสทั้งสาม พระโอรสเหล่านั้นรับพระดำรัสแล้ว ได้ไปปรึกษากับชาวพระนครถึงเรื่องพรที่ได้รับพระราชทานมาว่า พวกเราจะเอาอะไร ชาวพระนครกล่าวว่า ทรัพย์สินเงินทองช้างม้าเป็นต้นหาได้ไม่ยาก แต่พระพุทธรัตนะหาได้ยาก ไม่เกิดขึ้นทุกกาล เราขอให้พระเจ้ามหินทรราชาทรงยอมให้ชาวพระนครได้มีโอกาสกระทำบุญแด่ พระปุสสพุทธเจ้าบ้าง พระโอรสเหล่านั้นจึงนำความนั้นขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระราชา

    พระราชาเมื่อกลับคำพูดไม่ได้จึงตรัสต่อรองว่า ขอเวลาให้ท่านได้ทำบุญกับพระศาสดากับหมู่พระสงฆ์อีก ๗ ปี ๗ เดือน ชาวพระนครไม่รับ พระราชาทรงให้ลดลงอย่างนี้คือ ๖ ปี ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี ๖ เดือน ฯลฯ เพียงเดือนเดียว พระโอรสก็ไม่ยินยอม สุดท้ายจึงขออีก ๗ วัน พระโอรสก็ยินยอม

    พระราชาทรงนำสิ่งที่เตรียมไว้ถวายพระพุทธองค์และหมู่ภิกษุ สำหรับระยะเวลา ๗ ปี ๗ เดือน มารวมกันเพื่อถวายใน ๗ วันเท่านั้น แล้วพระราชาถวายบังคม กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า บัดนี้ ข้าพระองค์อนุญาตให้ชาวพระนครได้ถวายทานแล้ว ตั้งแต่พรุ่งนี้ไป โปรดทรงอนุเคราะห์แก่ชาวพระนครเหล่านั้นเถิด

    พระราชโอรสเหล่านั้นกับชาวพระนครจึงสร้างพระวิหารมอบถวายแด่พระศาสดา ปรนนิบัติพระศาสดาในที่นั้น เมื่อจวนเข้าพรรษา พระราชโอรสเหล่านั้นจึงคิดกันว่า พวกเราจะปรนนิบัติพระศาสดาให้ยิ่งขึ้นได้อย่างไรหนอ

    ครั้นแล้งจึงได้มีพระดำริอย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้หนักในธรรม ไม่หนักในอามิส หากพวกเราตั้งอยู่ในศีลแล้วจักเป็นที่พอพระทัยของพระศาสดาได้ ราชกุมารเหล่านั้นจึงจึงแต่งตั้งอำมาตย์ผู้หนึ่งไว้ในตำแหน่งเป็นผู้หารายได้เพื่อใช้ในการถวายทาน แต่งตั้งอำมาตย์ ผู้หนึ่งเป็นผู้รับจ่ายในการถวายทาน และแต่งตั้งอำมาตย์อีกผู้หนึ่งมีหน้าที่เป็นผู้เลี้ยงภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อตัดกังวลในการถวายทานของพระโอรสทั้งสาม

    ครั้นแล้ว ราชกุมารทั้งสาม พร้อมทั้งบริวาร ๑,๐๐๐ คน ออกบวชโดยสมาทานศีล ๑๐ ครองผ้ากาสายะ ๒ ผืน บริโภคน้ำที่สมควร ครองชีพอยู่ เขาบำรุงพระศาสดาตลอดชีวิต พระศาสดาทรงเสด็จปรินิพพานในสำนักของเขาเหล่านั้นเอง

    ราชโอรสเหล่านั้นเมื่อทิวงคตแล้ว ก็วนเวียนเที่ยวตายเกิดอยู่ในเทวโลกและมนุษย์โลก

    ครั้นในสมัยพระศาสดาของพวกเรา จึงได้จุติจากเทวโลกบังเกิดในมนุษยโลก เป็นชฏิล ๓ พี่น้องตามเรื่องที่จะได้กล่าวต่อไป อำมาตย์ทั้งสามคนนั้น บังเกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสาร วิสาขอุบาสก และ พระรัฐปาละ ส่วนชาวพระนครผู้เป็นบริวารของราชโอรสเหล่านั้นเกิดเป็นชฎิลบริวารของคนทั้ง ๓ นั้น

    กำเนิดในสมัยพระสิขีพุทธเจ้า

    ในกัปที่ ๓๑ แต่กัปนี้ไป ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขี ท่านได้บังเกิดในเรือนอันมีสกุล บรรลุนิติภาวะแล้ว เพราะความที่ตนเองมีอัธยาศัยที่จะออกจากทุกข์ จึงละเพศฆราวาสออกบวชเป็นพระดาบส สร้างอาศรมอยู่ในป่า มีมูลผลาผลในป่าเป็นอาหาร

    ก็โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เดียวไม่มีผู้ติดตามเป็นที่สอง ได้เสด็จไปใกล้อาศรมของพระดาบสนั้นแล้ว. ดาบสนั้นพอได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็มีใจเลื่อมใส เข้าไปใกล้แล้ว ถวายบังคมยืนอยู่ ณ ที่อันสมควรด้านหนึ่ง คอยดูเวลาอยู่จึงน้อมเอาผลพุทราอันเป็นที่น่าจับใจเข้าไปถวายแด่พระศาสดา ด้วยบุญกรรมอันนั้น เขาจึงได้ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก

    กำเนิดในพุทธกาล

    ครั้นในสมัยพระศาสดาของพวกเรา ท่านมาบังเกิดในสกุลพราหมณ์ ก่อนพระทศพลของเราทรงอุบัติ มีนามว่า กัสสป ทั้งสามคนตามโคตรของตน คนทั้งสามนั้นเจริญวัย แล้วเรียนไตรเพท คนใหญ่ มีบริวารมาณพ ๕๐๐ คน คนกลาง ๓๐๐ คน คนเล็ก ๒๐๐ คน ทั้งสามพี่น้อง ตรวจดูสาระในคัมภีร์(ไตรเพท) เห็น แต่ประโยชน์ส่วนปัจจุบันเท่านั้น ไม่เห็นประโยชน์ส่วนภายภาคหน้า พี่ชายคนใหญ่ ไปยังตำบลอุรุเวลาบวชเป็นฤษีพร้อมกับบริวารของตน ชื่อว่าอุรุเวลกัสสป คนกลางไปบวชที่คุ้งมหาคงคานที ชื่อว่านทีกัสสป คนเล็กไปบวชที่คยาสีสประเทศ ชื่อว่าคยากัสสป

    เมื่อพี่น้องทั้ง ๓ นั้นบวชเป็นฤๅษี อยู่ในที่นั้น ๆ อย่างนี้แล้ว เมื่อวันเวลาล่วงไปเป็นอันมาก พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายเสด็จออก มหาภิเนษกรมณ์ ได้ทรงตรัสรู้แล้วและแสดงธรรมโปรดพวกปัญจวัคคีย์ทั้ ๕ แล้วโปรดพระยสะ และสหาย รวม ๕๕ คนให้บรรลุพระอรหัต แล้วทรงส่งพระอรหันต์ ๖๐ องค์จาริกไปเพื่อโปรดสัตว์โลกทั้งหลาย หลังจากนั้นเมื่อทรงเทศน์โปรดพวกภัททวัคคียกุมาร แล้ว จึงได้เสด็จ ไปยังตำบลอุรุเวลาเสนนิคม เสด็จไปยังอาศรมของอุรุเวลกัสสปชฎิล

    ครั้งเสด็จถึงอุรุเวลาประเทศแล้ว ทรงแสดงปาฏิหาริย์หลายประการ ทรมานอุรุเวลกัสสปชฎิล

    อุรุเวลกัสสปชฎิลละพยศ ทูลขอบรรพชา

    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงมีพระดำริว่า

    “เป็นเวลานานมากแล้ว ที่โมฆบุรุษผู้นี้คิดว่า พระองค์ทรงมีฤทธิ์มาก พระองค์ทรงมีอานุภาพมาก แต่ถึงอย่างไรพระองค์ทรงก็คงไม่เป็นพระอรหันต์ เช่นกับเราแน่ดังนี้ ถ้ากระไร เราพึงทำชฎิลนี้ให้เกิดความสังเวช”

    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสกะอุรุเวลกัสสปชฎิลนั้นว่า

    “ดูก่อนกัสสป เธอยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งยังไม่ได้เข้าถึงแม้อรหัตมรรคด้วย แม้ปฏิทาใดที่จักนำเธอเข้าถึงอรหัตมรรค ปฏิปทานั้นของเธอก็ยังไม่มีเลย”

    ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิล ได้ซบศีรษะลงที่พระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้กราบทูลต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นว่า

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด”

    พระศาสดาตรัสว่า

    “ดูก่อนกัสสป เธอนั้นเป็นประมุข ของพวกชฎิล ๕๐๐ คน เธอจงบอกลาพวกชฎิลเหล่านั้นเสียก่อน พวกชฎิลเหล่านั้นจะได้ทำตามที่เธอสำคัญเข้าใจได้”

    ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิล จึงเข้าไปหาพวกชฎิลเหล่านั้น ครั้นเข้าไปหาแล้วจึงได้กล่าวกับชฎิลเหล่านั้นว่า

    “ท่านทั้งหลาย เราต้องการจะประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะ ขอพวกท่านจงทำตามที่ท่านประสงค์เถิด”

    พวกชฎิลกล่าวว่า

    “พวกเราได้มีความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่งในพระมหาสมณะ ตั้งแต่นานมาแล้ว ถ้าท่านจักประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะแล้ว พวกเราทั้งหมดทำตามด้วยเหมือนกัน”

    ลำดับนั้นแล ชฎิลเหล่านั้นจึงได้นำเอา บริขารทั้งหลาย รวมทั้งเครื่องบูชาไฟ งลงในแม่น้ำเนรัญชรา ปล่อยให้บริขารเหล่านั้นลอยไปตามน้ำ แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซบศีรษะลงแทบพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพวกข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด”

    พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบรรพชาชฎิลเหล่านั้นด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยตรัสว่า

    “พวกเธอ จงเป็น ภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด”

    นทีกัสสปชฎิลทูลขอบรรพชา

    ฝ่ายนทีกัสสปชฎิล ได้เห็นบริขารรวมทั้งเครื่องบูชาไฟ ลอยมาตามน้ำ จึงคิดว่าคงจะมีอันตรายแก่พี่ชายของเราแน่ จึงส่งชฎิลไปสืบเรื่องพี่ชายของตน เมื่อทราบเรื่องแล้ว ตนเองพร้อมกับชฎิล ๓๐๐ คน ได้ไปหาท่านอุรุเวลกัสสป ครั้นเข้าไปหาแล้ว จึงถามท่านอุรุเวลกัสสปนั้นว่า “พี่กัสสป การบวชนี้ เป็นสิ่งประเสริฐดีหรือ”

    ท่านอุรุเวลกัสสปตอบว่า “ใช่ การบวชแบบนี้ เป็นสิ่งประเสริฐแน่”

    ลำดับนั้นแล ชฎิลเหล่านั้นจึงได้นำเอา บริขารทั้งหลาย รวมทั้งเครื่องบูชาไฟ ลงในแม่น้ำเนรัญชรา ปล่อยให้บริขารเหล่านั้นลอยไปตามน้ำ แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซบศีรษะลงแทบพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพวกข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าบ้างเถิด”

    พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบรรพชาชฎิลเหล่านั้นด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยตรัสว่า

    “พวกเธอ จงเป็น ภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด”

    คยากัสสปชฎิลทูลขอบรรพชา

    ฝ่ายคยากัสสปชฎิล ได้เห็นบริขารรวมทั้งเครื่องบูชา ไฟ ลอยมาตามน้ำ จึงคิดว่าคงจะมีอันตรายแก่พี่ชายทั้งสองของเราแน่ จึงส่งชฎิลไปสืบเรื่องพี่ชายของตน เมื่อทราบเรื่องแล้ว ตนเองพร้อมกับชฎิล ๒๐๐ คน ได้ไปหาท่านอุรุเวลกัสสป ครั้นเข้าไปหาแล้ว จึงถามท่านอุรุเวลกัสสปนั้นว่า “พี่กัสสป การบวชนี้ เป็นสิ่งประเสริฐดีหรือ”

    ท่านอุรุเวลกัสสปตอบว่า “ใช่ การบวชแบบนี้ เป็นสิ่งประเสริฐแน่”

    ลำดับนั้นแล ชฎิลเหล่านั้นจึงได้นำเอา บริขารทั้งหลาย รวมทั้งเครื่องบูชาไฟ ลงในแม่น้ำเนรัญชรา ปล่อยให้บริขารเหล่านั้นลอยไปตามน้ำ แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซบศีรษะลงแทบพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพวกข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าบ้างเถิด”

    พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบรรพชาชฎิลเหล่านั้นด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยตรัสว่า

    “พวกเธอ จงเป็น ภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด”

    ชฎิลทั้ง ๑,๐๐๐ บรรลุพระอรหัต

    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในอุรุเวลาตามความพอพระทัย พร้อมกับภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ร่วมกับปราณชฎิลทั้งหมด ๑, ๐๐๐ คน จากนั้นจึงได้เสด็จหลีกจาริกไปยังคยาสีสะประเทศ ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ คยาสีสะประเทศ ใกล้แม่น้ำคยาพร้อมกับภิกษุจำนวน ๑, ๐๐๐ รูป

    ทรงประทับนั่ง แล้วทรงพระดำริว่า ธรรมกถาอะไรหนอ จักเป็นที่เหมาะแก่ชนเหล่านี้ จึงตกลงพระทัยว่า ชนเหล่านี้เคยบูชาไฟทั้งเวลาเย็นและค่ำ เราจักแสดงอายตนะ ๑๒ แก่พวกเขา ทำให้เป็นดุจไฟไหม้ลุกโชน ชนเหล่านี้จักสามารถบรรลุพระอรหัตด้วยอาการอย่างนี้ ลำดับนั้น พระองค์ ได้ตรัสอาทิตตปริยายสูตรนี้ เพื่อแสดงธรรมแก่ชนเหล่านั้นดังนี้

    ภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวง เป็นของร้อน

    ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าชื่อว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน

    ภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นของร้อน รูปทั้งหลายก็เป็นของร้อน วิญญาณอาศัยจักษุก็เป็นของร้อน.จักษุสัมผัสก็เป็นของร้อน ความเสวยอารมณ์นี้เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย แม้อันใด เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ แม้อันนั้นก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ และเพราะความตาย เพราะความเศร้าโศก เพราะความคร่ำครวญเพราะความทุกข์ เพราะความโทมนัส เพราะความคับแค้นใจ เราจึงกล่าวว่าเป็นของร้อน

    โสตเป็นของร้อน เสียงทั้งหลายก็เป็นของร้อน ฯลฯ

    ฆานะเป็นของร้อน กลิ่นทั้งหลายก็เป็นของร้อน ฯลฯ

    ลิ้นเป็นของร้อน รสก็เป็นของร้อน ฯลฯ

    กายเป็นของร้อน โผฏฐัพพะก็เป็นของร้อน ฯลฯ

    ใจเป็นของร้อน ธรรมทั้งหลายก็เป็นของร้อน มโนวิญญาณก็เป็นของร้อน มโนสัมผัสก็เป็นของร้อน ความเสวยอารมณ์นี้เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยแม้อันใดเป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี แม้อันนั้นก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟคือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ และความตาย เพราะความเศร้าโศก เพราะความคร่ำครวญ เพราะความทุกข์ เพราะความโทมนัส เพราะความคับแค้นใจ เราจึงกล่าวว่าเป็นของร้อนแล

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้เห็นได้ฟังแล้วอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายในรูป ย่อมเบื่อหน่ายในวิญญาณที่อาศัยจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายในสัมผัสอาศัยจักษุ ความเสวยอารมณ์นี้ เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัส แม้อันใด เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี ย่อมเบื่อหน่ายในความเสวยอารมณ์นั้น

    ย่อมเบื่อหน่ายในโสต ย่อมเบื่อหน่ายในเสียง ฯลฯ

    ย่อมเบื่อหน่ายในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายในกลิ่น ฯลฯ

    ย่อมเบื่อหน่ายในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายในรสทั้งหลาย ฯลฯ

    ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะ ฯลฯ

    ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในใจ

    ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธรรมทั้งหลาย

    ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนสัมผัส

    ความเสวยอารมณ์นี้เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยแม้อันใด เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่สุขก็ดี ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์นั้น

    เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายความกำหนัด เพราะคลายความกำหนัดจิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว

    พระอริยสาวกนั้น ย่อมทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจอื่นที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีก เพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีกต่อไป ดังนี้

    ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าจบอาทิตตปริยายสูตรนี้ จิตของภิกษุ ๑,๐๐๐ รูปนั้น ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย บรรลุพระอรหัตเพราะไม่ถือมั่นแล
     
  6. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,801
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    พระเมฆิยเถระ

    แม้พระเถระนี้ก็มีอธิการอันกระทำไว้แล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ ได้กระทำกุศลไว้ในภพนั้น ๆ ไว้เป็นอันมากดังนี้

    บุรพกรรมในสมัยพระวิปัสสีพุทธเจ้า

    ในกัปที่ ๙๑ ถอยไปนับแต่ภัทรกัปนี้ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี ท่านได้บังเกิดในตระกูลอันใหญ่ ครั้นเมื่อเติบโตแล้ว ในวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงบรรลุถึงความสิ้นสุดแห่งพุทธกิจแล้ว จึงทรงปลงอายุสังขาร เป็นธรรมดาเมื่อพระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขารก็จะเกิดเหตุมหัศจรรย์คือเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ เกิดความขนพองสยองเกล้าน่าพึงกลัว ทั้งกลองทิพย์ก็บันลือขึ้น มหาชนได้สะดุ้งตกใจกลัวแล้ว

    ลำดับนั้น ท้าวเวสวัณมหาราช ทรงเข้าใจเหตุการณ์นั้นอย่างแจ้งชัดจึงทรงยังมหาชนให้เบาใจ ว่า ภัยไม่มีในหมู่สัตว์ ท่านทั้งหลายจงมีอารมณ์ตั้งมั่น ทำใจให้สงบเถิด เหตุแผ่นดินไหวนี้เป็นเพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปลงอายุสังขาร เมื่อมหาชนได้ทราบเหตุนั้นแล้ว ก็ได้ถึงความสังเวช กุลบุตรนี้ สดับพุทธานุภาพ ในที่นั้นแล้ว เกิดความเคารพนับถืออย่างมากในพระศาสนา เสวยปีติโสมนัสอย่างโอฬาร ประกาศพระพุทธานุภาพว่า โอพระพุทธเจ้า โอพระธรรม โอความถึงพร้อมแห่งสัตถุศาสน์หนอ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร แผ่นดินก็หวั่นไหว ดังนี้ด้วยบุญกรรมแห่งความสำคัญมั่นหมายในพระพุทธเจ้านั้น เขาท่องเที่ยวไปในภูมิเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

    ในกัปที่ ๑๔ แต่ภัทรกัปนี้ท่านได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชผู้ประเสริฐมีนามว่า สมิตะ มีพลมาก

    กำเนิดเป็นเมฆิยมาณพในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

    ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านมีกำเนิดในตระกูลแห่งเจ้าศากยะ ในพระนครกบิลพัสดุ์ ได้นามว่า เมฆิยะ เมฆิยมาณพนั้น เจริญวัยแล้ว บวชในสำนักของพระบรมศาสดา อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่

    ใน ปฐมโพธิกาล ช่วงระยะ ๒๐ ปีแรก นับแต่ที่ได้ทรงตรัสรู้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มีพระอุปฐากประจำ บางคราว พระนาคสมาละถือบาตรและจีวรตามเสด็จ บางคราวพระนาคิตะ บางคราวพระอุปวาณะ บางคราวพระสุนักขัตตะ บางคราวจุนทสมณเทส บางคราวพระสาคตะ บางคราว ท่านพระราธะ บาง คราวพระเมฆิยะ

    ในบรรดาท่านเหล่านั้น หลาย ๆ ท่านก็ไม่สามารถที่จะอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าได้อย่างเหมาะสม เช่น

    ท่านพระนาคิตเถระ โดยที่ท่านมีร่างอ้วน ในการที่จะลุก หรือนั่งเป็นต้นก็อุ้ยอ้ายอืดอาด เพราะพระเถระมีร่างกายหนักจึงดูราวกะว่า ไม่ค่อยจะเคลื่อนไหวได้ การอุปัฏฐากพระบรมศาสดานั้นก็ไม่คล่องตัว ในบางครั้งหลานชายของท่านที่เป็นสามเณรชื่อว่า สีหะ จึงได้กระทำการอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเองแทนท่าน

    ท่านพระราธเถระนั้นเมื่อท่านอุปสมบทก็เมื่ออายุได้ ๘๐ ปี แล้ว การอุปัฏฐากพระบรมศาสดาจึงไม่สะดวกนัก

    ส่วนท่านพระนาคสมาลเถระนั้น มีเรื่องเล่าว่า

    บางคราวพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปทางไกล กับพระนาคสมาละเถระ เสด็จถึงทางสองแพร่ง พระเถระหลีกออกจากทางกราบ ทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์จะไปตามทางนี้

    ทีนั้นพระผู้มี พระภาคเจ้าตรัสกะพระเถระนั้นว่า มานี่ ภิกษุเราจะไปทางนี้ พระเถระนั้นกราบ ทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์รับบาตรและจีวรของพระองค์เถิด ข้าพระองค์จะไปตามทางนี้ แล้วก็เตรียมจะวางบาตรและจีวรลงบนพื้น ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสกะพระเถระนั้นว่า นำมาเถิด ภิกษุ แล้วทรงรับบาตรและ จีวรเสด็จไป เมื่อภิกษุนั้นไปอีกทางหนึ่ง พวกโจรชิงบาตรและจีวรไป และ ตีศีรษะ ภิกษุนั้นคิดว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่งของเรา ไม่มีผู้อื่นแล้ว ได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งที่เลือดไหล เมื่อพระผู้มีระภาคเจ้าตรัสว่า นี่อะไร ภิกษุ จึงกราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส กะภิกษุนั้นว่า อย่าคิดไปเลยภิกษุ เราห้ามเธอถึงเหตุนั้นแล้วทรงปลอบภิกษุนั้น

    พระเมฆิยะไม่ฟังคำพระผู้มีพระภาค

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ จาลิกบรรพต ใกล้เมืองจาลิกาก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระเมฆิยะเป็นอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนาจะเข้าไปบิณฑบาตในชันตุคาม พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเมฆิยะ เธอจงสำคัญกาลที่ควรในบัดนี้

    ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า ท่านพระเมฆิยะครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังชันตุคาม ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในชันตุคามเสร็จแล้ว กลับจากบิณฑบาตในเวลาภายหลังภัต เข้าไปยังฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ท่านพระเมฆิยะเดินเที่ยวพักผ่อนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ได้เห็นอัมพวันอันน่าเลื่อมใสน่ารื่นรมย์ โดยที่ในอดีตกาล บริเวณนั้นเป็นพระราชอุทยาน ที่พระเถระเคยเกิดมาเป็นพระราชาและครอบครองมา ตลอด ๕๐๐ ชาติ ตามลำดับ ด้วยเหตุนั้น จิตของพระเถระนั้นจึงน้อมไปเพื่อจะอยู่ในที่นั้น ในขณะเพียงแค่ได้เห็นเท่านั้น ครั้นเห็นแล้ว ได้มีความคิดดังนี้ว่าอัมพวันนี้ช่างน่าเลื่อมใส น่ารื่นรมย์หนอ ควรเพื่อบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการความเพียร ถ้าพระผู้มีพระภาคพึงอนุญาตเรา เราพึงมายังอัมพวันนี้เพื่อบำเพ็ญเพียร

    ครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เวลาเช้า ข้าพระองค์ครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตในชันตุคาม ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในชันตุคามเสร็จแล้ว กลับจากบิณฑบาตในเวลาภายหลังภัต เข้าไปยังฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญเมื่อข้าพระองค์เดินเที่ยวพักอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ได้เห็นอัมพวันอันน่าเลื่อมใสน่ารื่นรมย์ ครั้นเห็นแล้ว ข้าพระองค์ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า อัมพวันนี้น่าเลื่อมใส น่ารื่นรมย์หนอควรเพื่อบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการความเพียร ถ้าพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตเรา เราพึงมายังอัมพวันนี้เพื่อบำเพ็ญเพียร ถ้าพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตข้าพระองค์ ข้าพระองค์พึงไปยังอัมพวันนั้นเพื่อบำเพ็ญเพียร เมื่อท่านพระเมฆิยะกราบทูลอย่างนี้แล้ว

    พระผู้มีพระภาคสดับคำของพระเถระแล้ว ทรงใคร่ครวญอยู่ ทรงรู้ว่าญาณของพระเถระนั้น ยังไม่แก่กล้าก่อนดังนี้ จึงได้ตรัสห้ามท่านพระเมฆิยะว่า ดูกรเมฆิยะจงรออยู่ก่อน เราอยู่คนเดียว เธอจงรออยู่จนกว่าภิกษุรูปอื่นมาแทนตัว ฯ

    แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระเมฆิยะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่มีกิจอะไรที่จะพึงทำให้ยิ่ง ไม่มีการสั่งสมอริยมรรคที่ทรงทำแล้ว ข้าพระองค์ยังมีกิจที่จะพึงทำให้ยิ่ง ยังมีการสั่งสมอริยมรรคที่ทำแล้ว ถ้าพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตข้าพระองค์ข้าพระองค์พึงไปยังอัมพวันเพื่อบำเพ็ญความเพียร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเมฆิยะ จงรออยู่ก่อน เราอยู่คนเดียว เธอจงรออยู่จนกว่าภิกษุรูปอื่นมาแทนตัว ฯ

    แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระเมฆิยะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่มีกิจอะไรที่จะพึงทำให้ยิ่ง ไม่มีการสั่งสมอริยมรรคที่ทรงทำแล้ว ส่วนข้าพระองค์ยังมีกิจที่จะพึงทำให้ยิ่ง ยังมีการสั่งสมอริยมรรคที่ทำแล้ว ถ้าพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตข้าพระองค์ ข้าพระองค์พึงไปยังอัมพวันนั้นเพื่อบำเพ็ญความเพียร พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดูกรเมฆิยะ เราจะพึงว่าอะไรเธอผู้กล่าวอยู่ว่า บำเพ็ญเพียร ดูกรเมฆิยะ เธอจงสำคัญกาลที่ควรในบัดนี้ ฯ

    ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอนุญาตให้เธอไปในที่นั้น ? เพราะพระองค์ทรงอนุญาตด้วยทรงพระดำริว่า เมฆิยะนี้ถึงแม้เราไม่อนุญาต ก็ยังจะละเราไปอยู่นั่นแหละ อีกทั้งเธอก็จะมีความคิดเป็นอย่างอื่นไปว่าชะรอยพระผู้มีพระภาคเจ้าจะไม่อนุญาตให้เราไป เพราะประสงค์ให้เป็นผู้ปรนนิบัติ ซึ่งถ้าให้เธอคิดเช่นนั้น ก็จะทำให้ไม่เป็นประโยชน์ เกิดทุกข์ตลอดกาลนานแก่เธอ

    พระเมฆิยะถูกอกุศลวิตกเข้าครอบงำ

    ครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้ว เข้าไปยังอัมพวัน อาศัยอัมพวันนั้น นั่งพักกลางวันอยู่ บนแผ่นศิลามงคล ซึ่งวางอยู่ ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง แผ่นศิลานั้นก็เป็นแผ่นศิลาแผ่นเดียวกับที่พระเถระเมื่อครั้งอดีตที่เคยเป็นพระราชาติดต่อกันมา ๕๐๐ ชาติเคยนั่งอยู่ในอุทยานนี้แหละ พร้อมกับทรงเล่นกีฬาและการละเล่นต่าง ๆ แวดล้อมด้วยสาวสนมนางใน ตั้งแต่เวลาที่ท่านพระเถระนั่งลงบนแผ่นศิลานั้นก็ปรากฏเหมือนภาวะแห่งสมณะเพศได้หายไป แต่ทรงเพศเป็นพระราชาเหมือนเมื่อครั้งในอดีต นั่งบนบัลลังก์อันควรค่ามากภายใต้เศวตฉัตร ครั้นเมื่อท่านยินดีสมบัตินั้น กามวิตกก็เกิดขึ้น

    ขณะนั้นเองท่านได้เห็น เหมือนเห็นโจร ๒ คนถูกจับพร้อมด้วยของกลาง ที่ราชบุรุษนำมายืนต่อเบื้องพระพักตร์ พยาบาทวิตกเกิดขึ้นด้วยอำนาจการสั่งให้ฆ่าโจรคนหนึ่ง และวิหิงสาวิตก (ความคิดในทางทำลายหรือก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ) เกิดขึ้นด้วยอำนาจการสั่งให้จองจำโจรคนหนึ่ง

    เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านได้เป็นผู้ถูกครอบงำด้วยอกุศลวิตก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตกวิหิงสาวิตก เกิดความฟุ้งซ่านเป็นอันมาก ท่านพระเมฆิยะจึงได้มีความคิดดังนี้ว่า ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์หนอ ไม่เคยมีมาแล้วหนอ กุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาก็ยังถูกอกุศลวิตกอันลามก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกครอบงำ ฯ

    พระเถระเมื่อฟุ้งซ่านไปด้วยมิจฉาวิตกอย่างนี้ เมื่อไม่อาจทำกรรมฐานให้เป็นสัปปายะ จึงเห็นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงเห็นกาลไกล ได้เห็นเหตุอันน่าอัศจรรย์นี้หนอ จึงทรงห้าม คิดว่า เราจักกราบทูลเหตุนี้แด่พระทศพล จึงลุกขึ้นจากอาสนะที่นั่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลเรื่องของตน

    พระผู้มีพระภาคแสดงธรรมโปรดพระเถระ

    เมื่อท่านนั่งกราบทูลเรื่องราวของตนอย่างนี้ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงธรรมอันเป็นสัปปายะ สำหรับบ่มวิมุตติแก่เธอ จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนา มีความโดยสรุปดังนี้

    ดูกรเมฆิยะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

    เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นธรรมประการที่ ๑

    เป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระแลโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นธรรมประการที่ ๒

    เป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาเครื่องขัดเกลากิเลส เป็นไปเพื่อเป็นที่สบายในการเปิดจิต เพื่อเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา ศีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา นี้เป็นธรรมประการที่ ๓

    เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม นี้เป็นธรรมประการที่ ๔

    เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นธรรมประการที่ ๕

    ดูกรเมฆิยะ ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า

    ต่อแต่นั้น เมื่อจะตรัสบอกกรรมฐานแห่งพระอรหัต จึงตรัสว่า

    ดูกรเมฆิยะ ก็แลอันภิกษุนั้นตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้วพึงเจริญธรรม ๔ ประการให้ยิ่งขึ้นไป คือ

    พึงเจริญอสุภะเพื่อละราคะ

    พึงเจริญเมตตาเพื่อละพยาบาท

    พึงเจริญอานาปานสติเพื่อตัดวิตก

    พึงเจริญอนิจจสัญญาเพื่อเพิกถอนอัสมิมานะ

    ดูกรเมฆิยะ อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญา ผู้ที่ได้อนัตตสัญญาย่อมบรรลุนิพพาน อันเป็นที่เพิกถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะในปัจจุบันเทียว ฯ


    พระเถระบรรลุธรรม

    ลำดับนั้น เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระเมฆิยเถระตั้งอยู่ในโอวาทนั้น เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว
     
  7. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,801
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    พระโมฆราชเถระ เอตทัคคะเป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง

    การที่ท่านพระโมฆราชเถระท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดา ให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง นั้นก็เนื่องด้วยเหตุ ๒ ประการคือ ๑. พระเถระองค์นี้ทรงผ้าบังสุกุลจีวร ที่ประกอบด้วยความเศร้าหมอง ๓ อย่าง คือ เศร้าหมองด้วยผ้า เศร้าหมองด้วยด้าย เศร้าหมองด้วยเครื่องย้อม เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็น ยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง และอีกเหตุหนึ่งก็คือเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัล์ป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้

    บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตระพุทธเจ้า

    ในกัล์ปนับจากภัทรกัล์ปนี้ไปแสนหนึ่ง พระพิชิตมารพระนามว่าปทุมุตระ ได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ได้ทรงทำให้มหาชนเป็นอันมาก ให้ข้ามพ้นวัฏสงสารไปได้

    ครั้งนั้น ท่านเป็นผู้รับใช้ของสกุลหนึ่ง ในพระนครหงสวดี ยากจนไม่มีทรัพย์สินอันใด ท่านได้พักอาศัยอยู่ที่พื้นที่เขาสร้างไว้เพื่อเป็นหอฉัน ครั้งหนึ่งท่านได้ก่อไฟที่พื้นหอฉันนั้น ทำให้พื้นศิลานั้นดำไปเพราะเขม่าไฟลน วันหนึ่งท่านได้ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดาพระองค์นั้น ครั้งนั้นพระโลกนาถได้ทรงสถาปนาพระภิกษุรูปหนึ่งให้เป็นเลิศกว่าพระสาวกเหล่าอื่นผู้ทรงจีวรเศร้าหมองในที่ประชุมชน ท่านชอบใจในคุณของท่าน จึงได้ปฏิบัติพระตถาคตด้วยปรารถนาในตำแหน่งนั้นบ้าง คือ ความเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง

    ครั้งนั้น พระปทุมุตรพุทธเจ้า ได้ตรัสกับพระสาวกทั้งหลายว่า จงดูบุรุษนี้ ผู้มีผ้าห่มน่าเกลียด ผอมเกร็ง แต่มีใบหน้าอันผ่องใสเพราะปีติ ประกอบด้วยทรัพย์ คือศรัทธา มีกายและใจสูง ร่าเริง ไม่หวั่นไหว อุดมไปด้วยธรรมที่เป็นสาระ บุรุษนี้ชอบใจในคุณของภิกษุผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง ปรารถนาฐานันดรนั้นอย่างจริงใจ เราได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว ก็เบิกบาน ถวายบังคมพระพิชิตมารด้วยเศียรเกล้า ทำแต่กรรมที่ดีงามในศาสนาของพระชินเจ้าตราบเท่าสิ้นชีวิต

    เพราะกรรมที่ทำไว้ดีนั้น และเพราะการตั้งเจตน์จำนงไว้ เมื่อท่านสิ้นชีวิตแล้ว ก็ได้ไปบังเกิดสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่เพราะกรรมคือการก่อไฟที่พื้นศิลาที่หอฉัน ทำให้พื้นนั้นสกปรกดำไปเพราะฤทธิ์เพลิง เมื่อพ้นจากภูมิเทวดา ท่านจึงถูกเวทนาเบียดเบียน หมกไหม้อยู่ในนรกเป็นเวลาพันปี และด้วยเศษของกรรมที่ยังเหลืออยู่นั้น เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ในคราวใด ก็จะมีตำหนิที่ผิดพรรณถึง ๕๐๐ ชาติ และเพราะอำนาจกรรมนั้น ท่านจึงเกิดเป็นมนุษย์ผู้ทุกข์ด้วยการเป็นโรคเรื้อน อีก ๕๐๐ ชาติเหมือนกัน

    บุรพกรรมในการถวายทานแด่พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า

    ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า อัตถทัสสี ท่านบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ เติบใหญ่ขึ้นก็ได้เล่าเรียนจนถึงความสำเร็จในวิชา และศิลปะของพราหมณ์ทั้งหลาย วันหนึ่งท่านออกจากเรือนไปพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลาย ครั้นแล้วก็ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จดำเนินไปในถนน ก็บังเกิดจิตเลื่อมใส ถวายบังคมพระบรมศาสดาด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ประนมกรอัญชลีไว้เหนือเศียร แล้วประกาศสรรเสริญพระศาสดาด้วยคาถา ๖ คาถา แล้วน้อมน้ำผึ้งเข้าไปถวายจนเต็มภาชนะ. พระศาสดาทรงรับประเคนน้ำผึ้งแล้ว ทรงกระทำอนุโมทนา

    แล้วเสด็จเหาะขึ้นสู่นภากาศ ทรงประทับอยู่ในอากาศ แล้วตรัสพยากรณ์ว่า ผู้ใดสรรเสริญพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดด้วยจิตอันเลื่อมใส ผู้นั้นจะไม่ไปสู่ทุคติ จักเสวยเทวรัชสมบัติ ๔๖ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าประเทศราช ครอบครองแผ่นดิน ๘๐๐ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าประเทศราช เสวยสมบัติอยู่ในแผ่นดินนับไม่ถ้วน จักเป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์รู้จบไตรเพท จักบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่าโคดม จักพิจารณาอรรถอันลึกซึ้ง อันละเอียดได้ด้วยญาณ จักเป็นสาวกของพระศาสดา มีนามว่า "โมฆราช" จักถึงพร้อมวิชชา ๓ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ พระโคดมผู้ทรงเป็นยอดของผู้นำหมู่ จักทรงตั้งผู้นั้นไว้ ในเอตทัคคสถาน ดังนี้ ท่านได้กระทำกรรมดีจนตลอดชีวิต ครั้นละจากภพมนุษย์นี้ไปแล้ว ก็เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิมนุษย์และเทวดา

    บุรพกรรมสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

    ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า ท่านเกิดเป็นศิษย์คนหนึ่ง ของอาจารย์ผู้เป็นช่างไม้คนหนึ่งชาวกรุงพาราณสี ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ทางด้านช่างไม้อย่างไม่มีใครเทียบในสำนักอาจารย์ของตน ช่างไม้นั้นมีศิษย์ ๑๖ คน ศิษย์คนหนึ่ง ๆ มีศิษย์คนละ ๑,๐๐๐ คน รวมอาจารย์และศิษย์เหล่านั้นเป็น ๑๖,๐๑๗ คนอย่างนี้ ทั้งหมดนั้นอาศัยอยู่ในกรุงพาราณสี เลี้ยงชีพอยู่ด้วยการเอาไม้ในแถบภูเขามาสร้างเป็นปราสาทชนิดต่าง ๆ แล้วผูกแพนำมาขายยังกรุงพาราณสีทางแม่น้ำคงคา หากพระราชาทรงต้องการก็จะสร้างปราสาทชั้นเดียว หรือเจ็ดชั้นถวาย หากไม่ทรงต้องการ ก็จะขายคนอื่นเลี้ยงบุตรภรรยา

    ลำดับนั้นวันหนึ่ง อาจารย์ของศิษย์เหล่านั้นคิดว่า เราไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการเป็นช่างไม้ได้ตลอดไป เพราะถึงคราวแก่ตัวลงก็จะทำงานนี้ได้ยาก จึงเรียกศิษย์ทั้งหลายมาบอกว่า นี่แน่ะท่านทั้งหลาย พวกท่านจงไปนำต้นไม้ที่มีแก่นน้อยมีน้ำหนักเบา เช่นต้นมะเดื่อเป็นต้นมาให้เรา ศิษย์เหล่านั้นรับคำแล้วต่างก็ ไปนำมา อาจารย์นั้นเอาไม้นั้นมาประดิษฐ์เป็นรูปนกแล้วใส่เครื่องกลไกเข้าไปภายในนกนั้น นกไม้ยนต์นั้นก็สามารถบินขึ้นสู่อากาศดุจพญาหงส์ เที่ยวไปเบื้องบนป่าแล้วบินลงเบื้องหน้าศิษย์ทั้งหลาย

    ลำดับนั้น อาจารย์จึงถามศิษย์ทั้งหลายว่า นี่แน่ะท่านทั้งหลาย เราทำพาหนะไม้เช่นนี้ได้ ก็จะสามารถยึดราชสมบัติได้ การเลี้ยงชีพด้วยศิลปะการเป็นช่างไม้ลำบาก ศิษย์เหล่านั้นจึงได้ดำเนินการตามที่อาจารย์สั่ง ครั้นสำเร็จแล้วจึงได้แจ้งให้อาจารย์ทราบ ลำดับนั้นอาจารย์จึงปรึกษากับพวกศิษย์ว่า เราจะยึดราชสมบัติที่ไหนก่อน พวกศิษย์ตอบว่า ยึดราชสมบัติกรุงพาราณสีซิ ท่านอาจารย์ อาจารย์กล่าวว่า อย่าเลยพวกท่าน ไม่ดีดอก เพราะแม้พวกเราจะยึดราชสมบัติกรุงพาราณสีได้ ก็จะไม่พ้นจากการพูดถึงอาชีพเดิมของเราคือช่างไม้ว่า เราเป็นพระราชาช่างไม้ เรามีพระยุพราชช่างไม้ ชมพูทวีปออกใหญ่โต เราไปที่อื่นกันเถิด

    ลำดับนั้น พวกศิษย์พร้อมด้วยลูกเมียขึ้นนกยนต์พร้อมด้วยอาวุธ มุ่งหน้าไปหิมวันตประเทศ เข้าไปยังนครหนึ่งในหิมวันต์ แล้วพากันบุกเข้าไปถึงพระราชมณเฑียรนั่นเองด้วยนกยนต์ ศิษย์เหล่านั้นก็สามารถยึดราชสมบัติในนครนั้นได้โดยง่าย จากนั้นจึงอภิเษกอาจารย์ไว้ในฐานะพระราชา ชื่อว่าพระเจ้ากัฏฐวาหนะ นครนั้นจึงได้ชื่อว่า กัฏฐวาหนคร

    พระราชากัฏฐวาหนะได้ทรงดำรงอยู่ในธรรม ทรงตั้งพระยุพราช และทรงตั้งศิษย์ทั้ง ๑๖ คน ไว้ในตำแหน่งอาจารย์ พระราชาทรงสงเคราะห์ศิษย์เหล่านั้นด้วยสังคหวัตถุ ๔ จึงเป็นแคว้นที่มั่งคั่ง สมบูรณ์และไม่มีอันตราย ทั้งชาวเมืองชาวชนบทนับถือพระราชาและข้าราช การเป็นอย่างยิ่ง พูดกันว่า พวกเราได้พระราชาที่ดี ข้าราชบริพารก็เป็นคนดี

    อยู่มาวันหนึ่ง พวกพ่อค้าจากมัชฌิมประเทศ นำสินค้ามาสู่กัฏฐวาหนนคร และนำเครื่องบรรณาการไปเฝ้าพระราชา พระราชาตรัสถามว่า พวกท่านมาจากไหน พวกพ่อค้าทูลว่า ขอเดชะ มาจากกรุงพาราณสีพระเจ้าข้า พระราชาตรัสถามเรื่องราวทั้งหมด ณ กรุงพาราณสีนั้นแล้วตรัสว่า พวกท่านจงนำมิตรภาพของเราไปทูลกับพระราชาของพวกท่านเถิด พ่อค้าเหล่านั้นรับพระราชดำรัสแล้ว พระราชาพระราชทานเสบียงแก่พวกพ่อค้าเหล่านั้น เมื่อถึงเวลาไปยังตรัสชี้แจงด้วยความใส่พระทัย

    พวกพ่อค้ากลับไปกรุงพาราณสีได้กราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาตรัสว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเราจะงดเก็บส่วยของพ่อค้าที่มาจากแคว้นกัฏฐวาหะ แล้วทรงให้ป่าวประกาศว่า พระราชากัฏฐวาหนะจงเป็นพระสหายของเรา พระราชาทั้งสองได้เป็นมิตรกันโดยไม่ได้เห็นกันเลย แม้พระราชากัฏฐวาหนะ ก็ทรงให้ป่าวประกาศไปทั่วนครว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ท่านจงงดเก็บส่วยของพ่อค้าที่มาจากกรุงพาราณสี และควร ให้เสบียงแก่พวกเขาด้วย

    ลำดับนั้นพระเจ้าพาราณสี ทรงส่งพระราชสารไปถวายแด่พระเจ้ากัฏฐวาหนะว่า หากมีอะไรแปลก ๆ อันสมควรเพื่อจะเห็น เพื่อจะฟังในชนบทนั้นเกิดขึ้นเพื่อให้ข้าพระองค์ได้เห็นและได้ฟังบ้าง ก็ขอได้โปรดพระราชทานพระกรุณาด้วย พระราชกัฏฐวาหนะทรงส่งพระ ราชสารตอบถวายพระราชาพาราณสีเหมือนกัน พระราชาทั้งสองทรงกระทำกติกากันอยู่อย่างนั้น

    คราวหนึ่ง พระราชากัฏฐวาหนะได้ผ้ากัมพลเนื้อละเอียดยิ่งนัก มีค่ามากเหลือเกิน มีสีคล้ายรัศมีพระอาทิตย์อ่อน ๆ พระราชากัฏฐวาหนะทอดพระเนตรเห็นผ้ากัมพลเหล่านั้น ทรงดำริว่า เราจักส่งไปให้สหายของเราจึงให้ช่างทำงา สลักผอบงา ๘ ใบ เอาผ้ากัมพลใส่ลงในผอบเหล่านั้น ผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ ยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอก ก็สามารถบรรจุลงในผอบงาใบเล็ก ๆ ได้ จากนั้นจึงให้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับครั่งทำก้อนครั่งกลมหุ้มข้างนอก เอาครั่งเป็นก้อนกลม ๘ ก้อนใส่ไว้ในสมุก เอาผ้าพันไว้ประทับตราแล้วทรงส่งอำมาตย์ไป รับสั่งว่า พวกท่านจงนำไปถวายพระราชาพาราณสี และทรงจารึกพระอักษรว่า บรรณาการนี้ อันหมู่อำมาตย์ท่ามกลางพระนครพึงสนใจ และส่งให้พวกอำมาตย์นำ ไปถวายแด่พระเจ้าพาราณสี

    พระเจ้าพาราณสีทรงอ่านคำจารึกแล้วรับสั่ง ให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ ทรงแกะตราประทับแล้วคลี่ผ้าพันออก เมื่อเปิดสมุกก็ทรงเห็นก้อนครั่งกลม ๘ ก้อน พระเจ้าพาราณสีทรงอายว่าสหายของเราส่งก้อนครั่งกลมให้เรา คล้ายกับให้เด็กอ่อนเล่นก้อนครั่งกลม จึงทรงทุบก้อนครั่งก้อนหนึ่ง ณ พระที่นั่งของพระองค์ ทันใดนั้นเอง ครั่งก็ แตกออก ผอบงาจึงตกมาแล้วแยกออกเป็นสองส่วน ทอดพระ เนตรเห็นผ้ากัมพลอยู่ข้างใน จึงทรงเปิดผอบอื่น ๆ ออกดู ในผอบแต่ละใบได้บรรจุผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ ยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอกเหมือน ๆ กัน มหาชนเห็นดังนั้นต่างก็ได้มีความพอใจว่า พระราชากัฏฐวาหนะ ซึ่งเป็นพระอทิฏฐสหาย (สหายที่ไม่เคยเห็นกัน) ของพระราชาของเราทรงส่งบรรณาการเช่นนี้มาถวาย การทำไมตรีเช่นนี้สมควรแล้ว พระราชารับสั่งให้เรียกพ่อค้ามาตีราคาผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ พ่อค้าเห็นผ้ากัมพลนั้นแล้วกราบทูลว่า ผ้ากัมพลทั้งหลายนี้ประมาณค่ามิได้เลย ลำดับนั้น พระเจ้าพาราณสีทรงดำริว่า การส่งบรรณาการตอบแทน ก็ควรจะส่งให้เหนือกว่าบรรณการที่ส่งมาถวาย สหายของเราส่งบรรณาการหาค่ามิได้มาให้เรา เราควรจะส่งอะไรให้สหายดีหนอ

    ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะทรงอุบัติขึ้นแล้ว ประทับอยู่ ณ กรุงพาราณสี ครั้งนั้นพระราชาได้มีพระราชดำริว่า สิ่งอื่นจะ สูงสุดยิ่งกว่าพระรัตนตรัยไม่มี เอาเถิด เราจะส่งข่าวว่าพระรัตนตรัยเกิดขึ้นแล้ว แก่สหาย พระเจ้าพาราณสีนั้น ตรัสให้จารึกคาถานี้ว่า

    พระพุทธเจ้า ทรงอุบัติขึ้นพร้อมแล้วในโลก

    เพื่อประโยชน์เกื้อกูล แก่สัตว์ทั้งปวง

    พระธรรม เกิดขึ้นพร้อมแล้วในโลก

    เพื่อความสุขแก่สัตว์ทั้งปวง

    พระสงฆ์เกิดขึ้นพร้อมแล้วในโลก

    เป็นบุญเขต ที่ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า ดังนี้

    และให้จารึกการปฏิบัติของภิกษุรูปหนึ่งตราบเท่าถึงพระอรหัต ด้วยชาดสีแดงลงบนแผ่นทอง ใส่ลงในสมุกทำด้วยแก้ว ๗ ประการ ใส่สมุกนั้นลงในสมุกทำด้วยแก้วมณี ใส่สมุกทำด้วยแก้วมณีลงในสมุกแก้วตาแมว ใส่สมุกแก้วตาแมวลงในสมุกทับทิม ใส่สมุกทับทิมลงในสมุกทองคำ ใส่สมุกทองคำลงในสมุกเงิน ใส่สมุกเงินลงในสมุกงาช้าง ใส่สมุกงาช้างลงในสมุกไม้แก่น ใส่สมุกไม้แก่นลงในหีบ เอาผ้าพันหีบแล้วประทับตราพระราชลัญจกร ทรงให้นำช้างเมามันตัวประเสริฐ มีธงทองคำประดับด้วยทองคำ คลุมด้วยตาข่ายทองให้ตกแต่งบัลลังก์บนช้างนั้น แล้วยกหีบวางไว้บนบัลลังก์ กั้นเศวตฉัตร บูชาด้วยของหอมและดอกไม้ทุกชนิด ขับเพลงสรรเสริญหนึ่งร้อยบท ด้วยกังสดาลทุกชนิด เคลื่อนไป แล้วทรงให้ตกแต่งทางตลอดระยะไปจนถึงเขตรัฐสีมาของพระองค์ แล้วทรงนำไปด้วยพระองค์เอง เสด็จประทับอยู่ ณ ทางนั้น

    ทรงนำไปจนถึงเขตรัฐสีมาของพระราชากัฏฐวาหนะ พระราชากัฏฐวาหนะได้ทรงสดับข่าวนั้น ก็เสด็จมาต้อนรับ ทรงกระทำการต้อนรับเหมือนเช่นที่พระราชาแห่งกรุงพาราณสีทรงกระทำ แล้วทูลเชิญให้เสด็จเข้าพระนคร รับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ และพวกชาวพระนคร ทรงเปลื้องผ้าพันออก ณ พระลานหลวง ทรงเปิดหีบทอดพระเนตรเห็นสมุกในหีบ แล้วทรงเปิดหีบทั้งหมดตามลำดับ ทอดพระเนตรเห็นจารึกบนแผ่นทองคำ ทรงพอพระทัยว่า สหายของเราทรงส่งรัตนบรรณาการ ซึ่งหาได้ยากอย่างยิ่งตลอด แสนกัป พวกเราได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟังว่า พุทโธ โลเก อุปปนโน พระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วในโลกดังนี้

    ทรงดำริว่า ถ้ากระไรเราควรจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และฟังพระธรรม ดังนี้แล้วตรัสเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมารับสั่งว่า ได้ยินว่า พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ อุบัติแล้วในโลก พวกท่านคิดว่าควรจะทำอะไร อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ประทับอยู่ ณ ที่นี้แหละ พวกข้าพระองค์จักไปฟังข่าวดู พระเจ้าข้า

    ลำดับนั้น อำมาตย์ ๑๖ คน พร้อมด้วยบริวาร ๑๖,๐๐๐ คน ถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า ผิว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก พวกข้าพระพุทธเจ้าก็คงไม่มีการกลับมาเห็นอีก หากว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงอุบัติ พวกข้าพระพุทธเจ้าก็จักกลับมา กราบทูลดังนั้นแล้วก็ถวายบังคมลาแล้วก็พากันเดินทางไป ฝ่ายพระเจ้าหลานเธอของพระราชาพระองค์หนึ่ง ถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าก็จะไป พระราชาตรัสว่า เมื่อเจ้าทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติ ณ ที่นั้นแล้ว จงกลับมาบอกเราด้วย พระเจ้าหลานเธอรับพระบัญชาแล้วจึงได้ไป พวกเขาแม้ทั้งหมดไปตลอดทางพักเพียงราตรีเดียว ก็ถึงพระนครพาราณสี

    ในระหว่างที่พวกอำมาตย์ยังเดินทางไปกรุงพาราณสีนั่นเอง ยังไม่ทันถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จดับขันธปรินิพพานไปเสียก่อนแล้ว เมื่อเหล่าอำมาตย์มาถึง พวกเขาก็เที่ยวไปจนทั่ววิหาร แลเห็นเหล่าพระสาวกอยู่กันพร้อมหน้า จึงถามว่าใครเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน พระสาวกเหล่านั้นจึงบอกแก่พวกเขาว่า พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเสียแล้ว เหล่าอำมาตย์จึงถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า พระโอวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้ยังมีอยู่หรือไม่ พระสาวกเหล่านั้นกล่าวว่า มีอยู่ อุบาสก คือพึงตั้งอยู่ในพระรัตนตรัย พึงสมาทานศีล ๕ พึงเข้าอยู่จำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ พึงให้ทาน พึงปฏิบัติธรรม

    อำมาตย์เหล่านั้นครั้นได้ฟังแล้วพากันบวชทั้งหมด เว้นแต่อำมาตย์ผู้เป็นพระเจ้าหลานเธอนั้น อำมาตย์ผู้เป็นพระเจ้าหลานเธอ ถือ เอาบริโภคธาตุ (ต้นโพธิ์ บาตรและจีวร เป็นต้น ชื่อว่า บริโภคธาตุ) มุ่งหน้ากลับไปยังแคว้นกัฏฐวาหนะ พระเจ้าหลานเธอนี้ถือเอาธมกรก (หม้อกรองน้ำ) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า และพาพระเถระรูปหนึ่งผู้ทรงธรรมและวินัยไปยังพระนครโดยลำดับ ได้กราบทูลพระราชาว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลกและเสด็จปรินิพพานแล้ว ได้กราบทูลถึงโอวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้ พระราชาเสด็จเข้าไปหาพระเถระฟังธรรมแล้วรับสั่งให้สร้างวิหาร ประดิษฐานพระเจดีย์ ปลูกต้นโพธิ์ ทรงดำรงอยู่ในพระรัตนตรัย และ ศีล ๕ เป็นนิจ ทรงเข้าอยู่จำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ทรงให้ทาน ทรงดำรงอยู่ตราบเท่าอายุแล้วไปยังบังเกิดในกามาวจรเทวโลก แม้อำมาตย์ ๑๖,๐๐๐ คน ก็พากันบวช แล้วมรณภาพเยี่ยงปุถุชน ยังไม่ได้มรรคผลอันใด แล้วได้ไปเกิดเป็นบริวารของพระราชาผู้เป็นเทวดานั้นนั่นเอง

    สมัยพระสมณโคดมพุทธกาล

    เมื่อเวลาผ่านไปพุทธันดรหนึ่ง ในภัทรกัป สมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรายังไม่ทรงอุบัติ พระราชาและอำมาตย์เหล่านั้นที่บังเกิดเป็นเทวดาเสวยสุขอยู่ในเทวโลกก็ได้จุติลงมาเกิดในโลกมนุษย์

    พระราชาและอำมาตย์เหล่านั้นที่บังเกิดเป็นเทวดาเสวยสุขอยู่ในเทวโลกก็ได้จุติจากเทวโลก

    พระราชาเกิดเป็นบุตรของปุโรหิตของพระเจ้ามหาโกศลผู้เป็นพระชนกของพระเจ้าปเสนทิ มีชื่อว่า พาวรี ประกอบด้วย มหาปุริสลักษณะ ๓ ประการ ได้เล่าเรียนวิชาพราหมณ์จนจบไตรเทพ ครั้นเมื่อบิดาล่วงลับไปก็ได้ดำรงตำแหน่งปุโรหิตแทน

    ส่วนอำมาตย์ผู้ใหญ่ ๑๖ คนนั้น ในภพสุดท้ายนี้ หนึ่งในนั้นก็ถือปฏิสนธิในครอบครัวพราหมณ์ในกรุงสาวัตถี บิดามารดาได้ตั้งชื่อว่า โมฆราชะ และอำมาตย์ผู้ใหญ่ที่เหลืออีก ๑๕ คน และอำมาตย์ที่เป็นบริวารอีก ๑๖,๐๐๐ คน ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ที่กรุงสาวัตถีนั้นนั่นเอง

    ท่านโมฆราชะเมื่อมีอายุพอจะศึกษาศิลปวิทยาแล้ว บิดามารดาจึงนำไปฝากเป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวนศิษย์ ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรี ซึ่งท่านและศิษย์ผู้ใหญ่อีก ๑๕ คนนั้นต่างก็มีศิษย์คนละ ๑,๐๐๐ คน รวมทั้งสิ้น ๑๖,๐๐๐ คน

    เมื่อพระราชามหาโกศลได้เสด็จสวรรคต พระเจ้าปเสนทิจึงได้อภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ พาวรีพราหมณ์ก็ได้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทินั้นอีก พระราชาได้พระราชทานสิ่งของที่พระชนกพระราชทานไว้ และสมบัติอื่นแก่พาวรีปุโรหิตเป็นอันมาก พระราชานั้นเมื่อยังทรงพระเยาว์ ก็ได้เรียนศิลปะในสำนักของพาวรีปุโรหิตเหมือนกัน

    พาวรีปุโรหิตออกบวช

    ลำดับนั้น พาวรีได้ทูลแด่พระราชาว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จักบวช พระราชาตรัสว่า ท่านอาจารย์ เมื่อท่านดำรงอยู่ก็เหมือนบิดาของข้าพเจ้ายังอยู่ ท่านอย่าบวชเลย พาวรีทูลว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จักบวชแน่พระเจ้าข้า พระราชาเห็นว่าไม่ทรงสามารถห้ามได้ จึงทรงขอร้องว่า ขอท่านจงบวชอยู่ในพระราชอุทยานนี้เถิด ข้าพเจ้าจะได้เห็นทุกเย็นและเช้า อาจารย์พร้อมด้วย ศิษย์ ๑๖ คน กับบริวารอีก ๑๖,๐๐๐ คน ได้บวชเป็นดาบสอยู่ในพระราชอุทยาน พระราชาทรงบำรุงด้วยปัจจัย ๔ เสด็จไปทรงอุปัฏฐากอาจารย์นั้น ทุกเวลาเย็นและเวลาเช้า

    พราหมณ์พาวรีย้ายสำนักออกไปนอกพระนคร

    อยู่มาวันหนึ่งศิษย์ทั้งหลายกล่าวกะอาจารย์ว่า การอยู่ใกล้พระนครมีเครื่องพัวพันมาก ท่านอาจารย์เราไปหาโอกาสที่ไม่มีชนรบกวนเถิด ชื่อว่าการอยู่ในเสนาสนะอันสงัด เป็นประโยชน์มากแก่บรรพชิตทั้งหลาย อาจารย์ รับว่า ดีละ จึงไปทูลพระราชา พระราชาตรัสห้ามถึง ๓ ครั้งก็ไม่สามารถจะห้ามได้ จึงพระราชทานกหาปณะ ๒๐๐,๐๐๐ กหาปณะ รับสั่งกะอำมาตย์ทั้ง หลายว่า พวกเจ้าทรงสร้างอาศรมถวาย ในที่ที่คณะฤๅษีปรารถนาจะอยู่เถิด แต่นั้นอาจารย์พร้อมด้วยชฏิล ๑๖,๐๐๐ เป็นบริวาร ได้รับอนุเคราะห์จากพวก อำมาตย์จึงออกจากอุตตรชนบท มุ่งหน้าไปทักษิณชนบท

