เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 25 มิถุนายน 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,184
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,595
    ค่าพลัง:
    +26,442
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,184
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,595
    ค่าพลัง:
    +26,442
    วันนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๒๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระผม/อาตมภาพนำพระออกบิณฑบาตแล้วก็เปียกโชกกันไปทั้งวัด หลายท่านก็ถามว่า "ทำไมหลวงพ่อเล็กถึงไม่ห้ามฝน ?" กระผม/อาตมภาพอยากจะบอกว่า ถ้าคุณต้องการจะเป็นพระภิกษุสามเณรที่แท้จริง ต้องยอมรับกฎของกรรมอย่างหนึ่ง ต้องยอมรับกฎของธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง ก็ในเมื่อธรรมชาติอยู่ใต้ฟ้าก็ต้องมีฝนตก แล้วคุณจะไปห้ามฝนเพื่ออะไร ?

    วิชาการต่าง ๆ ที่ศึกษามานั้นไม่ได้ศึกษามาเพื่อความสุขความเจริญของตนเอง หากแต่ศึกษามาเพื่อความสุขความเจริญของคนส่วนใหญ่ ถ้าหากว่าเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แค่นี้แล้วคุณไปห้ามฝน เมื่อถึงเวลาสิ่งที่ได้รับคืนมาอาจจะหนักกว่าเดิมหลายเท่า เนื่องเพราะว่าเราไปฝืนกฎของธรรมชาติ..!

    แม้แต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านสอนมาก็บอกว่าอย่าไปห้ามตรง ๆ เพราะว่าเป็นการฝืนธรรมชาติ หากแต่ว่าให้ไปซ้าย ไปขวา ขึ้นบน ลงล่าง ก่อนหรือว่าหลังนั้นพอทำได้ แล้วสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ กระผม/อาตมภาพก็ยังระแวงอีกว่า ถ้ามัวแต่มาใช้กำลังใจไปกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ เมื่อถึงเวลาเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญเข้ามา แล้วเราใช้ไม่ได้ อาจจะเดือดร้อนมากกว่าที่คิด..!

    ในเรื่องของลมฟ้าฝนไฟ ต้องบอกว่าทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ในเมื่อเราไปเดินตากฝนก็ต้องเปียก แต่ว่าพระภิกษุสามเณรคือทหารในกองทัพธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเมื่อเป็นทหารย่อมไม่ใช่ดินเหนียว โดนฝนจะได้ละลาย แล้วยิ่งไม่ใช่ขี้ผึ้ง โดนแดดจะได้ละลาย ก็แปลว่าต้องทนแดด ทนฝน ทนทุกสภาวะ..!

    ในช่วงที่นั่งรออยู่ที่หอฉันด้วยจีวรเปียก ๆ เพื่อที่จะรอฉันเช้าพร้อมกัน เนื่องจากว่าสายบิณฑบาตบ้านปอมเปยังมาไม่ถึง เพราะว่าเป็นเส้นทางที่ไกลที่สุด กระผม/อาตมภาพก็ได้บอกกล่าวกับพระภิกษุทุกรูปว่า เรื่องแบบนี้เท่ากับว่ากระผม/อาตมภาพสร้างความชอบธรรมให้กับท่านทั้งหลาย ถ้าหากว่าถึงเวลาท่านไปเป็นผู้นำคนอื่นเขา แล้วพระภิกษุสามเณรในปกครองจะมาอ้างว่าฝนตก ไม่อยากออกบิณฑบาต ท่านทั้งหลายจะได้อ้างอย่างเต็มปากเต็มคำว่า "หลวงพ่อเล็กพากูตากฝนบิณฑบาตทั้งปีทั้งชาติ..!"
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,184
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,595
    ค่าพลัง:
    +26,442
    ในเรื่องของการที่เราเป็นพระภิกษุสามเณร สิ่งที่ทำให้เราอยู่ได้ก็คือระเบียบวินัยและธรรมเนียมประเพณีตามแบบของพระภิกษุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาตตลอดพระชนม์ชีพ แล้วเราที่เป็นพระลูกพระหลานรุ่นหลัง ๆ จะไม่เลียนแบบอริยประเพณีที่พระองค์ท่านได้วางแนวทางเอาไว้หรือ ?