    ครั้นเมื่อพาหมู่คณะเดินทางมาถึงบริเวณใกล้พรมแดนใน ระหว่างสองแคว้น คือ แคว้นอัสสกะและแคว้นมุฬกะซึ่งเป็นภุมิประเทศที่ แม่น้ำโคธาวารีแยกออกเป็นสองสาย แล้วมาบรรจบกันอีกครั้งหนึ่ง เกิดเป็นเกาะกว้างยาวประมาณ ๓ โยชน์ เกาะทั้งหมดปกคลุมไปด้วยป่ามะขวิด เมื่อก่อน ณ บริเวณนั้นสรภังคดาบสเป็นต้นได้อาศัยอยู่

    อาจารย์เห็นเช่นนั้นแล้วจึงประกาศแก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า ประเทศนี้เป็นที่อยู่ของสมณะมาก่อน ประเทศนี้สมควรแก่นักบวช พวกอำมาตย์จึงได้ให้ทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ แก่พระเจ้าอัสสกะ อีก ๑๐๐,๐๐๐ ให้แก่พระเจ้ามุฬกะ เพื่อการครอบครองถือเอาภูมิประเทศนั้น พระราชาทั้งสองนั้นได้พระราชทานที่บริเวณเกาะนั้นและบริเวณอื่นประมาณ ๒ โยชน์ รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๕ โยชน์ ซึ่งอยู่ในระหว่างเขตรัฐสีมาของพระราชาเหล่านั้น พวกอำมาตย์ก็ได้สร้างอาศรม ณ ที่นั้นแล้วและให้นำทรัพย์มาจากกรุงสาวัตถีมาจัดตั้งเป็นโคจรคามเสร็จแล้วพากันกลับไป

    พาวรีพราหมณ์และเหล่าศิษย์ ทั้ง ๑๖,๐๑๖ คนก็เลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยการเที่ยวภิกขาและผลไม้ ต่อมาก็ได้มีชาวบ้านซึ่งเลื่อมใสในวัตรของพราหมณ์ เข้ามาปลูกสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยอยู่บนที่ดินของพราหมณ์เหล่านั้น โดยได้รับอนุญาตจากพวกพราหมณ์ เกิดเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น ชาวบ้านที่อาศัยพราหมณ์พาวรีนั้นก็เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยผลอันเกิดจากการกสิกรรม ครั้นครบรอบปีเหล่าชาวบ้านก็รวบรวมเงินจากแต่ละครอบครัวเพื่อเป็นส่วยให้แก่พระราชา และถือเอาส่วยนั้นไปเฝ้าพระเจ้าอัสสกะ ทูลกับพระราชาว่า ขอพระองค์ทรงรับส่วยนี้เถิด พระเจ้าอัสสกะตรัสว่า เราไม่รับ พวกท่านจงนำไปถวายอาจารย์เถิด พวกชาวบ้านก็นำส่วย ๑๐๐,๐๐๐ นั้นมามอบต่อพาวรีพราหมณ์

    พาวรีพราหมณ์กล่าวว่า ถ้าเราต้องการเงินทอง ก็ไม่พึงสละทรัพย์สินมากมายของเราออกบวช พวกท่านจงรับเอากหาปณะของพวกท่านคืนไปเสีย พวกชาวบ้านบอกว่า พวกเราจะไม่ยอมรับทรัพย์ที่พวกเราบริจาคแล้วอีก ยิ่งไปกว่านั้นพวกเราจะนำทรัพย์มาให้ท่านทำนองนี้ทุก ๆ ปี ถ้าท่านไม่รับเพื่อประโยชน์ตนเองละก็ ขอท่านจงรับกหาปณะเหล่านี้ไว้ให้ทานก็แล้วกัน พราหมณ์จึงยอมรับทรัพย์ดังกล่าวไว้ โดยเก็บไว้ในเพื่อการให้ทานแก่ผู้กำพร้า คนเดินทางไกล วณิพกและยาจก

    อาจารย์นั้นกระทำมหายัญคือ คือการให้ทานจากทรัพย์ดังกล่าวเป็นประจำทุก ๆ ปี ปีละครั้งอย่างนี้ กิติศัพท์การทำมหาทานของพราหมณ์พาวรีก็กระจายไปทั่วชมพูทวีป

    พราหมณ์พาวรีโดนพราหมณ์ผู้มาขอรับทานสาปแช่ง

    ครั้งนั้น ในหมู่บ้านทุนนวิตถะ ในแคว้นกลิงคะ นางพราหมณีสาว ผู้เป็นภริยาของพราหมณ์เฒ่าผู้เกิดมาในวงศ์ของชูชกพราหมณ์ ได้ทราบข่าวการทำทานดังกล่าวของพราหมณ์พาวรี จึงลุกขึ้นเตือนพราหมณ์ผู้เป็นสามีว่า เขาว่า พาวรีกำลังให้ทาน ท่านจงไปรับบริจาคเงินทองมาจากที่นั้น พราหมณ์นั้นถูกพราหมณีพูดดังนั้นก็ไม่อาจทนอยู่ได้จึงได้ออกเดินทางไปยังสำนักของพราหมณ์พาวรี ครั้นเมื่อไปถึง ก็เป็นวันที่พราหมณ์พาวรีได้กระทำมหาทานไปเสียแล้วตั้งแต่เมื่อวันวาน ซึ่งเมื่อให้ทานแล้ว พราหมณ์พาวรีก็เข้าบรรณศาลากำลังนอนนึกถึงทานที่ตนได้กระทำไปนั้น

    ครั้นเข้าไปถึงก็พูดว่า “ท่านพราหมณ์ โปรดให้ทานแก่ข้าเถิด ท่านพราหมณ์โปรดให้ทานแก่ข้าเถิด”

    พาวรีพราหมณ์กล่าวว่า “ท่านพราหมณ์ ท่านมาไม่ถูกเวลา เราให้ทานแก่พวกยาจกที่มาถึงไปแล้ว บัดนี้ไม่มีกหาปณะดอก”

    พราหมณ์พูดว่า “ท่านพราหมณ์ ข้าไม่ต้องการกหาปณะมากมายเลย ข้าขอเพียง ๕๐๐ กหาปณะ ”

    พาวรีพราหมณ์ “ท่านพราหมณ์ ๕๐๐ กหาปณะก็ไม่มี เมื่อถึงเวลาให้ทานครั้งหน้า ท่านจึงได้”

    พราหมณ์พูดว่า “ก็เวลาท่านให้ทาน ข้าจักมาได้อย่างไร” แล้วจึงทำกลอุบายเพื่อให้พาวรีพราหมณ์เกิดความกลัว โดยก่อทรายเป็นสถูปใกล้ประตูบรรณศาลา โรยดอกไม้สีแดงไปรอบ ๆ ทำปากขมุบ ขมิบเหมือนบ่นมนต์แล้วพูดว่า “เมื่อเราขอ แล้วท่านไม่ให้ไซร้ ในวันที่ ๗ ศีรษะของท่านจะแตก ๗ เสี่ยง”

    พราหมณ์พาวรีฟังคำของพราหมณ์นั้นแล้ว ก็เกิดสะดุ้งหวาดกลัว เป็นผู้มีทุกข์ซูบซีด ไม่บริโภคอาหาร เมื่อเป็นผู้เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้ ใจก็ไม่ยินดีในการบูชาเทพและเทวดาทั้งหลาย

    เทวดาบอกปริศนาธรรม

    เทวดาผู้สถิตอยู่ ณ บรรณศาลานั้น เห็นพราหมณ์พาวรีมีทุกข์สะดุ้งหวาดหวั่น จึงเข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้วได้กล่าวว่า พราหมณ์นั้นไม่รู้จักศีรษะ เป็นผู้หลอกลวง ต้องการทรัพย์ ไม่มีความรู้ในในเรื่อง ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ฯ

    พราหมณ์พาวรีถามว่าบัดนี้ ท่านรู้จักข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอก ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป แก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะฟังคำของท่าน ฯ

    เทวดาตอบว่าแม้เราก็ไม่รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป เราไม่มีความรู้ในธรรมทั้ง ๒ นี้ ปัญญาเป็นเครื่องเห็นธรรมอันเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ย่อมมีเฉพาะในพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯ

    พราหมณ์พาวรีถามว่า ในปัจจุบันนี้ มีใครเล่าในปฐพีมณฑลนี้ที่รู้ ขอท่านเทวดาจงบอกบุคคลผู้รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไปนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด ฯ

    เทวดาบอกเรื่องพระพุทธเจ้าทรงอุบัติ

    เทวดาตอบว่าดูกรพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคผู้ศากยบุตร ลำดับพระวงศ์ของพระเจ้าโอกกากราช มีพระรัศมีรุ่งเรือง เป็นนายกของโลกเสด็จออกผนวชจากพระนครกบิลพัสดุ์ เป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ทรงบรรลุอภิญญาและทศพลญาณครบถ้วน ทรงมีพระจักษุในสรรพธรรม ทรงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งกรรมทั้งปวง ทรงน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้แล้วในโลก มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรม ท่านจงไปทูลถามพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด พระองค์จักตรัสพยากรณ์ข้อความนั้นแก่ท่าน ฯ

    พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า สัมพุทโธ ก็เป็นผู้มีใจเฟื่องฟู ความโศกสลดก็เบาบางลงไป และเกิดปีติอันท่วมท้น มีใจชื่นชมเบิกบานเกิดความโสมนัส จึงถามเทวดานั้นว่า พระโลกนาถประทับอยู่ในคามนิคมหรือในชนบทไหน ข้าพเจ้าจะไปนมัสการพระบรมศาสดาได้ในที่ใด ฯ

    เทวดาตอบว่าพระชินเจ้าผู้ศากยบุตร ทรงมีพระปัญญามาก มีพระปัญญาประเสริฐกว้างขวาง ทรงปราศจากธุระ หาอาสวะมิได้ องอาจกว่านระ ทรงรู้ธรรมเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ประทับอยู่ในมณเฑียรของชนชาวโกศลในพระนครสาวัตถี ฯ

    พราหมณ์พาวรีส่งศิษย์ ๑๖ คนไปเฝ้าพระศาสดา

    ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรี เรียกพราหมณ์ทั้งหลายซึ่งเป็นศิษย์มาสั่งว่า ดูกรมาณพทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมาเถิด เราจักบอกแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังคำของเรา บัดนี้ พระสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ท่านทั้งหลายจงรีบไปเมืองสาวัตถี เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าผู้อุดมกว่าสัตว์เถิด ฯ

    พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ทั้งหลายซักถามว่า ข้าแต่ท่านพราหมณ์ บัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายได้เห็นแล้วจะพึงรู้ว่า ท่านผู้นี้เป็นพระสัมพุทธเจ้าได้อย่างไรเล่า ขอท่านจงบอกสิ่งที่จะทำให้ข้าพเจ้าทั้งหลายจะได้รู้จักพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด ฯ

    พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า ก็มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการของมหาบุรุษ ที่ท่านทั้งหลายเล่าเรียนมามาแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่พราหมณาจารย์ทั้งหลายพยากรณ์ไว้ว่า ถ้ามหาปุริสลักษณะนั้น มีอยู่ในวรกายของพระมหาบุรุษใด พระมหาบุรุษนั้น จะเป็นได้ ๒ อย่างเท่านั้น คือ ถ้าพระมหาบุรุษนั้นอยู่ครองเรือน จะพึงเป็นพระบรมมหาจักรพรรดิ์ จะทรงมีชัยชนะทั่วปฐพีนี้ จะทรงปกครองโดยธรรม ด้วยไม่ต้องใช้อาชญาไม่ต้องใช้ศาตรา ถ้าออกบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม

    พราหมณ์พาวรีสั่งให้ศิษย์ถามปัญหา ๗ ข้อกับพระศาสดา

    เมื่อท่านทั้งหลายเห็นพระมหาบุรุษผู้ประกอบไปด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการดังนี้ ท่านทั้งหลายก็จงกล่าวถามในใจ ถึง ๑. ชาติ (อายุ) ๒. โคตร ๓. ลักษณะ ๔. มนต์ และ ๕. ศิษย์เหล่าอื่นอีก และถามถึงปริศนาธรรมเรื่อง ๖. ธรรมอันเป็นศีรษะ และ ๗. ธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ถ้าว่าท่านนั้นเป็นพระพุทธเจ้าจริงแท้แล้ว ท่านก็จักตอบปัญหาที่ท่านทั้งหลายกล่าวถามในใจ ด้วยวาจาได้ ฯ

    พราหมณ์มาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน คือ อชิตะ ๑ ติสสเมตเตยยะ ๑ ปุณณกะ ๑ เมตตคู ๑ โธตกะ ๑ อุปสีวะ ๑ นันทะ ๑ เหมกะ ๑ โตเทยยะ ๑ กัปปะ ๑ ชตุกัณณี ๑ ภัทราวุธะ ๑ อุทยะ ๑ โปสาลพราหมณ์ ๑ โมฆราช ๑ ปิงคิยะ ๑ ได้ฟังคำของพราหมณ์พาวรีแล้วก็ลาอาจารย์ กระทำประทักษิณแล้ว บ่ายหน้าต่อทิศอุดร มุ่งไปยังที่ตั้งแห่งแคว้นมุฬกะ เมืองมาหิสสติ

    ในคราวนั้น พราหมณ์ทั้ง ๑๖ คนได้เดินทางผ่านเมืองอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสะ เมืองวนนคร เมืองโกสัมพี เมืองสาเกต จนถึงเมืองสาวัตถี

    พระบรมศาสดาเสด็จออกจากกรุงสาวัตถีเพื่อบ่มอินทรีย์ของเหล่าพราหมณ์ให้แก่กล้า

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ศิษย์ของพาวรีพราหมณ์ทั้ง ๑๖ คน มาพร้อมด้วยมหาชนเป็นอันมาก ทรงพระดำริว่า อินทรีย์ของพราหมณ์เหล่านั้นยังไม่แก่กล้าเพียงพอ อีกทั้งถิ่นนี้ก็ยังไม่เป็นที่สบายเหมาะแก่พราหมณ์ทั้งหลาย ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่า ปาสาณกเจดีย์ในเขตแคว้นมคธเป็นที่สบายเหมาะแก่พราหมณ์เหล่านั้น ถ้าเราแสดงธรรมในที่นั้น มหาชนก็จักบรรลุธรรม อีกทั้งพวกพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อเดินทางผ่านเข้าไปยังเมืองต่าง ๆ ก็จะมีมหาชนตามมามากยิ่งขึ้นไปอีก ผู้บรรลุธรรมก็จักมีมากขึ้น จะเป็นประโยชน์อันมหาศาล

    ครั้นทรงพระดำริเช่นนั้นแล้ว จึงทรง เสด็จพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ออกจากกรุงสาวัตถีบ่ายพระพักตร์ไปยังกรุงราชคฤห์ ก่อนที่พวกพราหมณ์จะมาถึง พวกพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อก็มาถึงกรุงสาวัตถี เข้าไปสู่วิหาร เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ครั้นทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จออกจากเมืองสาวัตถีไปแล้ว ก็พากันเข้าไปถึงพระคันธกุฏี ได้เห็นรอยพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็แน่ใจว่า เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าแน่แล้ว เพราะจากลักษณะของรอยพระบาทเป็นรอยของผู้หมดกิเลสแล้ว เมื่อทราบดังนั้นแล้วจึงได้ออกเดินทางตามพระบรมศาสดาไป

    พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จเข้าสู่พระนครมีเสตัพยนครและกรุงกบิล พัสดุ์ เมืองกุสินารา เมืองมันทิระ เมืองปาวาโภคนคร เมืองเวสาลี เมืองราชคฤห์ เป็นต้นตามลำดับ หมู่พราหมณ์ทั้ง ๑๖ คนก็ได้เดินทางพร้อมทั้งศิษย์ ๑๖,๐๐๐ คน ผ่านตามเมืองที่พระบรมศาสดาเสด็จผ่าน ผ่านเข้าเมืองใด มหาชนในเมืองเหล่านั้นก็ออกเดินทางติดตามมาอีกเป็นอันมากเพื่อจะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา

    จนกระทั่งเสด็จไปถึงปาสาณกเจดีย์ แขวงเมืองราชคฤห์ ก็ทรงหยุดประทับอยู่ ณ ที่นั้น พวกเหล่าพราหมณ์และมหาชนก็ได้ตามพระบรมศาสดาจนถึงปาสาณกเจดีย์ ครั้นได้ฟังว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ ณ ที่นี้ ก็เกิดปิติ ปราโมทย์พากันขึ้นภูเขาไปสู่พระเจดีย์นั้น เหมือนบุคคลผู้กระหายน้ำย่อมยินดีต่อน้ำเย็น เหมือนพ่อค้ายินดีต่อลาภใหญ่ และเหมือนบุคคลถูกความร้อนแผดเผายินดีต่อร่มเงา ฉะนั้น

    ก็ในขณะนั้นพระผู้มีพระภาค แวดล้อมด้วยหมู่พระภิกษุสงฆ์ ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่ ประหนึ่งราชสีห์บันลือเสียงกังวานกระหึ่มอยู่ในป่า

    อชิตมาณพทูลถามปัญหาโดยถามในใจ

    อชิตมาณพได้เห็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระรัศมีเรื่อเรืองเหลืองอ่อน ถึงความบริบูรณ์ดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญ ลำดับนั้นอชิตมาณพได้เห็นพระมหาปุริสลักษณะทั้ง ๓๒ ประการในพระกายของพระผู้มีพระภาคนั้นแล้วก็มีความร่าเริง ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ทูลถามปัญหาในใจว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกอ้าง (ชาติ) อายุ โคตร พร้อมทั้งลักษณะ และขอได้ตรัสบอกการถึงความสำเร็จในมนต์ทั้งหลายแห่งอาจารย์ของข้าพระองค์เถิด พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของข้าพระองค์ย่อมบอกมนต์กะศิษย์มีประมาณเท่าไร พระเจ้าข้า ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ก็พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของท่านนั้น มีอายุร้อยยี่สิบปี ชื่อพาวรีโดยโคตรลักษณะในกายของพราหมณ์พาวรีนั้นมี ๓ ประการ พราหมณ์พาวรีนั้นเรียนจบไตรเพท ในตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ คือ คัมภีร์อิติหาสพร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุศาสตร์และเกฏุภศาสตร์ ถึงซึ่งความสำเร็จในธรรมแห่งพราหมณ์ของตน ย่อมบอกมนต์กะมาณพ ๕๐๐ ฯ

    อชิตมาณพทูลถามว่าข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ขอพระองค์จงบอกลักษณะทั้งหลายของพราหมณ์พาวรี ขอทรงบอกเพื่อมิให้ข้าพระองค์มีความสงสัยเถิด ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีนั้น ย่อมปกปิด หน้าผากของตนด้วยลิ้นได้ มีขนขึ้นเป็นรูปอุณณาโลมชาติในระหว่างคิ้ว มีคุยหฐานอยู่ในฝัก ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด ฯ

    มหาชนทั้งหลาย ไม่ได้ยินเสียงใครที่ถามปัญหานั้นเลย เมื่อได้ฟังคำตอบที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แล้ว เกิดความพิศวง มีความโสมนัสประนมอัญชลี แล้วสรรเสริญว่า พระผู้มีพระภาคเป็นอะไรหนอ เป็นเทวดาหรือเป็นพรหม หรือเป็นท้าวสุชัมบดีจอมเทพ จึงได้ทราบถึงปัญหาอันมีผู้ถามในใจ ฯ

    อชิตมาณพ ครั้นได้สดับการพยากรณ์ปัญหา ๕ ข้อแล้ว เมื่อจะทูลถาม ปัญหาสองข้อที่เหลือจึงกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ท่านพราหมณ์พาวรีถามถึงธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ขอพระองค์ตรัสพยากรณ์ข้อนั้นกำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ผู้เป็นพราหมณ์เสียเถิด ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ท่านจงรู้เถิดว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ วิชชาประกอบด้วยศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ ชื่อว่าเป็นธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป

    เพราะอวิชชาเป็นความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ เป็นศีรษะแห่งสังสารวัฏ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ

    อนึ่ง เพราะอรหัตมรรควิชชา (วิชชาในอรหัตมรรค) ประกอบ ด้วย ศรัทธาสติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ อันเกิดร่วมกับตนยังศีรษะให้ตกไป เพราะเข้าถึงธรรมเป็นศีรษะด้วยความตั้งอยู่ในรสอันเดียวกันของอินทรีย์ทั้งหลาย

    ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วิชชาเป็นธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป.

    ลำดับนั้น อชิตมาณพมีความโสมนัสเป็นอันมาก เบิกบานใจ กระทำหนังเสือเหลืองเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลงแทบพระบาทยุคลด้วยเศียรเกล้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ พราหมณ์พาวรี พร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลายขอไหว้พระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาค ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลาย จงเป็นผู้ถึงความสุขเถิด ครั้นตรัสแล้วจึงทรงปวารณาว่า จงถามความสงสัยทุก ๆ อย่างของพราหมณ์พาวรี หรือของท่านเถิด

    อชิตมาณพครั้นเห็นพระพุทธองค์ประทานพระวโรกาสให้ทูลถามปัญหาที่สงสัยเช่นนั้น ก็นั่งลงประนมอัญชลี ทูลถามปัญหาต่อพระตถาคต ณ ที่นั้น ตามที่ปรากฎในอชิตมาณวกปัญหานิทเทส

    ครั้นเมื่อจบพระคาถาที่พระพุทธองค์ตรัสตอบปัญหา อชิตมาณพ พร้อมด้วยเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ คนก็บรรลุพระอรหัตเป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาค และโสดาปัตติมรรคก็บังเกิดขึ้นแก่เทวดาและมนุษย์หลายพัน

    ในบรรดาศิษย์ทั้ง ๑๖ คนนั้น โมฆราชมาณพถือตัวว่าเป็นผู้มีความรู้ยิ่งกว่าทุกคน ท่านคิดว่า อชิตมาณพนี้เป็นหัวหน้าของศิษย์ทุกคน เราไม่ควรถามปัญหาก่อน เพราะความเคารพในตำแหน่งผู้นำของอชิตมาณพนั้น ท่านจึงไม่ถามก่อน ครั้นเมื่ออชิตมาณพนั้นถามปัญหาแล้ว จึงถามปัญหาต่อพระศาสดาเป็นคนที่สอง

    พระศาสดาทรงดำริว่า โมฆราชมาณพเป็นคนถือตัว ทั้งญาณของเขาก็ยังไม่แก่กล้าเต็มที่ ควรจะต้องทำให้ความถือตัวของเขาค่อย ๆ หมดไป จึงตรัสว่า โมฆราชเธอจงคอยก่อน ให้คนอื่น ๆ ถามปัญหาก่อน

    โมฆราชมาณพนั้น ครั้นถูกห้ามโดยพระศาสดาเช่นนั้น ก็คิดว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมานี้ เราเข้าใจว่า ไม่มีคนที่จะเป็นบัณฑิตเกินกว่าเรา ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ถ้าไม่ทรงทราบความในใจ ย่อมไม่ตรัส พระศาสดาคงจักทรงเห็นโทษในการถามของเราเป็นแน่ เมื่อคิดได้ดังนั้นจึงนิ่งเสีย

    จากนั้น ติสสเมตเตยยพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๒

    จากนั้น ปุณณกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๓

    จากนั้น เมตตคูพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๔

    จากนั้นโธตกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๕

    จากนั้นอุปสีวพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๖

    จากนั้นนันทพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๗

    จากนั้นเหมกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๘

    ครั้นเมื่อเหมกมาณพถามปัญหาไปเป็นคนที่ ๘ ตามลำดับแล้ว โมฆราชมาณพนั้นก็อดกลั้นไว้ไม่ได้ ลุกขึ้นอีกเป็นคนที่ ๙ พระศาสดาก็ทรงห้ามเขาอีก โมฆราชมาณพนั้นจึงต้องนิ่ง คิดว่า บัดนี้ เราไม่อาจจะเป็นนวกะผู้ใหม่ในสงฆ์ได้แล้ว จึงทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๑๕

    จากนั้นโตเทยยพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๙

    จากนั้นกัปปพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๐

    จากนั้นชตุกัณณิกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๑

    จากนั้นภัทราวุธพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๒

    จากนั้นอุทยพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๓

    จากนั้นโปสาลพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๔

    เมื่อจบพระคาถาที่พระพุทธองค์ตรัสตอบปัญหาแก่พราหมณ์แต่ละท่านนั้น พราหมณ์ท่านนั้นพร้อมด้วยเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ คนก็บรรลุพระอรหัตเป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาคอยู่

    โมฆราชะทูลถามปัญหาของตน

    โมฆราชมาณพทูลถามปัญหาว่า

    ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหา จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้

    เห็นธรรมอันงามอย่างนี้. เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างไร

    มัจจุราชจึงไม่เห็น

    พระศาสดาทรงทราบว่า ญาณของท่านแก่กล้าเต็มที่แล้ว จึงทรงตอบปัญหาที่โมฆราชมาณพทูลถาม ดังนี้

    ดูกรโมฆราช

    ท่านจงเป็นผู้มีสติพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ

    ถอนอัตตานุทิฏฐิเสียแล้ว

    พึงข้ามพ้นมัจจุราชได้ด้วยอุบายอย่างนี้

    เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้ มัจจุราชจึงไม่เห็น.

    จบเทศนาท่านก็บรรลุพระอรหัตพร้อมกับชฎิล ๑๐๐๐ คน บริวารของตน หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผม และหนวดของโมฆราชพราหมณ์และเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ หายไปแล้ว พร้อมด้วยการบรรลุอรหัต โมฆราชพราหมณ์และเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ นั้น เป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาค

    ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้ทรงจีวรอันเศร้าหมอง

    เมื่อพระเถระบรรลุพระอรหัตแล้ว ท่านได้บังสุกุลนำเอาผ้ามาจากกองขยะ ป่าช้าและตามถนนหนทาง แล้วจึงทำเป็นผ้าสังฆาฏิด้วยผ้าเหล่านี้ แล้วนุ่งห่มด้วยจีวรที่เศร้าหมองเหล่านั้น อันประกอบด้วยความเศร้าหมอง ครบทั้ง ๓ อย่างคือ เศร้าหมองด้วยผ้า เศร้าหมองด้วยด้าย (และ) เศร้าหมองด้วยน้ำย้อม

    พระบรมศาสดาทรงพอพระทัยในคุณข้อนั้นของท่าน จึงทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายที่ทรงจีวรเศร้าหมอง

    พระเถระเป็นโรคร้าย

    ในเวลาต่อมา โรคทั้งหลายมีหิดเปื่อยและต่อมน้ำเหลืองเป็นต้น เกิดลุกลามไปตามร่างกายของพระเถระ เพราะกรรมเก่าเป็นปัจจัย (และ) เพราะไม่ทำความสะอาดร่างกาย

    ครั้นเมื่อท่านเป็นโรคร้ายเช่นนั้น ท่านก็ไม่ประสงค์จะทำให้วิหารเสียหายสกปรกเลอะเทอะ ท่านจึงไม่ได้อยู่ในวิหารของสงฆ์ จึงเอาเครื่องปูนอนที่ทำด้วยฟางจากนาของชาวมคธ มาปูลาดนอนแม้ในฤดูหนาว วันหนึ่ง พระศาสดาตรัสถามท่านพระเถระ โดยทำนองปฏิสันถาร ด้วยพระคาถาที่ ๑ ใจความว่า

    ดูก่อนโมฆราชภิกษุ ผู้มีผิวพรรณเศร้าหมอง แต่มีจิตผ่องใส

    ท่านเป็นผู้มีใจตั้งมั่นเป็นนิตย์

    จักทำอย่างไรตลอดราตรี แห่งเวลาหนาวเย็นเช่นนี้ ดังนี้.

    พระเถระทูลตอบว่า

    ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า ประเทศมคธล้วนแต่สมบูรณ์ด้วยข้าวกล้า

    ข้าพระองค์พึงคลุมกายด้วยฟาง แล้วนอนให้เป็นสุข

    เหมือนคนเหล่าอื่น ที่มีการเป็นอยู่อย่างเป็นสุข ฉะนั้น ดังนี้.
     
  8. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,801
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    พระควัมปติเถระ

    พระควัมปติเถระ เป็นหนึ่งในพระมหาเถระลำดับแรก ๆ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้รับการบรรพชาโดยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยได้รับการบวช จากพระบรมศาสดา ต่อจากพระยสเถระ ถ้าถือตามลำดับชื่อที่ปรากฏในพระบาลีท่านก็เป็นพระอรหันต์องค์ที่ ๑๐ ของโลก

    พระเถระรูปนี้ ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้ว ในพระพุทธเจ้าพระองค์ ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพนั้นๆ ดังนี้

    บุรพกรรมในสมัยพระสิขีพุทธเจ้า

    ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ ท่านเกิดเป็นพรานเนื้อเที่ยวอยู่ในป่า ได้พบท่านได้เห็นพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า สิขี แล้วบังเกิดมีใจเลื่อมใส จึงได้ทำการบูชาพระบรมศาสดาพระองค์นั้นด้วยดอกอัญชันเขียว ด้วยบุญกรรมนั้น เมื่อท่านสิ้นชีวิตแล้วก็ไปบังเกิดในเทวโลก

    บุรพกรรมในสมัยพระโกนาคมนพุทธเจ้า

    ในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า โกนาคมนะ ท่านได้กระทำบุญไว้มากอย่าง เช่นให้สร้างฉัตร และไพรที ไว้บนเจดีย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

    บุรพกรรมในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

    ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า กัสสปะ ท่านก็บังเกิดในเรือนมีตระกูลแห่งหนึ่ง ตระกูลนั้นได้มีฝูงโคเป็นอันมาก จึงต้องมีพวกนายโคบาลก็เฝ้ารักษาฝูงโคนั้น มาณพผู้เป็นนายผู้นี้ก็ต้องเที่ยวตรวจดูการทำงานที่พวกนายโคบายทั้งหลายทำอยู่ วันหนึ่งขณะที่ออกตรวจงานอยู่นั้น ท่านก็ได้เห็นพระเถระผู้ขีณาสพรูปหนึ่ง ซึ่งเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้าน แล้วทำภัตกิจอยู่นอกหมู่บ้าน ณ บริเวณแห่งหนึ่งทุก ๆ วัน ท่านเกรงว่า พระคุณเจ้าคงจะลำบากเพราะความร้อนของแดด จึงให้สร้างมณฑปด้วยไม้ซึกถวายแก่ท่านพระขีณาสพรูปนั้น อรรถกถาบางเล่มกล่าวว่า ท่านปลูกต้นซึกไว้ใกล้มณฑป พระเถระจึงนั่งใต้ต้นซึกนั้นทุก ๆ วันเพื่อจะ อนุเคราะห์เขา

    ด้วยบุญกรรมนั้น เขาจุติจากมนุษยโลกนั้นแล้ว บังเกิดในวิมานชั้น จาตุมหาราชิกะ ใกล้ประตูวิมานก็บังเกิดป่าไม้ซึกใหญ่อันระบุถึงกรรมเก่าของเขา และมีดอกไม้ประเภทอื่นอื่นที่เต็มไปด้วยสีและกลิ่น เข้าไปช่วยเสริมความงามทุกฤดูกาล ด้วยเหตุนั้น วิมานนั้นจึงปรากฏนามว่า "เสรีสกวิมาน" เทวบุตรนั้นท่องเที่ยว ไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ตลอดพุทธันดรหนึ่ง

    กำเนิดเป็นควัมปติมาณพในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

    ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านเกิดเป็นบุตรของสกุลเศรษฐีสืบๆ มา ในพระนครพาราณสี มีชื่อว่า ควัมปติ เป็นหนึ่งในบรรดาสหายผู้เป็นคฤหัสถ์ทั้ง ๔ ของ ยสกุลบุตรผู้ เป็นบุตรของนางสุชาดา ผู้ถวายข้าวปายาส ผสมน้ำนมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าในเช้าวันวิสาขปุรณมี เมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงตัดสินพระทัยเลิกกระทำทุกรกิริยา และในคืนนั้นก็ทรงบรรลุพระโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นเมื่อวันหนึ่งยสกุลบุตรแลเห็นเหล่านางผู้เป็นบริวารนอนเกลื่อนกลาดอยู่บนเรือน ประกอบไปด้วยกิริยาอันไม่น่าดู น่าเกลียดเหมือนซากศพในป่าช้า บังเกิดความเบื่อหน่ายเปล่งอุทานว่า ผู้เจริญทั้งหลาย ที่นี่วุ่นวายหนอ ผู้เจริญทั้งหลาย ที่นี่ขัดข้องหนอ.จึงได้เดินเข้าไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งได้ตรัสกับยสกุลบุตรนั้นว่า ยสะ ที่นี่แลไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ยสะ เธอจงมานั่งเถิด เราจักแสดงธรรม ให้เธอฟัง ครั้นจบพระธรรมเทศนาแล้ว ยสกุลบุตรก็บรรลุโสดาบัน

    ในวันรุ่งขึ้นเมื่อเศรษฐีบิดาของยสกุลบุตรออกมาตามบุตรที่หายไปจากบ้าน มาถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้พบพระพุทธองค์ ซึ่งทรงแสดงฤทธิ์มิให้เศรษฐีเห็นยสกุลบุตร แล้วได้แสดงธรรมโปรด จนกระทั่งเศรษฐีเกิดดวงตาเห็นธรรมบรรลุโสดาปัตติผล บังเกิดความเลื่อมใสประกาศตนว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะทั้งสาม นับเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ๓เป็นคนแรกในโลก ส่วนยสกุลบุตรเมื่อจบพระธรรมเทศนาก็บรรลุพระอรหัต จากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบันดาลให้ท่านเศรษฐีเห็นพระยสกุลบุตร และชี้แจงจนท่านเศรษฐีเห็นชอบให้ยสกุลบุตรได้บวช และได้นิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเสวยภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น เมื่อเศรษฐีคฤหบดีกลับไปไม่นาน ยสกุลบุตรก็ทูลขอบรรพชาต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์จึงทรงโปรดให้ยสกุลบุตรได้บวชด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด แล้วได้ตรัสว่า ธรรมเรากล่าวไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด พระวาจานั้นแลได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุนั้น

    วันรุ่งขึ้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงเสด็จพร้อมด้วยท่านพระยสไปยังเรือนของท่านเศรษฐีผู้คหบดี ครั้นถึงแล้วจึงทรงเทศนาโปรดนางสุชาดาและภรรยาเก่าของท่านพระยส เมื่อจบพระธรรมเทศนาท่านทั้งสองก็บรรลุโสดาบัน ประกาศตนเป็นอุบาสิกาผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ นับเป็นอุบาสิกาคู่แรกของโลกที่กล่าวอ้างพระรัตนตรัยเป็นชุดแรกในโลก ครั้งนั้น มารดาบิดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสได้อังคาสพระผู้มีพระภาคและท่านพระยส ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตนๆ จนให้ห้ามภัต ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้มารดาบิดา และภรรยาเก่าของท่านพระยส เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้วเสด็จลุกจากอาสนะกลับไป

    สหายคฤหัสถ์ ๔ คนของพระยสออกบรรพชา

    สหายคฤหัสถ์ ๔ คนของท่านพระยส คือ วิมล ๑ สุพาหุ ๑ ปุณณชิ ๑ ควัมปติ ๑ ซึ่งเป็นบุตรของสกุลเศรษฐีสืบๆ มา ในพระนครพาราณสี ได้ทราบข่าวว่า ยสกุลบุตรปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตแล้ว ครั้นทราบดังนั้นแล้วได้ดำริว่า ธรรมวินัยและบรรพชาที่ยสกุลบุตรที่กระทำลงไปนั้น คงไม่ต่ำทรามแน่นอน ดังนี้ จึงพากันเข้าไปหาท่านพระยส ท่านจึงพาสหายคฤหัสถ์ทั้ง ๔ นั้น เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานโอวาทสั่งสอนสหายของข้าพระองค์เหล่านี้

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่พวกเขา คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทรามและความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการออกจากกาม เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พวกเขามีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่พวกเขา พวกเขาก็บรรลุโสดาบัน ณ ที่นั่งนั้นเอง จากนั้นท่านทั้ง ๔ จึงได้ทูลขอบบรรพชา อุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาค.พระผู้มีพระภาคจึงทรงโปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่ท่านทั้ง ๔ โดยทรงตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วได้ตรัสต่อไปว่า ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด

    พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านทั้ง ๔ เหล่านั้น

    ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นด้วยธรรมีกถา เมื่อจบพระธรรมเทศนา จิตของภิกษุเหล่านั้น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.บรรลุเป็นพระอรหันต์

    สมัยนั้น จึงมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๑๑ องค์

    สหายคฤหัสถ์ ๕๐ คน ของพระยสออกบรรพชา

    สหายคฤหัสถ์ของท่านพระยส เป็นชาวชนบทจำนวน ๕๐ คน เป็นบุตรของสกุลเก่าสืบๆ กันมา ได้ทราบข่าวว่า ยสกุลบุตร ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ครั้นทราบดังนั้นแล้วได้ดำริว่า ธรรมวินัยและบรรพชาที่ยสกุลบุตรที่กระทำลงไปนั้น คงไม่ต่ำทรามแน่นอน ดังนี้ จึงพากันเข้าไปหาท่านพระยส ท่านจึงพาสหายคฤหัสถ์ทั้ง ๕๐ นั้น เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานโอวาทสั่งสอนสหายของข้าพระองค์เหล่านี้

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่พวกเขา คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทรามและความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการออกจากกาม เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พวกเขามีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่พวกเขา พวกเขาก็บรรลุโสดาบัน ณ ที่นั่งนั้นเอง จากนั้นท่านทั้ง ๕๐ จึงได้ทูลขอบบรรพชา อุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจึงทรงโปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่ท่านทั้ง ๕๐ โดยทรงตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วได้ตรัสต่อไปว่า ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด

    พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านทั้ง ๕๐ เหล่านั้น

    ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นด้วยธรรมีกถา เมื่อจบพระธรรมเทศนา จิตของภิกษุเหล่านั้น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.บรรลุเป็นพระอรหันต์

    สมัยนั้น จึงมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖๑ องค์

    บุรพกรรมของชน ๕๕ คนมียสกุลบุตรเป็นต้น

    วันหนึ่งพระศาสดา ทรงประชุมพระสาวกที่พระเวฬุวัน ทรงประทานตำแหน่งพระอัครสาวกแก่พระเถระทั้งสองแล้วทรง แสดงพระปาติโมกข์ เหล่าภิกษุบางพวกจึงกล่าวติเตียนว่า

    “พระศาสดา ประทานตำแหน่งแก่พระอัครสาวกทั้งสองโดยเห็นแก่หน้า พระองค์เมื่อจะประทานตำแหน่งอัครสาวก ควรประทานแก่พระปัญจวัคคีย์ผู้บวชเป็นพวกแรกสุด พ้นจากพระปัญจวัคคีย์เหล่านั้น ก็ควรประทานแก่ภิกษุ ๕๕ รูป มีพระยสเถระเป็นประมุข พ้นจากภิกษุเหล่านั้น ก็ควรประทานแก่พระพวกภัทรวัคคีย์ พ้นจากภิกษุเหล่านั้น ก็ควรประทานแก่ภิกษุ ๓ พี่น้อง มีพระอุรุเวลกัสสปะเป็นต้น แต่พระ ศาสดาทรงละเลยภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เมื่อจะประทานตำแหน่งอัครสาวก ก็ทรงเลือกหน้า ประทานแก่ผู้บวชภายหลังเขาเหล่านั้น”

    พระศาสดาตรัสถามภิกษุทั้งหลายถึงเรื่องที่พวกภิกษุเหล่านั้นพูดกันอยู่ ภิกษุทั้งหลายทูลเรื่องที่ตนพูดกัน พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ ภิกษุทั้งหลาย เราหาเลือกหน้าให้ตำแหน่งแก่พวกภิกษุไม่ แต่เราให้ ตำแหน่งที่แต่ละคน ๆ ตั้งจิตปรารถนาไว้แต่ปางก่อนแล้ว ๆ นั่นแล” และพระศาสดาทรงเล่าถึงบุรพกรรมของชนเหล่านั้น โดยเล่าถึงบุรพกรรมของยสกุลบุตรและสหายอีก ๕๔ คนไว้ดังนี้

    กลุ่มพระยสกุลบุตรทั้ง ๕๕ คนนั้น เคยตั้งจิตปรารถนาพระอรหัต ไว้ในสำนักพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง และปฏิบัติทำกรรมที่เป็นบุญไว้เป็นอันมาก ครั้งหนึ่งในสมัยเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติขึ้น เขาเหล่านั้นเป็นสหายกัน ร่วมเป็นพวกกันทำบุญโดยเที่ยวจัดแจงศพคนไร้ที่พึ่ง วันหนึ่ง พวกเขาพบศพหญิงตายทั้งกลม จึงตกลงกันว่าจะเผาเสีย จึงนำศพนั้นไปป่าช้า เมื่อนำศพมาถึงป่าช้าแล้ว ยสกุลบุตรกับเพื่อนอีก ๔ คน จึงอยู่ที่ป่าช้านั้นเพื่อจัดการเผาศพ ส่วนเพื่อนที่เหลืออีก ๕๐ คนก็กลับไป

    ในขณะที่ทำการเผาศพหญิงตายทั้งกลมอยู่นั้น ยสกุลบุตรได้ใช้หลาวเขี่ยศพนั้นเพื่อพลิกศพกลับไปกลับมาให้โดนไฟทั่ว ๆ ขณะที่เอาไม้เขี่ยร่างศพอยู่นั้นก็ได้พิจารณาศพที่ถูกเผา ได้อสุภสัญญาแล้ว เขาจึงแสดงอสุภสัญญาแก่สหายอีก ๔ คนนั้นว่า “นี่เพื่อน ท่านจงดูศพนี้ มีหนังลอกแล้วในที่นั้น ๆ ดุจรูปโคด่าง ไม่สะอาด เหม็น น่าเกลียด ” สหายทั้ง ๔ คนนั้นก็ได้อสุภสัญญาในศพนั้น แล้วคนทั้ง ๕ นั้นเมื่อเผาศพเสร็จแล้วจึงได้นำอสุภสัญญาที่ปรากฏแก่ตนนั้น ไปบอกแก่สหายที่เหลือ ส่วนยสกุลบุตรนั้นเมื่อกลับถึงเรือนแล้วก็ได้บอกแก่มารดาบิดาและภรรยา คนทั้งหมดนั้นก็เจริญอสุภสัญญาแล้ว

    นี้เป็นบุพกรรมของคน ๕๕ คน มียสกุลบุตรเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้นในสมัยปัจจุบัน ความที่เห็นว่าในเรือนของตน ที่เกลื่อนไปด้วยด้วยสตรีเป็นดุจป่าช้าจึงเกิดแก่ยสกุลบุตร และด้วยอุปนิสัยสมบัติแห่งอสุภสัญญาที่เคยได้มานั้น การบรรลุคุณวิเศษจึงเกิดขึ้นแก่พวกเขาทั้งหมด คนเหล่านี้ได้รับผลที่ตนปรารถนาแล้วเหมือนกัน ด้วยประการอย่างนี้ หาใช่พระบรมศาสดาเลือกหน้าแต่งตั้งให้ไม่

    พระเถระแสดงฤทธิ์หยุดกระแสน้ำ

    พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เสวยวิมตติสุขอยู่ในอัญชนวัน เมืองสาเกต ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จไปยังเมืองสาเกต แล้วประทับอยู่ในพระวิหารอัญชนวัน เสนาสนะไม่พอ อาศัย ภิกษุเป็นอันมากพากันนอนที่เนินทราย ริมน้ำสรภู ใกล้ ๆ พระวิหาร ครั้งนั้น เมื่อห้วงน้ำหลากมาในเวลาเที่ยงคืน พวกสามเณรเป็นต้น ส่งเสียงร้องดังลั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเหตุนั้นแล้ว สั่งท่านพระควัมปติไปว่า ดูก่อนควัมปติ เธอจงไปสะกด (ข่ม) ห้วงน้ำไว้ เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายอยู่อย่างสบาย พระเถระรับพระพุทธดำรัสว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วสะกดกระแสน้ำให้หยุดด้วยกำลังฤทธิ์ ห้วงน้ำนั้นได้หยุดตั้งอยู่ดุจยอดเขา แต่ ไกลทีเดียว จำเดิมแต่นั้นมาอานุภาพของพระเถระ ได้ปรากฏแล้วในโลก

    ครั้นวันหนึ่ง พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นพระเถระ นั่งท่ามกลางเทวบริษัทจำนวนมาก แล้วแสดงธรรมอยู่ เมื่อจะทรงสรรเสริญพระเถระ เพื่อประกาศคุณของท่าน ด้วยความอนุเคราะห์สัตวโลก จึงได้ทรงภาษิตพระคาถาว่า

    เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พากันนอบน้อมพระ ควัมปติ ผู้ห้ามแม่น้ำสรภุให้หยุดไหลได้ด้วยฤทธิ์ ไม่ติดอยู่ในกิเลสและตัณหาไร ๆ ไม่หวั่นไหวต่ออะไร ทั้งสิ้น เป็นผู้ผ่านพ้นเครื่องข้องทั้งปวง เป็นมหามุนี เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ดังนี้

    ในการแสดงฤทธิ์หยุดกระแสน้ำของพระเถระในครั้งนั้น เป็นเหตุให้มาณพผู้หนึ่งชื่อว่า มหานาค ซึ่งได้เห็น ได้เกิดศรัทธา จึงขอบวชในสำนักของพระเถระ ต่อมาท่านมหานาคเถระก็ได้บำเพ็ญเพียรจนได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง

    พระเถระกับปายาสิเทวบุตร

    เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านพระกุมารกัสสปะพร้อมด้วยภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ไปถึงเสตัพยนคร ได้เทศนาโปรดพระยาปายาสิผู้เข้าไปหาท่านในนครนั้น จากมิจฉาทิฏฐิ ให้ดำรงอยู่ใน สัมมาทิฏฐิ จำเดิมแต่นั้นมา พระยาปายาสิก็เป็นผู้ขวนขวายในบุญ แต่เมื่อถวายทานแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ท่านได้ถวายทานโดยไม่เคารพ เพราะมิได้เคยสร้างสมในทานนั้น ในเวลาต่อมาทำกาลกิริยาตายไปบังเกิดใน เสรีสกวิมานในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช

    ดังที่ได้เล่ามาแล้วในตอนต้นว่า อดีตชาติท่านพระควัมปติเถระ ท่านเคยบังเกิดเป็นเทพบุตรอยู่เสรีสกวิมานมาก่อน ด้วยความเคยชินกับการพำนักอยู่ในวิมานนี้มาก่อน มาในพุทธุปบาทกาลนี้ เมื่อท่านเป็นพระควัมปติ ตั้งอยู่ในพระอรหัตแล้ว ในเวลาหลังภัต จึงไปพักผ่อนยังวิมานนั้นเนือง ๆ

    ต่อมา เมื่อพระยาปายาสิสิ้นชีวิตลงและไปบังเกิดเป็นเทพบุตร ณ ที่นั้น เมื่อท่านพระควัมปติเถระไปพักกลางวัน จึงได้พบกับปายาสิเทพบุตร ท่านจึงถามว่า ผู้มีอายุ ท่านเป็นใคร

    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าคือเจ้าปายาสิ ฯ

    ดูกรท่านผู้มีอายุ ท่านเป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ โลกหน้า ไม่มีเหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี มิใช่หรือ ฯ

    เป็นความจริง ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า แม้เพราะ เหตุนี้ โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดี ทำชั่วไม่มี แต่ว่า พระผู้เป็นเจ้ากุมารกัสสปได้ไถ่ถอนข้าพเจ้าออกจากทิฐิอันลามก นั้นแล้ว ฯ

    ดูกรท่านผู้มีอายุ ก็อุตตรมาณพซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในทานของท่าน ไปเกิด ที่ไหน ฯ

    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อุตตรมาณพซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในทานของข้าพเจ้านั้น ให้ทานโดยเคารพ ให้ทานด้วยมือของตน ให้ทานด้วยความนอบน้อม มิได้ให้ทานอย่างทิ้งให้ เมื่อตายลงจึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ คืออยู่ร่วมกับพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ส่วนข้าพเจ้ามิได้ให้ทานโดยเคารพ มิได้ให้ทานด้วย มือของตน มิได้ให้ทานด้วยความนอบน้อม ให้ทานอย่างทิ้งให้ เมื่อตายลง จึงได้เพียงอยู่ร่วมกับพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราช คือได้วิมาน ชื่อเสรีสกะอันว่างเปล่า

    ท่านควัมปติผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ท่านไปยังมนุษยโลก แล้วโปรดบอกชนทั้งหลายอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงให้ทานโดยเคารพ จงให้ทานด้วยมือของ ตน จงให้ทานโดยความนอบน้อม จงอย่าให้ทานอย่างทิ้งให้ เจ้าปายาสิมิได้ให้ทานโดยเคารพ มิได้ให้ทานด้วยมือของตน มิได้ให้ทานโดยความนอบน้อม ให้ ทานอย่างทิ้งให้ เมื่อตายลงจึงได้เพียงอยู่ร่วมกับพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราช คือได้วิมานชื่อเสรีสกะอันว่างเปล่า ส่วนอุตตรมาณพ ซึ่งเป็น เจ้าหน้าที่ในทานของเจ้าปายาสินั้น ให้ทานโดยเคารพ ให้ทานด้วยมือของตนให้ ทานโดยความนอบน้อม มิได้ให้ทานอย่างทิ้งให้ เมื่อตายลง จึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ คืออยู่ร่วมกับพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ฯ

    ท่านควัมปติมาสู่มนุษยโลกแล้วจึงได้บอกแก่ชนทั้งหลายเช่นนั้นฯ
     
  9. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,801
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    S_tLJE74iFDl38dVbHy04yAs2ao3PyWlV1VGkGewJPQn&_nc_ohc=1Wmh7MMh8bgAX858lTw&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
    lECIoXeiSZaLbhqfTY3rmfvCph8R8W5Zz2iJcy9_a1M2&_nc_ohc=ybcOqE4rJB8AX-Wsk69&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
    UAtvg-Cg8vBijLa0u-Q-v7jKLJyrYFDdSKvHOlW988K9&_nc_ohc=94o7iwcY7gEAX8xoS2W&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
    Orzh6ratS3Ym-LdZPZA1FW3grMYR_okWb8RzcGzv5t8n&_nc_ohc=ryLFmKBn6IoAX-yqYrf&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg

    ไม่ใช่เครื่องกั้นมรรคผลนิพพาน


    "ความฉลาด" คือ การไม่สูบบุหรี่ไม่กินหมากนั้นหรือ ?

    "ความเลิศเลอ" คือ การตำหนิคนกินหมากสูบบุหรี่นั้นหรือ ?

    "คนเลิศเลอ พระเลิศเลอ" คือ พระไม่สูบบุหรี่ไม่กินหมากนั้นหรือ ?

    "พระเลิศเลอ" คือ พระเที่ยวโจมตีคนหรือพระที่สูบบุหรี่กินหมากนั้นหรือ ?

    "ตัวขี้เรื้อน" คันๆดีดดิ้นอยู่ในหัวใจนั้นทำไมไม่คิดสะดุดใจเเละเเก้ไขถอดถอน

    ผมเชื่อท่านพระอาจารย์มั่น ๑๐๐%

    สิ่งใดเป็น "กิเลส" เสียหายน้อยหรือมาก

    ท่านไม่ทำ

    จึงทำให้ผมเชื่อเเน่ว่าท่านไม่ใช่พระขี้ยา

    เพราะการสูบบุหรี่ฉันหมากเป็นตามธาตุขันธ์อัธยาศัย

    เเละมั่นใจว่าบุหรี่ หมาก ไม่เป็น "สัคคาวรณ์ มัคคาวรณ์" คือ เครื่องกั้นทางมรรคผลนิพพานเเต่อย่างใด

    คติธรรม หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

    ที่มา ศาสนธรรมปลุกคนให้ตื่น
    เทศน์อบรมฆราวาส หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

    Cr.คลาสสิคบุ๊คส์
     
  10. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,801
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    พระนาลกเถระ

    การที่ท่านพระนาลกเถระ ท่านนี้ได้รับโอวาทจากพระบรมศาสดาในเรื่องการปฏิบัติโมเนยยปฏิปทา ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสว่าเป็นปฏิปทาที่ทำได้โดยยาก ทำให้เกิดความยินดีได้ยาก และท่านได้สมาทานการปฏิบัติดังกล่าวอย่างอุกฤษฏ์ ซึ่งการปฏิบัติโมเนยยปฏิปทาอย่างอุกฤษฏ์นี้ ในพุทธธันดรหนึ่ง จะมีพระที่ปฏิบัติโมเนยยปฏิปทาอย่างอุกฤษฏ์ได้เพียงท่านเดียว และในพุทธันดรนี้พระเถระที่ปฏิบัติได้ก็คือท่านพระนาลกเถระผู้นี้เอง ที่เป็นดังนั้นเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในการนั้นไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้

    บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

    ได้ยินว่า ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ เมื่อท่านได้เกิดมาและเติบใหญ่แล้ว วันหนึ่งท่านได้เห็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ ปฏิบัติโมเนยยปฏิปทา (ปฏิบัติเพื่อความเป็นมุนี) จึงปรารถนาที่จะเป็นเช่นนั้นบ้างจึงตั้งความปรารถนาและบำเพ็ญบารมีตลอดแสนกัป เพื่อผลดังกล่าว

    กำเนิดเป็นนาลกมาณพในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

    ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านมีกำเนิดในวรรณะพราหมณ์ เมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ เป็นบุตรของน้องสาวของท่านอสิตฤๅษี บิดามารดาเรียกชื่อว่า นาลกะ ตระกูลของท่านเป็นตระกูลใหญ่มี ทรัพย์ได้ ๘๗ โกฏิ

    ประวัติอสิตฤๅษีผู้เป็นลุงของพระเถระ

    อสิตฤษีนี้เป็นปุโรหิตของ พระเจ้าสีหหนุพระชนกของพระเจ้าสุทโธทนะ ได้เป็นอาจารย์บอกศิลปะแต่ครั้ง พระเจ้าสุทโธทนะยังมิได้ครองราชย์ย์ ครั้นครองราชย์แล้วพระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงแต่งตั้งให้ท่านเป็นปุโรหิต เมื่ออสิตพราหมณ์เข้ามารับราชการในพระราชวังทุกเวลาเย็นและเวลาเช้า พระเจ้าสุทโธทนะก็มิได้ทรงทำความเคารพเหมือนเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ทรงกระทำเพียงยกพระหัตถ์ประนมเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามราชประเพณีของเจ้าศากยะทั้งหลายที่ได้อภิเษกแล้ว

    ต่อมาอสิตปุโรหิตเบื่อหน่ายด้วยการรับราชการ จึงกราบทูลพระมหาราชว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จะบรรพชาพระเจ้าข้า พระราชาทรงทราบว่าอสิตปุโรหิตมีความแน่วแน่ที่จะออกบวช จึงตรัสขอร้องว่า ท่านอาจารย์ ถ้าเช่นนั้น ขอให้ท่านอาจารย์อยู่ในอุทยานของข้าพเจ้าเถิด โดยที่ข้าพเจ้าจะไปเยี่ยมท่านอาจารย์เสมอ ๆ ปุโรหิตรับกระแสพระดำรัสแล้ว บรรพชาเป็นดาบส พระราชาทรงอุปถัมภ์อยู่ในส่วนนั่นเอง ดาบสกระทำกสิณบริกรรมยังสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิดแล้ว ตั้งแต่นั้นมา อสิตดาบสนั้นก็ไปฉันในราชตระกูล แล้วไปพักกลางวัน ณ ป่าหิมพานต์ หรือบนสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกา หรือในนาคพิภพเป็นต้น แห่งใดแห่งหนึ่ง

    อสิตฤๅษีทำนายลักษณะพระกุมารสิทธัตถะ

    วันหนึ่งขณะที่ท่านฤๅษีนั่งพักผ่อนกลางวันในดาวดึงส์พิภพอยู่นั้น ก็เห็นเหล่าเทวดา ขับระบำรำฟ้อน มีใจชื่นชม มีปีติโสมนัสอย่าง เหลือเกินนั้น ก็แปลกใจเพราะไม่เคยเห็นเหล่าเทวดามีปิติโสมนัสอย่างเหลือเกินเช่นนี้มาก่อน จึงถามถึงสาเหตุนั้นกับเหล่าเทวดา เทวดาทั้งหลายก็ตอบท่านฤๅษีว่า บัดนี้พระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะอุบัติขึ้นแล้ว ต่อไปพระองค์จักประทับนั่งที่ลานแห่งต้นโพธิแล้วจักเป็นพระพุทธเจ้าประกาศพระธรรมจักร พวกข้าพเจ้าต่างยินดีเพราะเหตุนี้ว่า พวกเราจักได้เห็นพระพุทธองค์ และจักได้ฟังพระธรรมของพระองค์

    ดาบสนั้นฟังคำของเหล่าเทวดาแล้ว ก็ลงจากเทวโลกทันที ตรงเข้าไปยังพระราชนิเวศน์ นั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้ แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่มหาบพิตร ได้ยินว่าพระราชโอรสของพระองค์อุบัติแล้ว อาตมภาพอยากเห็นองค์พระกุมาร พระราชาจึงมีรับสั่งให้พาพระราชกุมารมา แล้วทรงอุ้มไปเพื่อให้นมัสการดาบส พระบาททั้งสอง ของพระโพธิสัตว์กลับไปประดิษฐานอยู่บนชฎาของดาบส

    ความจริงนั้น ชื่อว่าพระมหาสัตว์จะพึงไหว้ใครนั้นไม่มี ถ้าคนผู้ไม่รู้วางศีรษะของพระโพธิสัตว์ที่เท้าของดาบส ศีรษะของดาบสนั้นพึงแตกออก ๗ เสี่ยง ดาบสคิดว่า เราไม่สมควรทำตนให้พินาศเช่นนั้น จึงลุกจากอาสนะแล้วยกมือไหว้พระโพธิสัตว์ พระราชาทอดพระเนตรเห็นเหตุอัศจรรย์นั้น จึงทรงไหว้บุตรของตน

    ดาบสนั้นระลึกได้ชาติ ๘๐ กัป คือ ในอดีต ๔๐ กัป ในอนาคต ๔๐ กัป เห็นลักษณสมบัติของพระโพธิสัตว์ จึงใคร่ครวญดูว่า เธอจักได้ เป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่หนอ ทราบว่า จักได้เป็นพระพุทธเจ้าโดยมิต้องสงสัย ท่านเห็นว่าพระราชบุตรนี้เป็นอัจฉริยบุรุษ จึงได้ยิ้มขึ้น ต่อนั้นจึงใคร่ครวญต่อไปว่า เราจักได้ทันเห็นความเป็นพระพุทธเจ้านี้หรือไม่หนอ ก็เห็นว่า เราจักไม่ได้ทันเห็น จักตายเสียก่อน แล้วจักไปบังเกิดในอรูปภพ ซึ่งที่นั้น แม้พระพุทธเจ้าตั้งร้อยพระองค์ก็ดี ตั้งพันพระองค์ก็ดี ก็ไม่สามารถที่จะเสด็จไปโปรดเพื่อให้เราตรัสรู้ได้ แล้วคิดว่าเราจักไม่เห็นอัจฉริยบุรุษผู้เป็นพระพุทธเจ้าเช่นนี้ เราจักมีความเสื่อมใหญ่ คิดถึงตรงนี้แล้วก็ร้องไห้ออกมา พระราชาทรงเห็นดังนั้นแล้วจึงเรียนถามว่า ท่านนั้น เมื่อสักครู่ก็หัวเราะออกมา แล้วกลับมาร้องไห้อีกเล่า ข้าแต่ท่านดาบส อันตรายอะไรจักเกิด แก่พระลูกเจ้าของพวกเราหรือ ดาบสตอบว่า พระกุมารจักไม่มีอันตราย จักได้เป็นพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย

    ครั้นเมื่อทรงถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ท่านจึงร้องไห้ออกมาเล่า ดาบสตอบว่า เราเศร้าโศกถึงตนว่า จักไม่ได้ทันเห็นพระมหาบุรุษผู้เป็นพระ พุทธเจ้าเช่นนี้ ความเสื่อมใหญ่จักมีแก่เราดังนี้ จึงได้ร้องไห้

    อสิตฤๅษีจัดการให้หลานชายออกบวชเป็นดาบส

    ต่อจากนั้นเมื่อออกมาจากพระราชวังแล้ว อสิตฤษี รู้ด้วยกำลังปัญญาของตนว่าตนมีอายุน้อย จึงพิจารณาว่า ในวงญาติของเรามีใครบ้างจักได้เห็นความเป็นพระพุทธเจ้านั้น ได้มองเห็นนาลกทารกผู้เป็นหลาน เป็นผู้ได้สะสมบุญไว้ตั้งแต่ ศาสนาพระปทุมุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า และคิดว่านาลกมาณพถ้าเติบใหญ่ขึ้นพอมีปัญญาแล้วจะตั้งอยู่ในความประมาท ท่านนั้นเพื่อจะอนุเคราะห์นาลกมาณพนั้น จึงไปยังเรือนของน้องสาว แล้วถามว่า นาลกะ บุตรของเจ้าอยู่ไหน นางผู้เป็นน้องสาวตอบว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า เขาอยู่ในเรือน ท่านดาบสจึงสั่งให้เรียกเขามา เมื่อนาลกมาณพมาแล้ว ท่านดาบสก็พูดกับเขาว่า นี่แน่ะพ่อ บัดนี้พระราชโอรสอุบัติแล้วในตระกูลของพระเจ้าสุทโธทนมหาราชเป็นหน่อพุทธางกูร พระองค์จักได้เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อล่วงได้ ๓๕ ปี เจ้าจักได้เห็นพระองค์ เจ้าจงบวชในวันนี้ทีเดียว

    ในอนาคตเมื่อเจ้าได้ยินคำว่า “พุทโธ” ดังระบืออยู่ทั่วไปแล้ว นั่นหมายความว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ย่อมทรงเปิดเผยทางปรมัตถธรรม เจ้าจงไปเข้าเฝ้าพระองค์แล้วทูลถามด้วยตนเอง ในสำนักของพระองค์ แล้วจงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด

    นาลกมาณพคิดว่า ลุงคงจักไม่ชักชวนเราในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ทันใดนั้นนั่นเองให้คนซื้อผ้ากาสาวพัสตร์ และบาตรดินจากตลาด ให้ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ประคองอัญชลีบ่ายหน้าไปทางพระโพธิสัตว์ ด้วยกล่าวว่า บุคคลผู้สูงสุดในโลกพระองค์ใด ข้าพเจ้าขอบวชอุทิศบุคคลนั้น แล้วกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ เอาบาตรใส่ถุง คล้องที่ไหล่แล้วไปยังหิมวันตประเทศบำเพ็ญสมณธรรม

    นาลกดาบสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

    นาลกดาบสนั้นเป็นผู้สั่งสมบุญไว้ ได้บำเพ็ญเพียรเป็นดาบส รักษาอินทรีย์รอคอยพระชินสีห์อยู่ ครั้นเมื่อเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุสัมโพธิญาณ โดยลำดับแล้วทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐในกรุงพาราณสี เหล่าเทวดาทั้งหลายก็ได้โมทนาสาธุการไปตลอดสามโลก นาลกดาบสนั้นรอคอยอยู่อย่างนั้น เมื่อได้ยินข่าวอันพวกเทวดาผู้หวังประโยชน์แก่ตนพากันมาบอกแล้วจึงได้เดินทางไปเฝ้าพระชินสีห์ผู้องอาจกว่าฤๅษีแล้ว ในเวลาที่ได้เห็นพระองค์ จิตเลื่อมใสอย่างสูงสุดก็บังเกิดขึ้นในใจของดาบสนั้น

    ครั้นเมื่อได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาแล้ว นาลกดาบสกล่าวว่า อสิตฤษีผู้เป็นลุงของข้าพระองค์ รู้ว่าพระกุมารนี้จัดบรรลุทางแห่งสัมโพธิญาณ ท่านได้บอกกะข้าพระองค์ว่า ท่านจงฟังประกาศว่า พุทโธ ในกาลข้างหน้า ผู้บรรลุสัมโพธิญาณย่อมประพฤติมรรคธรรมดังนี้ วันนี้ข้าพระองค์ได้รู้ตามคำของอสิตฤๅษีว่า คำที่ท่านกล่าวนั้นเป็นคำจริง เพราะการได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าในบัดนี้เป็นพยานในคำพูดของท่าน เพราะเหตุนั้น ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ทูลถามพระองค์ ขอพระองค์จงตรัสบอกปฏิปทาอันสูงสุดของมุนี ผู้แสวงหาการเที่ยวไปเพื่อภิกษา แก่ข้าพระองค์เถิด ฯ

    พระพุทธเจ้าทรงแสดงโมเนยยปฏิปทาแก่นาลกดาบส

    เมื่อนาลกดาบสได้กราบทูลถามอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงถึงความที่ปฏิปทาของมุนีทำได้ยาก และทำให้ยินดีได้ยาก โดยมีพระประสงค์จะให้นาลกดาบสเกิดอุตสาหะ จึงตรัสว่า

    เอาเถิดเราจักบอกปฏิปทาของมุนีนั้นแก่ท่าน ท่านจงช่วยเหลือตนด้วยการทำให้เกิดความเพียร สามารถทำสิ่งที่บุคคลทำได้ยาก ทำให้เกิดความยินดีได้ยากแก่เธอ เพราะในการปฏิบัติตามปฏิปทาอย่างอุกฤษฏ์นั้น สาวกรูปเดียวเท่านั้นของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ย่อมทำได้และทำให้เกิดได้

    พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงการละกิเลสอันเข้าไปผูกพันกับชาวบ้าน จึงตรัสว่า

    พึงกระทำการด่าและการไหว้ในบ้านให้เสมอกัน เป็นอย่างเดียวกัน ไม่ต่างกัน พึงรักษาความประทุษร้ายแห่งใจ คือ เขาด่าแล้วถึงรักษาความประทุษร้ายแห่งใจ เขาไหว้แล้วพึงประพฤติเป็นผู้สงบ ไม่มีความเยื่อหยิ่ง ไม่พึงมีความฟุ้งซ่านว่า พระราชายังไหว้เรา ดังนี้

    จากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรื่อง ศีล คือความสำรวมในปาติโมกข์โดยสังเขป ด้วยหัวข้อคือการเว้นจากเมถุนและการเว้นจากฆ่าสัตว์แก่นาลกดาบสและทรงแสดงความสำรวมอินทรีย์ โดยย่อดังนี้

    พึงเป็นผู้สงบไม่มีความเย่อหยิ่งเป็นอารมณ์

    มุนีละกามทั้งหลายทั้งที่ดีแล้ว งดเว้นจากเมถุนธรรมไม่ยินดียินร้าย ในสัตว์ทั้งหลาย

    พึงกระทำตน ให้เป็นอุปมาว่า เราฉันใด สัตว์เหล่านี้ก็ฉันนั้น สัตว์เหล่านี้ ฉันใด เราก็ฉันนั้น ดังนี้แล้ว ไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า

    จากนั้น เมื่อจะทรงแสดงความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะจึงตรัสว่า

    มุนีละความปรารถนาและความโลภในปัจจัยที่ปุถุชนข้องอยู่แล้ว เป็นผู้มีจักษุ พึงปฏิบัติปฏิปทาของมุนีนี้

    พึงข้ามความทะเยอทะยานในปัจจัย ซึ่งเป็นเหตุแห่งมิจฉาชีพที่หมายรู้กันว่านรกนี้เสีย

    บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงศีล คือการบริโภคปัจจัยด้วยหัวข้อเนมัตตัญญุตา คือ ความรู้จักประมาณใน การบริโภค และปฏิปทาตราบเท่าถึงการบรรลุพระอรหัตโดยทำนองนั้น ก่อนจึงตรัสว่า

    ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่เห็นแก่ท้องมีอาหารพอประมาณ พึงรู้จักประมาณในการบริโภค ไม่บริโภคเพื่อเล่นดังนี้ แม้เป็นผู้มีอาหารพอประมาณอย่างนี้ ก็พึงเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ด้วยมีความปรารถนาน้อย ๔ อย่าง คือ ปัจจัย ธุดงค์ ปริยัติ และอธิคม

    บัดนี้ เมื่อจะตรัสถึงการสมาทานธุดงค์แล้ววัตรเกี่ยวกับเสนาสนะ อันจบลงด้วยการบรรลุพระอรหัตของภิกษุผู้ปฏิบัติปฏิปทานั้น จึงตรัสตรัสธุดงค์ ๑๓ แก่พระนาลกเถระ

    มุนีนั้นเที่ยวไปรับบิณฑบาตแล้ว พึงไปยังชายป่า เข้าไปนั่งอยู่ที่โคนต้นไม้

    พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน เป็นนักปราชญ์ คือสมบูรณ์ด้วยปัญญา

    ยินดีแล้วในป่า ไม่พึงยินดีในเสนาสนะใกล้บ้าน

    พึงทำจิตให้ยินดียิ่ง เพ่งฌานอยู่ที่โคนต้นไม้ คือไม่พึงขวนขวายโลกิยฌานอย่างเดียวเท่านั้น ที่แท้พึงทำจิตให้ยินดียิ่ง เพ่งแม้ด้วยโลกุตรฌานที่สัมปยุตด้วยโสดาปัตติมรรคเป็นต้นที่โคนต้นไม้นั้น แล

    ครั้นเมื่อรุ่งเช้าแล้ว ควรเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเรือน ไม่พึงรับนิมนต์เข้าไปฉันในบ้าน

    ไม่พึงเที่ยวไปในสกุลโดยรีบร้อน คือไม่ควรเกี่ยวข้องกับเรื่องของคฤหัสถ์ ไม่คล้อยตามไปกับเขา เช่นมีการร่วมเศร้าโศกด้วยเป็นต้น

    ตัดถ้อยคำเสียแล้ว ไม่พึงกล่าววาจาเกี่ยวด้วยการแสวงหาของกิน คือไม่ควรกล่าวอะไร ๆ เลย เพื่อต้องการปัจจัย

    มุนีนั้นคิดว่า เราได้สิ่งใด สิ่งนี้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ เราไม่ได้ก็เป็นความดี ดังนี้แล้ว เป็นผู้คงที่เพราะการได้และไม่ได้ ทั้งสองอย่างนั้นแล ย่อมก้าวล่วงทุกข์เสียได้

    มุนีมีบาตรในมือเที่ยวไปอยู่ ไม่เป็นใบ้ ก็สมมุติว่าเป็นใบ้ ไม่พึงหมิ่นทานว่าน้อย ไม่พึงดูแคลนบุคคลผู้ให้

    เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงอานิสงส์แห่งปฏิปทาจึงตรัสว่า

    ก็ภิกษุผู้ไม่มีตัณหา ตัดกระแสร์กิเลสได้แล้ว ละกิจน้อยใหญ่ ได้เด็ดขาดแล้ว ย่อมไม่มีความเร่าร้อน ฯ

    บัดนี้ เนื่องเพราะพระนาลกเถระ เพราะฟังคาถาเหล่านี้แล้วคิดว่า ชื่อว่าปฏิปทาของมุนีมีเพียงเท่านั้น ก็ทำได้โดยง่าย ไม่ยากนัก สามารถบำเพ็ญได้ด้วยความลำบากเล็กน้อย ดังนี้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงว่า ปฏิปทาของมุนีทำได้ยากแก่พระนาลกเถระ จึงตรัสว่า เราจักบอกปฏิปทาของมุนีแก่ท่านอีก

    ภิกษุผู้ปฏิบัติปฏิปทาของมุนี

    พึงเป็น ผู้มีคมมีดโกนเป็นเครื่องเปรียบ คือเมื่อได้ปัจจัยโดยชอบธรรมแล้ว พึงบริโภคโดยรักษาจิตให้พ้นจากกิเลส เหมือนการเลียคมมีดโกนที่มีหยาดน้ำผึ้ง ย่อมกินโดยระมัดระวัง เพราะเกรงลิ้นจะขาดฉะนั้น

    พึงบรรเทาความอยากในรส พึงเป็นผู้สำรวมที่ท้อง เพราะไม่เสพปัจจัยที่เกิดขึ้นด้วยทางอันเศร้าหมอง

    มีจิตไม่ย่อหย่อน เป็นผู้มีจิตไม่เกียจคร้าน เพราะทำให้มั่นคงในการบำเพ็ญกุศลธรรมเป็นนิจ

    และไม่พึงคิดมาก โดยวิตก ถึงญาติ ชนบท และเทวดา

    เป็นผู้ไม่มีกลิ่นดิบ อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้ว มีพรหมจรรย์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า คือเป็นผู้ไม่มีกิเลส อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้วในภพไหน ๆ พึงเป็นผู้มีไตรสิกขา และศาสนาพรหมจรรย์ทั้งสิ้นเป็นที่ ไปในเบื้องหน้าทีเดียว

    พึงศึกษาเพื่อการนั่งผู้เดียว คือพึงศึกษาเพื่อความเป็นผู้เดียวในทุกอิริยาบถ และเพื่อประกอบภาวนาที่สมณะพึงอบรม ท่านกล่าวถึงกายวิเวกด้วยการนั่งผู้เดียว กล่าวถึงจิตวิเวกด้วยการอบรมของสมณะ

    ท่านผู้เดียวแลจักอภิรมย์ความเป็นมุนีที่เราบอกแล้วโดยส่วนเดียว ทีนั้น จงประกาศไปตลอดทั้งสิบทิศ ท่านได้ฟังเสียงสรรเสริญของนักปราชญ์ทั้งหลายผู้เพ่งฌาน ผู้สละกามแล้ว แต่นั้น พึงกระทำหิริและศรัทธาให้ ยิ่งขึ้นไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นสาวกของเราได้

    พระเถระบรรลุอรหัต

    พระนาลกเถระครั้นฟังดังนั้นแล้ว ได้เป็นผู้มีความปรารถนาน้อยใน ฐาน ๓ คือในการเห็น ๑ ในการฟัง ๑ ในการถาม ๑ เพราะเมื่อจบเทศนา พระนาลกเถระนั้นมีจิตเลื่อมใสถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าไปสู่ป่า

    ไม่เกิดความโลเลว่า ทำอย่างไรดีหนอเราจะพึงได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าอีก นี้คือ ความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยในการเห็นของพระนาลกเถระนั้น

    อนึ่งไม่เกิด ความโลเลว่า ทำอย่างไรดีหนอเราจะพึงได้ฟังพระธรรมเทศนาอีก นี้คือความเป็น ผู้มีความปรารถนาน้อยในการฟังของพระนาลกเถระนั้น

    อนึ่งไม่เกิดความโลเลว่า ทำอย่างไรดีหนอ เราจะพึงได้ถามโมเนยปฏิปทาอีก นี้คือความเป็นผู้ปรารถนาน้อยในการถามของพระนาลกเถระนั้น

    พระนาลกเถระนั้นเป็น ผู้มีความปรารถนาน้อยอย่างนี้ จึงเข้าไปยังเชิงภูเขา ไม่อยู่ตลอดสองวัน ณ ไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง ไม่นั่งตลอดสองวัน ณ โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง ไม่เข้าไปบิณฑบาตตลอดสองวัน ณ บ้านแห่งหนึ่ง คือไม่อยู่ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งเกินกว่าหนึ่งวัน พระนาลกเถระเที่ยวจากป่าสู่ป่า จากต้นไม้สู่ต้นไม้ จากบ้านสู่บ้าน ปฏิบัติปฏิปทาอันสมควรแล้วตั้งอยู่ในผลอันเลิศ

    พระเถระปรินิพพาน

    เพราะภิกษุผู้บำเพ็ญโมเนยปฏิปทาอย่างอุกฤษฏ์ จะมีชีวิตอยู่ได้ ๗ เดือนเท่านั้น บำเพ็ญอย่างกลางจะมีชีวิตอยู่ได้ ๗ ปี บำเพ็ญอย่างอ่อนจะมีชีวิตอยู่ได้ ๑๖ ปี พระนาลกเถระนี้บำเพ็ญอย่างอุกฤษฏ์ ฉะนั้นจะอยู่ได้ ๗ เดือน รู้ว่าตนจะสิ้นอายุจึงอาบน้ำ นุ่งผ้า คาดผ้าพันกาย ห่มสังฆาฏิสองชั้น บ่ายหน้าไปทางพระทศพล ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ประคองอัญชลี ยืนพิงภูเขาหิงคุลิกะ ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

    พระผู้มีพระภาค เจ้าครั้นทรงทราบว่า พระนาลกเถระปรินิพพานแล้ว จึงเสด็จไป ณ ภูเขานั้น พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ กระทำฌาปนกิจให้เก็บพระธาตุไปบรรจุยังเจดีย์แล้วเสด็จกลับ ด้วยประการฉะนี้
     
  11. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,801
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    พระมหาโมคคัลลานะ พระอัครสาวกผู้เป็นเลิศในทางฤทธิ์

    พระมหาโมคคัลลานะ มีชื่อเดิมว่า โกลิตะ เป็นบุตรพราหมณ์ท้ายบ้านผู้หนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากกรุงราชคฤห์ โกลิตมาณพเป็นเพื่อนสนิทกับอุปติสสมาณพ หรือ พระสารีบุตร ทั้งสองคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เป็นบุตรแห่งสกุลผู้มั่งคั่งเหมือนกัน เบื่อชีวิตการครองเรือนที่วุ่นวาย จึงพาบริวารไปขอบวชอยู่ในสำนักสัญชัยปริพพาชก เรียนลัทธิของสัญชัยได้หมด จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยสอนหมู่ศิษย์ต่อไป ทั้งสองมาณพยังไม่พอใจในคำสอนของสัญชัยปริพาชก เพราะไม่ใช่แนวทางที่ตนต้องการ จึงตกลงกันที่จะแสวงหาอาจารย์ที่สามารถชี้แนะแนวทางที่ดีกว่านี้ หากใครได้โมกขธรรม ก็ขอให้บอกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง

    ได้ดวงตาเห็นธรรมและอุปสมบทเป็นภิกษุ

    เมื่ออุปติสสมาณพได้ไปพบพระอัสสชิในกรุงราชคฤห์ ได้ฟัง "พระคาถาเย ธัมมา" จากพระอัสสชิ ทำให้ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุโสดาบัน อุปติสสมาณพได้นำคำสอนของพระอัสสชิไปแจ้งให้โกลิตมาณพทราบ โกลิตมาณพก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นดียวกัน ทั้งสองมาณพได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเวฬุวนาราม และได้ทูลขออุปสมบทต่อพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ได้ทรงอนุญาตให้อุปสมบทเป็นภิกษุ โกลิตมาณพซึ่งอุปสมบทเป็นพระมหาโมคคัลลานะ บำเพ็ญความเพียงได้ 7 วัน ก็สำเร็จพระอรหันต์ ส่วนอุปติสสมาณพ ซึ่งอุปสมบทเป็นพระสารีบุตร อุปสมบทได้กึ่งเดือน จึงสำเร็จพระอรหันต์

    พระมหาโมคคัลลานะเมื่ออุปสมบทแล้วไปทำความเพียรอยู่ที่บ้านกัลลวาลมุตตคาม ถูกนิวรณ์ คือ ถีนมิทธะ ได้แก่ ความหดหู่ซึมเซาเข้าครอบงำ มีอาการนั่งโงกง่วง พระบรมศาสดาได้เสด็จไปสอนอุบายสำหรับระงับความโงกง่วงแก่พระมหาโมคคัลลานะ พระมหาโมคคัลลานะสามารถกำจัดถีนมิทธะ ความหดหู่ซึมเซาได้ พิจารณาธรรมทั้งปวงด้วยปัญญา สำเร็จเป็นพระอรหันต์

    ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครสาวก

    ในวันที่พระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนมาฆะ ในคืนวันนั้น พระพุทธเจ้าทรงประทานพระโอวาทปาติโมกข์แก่จาตุรงคสันนิบาต จากนั้น พระพุทธเจ้าทรงประกาศแต่งตั้งพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวา เลิศกว่าผู้อื่นในทางปัญญา พระมหาโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเลิศกว่าผู้อื่นในทางฤทธิ์

    เป็นผู้มีอภิญญา

    พระมหาโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกผู้มีอภิญญา ซึ่งแปลว่าความรู้ยิ่งยวด อภิญญามี ๖ ประการ ดังนี้

    ๑. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ เช่น คนเดียวนิรมิตเป็นหลายคนได้ ล่องหนผ่านไปในวัตถุกั้นขวางอยู่ เช่น ฝา กำแพงได้ ดำดินคือไปใต้ดินได้ เดินบนน้ำ ดุจเดินบนพื้นดินได้ เหาะไปในอากาศได้

    ๒. ทิพพโสต มีหูทิพย์ ล่วงหูของสามัญมนุษย์ ฟังเสียง ๒ อย่างได้ คือทั้งเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ได้ ทั้งเสียงไกล ทั้งเสียงใกล้

    ๓. เจโตปริยญาณ กำหนดใจคนอื่นได้ รู้ได้ซึ่งใจของบุคคลอื่นอันบริสุทธิ์หรือเศร้าหมองอย่างไร

    ๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้ตั้งแต่ชาติหนึ่งสองชาติ จนตั้งหลายๆ กัป ว่าในชาติที่เท่านั้น ได้มีชื่อโคตร ผิวพรรณ มีอาหารอย่างนั้น ๆได้เสวยสุข ได้เสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีอายุเท่านั้น ๆ จุติจากชาตินั้นแล้ว เกิดในชาติที่เท่านั้น ได้เป็นอย่างนั้น ๆ แล้วมาเกิดในชาตินี้

    ๕. ทิพพจักขุ มีตาทิพย์ มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า จุตูปปาตญาณ มีจักษุทิพย์ บริสุทธิ์ล่วงจักษุสามัญมนุษย์ เห็นเหล่าสัตว์กำลังจุติก็มี กำลังเกิดก็มี เลวก็มี ดีก็มี ผิวพรรณงามก็มี ผิวพรรณไม่งามก็มี ได้ดีก็มี ตกยากก็มี รู้ชัดว่าสัตว์เป็นไปตามกรรม

    ๖. อาสวักขยญาณ ทำให้อาสวะสิ้นไป รู้ชัดตามความจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกข์สมุทัย นี้ทุกข์นิโรธ คามินีปฏิปทาเหล่านี้ อาสวะนี้เหตุเกิดอาสวะนี้ ความดับอาสวะนี้ ทางไปถึงความดับอาสวะ เมื่อรู้เห็นอย่างนี้จิตพ้นแล้วจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ รู้ชัดว่าชาตินี้พ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กรณียะทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอันจะต้องทำเช่นนี้ไม่มีอีก

    อภิญญา ๕ ข้อแรก เป็นโลกิยอภิญญา ข้อ ๖ สุดท้ายเป็นโลกุตตรอภิญญา ผู้ที่จะบรรลุอรหันต์ จะต้องได้โลกุตตรอภิญญา คือ อาสวักขยญาณ ได้อภิญญา ๕ ข้อแรก ยังไม่บรรลุพระอรหันต์

    ทิพพจักขุของพระมหาโมคคัลลานะ

    เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเวฬุวันในกรุงราชคฤห์ พระมหาโมคคัลลานะกับพระลักขณะ ได้ขึ้นไปจำพรรษาอยู่บนเขาคิชกูฎ เวลาเช้าพระเถระทั้งสองได้ถือบาตรเดินลงมาจากยอดเขาเพื่อไปบิณฑบาตในเมือง ในระหว่างที่กำลังเดินลงมานั้น พระลักขณะได้เห็นพระมหาโมคคัลลานะยิ้ม จึงได้ถามถึงสาเหตุ พระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ให้ถามเรื่องนี้ในที่เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้า กลับจากบิณฑบาตแล้ว พระเถระทั้งสองได้พร้อมกันเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระลักขณะได้ถามถึงสาเหตุที่พระมหาโมคคัลลานะยิ้ม พระมหาโมคคัลลานะได้ตอบว่าสาเหตุที่ยิ้ม เพราะได้เห็นโครงร่างกระดูกร่างหนึ่งลอยไปมาอยู่ในอากาศ ถูกแร้งกาบินตามจิกกิน เนื้อที่ยึดซี่โครงเอาไว้ ยังผลให้ร่างกระดูกนั้นส่งเสียงร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด

    พระพุทธเจ้าตรัสรับรองว่า โครงกระดูกที่พระมหาโมคคัลลานะเห็นนั้นมีอยู่จริง และพระองค์เองก็ได้เห็นมาแล้วในวันตรัสรู้ แต่ที่ยังไม่ตรัสบอกใครก็เพราะยังไม่มีพยาน แต่บัดนี้พระองค์ได้พระมหาโมคคัลลานะเป็นพยานแล้วจึงตรัส เนื่องจากทรงเห็นว่า หากไม่มีพยานรับรอง เมื่อตรัสไปแล้ว สำหรับผู้ที่เชื่อไม่มีปัญหา แต่สำหรับผู้ที่ไม่เชื่อจะเป็นผลร้ายอย่างใหญ่หลวงแก่เขา

    จากนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสบุพกรรมของโครงร่างกระดูกนั้นว่า เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ได้มีอาชีพเป็นนายโคฆาตก์ฆ่าวัวชำแหละเนื้อขายเลี้ยงชีวิตอยู่ในกรุงราชคฤห์นี้เอง ด้วยวิบาก (ผล) ของกรรมนั้น ตายแล้วได้ไปเกิดอยู่ในนรกหลายแสนปี พ้นจากนรกแล้วด้วยวิบากกรรมที่ยังเหลืออยู่จึงได้มาเกิดเป็นเปรตมีแต่โครงร่างกระดูก

    พระพุทธเจ้าสนทนาธรรมกับพระมหาโมคคัลลานะทางทิพพจักขุ และทิพพโสต

    ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ส่วนพระมหาโมคคัลลานะกับพระสารีบุตรได้พักอยู่ที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์

    วันหนึ่ง พระสารีบุตรได้ออกจากที่เร้นในตอนเย็นและเข้าไปหาพระมหาโมคคัลลานะ พระสาระบุตรเห็นพระมหาโมคคัลลานะผ่องใสจึงพูดว่า โมคคัลลานะผู้อาวุโส อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก สีหน้าของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง วันนี้ท่านโมคคัลลานะอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อันละเอียดหรือ พระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ท่านผู้อาวุโส วันนี้ผมอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างหยาบ แต่ว่าผมได้สนทนาธรรม

    พระสารีบุตรถามว่า ท่านโมคคัลลานะได้สนทนาธรรมกับใคร พระมหาโมคคัลลานะตอบว่า กับพระผู้มีพระภาคเจ้า พระสารีบุตรถามว่า ผู้มีอายุ ขณะนี้พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในวัดเชตวันในเมืองสาวัตถีซึ่งอยู่ไกลจากที่นี่ ท่านโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยฤทธิ์หรือ หรือว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาหาท่านโมคคัลลานะด้วยฤทธิ์ พระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ท่านผู้อาวุโส ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง คือ ผมมิได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยฤทธิ์ ทั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าก็มิได้เสด็จมาหาผมด้วยฤทธิ์ แต่ว่า ผมกับพระพุทธเจ้าสนทนาธรรมกันทางทิพพจักขุและทิพพโสต เพราะว่า ผมมีทิพพจักขุ และทิพโสตบริสุทธิ์เท่ากับพระพุทธเจ้าและพระพุทธเจ้าก็มีทิพพจักขุและทิพโสตบริสุทธิ์เท่ากับผม

    ปราบนันโทปนันทะนาคราช

    ในคาถาพาหุง บทที่ ๗ มีข้อความเป็นภาษาบาลี และคำแปลเป็นไทยมีใจความว่า "พระจอมมุนี ทรงโปรดให้พระมหาโมคคัลลานะเถระพุทธชิโนรส (นิรมิตกายเป็นนาคราช) ไปทรมานพระยานาคราชชื่อนันโทปนันทะ ผู้มีความรู้ผิด มีฤทธิ์มาก ด้วยวิธีอันให้อุปเท่ห์แห่งฤทธิ์แก่พระเถระ ขอชัยมงคลทั้งหลาย จงเกิดมีแก่ท่านด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น"

    พระพุทธชัยมงคลในบทนี้ กล่าวถึงพระผู้มีพระภาคทรงมีชัยแก่นันโทปนันทะนาคราช ซึ่งมีเรื่องดังนี้

    ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี เช้าวันหนึ่งก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะเสด็จไปรับภัตตาหารที่บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เวลาใกล้รุ่ง พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูสัตว์โลก ก็ทรงเห็นนันโทปนันทะนาคราชปรากฏอยู่ในข่ายพระญาณ ในตอนเช้าพระผู้มีพระภาคตรัสสั่งพระอานนท์ให้บอกสงฆ์ทราบว่า พระองค์จะเสด็จไปเทวโลก และได้ทรงพาพระสาวกผู้มีอภิญญาเหาะไปยังเทวโลก

    นันโทปนันทะนาคราชเห็นพระผู้มีพระภาคและพระสาวกเหาะมาก็โกรธ โดยถือว่าตนเป็นผู้มีอานุภาพมาก ถ้าสมณะเหล่านั้นเหาะข้ามไป ฝุ่นละอองที่ติดเท้าก็จะล่วงหล่นมาบนหัว จะต้องหาทางไม่ให้เหาะข้ามไป จึงเอาหางรัดเขาพระสุเมรุไว้ ๗ รอบ และบันดาลให้เป็นหมอกควันมืดมัวไปหมด

    มีสาวกหลายองค์ทูลอาสาที่จะปราบพระยานาค แต่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต ครั้นเมื่อพระมหาโมคคัลลานะทูลอาสา พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาต พร้อมทั้งทรงให้พรให้มีชัยชนะแก่พระยานาค พระมหาโมคคัลลานะได้เนรมิตกายเป็นพระยานาคที่มีร่างกายยาวใหญ่กว่าพระยานันโทปนันทะถึง ๒ เท่า แล้วรัดกายพระยานาคให้แน่นเข้ากับเขาพระสุเมรุมิให้เคลื่อนไหว ฝ่ายพระยานาคถูกนาคพระมหาโมคคัลลานะรัดจนแทบกระดูกแตก ก็โกรธเกรี้ยวยิ่งนัก จึงพ่นพิษให้เป็นควันแผ่ไปโดยรอบ พระมหาโมคคัลลานะก็บันดาลให้ควันเกิดขึ้นมากยิ่งกว่า ปราบฤทธิ์ของพระยานาคนั้นเสีย พระยานาคจึงพ่นควันพิษเป็นเปลวไฟอันร้ายแรง พระมหาโมคคัลลานะก็เนรมิตไฟที่ร้อนแรงกว่าให้เกิดขึ้น ไฟของพระยานาคไม่อาจทำอันตรายแก่พระมหาโมคคัลลานะได้ แต่ไฟที่พระมหาโมคคัลลานะเนรมิตขึ้นกลับรุมล้อมพระยานาคทั้งภายนอกภายในให้รุ่มร้อนกระสับกระส่ายเป็นกำลัง

    พระยานาคคิดว่าสมณะนี้ชื่อใด จึงมีฤทธิ์มากอย่างนี้ คิดแล้วก็ถามชื่อ พระมหาโมคคัลลานะก็บอกให้ทราบว่า เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระผู้มีพระภาค พระยานาคได้กล่าวว่า ท่านเป็นสมณะเหตุใดจึงมาทำร้ายข้าพเจ้า การกระทำของท่านไม่สมควรแก่สมณะ พระมหาโมคคัลลานะได้ตอบว่าเราไม่ได้โกรธและลงโทษท่าน แต่ที่ทรมานท่านก็เพื่อจะช่วยท่านให้พ้นจากความเห็นผิดและพยศร้าย ให้ท่านอยู่ในทางตรงคืออริยมรรค

    ในที่สุดพระมหาโมคคัลลานะก็ได้ปราบนันโทปนันทะนาคราชจนยอมจำนน พ้นจากการเป็นมิจฉาทิฏฐิ รู้จักบาปบุญคุณโทษ เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา พระยานาคได้กราบนมัสการพระผู้มีพระภาคและขอบูชาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดไป พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานศีล ๕ ให้รักษา จากนั้นพระผู้มีพระภาคก็ได้พาพระสาวกไปเรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐีเพื่อรับภัตตาหาร

    ถูกโจรทุบตีก่อนนิพพาน

    พระมหาโมคคัลลานะมักจะเหาะไปเทวโลกและนรก ถามกรรมที่พวกเทวดาและพวกสัตว์ที่อยู่ในสวรรค์และนรกทำในชาติก่อน แล้วนำมาเล่าให้มนุษย์ฟัง ผู้คนก็พากันนำลาภสักการะมาถวาย เป็นเหตุให้พวกเดียรถีย์เสื่อมจากลาภ พวกนี้จึงว่าจ้างให้พวกโจรไปลอบฆ่าท่าน พวกโจรไปลอบฆ่าพระมหาโมคคัลลานะถึง ๓ ครั้ง ในสองครั้งแรกท่านเหาะหนีไปทางอากาศ พวกโจรไม่สามารถทำอันตรายท่านได้ แต่ในครั้งสุดท้าย ท่านพิจารณาเห็นว่าเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อนติดตามมา ท่านจึงไม่หนี พวกโจรก็จับท่านมาทุบตี จนกระดูกแตกละเอียด แล้วนำไปซ่อนไว้ในพุ่มไม้แห่งหนึ่ง แต่ท่านยังไม่มรณะ ได้รักษาตนเองด้วยกำลังฌาน แล้วไปเฝ้าพระศาสดาทูลลานิพพาน

    ปรากฏว่าประชาชนมีความสงสัยว่าเหตุใดพระมหาโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นถึงพระอัครสาวกเบื้องซ้ายผู้มีฤทธิ์จึงถูกโจรทุบตีอย่างทารุณ พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าบุพพกรรมของพระมหาโมคคัลลานะว่า ในอดีตชาตินานมาแล้ว พระมหาโมคคัลลานะได้เกิดเป็นชาวเมืองพาราณสี ทำหน้าที่เลี้ยงดูมารดาผู้ทุพพลภาพเสียตา ต่อมาได้ภรรยาคนหนึ่ง และได้ยอมทำตามภรรยา นำมารดาไปทิ้งไว้ในป่า ทุบตีจนตาย พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! โมคคัลลานะทำกรรมประมาณเท่านี้ โทษในนรกหลายแสนปี ด้วยวิบากยังเหลืออยู่ จึงถูกทุบตีอย่างนั้นนั่นและละเอียดหมดถึงมรณะสิ้น ๑๐๐ อัตตภาพ"
     
  12. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,801
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    %B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%A3%E0%B8%B0.jpg

    พระเหมกเถระ

    บุรพกรรมในสมัยพระปิยทัสสีพุทธเจ้า

    ในกาลสมัย พระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปิยทัสสี ในกาลนั้น ท่านเป็นดาบสชื่ออโนมะ ออกบำเพ็ญพรตสร้างอาศรมอย่างสวยงามไว้ใกล้ยอดเงื้อมเขา อาศัยอยู่ในบรรณศาลา บำเพ็ญตบะจนสำเร็จอภิญญา สามารถเหาะเหินเดินอากาศ มีฤทธิ์เป็นอันมาก ท่านเป็นผู้มีความเพียร เป็นผู้มีปัญญาฉลาดในการโต้ตอบ ฉลาดในการดูลางร้ายดี ปราศจากความเศร้าโศก ไม่แข่งดี บริโภคน้อย ไม่ยินดีด้วยลาภ และไม่เสียใจด้วยความเสื่อมลาภ

    ท่านไม่เคยเห็นพระชินเจ้ามาก่อน และไม่เคยได้ฟังเรื่องของท่านมาจากใครๆ แต่โดยที่ท่านเป็นผู้มีความรู้ในลักษณะทั้งหลาย ท่านเดินทางไปได้ทั้งบนพื้นดินและในอากาศ ฉลาดในบทนักษัตร ครั้นเมื่อท่านนั้นได้ฟังข่าวว่ามีพระพุทธเจ้ามาบังเกิดแล้ว ยังจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธองค์ แม้จะยืนหรือนั่งอยู่ก็ตาม ย่อมระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นนิตยกาล เมื่อท่านระลึกถึงพระพุทธเจ้า ปีติย่อมมีแก่ท่านทุกขณะ เมื่อท่านระลึกอยู่อย่างนี้ แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงระลึกถึง

    ในกาลนั้น พระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปิยทัสสี พระองค์ทรงพิจารณาเห็นคนผู้ควรจะโปรดแล้ว จึงเสด็จเข้ามาสู่อาศรมท่าน แม้เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึง ท่านก็ไม่รู้ว่าผู้นี้เป็นพระพุทธเจ้า พระปิยทัสสีมหามุนีทรงแสดงให้ท่านทราบว่า พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าในมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก

    ครั้นท่านรู้จักพระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปิยทัสสี ผู้มหามุนีแล้ว ก็บังเกิดความเลื่อมใสยิ่งนัก ได้กราบทูลดังนี้ว่า ขอภิกษุทั้งปวงจงนั่งบนตั่ง บนบัลลังก์ และบนอาสันทิ ส่วนพระองค์ผู้มีพระกรุณาในสัตว์ทั้งปวง เชิญประทับบนอาสนะทอง แล้วท่านท่านก็ได้นิรมิตตั่งแก้วอันวิจิตร นิรมิตอาสนะด้วยฤทธิ์ถวายแด่พระมุนีพระนามว่าปิยทัสสี เมื่อพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนตั่งแก้วที่ท่านนิรมิตด้วยฤทธิ์แล้ว ท่านได้ถวายผลหว้าโต ประมาณเท่าหม้อข้าวทันที พระมหามุนีจึงได้เสวยผลหว้านั้น

    ครั้นแล้วเมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปิยทัสสี ประทับนั่งอยู่บนอาสนะแก้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า ผู้ใด ได้ถวายตั่งแก้วและผลหว้าแก่เราเราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว

    ผู้นี้จักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๗๗ กัป จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ครั้ง จักได้เป็นเทวดาเสวยรัชสมบัติในเทวโลก ๓๒ ครั้ง จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์โดยคณานับมิได้

    ในกัปที่ ๑๘,๐๐๐ จักมีพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมผู้มีจักษุ กำจัดความมืดมนอันธการในโลก ผู้นี้อาศัยการได้เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น จักออกบวช ได้ฟังธรรมของพระศาสดาพระองค์นั้นแล้ว จักเผากิเลสทั้งหลาย กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะ นิพพาน

    ท่านได้กระทำกรรมดีจนตลอดชีวิต ครั้นละจากภพมนุษย์นี้ไปแล้ว ก็เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิมนุษย์และเทวดา

    บุรพกรรมสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

    ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า ท่านเกิดเป็นศิษย์คนหนึ่ง ของอาจารย์ผู้เป็นช่างไม้คนหนึ่งชาวกรุงพาราณสี ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ทางด้านช่างไม้อย่างไม่มีใครเทียบในสำนักอาจารย์ของตน ช่างไม้นั้นมีศิษย์ ๑๖ คน ศิษย์คนหนึ่ง ๆ มีศิษย์คนละ ๑,๐๐๐ คน รวมอาจารย์และศิษย์เหล่านั้นเป็น ๑๖,๐๑๗ คนอย่างนี้ ทั้งหมดนั้นอาศัยอยู่ในกรุงพาราณสี เลี้ยงชีพอยู่ด้วยการเอาไม้ในแถบภูเขามาสร้างเป็นปราสาทชนิดต่าง ๆ แล้วผูกแพนำมาขายยังกรุงพาราณสีทางแม่น้ำคงคา หากพระราชาทรงต้องการก็จะสร้างปราสาทชั้นเดียว หรือเจ็ดชั้นถวาย หากไม่ทรงต้องการ ก็จะขายคนอื่นเลี้ยงบุตรภรรยา

    ลำดับนั้นวันหนึ่ง อาจารย์ของศิษย์เหล่านั้นคิดว่า เราไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการเป็นช่างไม้ได้ตลอดไป เพราะถึงคราวแก่ตัวลงก็จะทำงานนี้ได้ยาก จึงเรียกศิษย์ทั้งหลายมาบอกว่า นี่แน่ะท่านทั้งหลาย พวกท่านจงไปนำต้นไม้ที่มีแก่นน้อยมีน้ำหนักเบา เช่นต้นมะเดื่อเป็นต้นมาให้เรา ศิษย์เหล่านั้นรับคำแล้วต่างก็ ไปนำมา อาจารย์นั้นเอาไม้นั้นมาประดิษฐ์เป็นรูปนกแล้วใส่เครื่องกลไกเข้าไปภายในนกนั้น นกไม้ยนต์นั้นก็สามารถบินขึ้นสู่อากาศดุจพญาหงส์ เที่ยวไปเบื้องบนป่าแล้วบินลงเบื้องหน้าศิษย์ทั้งหลาย

    ลำดับนั้น อาจารย์จึงถามศิษย์ทั้งหลายว่า นี่แน่ะท่านทั้งหลาย เราทำพาหนะไม้เช่นนี้ได้ ก็จะสามารถยึดราชสมบัติได้ การเลี้ยงชีพด้วยศิลปะการเป็นช่างไม้ลำบาก ศิษย์เหล่านั้นจึงได้ดำเนินการตามที่อาจารย์สั่ง ครั้นสำเร็จแล้วจึงได้แจ้งให้อาจารย์ทราบ ลำดับนั้นอาจารย์จึงปรึกษากับพวกศิษย์ว่า เราจะยึดราชสมบัติที่ไหนก่อน พวกศิษย์ตอบว่า ยึดราชสมบัติกรุงพาราณสีซิ ท่านอาจารย์ อาจารย์กล่าวว่า อย่าเลยพวกท่าน ไม่ดีดอก เพราะแม้พวกเราจะยึดราชสมบัติกรุงพาราณสีได้ ก็จะไม่พ้นจากการพูดถึงอาชีพเดิมของเราคือช่างไม้ว่า เราเป็นพระราชาช่างไม้ เรามีพระยุพราชช่างไม้ ชมพูทวีปออกใหญ่โต เราไปที่อื่นกันเถิด

    ลำดับนั้น พวกศิษย์พร้อมด้วยลูกเมียขึ้นนกยนต์พร้อมด้วยอาวุธ มุ่งหน้าไปหิมวันตประเทศ เข้าไปยังนครหนึ่งในหิมวันต์ แล้วพากันบุกเข้าไปถึงพระราชมณเฑียรนั่นเองด้วยนกยนต์ ศิษย์เหล่านั้นก็สามารถยึดราชสมบัติในนครนั้นได้โดยง่าย จากนั้นจึงอภิเษกอาจารย์ไว้ในฐานะพระราชา ชื่อว่าพระเจ้ากัฏฐวาหนะ นครนั้นจึงได้ชื่อว่า กัฏฐวาหนคร

    พระราชากัฏฐวาหนะได้ทรงดำรงอยู่ในธรรม ทรงตั้งพระยุพราช และทรงตั้งศิษย์ทั้ง ๑๖ คน ไว้ในตำแหน่งอาจารย์ พระราชาทรงสงเคราะห์ศิษย์เหล่านั้นด้วยสังคหวัตถุ ๔ จึงเป็นแคว้นที่มั่งคั่ง สมบูรณ์และไม่มีอันตราย ทั้งชาวเมืองชาวชนบทนับถือพระราชาและข้าราช การเป็นอย่างยิ่ง พูดกันว่า พวกเราได้พระราชาที่ดี ข้าราชบริพารก็เป็นคนดี

    อยู่มาวันหนึ่ง พวกพ่อค้าจากมัชฌิมประเทศ นำสินค้ามาสู่กัฏฐวาหนนคร และนำเครื่องบรรณาการไปเฝ้าพระราชา พระราชาตรัสถามว่า พวกท่านมาจากไหน พวกพ่อค้าทูลว่า ขอเดชะ มาจากกรุงพาราณสีพระเจ้าข้า พระราชาตรัสถามเรื่องราวทั้งหมด ณ กรุงพาราณสีนั้นแล้วตรัสว่า พวกท่านจงนำมิตรภาพของเราไปทูลกับพระราชาของพวกท่านเถิด พ่อค้าเหล่านั้นรับพระราชดำรัสแล้ว พระราชาพระราชทานเสบียงแก่พวกพ่อค้าเหล่านั้น เมื่อถึงเวลาไปยังตรัสชี้แจงด้วยความใส่พระทัย

    พวกพ่อค้ากลับไปกรุงพาราณสีได้กราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาตรัสว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเราจะงดเก็บส่วยของพ่อค้าที่มาจากแคว้นกัฏฐวาหะ แล้วทรงให้ป่าวประกาศว่า พระราชากัฏฐวาหนะจงเป็นพระสหายของเรา พระราชาทั้งสองได้เป็นมิตรกันโดยไม่ได้เห็นกันเลย แม้พระราชากัฏฐวาหนะ ก็ทรงให้ป่าวประกาศไปทั่วนครว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ท่านจงงดเก็บส่วยของพ่อค้าที่มาจากกรุงพาราณสี และควร ให้เสบียงแก่พวกเขาด้วย

    ลำดับนั้นพระเจ้าพาราณสี ทรงส่งพระราชสารไปถวายแด่พระเจ้ากัฏฐวาหนะว่า หากมีอะไรแปลก ๆ อันสมควรเพื่อจะเห็น เพื่อจะฟังในชนบทนั้นเกิดขึ้นเพื่อให้ข้าพระองค์ได้เห็นและได้ฟังบ้าง ก็ขอได้โปรดพระราชทานพระกรุณาด้วย พระราชกัฏฐวาหนะทรงส่งพระ ราชสารตอบถวายพระราชาพาราณสีเหมือนกัน พระราชาทั้งสองทรงกระทำกติกากันอยู่อย่างนั้น

    คราวหนึ่ง พระราชากัฏฐวาหนะได้ผ้ากัมพลเนื้อละเอียดยิ่งนัก มีค่ามากเหลือเกิน มีสีคล้ายรัศมีพระอาทิตย์อ่อน ๆ พระราชากัฏฐวาหนะทอดพระเนตรเห็นผ้ากัมพลเหล่านั้น ทรงดำริว่า เราจักส่งไปให้สหายของเราจึงให้ช่างทำงา สลักผอบงา ๘ ใบ เอาผ้ากัมพลใส่ลงในผอบเหล่านั้น ผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ ยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอก ก็สามารถบรรจุลงในผอบงาใบเล็ก ๆ ได้ จากนั้นจึงให้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับครั่งทำก้อนครั่งกลมหุ้มข้างนอก เอาครั่งเป็นก้อนกลม ๘ ก้อนใส่ไว้ในสมุก เอาผ้าพันไว้ประทับตราแล้วทรงส่งอำมาตย์ไป รับสั่งว่า พวกท่านจงนำไปถวายพระราชาพาราณสี และทรงจารึกพระอักษรว่า บรรณาการนี้ อันหมู่อำมาตย์ท่ามกลางพระนครพึงสนใจ และส่งให้พวกอำมาตย์นำ ไปถวายแด่พระเจ้าพาราณสี

    พระเจ้าพาราณสีทรงอ่านคำจารึกแล้วรับสั่ง ให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ ทรงแกะตราประทับแล้วคลี่ผ้าพันออก เมื่อเปิดสมุกก็ทรงเห็นก้อนครั่งกลม ๘ ก้อน พระเจ้าพาราณสีทรงอายว่าสหายของเราส่งก้อนครั่งกลมให้เรา คล้ายกับให้เด็กอ่อนเล่นก้อนครั่งกลม จึงทรงทุบก้อนครั่งก้อนหนึ่ง ณ พระที่นั่งของพระองค์ ทันใดนั้นเอง ครั่งก็ แตกออก ผอบงาจึงตกมาแล้วแยกออกเป็นสองส่วน ทอดพระ เนตรเห็นผ้ากัมพลอยู่ข้างใน จึงทรงเปิดผอบอื่น ๆ ออกดู ในผอบแต่ละใบได้บรรจุผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ ยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอกเหมือน ๆ กัน มหาชนเห็นดังนั้นต่างก็ได้มีความพอใจว่า พระราชากัฏฐวาหนะ ซึ่งเป็นพระอทิฏฐสหาย (สหายที่ไม่เคยเห็นกัน) ของพระราชาของเราทรงส่งบรรณาการเช่นนี้มาถวาย การทำไมตรีเช่นนี้สมควรแล้ว พระราชารับสั่งให้เรียกพ่อค้ามาตีราคาผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ พ่อค้าเห็นผ้ากัมพลนั้นแล้วกราบทูลว่า ผ้ากัมพลทั้งหลายนี้ประมาณค่ามิได้เลย ลำดับนั้น พระเจ้าพาราณสีทรงดำริว่า การส่งบรรณาการตอบแทน ก็ควรจะส่งให้เหนือกว่าบรรณการที่ส่งมาถวาย สหายของเราส่งบรรณาการหาค่ามิได้มาให้เรา เราควรจะส่งอะไรให้สหายดีหนอ

    ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะทรงอุบัติขึ้นแล้ว ประทับอยู่ ณ กรุงพาราณสี ครั้งนั้นพระราชาได้มีพระราชดำริว่า สิ่งอื่นจะ สูงสุดยิ่งกว่าพระรัตนตรัยไม่มี เอาเถิด เราจะส่งข่าวว่าพระรัตนตรัยเกิดขึ้นแล้ว แก่สหาย พระเจ้าพาราณสีนั้น ตรัสให้จารึกคาถานี้ว่า

    พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นพร้อมแล้วในโลก

    เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง

    พระธรรมเกิดขึ้นพร้อมแล้วในโลก

    เพื่อความสุขแก่สัตว์ทั้งปวง

    พระสงฆ์เกิดขึ้นพร้อมแล้วในโลก

    เป็นบุญเขตที่ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า ดังนี้

    และให้จารึกการปฏิบัติของภิกษุรูปหนึ่งตราบเท่าถึงพระอรหัต ด้วยชาดสีแดงลงบนแผ่นทอง ใส่ลงในสมุกทำด้วยแก้ว ๗ ประการ ใส่สมุกนั้นลงในสมุกทำด้วยแก้วมณี ใส่สมุกทำด้วยแก้วมณีลงในสมุกแก้วตาแมว ใส่สมุกแก้วตาแมวลงในสมุกทับทิม ใส่สมุกทับทิมลงในสมุกทองคำ ใส่สมุกทองคำลงในสมุกเงิน ใส่สมุกเงินลงในสมุกงาช้าง ใส่สมุกงาช้างลงในสมุกไม้แก่น ใส่สมุกไม้แก่นลงในหีบ เอาผ้าพันหีบแล้วประทับตราพระราชลัญจกร ทรงให้นำช้างเมามันตัวประเสริฐ มีธงทองคำประดับด้วยทองคำ คลุมด้วยตาข่ายทองให้ตกแต่งบัลลังก์บนช้างนั้น แล้วยกหีบวางไว้บนบัลลังก์ กั้นเศวตฉัตร บูชาด้วยของหอมและดอกไม้ทุกชนิด ขับเพลงสรรเสริญหนึ่งร้อยบท ด้วยกังสดาลทุกชนิด เคลื่อนไป แล้วทรงให้ตกแต่งทางตลอดระยะไปจนถึงเขตรัฐสีมาของพระองค์ แล้วทรงนำไปด้วยพระองค์เอง เสด็จประทับอยู่ ณ ทางนั้น

    ทรงนำไปจนถึงเขตรัฐสีมาของพระราชากัฏฐวาหนะ พระราชากัฏฐวาหนะได้ทรงสดับข่าวนั้น ก็เสด็จมาต้อนรับ ทรงกระทำการต้อนรับเหมือนเช่นที่พระราชาแห่งกรุงพาราณสีทรงกระทำ แล้วทูลเชิญให้เสด็จเข้าพระนคร รับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ และพวกชาวพระนคร ทรงเปลื้องผ้าพันออก ณ พระลานหลวง ทรงเปิดหีบทอดพระเนตรเห็นสมุกในหีบ แล้วทรงเปิดหีบทั้งหมดตามลำดับ ทอดพระเนตรเห็นจารึกบนแผ่นทองคำ ทรงพอพระทัยว่า สหายของเราทรงส่งรัตนบรรณาการ ซึ่งหาได้ยากอย่างยิ่งตลอด แสนกัป พวกเราได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟังว่า พุทโธ โลเก อุปปนโน พระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วในโลกดังนี้

    ทรงดำริว่า ถ้ากระไรเราควรจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และฟังพระธรรม ดังนี้แล้วตรัสเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมารับสั่งว่า ได้ยินว่า พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ อุบัติแล้วในโลก พวกท่านคิดว่าควรจะทำอะไร อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ประทับอยู่ ณ ที่นี้แหละ พวกข้าพระองค์จักไปฟังข่าวดู พระเจ้าข้า

    ลำดับนั้น อำมาตย์ ๑๖ คน พร้อมด้วยบริวาร ๑๖,๐๐๐ คน ถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า ผิว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก พวกข้าพระพุทธเจ้าก็คงไม่มีการกลับมาเห็นอีก หากว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงอุบัติ พวกข้าพระพุทธเจ้าก็จักกลับมา กราบทูลดังนั้นแล้วก็ถวายบังคมลาแล้วก็พากันเดินทางไป ฝ่ายพระเจ้าหลานเธอของพระราชาพระองค์หนึ่ง ถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าก็จะไป พระราชาตรัสว่า เมื่อเจ้าทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติ ณ ที่นั้นแล้ว จงกลับมาบอกเราด้วย พระเจ้าหลานเธอรับพระบัญชาแล้วจึงได้ไป พวกเขาแม้ทั้งหมดไปตลอดทางพักเพียงราตรีเดียว ก็ถึงพระนครพาราณสี

    ในระหว่างที่พวกอำมาตย์ยังเดินทางไปกรุงพาราณสีนั่นเอง ยังไม่ทันถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จดับขันธปรินิพพานไปเสียก่อนแล้ว เมื่อเหล่าอำมาตย์มาถึง พวกเขาก็เที่ยวไปจนทั่ววิหาร แลเห็นเหล่าพระสาวกอยู่กันพร้อมหน้า จึงถามว่าใครเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน พระสาวกเหล่านั้นจึงบอกแก่พวกเขาว่า พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเสียแล้ว เหล่าอำมาตย์จึงถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า พระโอวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้ยังมีอยู่หรือไม่ พระสาวกเหล่านั้นกล่าวว่า มีอยู่ อุบาสก คือพึงตั้งอยู่ในพระรัตนตรัย พึงสมาทานศีล ๕ พึงเข้าอยู่จำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ พึงให้ทาน พึงปฏิบัติธรรม

    อำมาตย์เหล่านั้นครั้นได้ฟังแล้วพากันบวชทั้งหมด เว้นแต่อำมาตย์ผู้เป็นพระเจ้าหลานเธอนั้น อำมาตย์ผู้เป็นพระเจ้าหลานเธอ ถือ เอาบริโภคธาตุ (ต้นโพธิ์ บาตรและจีวร เป็นต้น ชื่อว่า บริโภคธาตุ) มุ่งหน้ากลับไปยังแคว้นกัฏฐวาหนะ พระเจ้าหลานเธอนี้ถือเอาธมกรก (หม้อกรองน้ำ) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า และพาพระเถระรูปหนึ่งผู้ทรงธรรมและวินัยไปยังพระนครโดยลำดับ ได้กราบทูลพระราชาว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลกและเสด็จปรินิพพานแล้ว ได้กราบทูลถึงโอวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้ พระราชาเสด็จเข้าไปหาพระเถระฟังธรรมแล้วรับสั่งให้สร้างวิหาร ประดิษฐานพระเจดีย์ ปลูกต้นโพธิ์ ทรงดำรงอยู่ในพระรัตนตรัย และ ศีล ๕ เป็นนิจ ทรงเข้าอยู่จำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ทรงให้ทาน ทรงดำรงอยู่ตราบเท่าอายุแล้วไปยังบังเกิดในกามาวจรเทวโลก แม้อำมาตย์ ๑๖,๐๐๐ คน ก็พากันบวช แล้วมรณภาพเยี่ยงปุถุชน ยังไม่ได้มรรคผลอันใด แล้วได้ไปเกิดเป็นบริวารของพระราชาผู้เป็นเทวดานั้นนั่นเอง

    สมัยพระสมณโคดมพุทธกาล

    เมื่อเวลาผ่านไปพุทธันดรหนึ่ง ในภัทรกัป สมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรายังไม่ทรงอุบัติ พระราชาและอำมาตย์เหล่านั้นที่บังเกิดเป็นเทวดาเสวยสุขอยู่ในเทวโลกก็ได้จุติลงมาเกิดในโลกมนุษย์

    พระราชาและอำมาตย์เหล่านั้นที่บังเกิดเป็นเทวดาเสวยสุขอยู่ในเทวโลกก็ได้จุติจากเทวโลก

    พระราชาเกิดเป็นบุตรของปุโรหิตของพระเจ้ามหาโกศลผู้เป็นพระชนกของพระเจ้าปเสนทิ มีชื่อว่า พาวรี ประกอบด้วย มหาปุริสลักษณะ ๓ ประการ ได้เล่าเรียนวิชาพราหมณ์จนจบไตรเทพ ครั้นเมื่อบิดาล่วงลับไปก็ได้ดำรงตำแหน่งปุโรหิตแทน

    ส่วนอำมาตย์ผู้ใหญ่ ๑๖ คนนั้น ในภพสุดท้ายนี้ หนึ่งในนั้นก็ถือปฏิสนธิในครอบครัวพราหมณ์ในกรุงสาวัตถี บิดามารดาได้ตั้งชื่อว่า เหมกะ และอำมาตย์ผู้ใหญ่ที่เหลืออีก ๑๕ คน และอำมาตย์ที่เป็นบริวารอีก ๑๖,๐๐๐ คน ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ที่กรุงสาวัตถีนั้นนั่นเอง

    ท่านเหมกะเมื่อมีอายุพอจะศึกษาศิลปวิทยาแล้ว บิดามารดาจึงนำไปฝากเป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวนศิษย์ ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรี ซึ่งท่านและศิษย์ผู้ใหญ่อีก ๑๕ คนนั้นต่างก็มีศิษย์คนละ ๑,๐๐๐ คน รวมทั้งสิ้น ๑๖,๐๐๐ คน

    เมื่อพระราชามหาโกศลได้เสด็จสวรรคต พระเจ้าปเสนทิจึงได้อภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ พาวรีพราหมณ์ก็ได้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทินั้นอีก พระราชาได้พระราชทานสิ่งของที่พระชนกพระราชทานไว้ และสมบัติอื่นแก่พาวรีปุโรหิตเป็นอันมาก พระราชานั้นเมื่อยังทรงพระเยาว์ ก็ได้เรียนศิลปะในสำนักของพาวรีปุโรหิตเหมือนกัน