    เนื่องเพราะว่าตั้งแต่วันแรกที่บวช พระอุปัชฌาย์อาจาย์ก็บอกอนุศาสน์ว่า ปิณฑิยาโลปะโภชะนัง นิสสายะ ปัพพัชชา ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตประการหนึ่งก็คือการเที่ยวบิณฑบาต พระองค์ท่านไม่ได้ให้เราหุงหาอาหารฉันกันเอง ไม่ได้ให้เราโทรสั่งไลน์แมนส่งเดลิเวรี่มาถึงกุฏิ..!

    กฎเกณฑ์กติกาของวัดท่าขนุนก็คือ "ถ้าวันไหนไม่บิณฑบาต วันนั้นท่านก็ไม่ต้องฉัน" อย่าได้อ้างว่าเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะว่าถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วไม่ได้นอนโรงพยาบาล ถือว่ายังบิณฑบาตไหว โดยที่กระผม/อาตมภาพนั้นทำตัวเองเป็นตัวอย่างให้ทุกคนได้ดูมามากแล้ว

    บางวันป่วยมากจน "เบลอ" เดินเตะก้อนหินเล็บหลุดไปทั้งอัน เดินไปเลือดก็หยดพื้นไปโดยที่ตัวเองไม่รู้ เพราะว่าเจ็บป่วยจน "เบลอ" ไปหมด แต่ก็ยังพยายามคุมสติ เดินบิณฑบาตจนกระทั่งกลับถึงวัด
    เนื่องเพราะว่าถ้าหากไปนอนที่โรงพยาบาล เท่ากับยอมให้ตนเองขี้เกียจ อ่อนแอแพ้พ่ายกิเลส เพราะว่าขันธมารกินร่างกาย ไม่ได้กินจิตใจของเรา ถ้าหากว่าใจของเรากล้าต่อสู้ กล้าฟันฝ่า อุปสรรคทั้งหลายเหล่านี้ ก็ไม่มีอะไรที่น่าจะต้องกลัวต้องเกรงเลย

    เนื่องเพราะว่าการบิณฑบาตก็คือการเดินภาวนา ในเมื่อเป็นการภาวนาก็แปลว่าต้องแลกกันด้วยชีวิต เพื่อให้จิตของเราสงบจาก รัก โลภ โกรธ หลง ไม่เช่นนั้นแล้วตาก็จะสอดส่ายดูรูปที่ชอบ หูก็จะไปฟังเสียงที่ชอบ เหล่านี้เป็นต้น มีแต่จะนำพาความเสียหายมาสู่จิตสู่ใจของเรา ยิ่งเดินบิณฑบาตไกลเท่าไร ยิ่งเป็นเครื่องวัดที่ชัดเจนว่า ตัวเราสามารถรักษาอารมณ์ใจให้นิ่งสงบเท่ากับตอนนั่งเจริญกรรมฐานหรือไม่ ?

    การเดินบิณฑบาตก็คือการเดินจงกรมปฏิบัติธรรม เพียงแต่ว่าเป็นการปฏิบัติธรรมในชีวิตจริง คือนำไปใช้ประโยชน์จริง ๆ ต้องพยายามควบคุมจิตใจของเราให้นิ่งให้สงบได้ตลอดเส้นทางบิณฑบาต ไม่เช่นนั้นแล้วถ้าหากว่าไปเจอประสบการณ์โหดอย่างรุ่นเก่า ๆ ท่านทั้งหลายก็อาจจะฟุ้งซ่านไปเป็นอาทิตย์ ๆ..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,184
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,595
    ค่าพลัง:
    +26,442
    กระผม/อาตมภาพบิณฑบาต เคยเจอโยมผู้หญิงใส่ชุดนอนแขนกุดขาสั้นเต่อนิดเดียว แถมยังแหวกอกลงไปถึงสะดือ..! อะไรที่แม่ให้มาก็เห็นได้เกือบหมด ทั้ง ๆ ที่อยู่ในชุดล่อแหลมถึงประการนั้น คุณเธอก็ใจกว้างมาก เนื่องเพราะรู้ว่าพระภิกษุสามเณรไม่ค่อยมีโอกาสได้ดูได้เห็น จึงได้ลงมาใส่บาตรทั้งชุดแบบนั้น แล้วต่อให้สำรวมก้มหน้า ก็ยิ่งกลายเป็นก้มลงไปมองหนักเข้าไปเสียอีก..!