    พาวรีปุโรหิตออกบวช

    ลำดับนั้น พาวรีได้ทูลแด่พระราชาว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จักบวช พระราชาตรัสว่า ท่านอาจารย์ เมื่อท่านดำรงอยู่ก็เหมือนบิดาของข้าพเจ้ายังอยู่ ท่านอย่าบวชเลย พาวรีทูลว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จักบวชแน่พระเจ้าข้า พระราชาเห็นว่าไม่ทรงสามารถห้ามได้ จึงทรงขอร้องว่า ขอท่านจงบวชอยู่ในพระราชอุทยานนี้เถิด ข้าพเจ้าจะได้เห็นทุกเย็นและเช้า อาจารย์พร้อมด้วย ศิษย์ ๑๖ คน กับบริวารอีก ๑๖,๐๐๐ คน ได้บวชเป็นดาบสอยู่ในพระราชอุทยาน พระราชาทรงบำรุงด้วยปัจจัย ๔ เสด็จไปทรงอุปัฏฐากอาจารย์นั้น ทุกเวลาเย็นและเวลาเช้า

    พราหมณ์พาวรีย้ายสำนักออกไปนอกพระนคร

    อยู่มาวันหนึ่งศิษย์ทั้งหลายกล่าวกะอาจารย์ว่า การอยู่ใกล้พระนครมีเครื่องพัวพันมาก ท่านอาจารย์เราไปหาโอกาสที่ไม่มีชนรบกวนเถิด ชื่อว่าการอยู่ในเสนาสนะอันสงัด เป็นประโยชน์มากแก่บรรพชิตทั้งหลาย อาจารย์ รับว่า ดีละ จึงไปทูลพระราชา พระราชาตรัสห้ามถึง ๓ ครั้งก็ไม่สามารถจะห้ามได้ จึงพระราชทานกหาปณะ ๒๐๐,๐๐๐ กหาปณะ รับสั่งกะอำมาตย์ทั้ง หลายว่า พวกเจ้าทรงสร้างอาศรมถวาย ในที่ที่คณะฤๅษีปรารถนาจะอยู่เถิด แต่นั้นอาจารย์พร้อมด้วยชฏิล ๑๖,๐๐๐ เป็นบริวาร ได้รับอนุเคราะห์จากพวก อำมาตย์จึงออกจากอุตตรชนบท มุ่งหน้าไปทักษิณชนบท

    ครั้นเมื่อพาหมู่คณะเดินทางมาถึงบริเวณใกล้พรมแดนใน ระหว่างสองแคว้น คือ แคว้นอัสสกะและแคว้นมุฬกะซึ่งเป็นภุมิประเทศที่ แม่น้ำโคธาวารีแยกออกเป็นสองสาย แล้วมาบรรจบกันอีกครั้งหนึ่ง เกิดเป็นเกาะกว้างยาวประมาณ ๓ โยชน์ เกาะทั้งหมดปกคลุมไปด้วยป่ามะขวิด เมื่อก่อน ณ บริเวณนั้นสรภังคดาบสเป็นต้นได้อาศัยอยู่

    อาจารย์เห็นเช่นนั้นแล้วจึงประกาศแก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า ประเทศนี้เป็นที่อยู่ของสมณะมาก่อน ประเทศนี้สมควรแก่นักบวช พวกอำมาตย์จึงได้ให้ทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ แก่พระเจ้าอัสสกะ อีก ๑๐๐,๐๐๐ ให้แก่พระเจ้ามุฬกะ เพื่อการครอบครองถือเอาภูมิประเทศนั้น พระราชาทั้งสองนั้นได้พระราชทานที่บริเวณเกาะนั้นและบริเวณอื่นประมาณ ๒ โยชน์ รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๕ โยชน์ ซึ่งอยู่ในระหว่างเขตรัฐสีมาของพระราชาเหล่านั้น พวกอำมาตย์ก็ได้สร้างอาศรม ณ ที่นั้นแล้วและให้นำทรัพย์มาจากกรุงสาวัตถีมาจัดตั้งเป็นโคจรคามเสร็จแล้วพากันกลับไป

    พาวรีพราหมณ์และเหล่าศิษย์ ทั้ง ๑๖,๐๑๖ คนก็เลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยการเที่ยวภิกขาและผลไม้ ต่อมาก็ได้มีชาวบ้านซึ่งเลื่อมใสในวัตรของพราหมณ์ เข้ามาปลูกสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยอยู่บนที่ดินของพราหมณ์เหล่านั้น โดยได้รับอนุญาตจากพวกพราหมณ์ เกิดเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น ชาวบ้านที่อาศัยพราหมณ์พาวรีนั้นก็เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยผลอันเกิดจากการกสิกรรม ครั้นครบรอบปีเหล่าชาวบ้านก็รวบรวมเงินจากแต่ละครอบครัวเพื่อเป็นส่วยให้แก่พระราชา และถือเอาส่วยนั้นไปเฝ้าพระเจ้าอัสสกะ ทูลกับพระราชาว่า ขอพระองค์ทรงรับส่วยนี้เถิด พระเจ้าอัสสกะตรัสว่า เราไม่รับ พวกท่านจงนำไปถวายอาจารย์เถิด พวกชาวบ้านก็นำส่วย ๑๐๐,๐๐๐ นั้นมามอบต่อพาวรีพราหมณ์

    พาวรีพราหมณ์กล่าวว่า ถ้าเราต้องการเงินทอง ก็ไม่พึงสละทรัพย์สินมากมายของเราออกบวช พวกท่านจงรับเอากหาปณะของพวกท่านคืนไปเสีย พวกชาวบ้านบอกว่า พวกเราจะไม่ยอมรับทรัพย์ที่พวกเราบริจาคแล้วอีก ยิ่งไปกว่านั้นพวกเราจะนำทรัพย์มาให้ท่านทำนองนี้ทุก ๆ ปี ถ้าท่านไม่รับเพื่อประโยชน์ตนเองละก็ ขอท่านจงรับกหาปณะเหล่านี้ไว้ให้ทานก็แล้วกัน พราหมณ์จึงยอมรับทรัพย์ดังกล่าวไว้ โดยเก็บไว้ในเพื่อการให้ทานแก่ผู้กำพร้า คนเดินทางไกล วณิพกและยาจก

    อาจารย์นั้นกระทำมหายัญคือ คือการให้ทานจากทรัพย์ดังกล่าวเป็นประจำทุก ๆ ปี ปีละครั้งอย่างนี้ กิติศัพท์การทำมหาทานของพราหมณ์พาวรีก็กระจายไปทั่วชมพูทวีป

    พราหมณ์พาวรีโดนพราหมณ์ผู้มาขอรับทานสาปแช่ง

    ครั้งนั้น ในหมู่บ้านทุนนวิตถะ ในแคว้นกลิงคะ นางพราหมณีสาว ผู้เป็นภริยาของพราหมณ์เฒ่าผู้เกิดมาในวงศ์ของชูชกพราหมณ์ ได้ทราบข่าวการทำทานดังกล่าวของพราหมณ์พาวรี จึงลุกขึ้นเตือนพราหมณ์ผู้เป็นสามีว่า เขาว่า พาวรีกำลังให้ทาน ท่านจงไปรับบริจาคเงินทองมาจากที่นั้น พราหมณ์นั้นถูกพราหมณีพูดดังนั้นก็ไม่อาจทนอยู่ได้จึงได้ออกเดินทางไปยังสำนักของพราหมณ์พาวรี ครั้นเมื่อไปถึง ก็เป็นวันที่พราหมณ์พาวรีได้กระทำมหาทานไปเสียแล้วตั้งแต่เมื่อวันวาน ซึ่งเมื่อให้ทานแล้ว พราหมณ์พาวรีก็เข้าบรรณศาลากำลังนอนนึกถึงทานที่ตนได้กระทำไปนั้น

    ครั้นเข้าไปถึงก็พูดว่า “ท่านพราหมณ์ โปรดให้ทานแก่ข้าเถิด ท่านพราหมณ์โปรดให้ทานแก่ข้าเถิด”

    พาวรีพราหมณ์กล่าวว่า “ท่านพราหมณ์ ท่านมาไม่ถูกเวลา เราให้ทานแก่พวกยาจกที่มาถึงไปแล้ว บัดนี้ไม่มีกหาปณะดอก”

    พราหมณ์พูดว่า “ท่านพราหมณ์ ข้าไม่ต้องการกหาปณะมากมายเลย ข้าขอเพียง ๕๐๐ กหาปณะ ”

    พาวรีพราหมณ์ “ท่านพราหมณ์ ๕๐๐ กหาปณะก็ไม่มี เมื่อถึงเวลาให้ทานครั้งหน้า ท่านจึงได้”

    พราหมณ์พูดว่า “ก็เวลาท่านให้ทาน ข้าจักมาได้อย่างไร” แล้วจึงทำกลอุบายเพื่อให้พาวรีพราหมณ์เกิดความกลัว โดยก่อทรายเป็นสถูปใกล้ประตูบรรณศาลา โรยดอกไม้สีแดงไปรอบ ๆ ทำปากขมุบ ขมิบเหมือนบ่นมนต์แล้วพูดว่า “เมื่อเราขอ แล้วท่านไม่ให้ไซร้ ในวันที่ ๗ ศีรษะของท่านจะแตก ๗ เสี่ยง”

    พราหมณ์พาวรีฟังคำของพราหมณ์นั้นแล้ว ก็เกิดสะดุ้งหวาดกลัว เป็นผู้มีทุกข์ซูบซีด ไม่บริโภคอาหาร เมื่อเป็นผู้เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้ ใจก็ไม่ยินดีในการบูชาเทพและเทวดาทั้งหลาย

    เทวดาบอกปริศนาธรรม

    เทวดาผู้สถิตอยู่ ณ บรรณศาลานั้น เห็นพราหมณ์พาวรีมีทุกข์สะดุ้งหวาดหวั่น จึงเข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้วได้กล่าวว่า พราหมณ์นั้นไม่รู้จักศีรษะ เป็นผู้หลอกลวง ต้องการทรัพย์ ไม่มีความรู้ในในเรื่อง ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ฯ

    พราหมณ์พาวรีถามว่าบัดนี้ ท่านรู้จักข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอก ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป แก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะฟังคำของท่าน ฯ

    เทวดาตอบว่าแม้เราก็ไม่รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป เราไม่มีความรู้ในธรรมทั้ง ๒ นี้ ปัญญาเป็นเครื่องเห็นธรรมอันเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ย่อมมีเฉพาะในพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯ

    พราหมณ์พาวรีถามว่า ในปัจจุบันนี้ มีใครเล่าในปฐพีมณฑลนี้ที่รู้ ขอท่านเทวดาจงบอกบุคคลผู้รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไปนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด ฯ

    เทวดาบอกเรื่องพระพุทธเจ้าทรงอุบัติ

    เทวดาตอบว่าดูกรพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคผู้ศากยบุตร ลำดับพระวงศ์ของพระเจ้าโอกกากราช มีพระรัศมีรุ่งเรือง เป็นนายกของโลกเสด็จออกผนวชจากพระนครกบิลพัสดุ์ เป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ทรงบรรลุอภิญญาและทศพลญาณครบถ้วน ทรงมีพระจักษุในสรรพธรรม ทรงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งกรรมทั้งปวง ทรงน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้แล้วในโลก มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรม ท่านจงไปทูลถามพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด พระองค์จักตรัสพยากรณ์ข้อความนั้นแก่ท่าน ฯ

    พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า สัมพุทโธ ก็เป็นผู้มีใจเฟื่องฟู ความโศกสลดก็เบาบางลงไป และเกิดปีติอันท่วมท้น มีใจชื่นชมเบิกบานเกิดความโสมนัส จึงถามเทวดานั้นว่า พระโลกนาถประทับอยู่ในคามนิคมหรือในชนบทไหน ข้าพเจ้าจะไปนมัสการพระบรมศาสดาได้ในที่ใด ฯ

    เทวดาตอบว่าพระชินเจ้าผู้ศากยบุตร ทรงมีพระปัญญามาก มีพระปัญญาประเสริฐกว้างขวาง ทรงปราศจากธุระ หาอาสวะมิได้ องอาจกว่านระ ทรงรู้ธรรมเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ประทับอยู่ในมณเฑียรของชนชาวโกศลในพระนครสาวัตถี ฯ

    พราหมณ์พาวรีส่งศิษย์ ๑๖ คนไปเฝ้าพระศาสดา

    ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรี เรียกพราหมณ์ทั้งหลายซึ่งเป็นศิษย์มาสั่งว่า ดูกรมาณพทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมาเถิด เราจักบอกแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังคำของเรา บัดนี้ พระสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ท่านทั้งหลายจงรีบไปเมืองสาวัตถี เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าผู้อุดมกว่าสัตว์เถิด ฯ

    พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ทั้งหลายซักถามว่า ข้าแต่ท่านพราหมณ์ บัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายได้เห็นแล้วจะพึงรู้ว่า ท่านผู้นี้เป็นพระสัมพุทธเจ้าได้อย่างไรเล่า ขอท่านจงบอกสิ่งที่จะทำให้ข้าพเจ้าทั้งหลายจะได้รู้จักพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด ฯ

    พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า ก็มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการของมหาบุรุษ ที่ท่านทั้งหลายเล่าเรียนมามาแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่พราหมณาจารย์ทั้งหลายพยากรณ์ไว้ว่า ถ้ามหาปุริสลักษณะนั้น มีอยู่ในวรกายของพระมหาบุรุษใด พระมหาบุรุษนั้น จะเป็นได้ ๒ อย่างเท่านั้น คือ ถ้าพระมหาบุรุษนั้นอยู่ครองเรือน จะพึงเป็นพระบรมมหาจักรพรรดิ์ จะทรงมีชัยชนะทั่วปฐพีนี้ จะทรงปกครองโดยธรรม ด้วยไม่ต้องใช้อาชญาไม่ต้องใช้ศาตรา ถ้าออกบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม

    พราหมณ์พาวรีสั่งให้ศิษย์ถามปัญหา ๗ ข้อกับพระศาสดา

    เมื่อท่านทั้งหลายเห็นพระมหาบุรุษผู้ประกอบไปด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการดังนี้ ท่านทั้งหลายก็จงกล่าวถามในใจ ถึง ๑. ชาติ (อายุ) ๒. โคตร ๓. ลักษณะ ๔. มนต์ และ ๕. ศิษย์เหล่าอื่นอีก และถามถึงปริศนาธรรมเรื่อง ๖. ธรรมอันเป็นศีรษะ และ ๗. ธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ถ้าว่าท่านนั้นเป็นพระพุทธเจ้าจริงแท้แล้ว ท่านก็จักตอบปัญหาที่ท่านทั้งหลายกล่าวถามในใจ ด้วยวาจาได้ ฯ

    พราหมณ์มาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน คือ อชิตะ ๑ ติสสเมตเตยยะ ๑ ปุณณกะ ๑ เมตตคู ๑ โธตกะ ๑ อุปสีวะ ๑ นันทะ ๑ เหมกะ ๑ โตเทยยะ ๑ กัปปะ ๑ ชตุกัณณี ๑ ภัทราวุธะ ๑ อุทยะ ๑ โปสาลพราหมณ์ ๑ โมฆราช ๑ ปิงคิยะ ๑ ได้ฟังคำของพราหมณ์พาวรีแล้วก็ลาอาจารย์ กระทำประทักษิณแล้ว บ่ายหน้าต่อทิศอุดร มุ่งไปยังที่ตั้งแห่งแคว้นมุฬกะ เมืองมาหิสสติ

    ในคราวนั้น พราหมณ์ทั้ง ๑๖ คนได้เดินทางผ่านเมืองอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสะ เมืองวนนคร เมืองโกสัมพี เมืองสาเกต จนถึงเมืองสาวัตถี

    พระบรมศาสดาเสด็จออกจากกรุงสาวัตถีเพื่อบ่มอินทรีย์ของเหล่าพราหมณ์ให้แก่กล้า

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ศิษย์ของพาวรีพราหมณ์ทั้ง ๑๖ คน มาพร้อมด้วยมหาชนเป็นอันมาก ทรงพระดำริว่า อินทรีย์ของพราหมณ์เหล่านั้นยังไม่แก่กล้าเพียงพอ อีกทั้งถิ่นนี้ก็ยังไม่เป็นที่สบายเหมาะแก่พราหมณ์ทั้งหลาย ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่า ปาสาณกเจดีย์ในเขตแคว้นมคธเป็นที่สบายเหมาะแก่พราหมณ์เหล่านั้น ถ้าเราแสดงธรรมในที่นั้น มหาชนก็จักบรรลุธรรม อีกทั้งพวกพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อเดินทางผ่านเข้าไปยังเมืองต่าง ๆ ก็จะมีมหาชนตามมามากยิ่งขึ้นไปอีก ผู้บรรลุธรรมก็จักมีมากขึ้น จะเป็นประโยชน์อันมหาศาล

    ครั้นทรงพระดำริเช่นนั้นแล้ว จึงทรง เสด็จพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ออกจากกรุงสาวัตถีบ่ายพระพักตร์ไปยังกรุงราชคฤห์ ก่อนที่พวกพราหมณ์จะมาถึง พวกพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อก็มาถึงกรุงสาวัตถี เข้าไปสู่วิหาร เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ครั้นทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จออกจากเมืองสาวัตถีไปแล้ว ก็พากันเข้าไปถึงพระคันธกุฏี ได้เห็นรอยพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็แน่ใจว่า เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าแน่แล้ว เพราะจากลักษณะของรอยพระบาทเป็นรอยของผู้หมดกิเลสแล้ว เมื่อทราบดังนั้นแล้วจึงได้ออกเดินทางตามพระบรมศาสดาไป

    พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จเข้าสู่พระนครมีเสตัพยนครและกรุงกบิลพัสดุ์ เมืองกุสินารา เมืองมันทิระ เมืองปาวาโภคนคร เมืองเวสาลี เมืองราชคฤห์ เป็นต้นตามลำดับ หมู่พราหมณ์ทั้ง ๑๖ คนก็ได้เดินทางพร้อมทั้งศิษย์ ๑๖,๐๐๐ คน ผ่านตามเมืองที่พระบรมศาสดาเสด็จผ่าน ผ่านเข้าเมืองใด มหาชนในเมืองเหล่านั้นก็ออกเดินทางติดตามมาอีกเป็นอันมากเพื่อจะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา

    จนกระทั่งเสด็จไปถึงปาสาณกเจดีย์ แขวงเมืองราชคฤห์ ก็ทรงหยุดประทับอยู่ ณ ที่นั้น พวกเหล่าพราหมณ์และมหาชนก็ได้ตามพระบรมศาสดาจนถึงปาสาณกเจดีย์ ครั้นได้ฟังว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ ณ ที่นี้ ก็เกิดปิติ ปราโมทย์พากันขึ้นภูเขาไปสู่พระเจดีย์นั้น เหมือนบุคคลผู้กระหายน้ำย่อมยินดีต่อน้ำเย็น เหมือนพ่อค้ายินดีต่อลาภใหญ่ และเหมือนบุคคลถูกความร้อนแผดเผายินดีต่อร่มเงา ฉะนั้น

    ก็ในขณะนั้นพระผู้มีพระภาค แวดล้อมด้วยหมู่พระภิกษุสงฆ์ ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่ ประหนึ่งราชสีห์บันลือเสียงกังวานกระหึ่มอยู่ในป่า

    อชิตมาณพทูลถามปัญหาโดยถามในใจ

    อชิตมาณพได้เห็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระรัศมีเรื่อเรืองเหลืองอ่อน ถึงความบริบูรณ์ดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญ ลำดับนั้นอชิตมาณพได้เห็นพระมหาปุริสลักษณะทั้ง ๓๒ ประการในพระกายของพระผู้มีพระภาคนั้นแล้วก็มีความร่าเริง ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ทูลถามปัญหาในใจว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกอ้าง (ชาติ) อายุ โคตร พร้อมทั้งลักษณะ และขอได้ตรัสบอกการถึงความสำเร็จในมนต์ทั้งหลายแห่งอาจารย์ของข้าพระองค์เถิด พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของข้าพระองค์ย่อมบอกมนต์กะศิษย์มีประมาณเท่าไร พระเจ้าข้า ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ก็พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของท่านนั้น มีอายุร้อยยี่สิบปี ชื่อพาวรีโดยโคตรลักษณะในกายของพราหมณ์พาวรีนั้นมี ๓ ประการ พราหมณ์พาวรีนั้นเรียนจบไตรเพท ในตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ คือ คัมภีร์อิติหาสพร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุศาสตร์และเกฏุภศาสตร์ ถึงซึ่งความสำเร็จในธรรมแห่งพราหมณ์ของตน ย่อมบอกมนต์กะมาณพ ๕๐๐ ฯ

    อชิตมาณพทูลถามว่าข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ขอพระองค์จงบอกลักษณะทั้งหลายของพราหมณ์พาวรี ขอทรงบอกเพื่อมิให้ข้าพระองค์มีความสงสัยเถิด ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีนั้น ย่อมปกปิด หน้าผากของตนด้วยลิ้นได้ มีขนขึ้นเป็นรูปอุณณาโลมชาติในระหว่างคิ้ว มีคุยหฐานอยู่ในฝัก ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด ฯ

    มหาชนทั้งหลาย ไม่ได้ยินเสียงใครที่ถามปัญหานั้นเลย เมื่อได้ฟังคำตอบที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แล้ว เกิดความพิศวง มีความโสมนัสประนมอัญชลี แล้วสรรเสริญว่า พระผู้มีพระภาคเป็นอะไรหนอ เป็นเทวดาหรือเป็นพรหม หรือเป็นท้าวสุชัมบดีจอมเทพ จึงได้ทราบถึงปัญหาอันมีผู้ถามในใจ ฯ

    อชิตมาณพ ครั้นได้สดับการพยากรณ์ปัญหา ๕ ข้อแล้ว เมื่อจะทูลถาม ปัญหาสองข้อที่เหลือจึงกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ท่านพราหมณ์พาวรีถามถึงธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ขอพระองค์ตรัสพยากรณ์ข้อนั้นกำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ผู้เป็นพราหมณ์เสียเถิด ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ท่านจงรู้เถิดว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ วิชชาประกอบด้วยศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ ชื่อว่าเป็นธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป

    เพราะอวิชชาเป็นความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ เป็นศีรษะแห่งสังสารวัฏ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ

    อนึ่ง เพราะอรหัตมรรควิชชา (วิชชาในอรหัตมรรค) ประกอบ ด้วย ศรัทธาสติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ อันเกิดร่วมกับตนยังศีรษะให้ตกไป เพราะเข้าถึงธรรมเป็นศีรษะด้วยความตั้งอยู่ในรสอันเดียวกันของอินทรีย์ทั้งหลาย

    ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วิชชาเป็นธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป

    ลำดับนั้น อชิตมาณพมีความโสมนัสเป็นอันมาก เบิกบานใจ กระทำหนังเสือเหลืองเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลงแทบพระบาทยุคลด้วยเศียรเกล้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ พราหมณ์พาวรี พร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลายขอไหว้พระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาค ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลาย จงเป็นผู้ถึงความสุขเถิด ครั้นตรัสแล้วจึงทรงปวารณาว่า จงถามความสงสัยทุก ๆ อย่างของพราหมณ์พาวรี หรือของท่านเถิด

    อชิตมาณพครั้นเห็นพระพุทธองค์ประทานพระวโรกาสให้ทูลถามปัญหาที่สงสัยเช่นนั้น ก็นั่งลงประนมอัญชลี ทูลถามปัญหาต่อพระตถาคต ณ ที่นั้น ตามที่ปรากฎในอชิตมาณวกปัญหานิทเทส

    ครั้นเมื่อจบพระคาถาที่พระพุทธองค์ตรัสตอบปัญหา อชิตมาณพ พร้อมด้วยเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ คนก็บรรลุพระอรหัตเป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาค และโสดาปัตติมรรคก็บังเกิดขึ้นแก่เทวดาและมนุษย์หลายพัน

    ในบรรดาศิษย์ทั้ง ๑๖ คนนั้น โมฆราชมาณพถือตัวว่าเป็นผู้มีความรู้ยิ่งกว่าทุกคน ท่านคิดว่า อชิตมาณพนี้เป็นหัวหน้าของศิษย์ทุกคน เราไม่ควรถามปัญหาก่อน เพราะความเคารพในตำแหน่งผู้นำของอชิตมาณพนั้น ท่านจึงไม่ถามก่อน ครั้นเมื่ออชิตมาณพนั้นถามปัญหาแล้ว จึงถามปัญหาต่อพระศาสดาเป็นคนที่สอง

    พระศาสดาทรงดำริว่า โมฆราชมาณพเป็นคนถือตัว ทั้งญาณของเขาก็ยังไม่แก่กล้าเต็มที่ ควรจะต้องทำให้ความถือตัวของเขาค่อย ๆ หมดไป จึงตรัสว่า โมฆราชเธอจงคอยก่อน ให้คนอื่น ๆ ถามปัญหาก่อน

    โมฆราชมาณพนั้น ครั้นถูกห้ามโดยพระศาสดาเช่นนั้น ก็คิดว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมานี้ เราเข้าใจว่า ไม่มีคนที่จะเป็นบัณฑิตเกินกว่าเรา ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ถ้าไม่ทรงทราบความในใจ ย่อมไม่ตรัส พระศาสดาคงจักทรงเห็นโทษในการถามของเราเป็นแน่ เมื่อคิดได้ดังนั้นจึงนิ่งเสีย

    จากนั้น ติสสเมตเตยยพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๒

    จากนั้น ปุณณกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๓

    จากนั้น เมตตคูพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๔

    จากนั้นโธตกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๕

    จากนั้นอุปสีวพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๖

    จากนั้นนันทพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๗

    เมื่อจบพระคาถาที่พระพุทธองค์ตรัสตอบปัญหาแก่พราหมณ์แต่ละท่านนั้น พราหมณ์ท่านนั้นพร้อมด้วยเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ คนก็บรรลุพระอรหัตเป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาคอยู่

    เหมกะทูลถามปัญหาของตน

    จากนั้นก็ถึงลำดับของเหมกพราหมณ์ เป็นลำดับที่ ๘ เหมกะเมื่อจะทูลถามความสงสัยของตน จึงถามปัญหาว่า

    ในกาลอื่นก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม พวกอาจารย์เหล่านี้พยากรณ์ว่า เรื่องนี้มีแล้วดังนี้ เรื่องนี้จักมีดังนี้ คำทั้งหมดนั้นเป็นคำกล่าวสืบๆ กันมา คำทั้งหมดนั้นเป็นเครื่องยังความตรึกให้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ยินดีในคำนั้น

    ข้าแต่พระมุนี ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องกำจัดตัณหา ที่บุคคลรู้แล้วเป็นผู้มีสติเที่ยวไป พึงข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกแก่ข้าพระองค์เถิด

    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า

    ดูกรเหมกะ บทนิพพานเป็นที่บรรเทาฉันทราคะในปิยรูปทั้งหลาย ที่ได้เห็น ที่ได้ยินและที่ได้ทราบ (ที่รู้แจ้ง) เป็นที่ไม่เคลื่อน

    พระอรหันตขีณาสพเหล่าใด รู้ทั่วถึงบทนิพพานนั้นแล้วเป็นผู้มีสติ มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับแล้ว พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น เป็นผู้เข้าไปสงบแล้วทุกสมัย เป็นผู้ข้ามแล้วซึ่งตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลก

    จบเทศนาท่านก็บรรลุพระอรหัตพร้อมกับชฎิล ๑,๐๐๐ คน บริวารของตน หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผม และหนวดของ เหมกพราหมณ์และเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ หายไปแล้ว พร้อมด้วยการบรรลุอรหัต เหมกพราหมณ์และเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ นั้น เป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาค
     
  13. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,801
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    %B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%A3%E0%B8%B0.jpg.1347451221578.jpg

    พระอุปวาณเถระ

    พระเถระนี้ ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อน สั่งสมบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้น ๆ ตามประวัติที่จะกล่าวต่อไปนี้

    กำเนิดในสมัยพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ เพราะอกุศลกรรมบางอย่างมาส่งผลจึงบังเกิดในตระกูลแห่งคนขัดสน เป็นคนรับจ้าง อาศัยอยู่ในพระนครหังสวดี บรรลุนิติภาวะแล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน มหาชนมาประชุมกันบูชาพระตถาคต แล้วกระทำจิตกาธารอย่างสวยงาม ครั้นเมื่อปลงพระพุทธสรีระแล้ว มหาชนทั้งหมดก็ได้รวบรวมพระบรมสารีริกธาตุไว้ ณ ที่นั้น และได้สร้างพระพุทธสถูปสำเร็จด้วยทองสูงหนึ่งโยชน์ไว้ และเหล่าเทวดา นาค ครุฑ กุมภัณฑ์ ยักษ์ และคนธรรพ์ทั้งหลายต่างก็สร้างเสริมพระสถูปให้สูงใหญ่ขึ้นไปอีกเหล่าละโยชน์ รวมเป็นพระมหาเจดีย์สูง ๗ โยชน์ ณ ที่สถูปนั้น.เทวดาทั้งหลายแต่งตั้งเสนาบดียักษ์ ชื่อว่า อภิสัมมตกะ ไว้เพื่อรักษาเครื่องบูชาที่พระเจดีย์ ยักษ์นั้นไม่ปรากฏกาย เมื่อมนุษย์ทั้งหลายนำเครื่องบูชามาถวายสักการะยังพระเจดีย์ ยักษ์นั้นก็จะนำเครื่องสักการะนั้นเหาะขึ้นไปในอากาศเสมือนหนึ่งเครื่องสักการะนั้นได้ลอยขึ้นไปได้เองเพื่อบูชาพระบรมธาตุ มหาชนเห็นปาฏิหาริย์ดังนั้นก็เกิดปิติโสมนัส เมื่อยินดีแล้ว ย่อมไม่อิ่มต่อการบุญที่ควรกระทำในพระสถูปบรรจุพระธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้สูงสุดพระองค์นั้น

    ท่านได้เห็นหมู่ชน อันปลื้มปิติต่อการได้สักการะพระมหาสถูปนั้น ก็ปรารถนาจะทำสักการะต่อพระบรมธาตุบ้าง เพื่อจักได้เป็นทายาทในธรรมของพระองค์ในอนาคต ท่านจึงนำเอาผ้าห่มที่ได้ซักไว้ขาวสะอาดแล้ว ผูกไว้กับไม่ไผ่ทำเป็นธง ถวายธงนั้นเป็นเครื่องสักการะพระบรมธาตุ ยักษ์อภิสมมตกะนำธงนั้นเหาะไปในอากาศกระทำประทักษิณพระเจดีย์ ๓ รอบ เขาเห็นดังนั้นได้เป็นผู้มีใจเลื่อมใสเกินประมาณ

    เมื่อท่านสักการะพระบรมธาตุนั้นและกระทำจิตให้เลื่อมใสในพระสถูปนั้นแล้ว ได้เข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง กราบไหว้ภิกษุนั้นแล้ว ได้สอบถามถึงผลในการถวายธง พระเถระพยากรณ์ท่านว่า ท่านจักได้รับผลของการถวายธงนั้นในกาลทั้งปวง ท่านจักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๓ หมื่นกัลป จักได้เป็นจอมเทวดาเสวยเทวรัชสมบัติอยู่ ๘๐ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์โดยคณานับมิได้

    ในแสนกัลป พระศาสดาทรงพระนามว่าโคดม ซึ่งมีสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก ท่านอันกุศลมูลตักเตือน เคลื่อนจากเทวโลกแล้ว ประกอบด้วยบุญกรรม จักเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ ท่านจักละทรัพย์ ๘๐ โกฏิ ทาสและกรรมกร เป็นอันมาก ออกบวชในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม ท่านจักยังพระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมศากยบุตรผู้ประเสริฐให้โปรดปรานแล้ว จักได้เป็นพระสาวกของพระศาสดา มีชื่อว่าอุปวาณะ

    กำเนิดในสมัยพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ในสมัยเมื่อพระวิปัสสีสัมมาพุทธเจ้าท่านมาเกิดเป็นพราหมณ์มหาศาล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นได้เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ชนทั้งหลายได้พากันสร้างพระเจดีย์องค์หนึ่ง บรรจุพระสารีริกธาตุสรีระอันเป็นเช่นกับแท่งทองคำทึบ คนทั้งหลายใช้แผ่นอิฐทองยาว ๑ ศอก กว้างหนึ่งคืบ หนา ๘ นิ้ว ก่อพระเจดีย์นั้นประสานด้วยหรดาลและมโนศิลาแทนดิน ชะโลมด้วยน้ำมันงาแทนน้ำ แล้วสถาปนาพระมหาธาตุเจดีย์สูงประมาณโยชน์หนึ่ง ต่อนั้น ภุมมเทวดาก็สร้างต่อขึ้นไปอีกโยชน์หนึ่ง จากนั้น ก็อาสัฏฐกเทวดา จากนั้น ก็อุณหวลาหกเทวดา จากนั้น ก็อัพภวลาหกเทวดาจากนั้น ก็เทวดาชั้นจาตุมมหาราช จากนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์สถาปนาโยชน์หนึ่ง พระเจดีย์จึงสูง ๗ โยชน์ ด้วยประการฉะนี้

    เมื่อผู้คนถือเอามาลัยของหอมและผ้าเป็นต้นมา อารักขเทวดาทั้งหลายก็พากันถือดอกไม้มาบูชาพระเจดีย์ทั้งที่ผู้คนเหล่านั้นเห็นอยู่ ครั้งนั้นท่านได้ถือผ้าเหลืองผืนหนึ่งไปเพื่อสักการะพระบรมธาตุ เทวดาก็รับผ้าจากมือพราหมณ์นั้นไปบูชาพระเจดีย์ พราหมณ์เห็นดังนั้น ก็มีจิตเลื่อมใสตั้งความปรารถนาว่า ในอนาคตกาล แม้เราก็จักเป็นอารักขเทวดาในพระเจดีย์ของพระพุทธเจ้า เช่นนี้บ้าง

    กำเนิดในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ท่านเมื่อจุติจากอัตตภาพนั้น ก็ไปบังเกิดในเทวโลก เมื่อพรามหณ์นั้นท่องเที่ยวอยู่ในมนุษย์โลกและเทวโลก พระกัสสปะผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จอุบัติในโลกแล้วปรินิพพาน พระธาตุสรีระของพระองค์ก็มีแห่งเดียวเท่านั้น ผู้คนทั้งทั้งหลายนำพระธาตุสรีระนั้น สร้างพระเจดีย์โยชน์หนึ่ง พราหมณ์ก็จุติมาเป็นเป็นอารักขเทวดาในพระเจดีย์นั้นตามคำอธิษฐาน
    กำเนิดในสมัยพระศากยโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ในพุทธุปบาทกาลนี้ท่านมาเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถีได้นามว่า อุปวาณะ เมื่อท่านเจริญวัยแล้ว เห็นพุทธานุภาพในคราวทรงรับมอบพระเชตวันวิหาร

    อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างเชตวันมหาวิหารถวาย

    เศรษฐีคนหนึ่งในเมืองสาวัตถี เดิมชื่อ สุทัตตะท่านเป็นคนใจบุญ มีเมตตากรุณา ได้เตรียมก้อนข้าวไว้เพื่อแจกจ่ายให้แก่คนยากจนอนาถาเสมอ ๆ คนทั้งหลายจึงให้ชื่อท่านว่า อนาถปิณฑิกะ อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้พบกับพระพุทธเจ้าครั้งแรกที่นครราชคฤห์ สมัยนั้นท่านเศรษฐีได้ไปสู่นครราชคฤห์ เพื่อธุรกิจการค้า และได้ไปพักอยู่กับท่านเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นพี่เขยของท่าน ในวันที่ท่านไปถึงนั้น ท่านได้เห็นท่านเศรษฐีเจ้าของบ้าน กำลังตระเตรียมอาหารเพื่อถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธองค์เป็นประธาน ท่านจึงทราบว่า มีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้ว ท่านก็เกิดปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง อยากจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้ามาก ในวันรุ่งขึ้นเมื่ออนาถปิณฑิกเศรษฐีได้พบพระบรมศาสดาแล้ว พระองค์ได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาโปรด ท่านเศรษฐีก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต

    ครั้นในวันรุ่งขึ้น ท่านได้ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระพุทธองค์ และพระภิกษุสงฆ์ เมื่อพระพุทธองค์เสวยเสร็จแล้ว ท่านเศรษฐีได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์ให้เสด็จไปจำพรรษาที่นครสาวัตถีบ้าง ครั้นท่านเศรษฐีได้ทำธุรกิจในนครราชคฤห์เสร็จก็ออกเดินทางกลับไปยังนครสาวัตถี เมื่อไปถึงนครสาวัตถี ก็เที่ยวตรวจดูสถานที่อันเหมาะสมที่จะเป็นพระอาราม จึงเลือกได้สวนของเจ้าเชต แล้วขอซื้อด้วยราคา ๑๘ โกฏิ และสิ้นค่าก่อสร้างวิหาร หอฉัน ฯลฯ ต่าง ๆ รวมทั้งหมดสิ้นเงินอีก ๑๘ โกฏิ วิหารนี้มีชื่อว่า เชตวนาราม เพราะเป็นสวนของเชตกุมารมาก่อน

    ครั้นพระพุทธองค์ได้ประทับอยู่ในนครราชคฤห์ พอสมควรแล้ว ก็เสด็จจาริกไปโดยลำดับถึงนครเวสาลี ทรงพักอยู่ที่นั้นพอสมควรแล้วเสด็จจาริกต่อไปจนถึงนครสาวัตถี ประทับ ณ เชตวนาราม ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านเศรษฐีได้ถวายพระอารามแก่สงฆ์ในวันรุ่งขึ้นนั้นเอง

    ในวันที่พระพุทธองค์ทรงรับพระเชตวนารามนั้นเอง เป็นวันที่ อุปวาณมานพได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ได้ฟังธรรม และได้ออกบวชเป็นบรรพชิต กระทำกรรมในวิปัสสนา ต่อมาก็ได้บรรลุอรหัตผล ได้เป็นผู้มีอภิญญา ๖

    หมายเหตุ ในวันเดียวกันนั้น ก็เป็นวันที่นันทกมาณพ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาเช่นกัน ได้ฟังธรรม และได้ออกบวชเป็นบรรพชิต ต่อมาก็ได้บรรลุอรหัตผล ซึ่งภายหลังพระพุทธเจ้าได้ทรงสถาปนาพระนันทกเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคมหาสาวกผู้ให้โอวาทสอนภิกษุณี

    พระเถระเป็นพุทธอุปัฏฐาก

    ท่านได้เคยเป็นพุทธอุปัฏฐากอยู่ระยะหนึ่ง ในสมัยต้นพุทธกาล เมื่อครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่มีพระอุปัฏฐากประจำ ในครั้งนั้น บางคราว พระนาคสมาละถือบาตรและจีวรตามเสด็จ บางคราวพระนาคิตะ บางคราวพระอุปวาณะ.บางคราวพระสุนักขัตตะ บางคราวจุนทสมณเทส บางคราวพระสาคตะ บางคราวพระเมฆิยะ

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อันเป็นอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ทรงประชวร ด้วยลมในท้อง.เล่ากันมาว่า เมื่อครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำทุกกรกิริยา ๖ พรรษา ทรงนำเอาถั่วเขียวและถั่วพูเป็นต้นอย่างละฟายมือมาเสวย ลมในพระอุทรกำเริบเพราะเสวยไม่ดีและบรรทมลำบาก สมัยต่อมา ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว แม้เสวยโภชนะประณีตอาพาธนั้นก็ยังปรากฏตัวเป็นระยะ ๆ ครั้งนั้น ท่านพระอุปวาณะ ได้เป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า พระอุปวาณเถระลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกอย่าง เช่นกวาดบริเวณถวายไม้ชำระพระทนต์ จัดถวายน้ำสรง ถือบาตรจีวรตามเสด็จ

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเรียกท่านพระอุปวาณะมาตรัสว่า อุปวาณะเธอจงรู้น้ำร้อนเพื่อฉัน ท่านพระอุปวาณะทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว นุ่งสบงถือบาตรและจีวรเข้าไปยังที่อยู่ของเทวหิตพราหมณ์

    ได้ยินว่า ตลอดเวลา ๒๐ ปี ในปฐมโพธิกาล ป่าปราศจากควันไฟ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ยังมิได้ทรงอนุญาต ที่ต้มน้ำแก่ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อว่าเทวหิตพราหมณ์ เป็นสหายของพระเถระแต่ครั้งยังเป็นคฤหัสถ์ อาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี เขาปวารณาพระเถระด้วยปัจจัย ๔ ก็พราหมณ์นั้นเลี้ยงชีพด้วยการตั้งโรงอาบน้ำร้อน โดยให้ทำเตาเป็นแถว ยกภาชนะใหญ่ ๆ ขึ้นตั้งบนเตา ต้มน้ำให้ร้อนแล้วขายน้ำร้อนพร้อมกับผงสำหรับอาบน้ำเป็นต้นเลี้ยงชีพ ผู้ประสงค์อาบน้ำร้อนก็จะไปในที่นั้นแล้วให้จ่ายเงินเพื่ออาบน้ำลูบไล้ด้วยของหอม ประดับดอกไม้แล้วหลีกไป เพราะฉะนั้น พระเถระจึงเข้าไปในที่นั้น และแจ้งความประสงค์ต่อพราหมณ์นั้น

    พราหมณ์นั้น ถามว่า พระสมณโคดมทรงไม่สบายเป็นอะไร ครั้นเมื่อได้ทราบว่า เป็นโรคลมในท้อง จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น พวกเรารู้จักยาในเรื่องนี้ ต่อแต่นี้ขอท่านจงเอาน้ำหน่อยหนึ่งละลายน้ำอ้อยนี้ ถวายให้ทรงดื่มในเวลาสรงเสร็จพระเสโทจักซึมออกภายนอกพระสรีระด้วยน้ำร้อน ลมในท้องจักหายด้วยยานี้ด้วยประการฉะนี้ พระสมณโคดมจักทรงสำราญ ด้วยอาการดังว่ามานี้

    ครั้งนั้น เทวหิตพราหมณ์ให้บุรุษ คนใช้ถือกาน้ำร้อน และห่อน้ำอ้อยตามไปถวายท่านพระอุปวาณะ ลำดับนั้น ท่านพระอุปวาณะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับแล้ว อัญเชิญให้พระผู้มีพระภาคสรงสนาน และละลายน้ำอ้อยด้วยน้ำร้อนแล้วถวายพระผู้มีพระภาค ครั้นเมื่อทรงเสวยน้ำอ้อยนั้นพระผู้มีพระภาคก็ทรงหายประชวร

    พระพุทธเจ้าโปรดเทวหิตพราหมณ์

    ได้ยินว่า เมื่ออาพาธที่มีในพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นสงบแล้ว ได้เกิดเรื่องพูดกันว่า เทวหิตพราหมณ์ถวายเภสัชแด่พระตถาคต โรคสงบเพราะเภสัชนั้นนั่นเอง น่าอัศจรรย์ ทานของพราหมณ์เป็นบรมทาน เทวหิตพราหมณ์ได้ฟังดังนั้นแล้ว เกิดโสมนัสว่า กิตติศัพท์ของเรานี้ขจรไปแม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้เอง ประสงค์จะทราบผลแห่งทานที่ตนกระทำลงไปจึงเดินทางไปเข้าเฝ้าพระทศพล

    ครั้นเมื่อเทวหิตพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับแล้ว ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    “บุคคลควรให้ไทยธรรมในบุคคลไหน?

    ไทยธรรมวัตถุอันบุคคลให้ในบุคคลไหน จึงมีผลมาก?

    ทักษิณาของบุคคลผู้บูชาอยู่อย่างไรเล่า? จะสำเร็จได้อย่างไร?”

    พระศาสดาทรงแก้ปัญหาของพราหมณ์

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    ผู้ใดรู้ขันธ์ที่เคยอาศัยในก่อน แลเห็นสวรรค์และอบาย

    บรรลุพระอรหัตอันเป็นที่สิ้นชาติ อยู่จบแล้วเพราะรู้ยิ่ง เป็นมุนี

    พึงให้ไทยธรรมในผู้นี้ ทานที่ให้แล้วในผู้นี้มีผลมาก

    ทักษิณาย่อมสำเร็จแก่บุคคลผู้บูชาอย่างนี้แหละ ฯ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เทวหิตพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก

    พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทางส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักมองเห็นรูปได้

    ข้าแต่ท่านพระโคดมข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

    พระพุทธองค์ขับพระเถระเพราะยืนบังเทวดา

    แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโปรดให้พระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำแล้ว ในบางคราวก็ทรงโปรดให้พระจุนทะถวายการรับใช้ เช่น เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงปลงอายุสังขารแล้ว ทรงเสด็จไปที่เมืองกุสินารา

    เมื่อพระพุทธเจ้าบรรทมบนพระแท่นที่ปรินิพพานที่สาลวโนทยานเมืองกุสินารานั้น ท่านพระอุปวาณะก็ได้ยืนทำหน้าที่ถวายงานพัดเฉพาะพระพักตร์พระพุทธองค์ พวกเทวดาในหมื่นโลกธาตุที่มาประชุมกันเพื่อเข้าเฝ้าถวายบังคมพระพุทธองค์เป็นครั้งสุดท้าย ไม่สามารถจะเข้าเฝ้าได้ เพราะเห็นท่านพระอุปวาณะยืนขวางอยู่ พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า พระเถระนั้นท่านมีร่างใหญ่เช่นกับลูกช้าง อีกทั้งเมื่อห่มผ้าบังสุกุลจีวร ก็ทำให้ดูเหมือนใหญ่มาก

    เทวดาทั้งหลาย เมื่อไม่ได้เห็นพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงติเตียนพระเถระ ถามว่า ก็เทวดาเหล่านั้นไม่สามารถมองทะลุพระเถระหรือ ตอบว่า ไม่สามารถสิ ด้วยว่า เหล่าเทวดาสามารถมองทะลุเหล่าปุถุชนได้ แต่มองทะลุเหล่าพระขีณาสพไม่ได้ ทั้งไม่อาจเข้าไปใกล้ด้วย เพราะพระเถระนั้นมีอานุภาพมาก มีอำนาจมาก ถามว่า ก็เพราะเหตุไรพระเถระจึงมีอำนาจมาก ผู้อื่นไม่เป็นพระอรหันต์หรือ ตอบว่า เพราะท่านเคยเป็นอารักขเทวดาในเจดีย์ของพระกัสสปพุทธเจ้ามาก่อน

    พระพุทธองค์ทรงทราบเหตุที่เทวดาติเตียนพระเถระเช่นนั้นจึงได้รับสั่งให้ท่านพระอุปวาณะออกไปจากที่เฝ้า โดยทรงตรัสว่า ดูกรภิกษุ เธอจงหลีกไป ด้วยพระดำรัสคำเดียวเท่านั้น พรเถระก็วางพัดใบตาลแล้วยืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระอานนท์เห็นดังนั้นก็บังเกิดความสงสัยว่า ท่านอุปวาณะรูปนี้เป็นอุปัฏฐากอยู่ใกล้ชิดพระผู้มีพระภาคมาช้านาน ก็และเมื่อเป็นเช่นนั้น ในกาลครั้งสุดท้าย พระผู้มีพระภาคทรงขับท่านอุปวาณะเช่นนั้นเป็นเพราะอะไรหนอ ท่านพระอานนท์จึงได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงสาเหตุดังกล่าว

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ เทวดาในหมื่นโลกธาตุมา ประชุมกันเพื่อจะเห็นตถาคต เมืองกุสินารา สาลวัน แห่งพวกเจ้ามัลละขนาดโดยรอบถึง ๑๒ โยชน์ ตลอดตลอดทุกแห่งหนนั้นจะหาที่ว่างแม้มาตรว่าเป็นที่จรดลงแห่งปลายขนทรายแล้วมิได้มี พวกเทวดากล่าวโทษอยู่ว่า พวกเรามาแต่ที่ไกลเพื่อจะเห็นพระตถาคต ไม่รู้ว่าเวลาหนึ่งเวลาใดในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้แหละที่พระตถาคตจักปรินิพพาน ก็ภิกษุผู้มีศักดิ์ใหญ่รูปนี้ ยืนบังอยู่เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ทำให้พวกเราไม่ได้เห็นพระตถาคตในกาลเป็นครั้งสุดท้าย

    ด้วยเหตุนี้แหละพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงขับพระเถระเพื่อมิให้ขวางการเฝ้าชมพระบารมีของเหล่าเทวดาทั้งหลาย
     
  14. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,801
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    พระชตุกัณณิกเถระ

    บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตระพุทธเจ้า

    ในกัปนับจากภัทรกัปนี้ไปแสนหนึ่ง พระพิชิตมารพระนามว่าปทุมุตระ ได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ได้ทรงทำให้มหาชนเป็นอันมาก ให้ข้ามพ้นวัฏสงสารไปได้

    ในสมัยนั้น ท่านได้เกิดเป็นบุตรเศรษฐีอยู่ในนครหงสวดี เพียบพร้อมแวดล้อมอยู่ด้วยกามคุณทั้งหลาย ในกาลนั้น ท่านอาศัยอยู่ในปราสาท ๓ หลัง ใช้สอยโภคสมบัติมากมาย แวดล้อมด้วยการฟ้อนรำขับร้องอยู่ในปราสาทนั้น นักดนตรีอันประกอบด้วยเครื่องประโคมอย่างดีมาประโคมท่าน หญิงทั้งปวงบำเรอท่าน

    สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตระ พร้อมด้วยภิกษุขีณาสพประมาณแสนรูป เสด็จดำเนินไปตามถนนด้วยกัน ทรงยังทิศทั้งปวงให้สว่างโชติช่วงด้วยพระรัศมี เมื่อพระองค์ผู้นำของโลกกำลังเสด็จ ไป กลองทั้งปวงยังดังก้องอยู่ รัศมีของพระองค์สว่างไสวดุจพระอาทิตย์อุทัยฉะนั้น ขณะนั้น พระรัศมีของพระศาสดาได้ส่องเข้าไปทางช่องหน้าต่าง ส่งแสงสว่างจ้าเข้าไปภายในเรือนของท่าน ท่านเห็นรัศมีของพระพุทธเจ้าแล้ว ได้กล่าวกะพวกสหายและบริวารว่า พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดเสด็จมาถึงถนนนี้เป็นแน่แล้ว ท่านจึงรีบลงจากปราสาท แล้วได้ไปสู่ถนน ถวายบังคมพระสัมพุทธเจ้า แล้วกราบทูลดังนี้ว่า ขอพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตระทรงอนุเคราะห์ข้าพระองค์ด้วยเถิด พระมุนีพระองค์นั้นพร้อมด้วยพระอรหันต์แสนรูปทรงรับนิมนต์

    ครั้นท่านนิมนต์พระสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้นำพระองค์มาสู่เรือนของตน อังคาสพระมหามุนีให้ทรงอิ่มหนำ ด้วยข้าวและน้ำในเรือนนั้น ท่าน ได้บำรุงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ด้วยการขับร้องและดนตรี พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ ประทับนั่งอยู่ภายในเรือน ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า ผู้ใดบำรุงเราด้วยดนตรี แลได้ถวายข้าวน้ำแก่เรา เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว

    คนผู้นี้จักเป็นผู้มีอาหารมากมาย มีเงิน มีโภชนะ เสวยรัชสมบัติผู้เดียวในทวีปทั้ง ๔ จักสมาทานศีล ๕ ยินดีในกรรมบถ ๑๐ ครั้นสมาทานแล้วก็ประพฤติ ยังบริษัทให้ศึกษา นางสาวแสนคน อันประดับประดาสวยงาม จักบรรเลงดนตรีบำเรอผู้นี้อยู่เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการบำรุง ผู้นี้จักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๓ หมื่นกัป จักได้เป็นจอมเทวดา เสวยรัชสมบัติในเทวโลก ๖๔ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๔ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้า ประเทศราชอันไพบูลย์โดยคณนานับมิได้

    ในแสนกัลปแต่กัลปนี้ พระ ศาสดามีพระนามชื่อว่าโคดม ซึ่งมีสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จัก เสด็จอุบัติในโลก ผู้นี้เข้าถึงกำเนิดใด คือเป็นเทวดาหรือมนุษย์ จักเป็น ผู้เล่าเรียน รู้จบไตรเทพ จักเที่ยวแสวงหาประโยชน์อันสูงสุดอยู่ใน แผ่นดิน ในกาลนั้น และภายหลัง เขาบวชแล้ว อันกุศลมูลตักเตือนแล้ว จักยินดียิ่งในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม ผู้นี้จักยังพระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมศากยบุตรให้โปรดปราน เผากิเลสทั้งหลาย แล้ว จักได้เป็นพระอรหันต์

    ท่านได้กระทำกรรมดีจนตลอดชีวิต ครั้นละจากภพมนุษย์นี้ไปแล้ว ก็เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิมนุษย์และเทวดา

    บุรพกรรมสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

    ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า ท่านเกิดเป็นศิษย์คนหนึ่ง ของอาจารย์ผู้เป็นช่างไม้คนหนึ่งชาวกรุงพาราณสี ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ทางด้านช่างไม้อย่างไม่มีใครเทียบในสำนักอาจารย์ของตน ช่างไม้นั้นมีศิษย์ ๑๖ คน ศิษย์คนหนึ่ง ๆ มีศิษย์คนละ ๑,๐๐๐ คน รวมอาจารย์และศิษย์เหล่านั้นเป็น ๑๖,๐๑๗ คนอย่างนี้ ทั้งหมดนั้นอาศัยอยู่ในกรุงพาราณสี เลี้ยงชีพอยู่ด้วยการเอาไม้ในแถบภูเขามาสร้างเป็นปราสาทชนิดต่าง ๆ แล้วผูกแพนำมาขายยังกรุงพาราณสีทางแม่น้ำคงคา หากพระราชาทรงต้องการก็จะสร้างปราสาทชั้นเดียว หรือเจ็ดชั้นถวาย หากไม่ทรงต้องการ ก็จะขายคนอื่นเลี้ยงบุตรภรรยา

    ลำดับนั้นวันหนึ่ง อาจารย์ของศิษย์เหล่านั้นคิดว่า เราไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการเป็นช่างไม้ได้ตลอดไป เพราะถึงคราวแก่ตัวลงก็จะทำงานนี้ได้ยาก จึงเรียกศิษย์ทั้งหลายมาบอกว่า นี่แน่ะท่านทั้งหลาย พวกท่านจงไปนำต้นไม้ที่มีแก่นน้อยมีน้ำหนักเบา เช่นต้นมะเดื่อเป็นต้นมาให้เรา ศิษย์เหล่านั้นรับคำแล้วต่างก็ ไปนำมา อาจารย์นั้นเอาไม้นั้นมาประดิษฐ์เป็นรูปนกแล้วใส่เครื่องกลไกเข้าไปภายในนกนั้น นกไม้ยนต์นั้นก็สามารถบินขึ้นสู่อากาศดุจพญาหงส์ เที่ยวไปเบื้องบนป่าแล้วบินลงเบื้องหน้าศิษย์ทั้งหลาย

    ลำดับนั้น อาจารย์จึงถามศิษย์ทั้งหลายว่า นี่แน่ะท่านทั้งหลาย เราทำพาหนะไม้เช่นนี้ได้ ก็จะสามารถยึดราชสมบัติได้ การเลี้ยงชีพด้วยศิลปะการเป็นช่างไม้ลำบาก ศิษย์เหล่านั้นจึงได้ดำเนินการตามที่อาจารย์สั่ง ครั้นสำเร็จแล้วจึงได้แจ้งให้อาจารย์ทราบ ลำดับนั้นอาจารย์จึงปรึกษากับพวกศิษย์ว่า เราจะยึดราชสมบัติที่ไหนก่อน พวกศิษย์ตอบว่า ยึดราชสมบัติกรุงพาราณสีซิ ท่านอาจารย์ อาจารย์กล่าวว่า อย่าเลยพวกท่าน ไม่ดีดอก เพราะแม้พวกเราจะยึดราชสมบัติกรุงพาราณสีได้ ก็จะไม่พ้นจากการพูดถึงอาชีพเดิมของเราคือช่างไม้ว่า เราเป็นพระราชาช่างไม้ เรามีพระยุพราชช่างไม้ ชมพูทวีปออกใหญ่โต เราไปที่อื่นกันเถิด

    ลำดับนั้น พวกศิษย์พร้อมด้วยลูกเมียขึ้นนกยนต์พร้อมด้วยอาวุธ มุ่งหน้าไปหิมวันตประเทศ เข้าไปยังนครหนึ่งในหิมวันต์ แล้วพากันบุกเข้าไปถึงพระราชมณเฑียรนั่นเองด้วยนกยนต์ ศิษย์เหล่านั้นก็สามารถยึดราชสมบัติในนครนั้นได้โดยง่าย จากนั้นจึงอภิเษกอาจารย์ไว้ในฐานะพระราชา ชื่อว่าพระเจ้ากัฏฐวาหนะ นครนั้นจึงได้ชื่อว่า กัฏฐวาหนคร

    พระราชากัฏฐวาหนะได้ทรงดำรงอยู่ในธรรม ทรงตั้งพระยุพราช และทรงตั้งศิษย์ทั้ง ๑๖ คน ไว้ในตำแหน่งอาจารย์ พระราชาทรงสงเคราะห์ศิษย์เหล่านั้นด้วยสังคหวัตถุ ๔ จึงเป็นแคว้นที่มั่งคั่ง สมบูรณ์และไม่มีอันตราย ทั้งชาวเมืองชาวชนบทนับถือพระราชาและข้าราช การเป็นอย่างยิ่ง พูดกันว่า พวกเราได้พระราชาที่ดี ข้าราชบริพารก็เป็นคนดี

    อยู่มาวันหนึ่ง พวกพ่อค้าจากมัชฌิมประเทศ นำสินค้ามาสู่กัฏฐวาหนนคร และนำเครื่องบรรณาการไปเฝ้าพระราชา พระราชาตรัสถามว่า พวกท่านมาจากไหน พวกพ่อค้าทูลว่า ขอเดชะ มาจากกรุงพาราณสีพระเจ้าข้า พระราชาตรัสถามเรื่องราวทั้งหมด ณ กรุงพาราณสีนั้นแล้วตรัสว่า พวกท่านจงนำมิตรภาพของเราไปทูลกับพระราชาของพวกท่านเถิด พ่อค้าเหล่านั้นรับพระราชดำรัสแล้ว พระราชาพระราชทานเสบียงแก่พวกพ่อค้าเหล่านั้น เมื่อถึงเวลาไปยังตรัสชี้แจงด้วยความใส่พระทัย

    พวกพ่อค้ากลับไปกรุงพาราณสีได้กราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาตรัสว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเราจะงดเก็บส่วยของพ่อค้าที่มาจากแคว้นกัฏฐวาหะ แล้วทรงให้ป่าวประกาศว่า พระราชากัฏฐวาหนะจงเป็นพระสหายของเรา พระราชาทั้งสองได้เป็นมิตรกันโดยไม่ได้เห็นกันเลย แม้พระราชากัฏฐวาหนะ ก็ทรงให้ป่าวประกาศไปทั่วนครว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ท่านจงงดเก็บส่วยของพ่อค้าที่มาจากกรุงพาราณสี และควร ให้เสบียงแก่พวกเขาด้วย