    ก็ได้แต่เจริญพรขอบคุณ ที่ท่านนอกจากใส่บาตรให้อาหารกายแล้ว ยังอุตส่าห์เมตตาเพิ่มอาหารทางสายตามาให้อีก แต่ถ้าเราไม่รู้จักระมัดระวัง ท่านทั้งหลายก็จะเก็บเอาภาพเหล่านั้นไปฟุ้งซ่าน แล้วกรรมฐานพังไปเป็นวัน ๆ..!

    หรือไม่ก็อย่างสมัยที่มาอยู่วัดท่าขนุน ได้มีญาติโยมที่กำลังแต่งตัวอยู่ เนื่องเพราะว่าพระออกบิณฑบาตตอนเช้า ญาติโยมก็แต่งตัวอยู่หน้ากระจกเพื่อเตรียมออกทำงาน แต่เนื่องจากว่าเพิ่งออกจากห้องน้ำมา ตัวเองก็นุ่งกระโจมอก ปากคาบยางเส้นเตรียมรัดผม พอเอาสองมือเสยผมรวบไปทางด้านหลัง กระโจมอกก็หลุดลงไปกองอยู่กับพื้น แล้วพ่อแม่ก็ใจดีเหลือเกิน ให้คุณเธอมามากเสียด้วย ทำเอาพระภิกษุสามเณรที่อยู่ ๆ ก็มีบุญตาขึ้นมาอย่างคิดไม่ถึง ได้แต่ตระหนกตกใจ ไม่รู้เหมือนกันว่าอกสั่นขวัญหายไปกี่วัน ?!

    ดังนั้น..
    ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายไม่รู้จักระมัดระวัง ไม่รู้จักสำรวมอินทรีย์ ไม่ถือหลวงปู่อนุรุทธเถระเป็นต้นแบบ ท่านทั้งหลายก็จะต้องฟุ้งซ่านด้วย ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ไปตลอดเวลา เท่ากับว่าท่านไปเติมเชื้อให้ไฟใหญ่ทั้ง ๔ กอง ก็คือ ไฟรัก ไฟโลภ ไฟโกรธ ไฟหลง มาเผาผลาญเราเองให้ลำบากเดือดร้อน

    การบิณฑบาตจึงมีประโยชน์มากยิ่งกว่าการไปหาอาหารมายังชีพตัวเอง อย่างเช่นวัดท่าขนุนของเรา เนื่องจากว่ามีพระบิณฑบาตเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงเวลาพระเดินบิณฑบาตเป็นแถวยาว ๆ บรรดานักท่องเที่ยวที่เห็นก็ชอบอกชอบใจ ถ่ายคลิปวีดีโอบ้าง ถ่ายภาพนิ่งบ้าง บางคนเห็นก็รีบวิ่งไปซื้ออาหารมาใส่บาตรบ้าง เท่ากับว่า
    เราเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางอ้อมด้วยกิจวัตรประจำวันของเรา
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,184
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,595
    ค่าพลัง:
    +26,442
    ท่านทั้งหลายลองนึกดูว่า เมื่อญาติโยมเข้ามาในวัด ได้ยินเสียงพระสวดมนต์ ได้ยินเสียงพระทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ท่านเหล่านั้นก็จะรู้ว่า "นี่คือพระภิกษุสงฆ์ที่เคร่งครัดต่อวัตรปฏิบัติ กำลังขัดเกลาตนเองอยู่ด้วยการบังคับ กาย วาจา และใจของตน ให้นิ่งอยู่กับงานตรงหน้า คืองานทำวัตรสวดมนต์" ต่อให้ใจของท่านฟุ้งซ่านขนาดไหน กายและวาจาก็ไม่สามารถที่จะฟุ้งซ่านได้ เพราะว่าทำวัตรสวดมนต์อยู่ เท่ากับว่าเราชนะกิเลสไป ๒ ใน ๓ ส่วน