    ลำดับนั้นพระเจ้าพาราณสี ทรงส่งพระราชสารไปถวายแด่พระเจ้ากัฏฐวาหนะว่า หากมีอะไรแปลก ๆ อันสมควรเพื่อจะเห็น เพื่อจะฟังในชนบทนั้นเกิดขึ้นเพื่อให้ข้าพระองค์ได้เห็นและได้ฟังบ้าง ก็ขอได้โปรดพระราชทานพระกรุณาด้วย พระราชกัฏฐวาหนะทรงส่งพระ ราชสารตอบถวายพระราชาพาราณสีเหมือนกัน พระราชาทั้งสองทรงกระทำกติกากันอยู่อย่างนั้น

    คราวหนึ่ง พระราชากัฏฐวาหนะได้ผ้ากัมพลเนื้อละเอียดยิ่งนัก มีค่ามากเหลือเกิน มีสีคล้ายรัศมีพระอาทิตย์อ่อน ๆ พระราชากัฏฐวาหนะทอดพระเนตรเห็นผ้ากัมพลเหล่านั้น ทรงดำริว่า เราจักส่งไปให้สหายของเราจึงให้ช่างทำงา สลักผอบงา ๘ ใบ เอาผ้ากัมพลใส่ลงในผอบเหล่านั้น ผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ ยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอก ก็สามารถบรรจุลงในผอบงาใบเล็ก ๆ ได้ จากนั้นจึงให้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับครั่งทำก้อนครั่งกลมหุ้มข้างนอก เอาครั่งเป็นก้อนกลม ๘ ก้อนใส่ไว้ในสมุก เอาผ้าพันไว้ประทับตราแล้วทรงส่งอำมาตย์ไป รับสั่งว่า พวกท่านจงนำไปถวายพระราชาพาราณสี และทรงจารึกพระอักษรว่า บรรณาการนี้ อันหมู่อำมาตย์ท่ามกลางพระนครพึงสนใจ และส่งให้พวกอำมาตย์นำ ไปถวายแด่พระเจ้าพาราณสี

    พระเจ้าพาราณสีทรงอ่านคำจารึกแล้วรับสั่ง ให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ ทรงแกะตราประทับแล้วคลี่ผ้าพันออก เมื่อเปิดสมุกก็ทรงเห็นก้อนครั่งกลม ๘ ก้อน พระเจ้าพาราณสีทรงอายว่าสหายของเราส่งก้อนครั่งกลมให้เรา คล้ายกับให้เด็กอ่อนเล่นก้อนครั่งกลม จึงทรงทุบก้อนครั่งก้อนหนึ่ง ณ พระที่นั่งของพระองค์ ทันใดนั้นเอง ครั่งก็ แตกออก ผอบงาจึงตกมาแล้วแยกออกเป็นสองส่วน ทอดพระ เนตรเห็นผ้ากัมพลอยู่ข้างใน จึงทรงเปิดผอบอื่น ๆ ออกดู ในผอบแต่ละใบได้บรรจุผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ ยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอกเหมือน ๆ กัน มหาชนเห็นดังนั้นต่างก็ได้มีความพอใจว่า พระราชากัฏฐวาหนะ ซึ่งเป็นพระอทิฏฐสหาย (สหายที่ไม่เคยเห็นกัน) ของพระราชาของเราทรงส่งบรรณาการเช่นนี้มาถวาย การทำไมตรีเช่นนี้สมควรแล้ว พระราชารับสั่งให้เรียกพ่อค้ามาตีราคาผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ พ่อค้าเห็นผ้ากัมพลนั้นแล้วกราบทูลว่า ผ้ากัมพลทั้งหลายนี้ประมาณค่ามิได้เลย ลำดับนั้น พระเจ้าพาราณสีทรงดำริว่า การส่งบรรณาการตอบแทน ก็ควรจะส่งให้เหนือกว่าบรรณการที่ส่งมาถวาย สหายของเราส่งบรรณาการหาค่ามิได้มาให้เรา เราควรจะส่งอะไรให้สหายดีหนอ

    ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะทรงอุบัติขึ้นแล้ว ประทับอยู่ ณ กรุงพาราณสี ครั้งนั้นพระราชาได้มีพระราชดำริว่า สิ่งอื่นจะสูงสุดยิ่งกว่าพระรัตนตรัยไม่มี เอาเถิด เราจะส่งข่าวว่าพระรัตนตรัยเกิดขึ้นแล้ว แก่สหาย พระเจ้าพาราณสีนั้น ตรัสให้จารึกคาถานี้ว่า

    พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นพร้อมแล้วในโลก

    เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง

    พระธรรมเกิดขึ้นพร้อมแล้วในโลก

    เพื่อความสุขแก่สัตว์ทั้งปวง

    พระสงฆ์เกิดขึ้นพร้อมแล้วในโลก

    เป็นบุญเขตที่ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า ดังนี้

    และให้จารึกการปฏิบัติของภิกษุรูปหนึ่งตราบเท่าถึงพระอรหัต ด้วยชาดสีแดงลงบนแผ่นทอง ใส่ลงในสมุกทำด้วยแก้ว ๗ ประการ ใส่สมุกนั้นลงในสมุกทำด้วยแก้วมณี ใส่สมุกทำด้วยแก้วมณีลงในสมุกแก้วตาแมว ใส่สมุกแก้วตาแมวลงในสมุกทับทิม ใส่สมุกทับทิมลงในสมุกทองคำ ใส่สมุกทองคำลงในสมุกเงิน ใส่สมุกเงินลงในสมุกงาช้าง ใส่สมุกงาช้างลงในสมุกไม้แก่น ใส่สมุกไม้แก่นลงในหีบ เอาผ้าพันหีบแล้วประทับตราพระราชลัญจกร ทรงให้นำช้างเมามันตัวประเสริฐ มีธงทองคำประดับด้วยทองคำ คลุมด้วยตาข่ายทองให้ตกแต่งบัลลังก์บนช้างนั้น แล้วยกหีบวางไว้บนบัลลังก์ กั้นเศวตฉัตร บูชาด้วยของหอมและดอกไม้ทุกชนิด ขับเพลงสรรเสริญหนึ่งร้อยบท ด้วยกังสดาลทุกชนิด เคลื่อนไป แล้วทรงให้ตกแต่งทางตลอดระยะไปจนถึงเขตรัฐสีมาของพระองค์ แล้วทรงนำไปด้วยพระองค์เอง เสด็จประทับอยู่ ณ ทางนั้น

    ทรงนำไปจนถึงเขตรัฐสีมาของพระราชากัฏฐวาหนะ พระราชากัฏฐวาหนะได้ทรงสดับข่าวนั้น ก็เสด็จมาต้อนรับ ทรงกระทำการต้อนรับเหมือนเช่นที่พระราชาแห่งกรุงพาราณสีทรงกระทำ แล้วทูลเชิญให้เสด็จเข้าพระนคร รับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ และพวกชาวพระนคร ทรงเปลื้องผ้าพันออก ณ พระลานหลวง ทรงเปิดหีบทอดพระเนตรเห็นสมุกในหีบ แล้วทรงเปิดหีบทั้งหมดตามลำดับ ทอดพระเนตรเห็นจารึกบนแผ่นทองคำ ทรงพอพระทัยว่า สหายของเราทรงส่งรัตนบรรณาการ ซึ่งหาได้ยากอย่างยิ่งตลอด แสนกัป พวกเราได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟังว่า พุทโธ โลเก อุปปนโน พระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วในโลกดังนี้

    ทรงดำริว่า ถ้ากระไรเราควรจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และฟังพระธรรม ดังนี้แล้วตรัสเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมารับสั่งว่า ได้ยินว่า พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ อุบัติแล้วในโลก พวกท่านคิดว่าควรจะทำอะไร อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ประทับอยู่ ณ ที่นี้แหละ พวกข้าพระองค์จักไปฟังข่าวดู พระเจ้าข้า

    ลำดับนั้น อำมาตย์ ๑๖ คน พร้อมด้วยบริวาร ๑๖,๐๐๐ คน ถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า ผิว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก พวกข้าพระพุทธเจ้าก็คงไม่มีการกลับมาเห็นอีก หากว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงอุบัติ พวกข้าพระพุทธเจ้าก็จักกลับมา กราบทูลดังนั้นแล้วก็ถวายบังคมลาแล้วก็พากันเดินทางไป ฝ่ายพระเจ้าหลานเธอของพระราชาพระองค์หนึ่ง ถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าก็จะไป พระราชาตรัสว่า เมื่อเจ้าทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติ ณ ที่นั้นแล้ว จงกลับมาบอกเราด้วย พระเจ้าหลานเธอรับพระบัญชาแล้วจึงได้ไป พวกเขาแม้ทั้งหมดไปตลอดทางพักเพียงราตรีเดียว ก็ถึงพระนครพาราณสี

    ในระหว่างที่พวกอำมาตย์ยังเดินทางไปกรุงพาราณสีนั่นเอง ยังไม่ทันถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จดับขันธปรินิพพานไปเสียก่อนแล้ว เมื่อเหล่าอำมาตย์มาถึง พวกเขาก็เที่ยวไปจนทั่ววิหาร แลเห็นเหล่าพระสาวกอยู่กันพร้อมหน้า จึงถามว่าใครเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน พระสาวกเหล่านั้นจึงบอกแก่พวกเขาว่า พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเสียแล้ว เหล่าอำมาตย์จึงถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า พระโอวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้ยังมีอยู่หรือไม่ พระสาวกเหล่านั้นกล่าวว่า มีอยู่ อุบาสก คือพึงตั้งอยู่ในพระรัตนตรัย พึงสมาทานศีล ๕ พึงเข้าอยู่จำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ พึงให้ทาน พึงปฏิบัติธรรม

    อำมาตย์เหล่านั้นครั้นได้ฟังแล้วพากันบวชทั้งหมด เว้นแต่อำมาตย์ผู้เป็นพระเจ้าหลานเธอนั้น อำมาตย์ผู้เป็นพระเจ้าหลานเธอ ถือ เอาบริโภคธาตุ (ต้นโพธิ์ บาตรและจีวร เป็นต้น ชื่อว่า บริโภคธาตุ) มุ่งหน้ากลับไปยังแคว้นกัฏฐวาหนะ พระเจ้าหลานเธอนี้ถือเอาธมกรก (หม้อกรองน้ำ) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า และพาพระเถระรูปหนึ่งผู้ทรงธรรมและวินัยไปยังพระนครโดยลำดับ ได้กราบทูลพระราชาว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลกและเสด็จปรินิพพานแล้ว ได้กราบทูลถึงโอวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้ พระราชาเสด็จเข้าไปหาพระเถระฟังธรรมแล้วรับสั่งให้สร้างวิหาร ประดิษฐานพระเจดีย์ ปลูกต้นโพธิ์ ทรงดำรงอยู่ในพระรัตนตรัย และ ศีล ๕ เป็นนิจ ทรงเข้าอยู่จำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ทรงให้ทาน ทรงดำรงอยู่ตราบเท่าอายุแล้วไปยังบังเกิดในกามาวจรเทวโลก แม้อำมาตย์ ๑๖,๐๐๐ คน ก็พากันบวช แล้วมรณภาพเยี่ยงปุถุชน ยังไม่ได้มรรคผลอันใด แล้วได้ไปเกิดเป็นบริวารของพระราชาผู้เป็นเทวดานั้นนั่นเอง

    สมัยพระสมณโคดมพุทธกาล

    เมื่อเวลาผ่านไปพุทธันดรหนึ่ง ในภัทรกัป สมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรายังไม่ทรงอุบัติ พระราชาและอำมาตย์เหล่านั้น ที่บังเกิดเป็นเทวดา เสวยสุขอยู่ในเทวโลก ก็ได้จุติลงมาเกิดในโลกมนุษย์

    พระราชาและอำมาตย์เหล่านั้น ที่บังเกิดเป็นเทวดาเสวยสุขอยู่ในเทวโลก ก็ได้จุติจากเทวโลก

    พระราชาเกิดเป็นบุตรของปุโรหิต ของพระเจ้ามหาโกศล ผู้เป็นพระชนกของพระเจ้าปเสนทิ มีชื่อว่า พาวรี ประกอบด้วย มหาปุริสลักษณะ ๓ ประการ ได้เล่าเรียนวิชาพราหมณ์จนจบไตรเทพ ครั้นเมื่อบิดาล่วงลับไปก็ได้ดำรงตำแหน่งปุโรหิตแทน

    ส่วนอำมาตย์ผู้ใหญ่ ๑๖ คนนั้น ในภพสุดท้ายนี้ หนึ่งในนั้นก็ถือปฏิสนธิในครอบครัวพราหมณ์ในกรุงสาวัตถี บิดามารดาได้ตั้งชื่อว่า ชตุกัณณิกะ และอำมาตย์ผู้ใหญ่ที่เหลืออีก ๑๕ คน และอำมาตย์ที่เป็นบริวารอีก ๑๖,๐๐๐ คน ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ที่กรุงสาวัตถีนั้นนั่นเอง

    ท่าน ชตุกัณณิก ะเมื่อมีอายุพอจะศึกษาศิลปวิทยาแล้ว บิดามารดาจึงนำไปฝากเป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวนศิษย์ ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรี ซึ่งท่านและศิษย์ผู้ใหญ่อีก ๑๕ คนนั้นต่างก็มีศิษย์คนละ ๑,๐๐๐ คน รวมทั้งสิ้น ๑๖,๐๐๐ คน

    เมื่อพระราชามหาโกศลได้เสด็จสวรรคต พระเจ้าปเสนทิจึงได้อภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ พาวรีพราหมณ์ก็ได้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทินั้นอีก พระราชาได้พระราชทานสิ่งของที่พระชนกพระราชทานไว้ และสมบัติอื่นแก่พาวรีปุโรหิตเป็นอันมาก พระราชานั้นเมื่อยังทรงพระเยาว์ ก็ได้เรียนศิลปะในสำนักของพาวรีปุโรหิตเหมือนกัน

    พาวรีปุโรหิตออกบวช

    ลำดับนั้น พาวรีได้ทูลแด่พระราชาว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จักบวช พระราชาตรัสว่า ท่านอาจารย์ เมื่อท่านดำรงอยู่ก็เหมือนบิดาของข้าพเจ้ายังอยู่ ท่านอย่าบวชเลย พาวรีทูลว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จักบวชแน่พระเจ้าข้า พระราชาเห็นว่าไม่ทรงสามารถห้ามได้ จึงทรงขอร้องว่า ขอท่านจงบวชอยู่ในพระราชอุทยานนี้เถิด ข้าพเจ้าจะได้เห็นทุกเย็นและเช้า อาจารย์พร้อมด้วย ศิษย์ ๑๖ คน กับบริวารอีก ๑๖,๐๐๐ คน ได้บวชเป็นดาบสอยู่ในพระราชอุทยาน พระราชาทรงบำรุงด้วยปัจจัย ๔ เสด็จไปทรงอุปัฏฐากอาจารย์นั้น ทุกเวลาเย็นและเวลาเช้า

    พราหมณ์พาวรีย้ายสำนักออกไปนอกพระนคร

    อยู่มาวันหนึ่งศิษย์ทั้งหลายกล่าวกะอาจารย์ว่า การอยู่ใกล้พระนครมีเครื่องพัวพันมาก ท่านอาจารย์เราไปหาโอกาสที่ไม่มีชนรบกวนเถิด ชื่อว่าการอยู่ในเสนาสนะอันสงัด เป็นประโยชน์มากแก่บรรพชิตทั้งหลาย อาจารย์ รับว่า ดีละ จึงไปทูลพระราชา พระราชาตรัสห้ามถึง ๓ ครั้งก็ไม่สามารถจะห้ามได้ จึงพระราชทานกหาปณะ ๒๐๐,๐๐๐ กหาปณะ รับสั่งกะอำมาตย์ทั้ง หลายว่า พวกเจ้าทรงสร้างอาศรมถวาย ในที่ที่คณะฤๅษีปรารถนาจะอยู่เถิด แต่นั้นอาจารย์พร้อมด้วยชฏิล ๑๖,๐๐๐ เป็นบริวาร ได้รับอนุเคราะห์จากพวก อำมาตย์จึงออกจากอุตตรชนบท มุ่งหน้าไปทักษิณชนบท

    ครั้นเมื่อพาหมู่คณะเดินทางมาถึงบริเวณใกล้พรมแดนใน ระหว่างสองแคว้น คือ แคว้นอัสสกะและแคว้นมุฬกะซึ่งเป็นภุมิประเทศที่ แม่น้ำโคธาวารีแยกออกเป็นสองสาย แล้วมาบรรจบกันอีกครั้งหนึ่ง เกิดเป็นเกาะกว้างยาวประมาณ ๓ โยชน์ เกาะทั้งหมดปกคลุมไปด้วยป่ามะขวิด เมื่อก่อน ณ บริเวณนั้นสรภังคดาบสเป็นต้นได้อาศัยอยู่

    อาจารย์เห็นเช่นนั้นแล้วจึงประกาศแก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า ประเทศนี้เป็นที่อยู่ของสมณะมาก่อน ประเทศนี้สมควรแก่นักบวช พวกอำมาตย์จึงได้ให้ทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ แก่พระเจ้าอัสสกะ อีก ๑๐๐,๐๐๐ ให้แก่พระเจ้ามุฬกะ เพื่อการครอบครองถือเอาภูมิประเทศนั้น พระราชาทั้งสองนั้นได้พระราชทานที่บริเวณเกาะนั้นและบริเวณอื่นประมาณ ๒ โยชน์ รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๕ โยชน์ ซึ่งอยู่ในระหว่างเขตรัฐสีมาของพระราชาเหล่านั้น พวกอำมาตย์ก็ได้สร้างอาศรม ณ ที่นั้นแล้วและให้นำทรัพย์มาจากกรุงสาวัตถี มาจัดตั้งเป็นโคจรคามเสร็จแล้วพากันกลับไป

    พาวรีพราหมณ์และเหล่าศิษย์ ทั้ง ๑๖,๐๑๖ คนก็เลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยการเที่ยวภิกขาและผลไม้ ต่อมาก็ได้มีชาวบ้านซึ่งเลื่อมใสในวัตรของพราหมณ์ เข้ามาปลูกสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยอยู่บนที่ดินของพราหมณ์เหล่านั้น โดยได้รับอนุญาตจากพวกพราหมณ์ เกิดเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น ชาวบ้านที่อาศัยพราหมณ์พาวรีนั้นก็เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยผลอันเกิดจากการกสิกรรม ครั้นครบรอบปีเหล่าชาวบ้านก็รวบรวมเงินจากแต่ละครอบครัวเพื่อเป็นส่วยให้แก่พระราชา และถือเอาส่วยนั้นไปเฝ้าพระเจ้าอัสสกะ ทูลกับพระราชาว่า ขอพระองค์ทรงรับส่วยนี้เถิด พระเจ้าอัสสกะตรัสว่า เราไม่รับ พวกท่านจงนำไปถวายอาจารย์เถิด พวกชาวบ้านก็นำส่วย ๑๐๐,๐๐๐ นั้นมามอบต่อพาวรีพราหมณ์

    พาวรีพราหมณ์กล่าวว่า ถ้าเราต้องการเงินทอง ก็ไม่พึงสละทรัพย์สินมากมายของเราออกบวช พวกท่านจงรับเอากหาปณะของพวกท่านคืนไปเสีย พวกชาวบ้านบอกว่า พวกเราจะไม่ยอมรับทรัพย์ที่พวกเราบริจาคแล้วอีก ยิ่งไปกว่านั้นพวกเราจะนำทรัพย์มาให้ท่านทำนองนี้ทุก ๆ ปี ถ้าท่านไม่รับเพื่อประโยชน์ตนเองละก็ ขอท่านจงรับกหาปณะเหล่านี้ไว้ให้ทานก็แล้วกัน พราหมณ์จึงยอมรับทรัพย์ดังกล่าวไว้ โดยเก็บไว้ในเพื่อการให้ทานแก่ผู้กำพร้า คนเดินทางไกล วณิพกและยาจก

    อาจารย์นั้นกระทำมหายัญคือ คือการให้ทานจากทรัพย์ดังกล่าวเป็นประจำทุก ๆ ปี ปีละครั้งอย่างนี้ กิติศัพท์การทำมหาทานของพราหมณ์พาวรีก็กระจายไปทั่วชมพูทวีป

    พราหมณ์พาวรีโดนพราหมณ์ผู้มาขอรับทานสาปแช่ง

    ครั้งนั้น ในหมู่บ้านทุนนวิตถะ ในแคว้นกลิงคะ นางพราหมณีสาว ผู้เป็นภริยาของพราหมณ์เฒ่าผู้เกิดมาในวงศ์ของชูชกพราหมณ์ ได้ทราบข่าวการทำทานดังกล่าวของพราหมณ์พาวรี จึงลุกขึ้นเตือนพราหมณ์ผู้เป็นสามีว่า เขาว่า พาวรีกำลังให้ทาน ท่านจงไปรับบริจาคเงินทองมาจากที่นั้น พราหมณ์นั้นถูกพราหมณีพูดดังนั้นก็ไม่อาจทนอยู่ได้จึงได้ออกเดินทางไปยังสำนักของพราหมณ์พาวรี ครั้นเมื่อไปถึง ก็เป็นวันที่พราหมณ์พาวรีได้กระทำมหาทานไปเสียแล้วตั้งแต่เมื่อวันวาน ซึ่งเมื่อให้ทานแล้ว พราหมณ์พาวรีก็เข้าบรรณศาลากำลังนอนนึกถึงทานที่ตนได้กระทำไปนั้น

    ครั้นเข้าไปถึงก็พูดว่า “ท่านพราหมณ์ โปรดให้ทานแก่ข้าเถิด ท่านพราหมณ์โปรดให้ทานแก่ข้าเถิด”

    พาวรีพราหมณ์กล่าวว่า “ท่านพราหมณ์ ท่านมาไม่ถูกเวลา เราให้ทานแก่พวกยาจกที่มาถึงไปแล้ว บัดนี้ไม่มีกหาปณะดอก”

    พราหมณ์พูดว่า “ท่านพราหมณ์ ข้าไม่ต้องการกหาปณะมากมายเลย ข้าขอเพียง ๕๐๐ กหาปณะ ”

    พาวรีพราหมณ์ “ท่านพราหมณ์ ๕๐๐ กหาปณะก็ไม่มี เมื่อถึงเวลาให้ทานครั้งหน้า ท่านจึงได้”

    พราหมณ์พูดว่า “ก็เวลาท่านให้ทาน ข้าจักมาได้อย่างไร” แล้วจึงทำกลอุบายเพื่อให้พาวรีพราหมณ์เกิดความกลัว โดยก่อทรายเป็นสถูปใกล้ประตูบรรณศาลา โรยดอกไม้สีแดงไปรอบ ๆ ทำปากขมุบ ขมิบเหมือนบ่นมนต์แล้วพูดว่า “เมื่อเราขอ แล้วท่านไม่ให้ไซร้ ในวันที่ ๗ ศีรษะของท่านจะแตก ๗ เสี่ยง”

    พราหมณ์พาวรีฟังคำของพราหมณ์นั้นแล้ว ก็เกิดสะดุ้งหวาดกลัว เป็นผู้มีทุกข์ซูบซีด ไม่บริโภคอาหาร เมื่อเป็นผู้เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้ ใจก็ไม่ยินดีในการบูชาเทพและเทวดาทั้งหลาย

    เทวดาบอกปริศนาธรรม

    เทวดาผู้สถิตอยู่ ณ บรรณศาลานั้น เห็นพราหมณ์พาวรีมีทุกข์สะดุ้งหวาดหวั่น จึงเข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้วได้กล่าวว่า พราหมณ์นั้นไม่รู้จักศีรษะ เป็นผู้หลอกลวง ต้องการทรัพย์ ไม่มีความรู้ในในเรื่อง ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ฯ

    พราหมณ์พาวรีถามว่าบัดนี้ ท่านรู้จักข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอก ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป แก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะฟังคำของท่าน ฯ

    เทวดาตอบว่าแม้เราก็ไม่รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป เราไม่มีความรู้ในธรรมทั้ง ๒ นี้ ปัญญาเป็นเครื่องเห็นธรรมอันเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ย่อมมีเฉพาะในพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯ

    พราหมณ์พาวรีถามว่า ในปัจจุบันนี้ มีใครเล่าในปฐพีมณฑลนี้ที่รู้ ขอท่านเทวดาจงบอกบุคคลผู้รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไปนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด ฯ

    เทวดาบอกเรื่องพระพุทธเจ้าทรงอุบัติ

    เทวดาตอบว่าดูกรพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคผู้ศากยบุตร ลำดับพระวงศ์ของพระเจ้าโอกกากราช มีพระรัศมีรุ่งเรือง เป็นนายกของโลกเสด็จออกผนวชจากพระนครกบิลพัสดุ์ เป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ทรงบรรลุอภิญญาและทศพลญาณครบถ้วน ทรงมีพระจักษุในสรรพธรรม ทรงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งกรรมทั้งปวง ทรงน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้แล้วในโลก มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรม ท่านจงไปทูลถามพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด พระองค์จักตรัสพยากรณ์ข้อความนั้นแก่ท่าน ฯ

    พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า สัมพุทโธ ก็เป็นผู้มีใจเฟื่องฟู ความโศกสลดก็เบาบางลงไป และเกิดปีติอันท่วมท้น มีใจชื่นชมเบิกบานเกิดความโสมนัส จึงถามเทวดานั้นว่า พระโลกนาถประทับอยู่ในคามนิคมหรือในชนบทไหน ข้าพเจ้าจะไปนมัสการพระบรมศาสดาได้ในที่ใด ฯ

    เทวดาตอบว่าพระชินเจ้าผู้ศากยบุตร ทรงมีพระปัญญามาก มีพระปัญญาประเสริฐกว้างขวาง ทรงปราศจากธุระ หาอาสวะมิได้ องอาจกว่านระ ทรงรู้ธรรมเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ประทับอยู่ในมณเฑียรของชนชาวโกศลในพระนครสาวัตถี ฯ

    พราหมณ์พาวรีส่งศิษย์ ๑๖ คนไปเฝ้าพระศาสดา

    ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรี เรียกพราหมณ์ทั้งหลายซึ่งเป็นศิษย์มาสั่งว่า ดูกรมาณพทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมาเถิด เราจักบอกแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังคำของเรา บัดนี้ พระสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ท่านทั้งหลายจงรีบไปเมืองสาวัตถี เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าผู้อุดมกว่าสัตว์เถิด ฯ

    พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ทั้งหลายซักถามว่า ข้าแต่ท่านพราหมณ์ บัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายได้เห็นแล้วจะพึงรู้ว่า ท่านผู้นี้เป็นพระสัมพุทธเจ้าได้อย่างไรเล่า ขอท่านจงบอกสิ่งที่จะทำให้ข้าพเจ้าทั้งหลายจะได้รู้จักพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด ฯ

    พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า ก็มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการของมหาบุรุษ ที่ท่านทั้งหลายเล่าเรียนมามาแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่พราหมณาจารย์ทั้งหลายพยากรณ์ไว้ว่า ถ้ามหาปุริสลักษณะนั้น มีอยู่ในวรกายของพระมหาบุรุษใด พระมหาบุรุษนั้น จะเป็นได้ ๒ อย่างเท่านั้น คือ ถ้าพระมหาบุรุษนั้นอยู่ครองเรือน จะพึงเป็นพระบรมมหาจักรพรรดิ์ จะทรงมีชัยชนะทั่วปฐพีนี้ จะทรงปกครองโดยธรรม ด้วยไม่ต้องใช้อาชญาไม่ต้องใช้ศาตรา ถ้าออกบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม

    พราหมณ์พาวรีสั่งให้ศิษย์ถามปัญหา ๗ ข้อกับพระศาสดา

    เมื่อท่านทั้งหลายเห็นพระมหาบุรุษผู้ประกอบไปด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการดังนี้ ท่านทั้งหลายก็จงกล่าวถามในใจ ถึง ๑. ชาติ (อายุ) ๒. โคตร ๓. ลักษณะ ๔. มนต์ และ ๕. ศิษย์เหล่าอื่นอีก และถามถึงปริศนาธรรมเรื่อง ๖. ธรรมอันเป็นศีรษะ และ ๗. ธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ถ้าว่าท่านนั้นเป็นพระพุทธเจ้าจริงแท้แล้ว ท่านก็จักตอบปัญหาที่ท่านทั้งหลายกล่าวถามในใจ ด้วยวาจาได้ ฯ

    พราหมณ์มาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน คือ อชิตะ ๑ ติสสเมตเตยยะ ๑ ปุณณกะ ๑ เมตตคู ๑ โธตกะ ๑ อุปสีวะ ๑ นันทะ ๑ เหมกะ ๑ โตเทยยะ ๑ กัปปะ ๑ ชตุกัณณี ๑ ภัทราวุธะ ๑ อุทยะ ๑ โปสาลพราหมณ์ ๑ โมฆราช ๑ ปิงคิยะ ๑ ได้ฟังคำของพราหมณ์พาวรีแล้วก็ลาอาจารย์ กระทำประทักษิณแล้ว บ่ายหน้าต่อทิศอุดร มุ่งไปยังที่ตั้งแห่งแคว้นมุฬกะ เมืองมาหิสสติ

    ในคราวนั้น พราหมณ์ทั้ง ๑๖ คนได้เดินทางผ่านเมืองอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสะ เมืองวนนคร เมืองโกสัมพี เมืองสาเกต จนถึงเมืองสาวัตถี

    พระบรมศาสดาเสด็จออกจากกรุงสาวัตถีเพื่อบ่มอินทรีย์ของเหล่าพราหมณ์ให้แก่กล้า

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ศิษย์ของพาวรีพราหมณ์ทั้ง ๑๖ คน มาพร้อมด้วยมหาชนเป็นอันมาก ทรงพระดำริว่า อินทรีย์ของพราหมณ์เหล่านั้นยังไม่แก่กล้าเพียงพอ อีกทั้งถิ่นนี้ก็ยังไม่เป็นที่สบายเหมาะแก่พราหมณ์ทั้งหลาย ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่า ปาสาณกเจดีย์ในเขตแคว้นมคธเป็นที่สบายเหมาะแก่พราหมณ์เหล่านั้น ถ้าเราแสดงธรรมในที่นั้น มหาชนก็จักบรรลุธรรม อีกทั้งพวกพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อเดินทางผ่านเข้าไปยังเมืองต่าง ๆ ก็จะมีมหาชนตามมามากยิ่งขึ้นไปอีก ผู้บรรลุธรรมก็จักมีมากขึ้น จะเป็นประโยชน์อันมหาศาล

    ครั้นทรงพระดำริเช่นนั้นแล้ว จึงทรง เสด็จพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ออกจากกรุงสาวัตถีบ่ายพระพักตร์ไปยังกรุงราชคฤห์ ก่อนที่พวกพราหมณ์จะมาถึง พวกพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อก็มาถึงกรุงสาวัตถี เข้าไปสู่วิหาร เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ครั้นทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จออกจากเมืองสาวัตถีไปแล้ว ก็พากันเข้าไปถึงพระคันธกุฏี ได้เห็นรอยพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็แน่ใจว่า เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าแน่แล้ว เพราะจากลักษณะของรอยพระบาทเป็นรอยของผู้หมดกิเลสแล้ว เมื่อทราบดังนั้นแล้วจึงได้ออกเดินทางตามพระบรมศาสดาไป

    พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จเข้าสู่พระนครมีเสตัพยนครและกรุงกบิล พัสดุ์ เมืองกุสินารา เมืองมันทิระ เมืองปาวาโภคนคร เมืองเวสาลี เมืองราชคฤห์ เป็นต้นตามลำดับ หมู่พราหมณ์ทั้ง ๑๖ คนก็ได้เดินทางพร้อมทั้งศิษย์ ๑๖,๐๐๐ คน ผ่านตามเมืองที่พระบรมศาสดาเสด็จผ่าน ผ่านเข้าเมืองใด มหาชนในเมืองเหล่านั้นก็ออกเดินทางติดตามมาอีกเป็นอันมากเพื่อจะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา

    จนกระทั่งเสด็จไปถึงปาสาณกเจดีย์ แขวงเมืองราชคฤห์ ก็ทรงหยุดประทับอยู่ ณ ที่นั้น พวกเหล่าพราหมณ์และมหาชนก็ได้ตามพระบรมศาสดาจนถึงปาสาณกเจดีย์ ครั้นได้ฟังว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ ณ ที่นี้ ก็เกิดปิติ ปราโมทย์พากันขึ้นภูเขาไปสู่พระเจดีย์นั้น เหมือนบุคคลผู้กระหายน้ำย่อมยินดีต่อน้ำเย็น เหมือนพ่อค้ายินดีต่อลาภใหญ่ และเหมือนบุคคลถูกความร้อนแผดเผายินดีต่อร่มเงา ฉะนั้น

    ก็ในขณะนั้นพระผู้มีพระภาค แวดล้อมด้วยหมู่พระภิกษุสงฆ์ ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่ ประหนึ่งราชสีห์บันลือเสียงกังวานกระหึ่มอยู่ในป่า

    อชิตมาณพทูลถามปัญหาโดยถามในใจ

    อชิตมาณพได้เห็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระรัศมีเรื่อเรืองเหลืองอ่อน ถึงความบริบูรณ์ดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญ ลำดับนั้นอชิตมาณพได้เห็นพระมหาปุริสลักษณะทั้ง ๓๒ ประการในพระกายของพระผู้มีพระภาคนั้นแล้วก็มีความร่าเริง ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ทูลถามปัญหาในใจว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกอ้าง (ชาติ) อายุ โคตร พร้อมทั้งลักษณะ และขอได้ตรัสบอกการถึงความสำเร็จในมนต์ทั้งหลาย แห่งอาจารย์ของข้าพระองค์เถิด พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของข้าพระองค์ย่อมบอกมนต์กะศิษย์มีประมาณเท่าไร พระเจ้าข้า ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ก็พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของท่านนั้น มีอายุร้อยยี่สิบปี ชื่อพาวรีโดยโคตรลักษณะในกายของพราหมณ์พาวรีนั้นมี ๓ ประการ พราหมณ์พาวรีนั้นเรียนจบไตรเพท ในตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ คือ คัมภีร์อิติหาสพร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุศาสตร์และเกฏุภศาสตร์ ถึงซึ่งความสำเร็จในธรรมแห่งพราหมณ์ของตน ย่อมบอกมนต์กะมาณพ ๕๐๐ ฯ

    อชิตมาณพทูลถามว่าข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ขอพระองค์จงบอกลักษณะทั้งหลายของพราหมณ์พาวรี ขอทรงบอกเพื่อมิให้ข้าพระองค์มีความสงสัยเถิด ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีนั้น ย่อมปกปิด หน้าผากของตนด้วยลิ้นได้ มีขนขึ้นเป็นรูปอุณณาโลมชาติในระหว่างคิ้ว มีคุยหฐานอยู่ในฝัก ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด ฯ

    มหาชนทั้งหลาย ไม่ได้ยินเสียงใครที่ถามปัญหานั้นเลย เมื่อได้ฟังคำตอบที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แล้ว เกิดความพิศวง มีความโสมนัสประนมอัญชลี แล้วสรรเสริญว่า พระผู้มีพระภาคเป็นอะไรหนอ เป็นเทวดาหรือเป็นพรหม หรือเป็นท้าวสุชัมบดีจอมเทพ จึงได้ทราบถึงปัญหาอันมีผู้ถามในใจ ฯ

    อชิตมาณพ ครั้นได้สดับการพยากรณ์ปัญหา ๕ ข้อแล้ว เมื่อจะทูลถาม ปัญหาสองข้อที่เหลือจึงกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ท่านพราหมณ์พาวรีถามถึงธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ขอพระองค์ตรัสพยากรณ์ข้อนั้นกำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ผู้เป็นพราหมณ์เสียเถิด ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ท่านจงรู้เถิดว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ วิชชาประกอบด้วยศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ ชื่อว่าเป็นธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป

    เพราะอวิชชาเป็นความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ เป็นศีรษะแห่งสังสารวัฏ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ

    อนึ่ง เพราะอรหัตมรรควิชชา (วิชชาในอรหัตมรรค) ประกอบ ด้วย ศรัทธาสติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ อันเกิดร่วมกับตนยังศีรษะให้ตกไป เพราะเข้าถึงธรรมเป็นศีรษะด้วยความตั้งอยู่ในรสอันเดียวกันของอินทรีย์ทั้งหลาย

    ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วิชชาเป็นธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป.

    ลำดับนั้น อชิตมาณพมีความโสมนัสเป็นอันมาก เบิกบานใจ กระทำหนังเสือเหลืองเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลงแทบพระบาทยุคลด้วยเศียรเกล้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ พราหมณ์พาวรี พร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลายขอไหว้พระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาค ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลาย จงเป็นผู้ถึงความสุขเถิด ครั้นตรัสแล้วจึงทรงปวารณาว่า จงถามความสงสัยทุก ๆ อย่างของพราหมณ์พาวรี หรือของท่านเถิด

    อชิตมาณพครั้นเห็นพระพุทธองค์ประทานพระวโรกาสให้ทูลถามปัญหาที่สงสัยเช่นนั้น ก็นั่งลงประนมอัญชลี ทูลถามปัญหาต่อพระตถาคต ณ ที่นั้น ตามที่ปรากฎในอชิตมาณวกปัญหานิทเทส

    ครั้นเมื่อจบพระคาถาที่พระพุทธองค์ตรัสตอบปัญหา อชิตมาณพ พร้อมด้วยเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ คนก็บรรลุพระอรหัตเป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาค และโสดาปัตติมรรคก็บังเกิดขึ้นแก่เทวดาและมนุษย์หลายพัน

    ในบรรดาศิษย์ทั้ง ๑๖ คนนั้น โมฆราชมาณพถือตัวว่าเป็นผู้มีความรู้ยิ่งกว่าทุกคน ท่านคิดว่า อชิตมาณพนี้เป็นหัวหน้าของศิษย์ทุกคน เราไม่ควรถามปัญหาก่อน เพราะความเคารพในตำแหน่งผู้นำของอชิตมาณพนั้น ท่านจึงไม่ถามก่อน ครั้นเมื่ออชิตมาณพนั้นถามปัญหาแล้ว จึงถามปัญหาต่อพระศาสดาเป็นคนที่สอง

    พระศาสดาทรงดำริว่า โมฆราชมาณพเป็นคนถือตัว ทั้งญาณของเขาก็ยังไม่แก่กล้าเต็มที่ ควรจะต้องทำให้ความถือตัวของเขาค่อย ๆ หมดไป จึงตรัสว่า โมฆราชเธอจงคอยก่อน ให้คนอื่น ๆ ถามปัญหาก่อน

    โมฆราชมาณพนั้น ครั้นถูกห้ามโดยพระศาสดาเช่นนั้น ก็คิดว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมานี้ เราเข้าใจว่า ไม่มีคนที่จะเป็นบัณฑิตเกินกว่าเรา ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ถ้าไม่ทรงทราบความในใจ ย่อมไม่ตรัส พระศาสดาคงจักทรงเห็นโทษในการถามของเราเป็นแน่ เมื่อคิดได้ดังนั้นจึงนิ่งเสีย

    จากนั้น ติสสเมตเตยยพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๒

    จากนั้น ปุณณกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๓

    จากนั้น เมตตคูพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๔

    จากนั้นโธตกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๕

    จากนั้นอุปสีวพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๖

    จากนั้นนันทพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๗

    จากนั้นเหมกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๘

    จากนั้นโตเทยยพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๙

    จากนั้นกัปปพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๐

    เมื่อจบพระคาถาที่พระพุทธองค์ตรัสตอบปัญหาแก่พราหมณ์แต่ละท่านนั้น พราหมณ์ท่านนั้นพร้อมด้วยเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ คนก็บรรลุพระอรหัตเป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาคอยู่

    ชตุกัณณิกะทูลถามปัญหาของตน

    จากนั้นก็ถึงลำดับของ ชตุกัณณิก พราหมณ์ เป็นลำดับที่ ๑๑ ชตุกัณณิกะเมื่อจะทูลถามความสงสัยของตน จึงถามปัญหาว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ข้าพระองค์ได้ฟังพระองค์ผู้ไม่ใคร่กาม จึงมาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ผู้ล่วงห้วงน้ำคือกิเลสเสียได้ ไม่มีกาม

    ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระเนตรคือพระสัพพัญญุตญาณเกิดพร้อมแล้ว ขอพระองค์ตรัสบอกทางสันติ

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จงตรัสบอกทางสันตินั้นแก่ข้าพระองค์ตามจริงเถิด เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงมีเดช ครอบงำกามทั้งหลายเสียแล้วด้วยเดช เหมือนพระอาทิตย์มีเดช คือ รัศมี ครอบงำปฐพีด้วยเดชไปอยู่ในอากาศ ฉะนั้น

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีปัญญาดังแผ่นดินnขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมเครื่องละชาติ ละชรา ณ ที่นี้ ที่ข้าพระองค์ควรจะรู้แจ้ง แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยเถิด ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า

    ดูกรชตุกัณณี

    ท่านได้เห็นซึ่งเนกขัมมะโดยความเป็นธรรมอันเกษมแล้ว จงนำความกำหนัดในกามทั้งหลายเสียให้สิ้นเถิด

    อนึ่ง กิเลสชาติเครื่องกังวลที่ท่านยึดไว้แล้ว (ด้วยอำนาจตัณหาและทิฐิ) ซึ่งควรจะปลดเปลื้องเสีย อย่ามีแล้วแก่ท่าน

    กิเลสเครื่องกังวลใดได้มีแล้วในกาลก่อน ท่านจงทำกิเลสเครื่องกังวลนั้นให้เหือดแห้งเสียเถิด กิเลสเครื่องกังวลในภายหลัง อย่าได้มีแก่ท่าน

    ถ้าท่านจักไม่ถือเอากิเลสเครื่องกังวลในท่ามกลางไซร้ ท่านจักเป็นผู้สงบเที่ยวไป

    ดูกรพราหมณ์

    เมื่อท่านปราศจากความกำหนัดในนามและรูปแล้วโดยประการทั้งปวง อาสวะทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้ไปสู่อำนาจแห่งมัจจุราชก็ย่อมไม่มีแก่ท่าน ฯ

    จบเทศนาท่านก็บรรลุพระอรหัตพร้อมกับชฎิล ๑,๐๐๐ คน บริวารของตน หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผม และหนวดของชตุกัณณิกพราหมณ์และเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ หายไปแล้ว พร้อมด้วยการบรรลุอรหัต ชตุกัณณิกพราหมณ์และเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ นั้น เป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาค
     
  15. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,801
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    พระภัทราวุธเถระ

    บุรพกรรมสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

    ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า ท่านเกิดเป็นศิษย์คนหนึ่ง ของอาจารย์ผู้เป็นช่างไม้คนหนึ่งชาวกรุงพาราณสี ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ทางด้านช่างไม้อย่างไม่มีใครเทียบในสำนักอาจารย์ของตน ช่างไม้นั้นมีศิษย์ ๑๖ คน ศิษย์คนหนึ่ง ๆ มีศิษย์คนละ ๑,๐๐๐ คน รวมอาจารย์และศิษย์เหล่านั้นเป็น ๑๖,๐๑๗ คนอย่างนี้ ทั้งหมดนั้นอาศัยอยู่ในกรุงพาราณสี เลี้ยงชีพอยู่ด้วยการเอาไม้ในแถบภูเขามาสร้างเป็นปราสาทชนิดต่าง ๆ แล้วผูกแพนำมาขายยังกรุงพาราณสีทางแม่น้ำคงคา หากพระราชาทรงต้องการก็จะสร้างปราสาทชั้นเดียว หรือเจ็ดชั้นถวาย หากไม่ทรงต้องการ ก็จะขายคนอื่นเลี้ยงบุตรภรรยา

    ลำดับนั้นวันหนึ่ง อาจารย์ของศิษย์เหล่านั้นคิดว่า เราไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการเป็นช่างไม้ได้ตลอดไป เพราะถึงคราวแก่ตัวลงก็จะทำงานนี้ได้ยาก จึงเรียกศิษย์ทั้งหลายมาบอกว่า นี่แน่ะท่านทั้งหลาย พวกท่านจงไปนำต้นไม้ที่มีแก่นน้อยมีน้ำหนักเบา เช่นต้นมะเดื่อเป็นต้นมาให้เรา ศิษย์เหล่านั้นรับคำแล้วต่างก็ ไปนำมา อาจารย์นั้นเอาไม้นั้นมาประดิษฐ์เป็นรูปนกแล้วใส่เครื่องกลไกเข้าไปภายในนกนั้น นกไม้ยนต์นั้นก็สามารถบินขึ้นสู่อากาศดุจพญาหงส์ เที่ยวไปเบื้องบนป่าแล้วบินลงเบื้องหน้าศิษย์ทั้งหลาย

    ลำดับนั้น อาจารย์จึงถามศิษย์ทั้งหลายว่า นี่แน่ะท่านทั้งหลาย เราทำพาหนะไม้เช่นนี้ได้ ก็จะสามารถยึดราชสมบัติได้ การเลี้ยงชีพด้วยศิลปะการเป็นช่างไม้ลำบาก ศิษย์เหล่านั้นจึงได้ดำเนินการตามที่อาจารย์สั่ง ครั้นสำเร็จแล้วจึงได้แจ้งให้อาจารย์ทราบ ลำดับนั้นอาจารย์จึงปรึกษากับพวกศิษย์ว่า เราจะยึดราชสมบัติที่ไหนก่อน พวกศิษย์ตอบว่า ยึดราชสมบัติกรุงพาราณสีซิ ท่านอาจารย์ อาจารย์กล่าวว่า อย่าเลยพวกท่าน ไม่ดีดอก เพราะแม้พวกเราจะยึดราชสมบัติกรุงพาราณสีได้ ก็จะไม่พ้นจากการพูดถึงอาชีพเดิมของเราคือช่างไม้ว่า เราเป็นพระราชาช่างไม้ เรามีพระยุพราชช่างไม้ ชมพูทวีปออกใหญ่โต เราไปที่อื่นกันเถิด

    ลำดับนั้น พวกศิษย์พร้อมด้วยลูกเมียขึ้นนกยนต์พร้อมด้วยอาวุธ มุ่งหน้าไปหิมวันตประเทศ เข้าไปยังนครหนึ่งในหิมวันต์ แล้วพากันบุกเข้าไปถึงพระราชมณเฑียรนั่นเองด้วยนกยนต์ ศิษย์เหล่านั้นก็สามารถยึดราชสมบัติในนครนั้นได้โดยง่าย จากนั้นจึงอภิเษกอาจารย์ไว้ในฐานะพระราชา ชื่อว่าพระเจ้ากัฏฐวาหนะ นครนั้นจึงได้ชื่อว่า กัฏฐวาหนคร

    พระราชากัฏฐวาหนะได้ทรงดำรงอยู่ในธรรม ทรงตั้งพระยุพราช และทรงตั้งศิษย์ทั้ง ๑๖ คน ไว้ในตำแหน่งอาจารย์ พระราชาทรงสงเคราะห์ศิษย์เหล่านั้นด้วยสังคหวัตถุ ๔ จึงเป็นแคว้นที่มั่งคั่ง สมบูรณ์และไม่มีอันตราย ทั้งชาวเมืองชาวชนบทนับถือพระราชาและข้าราช การเป็นอย่างยิ่ง พูดกันว่า พวกเราได้พระราชาที่ดี ข้าราชบริพารก็เป็นคนดี

    อยู่มาวันหนึ่ง พวกพ่อค้าจากมัชฌิมประเทศ นำสินค้ามาสู่กัฏฐวาหนนคร และนำเครื่องบรรณาการไปเฝ้าพระราชา พระราชาตรัสถามว่า พวกท่านมาจากไหน พวกพ่อค้าทูลว่า ขอเดชะ มาจากกรุงพาราณสีพระเจ้าข้า พระราชาตรัสถามเรื่องราวทั้งหมด ณ กรุงพาราณสีนั้นแล้วตรัสว่า พวกท่านจงนำมิตรภาพของเราไปทูลกับพระราชาของพวกท่านเถิด พ่อค้าเหล่านั้นรับพระราชดำรัสแล้ว พระราชาพระราชทานเสบียงแก่พวกพ่อค้าเหล่านั้น เมื่อถึงเวลาไปยังตรัสชี้แจงด้วยความใส่พระทัย

    พวกพ่อค้ากลับไปกรุงพาราณสีได้กราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาตรัสว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเราจะงดเก็บส่วยของพ่อค้าที่มาจากแคว้นกัฏฐวาหะ แล้วทรงให้ป่าวประกาศว่า พระราชากัฏฐวาหนะจงเป็นพระสหายของเรา พระราชาทั้งสองได้เป็นมิตรกันโดยไม่ได้เห็นกันเลย แม้พระราชากัฏฐวาหนะ ก็ทรงให้ป่าวประกาศไปทั่วนครว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ท่านจงงดเก็บส่วยของพ่อค้าที่มาจากกรุงพาราณสี และควร ให้เสบียงแก่พวกเขาด้วย

    ลำดับนั้นพระเจ้าพาราณสี ทรงส่งพระราชสารไปถวายแด่พระเจ้ากัฏฐวาหนะว่า หากมีอะไรแปลก ๆ อันสมควรเพื่อจะเห็น เพื่อจะฟังในชนบทนั้นเกิดขึ้นเพื่อให้ข้าพระองค์ได้เห็นและได้ฟังบ้าง ก็ขอได้โปรดพระราชทานพระกรุณาด้วย พระราชกัฏฐวาหนะทรงส่งพระ ราชสารตอบถวายพระราชาพาราณสีเหมือนกัน พระราชาทั้งสองทรงกระทำกติกากันอยู่อย่างนั้น

    คราวหนึ่ง พระราชากัฏฐวาหนะได้ผ้ากัมพลเนื้อละเอียดยิ่งนัก มีค่ามากเหลือเกิน มีสีคล้ายรัศมีพระอาทิตย์อ่อน ๆ พระราชากัฏฐวาหนะทอดพระเนตรเห็นผ้ากัมพลเหล่านั้น ทรงดำริว่า เราจักส่งไปให้สหายของเราจึงให้ช่างทำงา สลักผอบงา ๘ ใบ เอาผ้ากัมพลใส่ลงในผอบเหล่านั้น ผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ ยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอก ก็สามารถบรรจุลงในผอบงาใบเล็ก ๆ ได้ จากนั้นจึงให้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับครั่งทำก้อนครั่งกลมหุ้มข้างนอก เอาครั่งเป็นก้อนกลม ๘ ก้อนใส่ไว้ในสมุก เอาผ้าพันไว้ประทับตราแล้วทรงส่งอำมาตย์ไป รับสั่งว่า พวกท่านจงนำไปถวายพระราชาพาราณสี และทรงจารึกพระอักษรว่า บรรณาการนี้ อันหมู่อำมาตย์ท่ามกลางพระนครพึงสนใจ และส่งให้พวกอำมาตย์นำ ไปถวายแด่พระเจ้าพาราณสี

    พระเจ้าพาราณสีทรงอ่านคำจารึกแล้วรับสั่ง ให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ ทรงแกะตราประทับแล้วคลี่ผ้าพันออก เมื่อเปิดสมุกก็ทรงเห็นก้อนครั่งกลม ๘ ก้อน พระเจ้าพาราณสีทรงอายว่าสหายของเราส่งก้อนครั่งกลมให้เรา คล้ายกับให้เด็กอ่อนเล่นก้อนครั่งกลม จึงทรงทุบก้อนครั่งก้อนหนึ่ง ณ พระที่นั่งของพระองค์ ทันใดนั้นเอง ครั่งก็ แตกออก ผอบงาจึงตกมาแล้วแยกออกเป็นสองส่วน ทอดพระ เนตรเห็นผ้ากัมพลอยู่ข้างใน จึงทรงเปิดผอบอื่น ๆ ออกดู ในผอบแต่ละใบได้บรรจุผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ ยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอกเหมือน ๆ กัน มหาชนเห็นดังนั้นต่างก็ได้มีความพอใจว่า พระราชากัฏฐวาหนะ ซึ่งเป็นพระอทิฏฐสหาย (สหายที่ไม่เคยเห็นกัน) ของพระราชาของเราทรงส่งบรรณาการเช่นนี้มาถวาย การทำไมตรีเช่นนี้สมควรแล้ว พระราชารับสั่งให้เรียกพ่อค้ามาตีราคาผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ พ่อค้าเห็นผ้ากัมพลนั้นแล้วกราบทูลว่า ผ้ากัมพลทั้งหลายนี้ประมาณค่ามิได้เลย ลำดับนั้น พระเจ้าพาราณสีทรงดำริว่า การส่งบรรณาการตอบแทน ก็ควรจะส่งให้เหนือกว่าบรรณการที่ส่งมาถวาย สหายของเราส่งบรรณาการหาค่ามิได้มาให้เรา เราควรจะส่งอะไรให้สหายดีหนอ

    ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะทรงอุบัติขึ้นแล้ว ประทับอยู่ ณ กรุงพาราณสี ครั้งนั้นพระราชาได้มีพระราชดำริว่า สิ่งอื่นจะ สูงสุดยิ่งกว่าพระรัตนตรัยไม่มี เอาเถิด เราจะส่งข่าวว่าพระรัตนตรัยเกิดขึ้นแล้ว แก่สหาย พระเจ้าพาราณสีนั้น ตรัสให้จารึกคาถานี้ว่า

    พระพุทธเจ้า ทรงอุบัติขึ้นพร้อมแล้วในโลก

    เพื่อประโยชน์เกื้อกูล แก่สัตว์ทั้งปวง

    พระธรรม เกิดขึ้นพร้อมแล้วในโลก

    เพื่อความสุขแก่สัตว์ทั้งปวง

    พระสงฆ์เกิดขึ้นพร้อมแล้วในโลก

    เป็นบุญเขต ที่ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า ดังนี้

    และให้จารึกการปฏิบัติของภิกษุรูปหนึ่งตราบเท่าถึงพระอรหัต ด้วยชาดสีแดงลงบนแผ่นทอง ใส่ลงในสมุกทำด้วยแก้ว ๗ ประการ ใส่สมุกนั้นลงในสมุกทำด้วยแก้วมณี ใส่สมุกทำด้วยแก้วมณีลงในสมุกแก้วตาแมว ใส่สมุกแก้วตาแมวลงในสมุกทับทิม ใส่สมุกทับทิมลงในสมุกทองคำ ใส่สมุกทองคำลงในสมุกเงิน ใส่สมุกเงินลงในสมุกงาช้าง ใส่สมุกงาช้างลงในสมุกไม้แก่น ใส่สมุกไม้แก่นลงในหีบ เอาผ้าพันหีบแล้วประทับตราพระราชลัญจกร ทรงให้นำช้างเมามันตัวประเสริฐ มีธงทองคำประดับด้วยทองคำ คลุมด้วยตาข่ายทองให้ตกแต่งบัลลังก์บนช้างนั้น แล้วยกหีบวางไว้บนบัลลังก์ กั้นเศวตฉัตร บูชาด้วยของหอมและดอกไม้ทุกชนิด ขับเพลงสรรเสริญหนึ่งร้อยบท ด้วยกังสดาลทุกชนิด เคลื่อนไป แล้วทรงให้ตกแต่งทางตลอดระยะไปจนถึงเขตรัฐสีมาของพระองค์ แล้วทรงนำไปด้วยพระองค์เอง เสด็จประทับอยู่ ณ ทางนั้น

    ทรงนำไปจนถึงเขตรัฐสีมาของพระราชากัฏฐวาหนะ พระราชากัฏฐวาหนะได้ทรงสดับข่าวนั้น ก็เสด็จมาต้อนรับ ทรงกระทำการต้อนรับเหมือนเช่นที่พระราชาแห่งกรุงพาราณสีทรงกระทำ แล้วทูลเชิญให้เสด็จเข้าพระนคร รับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ และพวกชาวพระนคร ทรงเปลื้องผ้าพันออก ณ พระลานหลวง ทรงเปิดหีบทอดพระเนตรเห็นสมุกในหีบ แล้วทรงเปิดหีบทั้งหมดตามลำดับ ทอดพระเนตรเห็นจารึกบนแผ่นทองคำ ทรงพอพระทัยว่า สหายของเราทรงส่งรัตนบรรณาการ ซึ่งหาได้ยากอย่างยิ่งตลอด แสนกัป พวกเราได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟังว่า พุทโธ โลเก อุปปนโน พระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วในโลกดังนี้

    ทรงดำริว่า ถ้ากระไรเราควรจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และฟังพระธรรม ดังนี้แล้วตรัสเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมารับสั่งว่า ได้ยินว่า พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ อุบัติแล้วในโลก พวกท่านคิดว่าควรจะทำอะไร อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ประทับอยู่ ณ ที่นี้แหละ พวกข้าพระองค์จักไปฟังข่าวดู พระเจ้าข้า

    ลำดับนั้น อำมาตย์ ๑๖ คน พร้อมด้วยบริวาร ๑๖,๐๐๐ คน ถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า ผิว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก พวกข้าพระพุทธเจ้าก็คงไม่มีการกลับมาเห็นอีก หากว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงอุบัติ พวกข้าพระพุทธเจ้าก็จักกลับมา กราบทูลดังนั้นแล้วก็ถวายบังคมลาแล้วก็พากันเดินทางไป ฝ่ายพระเจ้าหลานเธอของพระราชาพระองค์หนึ่ง ถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าก็จะไป พระราชาตรัสว่า เมื่อเจ้าทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติ ณ ที่นั้นแล้ว จงกลับมาบอกเราด้วย พระเจ้าหลานเธอรับพระบัญชาแล้วจึงได้ไป พวกเขาแม้ทั้งหมดไปตลอดทางพักเพียงราตรีเดียว ก็ถึงพระนครพาราณสี

    ในระหว่างที่พวกอำมาตย์ยังเดินทางไปกรุงพาราณสีนั่นเอง ยังไม่ทันถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จดับขันธปรินิพพานไปเสียก่อนแล้ว เมื่อเหล่าอำมาตย์มาถึง พวกเขาก็เที่ยวไปจนทั่ววิหาร แลเห็นเหล่าพระสาวกอยู่กันพร้อมหน้า จึงถามว่าใครเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน พระสาวกเหล่านั้นจึงบอกแก่พวกเขาว่า พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเสียแล้ว เหล่าอำมาตย์จึงถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า พระโอวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้ยังมีอยู่หรือไม่ พระสาวกเหล่านั้นกล่าวว่า มีอยู่ อุบาสก คือพึงตั้งอยู่ในพระรัตนตรัย พึงสมาทานศีล ๕ พึงเข้าอยู่จำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ พึงให้ทาน พึงปฏิบัติธรรม

    อำมาตย์เหล่านั้นครั้นได้ฟังแล้วพากันบวชทั้งหมด เว้นแต่อำมาตย์ผู้เป็นพระเจ้าหลานเธอนั้น อำมาตย์ผู้เป็นพระเจ้าหลานเธอ ถือ เอาบริโภคธาตุ (ต้นโพธิ์ บาตรและจีวร เป็นต้น ชื่อว่า บริโภคธาตุ) มุ่งหน้ากลับไปยังแคว้นกัฏฐวาหนะ พระเจ้าหลานเธอนี้ถือเอาธมกรก (หม้อกรองน้ำ) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า และพาพระเถระรูปหนึ่งผู้ทรงธรรมและวินัยไปยังพระนครโดยลำดับ ได้กราบทูลพระราชาว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลกและเสด็จปรินิพพานแล้ว ได้กราบทูลถึงโอวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้ พระราชาเสด็จเข้าไปหาพระเถระฟังธรรมแล้วรับสั่งให้สร้างวิหาร ประดิษฐานพระเจดีย์ ปลูกต้นโพธิ์ ทรงดำรงอยู่ในพระรัตนตรัย และ ศีล ๕ เป็นนิจ ทรงเข้าอยู่จำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ทรงให้ทาน ทรงดำรงอยู่ตราบเท่าอายุแล้วไปยังบังเกิดในกามาวจรเทวโลก แม้อำมาตย์ ๑๖,๐๐๐ คน ก็พากันบวช แล้วมรณภาพเยี่ยงปุถุชน ยังไม่ได้มรรคผลอันใด แล้วได้ไปเกิดเป็นบริวารของพระราชาผู้เป็นเทวดานั้นนั่นเอง

    สมัยพระสมณโคดมพุทธกาล

    เมื่อเวลาผ่านไปพุทธันดรหนึ่ง ในภัทรกัป สมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรายังไม่ทรงอุบัติ พระราชาและอำมาตย์เหล่านั้นที่บังเกิดเป็นเทวดาเสวยสุขอยู่ในเทวโลกก็ได้จุติลงมาเกิดในโลกมนุษย์

    พระราชาและอำมาตย์เหล่านั้นที่บังเกิดเป็นเทวดาเสวยสุขอยู่ในเทวโลกก็ได้จุติจากเทวโลก

    พระราชาเกิดเป็นบุตรของปุโรหิตของพระเจ้ามหาโกศลผู้เป็นพระชนกของพระเจ้าปเสนทิ มีชื่อว่า พาวรี ประกอบด้วย มหาปุริสลักษณะ ๓ ประการ ได้เล่าเรียนวิชาพราหมณ์จนจบไตรเทพ ครั้นเมื่อบิดาล่วงลับไปก็ได้ดำรงตำแหน่งปุโรหิตแทน

    ส่วนอำมาตย์ผู้ใหญ่ ๑๖ คนนั้น ในภพสุดท้ายนี้ หนึ่งในนั้นก็ถือปฏิสนธิในครอบครัวพราหมณ์ในกรุงสาวัตถี บิดามารดาได้ตั้งชื่อว่า ภัทราวุธะ และอำมาตย์ผู้ใหญ่ที่เหลืออีก ๑๕ คน และอำมาตย์ที่เป็นบริวารอีก ๑๖,๐๐๐ คน ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ที่กรุงสาวัตถีนั้นนั่นเอง

    ท่านภัทราวุธะเมื่อมีอายุพอจะศึกษาศิลปวิทยาแล้ว บิดามารดาจึงนำไปฝากเป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวนศิษย์ ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรี ซึ่งท่านและศิษย์ผู้ใหญ่อีก ๑๕ คนนั้นต่างก็มีศิษย์คนละ ๑,๐๐๐ คน รวมทั้งสิ้น ๑๖,๐๐๐ คน

    เมื่อพระราชามหาโกศลได้เสด็จสวรรคต พระเจ้าปเสนทิจึงได้อภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ พาวรีพราหมณ์ก็ได้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทินั้นอีก พระราชาได้พระราชทานสิ่งของที่พระชนกพระราชทานไว้ และสมบัติอื่นแก่พาวรีปุโรหิตเป็นอันมาก พระราชานั้นเมื่อยังทรงพระเยาว์ ก็ได้เรียนศิลปะในสำนักของพาวรีปุโรหิตเหมือนกัน

    พาวรีปุโรหิตออกบวช

    ลำดับนั้น พาวรีได้ทูลแด่พระราชาว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จักบวช พระราชาตรัสว่า ท่านอาจารย์ เมื่อท่านดำรงอยู่ก็เหมือนบิดาของข้าพเจ้ายังอยู่ ท่านอย่าบวชเลย พาวรีทูลว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จักบวชแน่พระเจ้าข้า พระราชาเห็นว่าไม่ทรงสามารถห้ามได้ จึงทรงขอร้องว่า ขอท่านจงบวชอยู่ในพระราชอุทยานนี้เถิด ข้าพเจ้าจะได้เห็นทุกเย็นและเช้า อาจารย์พร้อมด้วย ศิษย์ ๑๖ คน กับบริวารอีก ๑๖,๐๐๐ คน ได้บวชเป็นดาบสอยู่ในพระราชอุทยาน พระราชาทรงบำรุงด้วยปัจจัย ๔ เสด็จไปทรงอุปัฏฐากอาจารย์นั้น ทุกเวลาเย็นและเวลาเช้า

    พราหมณ์พาวรีย้ายสำนักออกไปนอกพระนคร

    อยู่มาวันหนึ่งศิษย์ทั้งหลายกล่าวกะอาจารย์ว่า การอยู่ใกล้พระนครมีเครื่องพัวพันมาก ท่านอาจารย์เราไปหาโอกาสที่ไม่มีชนรบกวนเถิด ชื่อว่าการอยู่ในเสนาสนะอันสงัด เป็นประโยชน์มากแก่บรรพชิตทั้งหลาย อาจารย์ รับว่า ดีละ จึงไปทูลพระราชา พระราชาตรัสห้ามถึง ๓ ครั้งก็ไม่สามารถจะห้ามได้ จึงพระราชทานกหาปณะ ๒๐๐,๐๐๐ กหาปณะ รับสั่งกะอำมาตย์ทั้ง หลายว่า พวกเจ้าทรงสร้างอาศรมถวาย ในที่ที่คณะฤๅษีปรารถนาจะอยู่เถิด แต่นั้นอาจารย์พร้อมด้วยชฏิล ๑๖,๐๐๐ เป็นบริวาร ได้รับอนุเคราะห์จากพวก อำมาตย์จึงออกจากอุตตรชนบท มุ่งหน้าไปทักษิณชนบท

    ครั้นเมื่อพาหมู่คณะเดินทางมาถึงบริเวณใกล้พรมแดนใน ระหว่างสองแคว้น คือ แคว้นอัสสกะและแคว้นมุฬกะซึ่งเป็นภุมิประเทศที่ แม่น้ำโคธาวารีแยกออกเป็นสองสาย แล้วมาบรรจบกันอีกครั้งหนึ่ง เกิดเป็นเกาะกว้างยาวประมาณ ๓ โยชน์ เกาะทั้งหมดปกคลุมไปด้วยป่ามะขวิด เมื่อก่อน ณ บริเวณนั้นสรภังคดาบสเป็นต้นได้อาศัยอยู่

    อาจารย์เห็นเช่นนั้นแล้วจึงประกาศแก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า ประเทศนี้เป็นที่อยู่ของสมณะมาก่อน ประเทศนี้สมควรแก่นักบวช พวกอำมาตย์จึงได้ให้ทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ แก่พระเจ้าอัสสกะ อีก ๑๐๐,๐๐๐ ให้แก่พระเจ้ามุฬกะ เพื่อการครอบครองถือเอาภูมิประเทศนั้น พระราชาทั้งสองนั้นได้พระราชทานที่บริเวณเกาะนั้นและบริเวณอื่นประมาณ ๒ โยชน์ รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๕ โยชน์ ซึ่งอยู่ในระหว่างเขตรัฐสีมาของพระราชาเหล่านั้น พวกอำมาตย์ก็ได้สร้างอาศรม ณ ที่นั้นแล้วและให้นำทรัพย์มาจากกรุงสาวัตถีมาจัดตั้งเป็นโคจรคามเสร็จแล้วพากันกลับไป

    พาวรีพราหมณ์และเหล่าศิษย์ ทั้ง ๑๖,๐๑๖ คนก็เลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยการเที่ยวภิกขาและผลไม้ ต่อมาก็ได้มีชาวบ้านซึ่งเลื่อมใสในวัตรของพราหมณ์ เข้ามาปลูกสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยอยู่บนที่ดินของพราหมณ์เหล่านั้น โดยได้รับอนุญาตจากพวกพราหมณ์ เกิดเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น ชาวบ้านที่อาศัยพราหมณ์พาวรีนั้นก็เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยผลอันเกิดจากการกสิกรรม ครั้นครบรอบปีเหล่าชาวบ้านก็รวบรวมเงินจากแต่ละครอบครัวเพื่อเป็นส่วยให้แก่พระราชา และถือเอาส่วยนั้นไปเฝ้าพระเจ้าอัสสกะ ทูลกับพระราชาว่า ขอพระองค์ทรงรับส่วยนี้เถิด พระเจ้าอัสสกะตรัสว่า เราไม่รับ พวกท่านจงนำไปถวายอาจารย์เถิด พวกชาวบ้านก็นำส่วย ๑๐๐,๐๐๐ นั้นมามอบต่อพาวรีพราหมณ์

    พาวรีพราหมณ์กล่าวว่า ถ้าเราต้องการเงินทอง ก็ไม่พึงสละทรัพย์สินมากมายของเราออกบวช พวกท่านจงรับเอากหาปณะของพวกท่านคืนไปเสีย พวกชาวบ้านบอกว่า พวกเราจะไม่ยอมรับทรัพย์ที่พวกเราบริจาคแล้วอีก ยิ่งไปกว่านั้นพวกเราจะนำทรัพย์มาให้ท่านทำนองนี้ทุก ๆ ปี ถ้าท่านไม่รับเพื่อประโยชน์ตนเองละก็ ขอท่านจงรับกหาปณะเหล่านี้ไว้ให้ทานก็แล้วกัน พราหมณ์จึงยอมรับทรัพย์ดังกล่าวไว้ โดยเก็บไว้ในเพื่อการให้ทานแก่ผู้กำพร้า คนเดินทางไกล วณิพกและยาจก

    อาจารย์นั้นกระทำมหายัญคือ คือการให้ทานจากทรัพย์ดังกล่าวเป็นประจำทุก ๆ ปี ปีละครั้งอย่างนี้ กิติศัพท์การทำมหาทานของพราหมณ์พาวรีก็กระจายไปทั่วชมพูทวีป

    พราหมณ์พาวรีโดนพราหมณ์ผู้มาขอรับทานสาปแช่ง

    ครั้งนั้น ในหมู่บ้านทุนนวิตถะ ในแคว้นกลิงคะ นางพราหมณีสาว ผู้เป็นภริยาของพราหมณ์เฒ่าผู้เกิดมาในวงศ์ของชูชกพราหมณ์ ได้ทราบข่าวการทำทานดังกล่าวของพราหมณ์พาวรี จึงลุกขึ้นเตือนพราหมณ์ผู้เป็นสามีว่า เขาว่า พาวรีกำลังให้ทาน ท่านจงไปรับบริจาคเงินทองมาจากที่นั้น พราหมณ์นั้นถูกพราหมณีพูดดังนั้นก็ไม่อาจทนอยู่ได้จึงได้ออกเดินทางไปยังสำนักของพราหมณ์พาวรี ครั้นเมื่อไปถึง ก็เป็นวันที่พราหมณ์พาวรีได้กระทำมหาทานไปเสียแล้วตั้งแต่เมื่อวันวาน ซึ่งเมื่อให้ทานแล้ว พราหมณ์พาวรีก็เข้าบรรณศาลากำลังนอนนึกถึงทานที่ตนได้กระทำไปนั้น

    ครั้นเข้าไปถึงก็พูดว่า “ท่านพราหมณ์ โปรดให้ทานแก่ข้าเถิด ท่านพราหมณ์โปรดให้ทานแก่ข้าเถิด”

    พาวรีพราหมณ์กล่าวว่า “ท่านพราหมณ์ ท่านมาไม่ถูกเวลา เราให้ทานแก่พวกยาจกที่มาถึงไปแล้ว บัดนี้ไม่มีกหาปณะดอก”

    พราหมณ์พูดว่า “ท่านพราหมณ์ ข้าไม่ต้องการกหาปณะมากมายเลย ข้าขอเพียง ๕๐๐ กหาปณะ ”

    พาวรีพราหมณ์ “ท่านพราหมณ์ ๕๐๐ กหาปณะก็ไม่มี เมื่อถึงเวลาให้ทานครั้งหน้า ท่านจึงได้”

    พราหมณ์พูดว่า “ก็เวลาท่านให้ทาน ข้าจักมาได้อย่างไร” แล้วจึงทำกลอุบายเพื่อให้พาวรีพราหมณ์เกิดความกลัว โดยก่อทรายเป็นสถูปใกล้ประตูบรรณศาลา โรยดอกไม้สีแดงไปรอบ ๆ ทำปากขมุบ ขมิบเหมือนบ่นมนต์แล้วพูดว่า “เมื่อเราขอ แล้วท่านไม่ให้ไซร้ ในวันที่ ๗ ศีรษะของท่านจะแตก ๗ เสี่ยง”

    พราหมณ์พาวรีฟังคำของพราหมณ์นั้นแล้ว ก็เกิดสะดุ้งหวาดกลัว เป็นผู้มีทุกข์ซูบซีด ไม่บริโภคอาหาร เมื่อเป็นผู้เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้ ใจก็ไม่ยินดีในการบูชาเทพและเทวดาทั้งหลาย

    เทวดาบอกปริศนาธรรม

    เทวดาผู้สถิตอยู่ ณ บรรณศาลานั้น เห็นพราหมณ์พาวรีมีทุกข์สะดุ้งหวาดหวั่น จึงเข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้วได้กล่าวว่า พราหมณ์นั้นไม่รู้จักศีรษะ เป็นผู้หลอกลวง ต้องการทรัพย์ ไม่มีความรู้ในในเรื่อง ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ฯ

    พราหมณ์พาวรีถามว่าบัดนี้ ท่านรู้จักข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอก ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป แก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะฟังคำของท่าน ฯ

    เทวดาตอบว่าแม้เราก็ไม่รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป เราไม่มีความรู้ในธรรมทั้ง ๒ นี้ ปัญญาเป็นเครื่องเห็นธรรมอันเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ย่อมมีเฉพาะในพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯ

    พราหมณ์พาวรีถามว่า ในปัจจุบันนี้ มีใครเล่าในปฐพีมณฑลนี้ที่รู้ ขอท่านเทวดาจงบอกบุคคลผู้รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไปนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด ฯ

    เทวดาบอกเรื่องพระพุทธเจ้าทรงอุบัติ

    เทวดาตอบว่าดูกรพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคผู้ศากยบุตร ลำดับพระวงศ์ของพระเจ้าโอกกากราช มีพระรัศมีรุ่งเรือง เป็นนายกของโลกเสด็จออกผนวชจากพระนครกบิลพัสดุ์ เป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ทรงบรรลุอภิญญาและทศพลญาณครบถ้วน ทรงมีพระจักษุในสรรพธรรม ทรงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งกรรมทั้งปวง ทรงน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้แล้วในโลก มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรม ท่านจงไปทูลถามพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด พระองค์จักตรัสพยากรณ์ข้อความนั้นแก่ท่าน ฯ

    พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า สัมพุทโธ ก็เป็นผู้มีใจเฟื่องฟู ความโศกสลดก็เบาบางลงไป และเกิดปีติอันท่วมท้น มีใจชื่นชมเบิกบานเกิดความโสมนัส จึงถามเทวดานั้นว่า พระโลกนาถประทับอยู่ในคามนิคมหรือในชนบทไหน ข้าพเจ้าจะไปนมัสการพระบรมศาสดาได้ในที่ใด ฯ

    เทวดาตอบว่าพระชินเจ้าผู้ศากยบุตร ทรงมีพระปัญญามาก มีพระปัญญาประเสริฐกว้างขวาง ทรงปราศจากธุระ หาอาสวะมิได้ องอาจกว่านระ ทรงรู้ธรรมเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ประทับอยู่ในมณเฑียรของชนชาวโกศลในพระนครสาวัตถี ฯ

    พราหมณ์พาวรีส่งศิษย์ ๑๖ คนไปเฝ้าพระศาสดา

    ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรี เรียกพราหมณ์ทั้งหลายซึ่งเป็นศิษย์มาสั่งว่า ดูกรมาณพทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมาเถิด เราจักบอกแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังคำของเรา บัดนี้ พระสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ท่านทั้งหลายจงรีบไปเมืองสาวัตถี เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าผู้อุดมกว่าสัตว์เถิด ฯ

    พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ทั้งหลายซักถามว่า ข้าแต่ท่านพราหมณ์ บัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายได้เห็นแล้วจะพึงรู้ว่า ท่านผู้นี้เป็นพระสัมพุทธเจ้าได้อย่างไรเล่า ขอท่านจงบอกสิ่งที่จะทำให้ข้าพเจ้าทั้งหลายจะได้รู้จักพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด ฯ

    พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า ก็มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการของมหาบุรุษ ที่ท่านทั้งหลายเล่าเรียนมามาแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่พราหมณาจารย์ทั้งหลายพยากรณ์ไว้ว่า ถ้ามหาปุริสลักษณะนั้น มีอยู่ในวรกายของพระมหาบุรุษใด พระมหาบุรุษนั้น จะเป็นได้ ๒ อย่างเท่านั้น คือ ถ้าพระมหาบุรุษนั้นอยู่ครองเรือน จะพึงเป็นพระบรมมหาจักรพรรดิ์ จะทรงมีชัยชนะทั่วปฐพีนี้ จะทรงปกครองโดยธรรม ด้วยไม่ต้องใช้อาชญาไม่ต้องใช้ศาตรา ถ้าออกบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม

    พราหมณ์พาวรีสั่งให้ศิษย์ถามปัญหา ๗ ข้อกับพระศาสดา

    เมื่อท่านทั้งหลายเห็นพระมหาบุรุษผู้ประกอบไปด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการดังนี้ ท่านทั้งหลายก็จงกล่าวถามในใจ ถึง ๑. ชาติ (อายุ) ๒. โคตร ๓. ลักษณะ ๔. มนต์ และ ๕. ศิษย์เหล่าอื่นอีก และถามถึงปริศนาธรรมเรื่อง ๖. ธรรมอันเป็นศีรษะ และ ๗. ธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ถ้าว่าท่านนั้นเป็นพระพุทธเจ้าจริงแท้แล้ว ท่านก็จักตอบปัญหาที่ท่านทั้งหลายกล่าวถามในใจ ด้วยวาจาได้ ฯ

    พราหมณ์มาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน คือ อชิตะ ๑ ติสสเมตเตยยะ ๑ ปุณณกะ ๑ เมตตคู ๑ โธตกะ ๑ อุปสีวะ ๑ นันทะ ๑ เหมกะ ๑ โตเทยยะ ๑ กัปปะ ๑ ชตุกัณณี ๑ ภัทราวุธะ ๑ อุทยะ ๑ โปสาลพราหมณ์ ๑ โมฆราช ๑ ปิงคิยะ ๑ ได้ฟังคำของพราหมณ์พาวรีแล้วก็ลาอาจารย์ กระทำประทักษิณแล้ว บ่ายหน้าต่อทิศอุดร มุ่งไปยังที่ตั้งแห่งแคว้นมุฬกะ เมืองมาหิสสติ

    ในคราวนั้น พราหมณ์ทั้ง ๑๖ คนได้เดินทางผ่านเมืองอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสะ เมืองวนนคร เมืองโกสัมพี เมืองสาเกต จนถึงเมืองสาวัตถี

    พระบรมศาสดาเสด็จออกจากกรุงสาวัตถีเพื่อบ่มอินทรีย์ของเหล่าพราหมณ์ให้แก่กล้า

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ศิษย์ของพาวรีพราหมณ์ทั้ง ๑๖ คน มาพร้อมด้วยมหาชนเป็นอันมาก ทรงพระดำริว่า อินทรีย์ของพราหมณ์เหล่านั้นยังไม่แก่กล้าเพียงพอ อีกทั้งถิ่นนี้ก็ยังไม่เป็นที่สบายเหมาะแก่พราหมณ์ทั้งหลาย ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่า ปาสาณกเจดีย์ในเขตแคว้นมคธเป็นที่สบายเหมาะแก่พราหมณ์เหล่านั้น ถ้าเราแสดงธรรมในที่นั้น มหาชนก็จักบรรลุธรรม อีกทั้งพวกพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อเดินทางผ่านเข้าไปยังเมืองต่าง ๆ ก็จะมีมหาชนตามมามากยิ่งขึ้นไปอีก ผู้บรรลุธรรมก็จักมีมากขึ้น จะเป็นประโยชน์อันมหาศาล

    ครั้นทรงพระดำริเช่นนั้นแล้ว จึงทรง เสด็จพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ออกจากกรุงสาวัตถีบ่ายพระพักตร์ไปยังกรุงราชคฤห์ ก่อนที่พวกพราหมณ์จะมาถึง พวกพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อก็มาถึงกรุงสาวัตถี เข้าไปสู่วิหาร เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ครั้นทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จออกจากเมืองสาวัตถีไปแล้ว ก็พากันเข้าไปถึงพระคันธกุฏี ได้เห็นรอยพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็แน่ใจว่า เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าแน่แล้ว เพราะจากลักษณะของรอยพระบาทเป็นรอยของผู้หมดกิเลสแล้ว เมื่อทราบดังนั้นแล้วจึงได้ออกเดินทางตามพระบรมศาสดาไป

    พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จเข้าสู่พระนครมีเสตัพยนครและกรุงกบิล พัสดุ์ เมืองกุสินารา เมืองมันทิระ เมืองปาวาโภคนคร เมืองเวสาลี เมืองราชคฤห์ เป็นต้นตามลำดับ หมู่พราหมณ์ทั้ง ๑๖ คนก็ได้เดินทางพร้อมทั้งศิษย์ ๑๖,๐๐๐ คน ผ่านตามเมืองที่พระบรมศาสดาเสด็จผ่าน ผ่านเข้าเมืองใด มหาชนในเมืองเหล่านั้นก็ออกเดินทางติดตามมาอีกเป็นอันมากเพื่อจะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา

    จนกระทั่งเสด็จไปถึงปาสาณกเจดีย์ แขวงเมืองราชคฤห์ ก็ทรงหยุดประทับอยู่ ณ ที่นั้น พวกเหล่าพราหมณ์และมหาชนก็ได้ตามพระบรมศาสดาจนถึงปาสาณกเจดีย์ ครั้นได้ฟังว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ ณ ที่นี้ ก็เกิดปิติ ปราโมทย์พากันขึ้นภูเขาไปสู่พระเจดีย์นั้น เหมือนบุคคลผู้กระหายน้ำย่อมยินดีต่อน้ำเย็น เหมือนพ่อค้ายินดีต่อลาภใหญ่ และเหมือนบุคคลถูกความร้อนแผดเผายินดีต่อร่มเงา ฉะนั้น

    ก็ในขณะนั้นพระผู้มีพระภาค แวดล้อมด้วยหมู่พระภิกษุสงฆ์ ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่ ประหนึ่งราชสีห์บันลือเสียงกังวานกระหึ่มอยู่ในป่า

    อชิตมาณพทูลถามปัญหาโดยถามในใจ

    อชิตมาณพได้เห็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระรัศมีเรื่อเรืองเหลืองอ่อน ถึงความบริบูรณ์ดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญ ลำดับนั้นอชิตมาณพได้เห็นพระมหาปุริสลักษณะทั้ง ๓๒ ประการในพระกายของพระผู้มีพระภาคนั้นแล้วก็มีความร่าเริง ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ทูลถามปัญหาในใจว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกอ้าง (ชาติ) อายุ โคตร พร้อมทั้งลักษณะ และขอได้ตรัสบอกการถึงความสำเร็จในมนต์ทั้งหลายแห่งอาจารย์ของข้าพระองค์เถิด พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของข้าพระองค์ย่อมบอกมนต์กะศิษย์มีประมาณเท่าไร พระเจ้าข้า ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ก็พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของท่านนั้น มีอายุร้อยยี่สิบปี ชื่อพาวรีโดยโคตรลักษณะในกายของพราหมณ์พาวรีนั้นมี ๓ ประการ พราหมณ์พาวรีนั้นเรียนจบไตรเพท ในตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ คือ คัมภีร์อิติหาสพร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุศาสตร์และเกฏุภศาสตร์ ถึงซึ่งความสำเร็จในธรรมแห่งพราหมณ์ของตน ย่อมบอกมนต์กะมาณพ ๕๐๐ ฯ

    อชิตมาณพทูลถามว่าข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ขอพระองค์จงบอกลักษณะทั้งหลายของพราหมณ์พาวรี ขอทรงบอกเพื่อมิให้ข้าพระองค์มีความสงสัยเถิด ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีนั้น ย่อมปกปิด หน้าผากของตนด้วยลิ้นได้ มีขนขึ้นเป็นรูปอุณณาโลมชาติในระหว่างคิ้ว มีคุยหฐานอยู่ในฝัก ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด ฯ

    มหาชนทั้งหลาย ไม่ได้ยินเสียงใครที่ถามปัญหานั้นเลย เมื่อได้ฟังคำตอบที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แล้ว เกิดความพิศวง มีความโสมนัสประนมอัญชลี แล้วสรรเสริญว่า พระผู้มีพระภาคเป็นอะไรหนอ เป็นเทวดาหรือเป็นพรหม หรือเป็นท้าวสุชัมบดีจอมเทพ จึงได้ทราบถึงปัญหาอันมีผู้ถามในใจ ฯ

    อชิตมาณพ ครั้นได้สดับการพยากรณ์ปัญหา ๕ ข้อแล้ว เมื่อจะทูลถาม ปัญหาสองข้อที่เหลือจึงกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ท่านพราหมณ์พาวรีถามถึงธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ขอพระองค์ตรัสพยากรณ์ข้อนั้นกำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ผู้เป็นพราหมณ์เสียเถิด ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ท่านจงรู้เถิดว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ วิชชาประกอบด้วยศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ ชื่อว่าเป็นธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป

    เพราะอวิชชาเป็นความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ เป็นศีรษะแห่งสังสารวัฏ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ

    อนึ่ง เพราะอรหัตมรรควิชชา (วิชชาในอรหัตมรรค) ประกอบ ด้วย ศรัทธาสติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ อันเกิดร่วมกับตนยังศีรษะให้ตกไป เพราะเข้าถึงธรรมเป็นศีรษะด้วยความตั้งอยู่ในรสอันเดียวกันของอินทรีย์ทั้งหลาย

    ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วิชชาเป็นธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป.

    ลำดับนั้น อชิตมาณพมีความโสมนัสเป็นอันมาก เบิกบานใจ กระทำหนังเสือเหลืองเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลงแทบพระบาทยุคลด้วยเศียรเกล้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ พราหมณ์พาวรี พร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลายขอไหว้พระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาค ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลาย จงเป็นผู้ถึงความสุขเถิด ครั้นตรัสแล้วจึงทรงปวารณาว่า จงถามความสงสัยทุก ๆ อย่างของพราหมณ์พาวรี หรือของท่านเถิด

    อชิตมาณพครั้นเห็นพระพุทธองค์ประทานพระวโรกาสให้ทูลถามปัญหาที่สงสัยเช่นนั้น ก็นั่งลงประนมอัญชลี ทูลถามปัญหาต่อพระตถาคต ณ ที่นั้น ตามที่ปรากฎในอชิตมาณวกปัญหานิทเทส

    ครั้นเมื่อจบพระคาถาที่พระพุทธองค์ตรัสตอบปัญหา อชิตมาณพ พร้อมด้วยเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ คนก็บรรลุพระอรหัตเป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาค และโสดาปัตติมรรคก็บังเกิดขึ้นแก่เทวดาและมนุษย์หลายพัน

    ในบรรดาศิษย์ทั้ง ๑๖ คนนั้น โมฆราชมาณพถือตัวว่าเป็นผู้มีความรู้ยิ่งกว่าทุกคน ท่านคิดว่า อชิตมาณพนี้เป็นหัวหน้าของศิษย์ทุกคน เราไม่ควรถามปัญหาก่อน เพราะความเคารพในตำแหน่งผู้นำของอชิตมาณพนั้น ท่านจึงไม่ถามก่อน ครั้นเมื่ออชิตมาณพนั้นถามปัญหาแล้ว จึงถามปัญหาต่อพระศาสดาเป็นคนที่สอง

    พระศาสดาทรงดำริว่า โมฆราชมาณพเป็นคนถือตัว ทั้งญาณของเขาก็ยังไม่แก่กล้าเต็มที่ ควรจะต้องทำให้ความถือตัวของเขาค่อย ๆ หมดไป จึงตรัสว่า โมฆราชเธอจงคอยก่อน ให้คนอื่น ๆ ถามปัญหาก่อน

    โมฆราชมาณพนั้น ครั้นถูกห้ามโดยพระศาสดาเช่นนั้น ก็คิดว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมานี้ เราเข้าใจว่า ไม่มีคนที่จะเป็นบัณฑิตเกินกว่าเรา ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ถ้าไม่ทรงทราบความในใจ ย่อมไม่ตรัส พระศาสดาคงจักทรงเห็นโทษในการถามของเราเป็นแน่ เมื่อคิดได้ดังนั้นจึงนิ่งเสีย

    จากนั้น ติสสเมตเตยยพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๒

    จากนั้น ปุณณกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๓

    จากนั้น เมตตคูพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๔

    จากนั้นโธตกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๕

    จากนั้นอุปสีวพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๖

    จากนั้นนันทพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๗

    จากนั้นเหมกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๘

    จากนั้นโตเทยยพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๙

    จากนั้นกัปปพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๐

    จากนั้นชตุกัณณิกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๑

    เมื่อจบพระคาถาที่พระพุทธองค์ตรัสตอบปัญหาแก่พราหมณ์แต่ละท่านนั้น พราหมณ์ท่านนั้นพร้อมด้วยเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ คนก็บรรลุพระอรหัตเป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาคอยู่

    ภัทราวุธะทูลถามปัญหาของตน

    จากนั้นก็ถึงลำดับของภัทราวุธพราหมณ์ เป็นลำดับที่ ๑๒ ภัทราวุธะเมื่อจะทูลถามความสงสัยของตน จึงถามปัญหาว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ข้าพระองค์ได้ฟังพระองค์ผู้ไม่ใคร่กาม จึงมาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ผู้ล่วงห้วงน้ำคือกิเลสเสียได้ ไม่มีกาม

    ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระเนตรคือพระสัพพัญญุตญาณเกิดพร้อมแล้ว ขอพระองค์ตรัสบอกทางสันติ

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จงตรัสบอกทางสันตินั้นแก่ข้าพระองค์ตามจริงเถิด เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงมีเดช ครอบงำกามทั้งหลายเสียแล้วด้วยเดช เหมือนพระอาทิตย์มีเดช คือ รัศมี ครอบงำปฐพีด้วยเดชไปอยู่ในอากาศ ฉะนั้น

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีปัญญาดังแผ่นดินnขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมเครื่องละชาติ ละชรา ณ ที่นี้ ที่ข้าพระองค์ควรจะรู้แจ้ง แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยเถิด ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า

    ดูกรชตุกัณณี

    ท่านได้เห็นซึ่งเนกขัมมะโดยความเป็นธรรมอันเกษมแล้ว จงนำความกำหนัดในกามทั้งหลายเสียให้สิ้นเถิด

    อนึ่ง กิเลสชาติเครื่องกังวลที่ท่านยึดไว้แล้ว (ด้วยอำนาจตัณหาและทิฐิ) ซึ่งควรจะปลดเปลื้องเสีย อย่ามีแล้วแก่ท่าน

    กิเลสเครื่องกังวลใดได้มีแล้วในกาลก่อน ท่านจงทำกิเลสเครื่องกังวลนั้นให้เหือดแห้งเสียเถิด กิเลสเครื่องกังวลในภายหลัง อย่าได้มีแก่ท่าน

    ถ้าท่านจักไม่ถือเอากิเลสเครื่องกังวลในท่ามกลางไซร้ ท่านจักเป็นผู้สงบเที่ยวไป

    ดูกรพราหมณ์

    เมื่อท่านปราศจากความกำหนัดในนามและรูปแล้วโดยประการทั้งปวง อาสวะทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้ไปสู่อำนาจแห่งมัจจุราชก็ย่อมไม่มีแก่ท่าน ฯ

    จบเทศนาท่านก็บรรลุพระอรหัตพร้อมกับชฎิล ๑,๐๐๐ คน บริวารของตน หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผม และหนวดของ ภัทราวุธพราหมณ์และเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ หายไปแล้ว พร้อมด้วยการบรรลุอรหัต ภัทราวุธพราหมณ์และเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ นั้น เป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาค
     
  16. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,801
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    images.jpg.1347392894284.jpg

    พระมหาโกฏฐิตเถระ เอตทัคคมหาสาวกผู้บรรลุปฏิสัมภิทา

    การที่ท่านพระมหาโกฏฐิตเถระ ท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดาให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้บรรลุปฏิสัมภิทา นั้นก็เนื่องด้วยเหตุ ๒ ประการคือ โดยเป็นผู้ช่ำชองชำนาญ คือ พระมหาสาวกองค์นั้น ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องนั้นๆ คือเรื่องปฏิสัมภิทาทั้งหลาย เป็นพิเศษ และอีกเหตุหนึ่งก็คือเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้

    บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

    พระเถระรูปนี้ ในอดีตก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านได้บังเกิดในตระกูลมีทรัพย์มากในหังสวดีนคร ครั้นเมื่อเติบใหญ่ มารดาบิดาล่วงลับไปแล้ว ก็สืบมรดกปกครองทรัพย์นั้นแทน วันหนึ่งในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรม ท่านได้มองเห็นชาวหังสวดีนคร ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น ซึ่งกำลังเดินไปในทิศอันเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า ท่านจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกับคนเหล่านั้นด้วย เมื่อได้เข้าเฝ้าแล้วท่านก็ได้เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าพวกภิกษุผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ท่านจึงคิดว่า ทำอย่างไรเราจะพึงเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าพวกภิกษุผู้บรรลุปฏิสัมภิทาเหมือนดังภิกษุรูปนี้บ้าง ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าสักพระองค์หนึ่ง ดังนั้นในเวลาจบเทศนาของพระศาสดา เมื่อบริษัทลุกไปแล้ว จึงเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลนิมนต์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พรุ่งนี้ขอนิมนต์รับภิกษาที่เรือนของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า

    พระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว เขาถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ทำประทักษิณแล้ว กลับไปยังเรือนของตน เอาของหอมและดอกไม้เป็นต้น ประดับที่ที่ประทับนั่งของพระพุทธเจ้า และที่นั่งของภิกษุสงฆ์ตลอดทั้งคืนยังรุ่งแล้ว ให้คนจัดแจงขาทนียะ (ของควรเคี้ยว, ของขบของเคี้ยว ได้แก่ผลไม้ต่างๆ และเหง้าต่างๆ เช่น เผือกมัน เป็นต้น) และโภชนียะ (ของควรบริโภค,ของสำหรับฉัน ได้แก่ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ เป็นต้น) ณ ที่อยู่ของตน

    ครั้นรุ่งเช้า ได้นิมนต์พระศาสดา ซึ่งมีภิกษุแสนรูปเป็นบริวารให้ฉันข้าวสาลีอันมีกลิ่นหอม พร้อมทั้งสูปะและพยัญชนะอันเป็นบริวารของยาคูและของเคี้ยวนานาชนิด ในเวลาเสร็จภัตรกิจ คิดว่าเราจะขอปรารถนาตำแหน่งให้ยิ่งใหญ่แล แต่เราไม่ควรถวายทานเพียงวันเดียวเท่านั้น ควรถวายทานตลอด ๗ วันตามลำดับเพื่อปรารถนาตำแหน่งนั้น แล้วจักปรารถนา

    เขาได้ถวายมหาทานตลอด ๗ วัน โดยทำนองนั้นนั่นแล ในเวลาเสร็จภัตรกิจ ให้คนเปิดโรงเก็บผ้าแล้ววางผ้าเนื้อละเอียดชั้นเยี่ยมซึ่งเพียงพอทำเป็นไตรจีวรได้ ณ ที่บาทมูลของพระพุทธเจ้า และได้ถวายไตรจีวรแก่ภิกษุแสนรูปแล้ว เข้าไปใกล้พระตถาคตเจ้าหมอบลงที่บาทมูลของพระศาสดาแล้วตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปใดที่พระองค์ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าพวกภิกษุผู้ปฏิสัมภิทาในวันที่ ๗ นับแต่วันนี้ แม้ข้าพระองค์ก็พึงเป็นเหมือนภิกษุรูปนั้นบ้างคือ ขอให้ได้บวชในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้จะทรงอุบัติในอนาคตกาลแล้ว พึงเป็นผู้เลิศกว่าพวกภิกษุผู้บรรลุปฏิสัมภิทาเถิด พระศาสดาทรงทราบถึงความสำเร็จของเขา จึงทรงพยากรณ์ว่า

    ในอนาคตกาล คือในที่สุดแห่งแสนกัปแต่นี้ไป พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จักทรงอุบัติขึ้นในโลก ความปรารถนาของเธอ จักสำเร็จในพระศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแล

    ท่านได้ฟังพระพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว ก็เป็นผู้เบิกบาน มีจิตประกอบด้วยเมตตา บำรุงพระชินสีห์เจ้าตราบเท่าสิ้นชีวิต ในครั้งนั้น เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญา เพราะผลกรรมนั้นและเพราะการตั้งเจตน์จำนงไว้ เมื่อท่านละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้เสวยราชสมบัติ ในเทวโลก ๓๐๐ ครั้งได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ครั้ง และได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์โดยคณนานับมิได้ เพราะกรรมนั้นนำไป ท่านจึงเป็นผู้ถึงความสุขในทุกภพ ท่องเที่ยวไปแต่ในสองภพ คือในเทวดาและมนุษย์ ท่านเมื่อเกิดในภูมิมนุษย์ก็เกิดแต่ในสองสกุล คือสกุลกษัตริย์ และสกุลพราหมณ์ หาเกิดในสกุลอันต่ำทรามไม่นี้ เป็นผลแห่งกรรมที่สั่งสมไว้ดี

    กำเนิดเป็นโกฏฐิตพราหมณ์ในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

    ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านถือกำเนิดเป็นบุตรของพราหมณ์ ชื่ออัสสลายนะ กับนางพราหมณ์ชื่อจันทวดี ซึ่งเป็นตระกูลที่มีทรัพย์สมบัติมาก ในพระนครสาวัตถี เมื่อถึงคราวตั้งชื่อ มารดาบิดาได้ตั้งชื่อท่านว่า โกฏฐิตะ เมื่อเติบใหญ่ขึ้นก็เล่าเรียนไตรเพท จนถึงความสำเร็จในศิลปของพราหมณ์

    บิดาของท่านนั้นในคราวที่ท่านยังเป็นมาณพอายุเพียง ๑๖ ปี ก็ได้รับมอบหมายจากพวกพราหมณ์ผู้มาจากแคว้นต่างๆ ประมาณ ๕๐๐ คน ที่พักอาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถีด้วยกรณียกิจบางอย่าง ครั้งนั้นพราหมณ์เหล่านั้นได้คิดกันว่า พระสมณโคดมนี้ ทรงบัญญัติความบริสุทธิ์ทั่วไปแก่วรรณะทั้ง ๔ ใครหนอพอจะสามารถเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมในคำนั้นได้ ก็เห็นว่าอัสสลายนมาณพเป็นผู้ฉลาดในเวทางคศาสตร์ในตักกศาสตร์ของตนและของผู้อื่น ในนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ของตน ในประเภทแห่งอักษรสมัยของตน และในการพยากรณ์ทั้งหมด เขาคงสามารถจะเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมใน จึงมอบหมายหน้าที่นั้นให้แก่อัสสลายนมาณพ ซึ่งอัสสลายนมาณพนั้นก็รับคำด้วยความไม่เต็มใจโดยกล่าวว่า

    ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้ายอมไม่ได้แน่ ได้ทราบว่าพระสมณโคดมเป็นธรรมวาที ก็อันบุคคลผู้เป็นธรรมวาที ย่อมเป็นผู้ อันใครๆ จะพึงเจรจาโต้ตอบได้โดยยาก ข้าพเจ้าจะไม่สามารถจะเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมในคำนั้นได้ ก็แต่ว่า ข้าพเจ้าจักไปตามคำของท่านทั้งหลาย

    แต่ครั้นเมื่ออัสสลายนมาณพได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาค ก็เกิดความเลื่อมใส ในอัสสลายนสูตร ได้กล่าวว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อัสสลายนมาณพได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดม โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตจำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป

    จากนั้นมาเมื่ออัสสลายนมาณพได้มีครอบครัว ก็ได้สั่งสอนบุตรคือ โกฏฐิตะ ให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา วันหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระศาสดาฟังธรรมแล้ว ได้มีศรัทธาบวช โดยพระโมคคัลลานะ เป็นอาจารย์ พระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์ ในขณะที่กำลังอุปสมบทนั้น ท่านก็ตัดทิฏฐิพร้อมด้วยมูลรากเสียได้ในเมื่อกำลังปลงผม และเมื่อกำลังนุ่งผ้ากาสาวะ ก็ได้บรรลุอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔

    ความหมายตามพจนานุกรมพุทธศาสตร์ของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก

    ปฏิสัมภิทา ความแตกฉาน, ความรู้แตกฉาน, ปัญญาแตกฉาน มี ๔ คือ

    ๑. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ

    ๒. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม

    ๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุกติคือ ภาษา

    ๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ

    อัตถปฏิสัมภิทาปัญญาแตกฉานในอรรถ, ความแตกฉานสามารถอธิบายเนื้อความย่อของภาษิตโดยพิสดารและความเข้าใจที่สามารถคาดหมายผลข้างหน้าอันจะเกิดสืบเนื่องไปจากเหตุ

    ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม, เห็นคำอธิบายพิสดาร ก็สามารถจับใจความมาตั้งเป็นหัวข้อได้เห็นผลก็สืบสาวไปหาเหตุได้

    นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในภาษา คือเข้าใจภาษา รู้จักใช้ถ้อยคำให้คนเข้าใจ ตลอดทั้งรู้ภาษาต่างประเทศ

    ปฏิภาณปฏิสัมภิทาความแตกฉานในปฏิภาณได้แก่ไหวพริบคือ โต้ตอบปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันท่วงที หรือแก้ไขเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ฉับพลันทันการ

    ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

    พระเถระนั้น นับแต่เวลาที่ได้อุปสมบท และบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลายแล้ว ก็เป็นผู้ชำนาญเชี่ยวชาญ ในปฏิสัมภิทาญาณ มีปรีชาแตกฉานในอรรถ ธรรม นิรุตติและปฏิภาณ เมื่อเวลาเข้าไปหาพระมหาเถระผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายเพื่อถามปัญหาก็ดี หรือแม้เมื่อเข้าเฝ้าพระทศพลเพื่อทูลถามปัญหาก็ดี ก็ถามปัญหาเฉพาะในปฏิสัมภิทาเท่านั้น

    ครั้งนั้น พระศาสดาทรงกระทำมหาเวทัลลสูตร ให้เป็นอัตถุปปัติ (เหตุเกิดเรื่อง) ทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งแห่งภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บรรลุปฏิสัมภิทาญาณ โดยมีพระพุทธดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระมหาโกฏฐิตะเลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้บรรลุปฏิสัมภิทา

    ในมหาเวทัลลสูตรนั้นเป็นเรื่องของการถามปัญหาโดยท่านพระมหาโกฏฐิกะ และท่านพระสารีบุตรเป็นผู้ตอบ มีความโดยย่อว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นเวลาเย็น ท่านพระมหาโกฏฐิกะออกจากที่หลีกเร้นแล้วจึงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้ทักทายปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการทักทายปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.ท่านพระมหาโกฏฐิกะครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงถามท่านพระสารีบุตรในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

    เรื่องปัญญากับวิญญาณ
    เรื่องเวทนาสัญญาและวิญญาณ
    เรื่องประโยชน์แห่งปัญญาและเหตุเกิดสัมมาทิฏฐิ
    เรื่องภพและฌาน
    เรื่องอินทรีย์ ๕
    เรื่องปัจจัยเจโตวิมุติ
    ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวแก้ปัญหานี้แล้ว ท่านพระมหาโกฏฐิกะชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตร ฉะนี้แล

    พระอรรถกถาจารย์ได้พรรณนาความเป็นผู้มีปัญญามากของพระเถระไว้มีความโดยสรุปดังนี้

    จริงอยู่พระเถระ นั่งในที่พักกลางวันของตนแล้วตั้งปัญหาขึ้นเอง และถ้าจะตอบเสียเอง ท่านก็สามารถทำพระสูตรนี้ตั้งแต่เริ่มต้นให้จบได้ ก็แหละบางคนอาจตั้งปัญหาขึ้นได้ แต่ตัดสินไม่ได้ บางคนตัดสินได้ แต่ตั้งขึ้นไม่ได้ บางคนไม่ได้ทั้งสองอย่าง บางคนก็ได้ทั้งสองอย่าง ในคนเหล่านั้น พระเถระเป็นได้ทั้งสองอย่างทีเดียว เพราะเหตุไร เพราะมีปัญญามาก ก็เพราะอาศัยปัญญามาก จึงได้พระเถระหลายรูปที่บรรลุฐานะพิเศษในศาสนานี้คือ พระสารีบุตรเถระ พระมหากัจจายนะเถระ พระปุณณเถระ พระกุมารกัสสปเถระ พระอานนท์เถระ และพระเถระรูปนี้แหละ

    อันภิกษุที่มีปัญญาน้อย ไม่สามารถที่จะถึงปฏิสัมภิทาทั้งสี่อย่างได้เลย ต่อเป็นผู้มีปัญญามากจึงจะสามารถ เพราะความเป็นผู้มีปัญญามาก ดังที่ว่ามานี้ พระมหาโกฏฐิตเถระจึงถึงปฏิสัมภิทาที่แตกฉานทั้งสี่ประเภท ที่แน่นหนาไปด้วยนัยไม่มีที่สุดด้วยอำนาจการประกอบไว้ในเบื้องต้นด้วยการบรรลุ การสอบถามและการฟัง. เหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ ในตำแหน่งเลิศว่า "ภิกษุทั้งหลาย ตำแหน่งอันเลิศแห่งเหล่าภิกษุผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ซึ่งเป็นสาวกของเรานั้นคือ มหาโกฏฐิกะ" ดังนี้

    ด้วยความเป็นผู้มีปัญญามากดังกล่าวมานี้ พระเถระจึงตั้งปัญหาขึ้นก็ได้ ชี้ขาดก็ได้ ทั้งสองอย่างก็ได้. ขณะที่ท่านนั่งในที่พักกลางวัน ท่านเองได้ตั้งปัญหาทุกข้อขึ้นมาแล้ว ท่านเองจะวินิจฉัยพระสูตรนี้ (มหาเวทัลลสูตร) ตั้งแต่ต้นจนถึงจบก็ได้ แต่ท่านคิดว่า "ธรรมเทศนานี้งามเหลือเกิน จำเราจะเทียบเคียงกับท่านแม่ทัพธรรมผู้พี่ชายใหญ่ ต่อจากนั้น พระธรรมเทศนาที่เราสองคนใช้มติอย่างเดียวกัน ใช้อัธยาศัยอย่างเดียวกันตั้งไว้นี้ จะกลายเป็นธรรมเทศนาที่หนักแน่น ปานร่มหิน และจะกลายเป็นธรรมเทศนาที่มีอุปการะมาก เหมือนเรือที่จอดไว้ที่ท่า สำหรับผู้ต้องการข้ามห้วงน้ำทั้งสี่แห่ง และเหมือนรถเทียมม้าอาชาไนยพันตัว สำหรับผู้ต้องการไปสวรรค์." ดังนี้ จึงถามปัญหา
     
  17. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,801
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    %B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%A3%E0%B8%B0.jpg.1347370374761.jpg

    พระปิงคิยเถระ

    บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตระพุทธเจ้า

    ในกัปนับจากภัทรกัปนี้ไปแสนหนึ่ง พระพิชิตมารพระนามว่าปทุมุตระ ได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ได้ทรงทำให้มหาชนเป็นอันมาก ให้ข้ามพ้นวัฏสงสารไปได้

    ในสมัยนั้น ท่านได้เกิดเป็นบุตรเศรษฐีอยู่ในนครหงสวดี เพียบพร้อมแวดล้อมอยู่ด้วยกามคุณทั้งหลาย ในกาลนั้น ท่านอาศัยอยู่ในปราสาท ๓ หลัง ใช้สอยโภคสมบัติมากมาย แวดล้อมด้วยการฟ้อนรำขับร้องอยู่ในปราสาทนั้น นักดนตรีอันประกอบด้วยเครื่องประโคมอย่างดีมาประโคมท่าน หญิงทั้งปวงบำเรอท่าน

    สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตระ พร้อมด้วยภิกษุขีณาสพประมาณแสนรูป เสด็จดำเนินไปตามถนนด้วยกัน ทรงยังทิศทั้งปวงให้สว่างโชติช่วงด้วยพระรัศมี เมื่อพระองค์ผู้นำของโลกกำลังเสด็จ ไป กลองทั้งปวงยังดังก้องอยู่ รัศมีของพระองค์สว่างไสวดุจพระอาทิตย์อุทัยฉะนั้น ขณะนั้น พระรัศมีของพระศาสดาได้ส่องเข้าไปทางช่องหน้าต่าง ส่งแสงสว่างจ้าเข้าไปภายในเรือนของท่าน ท่านเห็นรัศมีของพระพุทธเจ้าแล้ว ได้กล่าวกะพวกสหายและบริวารว่า พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดเสด็จมาถึงถนนนี้เป็นแน่แล้ว ท่านจึงรีบลงจากปราสาท แล้วได้ไปสู่ถนน ถวายบังคมพระสัมพุทธเจ้า แล้วกราบทูลดังนี้ว่า ขอพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตระทรงอนุเคราะห์ข้าพระองค์ด้วยเถิด พระมุนีพระองค์นั้นพร้อมด้วยพระอรหันต์แสนรูปทรงรับนิมนต์

    ครั้นท่านนิมนต์พระสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้นำพระองค์มาสู่เรือนของตน อังคาสพระมหามุนีให้ทรงอิ่มหนำ ด้วยข้าวและน้ำในเรือนนั้น ท่าน ได้บำรุงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ด้วยการขับร้องและดนตรี พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ ประทับนั่งอยู่ภายในเรือน ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า ผู้ใดบำรุงเราด้วยดนตรี แลได้ถวายข้าวน้ำแก่เรา เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว

    คนผู้นี้จักเป็นผู้มีอาหารมากมาย มีเงิน มีโภชนะ เสวยรัชสมบัติผู้เดียวในทวีปทั้ง ๔ จักสมาทานศีล ๕ ยินดีในกรรมบถ ๑๐ ครั้นสมาทานแล้วก็ประพฤติ ยังบริษัทให้ศึกษา นางสาวแสนคน อันประดับประดาสวยงาม จักบรรเลงดนตรีบำเรอผู้นี้อยู่เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการบำรุง ผู้นี้จักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๓ หมื่นกัป จักได้เป็นจอมเทวดา เสวยรัชสมบัติในเทวโลก ๖๔ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๔ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้า ประเทศราชอันไพบูลย์โดยคณนานับมิได้

    ในแสนกัลปแต่กัลปนี้ พระ ศาสดามีพระนามชื่อว่าโคดม ซึ่งมีสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จัก เสด็จอุบัติในโลก ผู้นี้เข้าถึงกำเนิดใด คือเป็นเทวดาหรือมนุษย์ จักเป็น ผู้เล่าเรียน รู้จบไตรเทพ จักเที่ยวแสวงหาประโยชน์อันสูงสุดอยู่ใน แผ่นดิน ในกาลนั้น และภายหลัง เขาบวชแล้ว อันกุศลมูลตักเตือนแล้ว จักยินดียิ่งในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม ผู้นี้จักยังพระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมศากยบุตรให้โปรดปราน เผากิเลสทั้งหลาย แล้ว จักได้เป็นพระอรหันต์

    ท่านได้กระทำกรรมดีจนตลอดชีวิต ครั้นละจากภพมนุษย์นี้ไปแล้ว ก็เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิมนุษย์และเทวดา

    บุรพกรรมสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

    ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า ท่านเกิดเป็นศิษย์คนหนึ่ง ของอาจารย์ผู้เป็นช่างไม้คนหนึ่งชาวกรุงพาราณสี ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ทางด้านช่างไม้อย่างไม่มีใครเทียบในสำนักอาจารย์ของตน ช่างไม้นั้นมีศิษย์ ๑๖ คน ศิษย์คนหนึ่ง ๆ มีศิษย์คนละ ๑,๐๐๐ คน รวมอาจารย์และศิษย์เหล่านั้นเป็น ๑๖,๐๑๗ คนอย่างนี้ ทั้งหมดนั้นอาศัยอยู่ในกรุงพาราณสี เลี้ยงชีพอยู่ด้วยการเอาไม้ในแถบภูเขามาสร้างเป็นปราสาทชนิดต่าง ๆ แล้วผูกแพนำมาขายยังกรุงพาราณสีทางแม่น้ำคงคา หากพระราชาทรงต้องการก็จะสร้างปราสาทชั้นเดียว หรือเจ็ดชั้นถวาย หากไม่ทรงต้องการ ก็จะขายคนอื่นเลี้ยงบุตรภรรยา

    ลำดับนั้นวันหนึ่ง อาจารย์ของศิษย์เหล่านั้นคิดว่า เราไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการเป็นช่างไม้ได้ตลอดไป เพราะถึงคราวแก่ตัวลงก็จะทำงานนี้ได้ยาก จึงเรียกศิษย์ทั้งหลายมาบอกว่า นี่แน่ะท่านทั้งหลาย พวกท่านจงไปนำต้นไม้ที่มีแก่นน้อยมีน้ำหนักเบา เช่นต้นมะเดื่อเป็นต้นมาให้เรา ศิษย์เหล่านั้นรับคำแล้วต่างก็ ไปนำมา อาจารย์นั้นเอาไม้นั้นมาประดิษฐ์เป็นรูปนกแล้วใส่เครื่องกลไกเข้าไปภายในนกนั้น นกไม้ยนต์นั้นก็สามารถบินขึ้นสู่อากาศดุจพญาหงส์ เที่ยวไปเบื้องบนป่าแล้วบินลงเบื้องหน้าศิษย์ทั้งหลาย

    ลำดับนั้น อาจารย์จึงถามศิษย์ทั้งหลายว่า นี่แน่ะท่านทั้งหลาย เราทำพาหนะไม้เช่นนี้ได้ ก็จะสามารถยึดราชสมบัติได้ การเลี้ยงชีพด้วยศิลปะการเป็นช่างไม้ลำบาก ศิษย์เหล่านั้นจึงได้ดำเนินการตามที่อาจารย์สั่ง ครั้นสำเร็จแล้วจึงได้แจ้งให้อาจารย์ทราบ ลำดับนั้นอาจารย์จึงปรึกษากับพวกศิษย์ว่า เราจะยึดราชสมบัติที่ไหนก่อน พวกศิษย์ตอบว่า ยึดราชสมบัติกรุงพาราณสีซิ ท่านอาจารย์ อาจารย์กล่าวว่า อย่าเลยพวกท่าน ไม่ดีดอก เพราะแม้พวกเราจะยึดราชสมบัติกรุงพาราณสีได้ ก็จะไม่พ้นจากการพูดถึงอาชีพเดิมของเราคือช่างไม้ว่า เราเป็นพระราชาช่างไม้ เรามีพระยุพราชช่างไม้ ชมพูทวีปออกใหญ่โต เราไปที่อื่นกันเถิด

    ลำดับนั้น พวกศิษย์พร้อมด้วยลูกเมียขึ้นนกยนต์พร้อมด้วยอาวุธ มุ่งหน้าไปหิมวันตประเทศ เข้าไปยังนครหนึ่งในหิมวันต์ แล้วพากันบุกเข้าไปถึงพระราชมณเฑียรนั่นเองด้วยนกยนต์ ศิษย์เหล่านั้นก็สามารถยึดราชสมบัติในนครนั้นได้โดยง่าย จากนั้นจึงอภิเษกอาจารย์ไว้ในฐานะพระราชา ชื่อว่าพระเจ้ากัฏฐวาหนะ นครนั้นจึงได้ชื่อว่า กัฏฐวาหนคร

    พระราชากัฏฐวาหนะได้ทรงดำรงอยู่ในธรรม ทรงตั้งพระยุพราช และทรงตั้งศิษย์ทั้ง ๑๖ คน ไว้ในตำแหน่งอาจารย์ พระราชาทรงสงเคราะห์ศิษย์เหล่านั้นด้วยสังคหวัตถุ ๔ จึงเป็นแคว้นที่มั่งคั่ง สมบูรณ์และไม่มีอันตราย ทั้งชาวเมืองชาวชนบทนับถือพระราชาและข้าราช การเป็นอย่างยิ่ง พูดกันว่า พวกเราได้พระราชาที่ดี ข้าราชบริพารก็เป็นคนดี

    อยู่มาวันหนึ่ง พวกพ่อค้าจากมัชฌิมประเทศ นำสินค้ามาสู่กัฏฐวาหนนคร และนำเครื่องบรรณาการไปเฝ้าพระราชา พระราชาตรัสถามว่า พวกท่านมาจากไหน พวกพ่อค้าทูลว่า ขอเดชะ มาจากกรุงพาราณสีพระเจ้าข้า พระราชาตรัสถามเรื่องราวทั้งหมด ณ กรุงพาราณสีนั้นแล้วตรัสว่า พวกท่านจงนำมิตรภาพของเราไปทูลกับพระราชาของพวกท่านเถิด พ่อค้าเหล่านั้นรับพระราชดำรัสแล้ว พระราชาพระราชทานเสบียงแก่พวกพ่อค้าเหล่านั้น เมื่อถึงเวลาไปยังตรัสชี้แจงด้วยความใส่พระทัย

    พวกพ่อค้ากลับไปกรุงพาราณสีได้กราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาตรัสว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเราจะงดเก็บส่วยของพ่อค้าที่มาจากแคว้นกัฏฐวาหะ แล้วทรงให้ป่าวประกาศว่า พระราชากัฏฐวาหนะจงเป็นพระสหายของเรา พระราชาทั้งสองได้เป็นมิตรกันโดยไม่ได้เห็นกันเลย แม้พระราชากัฏฐวาหนะ ก็ทรงให้ป่าวประกาศไปทั่วนครว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ท่านจงงดเก็บส่วยของพ่อค้าที่มาจากกรุงพาราณสี และควร ให้เสบียงแก่พวกเขาด้วย

    ลำดับนั้นพระเจ้าพาราณสี ทรงส่งพระราชสารไปถวายแด่พระเจ้ากัฏฐวาหนะว่า หากมีอะไรแปลก ๆ อันสมควรเพื่อจะเห็น เพื่อจะฟังในชนบทนั้นเกิดขึ้นเพื่อให้ข้าพระองค์ได้เห็นและได้ฟังบ้าง ก็ขอได้โปรดพระราชทานพระกรุณาด้วย พระราชกัฏฐวาหนะทรงส่งพระ ราชสารตอบถวายพระราชาพาราณสีเหมือนกัน พระราชาทั้งสองทรงกระทำกติกากันอยู่อย่างนั้น

    คราวหนึ่ง พระราชากัฏฐวาหนะได้ผ้ากัมพลเนื้อละเอียดยิ่งนัก มีค่ามากเหลือเกิน มีสีคล้ายรัศมีพระอาทิตย์อ่อน ๆ พระราชากัฏฐวาหนะทอดพระเนตรเห็นผ้ากัมพลเหล่านั้น ทรงดำริว่า เราจักส่งไปให้สหายของเราจึงให้ช่างทำงา สลักผอบงา ๘ ใบ เอาผ้ากัมพลใส่ลงในผอบเหล่านั้น ผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ ยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอก ก็สามารถบรรจุลงในผอบงาใบเล็ก ๆ ได้ จากนั้นจึงให้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับครั่งทำก้อนครั่งกลมหุ้มข้างนอก เอาครั่งเป็นก้อนกลม ๘ ก้อนใส่ไว้ในสมุก เอาผ้าพันไว้ประทับตราแล้วทรงส่งอำมาตย์ไป รับสั่งว่า พวกท่านจงนำไปถวายพระราชาพาราณสี และทรงจารึกพระอักษรว่า บรรณาการนี้ อันหมู่อำมาตย์ท่ามกลางพระนครพึงสนใจ และส่งให้พวกอำมาตย์นำ ไปถวายแด่พระเจ้าพาราณสี