    เห็นพระภิกษุสามเณรเจริญพระกรรมฐาน ก็รู้ว่านี่คือศากยบุตรพุทธชิโนรส ที่กำลังขัดเกลาต่อสู้กับกิเลสในใจของตนเอง พยายามที่จะขัดจิตขัดใจของตนให้เบาบางจากกิเลสให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

    เมื่อออกบิณฑบาต ญาติโยมทั้งหลายก็เต็มอกเต็มใจสนับสนุน เนื่องเพราะว่าเห็นพวกเราเคร่งครัดต่อวัตรปฏิบัติเหล่านี้ ทำให้เกิดความไว้วางใจและสนิทชิดใกล้ขึ้นมา ไม่ได้หวาดระแวงว่า "เรากำลังใส่บาตรให้ผัวชาวบ้านเขาหรือเปล่า ?!" เป็นต้น

    ในเมื่อเป็นเช่นนี้ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจึงไม่ใช่แค่การแสดงธรรมสั่งสอนญาติโยมทั้งหลาย หากแต่ว่าสิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติ ขัดเกลา กาย วาจา ใจ ตามกิจวัตรประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนต์ทำวัตร บิณฑบาต เจริญกรรมฐาน ทำความสะอาดวัด เก็บกวาดสถานที่ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มีแต่สร้างความศรัทธาเลื่อมใสให้แก่ญาติโยมได้ทั้งสิ้น

    สมัยเป็นพระภิกษุใหม่ กระผม/อาตมภาพทำหน้าที่ปัดกวาดเช็ดถูศาลานวราชบพิตรอยู่ที่วัดท่าซุง ญาติโยมที่มาเห็นก็มักจะแย่งไปทำเสียทุกที นั่นคือสิ่งที่เขาเห็นแล้วว่าเราเคร่งครัดต่อวัตรปฏิบัติ แล้วก็เกิดความสงสาร เกรงว่าพระจะเหนื่อยจนเกินไป และตนเองก็สามารถที่จะสร้างบุญสร้างกุศลจากงานทั้งหลายเหล่านี้ได้ จึงได้แย่งงานไปทำ เป็นต้น
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,184
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,595
    ค่าพลัง:
    +26,442
    องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้สอนให้เราหลีกหนีจากสังคม หากแต่สอนให้เราอยู่ในสังคมในลักษณะของน้ำบนใบบัวหรือว่าใบบอน ต่อให้กลิ้งไปกลิ้งมาบนใบบัวใบบอนเท่าไร ก็ไม่ได้ติดอยู่ใบบัวใบบอนเหล่านั้นเลย เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า เรามีศีลมีธรรมเป็นเกราะกำบัง

    เรื่องของวัตรปฏิบัติต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องที่เราขัดเกลา ศีล สมาธิ และปัญญาของตนเองไปในตัว ให้แต่นั่งปฏิบัติภาวนาอย่างเดียวเราก็ไปไหนไม่รอด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับกรรมฐานให้เข้ากับชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะคิด จะพูด จะทำอะไรก็ตาม ให้จิตอยู่กับความนิ่งความสงบภายใน คอยระมัดระวังไว้ไม่ให้ รัก โลภ โกรธ หลง กำเริบขึ้นมา แล้วถ้าสามารถขจัดให้ลดน้อยถอยลง หรือว่าหมดไปจากใจได้ก็ยิ่งดี

    เรื่องของการสวดมนต์ทำวัตร บิณฑบาต กรรมฐานจึงไม่ใช่เรื่องที่เราขาดได้ เพราะว่าเป็นการเติมอาหารใจ เป็นการเติมกำลังใจให้ตนเอง ให้มีความเข้มแข็งในการที่จะต่อสู้กับกิเลสต่อไปในข้างหน้า หรือว่าเป็นการขัดเกลา กาย วาจา ใจ ของตนเอง ให้กิเลสลดน้อยถอยลงไปเรื่อย
    จะได้สมกับเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ผู้ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงฝากพระพุทธศาสนาเอาไว้

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุ สามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันอังคารที่ ๒๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...