    พระเจ้าพาราณสีทรงอ่านคำจารึกแล้วรับสั่ง ให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ ทรงแกะตราประทับแล้วคลี่ผ้าพันออก เมื่อเปิดสมุกก็ทรงเห็นก้อนครั่งกลม ๘ ก้อน พระเจ้าพาราณสีทรงอายว่าสหายของเราส่งก้อนครั่งกลมให้เรา คล้ายกับให้เด็กอ่อนเล่นก้อนครั่งกลม จึงทรงทุบก้อนครั่งก้อนหนึ่ง ณ พระที่นั่งของพระองค์ ทันใดนั้นเอง ครั่งก็ แตกออก ผอบงาจึงตกมาแล้วแยกออกเป็นสองส่วน ทอดพระ เนตรเห็นผ้ากัมพลอยู่ข้างใน จึงทรงเปิดผอบอื่น ๆ ออกดู ในผอบแต่ละใบได้บรรจุผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ ยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอกเหมือน ๆ กัน มหาชนเห็นดังนั้นต่างก็ได้มีความพอใจว่า พระราชากัฏฐวาหนะ ซึ่งเป็นพระอทิฏฐสหาย (สหายที่ไม่เคยเห็นกัน) ของพระราชาของเราทรงส่งบรรณาการเช่นนี้มาถวาย การทำไมตรีเช่นนี้สมควรแล้ว พระราชารับสั่งให้เรียกพ่อค้ามาตีราคาผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ พ่อค้าเห็นผ้ากัมพลนั้นแล้วกราบทูลว่า ผ้ากัมพลทั้งหลายนี้ประมาณค่ามิได้เลย ลำดับนั้น พระเจ้าพาราณสีทรงดำริว่า การส่งบรรณาการตอบแทน ก็ควรจะส่งให้เหนือกว่าบรรณการที่ส่งมาถวาย สหายของเราส่งบรรณาการหาค่ามิได้มาให้เรา เราควรจะส่งอะไรให้สหายดีหนอ

    ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะทรงอุบัติขึ้นแล้ว ประทับอยู่ ณ กรุงพาราณสี ครั้งนั้นพระราชาได้มีพระราชดำริว่า สิ่งอื่นจะ สูงสุดยิ่งกว่าพระรัตนตรัยไม่มี เอาเถิด เราจะส่งข่าวว่าพระรัตนตรัยเกิดขึ้นแล้ว แก่สหาย พระเจ้าพาราณสีนั้น ตรัสให้จารึกคาถานี้ว่า

    พระพุทธเจ้า ทรงอุบัติขึ้นพร้อมแล้วในโลก

    เพื่อประโยชน์เกื้อกูล แก่สัตว์ทั้งปวง

    พระธรรม เกิดขึ้นพร้อมแล้วในโลก

    เพื่อความสุขแก่สัตว์ทั้งปวง

    พระสงฆ์เกิดขึ้นพร้อมแล้วในโลก

    เป็นบุญเขต ที่ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า ดังนี้

    และให้จารึกการปฏิบัติของภิกษุรูปหนึ่งตราบเท่าถึงพระอรหัต ด้วยชาดสีแดงลงบนแผ่นทอง ใส่ลงในสมุกทำด้วยแก้ว ๗ ประการ ใส่สมุกนั้นลงในสมุกทำด้วยแก้วมณี ใส่สมุกทำด้วยแก้วมณีลงในสมุกแก้วตาแมว ใส่สมุกแก้วตาแมวลงในสมุกทับทิม ใส่สมุกทับทิมลงในสมุกทองคำ ใส่สมุกทองคำลงในสมุกเงิน ใส่สมุกเงินลงในสมุกงาช้าง ใส่สมุกงาช้างลงในสมุกไม้แก่น ใส่สมุกไม้แก่นลงในหีบ เอาผ้าพันหีบแล้วประทับตราพระราชลัญจกร ทรงให้นำช้างเมามันตัวประเสริฐ มีธงทองคำประดับด้วยทองคำ คลุมด้วยตาข่ายทองให้ตกแต่งบัลลังก์บนช้างนั้น แล้วยกหีบวางไว้บนบัลลังก์ กั้นเศวตฉัตร บูชาด้วยของหอมและดอกไม้ทุกชนิด ขับเพลงสรรเสริญหนึ่งร้อยบท ด้วยกังสดาลทุกชนิด เคลื่อนไป แล้วทรงให้ตกแต่งทางตลอดระยะไปจนถึงเขตรัฐสีมาของพระองค์ แล้วทรงนำไปด้วยพระองค์เอง เสด็จประทับอยู่ ณ ทางนั้น

    ทรงนำไปจนถึงเขตรัฐสีมาของพระราชากัฏฐวาหนะ พระราชากัฏฐวาหนะได้ทรงสดับข่าวนั้น ก็เสด็จมาต้อนรับ ทรงกระทำการต้อนรับเหมือนเช่นที่พระราชาแห่งกรุงพาราณสีทรงกระทำ แล้วทูลเชิญให้เสด็จเข้าพระนคร รับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ และพวกชาวพระนคร ทรงเปลื้องผ้าพันออก ณ พระลานหลวง ทรงเปิดหีบทอดพระเนตรเห็นสมุกในหีบ แล้วทรงเปิดหีบทั้งหมดตามลำดับ ทอดพระเนตรเห็นจารึกบนแผ่นทองคำ ทรงพอพระทัยว่า สหายของเราทรงส่งรัตนบรรณาการ ซึ่งหาได้ยากอย่างยิ่งตลอด แสนกัป พวกเราได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟังว่า พุทโธ โลเก อุปปนโน พระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วในโลกดังนี้

    ทรงดำริว่า ถ้ากระไรเราควรจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และฟังพระธรรม ดังนี้แล้วตรัสเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมารับสั่งว่า ได้ยินว่า พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ อุบัติแล้วในโลก พวกท่านคิดว่าควรจะทำอะไร อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ประทับอยู่ ณ ที่นี้แหละ พวกข้าพระองค์จักไปฟังข่าวดู พระเจ้าข้า

    ลำดับนั้น อำมาตย์ ๑๖ คน พร้อมด้วยบริวาร ๑๖,๐๐๐ คน ถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า ผิว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก พวกข้าพระพุทธเจ้าก็คงไม่มีการกลับมาเห็นอีก หากว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงอุบัติ พวกข้าพระพุทธเจ้าก็จักกลับมา กราบทูลดังนั้นแล้วก็ถวายบังคมลาแล้วก็พากันเดินทางไป ฝ่ายพระเจ้าหลานเธอของพระราชาพระองค์หนึ่ง ถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าก็จะไป พระราชาตรัสว่า เมื่อเจ้าทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติ ณ ที่นั้นแล้ว จงกลับมาบอกเราด้วย พระเจ้าหลานเธอรับพระบัญชาแล้วจึงได้ไป พวกเขาแม้ทั้งหมดไปตลอดทางพักเพียงราตรีเดียว ก็ถึงพระนครพาราณสี

    ในระหว่างที่พวกอำมาตย์ยังเดินทางไปกรุงพาราณสีนั่นเอง ยังไม่ทันถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จดับขันธปรินิพพานไปเสียก่อนแล้ว เมื่อเหล่าอำมาตย์มาถึง พวกเขาก็เที่ยวไปจนทั่ววิหาร แลเห็นเหล่าพระสาวกอยู่กันพร้อมหน้า จึงถามว่าใครเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน พระสาวกเหล่านั้นจึงบอกแก่พวกเขาว่า พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเสียแล้ว เหล่าอำมาตย์จึงถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า พระโอวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้ยังมีอยู่หรือไม่ พระสาวกเหล่านั้นกล่าวว่า มีอยู่ อุบาสก คือพึงตั้งอยู่ในพระรัตนตรัย พึงสมาทานศีล ๕ พึงเข้าอยู่จำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ พึงให้ทาน พึงปฏิบัติธรรม

    อำมาตย์เหล่านั้นครั้นได้ฟังแล้วพากันบวชทั้งหมด เว้นแต่อำมาตย์ผู้เป็นพระเจ้าหลานเธอนั้น อำมาตย์ผู้เป็นพระเจ้าหลานเธอ ถือ เอาบริโภคธาตุ (ต้นโพธิ์ บาตรและจีวร เป็นต้น ชื่อว่า บริโภคธาตุ) มุ่งหน้ากลับไปยังแคว้นกัฏฐวาหนะ พระเจ้าหลานเธอนี้ถือเอาธมกรก (หม้อกรองน้ำ) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า และพาพระเถระรูปหนึ่งผู้ทรงธรรมและวินัยไปยังพระนครโดยลำดับ ได้กราบทูลพระราชาว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลกและเสด็จปรินิพพานแล้ว ได้กราบทูลถึงโอวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้ พระราชาเสด็จเข้าไปหาพระเถระฟังธรรมแล้วรับสั่งให้สร้างวิหาร ประดิษฐานพระเจดีย์ ปลูกต้นโพธิ์ ทรงดำรงอยู่ในพระรัตนตรัย และ ศีล ๕ เป็นนิจ ทรงเข้าอยู่จำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ทรงให้ทาน ทรงดำรงอยู่ตราบเท่าอายุแล้วไปยังบังเกิดในกามาวจรเทวโลก แม้อำมาตย์ ๑๖,๐๐๐ คน ก็พากันบวช แล้วมรณภาพเยี่ยงปุถุชน ยังไม่ได้มรรคผลอันใด แล้วได้ไปเกิดเป็นบริวารของพระราชาผู้เป็นเทวดานั้นนั่นเอง
    สมัยพระสมณโคดมพุทธกาล

    เมื่อเวลาผ่านไปพุทธันดรหนึ่ง ในภัทรกัป สมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรายังไม่ทรงอุบัติ พระราชาและอำมาตย์เหล่านั้นที่บังเกิดเป็นเทวดาเสวยสุขอยู่ในเทวโลกก็ได้จุติลงมาเกิดในโลกมนุษย์

    พระราชาและอำมาตย์เหล่านั้นที่บังเกิดเป็นเทวดาเสวยสุขอยู่ในเทวโลกก็ได้จุติจากเทวโลก

    พระราชาเกิดเป็นบุตรของปุโรหิตของพระเจ้ามหาโกศลผู้เป็นพระชนกของพระเจ้าปเสนทิ มีชื่อว่า พาวรี ประกอบด้วย มหาปุริสลักษณะ ๓ ประการ ได้เล่าเรียนวิชาพราหมณ์จนจบไตรเทพ ครั้นเมื่อบิดาล่วงลับไปก็ได้ดำรงตำแหน่งปุโรหิตแทน

    ส่วนอำมาตย์ผู้ใหญ่ ๑๖ คนนั้น ในภพสุดท้ายนี้ หนึ่งในนั้นก็ถือปฏิสนธิในครอบครัวพราหมณ์ในกรุงสาวัตถี บิดามารดาได้ตั้งชื่อว่า ปิงคิยะ และอำมาตย์ผู้ใหญ่ที่เหลืออีก ๑๕ คน และอำมาตย์ที่เป็นบริวารอีก ๑๖,๐๐๐ คน ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ที่กรุงสาวัตถีนั้นนั่นเอง

    ท่าน ปิงคิยะเมื่อมีอายุพอจะศึกษาศิลปวิทยาแล้ว บิดามารดาจึงนำไปฝากเป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวนศิษย์ ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรี ซึ่งท่านและศิษย์ผู้ใหญ่อีก ๑๕ คนนั้นต่างก็มีศิษย์คนละ ๑,๐๐๐ คน รวมทั้งสิ้น ๑๖,๐๐๐ คน

    เมื่อพระราชามหาโกศลได้เสด็จสวรรคต พระเจ้าปเสนทิจึงได้อภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ พาวรีพราหมณ์ก็ได้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทินั้นอีก พระราชาได้พระราชทานสิ่งของที่พระชนกพระราชทานไว้ และสมบัติอื่นแก่พาวรีปุโรหิตเป็นอันมาก พระราชานั้นเมื่อยังทรงพระเยาว์ ก็ได้เรียนศิลปะในสำนักของพาวรีปุโรหิตเหมือนกัน

    พาวรีปุโรหิตออกบวช

    ลำดับนั้น พาวรีได้ทูลแด่พระราชาว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จักบวช พระราชาตรัสว่า ท่านอาจารย์ เมื่อท่านดำรงอยู่ก็เหมือนบิดาของข้าพเจ้ายังอยู่ ท่านอย่าบวชเลย พาวรีทูลว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จักบวชแน่พระเจ้าข้า พระราชาเห็นว่าไม่ทรงสามารถห้ามได้ จึงทรงขอร้องว่า ขอท่านจงบวชอยู่ในพระราชอุทยานนี้เถิด ข้าพเจ้าจะได้เห็นทุกเย็นและเช้า อาจารย์พร้อมด้วย ศิษย์ ๑๖ คน กับบริวารอีก ๑๖,๐๐๐ คน ได้บวชเป็นดาบสอยู่ในพระราชอุทยาน พระราชาทรงบำรุงด้วยปัจจัย ๔ เสด็จไปทรงอุปัฏฐากอาจารย์นั้น ทุกเวลาเย็นและเวลาเช้า

    พราหมณ์พาวรีย้ายสำนักออกไปนอกพระนคร

    อยู่มาวันหนึ่งศิษย์ทั้งหลายกล่าวกะอาจารย์ว่า การอยู่ใกล้พระนครมีเครื่องพัวพันมาก ท่านอาจารย์เราไปหาโอกาสที่ไม่มีชนรบกวนเถิด ชื่อว่าการอยู่ในเสนาสนะอันสงัด เป็นประโยชน์มากแก่บรรพชิตทั้งหลาย อาจารย์ รับว่า ดีละ จึงไปทูลพระราชา พระราชาตรัสห้ามถึง ๓ ครั้งก็ไม่สามารถจะห้ามได้ จึงพระราชทานกหาปณะ ๒๐๐,๐๐๐ กหาปณะ รับสั่งกะอำมาตย์ทั้ง หลายว่า พวกเจ้าทรงสร้างอาศรมถวาย ในที่ที่คณะฤๅษีปรารถนาจะอยู่เถิด แต่นั้นอาจารย์พร้อมด้วยชฏิล ๑๖,๐๐๐ เป็นบริวาร ได้รับอนุเคราะห์จากพวก อำมาตย์จึงออกจากอุตตรชนบท มุ่งหน้าไปทักษิณชนบท

    ครั้นเมื่อพาหมู่คณะเดินทางมาถึงบริเวณใกล้พรมแดนใน ระหว่างสองแคว้น คือ แคว้นอัสสกะและแคว้นมุฬกะซึ่งเป็นภุมิประเทศที่ แม่น้ำโคธาวารีแยกออกเป็นสองสาย แล้วมาบรรจบกันอีกครั้งหนึ่ง เกิดเป็นเกาะกว้างยาวประมาณ ๓ โยชน์ เกาะทั้งหมดปกคลุมไปด้วยป่ามะขวิด เมื่อก่อน ณ บริเวณนั้นสรภังคดาบสเป็นต้นได้อาศัยอยู่

    อาจารย์เห็นเช่นนั้นแล้วจึงประกาศแก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า ประเทศนี้เป็นที่อยู่ของสมณะมาก่อน ประเทศนี้สมควรแก่นักบวช พวกอำมาตย์จึงได้ให้ทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ แก่พระเจ้าอัสสกะ อีก ๑๐๐,๐๐๐ ให้แก่พระเจ้ามุฬกะ เพื่อการครอบครองถือเอาภูมิประเทศนั้น พระราชาทั้งสองนั้นได้พระราชทานที่บริเวณเกาะนั้นและบริเวณอื่นประมาณ ๒ โยชน์ รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๕ โยชน์ ซึ่งอยู่ในระหว่างเขตรัฐสีมาของพระราชาเหล่านั้น พวกอำมาตย์ก็ได้สร้างอาศรม ณ ที่นั้นแล้วและให้นำทรัพย์มาจากกรุงสาวัตถีมาจัดตั้งเป็นโคจรคามเสร็จแล้วพากันกลับไป

    พาวรีพราหมณ์และเหล่าศิษย์ ทั้ง ๑๖,๐๑๖ คนก็เลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยการเที่ยวภิกขาและผลไม้ ต่อมาก็ได้มีชาวบ้านซึ่งเลื่อมใสในวัตรของพราหมณ์ เข้ามาปลูกสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยอยู่บนที่ดินของพราหมณ์เหล่านั้น โดยได้รับอนุญาตจากพวกพราหมณ์ เกิดเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น ชาวบ้านที่อาศัยพราหมณ์พาวรีนั้นก็เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยผลอันเกิดจากการกสิกรรม ครั้นครบรอบปีเหล่าชาวบ้านก็รวบรวมเงินจากแต่ละครอบครัวเพื่อเป็นส่วยให้แก่พระราชา และถือเอาส่วยนั้นไปเฝ้าพระเจ้าอัสสกะ ทูลกับพระราชาว่า ขอพระองค์ทรงรับส่วยนี้เถิด พระเจ้าอัสสกะตรัสว่า เราไม่รับ พวกท่านจงนำไปถวายอาจารย์เถิด พวกชาวบ้านก็นำส่วย ๑๐๐,๐๐๐ นั้นมามอบต่อพาวรีพราหมณ์

    พาวรีพราหมณ์กล่าวว่า ถ้าเราต้องการเงินทอง ก็ไม่พึงสละทรัพย์สินมากมายของเราออกบวช พวกท่านจงรับเอากหาปณะของพวกท่านคืนไปเสีย พวกชาวบ้านบอกว่า พวกเราจะไม่ยอมรับทรัพย์ที่พวกเราบริจาคแล้วอีก ยิ่งไปกว่านั้นพวกเราจะนำทรัพย์มาให้ท่านทำนองนี้ทุก ๆ ปี ถ้าท่านไม่รับเพื่อประโยชน์ตนเองละก็ ขอท่านจงรับกหาปณะเหล่านี้ไว้ให้ทานก็แล้วกัน พราหมณ์จึงยอมรับทรัพย์ดังกล่าวไว้ โดยเก็บไว้ในเพื่อการให้ทานแก่ผู้กำพร้า คนเดินทางไกล วณิพกและยาจก

    อาจารย์นั้นกระทำมหายัญคือ คือการให้ทานจากทรัพย์ดังกล่าวเป็นประจำทุก ๆ ปี ปีละครั้งอย่างนี้ กิติศัพท์การทำมหาทานของพราหมณ์พาวรีก็กระจายไปทั่วชมพูทวีป

    พราหมณ์พาวรีโดนพราหมณ์ผู้มาขอรับทานสาปแช่ง

    ครั้งนั้น ในหมู่บ้านทุนนวิตถะ ในแคว้นกลิงคะ นางพราหมณีสาว ผู้เป็นภริยาของพราหมณ์เฒ่าผู้เกิดมาในวงศ์ของชูชกพราหมณ์ ได้ทราบข่าวการทำทานดังกล่าวของพราหมณ์พาวรี จึงลุกขึ้นเตือนพราหมณ์ผู้เป็นสามีว่า เขาว่า พาวรีกำลังให้ทาน ท่านจงไปรับบริจาคเงินทองมาจากที่นั้น พราหมณ์นั้นถูกพราหมณีพูดดังนั้นก็ไม่อาจทนอยู่ได้จึงได้ออกเดินทางไปยังสำนักของพราหมณ์พาวรี ครั้นเมื่อไปถึง ก็เป็นวันที่พราหมณ์พาวรีได้กระทำมหาทานไปเสียแล้วตั้งแต่เมื่อวันวาน ซึ่งเมื่อให้ทานแล้ว พราหมณ์พาวรีก็เข้าบรรณศาลากำลังนอนนึกถึงทานที่ตนได้กระทำไปนั้น

    ครั้นเข้าไปถึงก็พูดว่า “ท่านพราหมณ์ โปรดให้ทานแก่ข้าเถิด ท่านพราหมณ์โปรดให้ทานแก่ข้าเถิด”

    พาวรีพราหมณ์กล่าวว่า “ท่านพราหมณ์ ท่านมาไม่ถูกเวลา เราให้ทานแก่พวกยาจกที่มาถึงไปแล้ว บัดนี้ไม่มีกหาปณะดอก”

    พราหมณ์พูดว่า “ท่านพราหมณ์ ข้าไม่ต้องการกหาปณะมากมายเลย ข้าขอเพียง ๕๐๐ กหาปณะ ”

    พาวรีพราหมณ์ “ท่านพราหมณ์ ๕๐๐ กหาปณะก็ไม่มี เมื่อถึงเวลาให้ทานครั้งหน้า ท่านจึงได้”

    พราหมณ์พูดว่า “ก็เวลาท่านให้ทาน ข้าจักมาได้อย่างไร” แล้วจึงทำกลอุบายเพื่อให้พาวรีพราหมณ์เกิดความกลัว โดยก่อทรายเป็นสถูปใกล้ประตูบรรณศาลา โรยดอกไม้สีแดงไปรอบ ๆ ทำปากขมุบ ขมิบเหมือนบ่นมนต์แล้วพูดว่า “เมื่อเราขอ แล้วท่านไม่ให้ไซร้ ในวันที่ ๗ ศีรษะของท่านจะแตก ๗ เสี่ยง”

    พราหมณ์พาวรีฟังคำของพราหมณ์นั้นแล้ว ก็เกิดสะดุ้งหวาดกลัว เป็นผู้มีทุกข์ซูบซีด ไม่บริโภคอาหาร เมื่อเป็นผู้เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้ ใจก็ไม่ยินดีในการบูชาเทพและเทวดาทั้งหลาย

    เทวดาบอกปริศนาธรรม

    เทวดาผู้สถิตอยู่ ณ บรรณศาลานั้น เห็นพราหมณ์พาวรีมีทุกข์สะดุ้งหวาดหวั่น จึงเข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้วได้กล่าวว่า พราหมณ์นั้นไม่รู้จักศีรษะ เป็นผู้หลอกลวง ต้องการทรัพย์ ไม่มีความรู้ในในเรื่อง ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ฯ

    พราหมณ์พาวรีถามว่าบัดนี้ ท่านรู้จักข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอก ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป แก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะฟังคำของท่าน ฯ

    เทวดาตอบว่าแม้เราก็ไม่รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป เราไม่มีความรู้ในธรรมทั้ง ๒ นี้ ปัญญาเป็นเครื่องเห็นธรรมอันเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ย่อมมีเฉพาะในพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯ

    พราหมณ์พาวรีถามว่า ในปัจจุบันนี้ มีใครเล่าในปฐพีมณฑลนี้ที่รู้ ขอท่านเทวดาจงบอกบุคคลผู้รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไปนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด ฯ

    เทวดาบอกเรื่องพระพุทธเจ้าทรงอุบัติ

    เทวดาตอบว่าดูกรพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคผู้ศากยบุตร ลำดับพระวงศ์ของพระเจ้าโอกกากราช มีพระรัศมีรุ่งเรือง เป็นนายกของโลกเสด็จออกผนวชจากพระนครกบิลพัสดุ์ เป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ทรงบรรลุอภิญญาและทศพลญาณครบถ้วน ทรงมีพระจักษุในสรรพธรรม ทรงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งกรรมทั้งปวง ทรงน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้แล้วในโลก มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรม ท่านจงไปทูลถามพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด พระองค์จักตรัสพยากรณ์ข้อความนั้นแก่ท่าน ฯ

    พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า สัมพุทโธ ก็เป็นผู้มีใจเฟื่องฟู ความโศกสลดก็เบาบางลงไป และเกิดปีติอันท่วมท้น มีใจชื่นชมเบิกบานเกิดความโสมนัส จึงถามเทวดานั้นว่า พระโลกนาถประทับอยู่ในคามนิคมหรือในชนบทไหน ข้าพเจ้าจะไปนมัสการพระบรมศาสดาได้ในที่ใด ฯ

    เทวดาตอบว่าพระชินเจ้าผู้ศากยบุตร ทรงมีพระปัญญามาก มีพระปัญญาประเสริฐกว้างขวาง ทรงปราศจากธุระ หาอาสวะมิได้ องอาจกว่านระ ทรงรู้ธรรมเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ประทับอยู่ในมณเฑียรของชนชาวโกศลในพระนครสาวัตถี ฯ

    พราหมณ์พาวรีส่งศิษย์ ๑๖ คนไปเฝ้าพระศาสดา

    ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรี เรียกพราหมณ์ทั้งหลายซึ่งเป็นศิษย์มาสั่งว่า ดูกรมาณพทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมาเถิด เราจักบอกแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังคำของเรา บัดนี้ พระสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ท่านทั้งหลายจงรีบไปเมืองสาวัตถี เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าผู้อุดมกว่าสัตว์เถิด ฯ

    พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ทั้งหลายซักถามว่า ข้าแต่ท่านพราหมณ์ บัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายได้เห็นแล้วจะพึงรู้ว่า ท่านผู้นี้เป็นพระสัมพุทธเจ้าได้อย่างไรเล่า ขอท่านจงบอกสิ่งที่จะทำให้ข้าพเจ้าทั้งหลายจะได้รู้จักพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด ฯ

    พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า ก็มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการของมหาบุรุษ ที่ท่านทั้งหลายเล่าเรียนมามาแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่พราหมณาจารย์ทั้งหลายพยากรณ์ไว้ว่า ถ้ามหาปุริสลักษณะนั้น มีอยู่ในวรกายของพระมหาบุรุษใด พระมหาบุรุษนั้น จะเป็นได้ ๒ อย่างเท่านั้น คือ ถ้าพระมหาบุรุษนั้นอยู่ครองเรือน จะพึงเป็นพระบรมมหาจักรพรรดิ์ จะทรงมีชัยชนะทั่วปฐพีนี้ จะทรงปกครองโดยธรรม ด้วยไม่ต้องใช้อาชญาไม่ต้องใช้ศาตรา ถ้าออกบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม

    พราหมณ์พาวรีสั่งให้ศิษย์ถามปัญหา ๗ ข้อกับพระศาสดา

    เมื่อท่านทั้งหลายเห็นพระมหาบุรุษผู้ประกอบไปด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการดังนี้ ท่านทั้งหลายก็จงกล่าวถามในใจ ถึง ๑. ชาติ (อายุ) ๒. โคตร ๓. ลักษณะ ๔. มนต์ และ ๕. ศิษย์เหล่าอื่นอีก และถามถึงปริศนาธรรมเรื่อง ๖. ธรรมอันเป็นศีรษะ และ ๗. ธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ถ้าว่าท่านนั้นเป็นพระพุทธเจ้าจริงแท้แล้ว ท่านก็จักตอบปัญหาที่ท่านทั้งหลายกล่าวถามในใจ ด้วยวาจาได้ ฯ

    พราหมณ์มาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน คือ อชิตะ ๑ ติสสเมตเตยยะ ๑ ปุณณกะ ๑ เมตตคู ๑ โธตกะ ๑ อุปสีวะ ๑ นันทะ ๑ เหมกะ ๑ โตเทยยะ ๑ กัปปะ ๑ ชตุกัณณี ๑ ภัทราวุธะ ๑ อุทยะ ๑ โปสาลพราหมณ์ ๑ โมฆราช ๑ ปิงคิยะ ๑ ได้ฟังคำของพราหมณ์พาวรีแล้วก็ลาอาจารย์ กระทำประทักษิณแล้ว บ่ายหน้าต่อทิศอุดร มุ่งไปยังที่ตั้งแห่งแคว้นมุฬกะ เมืองมาหิสสติ

    ในคราวนั้น พราหมณ์ทั้ง ๑๖ คนได้เดินทางผ่านเมืองอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสะ เมืองวนนคร เมืองโกสัมพี เมืองสาเกต จนถึงเมืองสาวัตถี

    พระบรมศาสดาเสด็จออกจากกรุงสาวัตถีเพื่อบ่มอินทรีย์ของเหล่าพราหมณ์ให้แก่กล้า

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ศิษย์ของพาวรีพราหมณ์ทั้ง ๑๖ คน มาพร้อมด้วยมหาชนเป็นอันมาก ทรงพระดำริว่า อินทรีย์ของพราหมณ์เหล่านั้นยังไม่แก่กล้าเพียงพอ อีกทั้งถิ่นนี้ก็ยังไม่เป็นที่สบายเหมาะแก่พราหมณ์ทั้งหลาย ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่า ปาสาณกเจดีย์ในเขตแคว้นมคธเป็นที่สบายเหมาะแก่พราหมณ์เหล่านั้น ถ้าเราแสดงธรรมในที่นั้น มหาชนก็จักบรรลุธรรม อีกทั้งพวกพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อเดินทางผ่านเข้าไปยังเมืองต่าง ๆ ก็จะมีมหาชนตามมามากยิ่งขึ้นไปอีก ผู้บรรลุธรรมก็จักมีมากขึ้น จะเป็นประโยชน์อันมหาศาล

    ครั้นทรงพระดำริเช่นนั้นแล้ว จึงทรง เสด็จพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ออกจากกรุงสาวัตถีบ่ายพระพักตร์ไปยังกรุงราชคฤห์ ก่อนที่พวกพราหมณ์จะมาถึง พวกพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อก็มาถึงกรุงสาวัตถี เข้าไปสู่วิหาร เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ครั้นทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จออกจากเมืองสาวัตถีไปแล้ว ก็พากันเข้าไปถึงพระคันธกุฏี ได้เห็นรอยพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็แน่ใจว่า เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าแน่แล้ว เพราะจากลักษณะของรอยพระบาทเป็นรอยของผู้หมดกิเลสแล้ว เมื่อทราบดังนั้นแล้วจึงได้ออกเดินทางตามพระบรมศาสดาไป

    พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จเข้าสู่พระนครมีเสตัพยนครและกรุงกบิล พัสดุ์ เมืองกุสินารา เมืองมันทิระ เมืองปาวาโภคนคร เมืองเวสาลี เมืองราชคฤห์ เป็นต้นตามลำดับ หมู่พราหมณ์ทั้ง ๑๖ คนก็ได้เดินทางพร้อมทั้งศิษย์ ๑๖,๐๐๐ คน ผ่านตามเมืองที่พระบรมศาสดาเสด็จผ่าน ผ่านเข้าเมืองใด มหาชนในเมืองเหล่านั้นก็ออกเดินทางติดตามมาอีกเป็นอันมากเพื่อจะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา

    จนกระทั่งเสด็จไปถึงปาสาณกเจดีย์ แขวงเมืองราชคฤห์ ก็ทรงหยุดประทับอยู่ ณ ที่นั้น พวกเหล่าพราหมณ์และมหาชนก็ได้ตามพระบรมศาสดาจนถึงปาสาณกเจดีย์ ครั้นได้ฟังว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ ณ ที่นี้ ก็เกิดปิติ ปราโมทย์พากันขึ้นภูเขาไปสู่พระเจดีย์นั้น เหมือนบุคคลผู้กระหายน้ำย่อมยินดีต่อน้ำเย็น เหมือนพ่อค้ายินดีต่อลาภใหญ่ และเหมือนบุคคลถูกความร้อนแผดเผายินดีต่อร่มเงา ฉะนั้น

    ก็ในขณะนั้นพระผู้มีพระภาค แวดล้อมด้วยหมู่พระภิกษุสงฆ์ ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่ ประหนึ่งราชสีห์บันลือเสียงกังวานกระหึ่มอยู่ในป่า

    อชิตมาณพทูลถามปัญหาโดยถามในใจ

    อชิตมาณพได้เห็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระรัศมีเรื่อเรืองเหลืองอ่อน ถึงความบริบูรณ์ดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญ ลำดับนั้นอชิตมาณพได้เห็นพระมหาปุริสลักษณะทั้ง ๓๒ ประการในพระกายของพระผู้มีพระภาคนั้นแล้วก็มีความร่าเริง ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ทูลถามปัญหาในใจว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกอ้าง (ชาติ) อายุ โคตร พร้อมทั้งลักษณะ และขอได้ตรัสบอกการถึงความสำเร็จในมนต์ทั้งหลายแห่งอาจารย์ของข้าพระองค์เถิด พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของข้าพระองค์ย่อมบอกมนต์กะศิษย์มีประมาณเท่าไร พระเจ้าข้า ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ก็พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของท่านนั้น มีอายุร้อยยี่สิบปี ชื่อพาวรีโดยโคตรลักษณะในกายของพราหมณ์พาวรีนั้นมี ๓ ประการ พราหมณ์พาวรีนั้นเรียนจบไตรเพท ในตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ คือ คัมภีร์อิติหาสพร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุศาสตร์และเกฏุภศาสตร์ ถึงซึ่งความสำเร็จในธรรมแห่งพราหมณ์ของตน ย่อมบอกมนต์กะมาณพ ๕๐๐ ฯ

    อชิตมาณพทูลถามว่าข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ขอพระองค์จงบอกลักษณะทั้งหลายของพราหมณ์พาวรี ขอทรงบอกเพื่อมิให้ข้าพระองค์มีความสงสัยเถิด ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีนั้น ย่อมปกปิด หน้าผากของตนด้วยลิ้นได้ มีขนขึ้นเป็นรูปอุณณาโลมชาติในระหว่างคิ้ว มีคุยหฐานอยู่ในฝัก ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด ฯ

    มหาชนทั้งหลาย ไม่ได้ยินเสียงใครที่ถามปัญหานั้นเลย เมื่อได้ฟังคำตอบที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แล้ว เกิดความพิศวง มีความโสมนัสประนมอัญชลี แล้วสรรเสริญว่า พระผู้มีพระภาคเป็นอะไรหนอ เป็นเทวดาหรือเป็นพรหม หรือเป็นท้าวสุชัมบดีจอมเทพ จึงได้ทราบถึงปัญหาอันมีผู้ถามในใจ ฯ

    อชิตมาณพ ครั้นได้สดับการพยากรณ์ปัญหา ๕ ข้อแล้ว เมื่อจะทูลถาม ปัญหาสองข้อที่เหลือจึงกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ท่านพราหมณ์พาวรีถามถึงธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ขอพระองค์ตรัสพยากรณ์ข้อนั้นกำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ผู้เป็นพราหมณ์เสียเถิด ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ท่านจงรู้เถิดว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ วิชชาประกอบด้วยศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ ชื่อว่าเป็นธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป

    เพราะอวิชชาเป็นความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ เป็นศีรษะแห่งสังสารวัฏ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ

    อนึ่ง เพราะอรหัตมรรควิชชา (วิชชาในอรหัตมรรค) ประกอบ ด้วย ศรัทธาสติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ อันเกิดร่วมกับตนยังศีรษะให้ตกไป เพราะเข้าถึงธรรมเป็นศีรษะด้วยความตั้งอยู่ในรสอันเดียวกันของอินทรีย์ทั้งหลาย

    ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วิชชาเป็นธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป.

    ลำดับนั้น อชิตมาณพมีความโสมนัสเป็นอันมาก เบิกบานใจ กระทำหนังเสือเหลืองเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลงแทบพระบาทยุคลด้วยเศียรเกล้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ พราหมณ์พาวรี พร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลายขอไหว้พระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาค ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลาย จงเป็นผู้ถึงความสุขเถิด ครั้นตรัสแล้วจึงทรงปวารณาว่า จงถามความสงสัยทุก ๆ อย่างของพราหมณ์พาวรี หรือของท่านเถิด

    อชิตมาณพครั้นเห็นพระพุทธองค์ประทานพระวโรกาสให้ทูลถามปัญหาที่สงสัยเช่นนั้น ก็นั่งลงประนมอัญชลี ทูลถามปัญหาต่อพระตถาคต ณ ที่นั้น ตามที่ปรากฎในอชิตมาณวกปัญหานิทเทส

    ครั้นเมื่อจบพระคาถาที่พระพุทธองค์ตรัสตอบปัญหา อชิตมาณพ พร้อมด้วยเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ คนก็บรรลุพระอรหัตเป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาค และโสดาปัตติมรรคก็บังเกิดขึ้นแก่เทวดาและมนุษย์หลายพัน

    ในบรรดาศิษย์ทั้ง ๑๖ คนนั้น โมฆราชมาณพถือตัวว่าเป็นผู้มีความรู้ยิ่งกว่าทุกคน ท่านคิดว่า อชิตมาณพนี้เป็นหัวหน้าของศิษย์ทุกคน เราไม่ควรถามปัญหาก่อน เพราะความเคารพในตำแหน่งผู้นำของอชิตมาณพนั้น ท่านจึงไม่ถามก่อน ครั้นเมื่ออชิตมาณพนั้นถามปัญหาแล้ว จึงถามปัญหาต่อพระศาสดาเป็นคนที่สอง

    พระศาสดาทรงดำริว่า โมฆราชมาณพเป็นคนถือตัว ทั้งญาณของเขาก็ยังไม่แก่กล้าเต็มที่ ควรจะต้องทำให้ความถือตัวของเขาค่อย ๆ หมดไป จึงตรัสว่า โมฆราชเธอจงคอยก่อน ให้คนอื่น ๆ ถามปัญหาก่อน

    โมฆราชมาณพนั้น ครั้นถูกห้ามโดยพระศาสดาเช่นนั้น ก็คิดว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมานี้ เราเข้าใจว่า ไม่มีคนที่จะเป็นบัณฑิตเกินกว่าเรา ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ถ้าไม่ทรงทราบความในใจ ย่อมไม่ตรัส พระศาสดาคงจักทรงเห็นโทษในการถามของเราเป็นแน่ เมื่อคิดได้ดังนั้นจึงนิ่งเสีย

    จากนั้น ติสสเมตเตยยพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๒

    จากนั้น ปุณณกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๓

    จากนั้น เมตตคูพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๔

    จากนั้นโธตกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๕

    จากนั้นอุปสีวพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๖

    จากนั้นนันทพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๗

    จากนั้นเหมกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๘

    จากนั้นโตเทยยพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๙

    จากนั้นกัปปพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๐

    จากนั้นชตุกัณณิกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๑

    จากนั้นภัทราวุธพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๒

    จากนั้นอุทยพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๓

    จากนั้นโปสาลพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๔

    จากนั้นโมฆราช พราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๕

    เมื่อจบพระคาถาที่พระพุทธองค์ตรัสตอบปัญหาแก่พราหมณ์แต่ละท่านนั้น พราหมณ์ท่านนั้นพร้อมด้วยเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ คนก็บรรลุพระอรหัตเป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาคอยู่

    ปิงคิยะทูลถามปัญหาของตน

    จากนั้นก็ถึงลำดับของปิงคิยพราหมณ์ เป็นลำดับที่ ๑๓ ปิงคิยะเ มื่อจะทูลถามความสงสัยของตน จึงถามปัญหาว่า

    ข้าพระองค์เป็นคนแก่แล้ว มีกำลังน้อย ผิวพรรณเศร้าหมองนัยน์ตาทั้งสองของข้าพระองค์ไม่ผ่องใส (เห็นไม่จะแจ้ง)หูสำหรับฟังก็ไม่สะดวก ขอข้าพระองค์อย่างได้เป็นคนหลงฉิบหายเสียในระหว่างเลยขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ข้าพระองค์ควรรู้ ซึ่งเป็นเครื่องละชาติและชราในอัตภาพนี้เสียเถิด ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า

    ดูกรปิงคิยะ ชนทั้งหลายได้เห็นเหล่าสัตว์ผู้เดือดร้อนอยู่ เพราะรูปทั้งหลายแล้ว ยังเป็นผู้ประมาทก็ย่อยยับอยู่เพราะรูปทั้งหลาย

    ดูกรปิงคิยะเพราะเหตุนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาทละรูปเสียเพื่อความไม่เกิดอีก ฯ

    ท่านปิงคิยะฟังเทศนาข้อปฏิบัติที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ตราบเท่าถึงพระ อรหัตนี้ ก็ยังไม่บรรลุคุณวิเศษ เพราะชรา มีกำลังน้อย เมื่อจะทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเทศนาแก่ท่านอีก จึงทูลว่า

    ทิศใหญ่สี่ ทิศน้อยสี่ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ รวมเป็นสิบทิศ สิ่งไรๆ ในโลกที่พระองค์ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟังไม่ได้ทราบ หรือไม่ได้รู้แจ้ง มิได้มี

    ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ข้าพระองค์ควรรู้ เป็นเครื่องละชาติและชราในอัตภาพนี้เถิด ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรปิงคิยะ เมื่อท่านเห็นหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำแล้วเกิดความเดือดร้อน อันชราถึงรอบข้าง

    ดูกรปิงคิยะ เพราะเหตุนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาทละตัณหาเสีย เพื่อความไม่เกิดอีก ฯ

    จบเทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้ ท่านปิงคิยะได้ตั้งอยู่ ในอนาคามิผล.มิได้บรรลุพระอรหัตเหมือนเช่นพราหมณ์คนอื่น ๆ นัยว่า ท่านปิคิยะนั้นคิดอยู่ในระหว่างที่พระบรมศาสดาเทศนาอยู่ว่า พาวรีพราหมณ์ผู้เป็นลุงของเรา ไม่ได้ฟังเทศนาอันมีปฏิภาณวิจิตรอย่างนี้. ด้วยเหตุนั้น ท่านปิงคิยะจึงไม่สามารถบรรลุพระอรหัตได้ เพราะความฟุ้งซ่านด้วยความมีเยื่อใยในพาวรีพราหมณ์ผู้เป็นลุงของตน. แต่พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ทั้ง๑,๐๐๐ คนของท่านปิงคิยะก็ได้บรรลุพระ อรหัต ทั้งหมดได้เป็นอหิภิกขุ ผู้ทรงบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ ด้วยประการฉะนี้
    พระปิงคิยเถระแจ้งข่าวแก่พาวรีพราหมณ์

    จากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุ ๑๖,๐๐๐ รูปก็ได้เสด็จไปยัง กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้น ท่านปิงคิยะถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพระองค์จะไปบอกพาวรีพราหมณ์ ถึงการบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า เพราะข้าพระองค์ได้ปฏิญาณแก่พาวรีพราหมณ์ไว้เช่นนั้น

    ครั้นเมื่อท่านปิงคิยเถระได้รับพระอนุญาตจากพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็เดินทางไปถึงฝั่งแม่น้ำโคธาวรีด้วยยานพาหนะ แล้วจึงเดินต่อไปด้วยเท้ามุ่งหน้าไปยังอาศรมของพาวรีพราหมณ์ ครั้นเมื่อพาวรีพราหมณ์เห็นท่านปิงคิยะเดินมาด้วยเพศของภิกษุ ก็สันนิษฐานเอาว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วในโลก จึงถามท่านปิงคิยะนั้นว่า พระพุทธเจ้า ทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้วหรือ

    ท่านปิงคิยะตอบว่า ถูกแล้วพราหมณ์ พระ พุทธเจ้าประทับนั่ง ณ ปาสาณกเจดีย์ ทรงแสดงธรรมแก่พวกเรา

    พาวรีพราหมณ์บอกว่า ข้าพเจ้าจักฟังธรรมของท่าน. แล้วพาวรีพราหมณ์ พร้อมด้วยบริษัทก็ได้บูชาท่านปิงคิยะด้วยสักการะเป็นอันมาก แล้วให้ปูอาสนะ ท่านปิงคิยะนั่งบนอาสนะนั้นแล้วกล่าวสรรเสริญพระคุณอังยิ่งใหญ่แห่งพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ครั้นเวลาจบคาถาสรรเสริญคุณของพระพุทธองค์นี้ พระผู้มีพระภาคซึ่งทรงประทับอยู่ ณ นครสาวัตถีนั้นเอง ได้ทรงทราบว่าความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ของพระปิงคิยะและพราหมณ์พาวรีได้เกิดขึ้นแล้ว จึงทรงทรงเปล่งพระรัศมีดุจทองออกไปยัง ณ ที่อาศรมของพาวรีพราหมณ์ พระปิงคิยะกำลังนั่งพรรณนาพระพุทธคุณแก่พราหมณ์พาวรีอยู่ ได้เห็นพระรัศมีแล้วคิดว่า นี้อะไร เหลียวแลไป ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประหนึ่งประทับอยู่เบื้องหน้าตน จึงบอกแก่พราหมณ์พาวรีว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาแล้ว

    พราหมณ์พาวรีได้ลุกจากอาสนะประคองอัญชลียืนอยู่ แม้พระผู้มีพระภาค เมื่อทรงแผ่พระรัศมีแสดงพระองค์แก่พราหมณ์พาวรีแล้ว ทรงทราบถึงธรรมอันเป็นที่สมควรแก่พระปิงคิยะและพราหมณ์พาวรีทั้งสองจึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า

    ดูกรปิงคิยะ พระวักกลิ พระภัทราวุธะ และพระอาฬวีโคดม ได้บรรลุอรหัตด้วยศรัทธาธุระ ฉันใด แม้ท่านก็จงปล่อยศรัทธาลง ฉันนั้น

    ดูกรปิงคิยะเมื่อท่านน้อมลงด้วยศรัทธา ปรารภวิปัสสนา โดยนัยเป็นต้นว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ก็จักถึงนิพพาน อันเป็นฝั่งโน้นแห่งวัฏฏะอันเป็นบ่วงแห่งมัจจุราช ฯ

    เมื่อจบเทศนา ท่านปิงคิยะตั้งอยู่ในอรหัตผล พาวรีพราหมณ์ตั้งอยู่ ในอานาคามิผล ส่วนบริษัท ๕๐๐ ของพาวรีพราหมณ์ได้เป็นโสดาบัน
     
  18. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,801
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    พระโสณกุฎิกัณณเถระ



    %B8%B8%E0%B8%8E%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%93%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%A3%E0%B8%B0.jpg

    พระโสณกุฎิกัณณเถระ เอตทัคคมหาสาวกผู้มีวาจาไพเราะ

    พระเถระที่ชื่อ “โสณะ” นี้ ในพระบาลีปรากฏอยู่ ๕ ท่านด้วยกันคือ

    ๑ พระโสณโกฬิวิสเถระ เป็นบุตรอุสภเศรษฐี แห่งเมืองจำปา แคว้นอังคะ ต่อมาพระพุทธเจ้าสถาปนาท่านเป็นเอตทัคคะในทางผู้ปรารภความเพียร

    ๒ พระโสณโปฏิริยปุตตเถระ ผู้ซึ่งเดิมเป็นเสนาบดีของพระเจ้านันทะ สากิยะ ต่อมาเมื่อพระเจ้าภัททิยะทรงผนวชแล้วท่านก็บวชตาม ต่อมาสำเร็จเป็นพระอรหันต์

    ๓ พระโสณเถระ เป็นพระธรรมกถึกรูปหนึ่งอยู่ในเขววิหาร ใกล้เชิงเขาโสณคีรี บิดาของท่านชื่อว่า สุนขราชิก ท่านไม่สามรถจะทำให้บิดาอยู่ในความสังวรได้ เกรงว่าเมื่อบิดาสิ้นชีวิตก็จะไปสู่ทุกขคติ จึงให้ท่านบิดาบวชในตอนแก่ทั้งที่ไม่อยากบวช และได้ทำให้บิดาที่กำลังจะสิ้นชีวิตเกิดจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า จนเทวโลกปรากฏแก่ท่านบิดา

    ๔. พระโสณณกิงกณิยเถระ ผู้ที่ในอดีตได้ถวายดอกกะดึงทองบูชาพระสถูปของพระพุทธเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสี ในชาติปัจจุบันได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง และ

    ๕. พระโสณกุฎิกัณณเถระ ตามประวัติที่จะกล่าวในเรื่องนี้

    ควรจะได้ทราบว่าการที่ท่านพระโสณกุฎิกัณณเถระ ท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดาให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้มีวาจาไพเราะนั้นก็เนื่องด้วยเหตุ ๒ ประการคือ โดยเหตุเกิดเรื่อง คือ พระมหาสาวกองค์นั้น ได้แสดงความสามารถออกมาให้ปรากฏในเรื่องมีวาจาไพเราะได้อย่างชัดแจ้ง และอีกเหตุหนึ่งก็คือเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้

    บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

    ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านเกิดเป็นเศรษฐีสมบูรณ์ด้วยสมบัติ อยู่ในหังสวดีนคร วันหนึ่งได้เห็นพระศาสดาแวดล้อมไปด้วยพระขีณาสพ ๑๐๐,๐๐๐องค์ เสด็จเข้าไปสู่นครด้วยพุทธานุภาพอันยิ่งใหญ่ บังเกิดจิตเลื่อมใส ถวายบังคมแล้วได้ยืนประคองอัญชลีอยู่ หลังจากเวลาที่พระพุทธองค์เสร็จจากภัตกิจแล้ว ท่านพร้อมด้วยอุบาสกทั้งหลายก็ได้ไปยังวิหาร ฟังธรรมอยู่ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านได้เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเป็นผู้เลิศ แห่งภิกษุผู้กล่าวถ้อยคำอันไพเราะ จึงคิดว่า แม้เราก็ควรเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีวาจาไพเราะในศาสนาพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต จึงนิมนต์พระทศพลถวายทาน ๗ วัน แล้วได้ตั้งความปรารถนาไว้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า พระองค์ทรงตั้งภิกษุใดไว้ในตำแหน่งภิกษุผู้มีวาจาไพเราะ เมื่อ ๗ วันก่อนนับแต่วันนี้ข้าพระองค์ พึงเป็นเหมือนอย่างภิกษุนั้นในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต พระศาสดาทรงทราบว่าความปรารถนาของท่านจักสำเร็จในอนาคต จึงทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคตท่านจักได้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้กล่าวถ้อยคำอันไพเราะ ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ในอนาคตกาล แล้วเสด็จกลับไป ฝ่ายท่านก็กระทำกุศลกรรมจนตลอดชีวิต เวียนว่ายในเทวดาและมนุษย์แสนกัป

    กำเนิดในสมัยพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ท่านบำเพ็ญบุญในนครนั้นตลอดชีวิต ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ก็ได้บวชในศาสนา บำเพ็ญวัตรปฏิบัติให้บริบูรณ์ ได้กระทำกุศลโดยได้เย็บจีวรถวายแก่ภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อสิ้นชีวิตก็วนเวียนอยู่ในภพต่าง ๆ เมื่อสมัยโลกว่างจากพระพุทธเจ้าอีก ท่านก็เกิดเป็นช่างหูก อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี ได้กระทำกุศลโดยได้ต่อคันกลดที่ขาดถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่ง ท่านได้บำเพ็ญบุญในภพนั้น ๆด้วยอาการอย่างนี้

    กำเนิดในสมัยพระศากยโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ในสมัยก่อนที่พระศากยโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรานี้ทรงอุบัติ ท่านได้จุติจากเทวโลกมาถือปฏิสนะในท้อง แห่งอุบาสิกาชื่อว่า กาฬี ผู้เป็นแม่บ้านของครอบครัว ในกุรรฆรนคร อวันตีรัฐ พอนางมีครรภ์ครบใกล้จะคลอดแล้ว ก็เดินทางมายังนิเวศน์แห่งครอบครัวของตนที่อยู่ในกรุงราชคฤห์ ตามธรรมเนียมในสมัยนั้น

    สมัยนั้น พระศาสดาของเราทรงบรรลุพระสัพพัญุตญาณ แล้วทรงประกาศธรรมจักรในราวป่าอิสิปตนะแล้ว เทวดาในหมื่นจักรวาลมาประชุมกันแล้ว ในที่ประชุมนั้น ยักษ์ตนหนึ่งชื่อว่า สาตาคิรยักษ์ ซึ่งเป็น ๑ ในยักษ์เสนาบดี ๒๘ ตนแห่งท้าวกุเวรมหาราช ได้ฟังธรรมกถาของพระทศพลตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว ดำริว่า ธรรมกถาอันไพเราะนี้ เหมวตยักษ์สหายของเราได้ฟังหรือมิได้ฟังหนอ

    ยักษ์นั้นมองหาในระหว่างหมู่เทพก็ไม่เห็นยักษ์นั้น จึงคิดว่า สหายของเราไม่ทราบว่ารัตนะทั้ง ๓ เกิดขึ้นแล้วแน่แท้ จำเราจักไปกล่าวคุณแห่งพระทศพลแก่เขาและจะบอกถึงธรรมที่เราบรรลุแก่เขาด้วย

    จึงไปหาเหมวตยักษ์นั้น โดยทางเบื้องบนแห่งกรุงราชคฤห์ กับบริษัทของตน

    ฝ่ายเหมวตยักษ์เห็นป่าหิมพานต์อันกว้างยาวถึง ๓ พันโยชน์ มีดอกไม้บานในเวลามิใช่ฤดู คิดว่าเราจักเล่นการละเล่นในป่าหิมพานต์กับสหายของเรา จึงไปกับบริษัทของตนโดยเบื้องบน กรุงราชคฤห์เหมือนกัน แม้ยักษ์เหล่านั้นก็มาพบกันเบื้องบนนิเวศน์ ของอุบาสิกาในขณะนั้น ต่างก็ถามกันว่า พวกท่านเป็นบริษัทของใคร

    พวกเราเป็นบริษัทของสาตาคิรยักษ์ พวกท่านล่ะเป็น บริษัทของใคร

    พวกเราเป็นบริษัทของเหมวตยักษ์ ดังนี้

    พวกยักษ์เหล่านั้นต่างยินดีแล้ว ร่าเริงแล้ว ไปแจ้งแก่ยักษ์เสนาบดีเหล่านั้น

    สาตาคิรยักษ์กล่าวกะเหมวตยักษ์ว่า "สหาย ท่านจะไปไหน ?"

    เหมวตยักษ์ตอบว่า "สหาย เราจะไปสำนักท่าน"

    สาตาคิรยักษ์ถามว่า "เพราะเหตุไร"

    เหมวตยักษ์ตอบว่า "เราเห็นป่าหิมพานต์มีดอกไม้สะพรั่ง เราจักไปเล่นในป่าหิมพานต์ นั้นกับท่าน"

    สาตาคิรยักษ์กล่าวว่า "สหาย ก็ท่านจะไปได้อย่างไร? ท่านรู้ว่าป่าหิมพานต์ มีดอกไม้บานสะพรั่งด้วยเหตุไร"

    เหมวตยักษ์ตอบว่า "ไม่รู้สหาย"

    สาตาคิรยักษ์กล่าวว่า "สิทธัตถกุมาร โอรสพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ยังหมื่นโลกธาตุให้ไหวแล้วทรง บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ทรงประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ในท่ามกลางเทวดาในหมื่นจักวาล ท่านไม่รู้ว่าพระธรรมจักรนั้น พระองค์ทรงประกาศแล้วหรือ"

    เหมวตยักษ์ตอบว่า "ไม่รู้ดอกสหาย"

    สาตาคิรยักษ์กล่าวว่า "ท่านสำคัญ ว่าที่มีประมาณเท่านั้นเทียวมีดอกไม้บานสะพรั่ง แต่ทั่วหมื่นจักรวาลเป็นเสมือนดอกไม้กลุ่มเดียวกันในวันนี้ เพื่อสักการะบุรุษ นั้นนะสหาย"

    เหมวตยักษ์กล่าวว่า "ดอกไม้บานอยู่ก่อน พระศาสดานั้นท่านเห็นเต็มนัยตาแล้วหรือ"

    สาตาคิรยักษ์กล่าวว่า "เออ สหายเหมวตะ เราเห็นพระศาสดาแล้ว เราฟังธรรมแล้ว เราดื่มอมตะแล้ว เราจักทำท่านให้รู้อมตธรรมนั้นบ้าง เราจึงมายังสำนักของท่านสหาย"

    เมื่อยักษ์เหล่านั้นกำลัง เจรจากันอยู่นั่นแล อุบาสิกาลุกขึ้นจากที่นอนอันมีสิริ นั่งฟังการเจรจาปราศรัยนั้น ถือเอานิมิตรในเสียงกำหนดว่า เสียงนี้เป็นเสียงในเบื้องบน ไม่ใช่เสียงในภายใต้ เป็นเสียงอมนุษย์พูด มิใช่เสียงมนุษย์พูด จึงเงี่ยโสตประคองใจ แต่นั้นสาตาคิรยักษ์พูดว่า

    "วันนี้เป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ราตรีอันเป็นทิพย์ ปรากฏแล้ว มาเราทั้งสองจงไปเฝ้าพระโคดม ผู้มีพระนามอันไม่ทรามเถิด"

    สาตาคิรยักษ์กล่าวดังนี้แล้ว เหมวตยักษ์กล่าวถามถึงกายสมาจาร อาชีพ และมโนสมาจาร ของพระศาสดาอย่างนี้แล้ว สาตาคิรยักษ์ วิสัชนาข้อที่เหมวตยักษ์ ถามแล้ว ๆ ด้วยการกล่าว คุณแห่งสรีรวรรณะของพระศาสดาอย่างนี้แล้ว เหมวตยักษ์ ส่งญาณไปตามกระแสแห่งพระธรรมเทศนาของสหาย ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว

    นางครั้นได้ฟังการสนทนาที่ประกอบด้วยพุทธคุณของเสนาบดียักษ์เหล่านั้น โดยเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ครั้นฟังแล้ว ก็เกิดปีติมีพุทธคุณเป็นอารมณ์ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงถึงพร้อมด้วยพระคุณต่าง ๆ อย่างนี้ ข่มนิวรณ์ทั้งหลายด้วยปีตินั้น ยืนอยู่ในประเทศนั้นแล ก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล อุบาสิกานั้น เป็นพระโสดาบันคนแรกในระหว่างหญิงทั้งหมดและเป็นหัวหน้าหญิงทั้งหมด

    ในคืนนั้นนางก็คลอดบุตรพร้อมกับการบรรลุโสดาปัตติผล ในวันขนานนามทารกที่ได้ มาแล้ว ตั้งชื่อว่า โสณะ อุบาสิกานั้นอยู่ในเรือนแห่งครอบครัวตน พอสมควรแก่เวลาแล้วได้กลับไปยังกุรรฆรนครดังเดิม

    ต่อมาพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งนางไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เป็นผู้เลิศแห่ง อุบาสิกาทั้งหลายที่เลื่อมใสในการฟัง

    ฝ่ายโสณะนั้น เมื่อเติบใหญ่ขึ้นก็ได้ชื่อว่า โสณอุบาสก คำว่า โสณะ เป็นชื่อของท่าน คำว่าอุบาสก เพราะประกาศความเป็นอุบาสกโดยถึงสรณะ ๓ แต่เพราะท่านทรงเครื่องประดับหูมีค่าถึงโกฏิหนึ่ง ซึ่งควรจะเรียกชื่อท่านว่า โกฏิกัณณะ ซึ่งหมายความว่า โสณะผู้มีเครื่องประดับหูราคาโกฏิหนึ่ง แต่ผู้คนกลับเรียกท่านว่า กุฏิกัณณะ ซึ่งอธิบายว่า โสณะผู้เป็นเด็กดี

    โสณะอุบาสกเป็นอุปัฏฐากของท่านมหากัจจานะ

    สมัยนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ ได้พักอาศัยอยู่ที่ภูเขาปวัตตะ แขวงเมืองกุรุรฆระ ในอวันตีทักขิณาปถชนบท อุบาสิกาผู้เป็นมารดาของโสณะ ก็ได้อุปัฎฐากพระเถระ พระเถระไปนิเวศน์ของนางเป็นประจำ แม้เด็กโสณก็เที่ยวเล่นในสำนักของพระเถระเป็นประจำ จึงคุ้นเคยกัน เมื่อโสณะเติบใหญ่ขึ้นได้ฟังธรรมในสำนักของท่านพระมหากัจจายนะ ก็บังเกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง มีจิตตั้งอยู่ในสรณะและศีล จึงใด้สร้างวิหารในที่อันสมบูรณ์ด้วยร่มเงาและน้ำ ใกล้ปวัตตบรรพต แล้วนิมนต์พระเถระให้อยู่ในวิหารนั้น โสณะอุบาสกได้อุปัฏฐากท่านพระมหากัจจายนะด้วยปัจจัยทั้ง ๔ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า โสณะอุบาสกเป็นอุปัฏฐากของท่านมหากัจจานะ

    โสณอุบาสกพบเปรต

    ครั้งหนึ่งโสณอุบาสกได้เดินทางไปยังเมืองอุชเชนีกับหมู่เกวียนเพื่อต้องการค้าขาย ครั้นค่ำลงในระหว่างทางหมู่เกวียนได้หยุดกองเกวียนไว้ในดงเพื่อพักผ่อน โสณะอุบาสกเพื่อหลีกการพักอย่างแออัดจึงหลีกไปนอนที่ท้ายหมู่เกวียน ครั้นใกล้รุ่ง หมู่เกวียนก็เคลื่อนออกเดินทางต่อไปโดยไม่มีใครปลุกโสณะอุบาสก

    ครั้นเมื่อตื่นขึ้น โสณะอุบาสกไม่เห็นใครเลยก็ออกเดินไปตามทางเกวียนไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเหนื่อยจึงได้เข้าพักยังต้นไทร ระหว่างทาง ณ ที่นั้นเขาได้พบเปรตตนหนึ่งยืนกินเนื้อของตนเองที่หล่นจากกระดูก โสณะอุบาสกจึงได้ถามถึงกรรมของเปรตที่ทำมาในอดีต

    เปรตนั้นก็เล่าว่า เมื่อชาติก่อนตนเป็นพ่อค้าอยู่ในเมืองภารุกัจฉนคร ได้หลอกลวงเอาของ ของคนอื่นมาเคี้ยวกิน เมื่อมีสมณะเข้าไปบิณฑบาต ตนก็ด่าว่า จงเคี้ยวกินเนื้อของพวกมึงซิ เพราะกรรมนั้นจึงต้องเสวยทุกข์เช่นนี้

    โสณะอุบาสกได้ฟังดังนั้นกลับได้ความสลดใจอย่างเหลือล้น และได้เดินทางต่อไป ก็ได้พบพวกเปรตเล็ก ๒ ตน มีโลหิตดำไหลออกจากปาก จึงถามถึงบุรพกรรมของเปรตนั้นเช่นเดียวกัน ฝ่ายเปรตเหล่านั้น ก็ได้เล่ากรรมของตน แก่โสณะอบาสกนั้น ความว่า

    ในอดีตชาติ ในเวลาที่ยังเป็นเด็ก เปรตเหล่านั้นเลี้ยงชีพด้วยการค้าขายสิ่งของ ในภารุกัจฉนคร เมื่อมารดาของตนนิมนต์พระขีณาสพทั้งหลายให้มาฉัน จึงไปยังเรือนแล้ว ด่าว่า ทำไม แม่จึงให้สิ่งของของพวกเรากับพวกสมณะ ขอให้โลหิตดำจงไหลออกจากปากของพวกสมณะผู้บริโภคโภชนะที่แม่ให้แล้วเถิด เพราะกรรมนั้น เด็กเหล่านั้น จึงไปเกิดในนรก หมดกรรมจากนรกแล้ว ก็มาเกิดเป็นเปรต ด้วยเศษแห่งวิบากของกรรมนั้น

    โสณอุบาสกรออยู่ ๓ ปีจึงได้บรรพชา

    โสณะอุบาสก ได้ฟังดังนั้นก็เกิดความสลดใจอย่างเหลือล้น ครั้นเมื่อเขากลับไปยังกรุงอุชเชนีจึงได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวขอบรรพชาต่อพระมหากัจจายนเถระ

    เมื่ออุบาสกโสณโกฏิกัณณะกล่าวขอบรรพชาอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหากัจจานะได้กล่าวกะอุบาสกโสณโกฏิกัณณะว่า ดูกรโสณะ พรหมจรรย์มีภัตหนเดียว มีการนอนผู้เดียวตลอดชีวิต ทำได้ยากนัก ดูกรโสณะ เชิญท่านเป็นคฤหัสถ์อยู่ในเรือนนั้นแล จงหมั่นประกอบพรหมจรรย์อันมีภัตหนเดียว นอนผู้เดียว เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเถิด

    โสณะอุบาสก ก็ได้อ้อนวอนถึงสามครั้ง ในวาระที่สาม พระเถระพิจารณาเห็นว่าโสณะอุบาสกมีญาณแก่กล้าเพียงพอแล้ว จึงยินยอมให้บรรพชา แต่ว่าในสมัยนั้นการบรรพชาโดยพระสาวกต้องกระทำด้วยองค์ทสวรรค คือต้องหาพระสงฆ์ให้ครบ ๑๐ รูป สมัยนั้น อวันตีชนบทอันตั้งอยู่แถบใต้ มีภิกษุสองสามรูป ได้ยินว่า ในคราวนั้น ภิกษุทั้งหลายโดยมากอยู่ในมัชฌิมประเทศเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในที่นั้นจึงมีภิกษุ ๒-๓ รูปเท่านั้น ก็ภิกษุเหล่านั้นแยกกันอยู่อย่างนี้ คือในนิคมหนึ่งมีรูปเดียว ในนิคมหนึ่งมีสองรูป เมื่อพระเถระนำภิกษุ ๒-๓ รูปมา บรรดาภิกษุเหล่าอื่นที่นำมาก่อน ก็พากันหลีกไปด้วยกรณียกิจบางอย่าง และเมื่อรอคอยกาลเล็กน้อย แล้วนำภิกษุเหล่านั้นกลับมาอีก ฝ่ายภิกษุนอกนี้ก็หลีกไป การประชุมโดยการนำมาบ่อยๆ อย่างนี้ ได้มีโดยกาลนานทีเดียว ก็ในกาลนั้น ท่านพระมหากัจจายนเถระกว่าจะจัดหาพระภิกษุสงฆ์ ให้ครบองค์ประชุมทสวรรคได้ก็ต่อล่วงไปถึง ๓ ปี จึงอุปสมบทให้ท่านพระโสณะได้

    พระโสณเถระเดินทางไปเฝ้าพระศาสดา

    เมื่อท่านได้อุปสมบทแล้ว พระมหากัจจายนเถระบอกกัมมัฎฐานเจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว เรียนคัมภีร์สุตตนิบาตในสำนักของพระเถระ ออกพรรษาปวารณาแล้ว ครั้งนั้นท่านพระโสณะเกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่า เราไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเฉพาะพระพักตร์ แต่เราได้ฟังเท่านั้นว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พระองค์เป็นเช่นนี้ๆ ถ้าว่าพระอุปัชฌายะพึงอนุญาตเราไซร้ เราพึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ลำดับนั้นจึงลาพระอุปัชฌาย์

    พระเถระกล่าวว่า โสณะเมื่อท่านไปแล้ว พระศาสดาจะให้ท่านอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกัน จักเชิญให้ท่านกล่าวธรรม พระศาสดาจะทรงเลื่อมใสในธรรมกถาของท่าน จักประทานพรแก่ท่าน เมื่อท่านจะรับพร จงรับเอาพรอย่างนี้ จงไหว้พระบาท ของพระทศพลตามคำของเรา ขอพระบรมพุทธานุญาต ให้พระพุทธองค์ทรงแก้ไขพุทธบัญญัติ ๕ ข้อ ซึ่งไม่สะดวกแก่พระภิกษุผู้อยู่ในอวันตีชนบท คือ:-

    ๑. จังหวัดอวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อยรูป ขอได้โปรดทรงอนุญาตอนุญาตการอุปสมบทด้วยคณะสงฆ์เพียง ๕ รูปได้ ทั่วปัจจันตชนบท

    ๒. พื้นดินในอวันตีทักขิณาบถ มีดินสีดำมาก ดื่นดาดด้วยระแหง กีบโค ขอได้โปรดทรงอนุญาตให้พระภิกษุสวมรองเท้าหลายชั้นได้ทั่วปัจจันตชนบท

    ๓. คนทั้งหลายในอวันตีทักขิณาบถ นิยมการอาบน้ำ ถือว่าน้ำทำให้บริสุทธิ์ ขอได้โปรดทรงอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์ทั่วปัจจันตชนบท

    ๔. ในอวันตีทักขิณาบถ ใช้เครื่องลาดที่ทำด้วย หนังแกะ หนังแพะหนังกวาง เป็นปกติธรรมดาเหมือนกับที่ในมัชฌิมชนบท ใช้เครื่องลาดที่ทำด้วยหญ้าตีนกา หญ้าหางนกยูง หญ้าหนวดแมว หญ้าหางช้าง เป็นปกติธรรมดาเช่นกัน ขอได้โปรดทรงอนุญาตให้ภิกษุได้ใช้ หนังเครื่องลาด คือ หนังแกะ หนังแพะ หนังกวาง ทั่วปัจจันตชนบท

    ๕. เมื่อมีผู้ฝากถวายจีวรให้กับหมู่ภิกษุผู้อยู่นอกสีมาด้วยคำว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากก็มาบอกแก่ภิกษุชื่อนั้น ๆ ว่า มีคนที่มีชื่ออย่างนี้ ฝากจีวรให้มาถวายแก่ท่าน พวกภิกษุผู้ได้รับคำบอกเล่าเมื่อทราบดังนั้น ก็รังเกียจไม่ยินดีรับจีวรที่มีผู้ฝากมาถวาย โดยคิดว่าจีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ขอได้โปรดทรงอนุญาตให้ภิกษุนั้นรับจีวรที่มีผู้ฝากภิกษุอื่นมาถวายได้ โดยให้ถือว่าจีวรนั่นยังไม่ควรนับราตรี ตราบเท่าที่ยังไม่ถึงมือภิกษุผู้ที่เขาเจาะจงถวาย

    พระโสณะนั้นเมื่อพระอุปัชฌาย์ อนุญาตแล้วจึงไปบอกแก่โยมอุบาสิกา แม้อุบาสิกานั้นก็กล่าวว่า ดีละพ่อ ท่านเมื่อไปเฝ้าพระทศพล จงเอาผ้ากัมพลผืนนี้ไป จงลาด กระทำให้เป็นผ้ารองพื้นในพระคันธกุฎีที่ประทับของพระศาสดา แล้วถวายผ้ากัมพลผืนใหญ่ไป พระโสณเถระรับผ้านั้นไปแล้ว เก็บงำเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรหลีกจาริกไปทางพระนครสาวัตถี เมื่อเที่ยวจาริกไปโดยลำดับ ได้ถึงพระนครสาวัตถีแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสสั่งท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงปูลาดเสนาสนะสำหรับภิกษุผู้อาคันตุกะนี้เถิด ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงปรารถนาจะประทับอยู่ในวิหารเดียวกับท่านพระโสณะ ท่านพระอานนท์ได้ปูลาดเสนาสนะสำหรับท่านพระโสณะในวิหารที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่

    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงยับยั้งด้วยการบรรทมในอัพโภกาสสิ้นราตรีเป็นอันมาก ทรงล้างพระบาทแล้ว เสด็จเข้าไปสู่พระวิหาร แม้ท่านพระโสณะก็ยับยั้งด้วยการนอนในอัพโภกาสสิ้นราตรีเป็นอันมาก ล้างเท้าแล้วเข้าไปสู่พระวิหาร

    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี รับสั่งกะท่านพระโสณะว่าดูกรภิกษุการกล่าวธรรมจงแจ่มแจ้งกะเธอเถิด ท่านพระโสณะทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้วได้กล่าวพระสูตรทั้งหมด ๑๖ สูตร จัดเป็นวรรค ๘ วรรค ด้วยสรภัญญะ พยัญชนะตัวหนึ่งก็ไม่เสียด้วยเสียงอันไพเราะ

    ลำดับนั้น ในเวลาจบสรภัญญะของท่านพระโสณะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานสาธุการ ประกาศ ถึงความเลื่อมใสว่า ภิกษุ ธรรมเธอเรียนไว้ดีแล้ว เทศนาในเวลาที่เราแสดงแล้วก็ดี ในวันนี้ก็ดี เป็นอย่างเดียวกันเทียว ไม่ขาดไม่เกินเลย เธอเป็นผู้ประกอบด้วยวาจาไพเราะ ไม่มีโทษ สามารถที่จะทำเนื้อความให้แจ่มแจ้ง ดูกรภิกษุ เธอมีพรรษาเท่าไร ท่านพระโสณะกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์มีพรรษาหนึ่ง ฯ

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า เพราะเหตุไรเธอจึงไม่เข้าถึงบรรพชา อยู่ในท่ามกลางเรือนเสียนานถึงอย่างนี้

    โสณเถระกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้เห็นโทษในกามทั้งหลายโดยกาลนาน แม้เมื่อข้าพระองค์เห็นโทษในกามทั้งหลาย โดยประการบางอย่าง ข้าพระองค์ก็ไม่สามารถเพื่อจะออกจากการครองเรือนก่อน เพราะเหตุไร ? เพราะการครองเรือนคับแคบ คือภาวะแห่งการครองเรือนมีกิจใหญ่กิจน้อย สูงๆ ต่ำๆ เข้ามาพัวพัน

    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

    พระอริยเจ้าย่อมไม่ยินดีในบาป ท่านผู้สะอาดย่อมไม่ยินดีในบาป

    เพราะได้เห็นโทษในโลก เพราะได้รู้ธรรมอันไม่มีอุปธิ ฯ

    มารดาพระเถระได้ยินเสียงสาธุการ

    ครั้งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนา ประทานสาธุการแก่ท่านในเวลาจบสรภัญญะนั้น ภุมมัฏฐกเทพดา นาค และสุบรรณ ฟังสาธุการที่พระศาสดาประทานแล้ว ได้ให้สาธุการแล้ว เสียงสาธุการเป็นอันเดียวกัน ได้มีแล้วตลอดพรหมโลกอย่างนี้ ด้วยประการดังนี้

    ในขณะนั้น แม้เทพดาผู้สิงอยู่ในเรือนของมหาอุบาสิกาผู้เป็นมารดาของพระเถระ ในกุรรฆรนคร ที่ไกลประมาณ ๑๒๐โยชน์จากพระเชตวันมหาวิหาร ก็ได้ให้สาธุด้วยเสียงอันดังแล้ว

    ครั้งนั้น มหาอุบาสิกา ถามเทพดานั้นว่า “นั่น ใครให้สาธุการ?”

    เทพดา: เราเอง น้องหญิง

    มหาอุบาสิกา: ท่านเป็นใคร?

    เทพดา: เราเป็นเทพดา สิงอยู่ในเรือนของท่าน

    มหาอุบาสิกา: ในกาลก่อนแต่นี้ ท่านมิได้ให้สาธุการแก่เรา เพราะเหตุไร? วันนี้จึงให้

    เทพดา: เรามิได้ให้สาธุการแก่ท่าน

    มหาอุบาสิกา: เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านให้สาธุการแก่ใคร?

    เทพดา: เราให้แก่พระโสณกุฎิกัณณเถระ ผู้เป็นบุตรของท่าน

    มหาอุบาสิกา: บุตรของเราทำอะไร?

    เทพดา: ในวันนี้ บุตรของท่านอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระศาสดา แล้วแสดงธรรมแก่พระศาสดา พระศาสดาทรงสดับธรรมแห่งบุตรของท่าน แล้วก็ทรงเลื่อมใส จึงได้ประทานสาธุการ เพราะเหตุนั้นแม้เราจึงให้สาธุการแก่พระเถระนั้น ก็เพราะรับสาธุการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเกิดสาธุการเป็นเสียงกันไปหมด นับตั้งแต่ภุมมัฏฐกเทพดาตลอดถึงพรหมโลก

    มหาอุบาสิกา: นาย ก็บุตรของเราแสดงธรรมแก่พระศาสดา หรือพระศาสดาแสดงแก่บุตรของเรา

    เทพดา: บุตรของท่านแสดงธรรมแก่พระศาสดา

    เมื่อเทพดากล่าวอยู่อย่างนั้น ปีติมีวรรณะ ๕ ประการ เกิดขึ้นแก่อุบาสิกา แผ่ไปทั่วสรีระทั้งสิ้น ครั้งนั้น มหาอุบาสิกานั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า

    “หากบุตรของเราอยู่ในพระคันธกุฏีเดียวกันกับพระศาสดาแล้วยังสามารถแสดงธรรมแก่พระศาสดาได้ ก็จักสามารถแสดงธรรมแม้แก่เราได้เหมือนกัน ในเวลาบุตรมาถึง เราจักให้ทำการฟังธรรมกันแล้วฟังธรรมกถา ”

    พระเถระทูลขอพร ๘ ประการ

    ฝ่ายพระโสนกำหนดว่านี้เป็นโอกาส แล้วถวายบังคมพระทศพล ตามคำของพระอุปัชฌาย์ ทูลขอพรทุกอย่างตั้งแต่การอุปสมบท ด้วยคณะมีพระวินัยธรครบ ๕ พระศาสดาทรงประทานแล้ว ต่อมา พระเถระถวายบังคมตามคำของอุบาสิกามารดาว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ อุบาสิกาส่งผ้ากัมพลผืนนี้มาเพื่อปูลาดพื้นในพระคันธกุฎี ที่ประทับของพระองค์ แล้วถวายผ้ากัมพล ลุกขึ้นจากอาสนะถวายบังคมพระศาสดากระทำปทักษิณ แล้วกลับไปยังสำนักพระอุปัชฌาย์ เล่าประพฤติเหตุทั้งปวง นั้นแล้ว

    พระเถระเทศน์โปรดมารดา

    ในวันรุ่งขึ้น พระเถระพาท่านเที่ยวไปบิณฑบาต ได้ไปถึงประตูเรือนของอุบาสิกาผู้เป็นมารดา

    ฝ่ายอุบาสิกานั้น เห็นบุตรแล้วก็ดีใจ ไหว้แล้ว อังคาสโดยเคารพแล้วถามว่า “พ่อ ได้ยินว่า คุณอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระศาสดาแล้วแสดงธรรมกถาแก่พระศาสดา จริงหรือ?”

    พระโสณะ: เรื่องนี้ ใครบอกแก่โยม? อุบาสิกา

    มหาอุบาสิกา: พ่อ เทวดาผู้สิงอยู่ในเรือนนี้ ให้สาธุการด้วยเสียงอันดัง เมื่อโยมถามว่า ‘นั่นใคร’ ก็กล่าวว่า ‘เราเอง’ แล้วบอกอย่างนั้นนั่นแหละ เพราะฟังเรื่องนั้น โยมจึงได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ถ้าว่าบุตรของเราแสดงธรรมกถาแก่พระศาสดาได้ไซร้ ก็จักอาจแสดงธรรมแม้แก่เราได้ ’

    ครั้งนั้น มหาอุบาสิกากล่าวกะพระโสณะนั้นว่า “พ่อ เพราะคุณแสดงธรรมเฉพาะพระพักตร์ของพระศาสดาได้แล้ว คุณก็จักอาจแสดงแม้แก่โยมได้เหมือนกัน ในวันชื่อโน้น โยมจักให้ทำการฟังธรรมกัน แล้วจักฟังธรรมของคุณ” พระโสณะรับนิมนต์แล้ว

    อุบาสิกาคิดว่า “เราถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ ทำการบูชาแล้วจักฟังธรรมกถาแห่งบุตรของเรา” จึงได้ตั้งให้หญิงทาสีคนเดียวเท่านั้นให้เป็นคนเฝ้าเรือน แล้วได้พาเอาบริวารทั้งสิ้นไป เพื่อฟังธรรมกถาของบุตรผู้จะก้าวขึ้นสู่ธรรมาสน์ที่ประดับประดาไว้แล้ว ในมณฑปที่ตนให้สร้างไว้ภายในพระนคร เพื่อประโยชน์แก่การฟังธรรม แสดงธรรมอยู่

    พวกโจรเข้าปล้นเรือนมหาอุบาสิกา

    ก็ในเวลานั้น พวกโจร ๙๐๐ เที่ยวมองหาช่องในเรือนของอุบาสิกานั้นอยู่ ก็เรือนของอุบาสิกานั้น ล้อมด้วยกำแพง ๗ ชั้น ประกอบด้วยซุ้มประตู ๗ ซุ้ม เขาล่ามสุนัขที่ดุไว้ในที่นั้น ๆ ทุก ๆ ซุ้มประตู อนึ่งเข้าขุดคูไว้ในที่น้ำตกแห่งชายคาภายในเรือน แล้วก็ใส่ดีบุกจนเต็ม เวลากลางวัน ดีบุกนั้นปรากฏเป็นประดุจว่าละลายเดือดพล่านอยู่เพราะแสงแดด (เผา) ในเวลากลางคืน ปรากฏเป็นก้อนแข็งกระด้าง เขาปักขวากเหล็กใหญ่ไว้ที่พื้นในระหว่างคูนั้นติด ๆ กันไป พวกโจรเหล่านั้นไม่ได้โอกาส เพราะอาศัยการรักษานี้ และเพราะอาศัยความที่อุบาสิกาอยู่ภายในเรือน

    วันนั้นทราบความที่อุบาสิกานั้นไปแล้ว จึงขุดอุโมงค์เข้าไปสู่เรือน โดยทางเบื้องล่างแห่งคูดีบุกและขวากเหล็กทีเดียว แล้วส่งหัวหน้าโจรไปสู่สำนักของอุบาสิกานั้น ด้วยสั่งว่า “ถ้าอุบาสิกานั้น ได้ยินว่าพวกเราเข้าไปในที่นี้แล้ว กลับมุ่งหน้ามายังเรือน ท่านจงฟันอุบาสิกานั้นให้ตายเสียด้วยดาบ ” หัวหน้าโจรนั้น ได้ไปยืนอยู่ในสำนักของอุบาสิกานั้น

    ฝ่ายโจร จุดไฟให้สว่างในภายในเรือน แล้วเปิดประตูห้องเก็บกหาปณะ นางทาสีนั้นเห็นพวกโจรแล้ว จึงไปสู่สำนักอุบาสิกา บอกว่า

    “คุณนาย โจรเป็นอันมากเข้าไปสู่เรือน งัดประตูห้องเก็บกหาปณะแล้ว ”

    มหาอุบาสิกา: พวกโจรจงขนเอากหาปณะที่ตนค้นพบแล้วไปเถิด เราจะฟังธรรมกถาแห่งบุตรของเรา เจ้าอย่าทำอันตรายแก่ธรรมของเราเลย เจ้าจงไปเรือนเสียเถิด

    ฝ่ายพวกโจร ทำห้องเก็บกหาปณะให้ว่างเปล่าแล้ว จึงงัดห้องเก็บเงิน นางทาสีนั้นก็มาแจ้งเนื้อความแม้นั้นอีก

    อุบาสิกาพูดว่า “พวกโจรจงขนเอาทรัพย์ที่ตนปรารถนาไปเถิด เราจะฟังธรรมกถาแห่งบุตรของเรา เจ้าอย่าทำอันตรายแก่เราเลย” แล้วก็ส่งนางทาสีนั้นออกไปอีก

    พวกโจรทำแม้ห้องเก็บเงินให้ว่างเปล่าแล้ว จึงงัดห้องเก็บทอง นางทาสีนั้นก็ไปแจ้งเนื้อความนั้นแก่อุบาสิกาแม้อีก

    ครั้งนั้น อุบาสิกาเรียกนางทาสีมา แล้วพูดว่า

    “ชะ นางตัวดี เจ้ามาสำนักเราหลายครั้งแล้ว แม้เราสั่งว่า ‘พวกโจรจงขนเอาไปตามชอบใจเถิด เราจะฟังธรรมกถาแห่งบุตรของเรา เจ้าอย่าทำอันตรายแก่เราเลย’ ก็หาเอื้อเฟื้อถ้อยคำของเราไม่ ยังขืนมาซ้ำ ๆ ซาก ๆ ร่ำไป ทีนี้ ถ้าเจ้าจักมา เราจักรู้สิ่งที่ควรทำแก่เจ้า เจ้าจงกลับบ้านเสียเถิด” แล้วส่งให้กลับ

    ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

    หัวหน้าโจรฟังคำนางก็คิดว่า “พวกเราซึ่งพากันลักทรัพย์สิ่งของในเรือนของหญิง ที่มั่นคงด้วยอัธยาศัยดังนี้ ก็พึงถูกสายฟ้าตกฟาดกระหม่อมแน่” ดังนี้แล้ว จึงไปสำนักพวกโจร สั่งว่า “พวกท่านจงขนเอาสิ่งของ ๆ อุบาสิกาไปไว้ตามเดิมโดยเร็ว ”

    โจรเหล่านั้น ให้ห้องเก็บกหาปณะเต็มด้วยกหาปณะ ให้ห้องเก็บเงินและทองเต็มไปด้วยเงินและทองแล้ว ได้ยินว่า ความที่ธรรมย่อมรักษาบุคคลผู้ประพฤติธรรมเป็นธรรมดา เพราะเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า:

    “ธรรมแล ย่อมรักษาบุคคลผู้ประพฤติธรรม

    ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้

    นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว

    ผู้มีปกติประพฤติธรรม ย่อมไม่ไปสู่ทุคติ”

    พวกโจรได้ไปยืนอยู่ในที่เป็นที่ฟังธรรม ฝ่ายพระเถระแสดงธรรมแล้ว เมื่อราตรีสว่าง จึงลงจากอาสนะ ในขณะนั้นหัวหน้าโจรหมอบลงแทบเท้าของอุบาสิกา พูดว่า “คุณนาย โปรดอดโทษแก่ผมเถิด”

    อุบาสิกา "นี้อะไรกัน? พ่อ"

    หัวหน้าโจร "ผมผูกอาฆาตในคุณนาย ประสงค์จะฆ่าคุณนาย จึงได้ยืนคุมอยู่"

    อุบาสิกา "พ่อ ถ้าเช่นนั้น ฉันอดโทษให้"

    พวกโจรเลื่อมใสขอบวชกะพระโสณะ

    แม้พวกโจรที่เหลือ ก็ได้ทำอย่างนั้นเหมือนกัน เมื่ออุบาสิกาพูดว่า “พ่อทั้งหลาย ฉันอดโทษให้” จึงพูดว่า

    “คุณนาย ถ้าว่าคุณนายอดโทษแก่พวกผมไซร้ ขอคุณนายให้ ๆ บรรพชาแก่พวกผม ในสำนักแห่งบุตรของคุณนายเถิด”

    อุบาสิกานั้นไหว้บุตรแล้ว พูดว่า

    “พ่อ โจรพวกนี้เลื่อมใสในคุณของโยม และธรรมกถาของคุณแล้ว จึงพากันขอบรรพชา ขอคุณจงให้โจรพวกนี้บวชเถิด ”

    พระเถระพูดว่า “ดีละ” แล้วให้ตัดชายผ้าที่โจรเหล่านั้นนุ่งแล้วให้ย้อมด้วยดินแดง ให้พวกเขาบวชแล้ว ให้ตั้งอยู่ในศีล แม้ในเวลาที่พวกเขาอุปสมบทแล้ว พระเถระได้ให้พระกัมมัฏฐานต่าง ๆ แก่ภิกษุเหล่านั้นร้อยองค์ ต่อกรรมฐาน ๑ อย่าง ภิกษุ ๙๐๐ รูปนั้นเรียนพระกัมมัฏฐาน ๙ อย่างต่าง ๆ กันแล้วพากันขึ้นไปสู่ภูเขาลูกหนึ่ง นั่งทำสมณธรรมใต้ร่มไม้นั้น ๆ แล้ว

    พระศาสดา ประทับนั่งอยู่ในพระเชตวันมหาวิหารอันไกลกันได้ ๑๒๐ โยชน์นั่นแล ทรงเล็งดูภิกษุเหล่านั้นแล้ว ทรงกำหนดพระธรรมเทศนาด้วยอำนาจแพ่งความประพฤติของเธอเหล่านั้น ทรงเปล่งพระรัศมีไปประหนึ่งว่าประทับนั่งตรัสอยู่ในที่เฉพาะหน้า ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า:

    “ภิกษุใด มีปกติอยู่ด้วยเมตตา เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ภิกษุนั้น พึงบรรลุบทอันสงบ เป็นที่เข้าไประงับสังขาร อันเป็นสุข

    ภิกษุ เธอจงวิดเรือนี้ เรือที่เธอวิดแล้ว จักถึงเร็ว เธอตัดราคะและโทสะได้แล้ว แต่นั้นจักถึงพระนิพพาน

    ภิกษุพึงตัดธรรม ๕ อย่าง พึงละธรรม ๕ อย่าง และพึงยังคุณธรรม ๕ ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น ภิกษุผู้ล่วงกิเลสเครื่องข้อง ๕ อย่างได้แล้ว เราเรียกว่า ผู้ข้ามโอฆะได้

    ภิกษุ เธอจงเพ่งและอย่าประมาท จิตของเธออย่าหมุนไปในกามคุณ เธออย่าเป็นผู้ประมาทกลืนกินก้อนแห่งโลหะ เธออย่าเป็นผู้อันกรรมแผดเผาอยู่คร่ำครวญว่า ‘นี้ทุกข์’

    ฌานย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ฌานและปัญญาย่อมมีในบุคคลใด บุคคลนั้นแล ตั้งอยู่แล้วในที่ใกล้พระนิพพาน

    ความยินดีมิใช่ของมีอยู่แห่งมนุษย์ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้เข้าไปแล้วสู่เรือนว่าง ผู้มีจิตสงบแล้ว ผู้เห็นแจ้งธรรมอยู่โดยชอบ

    ภิกษุพิจารณาอยู่ ซึ่งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลายโดยอาการใด เธอย่อมได้ปีติและปราโมทย์โดยอาการนั้น ๆ การได้ปีติและปราโมทย์นั้น เป็นธรรมอันไม่ตายของผู้รู้แจ้งทั้งหลาย ธรรมนี้ คือความคุ้มครองซึ่งอินทรีย์ ๑ ความสันโดษ ๑ ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ เป็นเบื้องต้นในธรรมอันไม่ตายนั้น มีอยู่แก่ภิกษุผู้มีปัญญาในพระศาสนานี้

    เธอจงคบมิตรที่ดีงาม มีอาชีวะอันหมดจด ไม่เกียจคร้าน

    ภิกษุพึงเป็นผู้ประพฤติในปฏิสันถาร พึงเป็นผู้ฉลาดในอาจาระ เพราะเหตุนั้นเธอจักเป็นผู้มากด้วยปราโมทย์ กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ”

    บรรดาบทพระคาถาเหล่านี้ ที่พระศาสดาทรงแสดงด้วยอย่างนี้ ในกาลจบพระคาถาหนึ่ง ๆ ภิกษุร้อยหนึ่ง ๆ บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ในที่แห่งตนนั่งแล้ว ๆ นั่นแล เหาะขึ้นไปสู่เวหาสแล้ว ภิกษุเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ก้าวล่วงทางกันดาร ๑๒๐ โยชน์ทางอากาศนั่นแล ชมเชยพระสรีระซึ่งมีสีดุจทองของพระตถาคตเจ้า ถวายบังคมพระบาทแล้ว ดังนี้แล

    พระศาสดาทรงสถาปนาท่านเป็นเอตทัคคะ

    พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงสถาปนาเหล่าพระภิกษุผู้ทรงคุณต่าง ๆ ขึ้นเป็นพระเอตทัคคะ จึงทรงนำเรื่องที่ทรงประทานสาธุการที่พระโสณเถระกล่าวพระสูตรทั้งหมด ๑๖ สูตร จัดเป็นวรรค ๘ วรรค ด้วยสรภัญญะ พยัญชนะตัวหนึ่งก็ไม่เสียด้วยเสียงอันไพเราะ ในพระคันธกุฎีนั้นให้เป็นเหตุเกิดเรื่อง จึงทรงสถาปนาท่านเป็น เอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุผู้กล่าวถ้อยคำอันไพเราะ
     
  19. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,801
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    พระปัญจสตมัตตาเถรี (พระเถรี ๕๐๐ รูป) ได้บำเพ็ญบารมีมาในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ สั่งสมกุศลซึ่งเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาในภพๆ นั้น ในชาติสุดท้ายท่านทั้งหลายได้ฟังธรรมของพระปฏาจาราเถรี เกิดความสังเวชใจจึงพากันบวชในสำนักของพระปฏาจาราเถรี ครั้นบวชแล้ว ภิกษุณี ๕๐๐ รูปเหล่านี้ได้บำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วตั้งอยู่ในพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ เพราะธรรมเครื่องอบรมบ่มวิมุตติแก่เต็มที่แล้ว.
    ..................
    ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมใน ปัญจสตมัตตาเถรีคาถา ขุททกนิกาย เถรีคาถาพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖
    http://www.84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=26&siri=451
    อรรถกถาปัญจสตมัตตาเถรีคาถา
    http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=451
    =AZXMcnFjxOXKxSJp1_OCII1GSDB4w92rTknjP8GKDjpDEcIziKnqEwkQBoruH_x--J2FZm9vtc_IkAGx3UwJ6liG-tqE3pPp-quA19OZZ96GSww4odRg6_5F2mfgfwwq_7mrwW4opxH3HQH4fcy0C_4M6cUFriOU6CbXiS-IRERMZ_9vKV1IiwuOSVWO6KW1kQ6PvIeCewp6RcUAVMjkd9Tf&__tn__=EH-R'] AGhrV9PkDk5e62v15B1ZXsIlynEW-ZiDRpcs3a4-sFvS&_nc_ohc=WIgLlHWYTXQAX9vplWl&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     
  20. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,801
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    %B8%95%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%A3%E0%B8%B0.jpg.1347450993074.jpg

    พระอุปเสนวังคันตบุตรเถระ เอตทัคคมหาสาวกผู้นำความเลื่อมใสมาโดยรอบ

    การที่ท่านพระอุปเสนเถระ ท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดาให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลาย ผู้นำความเลื่อมใสมาโดยรอบ นั้นก็เนื่องด้วยพระเถระนี้มิใช่เป็นผู้นำความเลื่อมใสมาด้วยตนเองอย่างเดียวเท่านั้น แม้บริษัทของท่านก็เป็นผู้นำความเลื่อมใสมา และอีกเหตุหนึ่งก็คือเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้

    บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

    พระเถระแม้นี้ ได้บำเพ็ญบุญญาธิการในพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยของพระนิพพานในภพนั้น ๆ ในสมัยแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านเกิดในครอบครัวใหญ่ในหังสวดีนคร เมื่อเติบใหญ่แล้ว วันหนึ่งได้ไปยังเงื้อมเขาแห่งหนึ่งเพื่อฟังธรรมจากพระบรมศาสดาซึ่งประทับพร้อมหมู่ภิกษุสงฆ์อยู่ที่นั้น ท่านได้เห็นดอกกรรณิการ์กำลังบานจึงได้เด็ดดอกไม้นั้นเอามาประดับที่ฉัตรแล้วกั้นถวายแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในครั้งนั้นท่านได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้นำความเลื่อมใสมาโดยรอบ ท่านก็เกิดจิตเลื่อมใส ปรารถนาจะได้ตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง จึงได้กระทำมหาทานถวายบิณฑบาตมีข้าวชั้นพิเศษ ที่จัดว่าเป็นโภชนะอย่างดี แด่องค์พระศาสดา และพระภิกษุอีก ๘ รูป แล้วปรารภความปรารถนาในตำแหน่งนั้น พระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาว่า

    ด้วยการถวายฉัตรนี้ และด้วยจิตอันเลื่อมใสในการ ถวายข้าวชั้นพิเศษนั้น ท่านจักได้เสวยสมบัติ จักเป็นจอมเทวดาเสวย เทวรัชสมบัติ ๓๐ ครั้ง และจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๑ ครั้ง จักได้ เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ โดยคณานับไม่ถ้วน

    ในแสนกัปต่อไปนับแต่กัปนี้ พระศาสดาทรงพระนามว่า โคดมโดยพระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกากราชจักเสด็จอุบัติในโลก ผู้นี้จักมาเกิดเป็นมนุษย์ จักได้เป็นสาวกของพระศาสดา มีนามว่าอุปเสนะ จักตั้งอยู่ในเอตทัคคะ ที่เป็นผู้นำความเลื่อมใสมาโดยรอบ

    จากนั้นท่านได้บำเพ็ญกุศลจนตลอดชีวิต ครั้นสิ้นชีวิตแล้วก็ท่องเที่ยวอยู่ในภูมิเทวดาและภูมิมนุษย์ทั้งหลาย

    กำเนิดเป็นอุปเสนะในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

    ครั้นในสมัยพระพุทธเจ้าของพวกเรานี้ ท่านได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางสารีพราหมณีในบ้าน อุปติสสคาม ณ หมู่บ้านนาลกะ (นาลันทะ) ไม่ไกลกรุงราชคฤห์ บิดาคือ วังคันตพราหมณ์ มารดาคือ สารีพราหมณี มีพี่ชาย ๒ คน คือ อุปติสสะ หรือต่อมาคือ พระสารีบุตร (ตามชื่อมารดา) พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระจุนทเถระ มีน้องชาย ๑ คนชื่อ เรวตะ (หรือในพระบาลีเป็น พระเรวตขทิรวนิยเถระ ซึ่งต่อมาพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแต่งตั้งให้เป็นเอตทัคคมหาสาวกเลิศทางผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ท่านมีน้องสาว ๓ คน ชื่อ จาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา และหลานชายสามคนคือ จาลี อุปจาลี สีสูปจาลี ซึ่งเป็นบุตรของน้องสาวแต่ละคน ซึ่งต่อมาทั้งหมดได้บวชในพระธรรมวินัยทั้งหมด

    มารดาของพระเถระคือนางรูปสารีนั้น ตามประวัติกล่าวว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้พระสารีบุตรผู้เป็นบุตรชายคนโตก็พูดสั่งไว้กับพวกภิกษุเมื่อครั้ง น้องชายคือท่านเรวตะจะออกบวชไว้ว่า

    “ผู้มีอายุ ถ้าเรวตะมาเพื่อประสงค์จะบวช ไซร้ พวกท่านจงให้เขาบวช (เพราะ) มารดาของกระผมเป็นมิจฉาทิฏฐิ จะมีประโยชน์อะไรที่เรวตะจะบอกลาท่านทั้งสองนั้นเล่า? ขอให้ถือว่าผมเองเป็นมารดาและบิดาของเรวตะนั้น.”

    และอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พระสารีบุตรจะปรินิพพาน ท่านได้คำนึงว่า

    “.....มารดาของเราแม้เป็นมารดาของพระอรหันต์ ๗ รูป ก็ไม่เลื่อมใส ในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ...........”

    จนกระทั่งท่านพระสารีบุตรภายหลังที่ท่านได้ปลงอายุสังขารแล้ว จึงได้ไปเทศนาโปรดท่านจนได้บรรลุโสดาปัตติผล และในวันนั้นเองท่านพระสารีบุตรก็ได้ปรินิพพาน

    แต่เรื่องราวของท่านในการออกบวช ว่าออกบวชอย่างไร และเมื่อไหร่ ไม่มีปรากฏในพระบาลี ทราบแต่เพียงว่าท่านออกบวชตามคำชักชวนของพระสารีบุตรผู้เป็นพี่ชาย

    พระเถระถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าตำหนิ

    พระอุปเสนะนั้นเมื่อบวชได้เพียงพรรษาเดียว ได้ทำการอุปสมบทให้กับกุลบุตรคนหนึ่ง ด้วยคิดว่าเราจะขยายอาณาจักรพระอริยะ ในครั้งนั้น พระพุทธเจ้ายังไม่ทรงบัญญัติสิกขาบท ให้พระภิกษุที่จะเป็นพระอุปัชฌาย์ได้ต้องมีอายุพรรษาได้ ๓ พรรษาขึ้นไป หลังจากที่ได้บวชให้กุลบุตรนั้นแล้ว พรรษาต่อมา ในเวลาที่ศิษย์ที่ท่านบวชให้มีพรรษาเดียว ตนเองสองพรรษา ท่านคิดว่า พระทศพลทรงเห็นเราแล้วจักยินดี จึงพาศิษย์นั้นมาเฝ้าพระทศพล พระศาสดาตรัสถามท่านซึ่งถวายบังคมแล้วนั่งในที่ แห่งหนึ่งว่า

    “เธอมีพรรษาเท่าไร ภิกษุ”

    “สองพรรษา พระเจ้าข้า”

    “ภิกษุนี้มีพรรษาเท่าไร”

    “พรรษาเดียว พระเจ้าข้า”

    “ภิกษุนี้เป็น อะไรของเธอ”

    “เป็นสัทธิวิหาริกของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า”

    ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสว่า เร็วไป โมฆบุรุษ เธอเวียนมา เพื่อความเป็นผู้มักมาก ครั้นเมื่อท่านได้รับการตำหนิจากพระบรมศาสดาเช่นนั้น จึงได้เกิดอุตสาหะ ขึ้นว่า เราได้รับการตำหนิก็เนื่องจากบริษัทของเรานี้ เราก็จะทำให้ได้รับการสรรเสริญก็เพราะบริษัทของเราเช่นกัน คิดดังนี้แล้ว จึงเริ่มบำเพ็ญวิปัสสนา ไม่นานนัก ก็บรรลุพระอรหัต ได้อภิญญา ๖ บรรลุ ปฏิสัมภิทา

    เหตุบัญญัติพระวินัย

    โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกออกเร้นอยู่ตลอดไตรมาส ใครๆ อย่าเข้าไปหาเรา นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปให้รูปเดียว

    ภิกษุเหล่านั้นรับพระพุทธาณัติแล้ว ก็ไม่มีใครเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคในพระวิหารนี้เลย นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปถวายรูปเดียวโดยแท้ ถึงอย่างนั้น สงฆ์ในเขตพระนครสาวัตถี ก็ยังตั้งกติกากันไว้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคมีพระประสงค์จะเสด็จหลีกออกเร้นอยู่ ตลอดไตรมาส ใครๆ ไม่พึงเข้าไปเฝ้าพระองค์ นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปถวายรูปเดียว ภิกษุรูปใดเข้าไปเฝ้าพระองค์ ต้องให้แสดงอาบัติปาจิตตีย์

    ครั้งนั้น ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรกับภิกษุบริษัทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว หลังจากที่พระผู้มีพระภาคตรัสปราศรัยแก่ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรพอสมควรแล้ว ขณะนั้น ภิกษุผู้เป็นศิษย์ของท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรนั่งเฝ้าอยู่ไม่ห่างพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามภิกษุรูปนั้นว่า ดูกรภิกษุ ผ้าบังสุกุลเป็นที่พอใจของเธอหรือ?

    ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า ผ้าบังสุกุล มิได้เป็นที่พอใจของข้าพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคเจ้า : ก็ทำไมเธอจึงได้ทรงผ้าบังสุกุลเล่า ภิกษุ?

    ภิกษุรูปนั้น : พระอุปัชฌายะของข้าพระพุทธเจ้าทรงผ้าบังสุกุล ข้าพระพุทธเจ้าจึงต้องทรงผ้าบังสุกุล อย่างนั้นบ้าง พระพุทธเจ้าข้า

    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรว่า ดูกรอุปเสน บริษัท ของเธอนี้น่าเลื่อมใสนัก เธอแนะนำบริษัทอย่างไร?

    ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ผู้ใดขออุปสมบทต่อข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าบอกกะเขาอย่างนี้ว่า อาวุโส ฉันเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถ้าท่านจักถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตรบ้าง ฉันก็จักให้ท่านอุปสมบทตามประสงค์ ถ้าเขารับคำของข้าพระพุทธเจ้าๆ จึงให้เขาอุปสมบท ถ้าเขาไม่รับคำของข้าพระพุทธเจ้าๆ ก็ไม่ให้เขาอุปสมบท ภิกษุใดขอนิสัย ต่อข้าพระพุทธเจ้าๆ บอกกะภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า อาวุโส เราเป็นผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาต เป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถ้าท่านจักถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้า บังสุกุลเป็นวัตรบ้างได้ เราก็จักให้นิสัยแก่ท่านตามความประสงค์ ถ้าภิกษุนั้นรับคำของข้าพระ พุทธเจ้าๆ จึงจะให้นิสัย ถ้าภิกษุนั้นรับคำของข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่ให้นิสัย ข้าพระพุทธเจ้าแนะนำบริษัทอย่างนี้แล พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคเจ้า : ดีแล้ว ดีแล้ว อุปเสน เธอแนะนำบริษัทได้ดีจริงๆ เออก็เธอรู้กติกาของสงฆ์ ในเขตพระนครสาวัตถีไหม อุปเสน?

    พระอุปเสนวังคันตบุตร : ไม่ทราบเกล้าฯ พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคเจ้า : ดูกรอุปเสน สงฆ์ในเขตพระนครสาวัตถี ตั้งกติกากันไว้ว่า ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคมีพระประสงค์จะเสด็จหลีกออกเร้นอยู่ตลอดไตรมาส ใครๆ อย่าเข้าไปเฝ้าพระองค์ นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปถวายรูปเดียว ภิกษุใดเข้าไปเฝ้าพระองค์ ต้องให้แสดงอาบัติปาจิตตีย์

    พระอุปเสนวังคันตบุตร : พระสงฆ์ในเขตพระนครสาวัตถี จักทราบทั่วกันตามกติกาของตน พวกข้าพระพุทธเจ้าจักไม่แต่งตั้งสิกขาบทที่พระองค์มิได้ทรงบัญญัติ และจักไม่เพิกถอนสิกขาบทที่ทรงบัญญัติ ไว้ จักสมาทานประพฤติในสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้

    พระผู้มีพระภาคเจ้า : ดีแล้ว ดีแล้ว อุปเสน ไม่ควรแต่งตั้งสิกขาบทที่เรายังมิได้บัญญัติ หรือไม่ควรเพิกถอนสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้ ควรสมาทานประพฤติในสิกขาบท ตามที่เราได้บัญญัติไว้ เราอนุญาตให้พวกภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เข้าหาเราได้ตามสะดวก

    เวลานั้น ภิกษุหลายรูปกำลังรออยู่ที่นอกซุ้มประตูพระวิหาร ด้วยตั้งใจว่า พวกเราจักให้ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรแสดงอาบัติปาจิตตีย์ ครั้นท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรกับภิกษุบริษัท ลุกจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณหลีกไปแล้ว จึงภิกษุเหล่านั้นได้ถามท่าน พระอุปเสนวังคันตบุตรดังนี้ว่า อาวุโส อุปเสน ท่านทราบกติกาของสงฆ์ในเขตพระนครสาวัตถี ไหม?

    ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคก็รับสั่งกับกระผมอย่างนี้ว่า ไม่ควรแต่งตั้งสิกขาบทที่เรายังมิได้บัญญัติ หรือไม่ควรเพิกถอนสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้ ควรสมาทานประพฤติในสิกขาบท ตามที่เราได้บัญญัติไว้ เราอนุญาตให้พวกภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เข้าหาเราได้ตามสะดวก

    ภิกษุเหล่านั้นเห็นจริงด้วยในทันใดนั้นว่า พระสงฆ์ไม่ควรแต่งตั้งสิกขาบทที่ยังมิได้ทรงบัญญัติ หรือไม่ควรเพิกถอนสิกขาบทที่ทรง บัญญัติไว้ ควรสมาทานประพฤติในสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้ ดังนั้นการที่พระสงฆ์บัญญัติสิกขาบทเอาเองว่า "พระผู้มีพระภาคมีพระประสงค์จะเสด็จหลีกออกเร้นอยู่ตลอดไตรมาส ใครๆ อย่าเข้าไปเฝ้าพระองค์ นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปถวายรูปเดียว ภิกษุใดเข้าไปเฝ้าพระองค์ ต้องให้แสดงอาบัติปาจิตตีย์" นั้นเป็นการไม่สมควร

    ครั้นภิกษุทั้งหลายได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เข้าเฝ้าได้ตามสะดวก ภิกษุเหล่านั้นปรารถนาจะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ต่างละทิ้งสันถัต พากันสมาทานอารัญญิกธุดงค์ บิณฑปาติกธุดงค์ ปังสุกูลิกธุดงค์

    หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก เสด็จเที่ยวประพาสตามเสนาสนะ ได้ทอดพระเนตรเห็นสันถัตซึ่งทอดทิ้งไว้ในที่นั้นๆ ครั้นแล้วรับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สันถัตเหล่านี้ของใคร ถูกทอดทิ้งไว้ในที่นั้นๆ ?

    จึงภิกษุเหล่านั้น ได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคแล้ว

    ทรงบัญญัติสิกขาบท

    อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำสันถัตสำหรับนั่ง พึงถือเอาคืบสุคตโดยรอบแห่งสันถัตเก่า เพื่อทำให้เสียสี ถ้าภิกษุไม่ถือเอาคืบสุคตโดยรอบแห่งสันถัตเก่า ให้ทำสันถัตสำหรับนั่งใหม่ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

    ลำดับนั้น เพราะพระเถระออกบวชจากตระกูลใหญ่ และเป็น พระธรรมกถึกผู้ฉลาดในการกล่าวสอน ฉะนั้นจึงมีทารกของตระกูล เป็นจำนวนมาก เลื่อมใสธรรมกถาของท่านและออกจากตระกูลแห่งมิตร อำมาตย์และญาติผู้ใหญ่ พากันไปบรรพชายังสำนักของพระเถระ ท่านกล่าวว่า เราเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร แม้พวกท่านก็จงสามารถเป็น ผู้อยู่ป่าเป็นวัตร บรรพชาเถิด ดังนี้แล้วบอกธุดงค์ ๑๓ ให้เขาเหล่านั้น อธิฏฐานธุดงค์นั้น ๆ ตามกำลังของตน แม้พระเถระ ในเวลาที่ตนมีพรรษา ๑๐ ศึกษาวินัยคล่องแคล่วแล้วให้สามเณรทั้งหมดอุปสมบท ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปที่อุปสมบทแล้ว ได้เป็นบริวารของท่าน

    ครั้งเมื่อท่านพระเถระพร้อมกับศิษย์เหล่านั้น พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ได้รับการ สรรเสริญจากสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า เนื่องด้วยบริษัทโดยนัยตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า อุปเสน บริษัทนี้ของเธอน่าเลื่อมใสแล จึงทรงสถาปนาไว้ในเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้มีความเลื่อมใสรอบด้าน คืออุปเสนวังคันตบุตรเป็นเอตทัคคะ

    พระเถระแสดงธรรมเรื่องการอยู่อย่างสงบ

    สมัยต่อมา เมื่อเกิดการทะเลาะกันขึ้นในกรุงโกสัมพี และภิกษุสงฆ์แตกแยกเป็น ๒ ฝ่าย ภิกษุรูปหนึ่งผู้ประสงค์จะหลีกเลี่ยงการทะเลาะนั้นได้ถามพระเถระว่า บัดนี้เกิดการทะเลาะกันขึ้นแล้ว พระสงฆ์แตกแยกเป็น ๒ ฝ่าย กระผมจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ ดังนั้นเมื่อจะกล่าวถึงข้อปฏิบัติแก่ภิกษุรูปนั้น ตั้งต้นแต่การอยู่อย่างสงบ จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :

    ภิกษุซ่องเสพเสนาสนะอันสงัด ปราศจากเสียงอื้ออึงเป็นที่อยู่อาศัยแห่งสัตว์ร้าย เพราะการหลีกเร้นออกเป็นเหตุ

    ภิกษุพึงเก็บผ้ามาจากกองหยากเยื่อ จากป่าช้า จาก ตรอกน้อยตรอกใหญ่แล้ว ทำเป็นผ้านุ่งห่ม พึงทรงจีวร อันเศร้าหมอง

    ภิกษุควรทำใจให้ต่ำ คุ้มครองทวาร สำรวม ดีแล้ว เที่ยวไปบิณฑบาตตามลำดับตรอก คือตามลำดับ สกุล

    ภิกษุพึงยินดีด้วยของ ๆ ตน แม้จะเป็นของเศร้า หมอง ไม่พึงปรารถนารสอาหารอย่างอื่นมาก เพราะใจ ของบุคคลผู้ติดในรสอาหาร ย่อมไม่ยินดีในฌาน

    ภิกษุ ควรเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัด เป็น มุนี ไม่คลุกคลีด้วยพวกคฤหัสถ์ และพวกบรรพชิต ทั้งสอง

    ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต ควรแสดงตนให้เป็นดังคนบ้า และคนใบ้ ไม่ควรพูดมากในท่ามกลางสงฆ์ ไม่ควรเข้า ไปกล่าวว่าใคร ๆ ควรละเว้นการเข้าไปกระทบกระทั่ง เป็นผู้สำรวมพระปาติโมกข์ และพึงเป็นผู้รู้จักประมาณ ในโภชนะ

    เป็นผู้ฉลาดในการเกิดขึ้นแห่งจิต มีนิมิต อันถือเอาแล้ว พึงประกอบสมถะและวิปัสสนา ตามเวลา อันสมควรอยู่เนือง ๆ

    พึงเป็นบัณฑิต ผู้ถึงพร้อมด้วย ความเพียรเป็นนิตย์ เป็นผู้ประกอบภาวนาทุกเมื่อ ด้วย ความตั้งใจว่า ถ้ายังไม่ถึงที่สุดทุกข์ ไม่พึงถึงความวางใจ

    อาสวะทั้งปวงของภิกษุผู้ปรารถนาความบริสุทธิ์ เป็นอยู่ อย่างนี้ ย่อมสิ้นไป และภิกษุนั้นย่อมบรรลุนิพพาน

    พระเถระมนสิการถึงคุณพระรัตนตรัย

    วันหนึ่งท่านกลับ จากบิณฑบาตภายหลังภัต เมื่อพวกศิษย์ได้ไปสู่ที่พักกลางวันของตนแล้ว ท่านจึงถือเอาน้ำจากหม้อน้ำล้างเท้าแล้ว ลูบตัวให้เย็นลาดท่อนหนัง แล้วนั่งพักผ่อนกลางวัน นึกถึงคุณความดีของตน ที่พวกศิษย์ของท่านหลายร้อยหลายพันรูปช่วยกันบำรุงท่านไม่ขาดสาย ท่านส่งมนสิการถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อันดับแรกคุณความดีของศิษย์เรายังมีประมาณถึงเพียงนี้ พระคุณของพระศาสดาของเราจะเป็นเช่นไรหนอ พวกสาวกเหล่านั้น หลายพันโกฏิ พากันบำรุงท่านตามสมควรแก่พลังญาณ

    ท่านระลึกถึงพระคุณของพระศาสดา อันเหมาะสมแก่ภาวะที่ปรากฏแจ่มแจ้ง โดยนัยมีอาทิว่า พระศาสดาของเราทรงมีศีลอย่างนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้ มีวิมุตติอย่างนี้ และโดยนัยมีอาทิว่า แม้เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ

    แต่นั้นจึงระลึกถึงคุณของพระธรรมโดยนัยมีอาทิว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

    และคุณของพระอริยสงฆ์ โดยนัยมีอาทิว่า พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติแล้ว

    เมื่อคุณของพระรัตนตรัย ปรากฏแจ่มแจ้ง ด้วยอาการอย่างนี้ พระมหาเถระจึงมีใจชื่นชมเบิกบาน นั่งเสวยปิติและโสมนัส อันโอฬาร มีโวการมีอาการเป็นอเนก

    พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎีนั้นแล ทรงทราบเรื่องนั้น ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ จึงทรงเปล่งอุทานนี้ อันประกาศความเป็นผู้คงที่ของท่านทั้งในชีวิต และมรณะ

    ชีวิตย่อมไม่ทำให้ผู้ใดเดือดร้อน ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศกในที่สุดแห่งมรณะ

    ถ้าว่าผู้นั้นมีบทอันเห็นแล้วไซร้ เป็นนักปราชญ์ ย่อมไม่เศร้าโศกในท่ามกลางแห่งสัตว์ผู้มีความโศก

    ภิกษุผู้มีภวตัณหาอันตัดขาดแล้ว มีจิตสงบ มีชาติสงสารสิ้นแล้ว ย่อมไม่มีภพใหม่ ฯ

    พระเถระถูกงูกัดแล้วปรินิพพาน

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคและท่านพระสารีบุตร ท่านพระอุปเสนะ อยู่ที่ป่า ชื่อสีตวัน ใกล้เงื้อมสัปปโสณฑิกะ เขานั้นมีชื่ออย่างนั้น เพราะเหมือนกับพังพานงู ใกล้พระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล พระเถระเสด็จภัตกิจแล้ว ถือมหาจีวร ถูกลมอ่อน ๆ ทางช่องหน้าต่าง ที่ร่มเงาถ้ำ รำเพยพัด นั่งทำสูจิกรรมผ้านุ่ง ๒ ชั้น ขณะนั้น ลูกอสรพิษ เลื้อยเล่นอยู่บนหลังคาถ้ำ ลูกงูเหล่านั้น ตัวหนึ่งตกลงมาถูกจะงอยบ่าพระเถระ แล้วกัดเอา พิษงู้นั้นร้ายยิ่งนัก แล่นไปเหมือนเปลวประทีปลามไปตามไส้ตะเกียง พระเถระ ทราบว่าพิษแล่นมาดังนั้น ท่านจึงใช้พลังฤทธิ์ของตนอธิษฐานว่า ขออัตตภาพนี้จงอย่าพินาศในถ้ำ ดังนี้แล้วเรียกภิกษุทั้งหลายมา

    อสรพิษตัวหนึ่งได้ตกลงที่กายของท่านพระอุปเสนะ ครั้งนั้นแล ท่านพระอุปเสนะเรียกภิกษุทั้งหลายว่า จงมาเถิด ผู้มีอายุ จงยกกายเรานี้ขึ้นสู่เตียงแล้วนำออกไปในภายนอก ก่อนที่กายนี้จะกระจัด กระจายเรี่ยรายในที่นี้ดุจกำแกลบ เมื่อท่านพระอุปเสนะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกะท่านพระอุปเสนะว่า ความที่กายของท่านพระอุปเสนะเป็นอย่างอื่น หรือความแปรปรวนแห่งอินทรีย์ของท่านพระอุปเสนะ เราทั้งหลายยังไม่เห็นเลย

    ท่านพระอุปเสนะกล่าวว่า ดูกรท่านพระสารีบุตร ผู้ใดพึงมีความตรึกอย่างนี้ว่า เราเป็นจักษุ หรือ จักษุเป็นของเรา ฯลฯ เราเป็นใจ หรือใจเป็นของเรา ความที่กายเป็นอย่างอื่น หรือความแปรปรวนแห่งอินทรีย์พึงมีแก่ผู้นั้นแน่นอน ดูกรท่านพระสารีบุตร เรามิได้มีความตรึกอย่างนี้ว่า เราเป็นจักษุ หรือจักษุเป็นของเรา ฯลฯ เราเป็นใจ หรือใจเป็นของเรา ความที่กายจักกลายเป็นอย่าง อื่น หรือความแปรปรวนแห่ง อินทรีย์จักมีแก่เรานั้น ได้อย่างไร ฯ

    ท่านพระสารีบุตร จริงอย่างนั้น ท่านพระอุปเสนะได้ถอนอหังการ มมังการและมานานุสัยได้เด็ดขาด เป็นเวลานานมาแล้ว ฉะนั้น ท่านพระอุปเสนะจึงไม่มีความตรึก อย่างนั้น ฯ

    ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นยกกายของท่านพระอุปเสนะขึ้นสู่เตียงนำไปภายนอก กายของท่านพระอุปเสนะกระจัดกระจายบนเตียงน้อยนั่นเอง ในที่ที่นำออกมาตั้งไว้ภายนอกประดุจกำแกลบ ฉะนั้น ฯ
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...